วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/25 (1)



พระอาจารย์
8/25 (550821A)
21 สิงหาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวนี้พระมันทำกันหลายหน้าที่ หน้าที่หลักมันไม่ค่อยทำกัน ...คือภาวนาแล้วก็สั่งสอนให้คนภาวนา ชี้ทางมรรค เน้นทางมรรค...ให้มรรคมันตรง 

แต่ว่าถ้าพระไม่ภาวนาซะก่อน ...มันก็จะมาเน้นทางมรรคให้ตรงไม่ได้  มันก็คลาดเคลื่อนในองค์มรรคไปหมด 

เมื่อใดที่มันคลาดเคลื่อนในองค์มรรค ผลที่ได้จากการคลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนกับมรรคนี่ ผลมันจึงเกิดหลากหลายขึ้นมา ...มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่นักปฏิบัติ...แบ่งกันไปมากมาย

แต่ถ้ามรรคตรง มรรคชัดเจน  คนบอกคนสอนเข้าถึงมรรค เจริญมรรค จนถึงที่สุดของมรรค ...ธรรมนี่เป็นหนึ่ง ผลเป็นหนึ่งเดียวกัน มีที่สุดเป็นนิพพาน 

แล้วมันจึงจะคุยกันรู้เรื่อง...ภาษาคน  ไม่งั้นมันคุยภาษาคนกันไม่รู้เรื่อง ...เพราะมันคนละประเด็นกันหมด 

มันก็แปลความหมายไปตามความเห็นของตัวเอง แปลความหมายพระไตรปิฎก ตำรา คำพูดของครูบาอาจารย์ไปตามความคิดความเห็นของตัวเอง ...ก็เกิดความสับสน

จุดหลักคือต้องทำตัวเองให้แจ้ง ให้มากที่สุด ...เวลาพูด เวลาสอน เวลาบอก ก็ต้องบอกเท่าที่ตัวเองเห็น ไม่เกิน ไม่เพี้ยน ไม่ผิด ไม่คาด ไม่เดา อย่างเนี้ย มันถึงจะดำรงองค์มรรคอยู่ 

จริงๆ น่ะมรรคมันมีอยู่แล้ว  แต่วิธี...วิถีแห่งการเข้าสู่มรรคนี่ มันคลาดเคลื่อน ...แล้วก็เจอมรรคที่ไม่ใช่มรรคซึ่งไปหมายว่าเป็นมรรค ว่านั้นคือวิธี นี้คือวิธี  มรรคตรงบ้าง อ้อมบ้าง ...ก็ว่ากันไปว่ากันมา

ถ้าภาวนาด้วยความตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านพูดท่านบอกนี่ มันก็ไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม ...จะเห็นธรรมเป็นอันเดียวกัน 

อย่างที่เราเคยบอกทุกคนว่ามรรคมีองค์ ๘ ในปริยัติท่านแบ่งไว้อย่างนั้น ...ถ้าในภาคปฏิบัติมันก็ต้องบอกว่าก็คือไตรสิกขา ...ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา 

เพราะฉะนั้นถ้าจะเอามรรคมาดำเนิน ดำรงให้เข้าถึงมรรคด้วยการปฏิบัติ ...ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญา ไม่หนีจากศีลสมาธิปัญญา ไม่ออกนอกศีลสมาธิปัญญา 

ถ้ามันออกนอกศีลสมาธิปัญญาไปเมื่อไหร่นี่ ...มรรคทั้ง ๘ นี่จะคลาดเคลื่อน จะไม่สามัคคี สมังคีเป็นหนึ่งเดียวกัน จะแตกแยกกันกระจาย แล้วก็มีข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง 

ในตัวมรรคก็จะมีความขัดแย้งกันไป อันไหนเป็นมรรค ไหนคือการเลี้ยงชีพชอบ การงานชอบ ...มันก็แบ่งไปเรื่อย เหมือนเบี้ยหัวแตก ไม่เข้าใจกัน

แต่ถ้าได้ลงมือปฏิบัติ ลงภาคปฏิบัติแล้ว...โดยอาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นแม่แบบ ไม่ผิดไม่เพี้ยนออกจากศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่ ...มรรคก็จะชัดเจนขึ้นในผู้ปฏิบัติคนนั้นๆ 

เมื่อมรรคชัดเจน...ผลตามมา ก็ได้ผลบังเกิดขึ้น ...ไม่ต้องรอ  ถ้าตรงต่อมรรคแล้วนี่ ไม่ต้องรอผล ผลก็เกิดขึ้นในขณะที่เดินมรรคนี่ กำลังอยู่ในองค์มรรคนี่ 

