วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/25 (2)


พระอาจารย์
8/25 (550821A)
21 สิงหาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  8/25  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อมันเห็นกลางๆ ...สภาพธรรม สภาวธรรมสองสิ่ง คือกายและใจก็จะปรากฏในขณะที่ปัญญาตัวที่เห็นน่ะ ตรง...มันจะปรากฏอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเห็นที่เป็นกลางนั่นแหละ 

สภาพที่ตรงไปตรงมา คือหมายความว่า...กายก็สักแต่ว่ากาย ใจก็สักแต่ว่ารู้ ...มีอยู่สองอย่าง สักแต่ว่ากาย กับสักแต่ว่ารู้ 

มันเห็น...ในสักแต่ว่ากายก็ไม่เห็นอะไรในสักแต่ว่ากายนั้น ...หมายความว่าไม่เห็นเรา ไม่เห็นของเรา ไม่เห็นสวย ไม่เห็นไม่สวย ไม่เห็นสัตว์ ไม่เห็นบุคคล ไม่เห็นชื่อ ไม่เห็นบัญญัติ ไม่เห็นสมมุติ ไม่เห็นภาษา 

ไม่เห็นความหมาย ไม่เห็นดี ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นคุณ ไม่เห็นอะไรในกายนั้น ...นี่แหละปัญญามันเกิด เมื่อมันเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ในกายตามความเป็นจริง

มันไม่เหมือนกายตามที่เคยคิดเคยเชื่อ มันไม่เหมือนกายที่คนอื่นเขาเชื่อเขาบอก มันไม่เหมือนกายที่เขาเขียนไว้ในตำรา ว่ากายคืออันนั้น คืออันนี้ คือแบบนั้น คือต้องเห็นกายอย่างนั้น คือต้องเห็นกายอย่างนี้ 

มันเห็น...เท่าที่มันปรากฏจริงๆ  ไม่มีมลทิน ไม่มีอะไรเจือปน ไม่มีอะไรครอบงำ ไม่มีอะไรบิดเบือน ไม่มีอะไรแฝงแอบอิงแนบอยู่ ...นี่มันเห็นกายชัดเจนตามความเป็นจริง

การที่มันเห็น...อาการที่มันเห็นกายชัดเจนตามความเป็นจริงนี้แหละ มันจึงจะเข้าไปลบล้าง ทำลายความเห็นผิดในกายที่เคยมี ที่เคยเชื่อ ที่เคยว่า ที่เคยเข้าใจ ที่เคยยึดว่ามันเป็นอย่างนั้น ว่ามันเป็นอย่างนี้

ปัญญาญาณ...จึงเป็นตัวที่ทำลายความเห็นผิดในกาย โดยที่ไม่ได้คิดไม่ได้ค้นแต่ประการใด ...มันเพียงแค่รู้และเห็นด้วยความเป็นกลาง

สภาวะนี่ ที่เราพูดทั้งหมด...ตั้งแต่เริ่มมีศีล ตั้งมั่น แล้วก็เห็น ...สภาวะทั้งหมดนี่เรียกว่ามรรค เรียกว่าอยู่ในองค์มรรค หรือเจริญมรรค 

แต่คราวนี้ว่าพอเห็นไปเห็นมา แล้วทำงานไปด้วย พูดคุยไปด้วย สังคมกับคนนั้นคนนี้ มีธุระปะปังไปมา คิดนู่นคิดนี่  ...เพราะนั้นเวลาทำไปในการดำรงชีวิตนี่ มันมีอะไรมาเกาะๆ แกะๆ อยู่ตลอด

มันคอยดึงคอยรั้งให้ออกไปหา ออกไปมี ออกไปเป็น ออกไปคิด ออกไปทำ ...มันก็ค่อยๆ เจาะ หรือว่าทำให้องค์มรรค การเจริญในมรรคนี่  มันค่อยๆ จางคลายสลายไป เสื่อมไป หมดกำลังไป

การรู้การเห็นในกายหนึ่งจิตหนึ่ง ธรรมหนึ่งจิตหนึ่ง มันก็เริ่มเบลอ ไม่ชัดเจน ...มันเริ่มมีหลายกายแทรกซ้อนเข้ามา มันเริ่มมีความเข้าไปจริงจังในกายนอก 

กายไม่จริงก็ว่าจริง...เริ่มจริงขึ้นมา เริ่มเห็นความสำคัญในกายที่ไม่ใช่กายปัจจุบันมากขึ้น ...นี่ ความขุ่นมัวเศร้าหมอง ความดีใจเสียใจ ความวิตกกังวล ก็เข้ามา

ความลังเลสงสัย ความไม่แน่ใจ ความไม่ชัดเจนในสภาพธรรมสภาวธรรม ก็เริ่มคืบคลาน ครอบคลุม ...ความเห็นที่เป็นมิจฉาก็เริ่มสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อ ว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเรามากขึ้นๆๆ

