วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/26 (2)


พระอาจารย์
8/26 (550821B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21  สิงหาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นความเห็นในโลกของผู้ปฏิบัติ...ที่มันหลากหลาย  เพราะมันไม่เห็นกายอันเดียวกัน มันไม่เห็นกายที่เป็นศีล 

เพราะมันละเลย ไม่เข้าใจคำว่าศีล ...นี่ คือถ้าไม่เข้าใจเรื่องศีลเรื่องเดียวนะ  การภาวนานี่...ถ้าเราพูดแบบหยาบๆ คือล้มเหลวเลย...จะล้มเหลวเลยน่ะ

มันก็เกิดการไขว่คว้า ค้นหา ทะเยอทะยาน ...แล้วเอามาอวดกันว่ากูเห็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ กูได้อย่างนั้น เห็นกายเป็นอย่างนี้ เห็นกายเป็นอย่างนั้น

บางคนนี่...ที่มาหาเรานี่ แต่ละคนเดินมานั่ง นั่งปุ๊บนี่เป็นกระดูกปังเลย มีที่เห็นเป็นกระดูกทุกครั้งไปก็เยอะ จนเห็นกระดูกเป็นแก้วก็มีเยอะ

แต่ไม่เห็นกิเลสมันหมดเลยอ่ะ ไม่เห็นมันละราคะโทสะอะไรได้เลย ไม่เห็นมันละความเป็นเราของเราตรงไหนได้เลย ...มันก็ได้แต่เห็นแล้วดีใจ สบายใจ ไม่มีกิเลส

เราบอกว่า...อย่างน้อยให้เห็นกระดูกเดินหน่อยเถอะวะ ให้เห็นกระดูกมันกระแทกพื้นหน่อย รู้สึกมั้ยกระดูกกระแทกพื้นแล้วมันแข็งน่ะ

เนี่ย ก็ต้องเอากายนิมิตนี่มาทาบกับกายจริง ให้มันเห็นกายจริงลงไปด้วยว่า ไอ้ที่มันเห็นกระดูกเดินน่ะ เห็นเป็นกระดูกแล้วรู้สึกว่าแข็งมั้ย  เออ อันนี้ ...แล้วอันไหนไม่จริงล่ะ เดี๋ยวมันจะดับให้ดู

บางคนลงจากวัดเดินมาหาเรา ก็ว่าปากนี้ยื่นออกมาเป็นครุฑเลย มีปีกอีก ยังงี้ก็มี ...เราก็บอกว่า ดีนะมึงไม่บินมา ถ้าบินมาล่ะตกเขาตายแน่ 

เห็นมั้ย จิตนี่สร้างกายได้อเนกอนันต์ จะสร้างกายอย่างไรก็ได้ ...อยากได้อะไรล่ะ หมายไว้เถอะ จดจ่อไว้เถอะ

เดี๋ยววัน ณ  เวลา ณ  ได้ฤกษ์ได้ยามดี มันจะทำให้เห็นปรากฏ จะเอากระดูกก็เป็นกระดูก จะเอาเป็นอสุภะก็เป็นอสุภะอย่างนี้

แต่เราถามก่อนว่า...มันจริงมั้ย มันเป็นกายจริงมั้ย มันเป็นกายปัจจุบันจริงมั้ย หรือเป็นกายที่ต้องสร้างขึ้นมาด้วยจิต ด้วยการกระทำ ด้วยการปรุงแต่งอย่างใดอย่างหนึ่ง

ก็บอกแล้วว่านั่นคืออุบาย ...ถ้าคนที่เข้าถึงอุบาย แล้วถึงที่สุดของอุบายแล้วนี่จะเข้าใจ...ยังไงๆ ก็ถูกตีกลับลงมาที่เอกายนมรรค...กายหนึ่งจิตหนึ่ง

คนที่เคยมาหาหลวงปู่ แล้วมาถามว่าหลวงปู่สอนอะไร ...เราบอกว่าไม่ต้องถามหรอก เวลาเดินขึ้นถ้ำ เห็นป้ายข้อความธรรมที่ท่านสอนตรงก่อนขึ้นบันไดนาคสองแผ่นใหญ่ๆ น่ะ ไปอ่านดู แล้วทำ

