วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 8/15



พระอาจารย์
8/15 (550628)
28 มิถุนายน 2555


พระอาจารย์ –  ธรรมะเป็นอะไรง่ายๆ ไม่ต้องพิธีรีตอง ...อย่าทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร ชำระอยู่กับเนื้อกับตัวของทุกคน ...ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่ตั้งปรากฏอยู่ ...ถ้าแยบคายน่ะ ทุกอย่างเป็นธรรมหมด 

เขาแสดงธรรมหมด ...ต้นไม้ต้นนึง ก้อนหินก้อนนึง ลมพัดวูบนึงวาบนึง  ก็แสดงความไม่มีตัวไม่มีตนปรากฏอยู่แล้ว แสดงความไม่มีอัตตลักษณ์ เอกลักษณ์ในตัวของมันเอง

ถ้าเราแยบคาย พิจารณาให้เห็นความเป็นจริงเหล่านี้เสมอๆ ในปัจจุบันธรรม ...มันก็จะเข้าใจสภาพธรรมโดยรวม 

แล้วมันก็จะคลายจากการเข้าไปหมายมั่น ว่านี้เป็นนั้น นั้นเป็นนี้ สมมุติอย่างนั้น บัญญัติอย่างนี้ ...แล้วก็ไปจริงจังกับบัญญัติ สมมุติ...มากกว่าจริงจังกับสภาพที่แท้จริงของมัน

เพราะนั้นตัวของปัญญา ความหมายของปัญญาคือเห็นตามความเป็นจริง ...คือมันเข้าไปเพิกถอนการเข้าไปให้ค่าให้ความหมายของจิตที่ไม่รู้ ...เมื่อปัญญามันแก่กล้าขึ้น 

หมายความว่ามันเห็นทุกอย่างเป็นแค่สิ่งหนึ่งตามความเป็นจริง ...มันไม่ใช่ว่าไปสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่ หรือว่าไปทำให้มัน บังคับให้จิตมันยอมรับความเป็นจริงนี้ 

แต่มันเป็นความจริงที่มันเป็นอยู่แล้ว เป็นสัจจะโดยสัจจะอยู่แล้ว ...เพียงแต่ว่าจิตมันไม่เข้าไปเห็นสภาพธรรมนี้ตามจริงเท่านั้นเอง

การภาวนามันก็จะมีการอบรม เพื่อให้อยู่ในกรอบ...ในกรอบที่จะให้จิตมันเข้าไปเรียนรู้ แล้วก็เห็นความเป็นจริงเหล่านี้ ...เป็นความต่อเนื่อง สืบเนื่องไป 

มันก็จะไปถ่ายถอนความเข้าใจผิดของจิตที่ไม่รู้ มันก็ถ่ายถอนหรือว่าทำลายจิตที่ไม่รู้นั้นออกไป

เพราะนั้นตัวที่จะตั้งมั่นอยู่ในฐานะเป็นผู้เรียนรู้ ผู้เห็น...ก็คือใจ  มันต้องมีใจที่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่เสมอ ...สติจึงเข้ามาเป็นตัวรักษาใจ 

สติจึงเป็นตัวที่เข้ามารักษากายใจ...ให้อยู่ในปัจจุบันเสมอ อยู่กับปัจจุบันเสมอ...เพื่อให้มันเกิดภาวะที่เข้าไปสำเหนียก ในอาการ ในธรรมชาติ ในผัสสะ ในอารมณ์ ในกิเลส ในทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา 

เมื่อมันสำเหนียก โยนิโส แยบคายแล้ว ...มันก็จะลึกซึ้งเข้าไปในสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆ ว่ามันเพียงแตกต่างกันแค่สัญลักษณ์รูปลักษณ์เท่านั้นเอง 

คือเป็นรูปบ้าง เป็นนามบ้าง เป็นรูปละเอียดบ้าง เป็นนามละเอียดบ้าง เป็นนามหยาบบ้าง เป็นรูปหยาบบ้าง อะไรอย่างนี้ ...มันแตกต่างแค่การประชุมรวมกัน เกาะเกี่ยวกันเป็นรูปร่างรูปลักษณ์อย่างไร เท่านั้นเอง  

แต่ในความเป็นสภาพธรรม สภาวธรรมนั้น มันดำรงอยู่ด้วยความเป็นกลาง ...ไม่มีตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครครอบครองได้ 

