วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/12




พระอาจารย์

8/12 (550605D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

5 มิถุนายน 2555



พระอาจารย์ –  ถ้าพูดถึงรากฐานของธรรม ก็ต้องพูดถึงเรื่องศีล  ...ศีลน่ะเป็นรากฐาน 

ศีลแปลว่าปกติกาย ...ไม่ใช่แปลว่าห้ามฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม โกหก กินเหล้า ไม่นอนในที่นอนสูงนุ่ม ประโคมดนตรี แต่งหน้าทาปาก ...ไอ้นั่นศีลวิรัติ ศีลบัญญัติ ศีลสมมุติ

แต่ศีลในความหมายของศีลแปลว่า ปกติกาย วาจา ... เพราะนั้นปกติกายนี่ เราถามว่ามันมีไหม มันมีอยู่มั้ย ... มันมีอยู่แล้ว ใช่มั้ย  มันต้องทำขึ้นมั้ย...ไม่ต้องทำ

มันมีมาตั้งแต่ออกจากท้องแม่ ความเป็นปกติกายก็เกิดขึ้นเลย โดนร้อน..ร้อน โดนเย็น...เย็น โดนหนาว...หนาว โดนแข็ง อ่อน นุ่ม รู้ว่านุ่ม ว่าอ่อน ว่าแข็ง ... เห็นมั้ย มันเป็นปกติ แสดงความเป็นปกติของกายมาตั้งแต่เกิดแล้ว ตั้งแต่มีรูปกายนี้

เพราะนั้นกายนี้จึงเป็นศีลอยู่แล้ว คือเป็นปกติกายของมันอยู่แล้ว  มันมีความดำรงคงความเป็นศีลในตัวของมันอยู่แล้ว ... คือเขาอยู่ด้วยความเป็นปกติของเขา เย็นมาก็เย็น ร้อนมาก็ร้อน แข็งมาก็แข็ง มันเป็นปกติธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น

แต่เราไม่รักษาศีลนี้ เราไม่เคยรักษาความปกติ รู้ความปกติกาย จึงไม่มีศีล ดูเหมือนไม่มีศีล ...มันล่วงเกินศีล อยู่ด้วยความล่วงเกินศีล ละเมิดศีล ตลอดเวลา อยู่ด้วยการที่ขาดตกบกพร่องต่อศีล ทั้งๆ ที่ว่านับถือศีลห้าอยู่นะ ...แต่ศีลคือความปกติกายนี่ไม่มี ไม่รู้ ไม่รักษาความปกติกายด้วยสติ

เพราะนั้นถ้ามีสติเข้าไปรักษาปกติกาย ด้วยการระลึกแล้วก็รู้...ว่าปกติเดี๋ยวนี้ของกายเป็นอย่างไร จึงเรียกว่าเป็นการรักษาศีล ทำศีลให้ต่อเนื่อง  เมื่อใดที่เรารักษาศีลให้ต่อเนื่อง จิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิของมันเองน่ะ

ไอ้ที่เราหาสมาธิ หาความสงบแทบตายน่ะ ไม่มีทางได้หรอก  มันได้แบบหลอกๆ เล่นๆ กัน ... แต่สมาธิที่จะยั่งยืน ที่จะต่อเนื่อง เหนียวแน่น มั่นคง ต้องมาจากรากฐานคือศีล...ศีลที่เราว่าเมื่อกี้น่ะ ไม่ใช้ศีลห้าที่เป็นศีลวิรัตินะ...แต่คือศีลปกติกาย

ถ้ารักษา เอาสติมารู้มาเห็นปกติกาย ยืนเดินนั่งนอนนี่  เดี๋ยวจะเข้าใจความหมายของจิตตั้งมั่นเอง จะเข้าใจความหมายว่า จิตมีสมาธิ ตั้งมั่น เป็นหนึ่งในปัจจุบัน มั่นคงแน่วแน่ในปัจจุบัน  

อดีตก็ไม่ค่อยมี อนาคตก็ไม่ค่อยไป มันจะรู้อยู่แค่ตรงนี้ นั่นแหละ มันจะเริ่มตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น ...นั่นแหละคือสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นเอง

เพราะนั้นคำว่าสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ ... สมาธิแปลว่าตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง...หนึ่งกับปัจจุบัน จึงเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิ  ไม่ได้แปลว่าสงบ

สงบคืออารมณ์ สงบคือสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิตตั้งมั่น ... แต่ถ้าสงบ แล้วมีจิตตั้งมั่นอยู่กับความสงบ นี่ อย่างนี้เรียกว่ามีสมาธิตั้งมั่นกับความสงบ  เพราะนั้นความสงบหรือไม่สงบจึงเป็นอารมณ์หนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สมาธิ สมาธิคือจิตมันตั้งมั่น ตั้งมั่นลงในปัจจุบันธรรม

 เมื่อใดที่รักษาศีลด้วยสติ...ระลึกรู้ เห็นกาย...ยืนเดินนั่งนอน  ด้วยความเป็นปกติกายนี่แหละ ไม่ขาดตกบกพร่อง สม่ำเสมอ ... จิตจะมั่นคงขึ้นตามลำดับ สมาธิจะแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

เมื่อสมาธิแข็งแกร่ง จิตตั้งมั่นอยู่กับกายปัจจุบัน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน...โดยที่ไม่คิด ไม่นึก ไม่เอาอดีต ไม่เทียบกับอนาคตอะไรก็ตาม...ปัญญาจะเกิด  เพราะมันจะเห็นกาย เห็นสิ่งที่ปรากฏนี่ ด้วยอาการที่ไม่คิด ไม่มีเหตุและไม่เอาผลกับมัน

 เหมือนกับที่เราเห็นว่ามันนั่ง...ก็คือนั่ง แค่นั้น  ไม่มีใครนั่ง มีแต่นั่ง มีแต่อาการทึบๆ ก้อนๆ แท่งๆ  นั่นแหละปัญญาเกิดแล้ว คือเห็นความเป็นจริงแล้ว ว่ากายจริงๆ คือแค่นี้แหละ นอกนั้นไม่จริง นอกนั้นจิตหลอก

มันก็จะเห็นซ้ำซากๆ อยู่อย่างนี้ ...เมื่อมันเห็นซ้ำซากอยู่อย่างนี้ มันจะเพิกถอนความเห็นผิดออกไป  เพิกถอน ลอกความเห็น...ที่มาทาบ มาทา มาทับ มาถม กับกายนี้ ที่มาปิดมาบังกายนี้ออกไปเอง