เพราะนั้น อย่าสงสัย อย่าค้นต่อ อย่าทำต่อ อย่าหาวิธีการใหม่ ...ให้รู้ว่า...ศีลนี้แหละขาดแล้ว มันขาดจากกายปัจจุบันแล้ว มันขาดรากฐานเสียแล้ว มันไม่มีรากไม่มีฐานเสียแล้ว 

ศีลนี่ท่านว่าเป็นรากฐานนะ เป็นรากฐานของธรรม เป็นแผ่นดิน เป็นผืนดิน เหมือนศิลาน่ะ

เพราะนั้นไม่ต้องตีโพยตีพาย ไม่ต้องหงุดหงิดรำคาญใจ ไม่ต้องตัดพ้อต่อว่า ไม่ต้องดีใจเสียใจกับอาการที่ไม่เหมือนเดิม หรือว่าหายไปแล้ว 

ให้รู้ไว้เลยว่า คร่ำครวญปริเทวนาโสกะอาลัยอาวรณ์ขนาดไหน มันก็ไม่คืนเดิมหรอก ...ก็ต้องทำ...รักษาศีลขึ้นมาใหม่ เอาสติกลับมาระลึก ระลึกๆๆ แล้วก็ระลึกลงไปที่กายปัจจุบัน 

นี่คือกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกับศีล ตั้งองค์ศีลขึ้นมา ...ไม่ต้องมีอดีต ไม่ต้องเอาอนาคตแล้ว  เอากายนั่งก็รู้ว่านั่ง เดินก็รู้ว่าเดิน ยืนก็รู้ว่ายืน เย็นก็รู้ว่าเย็น ลมพัดไปพัดมาก็รู้ไป 

ทำความละเอียดลึกซึ้งลงกับผัสสะกาย กายวิญญาณ กายปัจจุบันนี่ ไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย ...อย่ามัวแต่ครุ่นคิดไขว่คว้า ค้นหา อาวรณ์กับสิ่งที่มันสูญเสียหายไป 

ไอ้ที่เคยเห็น เคยรู้ เคยเข้าใจ เคยคลายเคยจาง...มันดับไปแล้ว มันหมดไปแล้ว มันหายไปแล้ว ...ไม่ต้องไปคร่ำครวญอาลัยอาวรณ์  ก็เจริญมรรคขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มต้นที่องค์ศีล 

มรรคก็จะเริ่มแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับของความพากและเพียร ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอย ...ครรลองของมรรคมันก็ดำเนินไป จิตก็เริ่มรวมตัวกันกลับมาตั้งมั่น 

จากจิตผู้ไม่รู้ก็กลายมาเป็นจิตผู้รู้อยู่กับสิ่งหนึ่งคือกาย...คือศีล ก็ตั้งมั่นขึ้นๆ ไม่ส่ายไม่แส่ ไม่แกว่งไม่ไกว ไม่ไขว่ไม่คว้า ไม่ค้นไม่หา ...มันก็เริ่มหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันกาย

อาการที่เรียกว่าทัสสนะ หรือว่าญาณ หรือว่าความเห็น หรือการเห็น...ลักษณะของการเห็นเหมือนกับแสงสว่าง เหมือนมันสว่าง เหมือนมันสว่างคือมันเห็น มันเห็นรอบ มันเห็นตัวกาย 

ก็ถ้ามันตั้งมั่นอยู่กับกาย มันจะไปเห็นอะไร นอกจากกาย ...มันก็เห็นกายนั่นแหละ กับเห็นรู้นั่นแหละ มันมีอยู่สองอย่าง มันก็เห็นอยู่สองอย่างนี่แหละ 

มันก็ทำความชัดเจนในความเป็นกายตามความเป็นจริง...นี่ กลับคืนมาแล้ว ...แล้วก็ตอนนี้ก็รักษาความสม่ำเสมอต่อเนื่องไป...ของญาณ รู้และเห็น 

มันก็ดู เฝ้าดู อาการทางกาย มันทำงานยังไง มันประกอบกิจกรรมยังไง ยืนเดินนั่งนอนอย่างไร มันอยู่ในอิริยาบถใด ...มันก็เห็นสภาพกายที่เป็นเหมือนกับกองฟืน ท่อนฟืน ท่อนไม้ ก้อนดิน 

สิ่งที่เป็นธาตุ ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ...มันก็เห็นพร้อมกับการที่สังเกตดูกิจกรรมมันไปห่างๆ  มันก็คลายจากความเห็นผิดในกายไปตามลำดับลำดา