นั่นแหละ มันก็จะเข้าไปสำเหนียกในความเป็นความจริงแท้ของสภาวธรรมนั้น เนืองๆ เป็นนิจ...เนืองๆ เป็นนิจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ...มันก็จะเกิดความยอมรับไปตามลำดับของมันเอง

เมื่อใดที่มันเกิดการเข้าไปยอมรับ หรือว่าเป็นภาวะที่เป็นปัจจัตตังจำเพาะจิตขึ้นมาแล้วนี่ ...ไอ้ตัวที่ไม่รู้นี่ ไอ้ตัวที่ปรุงแต่งมาจากความไม่รู้นี่ มันก็จะค่อยๆ น้อยลง ถอนลง ถอยลง หมดกำลังลงไป 

อาการคิดไปเรื่อย อาการปรุง อาการเข้าไปให้ค่า ให้ความหมาย ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่มีตามความเป็นจริงนั้นก็น้อยลงไป ...มันก็จะอยู่กับความเป็นจริงล้วนๆ

เพราะนั้นเมื่อใดที่มันอยู่กับความเป็นจริงล้วนๆ นี่ มันไม่มีอะไรหรอก นอกจากความสงบระงับ ความสันติ ...มันอยู่กับความเป็นจริงแล้วมันจะมีแค่นั้น เหลือแต่ธรรมชาติ แล้วมันมีความสงบสันติในธรรมชาติ

แต่เมื่อใดที่มันอยู่กับความไม่จริง มันก็ล้งเล้งไปเรื่อย จิตน่ะ  ล้งเล้งๆ ไป วิพากษ์วิจารณ์ เปรียบเทียบไปมา เอาชนะคะคาน เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาโทษ เอาคุณ เอาสูง เอาต่ำ เอาดำเอาขาว ... อยู่อย่างนั้นน่ะจิต 

มันเป็นตัวที่ก่อการร้ายอยู่ภายใน จิตมันเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ได้ก่อการดีอ่ะ ...แต่เราคุ้นเคยกับมันมาเนิ่นนานกาเล กว่าจะอบรมมัน...ให้มันยอมอยู่ใต้ธรรม อยู่ด้วยความเคารพนบนอบต่อธรรม ไม่เข้าไปล่วงเกิน อหังการต่อธรรม 

มันก็ต้องอาศัยความพากความเพียรทำอยู่ในแวดวงของศีลสมาธิปัญญานี่แหละ  สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ในสติสัมปชัญญะ แค่นี้แหละ ...คือไม่หนีจากการปฏิบัติในแง่มุมนี้เท่านั้น

เพราะนั้นการปฏิบัติ...จะออกนอกเหนือจากสติ ศีล สมาธิ  ปัญญา หรือสติสัมปชัญญะนี้ไม่ได้ ...จะทำยังไงที่มันอยู่ในองค์ศีลอยู่เสมอ อยู่ในสติอยู่เสมอ มีสติอยู่เสมอ 

นั่นแหละ ก็เรียกว่าตัวใดตัวหนึ่ง...ถ้ามันยังมีอยู่ตรงนั้นก็หมายความว่าใกล้เคียง หรืออยู่ในมรรคแล้ว ทั้งหยาบทั้งกลางทั้งละเอียด ทั้งโดยตรงโดยอ้อม มันก็เป็นไปเพื่อมรรค

เพราะนั้นเวลาอยู่ธรรมดา แม้จะไม่มีอารมณ์ใหญ่ไม่มีอารมณ์น้อย ก็ถามตัวเองว่ามีสติอยู่มั้ย ...คอยสังเกตดู มีความคิดมั้ย มีอารมณ์มั้ย กลับมาตรวจสอบตรวจทาน ทบทวนสอบทานภายในขันธ์ 

ไม่ต้องไปสอบทานขันธ์อื่น ไม่ต้องไปสอบทานวัตถุอื่นข้าวของอื่น ไม่ต้องไปสอบทานเวล่ำเวลาอื่น ...มาสอบทานในตัวขันธ์นี่แหละ มีความคิด มีอกุศล มีกุศล มีความอยากมั้ย มีความไม่อยากมั้ย สังเกตดู 