เวลาเราดูพระอาทิตย์น่ะ เนี่ย ตอนนี้ไม่เห็นพระอาทิตย์ใช่มั้ย  เพราะอะไรล่ะ เพราะมีเมฆบัง เลยไม่เห็นดวงอาทิตย์  ก็รู้ว่ามีดวงอาทิตย์อยู่ แต่ยังไม่เห็นดวงอาทิตย์จริง เพราะมันยังมีอะไรบังอยู่

ถึงแม้จะมีพระอาทิตย์บางวัน บางครั้ง ฟ้ามันใส เห็นแสงอาทิตย์ ก็ยังไม่เห็นพระอาทิตย์จริง  เพราะยังมีอากาศบัง ใช่มั้ย ยังไม่เห็นพระอาทิตย์จริงๆ นะ มันยังมองเห็นผ่านอากาศใช่มั้ย

แล้วเมื่อไหร่จะเห็นพระอาทิตย์จริงล่ะ ...ไปอยู่ในอวกาศสิ อันนี้เห็นพระอาทิตย์จริงแน่ๆ ไม่มีอะไรบัง ไม่มีอะไรบังเลย มันจะเห็นเนื้อแท้ของพระอาทิตย์ ว่าเป็นอะไร เรียกว่าเห็นจริง เห็นพระอาทิตย์จริงๆ ไม่ได้เห็นผ่านสิ่งที่ปิดบังพระอาทิตย์

เราอยู่กับกาย เรายังไม่เห็นกายจริง  เรายังเห็นกายผ่านความเห็น เรายังเห็นกายผ่านความเชื่อ เรายังเห็นกายผ่านความคิด  ยังไม่เห็นกายจริงๆ เหมือนเห็นพระอาทิตย์ในอวกาศโดยไม่ผ่านอะไรเลย เข้าใจมั้ย

การที่เราหยั่งลงไปในปัจจุบันโดยเป็นหนึ่ง ไม่คิดไม่นึก ไม่มีความเห็น ไม่เอาเหตุไม่เอาผล มันจะเห็นพระอาทิตย์เหมือนอยู่ในอวกาศแล้วเห็นพระอาทิตย์  แล้วมันจะเอาอะไรมาเถียงไม่ได้เลยว่านี่คือพระอาทิตย์จริงๆ

 แต่ก่อนที่เคยเห็นน่ะไม่จริง แต่ก่อนที่เคยเข้าใจว่ากายเป็นอย่างนี้ๆ...ไม่จริง ว่ากายนี้สวย...ไม่จริง ว่ากายนี้ไม่สวย...ไม่จริง ว่ากายนี้ขาวว่ากายนี้ดำ...ไม่จริง ว่ากายนี้หนุ่มว่ากายนี้แก่...ไม่จริง ว่ากายนี้เป็นเรา ว่ากายนี้เป็นของเรา...ไม่จริง  

กายจริงๆ ไม่ใช่อย่างนี้  เข้าใจมั้ย ...นี่คือมันไปเลิกละเพิกถอนสิ่งที่มันห่อหุ้มกาย คือความคิดและความเห็นผิด

แต่ตอนนี้มันว่าถูกไง มันเชื่ออย่างนั้น เพราะคนในโลกเขาเชื่อกันอย่างนี้ เขาบอกกันอย่างนี้ เขาสนับสนุนว่าใช่น่ะ เป็นผู้ชายก็ว่าเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงก็ว่าเป็นผู้หญิงจริง ถ้ามาบอกว่าเป็นผู้ชายนี่มันบอกว่าไม่ใช่  มันเชื่อกันอย่างนี้

ระลึก...รู้ความปกติกายจริงๆ ลงไป ...มันก็จะไปปอก ไปถ่ายออก  ถ่ายความเห็นออกไป ถ่ายความคิดออกไป มันก็จะเห็นเนื้อแท้ของกาย...ว่าเป็นแค่ปกตินั่งนอนยืนเดิน เป็นลักษณะอาการหนึ่งๆ เป็นเหมือนเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ปรากฏการณ์หนึ่ง ลอยๆ เท่านั้นเองน่ะ

มันจะล้างความเห็นผิดออกไป ทีละเล็กทีละน้อย  เมื่อมันเห็นกายอย่างนี้ หรือมันเชื่อว่ากายเป็นอย่างนี้ ตามความเป็นจริงที่เป็นอย่างนี้จริงๆ แล้ว นั่นน่ะเขาเรียกว่าสัมมาทิฏฐิเกิด สัมมาทิฏฐิในกายเกิด ความเห็นตรงเห็นชอบในกายเกิดแล้ว

เมื่อมีสัมมาทิฏฐิในกายเกิด หมายความว่าทุกข์ที่เกิดจากความเห็นผิดในกาย...ดับ  

ถ้าเรายังมองว่าเป็นผู้หญิงก็จะเป็นทุกข์ ถ้ายังมองว่าเป็นผู้ชายก็จะเป็นทุกข์  ถ้ายังมองว่าเป็นเรา ของเรา ก็ยังเป็นทุกข์กับกายนี้อยู่  ถ้ายังมองว่าสวย-ไม่สวย ก็ยังเป็นทุกข์กับกายนี้อยู่ ถ้ายังมองว่าแก่ว่าหนุ่มว่าดีว่าร้าย ก็ยังจะเป็นทุกข์กับกายนี้

เมื่อใดที่มองไม่เห็นอาการพวกนี้บดบัง ปุ๊บ นั่นล่ะจะไม่ทุกข์กับกายเลย มันจะเห็นเป็นธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น ...เป็นธรรมดา เป็นอะไรๆ สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ธุระของใคร ไม่ใช่ภาระของใคร ไม่ใช่เรื่องของใคร  เป็นอะไรๆ สิ่งหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น ... นี่ ทุกข์เบื้องต้นจะหมดไป จากตรงนี้

ลองนึกดูสิว่า ถ้าไม่รู้สึกว่าอันนี้เป็นตัวเราของเรา  ใครจะว่า ใครจะด่า ใครจะชม มันก็เหมือนกับชมใครวะ ว่าใครวะ มันจะเดือดร้อนอะไร  เพราะไม่ได้มีเราเป็นเจ้าของมันนี่ มีแต่ดินน้ำไฟลมอากาศ อุณหภูมิ ความว่าง อยู่ข้างในนี้เท่านั้นเอง มันก็เป็นแค่สสาร