แค่นั้นน่ะ รวมความหมดจนถึงนิพพานเลย แค่นั้นน่ะ ...ถ้าทำได้ก็จะรู้เลยว่าหลวงปู่ท่านสอนอะไร วิธีการปฏิบัติคืออะไร หลักของการปฏิบัติคืออะไร

แค่นั้นน่ะ แค่ประโยคแค่นั้นน่ะ เรียบ ง่าย สั้น แทบจะไม่มีภาษาบาลีเลยสักคำ ...แต่นั่นน่ะคือเนื้อโดยอรรถของมรรคผลและนิพพาน

แต่มันก็เดินผ่านไปผ่านมากัน โดยเฉพาะพระนี่ ตัวสำคัญเลย ...คือมันเหมือนทัพพีอยู่ในหม้อข้าวหม้อแกง มันก็เลยเอาตักไปให้คนอื่นเขากิน โดยไม่รู้รสชาติ ไม่เห็นความสำคัญ

แล้วนั่งฟังเทศน์กันก็ง่วงเหงาหาวนอน ไม่รู้มันจะฟังทำไม เนี่ย จนเกิดเป็นความเคยชิน ฟังเทศน์จนเป็นความเคยชินน่ะ ตีสามฟัง หนึ่งทุ่มฟังๆ

นั่งสมาธิก็นั่งด้วยความเคยชิน เขาให้นั่งก็ต้องนั่ง อย่างนี้ ...อะไรๆ มันลงร่องเป็นความเคยชินขึ้นมาแล้ว กิเลสคาบเอาไปกินหมด หมดสิ้น ...พระก็เป็นแพะซะอย่างนั้น

เพราะนั้นกว่าที่จะเข้าใจจริงๆ จังๆ ขึ้นมานี่... ต้องปฏิบัติ ใส่ใจ ตั้งใจจริงๆ ...บางคนชอบพูดว่าหลวงปู่ไม่เห็นสอนไม่เห็นพูดอะไรเลย วิธีการปฏิบัติก็ไม่เห็นเคร่งครัดบอกในวิธีการปฏิบัติ

ก็บอกว่า...มึงไปอ่านดูสิตีนบันไดนั่นน่ะ รวมหลักการปฏิบัติ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ...ถ้าทำได้ก็แจ้งอ่ะ เนี่ย มันก็ว่า “แค่จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง รู้อยู่ ไม่ไปไม่มา มันจะละกิเลสได้ยังไงวะ” 

แน่ะ ศาสดาหัวแหลม ไอ้พวกคิดมาก ตัวมันคอยตั้งลัทธิความเชื่อขึ้นมาอยู่เรื่อยว่า “ไม่น่าจะได้ มันต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้” ...เนี่ย มันเก่งเหลือเกิน

พระพุทธเจ้าถึงบอก ต้องลองทำดูนะ อย่าเพิ่งปฏิเสธและก็อย่าเพิ่งยอมรับนะ ...แต่ถ้าคุณยังไม่ทำแล้วคุณจะมาปฏิเสธโดยที่หัวชนฝาเลย คิดว่าตัวเองถูกตัวเองใช่เลย ...นี่ผิดนะ

เพราะนั้นถ้ายังไม่ลองทำก็อย่าพูดดีกว่า เงียบซะ  เอาไปทำก่อน ทำได้-ไม่ได้...ว่ากันอีกที ...อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นวิสัยของพุทธมามกะ หรือสันดานของพุทธะ สืบนิสัยวาสนาของพุทธะ พุทโธผู้รู้ ไม่ใช่ผู้หลง

ถ้าอยากรู้จริงก็ต้องทำจริงสิ  ถ้าอยากรู้ว่าท่านพูดท่านสอนตรงมั้ย ใช่มั้ย  ก็ต้องเอาตัวเข้าไปลงทุนสิ ...ไม่ใช่ลงทุนแค่คิดๆ นึกๆ ไอ้ลงทุนแค่นี้อย่ามาพูด ...ไม่ฟัง

บางคนก็มาหาบอกว่าอาจารย์สอนอย่างเดียว "ให้รู้" นี่นะ ...เออ ก็ถ้ามึงไม่รู้ แล้วมึงจะไปหาอะไร หือ ...ถ้าไม่รู้ ไม่รู้จักใจนี่ จะไปภาวนาหาอะไร หือ จะหาอะไร ...ถามก่อน