มีอารมณ์มั้ย มีกิเลสอยู่มั้ย  มีความเห็น มีความคิดความปรุง มีความเชื่อ มีความยึดถือ  มีสติ มีศีล มีสมาธิ อยู่ภายในของตัวเองมั้ย ...ต่างคนต่างคร่ำเคร่งเพียรเพ่งอยู่ภายในอย่างนี้ มันเป็นไปเพื่อองค์มรรคทั้งนั้น

เมื่อมันได้ที่ได้ฐานดีแล้ว มันก็ชัดเจนขึ้นตามลำดับ มรรคก็ชัดเจนขึ้น ศีลก็ชัดเจน สมาธิก็ชัดเจนขึ้น ปัญญาญาณก็ชัดเจนขึ้น ผลก็ชัดเจนขึ้น วิมุติหลุดพ้นก็ชัดเจนขึ้น 

เห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง วิมุติหลุดพ้นก็เกิดขึ้น มากขึ้นไปตามองค์มรรค ...ศีลสมาธิปัญญาเป็นองค์มรรค กายใจเป็นองค์มรรค 

พวกนี้สงเคราะห์รวมกันหมด สงเคราะห์เป็นธรรม ให้เข้าถึงธรรม ให้เข้าไปหยั่งถึงธรรม ให้เข้าไปเห็นสภาพธรรมตามจริง พวกนี้เป็นปัจจัยที่มาเอื้อ 

หรือว่าเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ หรือว่าวิธี หรือว่านโยบาย หรือว่ากุศโลบาย เพื่อให้เข้าไปเห็นธรรมตามความเป็นจริง ...ผลก็คือจิตยอมรับธรรมตามความเป็นจริงนั้น คือผล

เพราะนั้นผลมันก็...เมื่อเข้าใจแล้วก็ยอมรับธรรมนั้นตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ แล้ว อีกแง่นึงก็คือปล่อยวางความไม่จริงออกไป คือจิตที่เข้าไปหมาย ...มันก็ปล่อยวางจิตตัวนั้น 

เพราะนั้นตลอดชีวิตมันจะอยู่ด้วยความปล่อยวาง ...ถ้ายังไม่หมด มันก็อยู่ด้วยความปล่อยวาง มันวางไปเรื่อยๆๆ เห็นอะไร รู้อะไรกับอะไร ติดอะไร ข้องอะไร มันก็จะรู้แล้วก็วาง...รู้แล้วก็วาง 

ถ้าพูดอีกภาษานึงก็บอกว่า ตลอดชีวิตนั้นอยู่กับการละทุกข์ มีแต่ทุกข์เกิดทุกข์ดับ มันจะเป็นทุกข์ก็เห็น แล้วทุกข์นั้นก็ดับไป มันจะก่อให้เกิดทุกข์อีกด้วยจิตหมายอย่างนั้นอย่างนี้ ...มันก็เห็นทุกข์นั้นเกิดขึ้น แล้วก็เห็นทุกข์นั้นดับไป 

เมื่อไม่เข้าไปมีไปเป็น ไปพึ่งพาอาศัยมัน  ตลอดชีวิตมันก็อยู่ด้วยการเรียนรู้ทุกข์แล้วก็ละทุกข์ จนเหลือแต่ทุกข์ตามสภาพ หรือว่าทุกข์ตามความเป็นจริง ก็คือทุกขสัจหรือว่าทุกข์ที่เป็นทุกข์ในตัวของมันเอง

กายใจก็เป็นทุกข์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ว่ามันมีทุกข์ที่ไม่จริงที่จิตสร้าง ...ก็จะอยู่ด้วยตลอดชีวิตที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการละทุกข์วางทุกข์ๆ ...จริงๆ ก็ตัวจิตนั่นแหละเป็นตัวก่อให้เกิดทุกข์อุปาทานขึ้นมา

เพราะนั้นระหว่างวันก็หมั่นคอยตรวจสอบตัวเอง เพราะมันจะมีช่องโหว่เยอะ หายไปเยอะ ขาดไปเยอะ 

พอมันขาดจากปัจจุบันกาย แต่มันเกินเข้าไปในปัจจุบันจิต ด้วยความหลง คิดมากเกิน ออกไปไกลเกิน เรื่องมากเกิน มีสัตว์บุคคลเกิน มีเรื่องราวของสัตว์บุคคลพวกนี้เกิน มันจะออกไปเกินทั้งนั้น 