ถ้าพูดในภาษาวิทยาศาสตร์ก็ว่าเป็นสสาร เป็นสารประกอบ เป็นองค์ประกอบของธาตุ แล้วก็ก่อรวมตัวเป็นโมเดล จับตัวกัน เป็นนุ่ม เป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นไหว เป็นหยาบ เป็นละเอียดของมันไป นี่เป็นโมเดลของมันที่เกิดจากการรวมตัวของอะตอมหรือสสาร ...มันเป็นเราตรงไหนล่ะ หือ

เห็นมั้ยว่าจิตนี่มันไม่รู้ มันมาถือเอาดื้อๆ เลยนะ ว่านี่...ทั้งหมดนี่เป็นเรา ...ได้ยังไงล่ะ ไปเชื่อมันได้ยังไงล่ะ แล้วยังเดือดร้อนแทนมันด้วยมัน แล้วยังดีใจเสียใจกับมันด้วยนะ ว่าเป็นของเรา สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของเราตรงไหน

มันมีตรงไหนสสารนี่ หือ  ของแข็ง ของเหลว ของอ่อน ของนิ่มนี่ หือ มันเป็นของเราได้ยังไง ...เลือดน่ะ มันบ่งบอกตรงไหนว่าเป็นเลือดเราในความเป็นเลือดนะ เลือดก็คือเลือด เนื้อก็คือเนื้อ หนังก็คือหนัง ผมก็คือผม ไม่เห็นมีอะไรบ่งบอกว่าเป็นเราของเราเลย เนี่ย

แต่มันไม่เชื่อ ไม่ยอมเชื่อ มันฝังหัว สันดาน...เป็นขันธสันดานเลย มันยึดมั่นถือมั่น ยังไงๆ ก็เป็นเรา  ยังไงๆ ก็บอกว่าเป็นเรานั่ง แล้วก็เชื่อว่าเรานั่งอยู่นั่นน่ะ  โง่มั้ยนั่น  หรือฉลาด  

ถ้าฉลาดต้องดูดีๆ อย่ามัวแต่ไปหาความสงบ อย่ามัวแต่ไปหาวิธีการภาวนา ปัญญาอยู่ตรงนี้ เอาให้เห็น เอาให้รู้ตามความเป็นจริง เอาให้เห็นตามความเป็นจริง เอาให้ยอมรับตามความเป็นจริง

นั่นแหละ ไม่ต้องถามหาทุกข์หรอก ทุกข์เกิดไม่ได้เลย ไม่รู้จะทุกข์กับอะไร  ทุกข์กับดินเหรอ เหอ ทุกข์กับน้ำเนี่ยนะ จะไปทุกข์กับดินกับน้ำเหรอ ทุกข์กับอุณหภูมิเย็นร้อนอุ่น เบา ได้ยังไง ไม่ทุกข์หรอก ก็เรื่องของมัน

เพราะนั้นเอาง่ายๆ ว่า รู้ตัวให้มากที่สุด ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอน ง่ายๆ และให้เท่าทันความคิด ความนึก ความอยาก  อย่าไปตามมัน อย่าไปหาอะไร นอกจากกายยืนเดินนั่งนอน เหมือนโง่ เหมือนไม่รู้อะไรเลย และไม่ได้อะไรเลย ทำไปเหอะ ลองดูสักตั้งนึง นะ แล้วจะเข้าใจมากขึ้นเอง

อย่ามัวแต่ไปนั่งหลับหูหลับตา อย่ามัวแต่ไปนั่งค้นหาควานหาอะไร ไม่มีหรอก ธรรมในความมืดน่ะไม่มีหรอก มันมีอยู่ตรงนี้ ก้อนนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังมี เขาก็แสดงธรรมให้เห็น ทำไมไม่สืบไม่ทราบ ไม่ค้นไม่หาดู ไม่สังเกต ไม่ถี่ถ้วนลงไป

นี่คือสติ กายานุสติปัฏฐาน รู้ลงไปในกาย  นี่คือต้นเหตุเลยของทุกข์เบื้องต้น คือ "เรา"  ถ้าเอา "เรา" ออกจากนี้เมื่อไหร่ สบาย  ถ้าบอกว่าตอนนี้แบกไว้สองมือปากคาบ มันก็จะทิ้งสองมือปากคาบไป เหลือแต่ตัวเปล่าๆ แล้ว เดินไปได้ง่ายแล้ว

แต่ตอนนี้เรามีมือก็แบก หลังค่อมปากคาบเท้าเกี่ยวลากไปลากมาอย่างนี้ หนัก  หนัก "เรา" นั่นแหละ  ...พอถอน พอวางออก ก็เหลือแต่กายเปล่าๆ แล้ว เดินไปเร็วขึ้นแล้ว  ...นั่นแหละมรรคจะเกิด การเดินในองค์มรรคจะเดินไปตามครรลองตามเสต็ป

แต่ถ้าเรายังไปทำ ยังไปค้น ยังไปหา ยังไปสร้าง ยังไปขวนขวายหาอะไร  เหมือนเอาภาระมาแบก เหมือนหาบเหมือนหาม เหมือนไอ้บ้า ...ถ้าฟังเทศน์หลวงปู่จะรู้ที่ท่านบอก ไอ้บ้าหาบหิน

'อันนั้นก็สวย อันนั้นก็งาม เออ ดี'  เก็บขึ้นบ่า...หาบ  'อันนั้นก็น่าจะมีประโยชน์ใช้สอยได้ในวันข้างหน้า ไอ้นั่นก็เอา'...เก็บ  ไปๆ มาๆ จุกแอ้กเลย แบกไม่ขึ้น ไปไม่รอด ไปไม่ได้ เพราะมันหนัก  จะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้ง...เสียดาย

เพราะเห็นคนอื่นเขาแบกกันเยอะแยะ กลัวไม่เหมือนเขาไง กลัวไม่ได้อย่างเขา แล้วเขาเดินได้ ทำไมเราเดินไม่ได้ เสียใจอีกแล้ว  แล้วจะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้ง ...ไอ้บ้า นี่ ท่านถึงว่าบ้าแบกหิน

บอกให้นะ ที่แบกหินนี่ พอเข้าใจแล้ว ทิ้งหินแล้วนี่ ยังไม่พอ เดี๋ยวมันมาแบกฟางอีก เป็นไอ้บ้าหอบฟาง ยังมีฟางให้มันหอบอีก ก็ต้องไปทิ้งฟางออกอีก ...พอทิ้งฟางแล้วมันยังถือถุงเปล่าไปอีก เอ้า มันบ้า จิตนี่มันบ้าไปจนถึงที่สุดน่ะ