ถ้าภาวนาแล้วไม่หาใจ ไม่อยู่กับใจรู้นี่ จะหาอะไร จะเอาอะไร จะได้อะไร จะเป็นอะไร ...เพราะใจนี้เป็นใหญ่เป็นประธาน ...ถ้าภาวนาไม่ถึงใจ ถ้าไม่อยู่ที่ใจหรือไม่เห็นใจแล้วนี่ ไม่ต้องพูดถึงการภาวนาแล้ว

เพราะใจเป็นหลัก...แล้วตัวที่ใกล้ชิดใจที่สุดก็คือผู้รู้ ...เพราะนั้นผู้รู้จริงๆ ก็ยังไม่ใช่ใจ แต่ว่าเป็นผู้รู้ที่แนบติด เรียกว่าสภาวะใกล้เคียงกับใจที่สุดแล้ว  

ก็ต้องเอาตัวนี้น่ะเป็นหลักไว้ก่อน นี่มันถึงจะไม่ถูกหลอกง่ายที่สุดแล้ว ...ถ้าเชื่อความคิด ถ้าเชื่อความเห็น ถ้าเชื่อกายข้างหน้าข้างหลังน่ะ มันก็แตกกระสานซ่านเซ็นไป ไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งได้

เพราะนั้นถ้าไม่รวมเป็นหนึ่งอยู่ที่รู้นี่ หรือว่าตั้งมั่นอยู่ที่รู้นี่ ปัญญาไม่มีทางเกิดเลย ...เพราะความเห็นมันคลาดเคลื่อนหมด สิ่งที่มันเห็นนี่คลาดเคลื่อนหมด

จึงบอกว่ามันเป็นเหตุปัจจัยเนื่องซึ่งกันและกัน ศีลสมาธิปัญญานี่ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ...เมื่อใดที่กลับมารู้ตัวว่านั่งนอนยืนเดิน แค่เนี้ย ให้รู้ไว้เลย...ศีลสมาธิปัญญาอยู่ตรงนั้น...ที่เดียวกัน

ไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปคิดอะไรอีกแล้ว มันพอดีกันตรงนั้นแหละ ...ถ้าไม่พอดี มันจะไม่รู้ว่านั่ง  ถ้ามันไม่พอดีของศีลสมาธิปัญญาจะไม่รู้ว่านั่ง จะไม่ตรงกับรู้กับนั่ง นี่ตรงกัน

เพราะไอ้รู้กับนั่งปัจจุบันนี่ จะตรงกันได้นี่...เพราะศีลสมาธิปัญญาในระดับขณิกะ ...อาศัยขณิกะๆๆ ต่อเนื่องด้วยสัมปชัญญะ มันจะเกิดสัมปชาโนขึ้นมาเอง

ภาวิตา พาหุลีกตา ...ซ้ำซากๆ รู้ซ้ำรู้ซาก เห็นซ้ำเห็นซาก ที่เดียวนี่แหละ ไม่ไปที่อื่น ...ที่กาย ที่เดียว ไม่มีหลายที่  อย่าออกนอกกาย อย่าออกนอกศีล

พอเริ่มไขว่เริ่มคว้า เริ่มกังวล เริ่มสงสัย เริ่มลังเล เริ่มหาวิธีการ เริ่มมีเวลา เริ่มอยาก ...ให้กลับมารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน ...กลับมารู้ตัวซะ

กลับมารู้ตัวซะตรงนั้น หักลำกันตรงๆ เลย ต้องละกันต่อหน้าต่อตาเลย ...กิเลสมันเกิดขึ้นนี่ จะเกิดมาแต่ชาติไหนปางไหนไม่รู้น่ะ  แต่ถ้ารู้แล้วนี่...ต้องหักกันต่อหน้าต่อตาเลย

กลับมารักษาศีล ณ ปัจจุบันขณะนั้นๆ ทันที ...ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้อโต้แย้งของความคิดใดความคิดหนึ่ง หรือความคิดเห็นใดๆ ขึ้นมา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าปฏิบัติจริง ตรงต่อธรรม

ถ้าปฏิบัติไม่จริง ปฏิบัติไม่ตรงต่อธรรมแล้วนี่ ...มันจะถูกธรรมสังขาร หรือสังขารธรรมที่เกิดขึ้นด้วยจิตนี่หลอก พาวน

