วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/26 (1)


พระอาจารย์
8/26 (550821B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21  สิงหาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การเกิดมาเป็นมนุษย์ มีต้นทุนมานี่ พอแล้ว...พอที่จะสำเร็จมรรคผลและนิพพานในชาตินี้ทุกคน บอกให้

แต่มันใช้ทุนไม่เป็นไง ไปลงทุนไม่ถูกที่ก็เจ๊งกะบ๊ง ...ลงทุนเอาไปทำบาปอย่างนี้ หรือลงทุนเอาไปทำบุญหาความสุข...อย่างนี้ ได้ผลบุญชาติหน้าโน่น

ต้องไปรอเอาชาติหน้าต่อๆ ไปนะ บุญน่ะ  ทำมากๆ ก็นู่น เอาเจอพระศรีอาริย์เลยนะ  นี่ หวังไกลเหลือเกิน ...มันลงทุนผิดประเภท...ไม่ตรง

มันก็เลยเนิ่นช้า มันก็เลยดูเหมือนว่ามรรคผลนิพพานยากเหลือเกิน...ก็ใช้ไม่เป็นน่ะ ...นี่พูดเฉพาะศาสนาพุทธนะเนี่ย เอ้า

อย่างคนแขกจีนอิสลามคริสต์ ก็มีกายเป็นศีลเสมอกัน เท่ากัน เหมือนกัน ...แต่นี่คือเขาไม่เอามาใช้ลงทุน ปิดประตูเลย ไม่รับรู้รับเห็นในคำสอนที่ตรงของพุทธะ

เวรกรรมนี่ ที่ไปสร้างความเชื่อความเห็นต่างๆ เหล่านั้น มันก็มาปิดบังศีลสมาธิปัญญาโดยปริยาย ...ไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นสาระของกายที่เป็นศีลนี้

นี่ อย่างนี้ก็ไม่ต้องถามว่าจะเอาศีลสมาธิปัญญามาใช้ประโยชน์ในทางที่จะดำเนินไปในมรรคผลและนิพพานได้อย่างไร ...ไม่มีทางเลย

เพราะนั้นเมื่อมีโอกาส ได้โอกาส แล้วมันก็หมดโอกาสไปซะยังงั้น ...เพราะเรียกว่ามีทุนแล้วเท่ากัน เกิดมาในโลกไม่บ้าใบ้เสียจริตนี่มีทุนเท่ากัน มีโอกาสเหมือนกัน

แต่มันหมดโอกาสไปเพราะเหตุปัจจัยไม่เพียงพอ ดันไปสร้างกรรมวิบากขึ้นมา ที่ทำให้ปิดบัง...สร้างความเห็นขึ้นมาปิดบังกายศีล กายสมาธิ กายปัญญานี้

ถึงว่าเป็นไปได้ยากที่จะไปเกิดมรรคผลนิพพานในบุคคลนอกศาสนาพุทธ ...ทั้งๆ ที่เขามีโอกาสนะ

จริงๆ พุทธศาสนาเป็นศาสนาสากล ...พระพุทธเจ้าท่านเกิดมาท่านตรัสรู้มาเพื่อสั่งสอนสัตว์โลก ท่านไม่ได้บอกว่าจำเพาะพุทธศาสนิกชนนะ ท่านมาประกาศศาสนาให้กับสัตว์โลก

ขึ้นชื่อว่าสัตว์โลกนี่ ตั้งแต่สองตีน สี่ตีน จนถึงไม่มีตีนน่ะ ...แต่ว่าถ้าสัตว์โลกที่ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง ท่านก็ให้แค่อย่างนึง ...แต่ถ้าเป็นคนนี่ท่านก็สอนให้ไม่เลือกเหมือนกัน

เพราะว่าทุกคนมีต้นทุนเหมือนกัน ไม่ต้องถามว่า ไม่ต้องบอกว่าเคยภาวนามากี่ชาติ หรือไม่เคยภาวนามาเลย เอาว่ามีแขน มีขา มีรู้อยู่นี่...พอแล้ว

