วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/33 (1)


พระอาจารย์
8/33 (add550520A)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ไม่เคยปฏิบัติ ก็เริ่มต้นด้วยการรู้ตัว รู้ตัว รู้ปัจจุบัน รู้จักตัวเอง กลับมาดูตัวเอง กลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาอยู่กับตัวเรา ด้วยสติ ...อย่าปล่อย

ภาวนามันไม่ได้หมายความว่าจะต้องสงบ หรือต้องเอาความสงบเป็นหลัก ภาวนาคือการที่กลับมาเรียนรู้ตัวเอง กลับมาดูตัวเอง ...ดู ทัน สังเกตตัวเรา กายเรา กลับมาอยู่กับกายเรา ตัวเรานี่แหละ

เพราะนั้นกายเราก็มีอยู่ตลอดเวลา มันอยู่ไหน มันอยู่ในท่าทางไหน อิริยาบถไหน ต้องรู้ ต้องอยู่กับมัน ต้องเห็นมัน ต้องสังเกตมัน ต้องแยบคายในอาการนั่งนอนยืนเดิน แยบคาย

เพราะนั้น เริ่มต้นภาวนานี่ ...ให้เริ่มต้นที่การรู้ตัว ทำความรู้ตัวให้เป็น ไปจำแนกดูให้เป็นว่า ยังไงเรียกว่าไม่รู้ตัว ยังไงเรียกว่ารู้ตัว นั่งยังไงนั่งแบบไม่รู้ตัว นั่งยังไงนั่งแบบรู้ตัว ...เนี่ย ฝึก

มันไม่รู้จักคำว่ารู้ตัว ก็ต้องทำความรู้ตัวให้เป็น รู้จักการใช้สติ รู้จักการเจริญสติให้เป็น นั่งยังไงให้มีสติ รู้ว่านั่งมั้ย หรือว่าตอนไหนนั่งแล้วไม่รู้ว่านั่ง ก็เรียกว่านั่งแบบไม่มีสติ ถ้านั่งแล้วรู้ว่านั่ง เรียกว่านั่งแบบมีสติ

เพราะนั้นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติน่ะต้องรู้จักคำว่าสติ กับคำว่ารู้ตัว ...แล้วก็ทำให้เป็นก่อน 

ให้เห็นความแตกต่างระหว่างนั่งแบบรู้กับนั่งแบบไม่รู้ ยืนแบบรู้ตัวกับยืนแบบไม่รู้ตัว เดิน..ยังไงเรียกว่ารู้ตัว ยังไงเรียกว่าเดินด้วยความไม่รู้ตัว

เมื่อแยกออกระหว่างรู้ตัวกับไม่รู้ตัว หรือมีสติกับไม่มีสติ ...นี่ คำว่ามีสติก็คือรู้ตัวนั่นเอง แล้วก็ฝึกให้มันมีความรู้ตัว หรือว่าฝึกให้มันมีสติในทุกอิริยาบถ

ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปเพื่อความสงบ หรือจะต้องอยู่ในรูปแบบของการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ...การทำความรู้ตัวนี่ มีกายอยู่ที่ไหน มีตัวอยู่ที่ไหน มันรู้ได้ตลอด...ถ้าฝึก

ไม่ว่ามันจะกายนี้อยู่ในสถานที่ไหน อิริยาบถไหน  ถ้าฝึกแล้วมันสามารถจะรู้ได้ รู้ที่ตัวนั้นได้ เห็นที่ตัวนั้นได้อยู่ตลอดอย่าไปเชื่อคำกล่าวอ้าง อย่าไปเชื่อจิต

อย่าไปเชื่อความคิด อย่าไปเชื่อความเห็น ว่าทำไม่ได้ ว่ายาก ว่ามีอันอื่นสำคัญกว่า อะไรทำนองนี้ ...ก็พยายามฝึกที่จะกลับมาอยู่กับความรู้ตัวให้ได้ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง

เพราะนั้นถ้าเริ่มภาวนาให้เริ่มจากการรู้ตัว ...ไม่ต้องเริ่มจากนั่งสมาธิหรอก  เพราะว่านั่งสมาธิแล้ว มันนั่งไม่เป็น นั่งแล้วก็นั่งด้วยความอยาก ถ้านั่งด้วยความอยากนี่ อย่าไปนั่งซะดีกว่า

หรือไม่ก็นั่งหลับ ถ้านั่งหลับก็ไปนอนซะ มานั่งให้มันหลับทำไม ง่วงก็ไปนอน ให้มันถูกอิริยาบถ ...ถ้านั่งแล้วอย่าหลับ ถ้าหลับก็อย่าไปนั่ง ...เดิน ยืน ไม่ไหวจริงๆ ก็นอนไปซะ