แต่ถ้าเรามาคาแค่แบกหิน หาหิน เสาะหาหินดี หินสวย หินงาม มาสะสมอยู่นี่...ไปไหนไม่รอดหรอก ตายอยู่ในโลกนี่แหละ ... ทิ้งซะ วางซะ ไม่เอาคือไม่เอา ไม่หาคือไม่หา ไม่ทำคือไม่ทำ รู้เท่าที่มันปรากฏยืนเดินนั่งนอนแค่นี้ ง่าย สั้น ตรงที่สุด ไม่รู้จะตรงยังไงแล้ว

ตรงต่อธรรมนะ ไม่ใช่ตรงต่ออะไรหรอก  ตรงต่อธรรมชาติที่ปรากฏตามความเป็นจริง ... ไม่ต้องมาเทียบ ไม่ต้องมาเคียง ไม่ต้องมาค้น ไม่ต้องมาหา ไม่ต้องมาอะไรเลย  

ยืน-รู้ นั่ง-รู้ เดิน-รู้ นอน-รู้ ขยับ-รู้ ไหว-รู้ นิ่ง-รู้  หลับตา กระพริบตา กลืนน้ำกินข้าว หยิบจับอ้าปาก รู้ให้ทัน ดูมันๆ สังเกตมัน ดูอาการของมัน

ดูไปดูมาจะเห็นว่า ... เออ เฮ้ย มันเหมือนหุ่นกระบอกเลยว่ะ ...ได้เรื่องแล้วๆ เริ่มได้เรื่องแล้วนะ ...เหมือนหุ่นยนต์ ดูไปดูมาเห็นกายเหมือนหุ่นยนต์ไปซะงั้น  มันจะห่างออกไป เหมือนเป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้  “เอ๊ะ มึงเป็นใครวะนี่” 

มันจะเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา...ถ้าทำจริงนะ ถ้ารู้ตัวลงไปจริงๆ ดูไปจริงๆ  ไม่คิดไม่นึกอะไรนะ ไม่เอามรรคเอาผล ไม่เอาเหมือนคนอื่นเขา ไม่เอาสภาวธรรมอะไร ไม่เอาความสงบ-ไม่สงบ ไม่เอาความรู้ยิ่งอะไรน่ะ รู้แค่นี้ สั้นๆ ตรงๆ

แล้วจะเข้าใจในตัวของมันเองว่า ตัวมันเองน่ะคืออะไร แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่สภาวะธาตุหนึ่ง เป็นแค่สภาวธรรมหนึ่ง ที่เกิดๆ ดับๆ หาความเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงไม่มี แค่นั้นเอง สบายแล้ว

ทีนี้สบายขนาดนั้นแล้วหมายความว่า ไม่มีที่ไหนที่ไม่กล้าไป ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วจะกลัว นี่ มันมีความอาจหาญ ไม่กลัว ไม่กลัวในการที่จะเจออะไร เกิดอะไรขึ้น  มันจะอาจหาญขึ้น

แล้วมันจะเข้าไปเพิกถอนเลิกละ หรือว่าไอ้ที่มันยังหาบฟางอยู่ มันก็จะรื้อฟาง ขนฟางออกจากบ่าออกจากไหล่ คือนามทั้งหลายทั้งปวง คือผัสสะทั้งหลายทั้งปวง คือความยึดมั่นถือมั่นในส่วนที่เป็นสภาวะ อดีต-อนาคตที่คาดที่เดาอยู่

นี่เป็นรายละเอียดในภายภาคหน้าที่มันจะต้องรื้อถอน ...ก็เหมือนกับที่รื้อถอนความเห็นในกายนี่แหละ เรื่องเดียวกันหมด

อย่าไปภาวนาเป็นแฟชั่นตามเขา เดี๋ยวจะถูกหลอก มันเป็นเทรนด์น่ะ เดี๋ยวเทรนด์นั้นมา เดี๋ยวเทรนด์นี้ไป เดี๋ยวก็องค์นั้นมา องค์นี้ก็ไป แต่ธรรมมีอยู่อันเดียว รู้อย่างเดียว แค่นั้นเอง คือความเป็นจริงในปัจจุบัน อะไรเป็นปัจจุบันอันนั้นเป็นธรรม

ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เขาสมมุติว่าดี เขาสมมุติว่าไม่ดี เราให้ค่าว่าดี เราให้ค่าว่าไม่ดีก็ตาม  แต่มันจริง  เราต้องการอยู่กับความจริง เราต้องการให้เห็นความจริง เราต้องการให้สืบค้นความเป็นจริง ด้วยความเป็นกลาง

ไม่ได้ด้วยเหตุและผล ไม่ได้ด้วยเอาถูกเอาผิดเอาชนะคะคานกัน แต่ด้วยความเป็นสันติ เป็นกลาง รู้เฉยๆ ดูเฉยๆ แล้วเข้าใจ

จะเข้าใจ ...ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าต้องเข้าใจอะไร มันจะเข้าใจเอง  เพราะมันรู้เอง เห็นเอง  มันรู้เอง มันเห็นเอง ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องให้ใครมาบอก ไม่ต้องให้ใครมาหลอก มันรู้เอง มันเห็นเอง

เอาแล้ว พอแล้ว ไปฝึก ไปทำเอา


โยม –  ต้องขอบพระคุณพระอาจารย์ ...สมกับการรอคอยมาเต็มที ทุกอย่างที่อยู่ในใจ ทุกปัญหา วันนี้ได้รับคำตอบทุกอย่างแล้วเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เปิดใจให้กว้าง อย่าไปตีกรอบกับตัวเอง  อย่าเอาตัวเองไปขังกรงด้วยรูปแบบการปฏิบัติหรือวิธีการปฏิบัติ ...จะถูกขังคุก  

ปลดปล่อยให้มันเป็นอิสระ เป็นธรรมดา  กลับมาคืนสู่ความเป็นธรรมดา อยู่กับธรรมดา ... แล้วจะเข้าใจความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวง...ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง


………………..




วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/11




พระอาจารย์

8/11 (550605C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

5 มิถุนายน 2555



พระอาจารย์ –  ลืมรึยัง กายน่ะ หลงมาอยู่กับเสียงเราน่ะ ...กลับไประลึก กลับมาอยู่กับตัว อย่ามาอยู่กับเสียง เสียงมันเข้ามาเอง แล้วก็ออกไปเอง ...ตัวก็ยังนั่งอยู่ หูมันตั้งอยู่ อยู่ที่หู อย่ามาอยู่ที่เสียง อย่างเนี้ย

พยายามรู้ตัวบ่อยๆ อยู่กับกายบ่อยๆ อย่าไปหาอะไร อย่าลืม อย่าขาด อย่าให้มันขาดจากการรู้ตัว รู้ที่ตัว รู้อยู่กับตัว ...ไม่ต้องไปหวังดีหวังเด่อะไรหรอก ไม่ต้องไปคาดหมาย ไม่ต้องไปคาดหวังในธรรมอันสูงอันละเอียดหรอก...ไม่มี  ... มีแต่ธรรมดา

ธรรมดานั่นแหละคือสูงสุด คือสามัญ สามัญลักษณะถ้าเข้าถึงสามัญลักษณะ ก็จะเข้าถึงสามัญผล
คำว่าสามัญลักษณะก็คือความหมายของคำว่าไตรลักษณ์ ... ไตรลักษณ์...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกความหมายอีกสมมุติหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าสามัญลักษณะ...ก็คือความหมายของคำว่าไตรลักษณ์

เพราะนั้นความหมายของคำว่าไตรลักษณ์ ก็คือสามัญลักษณะ คือหมายความว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ดาษดื่นธรรมดาๆ นี่แหละ คือความเป็นไตรลักษณ์ ... เพราะนั้นเราจะเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์หรือเรียนเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์นี่ ก็ต้องมาอยู่กับความปกติธรรมดานี่แหละ

ไม่ต้องไปดำดินบินบนดูหรอก ไม่ต้องไปสร้างเงื่อนไขอะไรก่อนแล้วค่อยดู  มันมีให้ดู...ดู  มันปรากฏยังไง...รู้ เท่าที่มันปรากฏตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ปัจจุบันนี้ ปกติธรรมดานี้

ฝึกสติ...ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ระลึกอยู่กับตัว...ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ สม่ำเสมอที่สุด ต่อเนื่องที่สุด เป็นธรรมดาที่สุด ...แล้วจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วจะเข้าใจว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นจะได้อะไรเองนั่นแหละ

อย่าไปเชื่อคนอื่น ถูกหลอก แล้วจะถูกหลอก ... เพราะอะไร ...เพราะ “เรา” พร้อมที่จะถูกหลอกอยู่แล้ว  “เรา” นะ นี่ไม่ได้ว่าใคร ว่า “เรา” ความรู้สึกเป็น “เรา” นั่นแหละ  มันพร้อมที่จะให้คนหลอก 
เพราะมันหา...โดยสันดานของมันเลย โดยธรรมชาติของ “เรา” นี่ คือจิตผู้ไม่รู้นี่... มันหา

คราวนี้ไอ้จิตไม่รู้หรืออวิชชานี่ มันจะหายังไงล่ะ มันหาเองไม่ได้ไง ...มันก็สร้างสภาวะหนึ่งขึ้นมา ความเห็นหนึ่งขึ้นมาว่าเป็น “เรา” ... เพื่ออะไร ...เพื่อเป็นมือเป็นตีนให้มันไง จะได้หาได้ง่ายๆ หน่อย แน่ะ มันก็เลยสร้างสักกายทิฏฐิ...ความเห็นว่า "เป็นเรา...ของเรา" ขึ้นมา

แล้วก็อาศัยไอ้ความเห็นว่าเป็นเราของเรานี่ ไปแสวงหาด้วยการกระทำ ทั้งคิด ทั้งหา ทั้งถาม...นี่วจีสังขาร  แล้วก็เอากายนี่ลากไปลากมา เพื่อให้ได้อะไรตามที่ความไม่รู้หรืออวิชชาภายในต้องการ

เห็นมั้ย "เรา" น่ะเป็นเครื่องมือของอวิชชา แล้วเราก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอวิชชานี่ แล้วยังเอาอวิชชา คือเอา "เรา" นี่มาเป็นผู้ปฏิบัติอีก ... เห็นมั้ยว่ามันครอบคลุมสามโลกธาตุเลย

ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปชำแรกออก จะออกจาก “เรา” ไม่ได้เลย ...เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ภาวนาวันนึงน่ะ ก็ใครดีใจล่ะ ก็ "เรา" อีกนั่นแหละ  ใครเสียใจล่ะที่ภาวนาไม่ได้ผล ก็ "เรา" อีกนั่นแหละ ... แล้วมันจะภาวนาไปหาซากอะไร

ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า กิเลสร้อยรัดเบื้องต้นคืออะไร...สังโยชน์ ๓ ...รู้จักมั้ย  สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส  ...ต้องละ ๓ ตัวนี้เป็นเบื้องต้นเลย

สักกาย คือ ความเห็นว่า...ตัวเราของเรา  วิจิกิจฉา...สงสัย...สงสัยทุกเรื่อง จะปฏิบัติอย่างไรก็สงสัย  จะนั่งนานกี่ชั่วโมงก็สงสัย จะกำหนดอะไรดีก็สงสัย ทำแล้วจะได้ผลอย่างนี้หรืออย่างนั้นไหม...ก็สงสัย มันสงสัยไปหมดน่ะ

อ่านหนังสือพิมพ์ ทำไมเขาฆ่ากัน...ก็สงสัย ทำไมเขาทำอย่างนี้...ก็สงสัย ทำไมเขาไม่ทำอย่างนี้...ก็สงสัย เห็นมั้ย  มันมีแต่ความสงสัยกับสงสัย

ขนาดมาภาวนาก็ยังสงสัย ว่าที่เราทำนี่ถูกรึเปล่า มันจะได้มั้ย นี่สงสัยอีกแล้ว นั่งๆ ไปสักพัก สงสัยอีกแล้ว ตัวเองทำอะไรอยู่วะ แล้วมันจะถูกไหม  แล้วมันจะได้ผลไหม มันจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม สงสัยอีกแล้ว เห็นมั้ย มันอยู่กับแค่สงสัยนั่นแหละ ...มันเป็นกิเลสตัวหนึ่ง เป็นความเห็นหนึ่ง

เมื่อสงสัย เมื่อมีตัวเรา มันก็มีการกระทำไปตามที่มันสงสัย ไปตามที่มันเข้าใจ ตามที่ “เรา” เข้าใจ ...ตรงที่ว่าทำไปตามสงสัย ทำไปตามที่เราเข้าใจน่ะ หรือทำตามที่เราเชื่อว่ามันต้องได้ แล้วทำ ... อย่างงั้นน่ะ ท่านเรียกว่าสีลัพพตปรามาส

คือความหมายว่า ลูบคลำในวัตรและศีล ลูบคลำในหลักการปฏิบัติ ลูบคลำในวิถีการดำเนินชีวิต นั่นแหละ เรียกว่าสีลัพพตปรามาส  มันเป็นตัวร้อยรัดเบื้องต้น ที่ต้องเข้าใจมัน...แล้วละ