นี่ พอดีแล้ว มัชฌิมาปฏิปทาบังเกิดได้แล้ว ก็ปรับแต่งทิฏฐิในองค์มรรคให้มันตรงหน่อย แล้วก็มีอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ดำเนินไปด้วยสัมมัปปทาน แล้วก็บ่มอินทรีย์ไปเป็นอินทรีย์ ๕ อยู่ในหลักของโพชฌงค์ ๗ ...ก็พอดีเลย ตรัสรู้ได้ในชาตินี้

ถ้าฟังน่ะ ง่ายๆ ...ฟังเรานี่ ถ้าฟังง่ายๆ แล้วไม่ต้องคิดมาก  ...การปฏิบัติไม่ใช่ของยากเลย ไม่ใช่ของลึกลับซับซ้อน ที่จะต้องไปค้นไปไขว่ไปตะกายดินตะกายดาวหาเลย ...นั่งอยู่ก็รู้...จบ

เนี่ย จบตรงนี้เลย ก็จบตรงรู้นี่ จบตรงรู้ว่านั่งให้ได้ ไม่ให้มันมีกายอื่นแทรกซ้อน อย่างนี้ ...แต่พอรู้ว่านั่งนี่ ก็ยังมีกายอื่นแทรกซ้อนมาอีก

ก็เอากายปัจจุบันคือกายนี้ ก็เรากำลังนั่งนี่ ...เนี่ย ก็หยั่งลงไป สังเกตลงไป ว่าอะไรเป็นเรานั่ง อะไรเป็นนั่ง ...มันก็จะเห็นกายซ้อนกายที่เกิด

ก็ดู...อันไหนกายจริง อันไหนกายไม่จริง ....อันไหนไม่จริงดับหมดน่ะ อยู่ไม่ได้หรอก ...ให้จดจ่อลงไปด้วยสัมมาสมาธิ ตั้งมั่น

อย่าไปดิ้นรน อย่าไปไขว่คว้าค้นคิด อย่าไปหงุดหงิด ..ดูกี่ทีๆ ก็เป็นกายเราทุกที อะไรอย่างนี้ ...แล้วก็มาบ่นว่าทำยังไงมันถึงจะไม่เห็นกายเรา

ก็อย่าไปคิดซี่ ...ดูลงไป ดูดีๆ  สอดส่อง เข้าใจคำว่าสอดส่องมั้ย  ก็สอดส่อง สังเกต ...นี่ พระพุทธเจ้าถึงใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ

สังเกตหน่อย ถี่ถ้วนลงไป แยบคาย ดูดีๆ ดูดีๆ อย่าเพิ่งตีโพยตีพาย “หนูดูกี่ที ผมดูกี่ที มันก็เรานั่งทุกทีเลย ไม่เห็นเป็นสักแต่ว่ากายอ่ะ ทำไงถึงเป็นสักแต่ว่า”

ถ้าคิดก็ไม่เห็นน่ะ ถ้ามัวแต่ค้นก็ไม่เจออ่ะ ถ้ามัวแต่ลังเลสงสัยว่าจะทำยังไงดี ก็ไม่เข้าใจ ...ให้หยุด เนี่ย พวกนี้มันกำลังไปหากายใหม่ทั้งนั้นนะจิตน่ะ ...นี่ไม่ทันแล้ว

ก็...เอาวะ กายเราก็กายเรา ก็ดูลงไปในกายเรานั่นแหละ ความรู้สึกว่าเรานั่ง ก็ดูลงไปในอาการความรู้สึกว่านั่งซิ หยั่งลงไป

มันมีกายซ้อนกี่กายๆ เดี๋ยวมันก็จำแนก ชำแรกออกหมด แยกสังขารออกหมด มันจะแยก...สมาธิ ปัญญานี่มันจะแยกขันธ์ แยกธาตุ แยกธรรม แยกกาย แยกใจ แยกจิต แยกผัสสะ