เชื่อมั้ย เวลานั่งสมาธิกำลังจะหลับน่ะ ให้มันนอน มันนอนไม่หลับหรอก  พอให้มันไปนอน มันก็นอนไม่หลับ ...มันเป็นอย่างนั้น กิเลส

ทำความรู้ตัวอยู่ในอิริยาบถปกตินี่แหละ สำคัญที่สุด สำคัญกว่านั่งสมาธิเดินจงกรมอีก ...เพราะอิริยาบถปกตินี่แหละ คืออิริยาบถที่กิเลสมันสำแดงตัว

มันเป็นอิริยาบถที่ประกอบด้วยเจตนากุศลหรืออกุศลด้วยความไม่รู้ตัว มีการสร้างกรรม มีการกระทำ เป็นกุศล อกุศล ตลอดเวลา

เพราะนั้นเวลาจะภาวนา ต้องภาวนาในอิริยาบถปกติให้ได้ ให้ชำนาญ ให้จนเกิดความเท่าทัน อยู่กับเนื้อกับตัวได้ตลอดเวลา

เพราะนั้น ใครอยู่กับเนื้อกับตัวได้ตลอดเวลา แล้วก็มาก แล้วก็สม่ำเสมอ อันนั้นแหละคือผลงานของการภาวนา ไม่ใช่นับถือเอาว่า ใครสงบกว่ากัน ใครรู้เห็นอะไรประหลาดมหัศจรรย์กว่ากัน

อันนั้นไม่นับเรานับว่าในหนึ่งวันนี่ รู้ตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์ หลงกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเท่าไหร่ อยู่กับเนื้อกับตัวนี่เท่าไหร่ ...นั่นแหละคือผล

เพราะนั้นถ้าภาวนาดี ในความหมายของเราก็หมายความว่า อยู่กับเนื้อกับตัวได้มาก สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง

ถ้าทำความรู้ตัวได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ในหนึ่งวันนี่ ไม่ต้องมาถามเลยว่าผลคืออะไร ไม่ต้องสงสัยลังเลในการปฏิบัติเลยว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผล

แล้วมันจะไม่เรียกร้องหาความสงบ มันจะไม่เรียกร้องหามรรคผลนิพพานแต่ประการใดเลย ...มันมีแต่จะเข้าไปทำความรู้แจ้งอยู่ภายในขันธ์ห้า ว่าไอ้ที่เราอยู่ ไอ้ที่เราอาศัยนี่คืออะไร

มันจะเข้าไปสำรวจตรวจตรา สังเกต แยกแยะ จำแนก ออกเป็นชิ้น เป็นอัน เป็นส่วน เพื่อให้เข้าถึงความเป็นจริงของขันธ์ห้าไปตามลำดับ

เหมือนองค์ประกอบของรถ เวลามันประกอบขึ้น ประกอบกันมันก็เป็นรถ ...แต่ถ้าแยกชิ้นๆๆ ออกมา ก็หาความเป็นรถไม่เจอ

มันจะเข้าไปเห็นการประชุมขึ้นของขันธ์ มันจะเข้าไปสำรวจการประชุมขึ้นของขันธ์ห้า ...แล้วมันก็จะเข้าไปจำแนกว่า ในการประชุม องค์ประชุม องค์ประกอบของขันธ์ห้าในเหตุนั้น คืออะไร

มันแยกออกๆๆ จนเห็นสภาวะที่แท้จริงของขันธ์ห้า มันปรากฏอยู่ได้ ดำรงอยู่ได้นี่ ด้วยการรวมตัวกันชั่วคราว ไม่มีตัวตนที่แท้จริงๆ

เพราะนั้นไอ้สิ่งที่เราเห็น เหตุที่ปรากฏ สิ่งที่มันสัมผัสอยู่นี่ มันเป็นแค่เหตุหรือปรากฏการณ์ชั่วขณะ สุดท้ายแล้วมันก็จะเห็นว่าในองค์ประกอบที่มันรวมตัวกันชั่วคราวนี่

มันมีความดับเป็นที่สุด มีความสูญเป็นที่สุด ไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าองค์ประกอบอันเป็นเหตุที่ปรากฏนั้นจะเป็นลักษณะอาการใดก็ตาม

เมื่อใดที่มันอยู่ในองค์มรรค เมื่อใดที่มันอยู่จำเพาะรู้ตัว จำเพาะอยู่ที่กายใจนี่ งานของมันก็คือการสำรวจ...สำรวจเรื่องราวของขันธ์ห้าโดยตรง ...มันจะไม่ไปสำรวจภายนอก

มันจะไม่สำรวจเรื่องราวอากัปกริยา คำพูด การกระทำ ของสัตว์บุคคล หรือตัวเราในอดีตในอนาคตเลย ...มันจะสำรวจตรวจตราอยู่ภายในที่ปรากฏ ในแวดวงของขันธ์ห้าที่ปรากฏ