แต่ถ้ายังเอา “เรา” มาเป็นผู้ภาวนา ยังไงก็ละ “เรา” ไม่ได้...'อัฐยายซื้อขนมยาย' ...ภาวนาเก่งขนาดไหนก็ละไม่ได้ เพราะอัฐยายก็ซื้อขนมยาย เก่งก็ดี ชอบ พองเลย มันก็ยิ่งสนับสนุนความรู้สึกว่าเป็นเราของเรามากขึ้นอีกนะ 

แล้วมันจะละสักกายได้มั้ย มันจะออกจากกิเลสร้อยรัดเบื้องต้นนี้ได้มั้ย ...ไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ ...แล้วก็ทุกข์

ถ้าออกไม่ได้ก็ทุกข์ ... เพราะอะไร เดี๋ยวเราก็ได้ เดี๋ยวเราก็ไม่ได้  เราได้ก็ทุกข์ เราไม่ได้ก็ทุกข์ เราได้ก็ทุกข์น้อยลงหน่อย ถ้าดีใจก็เรียกว่าทุกข์น้อยลงหน่อย ถ้าไม่ได้ก็เรียกว่าทุกข์มากขึ้นหน่อย ...มีแต่ทุกข์กับทุกข์

แต่ถ้าเข้าใจหลักการภาวนา ให้มาเรียนรู้ความเป็นจริงในปัจจุบัน ... การภาวนานี่จึงไม่มีเวลา จึงไม่มีรูปแบบ จึงไม่มีเงื่อนไข  ทุกสิ่งทุกอย่างคือภาวนา อะไรๆ ที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ขณะนี้ถือเป็นการภาวนา...ถ้ามีสติรู้อยู่กับมันแค่นั้นแหละ

ถ้าไม่รู้อยู่กับมัน มันจะเกิดอาการของ “เรา” ออกไปค้นหรือหา หรือหนี หรือแก้ หรือทำให้มันคลาดเคลื่อนออกจากปัจจุบัน ... “เรา” นี่แหละ จะเป็นผู้ที่ไปครอบครองสร้างโลกใหม่  

ก็ไม่ชอบอ่ะ ก็เราไม่ชอบอ่ะ ก็เลยต้องหาวิธีการที่จะให้มันชอบให้ได้ ด้วยการที่ต้องให้มันเปลี่ยนไป ใช่ไหม ...นี่สร้างโลกใหม่มั้ย จะสร้างโลกใหม่อยู่นั่นน่ะ มันจะสร้างโลกในความฝันของมันให้ได้ตลอดเวลา

ถ้ามันสร้างได้ สมมุติว่าสร้างได้ทำได้ ครอบครองได้  มันจะภูมิอกภูมิใจในผลงานที่มันสร้างได้ ทำได้ ครอบครองโลกได้ เปลี่ยนแปลงโลกได้ เปลี่ยนแปลงผู้คน เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้มันดี สิ่งที่ไม่ถูกใจให้มันถูกใจ ...นั่นน่ะ หน้าที่ของจิตผู้ไม่รู้ หน้าที่ของ “เรา”

มันบิดเบือน มันเข้าไปบิดเบือนความจริง...ของปัจจุบันนั้นๆ  ถ้าบิดเบือนได้มาก สำเร็จมาก พอใจมาก ถูกใจมาก ดั่งใจมาก ...มันก็ว่าเก่ง มันก็ให้คะแนนตัวมันเอง มันก็ดีใจเอง

ถ้าสมมุติว่ามันบิดเบือนไม่ได้ เกินกำลัง  มันก็เศร้า ตรม หมอง ขุ่น มัว โกรธ เป็นปฏิฆะ หงุดหงิด ... มันก็ให้ค่าลบกับตัวมันเอง ก็เป็นทุกข์

มันบิดเบือนทั้งคู่น่ะ มันบิดเบือนปัจจุบัน มันพยายามแก้ปัจจุบัน มันพยายามจะหนีออกจากปัจจุบัน มันจะหาอะไรที่เกินกว่าความเป็นจริงในปัจจุบัน ...มันคือเรา เราคือมัน

เมื่อใดที่มาฝึก ระลึก แล้วก็รู้อยู่กับปัจจุบัน ด้วยความอดทน ...ต้องอดทนนะ ถ้าไม่อดทน มันไม่ยอมหรอก ไม่ยอมอยู่กับปัจจุบันนี้หรอก  มันจะหนี มันจะหาอะไรใหม่มาทดแทนปัจจุบันอยู่เรื่อย ...มันอยู่กับความไม่สงบไม่ได้ถ้าสมมุติว่ามันไม่สงบ ...มันก็จะวิ่งไปหาความสงบให้ได้ เพื่อมาทดแทน ใช่มั้ย

เวลาใดที่มันฟุ้งซ่าน มันไม่ยอมอยู่กับความฟุ้งซ่านนี้ มันจะหาวิธีการใดก็ได้ที่มันไม่ฟุ้งซ่าน ... เพราะมันให้ค่าไว้แล้วนี่ว่าฟุ้งซ่าน...ต่ำ ไม่ฟุ้งซ่าน...สูง  มันจะเอาแต่ของดี เห็นมั้ย มันจะพยายามทุกวิถีทางที่จะปฏิเสธสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน

เพราะนั้นถ้าสมมุติว่ามันไม่สงบหรือมันฟุ้งซ่าน  แล้วถ้ามีสติระลึกรู้กับปัจจุบัน มันต้องทนอยู่กับความฟุ้งซ่านด้วยความอดทน ใช่ไหม ... นั่นแหละ ไม่แก้ไม่หนี  เหมือนโง่เลยนะ เหมือนไม่ทำอะไรกับมันเลยนะ

ทำไมล่ะ  ทำไมถึงต้องไม่ทำอะไรกับมัน ...เพื่อศึกษามัน เพื่อศึกษาความเป็นจริงของมัน ว่าที่สุดแล้วมันคืออะไร ... ท้ายสุด...สุดท้าย มันจะ Happy Ending  หรือ Sad movie หรือจะเป็น Tragedy movie หรือจะเป็นอะไรก็ตาม ท้ายที่สุดมันจะเป็นอย่างไร The end … Finish จบ คือ ดับ