มันแยกออกหมด สลายแตกออกมา ...จนเห็นว่าเหลือแต่ความเป็นจริงที่ปรากฏ กายตามความเป็นจริงที่ปรากฏ มันจะเหลือเท่านั้นแหละ

มันก็จะเริ่ม...แรกๆ ก็ นานๆ จะเห็นชัดเจนซักทีนึง แล้วก็เกิดความรู้ชัดเห็นชัดในกายจริงนั้น ...แล้วถ้ามีความพากเพียรไปบ่อยๆ มันก็เกิดเห็นมากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น

มันก็จะเห็นเลยว่า ไอ้กายไหนโกหก ... “กายเรา” นั่นแหละกายโกหก  มันติดมาตั้งแต่โคตรพ่อโคตรแม่ มันติดมาตั้งแต่ชาติไม่รู้กี่ร้อยล้านๆ ชาติแล้ว

เพราะนั้นดูกี่ทีๆ มันก็ไอ้ “กายเรา” นี่มันจะแอบขึ้นมาตลอดเลย ...ก็อย่าท้อ มันหนีไม่พ้นความจริงหรอก

มันจะมาโกหก มันจะมาปิดบังกายตามความเป็นจริงของผู้ที่มีความพากและความเพียรอยู่ในศีลสติสมาธิปัญญาไม่ได้ ...ไม่มีอะไรมาลบล้างธรรม ไม่มีอะไรมาลบล้างความเป็นจริงได้

มีแต่เราน่ะขี้เกียจ ขยันไม่พอ ขี้เกียจน่ะเยอะ ปล่อยให้หลงให้เพลิน ให้ท้อให้ถอย ให้ออกจากศีลสติสมาธิปัญญาอยู่ตลอดเวลา ...อย่างนี้มันก็ไม่สามารถหยั่งลงไปได้

เขาเรียกว่าภาวนาไม่ถึงกาย ภาวนาไม่ถึงใจ  มันภาวนาอยู่แค่เปลือกๆ เปลือกกาย ...ก็ “เอาแระ พอแระ เสร็จแระ ตายแระ” เอาแค่เปลือกใจกับความคิดอย่างงี้อย่างงั้นอย่างงู้น ไม่จบไม่สิ้น

แต่ถ้าภาวนาถึงกายถึงใจแล้ว มันจะมีจุดจบ...จบลงที่กายนั้นแหละ ไม่มีกายยิ่งกว่านี้แล้ว เป็นกายหนึ่ง เป็นกายเอก เป็นกายธรรม เป็นธรรม  เป็นธรรมชาติหนึ่ง เป็นธรรมดาหนึ่ง เป็นสิ่งหนึ่ง เป็นอาการหนึ่ง

นั่นแหละ จบ จบตรงนี้ จบกายอยู่แค่นี้ เอกายนมรรค ทางสายเอก มีเอกคือหนึ่งนี้เท่านั้น ... ต้องเห็นกายหนึ่ง...ลึกกว่านี้ก็ไม่ใช่ ตื้นกว่านี้ไม่ใช่ ...ต้องกายศีลนี่แหละ

เพราะนั้นเมื่ออยู่ในกายศีลตัวนี้สม่ำเสมอต่อเนื่องไป ศีลก็เกิดความบริสุทธิ์ ...ก็หมายความว่ากายก็มีความบริสุทธิ์ในตัวของมัน

จริงๆ กายบริสุทธิ์อยู่แล้ว ที่ดูไม่บริสุทธิ์เพราะมันมีมลทิน มาห่อมาบัง มาครอบ มางำ ...มลทินคืออะไร มลทินคือความเห็น มลทินคือสมมุติ มลทินคือบัญญัติ มลทินคือความเชื่อตามตำรา