จิตจะพาวน วนไปวนมา วนซ้ายวนขวา วนหน้าวนหลัง วนบนลงล่าง วนไปคนนั้นคนนี้ วนไปสถานที่นั้นสถานที่นี้ วนไปชาตินั้นชาตินี้ ...หาที่จบไม่ได้

แต่พอมันจบอยู่ที่รู้เดียวในปัจจุบันนี่ ...ซึ่งปัจจุบันนี่อยู่ดีๆ มันจะไปกำหนดปัจจุบันไม่ได้หรอกถ้าไม่มีกาย ...ถ้าไม่มีกายเป็นที่ตั้งของปัจจุบันน่ะ จะไปปัจจุบันลอยๆ อะไรล่ะ...ไม่ได้

นี่แหละคือที่พระพุทธเจ้าต้องว่าด้วยศีลก่อน คือปกติกายนี่แหละ เป็นสิ่งที่เถียงไม่ได้...เถียงปัจจุบันกายไม่ได้เลย เพราะความจริงนี้มีอยู่ ณ ขณะนี้นะ ...นี่คือหลักและวิธีมันรวมกันเลย...หลักและวิธีการน่ะ มันรวมกันเลย

เพราะนั้นกายนี่ คือวิธีการปฏิบัติ หรือรูปแบบการปฏิบัติ ซึ่งมันมีมาตั้งแต่เกิด ...รูปแบบนี้ รูปแบบกายนี่ คือได้รูปแบบการปฏิบัตินี้มาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ต้องไปหารูปแบบใหม่แล้ว

เนี่ย ว่าแบบตรงไปตรงมาเลย  ธรรมะพระพุทธเจ้าคือธรรมที่ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม  นอกนั้นท่านสอนไว้นานาจิตตัง ก็เรียกว่านั่นเป็นอุบายธรรม

อุบาย...กรรมฐาน ๔๐ วิปัสสนากรรมฐาน พวกนี้เป็นอุบาย...เพื่อจะน้อมให้กลับมาสู่ศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา...สัมมาศีล สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาปัญญา

แต่ถ้าพวกเราเข้าใจแล้ว หรือว่าปรับทิฏฐิให้มันตรงต่อศีลสมาธิปัญญา แล้วก็เอาไปทำเลย ทำเลย เจริญขึ้นมาเลย ...เจริญศีลขึ้นมาเลย...ด้วยสติเนี่ย

สติก็ไม่ได้จัดอยู่ในไตรสิกขา แต่สติจัดเป็นธรรมที่มีอุปการคุณ เป็นเหมือนพี่เลี้ยง แม่เลี้ยง นางนม ...ถ้าไม่มีสตินะ...ก็ไม่มีทั้งศีลสมาธิปัญญาใช่มั้ย  นี่ยิ่งครอบศีลสมาธิปัญญาอีกชั้นนึงต่างหาก

แต่พวกนักปฏิบัติ...พอนั่งหลับตาปุ๊บนี่ไม่สนใจล่ะ  กูจะเอาสงบอย่างเดียว แล้วก็บอกว่าถ้าสงบแล้วเดี๋ยวมีปัญญา ...ดูมันว่าของมัน...ศาสดาหัวแหลมทั้งนั้นน่ะ

แล้วขณะนั่งก็นั่งแบบไม่มีสติ นั่งแบบไม่รู้ตัว ...มันนั่งได้ยังไงวะ นั่งเหมือนหลับเหมือนหลง นั่งแล้วก็เหมือนนกแก้วนกขุนทองในคำบริกรรมอะไรอยู่นั่น แล้วก็ปล่อยให้มันล่องลอยไปตามคำบริกรรม

แบบจะสงบก็คือสงบ จะไม่สงบก็คือไม่สงบ แล้วก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวอะไรเลย ...อย่างนี้ มันจะไม่เรียกว่าโมหะสมาธิ แล้วว่าเป็นสัมมาสมาธิได้หรือ...มันไม่ใช่อ่ะ

"รู้ตัว" ...สำคัญ เป็นคีย์เวิร์ด พาสเวิร์ดของการปฏิบัติแล้ว ...เพราะมันรวมตัว รวมทั้งหมดศีลสมาธิปัญญา ...นี่ ไม่ต้องอธิบายความมาก พูดโดยอรรถเลย เชิงอรรถ


(ต่อแทร็ก 8/27)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น