ผลอย่างน้อยก็คือ ความชัดเจนในขันธ์ ความชัดเจนในโลก ความชัดเจนในกิเลส ความชัดเจนในการละการวาง...สิ่งใดควรวาง สิ่งใดไม่ควรวาง 

มีความชัดเจนในสิ่งที่จริง ...อันไหนไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร ...มันก็เห็นด้วยตัวของมันเอง ด้วยตัวจิตผู้ไม่รู้...ที่ทำให้มันรู้ขึ้นมาด้วยไตรสิกขา

เพราะนั้น ด้วยจิตที่มันรู้เองเห็นเอง ที่ท่านเรียกว่า สันทิฏฐิโก นั่นแหละ ...มันจะตอบโจทก์ที่มันค้างคาด้วยความไม่รู้ภายในแล้วคิดเอาเชื่อเอาเอง หมายเอาเอง มีความเห็นขึ้นมาเองลอยๆ ไม่มีเหตุไม่มีผลนั่น 

มันจะจบปัญหาเหล่านั้นลงได้  ไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องไปค้นหาจากตำรับตำราที่ไหนอีกต่อไป ...มันก็เรียนรู้เอง เข้าใจด้วยตัวของมันเองไปโดยมีมรรคเป็นกรอบ...ภาคปฏิบัติก็โดยศีลสมาธิปัญญา

ทีนี้ก่อนที่จะลงถึงศีลสมาธิปัญญา ก็ต้องมาทำความเข้าใจในองค์ศีลสมาธิปัญญา ...ศีลคืออะไร ...ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบอกว่า ศีล..สมาธิ..ปัญญา 

ทำไมพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดว่า สมาธิ..ปัญญา..ศีล  ทำไมท่านไม่พูดว่า ปัญญา..สมาธิ..ศีล  หรือปัญญา..ศีล..สมาธิ  ...แปลว่าท่านเรียงลำดับไว้นี่มันมีนัยยะ มีความหมาย มีความสำคัญ 

เพราะมันเป็นธรรมที่เนื่องกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ..หมายความว่าศีลเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ  สมาธินั้นจึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา 

ถ้าไม่มีศีลก็หมายความว่าไม่มีสมาธิ แล้วก็ไม่มีปัญญา ...ถ้ามีสมาธิโดยที่ไม่มีศีลก็ไม่เรียกว่าสมาธิที่แท้จริง เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

ถ้ามีสมาธิที่ไม่มีศีลกำกับแล้วเกิดความรู้ความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา ความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เรียกว่าปัญญาญาณ ...ก็เป็นแค่จินตาหรือเป็นปัญญาที่ปรุงขึ้นด้วยความไม่รู้...แต่มันเข้าใจว่ามันรู้

สำคัญนะ...จิตที่มันรู้อะไรแล้วมันเข้าใจว่ามันรู้แล้วนี่ ...มันจะเกิดความหลงซ้อนความหลง แล้วมันจะพอกพูนมานะอัตตาตัวตนของเรายิ่งขึ้น 

มันก็ไปหมายความรู้ความเห็นนั้นเป็นเราของเราขึ้นมา...ในความรู้ความเห็นที่ได้จากสมาธิที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

เพราะนั้นการปฏิบัตินี่มันก็ต้องเริ่มต้น ตั้งไข่ ตั้งต้น ตั้งลำ...ที่ "ศีล" เป็นลำดับแรก ...ก็ต้องมาทำความชัดเจนในความหมายของคำว่า "ศีล" ...ซึ่งศีลนี่ มีศีลวิรัติ ศีลบัญญัติ ศีลสมมุติ ศีลปรมัตถ์ 

มีศีลไหนล่ะที่จะเป็นศีลสมาธิปัญญา ศีลซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิเกิดปัญญา...ก็ต้องศีลตัวนั้น ...ในภาคปฏิบัติ ก็ดูความหมายของคำว่าศีล ก็จะได้ความหมายว่า ปกติกายวาจา มันปกติกายวาจา 

คำว่าปกติกายวาจา...ไอ้คำว่าปกติกายนี่ มันต้องไปซื้อไปหาไปทำขึ้นมา ...คำว่าปกติกายก็คือปกติกายที่มันดำรง มันมี มันปรากฏอยู่แล้วเป็นธรรมดา

เป็นธรรมดา ปกติกายที่มีอยู่แล้วนี่แหละ ...ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยการปรุงขึ้นด้วยจิตที่ไม่รู้ หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาด้วยความจงใจหรือเจตนา 

นี่ มันต้องชัดเจนไปตามลำดับว่า...ศีลในความหมายที่จะให้เกิดสมาธิและปัญญาคืออะไร ...มันก็ลงได้ความหมายว่า... ปกติกาย 