แต่ไอ้ที่มันขาดเป็นช่องคือขาดจากการรู้ตัว ขาดจากกาย อย่างนี้ ขาดเป็นช่องเป็นร่อง มันก็ออกไปเกินในสิ่งที่ไม่ควรไปเกิน ...เพราะนั้นไอ้ตัวที่ไม่จริง แล้วไปเกินในสิ่งที่ไม่จริงนั่นแหละ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ 

จนกว่ามันจะเห็นซ้ำซาก เรียนรู้ซ้ำซาก เห็นซ้ำซากว่า...อ๋อ ... จนมันยอมรับว่านี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็จะตั้งอกตั้งใจรู้เท่าทัน เพียรที่จะรู้เท่าทันกันกับเหตุที่ให้เกิดทุกข์นั้นๆ ... เพื่ออะไร...เพื่อละ 

ต่อไปพอมันจับจุดตรงนี้ได้ มันก็อยู่ด้วยการ...ตลอดชีวิตก็อยู่ด้วยการละและวาง เห็นอะไรก็วาง ได้ยินอะไรมันก็รู้สึกว่าวาง รู้สึกว่าปล่อย มันก็จะอยู่ด้วยความเบา...เป็นผล 

เบาสบาย เป็นธรรมดาในอาการ ในอาการเห็น ในอาการได้ยินได้ฟัง มันก็คือความราบเรียบ สม่ำเสมอ เป็นกลางอยู่ภายใน ...ละวางทางตา ทางหู ทางจมูก ทางกาย ทางใจ ทางคิด ทางอารมณ์ ทางความจำ  

เพราะนั้นกิเลสโดยรวมมันก็มีอยู่แค่นี้แหละ จิตมันจะไปหลงอยู่กับอะไร ก็มีอยู่แค่นี้แหละ เสียง รูป กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความคิด ความจำ ความรู้สึก เนี่ย มันมีให้หมายอย่างนี้ แล้วก็กาย ในแวดวงก็มีอยู่แค่นี้

เพราะนั้นถ้าตั้งมั่นจริงๆ จิตเป็นหนึ่งจริงๆ ด้วยสัมมาสมาธิ แล้วก็รักษาสมาธินั้นด้วยสติไว้ ...มันก็จะเห็นโดยองค์รวมว่า อาการที่จิตมันหลงออกไปหาน่ะ...มีอะไรมั่ง 

ที่มันไปก่อเกิด ...มันไปก่อเกิดกับอะไรบ้าง มันเพลินกับอะไรบ้าง ...มันก็จะเท่าทันแล้วก็รู้ละ รู้วาง รู้ปล่อยออกไป

เพราะนั้นการถอดถอน การเลิกละปล่อยวางนี่ มันต้องใช้เวลา ...ถอนไปๆ ในลักษณะของปัญญาวิมุติ มันจะถอนไปเรื่อยๆ ละวางไปเรื่อยๆ เห็นอะไรรู้อะไร ก็ค่อยละไปวางไป ...ละจิตที่ไปหมายนั่นแหละ  

เพราะนั้นผลของการละ...แรกๆ ช่วงต้น ช่วงอยู่ระหว่างทางเดินของมรรคนี่  มันไม่รู้หรอก ว่ามันละได้รึยัง ขาดแล้วรึยัง  ละได้มาก ละได้น้อยขนาดไหน ...มันมองแทบไม่เห็นอะไรเป็นชัดเจนหรอก 

แต่ก็ไม่ท้อไม่ถอยในการรู้ละรู้วางไปอยู่เสมอ ...พอมันจะเข้าไปเอา พอมันจะเข้าไปมี มันจะเข้าไปหา จะเข้าไปทำอะไร ...มันก็รู้ทัน สติที่มันตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันจิต เป็นหนึ่งอยู่กับปัจจุบันก็จะรู้ทัน 

รู้ทันก็ละอาการปรารถนาของจิตดวงนั้นซะ ความรู้สึกเป็นทุกข์กับจิตดวงนั้นที่ออกไปหาก็ไม่มี ...มันก็อยู่กับความว่างความเบา ความไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เป็นอะไร มีแต่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ในปัจจุบัน