ทำไมถึงต้องทน ...เพื่อจะให้เห็นว่าความเป็นจริงถึงที่สุดของมันคืออะไร เขากำลังแสดงความเป็นจริง แล้วที่สุดของความเป็นจริงนี้คืออะไร นี่ ทน...โดยที่ไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่เข้าไปทำ ไม่เข้าไปสร้าง ไม่เข้าไปเบี่ยงเบน ไม่เข้าไปประกอบ ไม่เข้าไปแทรกแซง ...ตายเป็นตาย

ก็จะเห็นว่าที่สุดของมัน...มีแต่ความดับไปเป็นธรรมดา  นั่นล่ะคือเป้าประสงค์ที่ต้องการ ที่ว่าทำไมต้องทนอยู่กับมันเฉยๆ ทำไมจะต้องระลึกรู้อยู่เฉยๆ ทำไมถึงไม่แก้ ทำไมถึงไม่หาวิธีเอาชนะมันล่ะ ทำไมไม่หาวิธีที่ไปอยู่กับสิ่งที่มันดีกว่านี้ล่ะ หรือหาสิ่งที่ดีกว่านี้ให้มันอยู่แทนล่ะ

พระพุทธเจ้าไม่สอนให้โง่นะ ไม่สอนให้โง่ลง ไม่สอนให้ภาวนาแล้วโง่ลง สอนภาวนาให้เรียนรู้ความเป็นจริง จนถึงที่สุดของความเป็นจริง จนถึงที่สุดของทุกข์

อาการที่ปรากฏทั้งหมดน่ะคือทุกข์ แล้วที่สุดของมันคืออะไร  มันหนีไม่พ้นหรอกในสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าบอกว่าความเป็นจริงมีอยู่แล้ว...คือมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเกินนั้นน่ะ ไม่มีอะไรเกินนั้น แล้วก็ไม่มีอะไรน้อยกว่านั้น มันมีเท่านั้นน่ะคือ...ดับไปเป็นธรรมดา

ดีก็ดับ ไม่ดีก็ดับ สุขก็ดับ ทุกข์ก็ดับ สงบก็ดับ ไม่สงบก็ดับ เอาดิ ... มันมีอะไรจะเกินความดับไปเป็นธรรมดา

ถ้าจิตมาเรียนรู้อย่างนี้ๆๆ ซ้ำไปซ้ำมาๆ  มันจะเอาอะไรดี มันจะหาอะไร มันจะไปขวนขวายกับอะไร มันจะไปครอบครองอะไร ... เพราะมันเหมือนกันหมด แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่มีอะไร แล้วก็ว่าง แล้วก็สูญ แล้วก็ดับ...แล้วก็ว่าง แล้วก็สูญ แล้วก็ดับ

มันมีตัวตนตรงไหนอยู่ มันครอบครองอะไรได้มั้ย มันถือเป็นสมบัติของตัวเองได้ไหม มันถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ นี้ได้มั้ย  

เหมือนที่เราถามว่า เราไปถือกรรมสิทธิ์ในรูปกายที่นั่งอยู่ในรถในอดีตได้ไหม  เขาเกิดเอง-เขาดับเองแล้ว เขาดับแล้วเราไปถือกรรมสิทธิ์...ว่าเอาคืนมาได้ไหม ครอบครองให้มันยังอยู่ได้ไหม 

ถึงเวลาเขาก็ดับ หมดเหตุปัจจัย คือต้องลงรถก็ต้องลงรถ รูปในรถก็ต้องดับ เขาไม่สนใจหรอก หรือเราไม่อยากให้มันดับมันก็ดับ ...ถ้าอยากให้อยู่ก็อยู่...ก็นั่งไปสิ มันจะนั่งได้แค่ไหนล่ะเอ้า เดี๋ยวก็ดับในที่สุด ...ก็แค่นั้นน่ะ 

ดับแล้วยังไง ...ก็หายไป  มันมีอะไรเป็นสมบัติของเราบ้าง เราครอบครองอะไรได้บ้าง เราครอบครองได้จริงไหม...ไอ้ที่ว่าเรามีๆ เรายังมีอยู่  มันมีจริงไหม หรือมันมีแค่ความเชื่อผิดๆ ในสัญญาอารมณ์ เชื่อว่าสัญญามี...ยังมีอยู่

มันต้องดูลงไปให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ลงไป...แล้วจะเข้าใจ  ไม่ใช่มาภาวนาแล้วก็จะเอาแต่สงบๆ เมื่อไหร่จะสงบ  ถ้าไม่สงบแล้วจะไม่ทำอะไรเลย จะไม่เกิดปัญญาเลย ...มันตื้นไป 

มันไม่ทันกิเลสหรอก มันไม่ทันความเป็นเรา...ตัวเราหรอก  แล้วก็จะถูกตัวเราของเรา นี่หลอกตลอดเวลา ออกไปก็โดนหลอก เข้ามาในวัดก็ถูกหลอก ภาวนาอยู่ก็ยังโดนหลอกดื้อๆ ด้านๆ เลย ...มันไม่เข้าใจ จะเกิดความไม่เข้าใจ 

พระพุทธเจ้าอุตส่าห์บำเพ็ญมาตั้งสี่อสงไขยแสนมหากัป ไม่ได้มาสอนให้โง่ ไม่ได้มาชี้ทางโง่ให้เดิน  แต่ท่านชี้ทางสว่าง ให้เห็นว่า...อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์...แล้วแก้ตรงนั้น 

ซึ่งก็คือตรงนี้แหละเหตุใหญ่...เดี๋ยวนี้แหละ ขณะนี้แหละ...ที่เราเข้าไปหมายว่านี่ ตัวนี้เป็นเรา

จนกว่าจะเห็นว่าไม่มีเราในกาย ไม่มีกายในเรา ไม่มีชายในกายนี้ ไม่มีหญิงในกายนี้ ไม่มีความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในกายนี้  ...นี่ แก้ได้หมด แก้ปัญหาสามโลกธาตุนี้จบหมด 

แก้ความวุ่นวายที่รู้สึกว่าวุ่นวาย แก้ความกังวล กระวนกระวาย ความกลัว ความกระสับกระส่าย แก้ได้หมด แก้ที่นี้...ที่เดียว เงื่อนปมทั้งหลาย ร่วงหมด หลุดหมด  ...ไม่ต้องไปแก้หลายที่ ไม่ต้องไปหาที่แก้

ดูลงไป รู้ลงไป ให้ทันกัน ... นั่งก็ให้รู้ว่านั่ง เดินก็ให้รู้อยู่ว่าเดิน ยืนก็ให้รู้อยู่ว่ายืน เย็นร้อนอ่อนแข็งก็ให้รู้อยู่ตรงนั้น  หยั่งลงไป ดูลงไป  หยั่งลงไว้ในปัจจุบันกายปัจจุบันรู้ ทำอยู่แค่นี้ ไม่ต้องทำอันอื่นเลย ...เป็นอาชีพ