คำว่าปกติกายก็คือ กายธรรมดาที่มันปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ...ต้องเป็นปกติกาย ณ ปัจจุบันนี้ 

เพราะนั้นปกติกาย ณ ปัจจุบันนี้ ก็คือความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ในกายนี้...เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นิ่ง ไหว ตึง ขยับ เบา หนัก เคลื่อน เหลียว กระพริบ กระเทือน...พวกนี้  

นี่คือความปกติที่มันปรากฏมา ตั้งแต่ปฏิสนธิ เป็นขันธ์ เป็นปัญจสาขาขึ้นมา ...มันก็มีความปกติกายแสดงอาการเย็นร้อนอ่อนแข็งฯ ตามผัสสะที่มากระทบสัมผัสสัมพันธ์กับมัน...เป็นธรรมดา 

เป็นธรรมดาซึ่งไม่ได้ขึ้นกับความอยากหรือไม่อยากแต่ประการใด ...จะรู้ก็ตาม มันก็มีความปกตินี้  จะไม่รู้ก็ตาม ความปกตินี้ก็ยังมีอยู่ 

นี่ ถ้าเราเข้าใจชัดเจนเบื้องต้นในคำว่าศีล ก็ต้องมาเริ่มตั้งต้นที่..ปกติกาย ...คราวนี้ว่าปกติกายมันมีอยู่แล้ว แต่ว่ารู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ลืมบ้าง ขาดหายไปบ้าง ในความปกติกายนี่ 

อย่างนี้หมายความว่ายังไง ...หมายความว่าปกติกายมันมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีผู้ที่เข้าไปรักษาความปกติกายหรือปกติศีลที่มีอยู่เป็นธรรมดานี้ 

เพราะนั้นตัวที่จะเข้ามารักษาความปกติหรือรู้ความปกตินี้ มันก็ไม่มีตัวอื่น นอกจากสติ...คือความระลึก ระลึกรู้ ...ระลึกแล้วก็รู้ ระลึกแล้วก็รู้ความปกติกายนี่

เพราะนั้นศีลนี่มันจะเกิดไม่ได้ จะไม่ครบองค์ศีล  หรือว่าศีลนี่ไม่ต่อเนื่องหรือว่าไม่สม่ำเสมอ ขาดตกบกพร่อง ด่างพร้อย ทะลุ แหว่งเว้าวิ่น สะบั้นไปนี่ ...เพราะไม่มีสติ 

เมื่อใดที่มีสติและระลึกลงที่ความเป็นปกติกายขณะนั้น ศีลนี่มันเกิดขึ้นในผู้ปฏิบัตินั้น ...นี่คือหลักปฏิบัติข้อแรกเลย ...ที่ส่วนใหญ่นักปฏิบัติโดยการอ่านตำราหรือโดยการฟังที่เขามา ก็จะละเลยตัวศีลตัวนี้ 

มันก็จะไปจริงจังเคร่งเครียดกับศีลวิรัติ หรือศีลบัญญัติ หรือว่าศีลสมมุติขึ้นมา ...แล้วเข้าใจว่านั้นน่ะคือศีลที่จะเป็นปัจจัยให้ก่อเกิดสมาธิและปัญญาต่อไป

แต่ถ้าปรับความเห็นหรือทำความเข้าใจกับ "ศีล" ให้ชัดเจนแล้วนี่ ...ก็รักษาศีล คือรู้กาย เห็นกาย ...รู้กายก่อน รู้ความปกติกาย

ซึ่งกายนี้พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้ว่า กายมีกายเดียว ...มีกายเดียว...แต่ละคน แต่ละสัตว์ แต่ละบุคคล แต่ละขันธ์...มีกายเดียว ไม่มีหลายกาย

กายเดียวคือกายศีล คือปกติกายในปัจจุบันนี่แหละคือกายศีล...มีกายเดียวเท่านั้นนะ ...ต้องระลึกลงที่กายนี้เท่านั้น อยู่ที่กายนี้กายเดียวเท่านั้น ไม่นอกเหนือจากกายนี้ไป 

หมายความว่า...กายข้างหน้า กายข้างหลัง กายไกล กายใกล้ กายที่ดับไปแล้ว กายที่ยังมาไม่ถึง กายที่ดีกว่านี้ กายที่สวยกว่านี้ กายที่ปราณีตกว่านี้ กายที่ละเอียดกว่านี้...ไม่เอา ไม่ใช่ 

เหล่านั้นล้วนแต่เป็นกายปรุงแต่งขึ้นด้วยจิตไม่รู้ ...นั่นเรียกว่ากายสังขาร เป็นกายสังขาร ไม่ใช่กายตามความเป็นจริง ...เพราะนั้นกายตามความเป็นจริงจึงมีอยู่กายเดียว...คือกายศีลนี่แหละ 