เมื่อเห็นกายจริง รักษากายจริง รู้กายจริง เห็นกายจริง ต่อเนื่องยืดยาวไป ...กายวิสุทธิก็คือความหมายของศีลวิสุทธินั่นแหละ มันก็เกิดความบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น

ที่ไม่เคยเห็นความผุดผ่องของกาย ทั้งที่มันผุดผ่องของมันน่ะ ก็เหมือนกับก้อนเพชรที่อยู่ในตม

ดูกี่ทีๆ ก็เป็นกายเรา ดูกี่ทีๆ ก็กายผู้หญิง ดูกี่ทีๆ ก็กายผู้ชาย กายหนุ่ม กายแก่ ...อย่างนี้กายไม่จริง แล้วไปติดคาข้องอยู่กับกายเหล่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ ยังออกไปนอกกายที่มันห่อหุ้มในปัจจุบันอีกนะ  มันไปอยู่นู้นนน... “เดี๋ยวเราจะไปนั่นดีมั้ย ..เดี๋ยวเราจะภาวนาอย่างนี้แล้วได้ผลอย่างนั้น”

“เดี๋ยวเราจะไปทำตรงนั้น ภาวนาอย่างนู้นอย่างนี้ แล้วเราจะสำเร็จมรรคผลด้วยวิธีการนั้นวิธีการนี้” ...เนี่ย ไอ้นี่ยิ่งไปกันใหญ่ ออกนอกกายไปเป็นวาเป็นโยชน์ เป็นชาติหลายชาติไปเลยนั่น

ก็พยายามจำกัดลงเหลือกายเดียวกายหนึ่ง ให้มันหดลงๆ ให้มันสั้นลง ให้มันแคบ อยู่ในแวดวงของศีลกาย...เป็นกรอบของขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งของขันธ์ ๕

เพราะนั้นถ้าอยากมีปัญญา นี่ ปัญญา...ก็บอกแล้วคือเห็นตามความเป็นจริง นี่แปลแบบตรงไปตรงมาเลยนะ ไม่ซับซ้อน แล้วความเป็นจริงอยู่ไหนรู้รึยัง

ก็ต้องเห็นว่า กายไหนจริงล่ะ ...ปัญญาก็จะเกิดต่อเมื่อมันเห็นกายตามความเป็นจริง ก็คือกายจริง ปัญญามันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไปเห็นกายที่ไม่จริง หรือมันกำลังไปค้นหากายที่ไม่จริง

แล้วจะไปหาความเป็นจริงในกายที่ไม่มีจริง ไปหาจิตที่ไม่มีอยู่จริง ไปหาสภาวะที่ยังไม่ปรากฏจริง ไปคิดไปค้นไปพิจารณาอะไรก็ตามที่ยังไม่ปรากฏจริงนี่

แล้วมันเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา แล้วไปเหมาเอาว่าเป็นปัญญา ...นั่นไม่ใช่ เพราะมันกำลังไปหาสิ่งที่...หรือไปรู้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ...จึงไม่เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง

เพราะนั้นตัวที่เห็นตามความเป็นจริง มันต้องเห็นของจริง ...ของจริงอยู่ไหน ...คือของที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน...คือธรรมจำเพาะหน้า เท่านั้นน่ะ

มันเรียนรู้ มันต้องเห็นธรรมจำเพาะหน้าเท่านั้นนะ ไม่เกินนี้นะ ...เกินนี้ออกไปไม่ใช่ ไม่มี ...นี่ขนาดจำเพาะหน้านี่ มันยังไม่จบเลย

มันศึกษาสำเหนียกโยนิโสในธรรมปัจจุบัน หรือปัจจุบันธรรมจำเพาะหน้าแล้วนี่ ...มันยังต้องเห็นเข้าไปถึงที่สุดของธรรมจำเพาะหน้านี้อีก...ว่าที่สุดของปัจจุบันธรรมนี้ คืออะไร


(ต่อแทร็ก 8/26  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น