ไม่ต้องไปหาวิธีการภาวนาเลย ไม่ต้องหาท่าทางด้วย ... จะสมาธิชั้นเดียว จะสมาธิสองชั้น จะสมาธิเพชรจะสมาธิพลอย...ไม่เกี่ยว อันนั้นเป็นรูปแบบ

ถามว่าเดี๋ยวนี้รู้มั้ย แค่นั้นแหละ เตือนตัวเองไว้ อย่าให้ลืม ว่าเดี๋ยวนี้กำลังทำอะไร กายกำลังทำอะไร มีการระลึกรู้อยู่มั้ย รู้มั้ยว่านั่ง รู้มั้ยว่าหยิบว่าจับ กำลังหยิบกำลังจับ รู้ถึงความรู้สึกในการหยิบการจับไหม แค่นั้นแหละ รู้อยู่อย่างนั้นน่ะ ซ้ำๆ ซากๆ...ซ้ำๆ ซากๆ มันไม่แจ้งให้มันรู้ไป

มันไม่แจ้งเพราะอะไร ...เพราะมันออกนอก เพราะมันรู้ไม่ต่อเนื่อง เพราะมันเห็นไม่ต่อเนื่อง แค่นั้นแหละคือปัญหาของนักภาวนา  

แล้วมันก็คิด แล้วมันก็คาด แล้วมันก็เดาเอาใหม่ ว่าควรจะมีวิธีการที่เร็วกว่านี้ ที่ถูกกว่านี้ ที่ใช่กว่านี้ ที่ลัดตรงลงไปถึงนิพพานไวมากกว่านี้ หรือมาสนับสนุนให้เร็วขึ้น ไวขึ้น  นั่นแหละคือมันออกนอกงานแล้ว

ถ้าทำงานซ้ำซากๆๆ  เดี๋ยวได้เงินเดือนขึ้นเองน่ะ ได้เป็นบุคคลดีเด่นประจำปีเลยน่ะ ใช่มั้ย เงินเดือนขึ้นแน่ๆ ... แต่คราวนี้ว่าพวกเราทำงานแบบ เช้าชามเย็นชามๆๆ  อู้ เดี๋ยวก็เผลอ พัก เดี๋ยวก็นอนหลับ เดี๋ยวก็ไปเที่ยวเล่น  เงินเดือนไม่ขึ้นหรอก เขาจะตัดเงินเดือนด้วยซ้ำ นั่นน่ะ

มีแต่ไปเที่ยว...โดยอ้างว่าจะไปหาหนทางที่สงบสักหน่อย จะไปหาหนทางที่ให้เกิดมรรคผลและนิพพานหน่อย ...เออ นั่น หนีเที่ยวนะนั่น ถือว่าไปเที่ยว ไกด์นำทางมันว่าตรงนี้นิพพาน ถ้าอย่างนี้ถึง ถ้าอย่างนี้จะแก้ปัญหาในโลกที่เราประสบปัญหาได้เลยวิธีนี้ .... นี่มันออกจากงาน ไปรับจ๊อบนอกไปรับงานนอก ...ผลไม่เกิด

งานในปัจจุบัน...สำคัญที่สุด คืองานในปัจจุบัน ... เพราะอะไร ...เพราะความจริงมีอยู่ในปัจจุบัน ความเป็นจริงไม่มีในอดีต-อนาคตนะ  มันไม่แน่ นี่  เดี๋ยวกลับไป จะเจอใคร เจอหมาหรือเจอผู้หญิงก่อน รู้มั้ย ...ไม่รู้หรอก สิ่งที่คิดไปก่อนก็ไม่รู้ว่าจะใช่หรือเปล่า มันแน่นอนมั้ย...อนาคต

โยม –  ไม่แน่นอน

พระอาจารย์ –  อือ ไม่จริงด้วย ...แล้วไม่รู้ว่าจะเกิดจริงรึเปล่า แล้วไม่รู้จะเจอจริงไหม หรือไม่เจอใครเลยก็ได้ หรือว่าอาจจะเจอใครเยอะแยะเลยก็ได้ ใช่มั้ย ... เห็นมั้ยว่าอนาคตมันจริงมั้ย

แล้วความจริงที่สุดมันอยู่ตรงไหนล่ะ ก็บอกว่ารู้มั้ยว่านั่ง นี่...จริง  รู้มั้ยว่ากำลังเย็น...นี่จริง  จะพอใจรู้หรือไม่พอใจรู้กับมันก็ตาม ยังไงก็มีอยู่จริงน่ะ  จะอยากรู้-ไม่อยากรู้ มันก็มีอย่างนี้จริงน่ะ  จะพอใจหรือไม่ต้องการมัน มันก็มีอยู่อย่างนี้จริงว่านั่งน่ะ

เห็นมั้ย มันไม่ได้ขึ้นกับความอยากหรือไม่อยากใช่มั้ย ความจริงนี่  มันขึ้นกับเหตุปัจจัยมันพอดีอย่างนี้ มันก็ปรากฏอย่างนี้ในปัจจุบัน...นี่คือธรรม

สืบค้นลงไปในธรรมที่เป็นปัจจุบัน จึงจะเข้าใจว่าความจริงคืออะไร แล้วที่สุดของความจริงนั้นคืออะไร แล้วความจริงนั้นเป็นใครของใครหรือไม่ได้เป็นใครของใคร...ความจริงอันนี้

มัวแต่ไปหาอะไรที่นอกจากความเป็นจริงน่ะ งง อลหม่าน สับสนไปหมด ... เหมือนน้ำรดหัวตอแล้วมันกระเด็นน่ะ มันกี่เส้นกี่สายเข้าไปล่ะ กี่เม็ดกี่หยด สาดกระจายไปหมด ไม่รู้จะอันไหนดี ...คนนั้นก็ว่าดี คนนี้ก็ว่าใช่ คนนี้ก็ว่าถูก สำนักนั้นก็ว่าใช่ สำนักนี้ก็ว่าวิธีนี้ จนเราสับสนน่ะ

เพราะมันกำลังหาสิ่งที่ไม่จริง แต่คิดว่าจริงเท่านั้นเอง

แต่ถ้าทิ้งซะ ละซะ...ทิ้งซะ ละซะ  อยู่กับความเป็นจริงที่เป็นธรรมดานี่แหละ ปกตินี่แหละ ... นี่แหละคือรากฐานของธรรม


(ต่อแทร็ก 8/12)