ถ้าเป็นภายนอก มันก็จะพิจารณา มันก็จะแยกแยะในแง่ของผัสสะ การกระทบ ในการกระทบกัน

เมื่อมันสำรวจด้วยความมั่นคง เป็นกลาง สังเกต เท่าทัน ...ไม่ได้หาเหตุหาผล ไม่ได้วิเคราะห์วิจารณ์ ...อาศัยการเพียรเฝ้ารู้เฝ้าดู ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน

มันก็จะเห็นอาการตามความเป็นจริงของการปรากฏขึ้นของเหตุนั้นชัดเจน จนถึงการตั้งอยู่ จนถึงการดับไปอย่างชัดเจน ในแต่ละอาการของขันธ์

จนมันรู้รอบเห็นรอบในขบวนการของขันธ์ห้า มันจะรู้รอบเห็นรอบในขบวนการของขันธ์ห้า จนเห็นขบวนการของขันธ์ห้าที่ปรากฏนี่ ที่สุดแล้วมีความเหมือนกัน...คือความดับไปเป็นธรรมดา

ปราศจากตัวตน ปราศจากการดำรงอยู่ หรือรูปลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่ ...นี่ มันจะเข้าไปเห็นความเป็นสูญ หรือความเป็นสุญโญของขันธ์ห้า

ในแต่ละขณะ ในแต่ละการประกอบขึ้นมาในเหตุนั้นๆ  คิดบ้าง จำบ้าง มีอารมณ์บ้าง มีความรู้สึกบ้าง ในความดีใจในความเสียใจ มีอาการยืนเดินนั่งนอน ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว

ทุกอย่าง จะมีอาการที่สุดแล้วเหมือนกัน คือความดับไปเป็นธรรมดา ...ตรงนี้คือปัญญาขั้นสูงสุด

แล้วมันจะไม่เห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของขันธ์ห้าที่หลงเหลืออยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ...เมื่อมีการเกิดแล้ว มีการตั้งอยู่แล้ว ไม่มีคำว่าไม่ดับ

มีแต่เห็นว่าดับไปเสมอกัน มีค่าเท่ากัน ปราศจากตัวตนที่แท้จริงเหมือนกัน

แต่ในการตั้งอยู่อาจจะเปลี่ยนแปลงลักษณะอาการหรือสัญลักษณ์ของอาการนั้นไม่เหมือนกันแต่ท้ายสุด สุดท้ายแล้ว ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ...นั่นแหละเห็นขันธ์ห้าเป็นอนัตตา

ในการภาวนา ความรู้ที่พระพุทธเจ้าแนะสอน ...ธรรมะนี่ในโลกนี้ ในสากลจักรวาลนี่ มันมีอยู่แล้ว เขาแสดงความเป็นธรรมอยู่แล้ว เขาเป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว

มันไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปค้นไปหาธรรมอะไร  การภาวนาไม่ได้ไปหาของใหม่ การภาวนาไม่ได้ไปทำอะไรให้มันเกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ว่าเป็นการค้นหาอะไร

ไม่ใช่เป็นการเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่เอานั่นมาผสมนี่ ให้มันเกิดสสารชนิดใหม่ขึ้น ประหลาดมหัศจรรย์ขึ้นมา แล้วก็บอกว่านั่นเป็นผลงานมาสเตอร์พีซอะไรอย่างนั้น

การภาวนาก็คือการเรียนรู้ธรรมชาติ ที่มันมีอยู่แล้ว เขาแสดงความเป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ประหลาดมหัศจรรย์แต่ประการใด 

นี่เป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว ด้วยความดำรงอยู่ด้วยความเป็นปกติธรรมดาของเขานั่นเอง ...แต่ว่าปัญหาที่มันเป็นปัญหาใหญ่ก็คือ จิตของมนุษย์ปุถุชนนี่...มันไม่เชื่อ 

มันเชื่อตัวมันเอง มันเชื่อความคิดมันเอง มันเชื่อตัวที่มันสร้างว่าตัวเราของเราเองขึ้นมา แล้วมันเชื่อแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ...เขาเรียกว่าโง่ก็เข้าขั้นดักดาน

แล้วมันไม่ยอม ไม่ยอมรับธรรมชาติ ไม่ยอมที่จะสำเหนียกศึกษาธรรมชาติตามความเป็นจริง ...เพื่อให้มันเกิดการยอมรับ หรือการเข้าใจสภาวะธรรมชาติตามความเป็นจริง...นี่คือการภาวนา

ไม่ใช่เรื่องประหลาดหรือว่าไปหาของประหลาด หรือไปหาไปสร้างตัวเองให้เป็นมนุษย์ประหลาด อุลตร้าแมนอะไรขึ้นมา ไม่ได้ทำอะไรให้มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเลยแต่ประการใด


(ต่อแทร็ก 8/33  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น