วนเวียนอยู่อย่างนี้ ...วงรอบของมรรคนี่วนอย่างนี้ จนมันถ่ายถอนออกจากความเห็นผิดในกาย ...ต้องเริ่มอย่างนี้ก่อน จะไปเริ่มที่อื่นไม่ได้...จะไปเริ่มที่อื่นไม่ได้เลย 

จะไปเริ่มที่จิตก็ไม่ได้ จะไปเริ่มที่เวทนาก็ไม่ได้ จะไปเริ่มที่ธรรมารมณ์ก็ไม่ได้ ...พวกนี้มันเป็นแค่ส่วนประกอบ องค์ประกอบ ซึ่งเป็นรายละเอียดส่วนนาม ที่จะต้องลึกซึ้งแยบคายต่อไป 

นั่นต้องอาศัยสัมมาสมาธิที่แน่นแฟ้นจริงๆ ตั้งมั่นจริงๆ ญาณทัสสนะที่เป็นทัสสนะที่แจ่มใสบริสุทธิ์จริงๆ ...มันจึงเกิดภาวะที่รู้เห็นด้วยความตั้งมั่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้ จนเห็นสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเองได้ด้วยความไม่หวั่นไหว

ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดถึงว่าศีลนี่เป็นหลักรากฐานหรอก ...เพราะถ้าออกนอกศีลเมื่อไหร่ก็หลง ถ้าออกนอกกายเมื่อไหร่ก็หลง 

ถ้าออกนอกกายก็หมายความว่าออกนอกขันธ์ ถ้าออกนอกขันธ์ก็หมายความว่าออกนอกความเป็นจริง เพราะขันธ์นี่มีจริง...ตรงที่ไหนล่ะ ...ขันธ์มีจริงอยู่ที่เดียวคือที่ปัจจุบัน 

นอกจากปัจจุบันไปไม่ใช่ขันธ์ตามความเป็นจริง เป็นขันธ์หลอก เป็นอุปาทานขันธ์ เป็นขันธ์ที่จิตปรุงแต่งขึ้น ...นี่ อวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยากายสังขารและวจีสังขาร

เพราะนั้นแค่ปัจจุบันกาย รู้กาย เห็นกายนี่ ...ขณะที่อยู่กับกายเดียว กายหนึ่งนี่...มันยังมีกายสังขารแทรกอยู่เลย  ซึ่งกายสังขารแรกเลยคืออะไร... คือ “กายเรา” นี่แหละ

คำว่า "กายเรา" ความเห็นว่ากายเรานี้แหละคือกายสังขารอันหนึ่ง เป็นกายที่จิตนี่แหละสร้างขึ้นว่า "กายเรา"  มันเห็นอะไรตรงไหนอย่างไรก็เป็นแต่ "กายเรา"  มีแต่ "กายเรา" นี่บัง ...มีแต่กายสังขารบังกายตามความเป็นจริง

แต่ถ้าจดจ่อตั้งมั่น...เอาล่ะวะ กายเราก็กายเรา ดูลงไป มันเป็นกายเรามั้ย ดูกายเราลงไป ...มันจริงไหม

หรือมันเป็นแค่ก้อน หรือมันเป็นแค่แท่ง หรือมันเป็นแค่ตึง หรือมันเป็นแค่หย่อน หรือมันเป็นแค่หนา หนัก ...เออ อย่างนี้ มันก็จะเห็นกายจริงน่ะ ลึกลงไปมันจะเห็นกายจริง

นี่มันลึกอยู่ในขั้นพอดีนะ ...ถ้าลึกเกินนั้นมันจะเห็นกระดูก ถ้าลึกเกินนั้นมันจะเห็นหนัง เห็นเป็นชิ้นหนัง เห็นเป็นเลือด เห็นเป็นเนื้อ เห็นเป็นไขกระดูกนู่น ...ไอ้นี่ลึกเกินแล้ว 

ถ้าลึกกว่ากายสังขารหรือ “กายเรา” นี่ ...ก็จะเห็นกายปกติน่ะ กายวิญญาณ กายธรรมดานี่แหละ  กายที่มันโดนร้อนก็ร้อน โดนหนาวก็หนาว โดนแข็งก็แข็ง ...เนี่ย เอาพอดีนี่ 

พระพุทธเจ้าบอกเอาพอดีนี้...คือมัชฌิมา ...ถ้าลึกไปกว่านั้นก็อุบาย ถ้าตื้นไปกว่านั้นก็หลง

ถึงบอกมัชฌิมานี่มันมี...ทุกคนน่ะมันมีอยู่แล้ว...มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง หรือว่ามรรคนี่ ...แต่ว่ามันไม่ค่อยเดินกันในองค์มรรคไง มันไปเดินนอกมรรค เกินมรรค ต่ำกว่ามรรค ...เนี่ย มันถนัดเหลือเกิน 