เมื่อใดที่มันไปหมกมุ่นมัวเมา หรือว่าเผลอเพลินไปกับกายนอก กายที่ไม่ใช่แต่มันสำคัญว่าใช่ สำคัญว่าจริง ...เมื่อมีสติระลึกแล้วก็กลับมารักษาศีล...กายศีลตัวนี้ซะ

การกระทำเบื้องต้นดั่งนี้ ซ้ำซาก สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง นี่เขาเรียกว่า สติมา อาตาปี  ...คำว่า อาตาปี นี่คือว่าเพียรเพ่ง...เพียรเพ่งในกายเดียว ...ไม่สองกาย ไม่กายสาม สี่ ห้า ไม่กายอื่น ไม่กายนอกกายไหน

เอากายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ...ต้องเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว ที่ว่าสติมา ...รักษาศีลแล้วระลึกขึ้นที่กายแล้วต้องอาตาปี คือเพียรเพ่งอยู่ที่กายเดียวกายหนึ่งนี้ 

ซึ่งกายหนึ่งกายเดียวนี้ ก็ไม่ลึกกว่านี้ ไม่ตื้นกว่านี้  มันพอดีเท่านี้  ไม่ละเอียดกว่านี้ ไม่ซับซ้อนกว่านี้...มันเป็นปกติธรรมดาเท่านี้คือเท่านี้ ...ต้องอาตาปีกับกายนี้ ด้วยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

เมื่ออาตาปีต่อกายหนึ่งกายศีลกายปัจจุบัน สม่ำเสมอต่อเนื่องไป ...ตรงนี้จึงจะเกิดคำว่าสัมปชาโน คือหมายความว่าสัมปชัญญะ 

เพราะนั้นในขณะที่มันเป็นอาตาปีนั่นแหละ ตรงนี้...เรียกว่าเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ...ที่เป็นสัมมาสมาธิ ...ซึ่งความหมายของคำว่าสัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่น 

เพราะสมาธิก็มี โมหะสมาธิก็มี มิจฉาสมาธิก็มี ...คำว่าสัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่นกับสิ่งที่ปรากฏจริงในปัจจุบัน ในที่นี้คือตั้งมั่นอยู่ที่กาย คือปกติกายที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่กายที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นมาใหม่ 

นอกนั้นถ้ามันไปตั้งมั่นกับสิ่งที่มันทำขึ้นมาใหม่ หรือจงใจ หรือสร้างขึ้นมา ...เรียกว่าเป็นอุบายธรรม เป็นอุบายให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ยังเจือด้วยโมหะและมิจฉาอยู่ในสมาธิเหล่านั้น

เพราะนั้นผลที่ได้จากสมาธิเหล่านั้น ปัญญาที่ตามมาจากสมาธิเหล่านั้น ล้วนเป็นปัญญาที่เจือด้วยโมหะและมิจฉา ...ยังไม่ใช่ปัญญาญาณ หรือญาณทัสสนะ 

แต่เมื่อใดที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ที่กายหนึ่งกายเดียว...ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง นี่ ปัญญาจะเกิดตามมา

ซึ่งปัญญาในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้อะไร ไม่ใช่ความคิดอะไร ...แต่มันเป็นลักษณะของสัมปชาโน คือมันเห็น มันจะเกิดอาการเห็นตามมา 

ในขณะที่รู้กาย ว่ายืน เดิน นั่ง นอน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง...ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง  มันจะเกิดอาการเห็นสองสิ่ง ...เห็นในสองสิ่ง คือ...กายคือหนึ่ง...รู้คือหนึ่ง 

นี่ เอโกธรรมโม เอกังจิตตัง หมายความว่ากายหนึ่งจิตหนึ่ง ก็คือความหมายของคำว่าธรรมหนึ่งจิตหนึ่งนั่นแหละ ...มันจะเห็นสองสิ่งนี้


แต่ลักษณะของการเห็นที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ท่านเรียกว่าเป็นการเห็นด้วยปัญญาญาณ ...มันจะเห็นด้วยความเป็นกลาง

กลางอย่างไร ...กลางคือหมายความว่ามันเห็นโดยที่ไม่มีความคิด มันเห็นโดยที่ไม่มีความจำ มันเห็นโดยไม่มีความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา 

มันเห็นเฉยๆ มันเห็นธรรมดา  มันเห็นโดยที่ไม่เข้าไปว่า ไม่เข้าไปวิตกวิจารณ์ ไม่เข้าไปออกความเห็นแต่ประการใด ...ไม่เลือก มันเห็นเฉยๆ เห็นกลางๆ


(ต่อแทร็ก 8/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น