พอนักภาวนามากๆ ขึ้น อ่านมากๆ ขึ้น มันลึกลงไปเกินมรรคอีก มันรู้เกิน มันเห็นเกิน มันเห็นเกินจริง มันเกินกายจริงน่ะ ...แล้วมันก็เลยคลาดเคลื่อนน่ะ 

แล้วมันก็เอาความคลาดเคลื่อนนั้นน่ะมาเป็นธรรม ...ก็ใช่ ธรรม...แต่มันลืมบอกไปว่าธรรมนั้นเรียกว่า สังขารธรรมหรือว่าธรรมที่ปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ธรรมตามจริง

ถ้าธรรมตามความเป็นจริงนี่ไม่ต้องคิดไม่ต้องจำน่ะ มันปรากฏเท่าเนี้ย...รู้สึกมั้ยล่ะ นั่นน่ะ กายศีล ...นี่สำคัญ ศีลจึงเป็นตัวที่เป็นอาณาเขตหรือเป็นรั้ว เป็นขอบเขต ...อย่าให้เกินนี้ อย่าให้ต่ำกว่านี้ 

นี่แหละมัชฌิมาปฏิปทา...ทางมีอยู่แล้ว ...แต่เดินยาก เดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็ตก...เดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็ตก  ตกทางอยู่เรื่อย ไม่ตกด้วยการที่ว่าเผลอเพลิน เคยชิน ก็ตกด้วยความจงใจและเจตนา 

จะเอานั่น จะเอานี่  เอาทั้งดี เอาทั้งไม่ดี  เอาทั้งธรรม เอาทั้งสิ่งที่เป็นความสุขในโลก ...มันจะกระโดดออกนอกมรรคอยู่ตลอด สันดานของจิตผู้ไม่รู้นี่ มันจะหาที่เกิดที่ดีกว่าปกติธรรมดาอยู่เรื่อย

เพราะปกติธรรมดานี่ มันเป็นอารมณ์กลางๆ  ราบๆ เรียบๆ  จืดๆ ชืดๆ ไม่ค่อยมีสีสันอะไร ...มันเป็นอะไรธรรมดาๆ 

อย่างนั่งธรรมดาเนี่ย พอให้มารู้นั่งธรรมดานี่  ถ้าโดยสันดานของจิตนะ ไม่เกินห้านาที...ไม่เอาแล้ว ไม่พอใจแล้ว ไม่สนุกแล้ว ไม่มันเลย ไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้นตรงนี้เลย

นี่ ไม่มีความสุข ไม่มีความสบายเลย ...แน่ะ มันจะเริ่มดิ้นแล้ว ดิ้นแล้ว ดิ้น ...สันดานจิตไม่รู้นี่ มันหาที่เกิดใหม่...ที่มันจดจำในความสุขที่มันเคยเสพเคยได้มา

แต่ถ้าฝึกอบรมมัน ...เออน่ะ ไม่เอามัน  เอางี้ เชื่อพระพุทธเจ้ามากกว่าเชื่อ “เรา” ...ต้องเชื่อพระพุทธเจ้ามากกว่าเชื่อ “เรา” นะ ...เพราะส่วนมากมันเชื่อ “เรา” มากกว่าเชื่อพระพุทธเจ้าน่ะ 

“เรา” ว่าไงก็ว่างั้น  จิตเราน่ะว่า...ความเห็นเราน่ะว่า ...คืออ่านมาดีแล้ว เราอ่านมาดีแล้ว เราศึกษา เราฟังมาดีแล้ว เราพิจารณาดีแล้ว เราว่าอย่างนี้ดีกว่า ...อ่ะ เชื่อเลย

ก็พระพุทธเจ้าบอกว่ากายมีกายเดียวน่ะ ...มันจะไปหากายไหนอีกล่ะ มันจะไปดูกายไหนที่ยิ่งกว่านี้ล่ะ ...ไม่มีกายไหนยิ่งกว่ากายนี้หรอก...มีกายเดียว 

ในคน...ขึ้นชื่อว่าคนนี่ สมมุติว่าคนนี่  ไม่ว่าคนไทยคนแขกจีนอินเดียฝรั่งมังค่า นับถือพุทธคริสต์อิสลามหรือไม่มีศาสนาก็ตาม ...ก็มีกายเดียวเหมือนกัน มีกายเป็นศีลเหมือนกัน มีกายเท่ากัน มีกายอันเดียวกัน 

ถ้าจับมันมานั่งอยู่ตรงนี้รวมกันทั้งหมดนี่ ถามว่าพื้นนี่รู้สึกแข็งมั้ย มันก็รู้สึกแข็งเหมือนกัน ...เห็นมั้ย กายเป็นหนึ่งน่ะ มีศีลเหมือนกัน เสมอกัน มีต้นทุนเท่ากันเลย ...แต่มันใช้ทุนไม่เป็น


(ต่อแทร็ก 8/26)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น