ยืนอยู่ในหลักนี้เท่านั้น  มรรคมันก็จะเป็นไปตามครรลองแห่งมรรค เป็นวิถีแห่งมรรค จนถึงที่สุดก็เป็นวิถีแห่งความรู้แจ้งไป ...เมื่อสุดทางของมรรค มันก็รู้แจ้ง คือหมด...ที่มันไม่รู้อีกแล้ว 

ไม่มีอะไรที่มันไม่รู้อีกแล้ว ในขันธ์ ๕ นี้ ...แม้แต่จะเป็นเศษเสี้ยวอณูหนึ่งของขันธ์ ๕ นี่ ก็ไม่มีอะไรที่มันไม่รู้ ไม่มีอะไรที่มันไม่เห็น 

ในอาการของจิตที่เข้าไปหมายส่วนใดส่วนหนึ่ง อาการใดอาการหนึ่ง แม้แต่ขณะจิตหนึ่ง ขณะอณูหนึ่งของขันธ์ ...นั่นเรียกว่ารู้แจ้ง รู้รอบ รู้ตลอด รู้ถ่ายถอนความเห็นผิด ที่จิตเข้าไปหมายไปครอง 

ความเป็นวิมุติ ความหลุดพ้นออกจากขันธ์ ความหลุดพ้นออกจากโลก ก็จะเกิดขึ้นของมันเอง ตามสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม

เพราะนั้นการดำรงชีวิตอยู่...ในขณะที่มีชีวิตอยู่  อย่าให้มันหมดไปกับสิ่งที่มันไม่มีสาระคุณค่า  ให้เห็นว่าสาระที่เป็นสาระที่สุดก็คือ...กายปัจจุบันใจปัจจุบันนี่แหละ เป็นสาระสูงสุดที่จะต้องอยู่กับมัน 

เรียนรู้กับมัน เห็นมัน และก็ทำความเข้าใจกับมัน ด้วยความแยบคาย ...จนเห็นเนื้อแท้ กายแท้ ธรรมแท้ เป็นอันเดียวกัน ว่ากายเป็นธรรมอย่างไร ว่ากายเป็นธรรมดาอย่างไร 

ว่ากายเป็นธรรมชาติหนึ่งอย่างไร ว่ากายเป็นสิ่งหนึ่ง ว่ากายเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง เป็นอาการหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีความเป็นเรา ไม่มีความเป็นของเรา แม้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย

แต่ในขณะเบื้องต้นที่เราอยู่กับมันในตอนนี้ เรายังเห็นกายไม่ตลอด เรายังเห็นขันธ์ไม่ตลอด 

มันยังมีบางส่วนบางตอน มันยังขาดวรรคขาดตอนอยู่ ในบางส่วนของขันธ์ที่มันแสดงอาการ ที่มันสำแดงเรื่องราวต่างๆ ...มันก็เลยไม่เห็นขันธ์โดยตลอด 

พอเริ่มมีสติต่อเนื่องขึ้นไป ถี่ถ้วนขึ้น ละเอียดลออขึ้น จิตผู้รู้ สติเนี่ย เหมือนกับแมวจับหนูอ่ะ ...มันคอยระมัดระวัง คอยสังเกตสังกา ว่าหนูมันจะออกมาจากรูเมื่อไหร่ มันจะไม่ทิ้งรูนั้นๆ

ใจก็เหมือนรูหนู หนูนั่นก็คือจิต ที่ออกไปหากิน หาเหยื่อ  มันเข้าออกกี่ครั้งก็ไม่รู้ มันไปกิน ไปแพร่พันธุ์ กลับมาแพร่พันธุ์ภายใน เป็นหนูหลายตัวก็ไม่รู้ 

ถ้าแมวหรือสติสมาธิปัญญามันเป็นแมวที่อยู่หน้ารูหน้าหนู ก็จะคอยตะปบ เท่าทันหนู ไม่ให้ออก ไม่ให้เข้า ...ไปๆ มาๆ เดี๋ยวหนูมันก็ตายเองน่ะ มันไม่ได้กินไม่ได้อะไร

ถ้าเราถี่ถ้วนหรือว่าอยู่ในงานอันนี้อยู่เสมอ ไม่ทิ้งงานภาระอันนี้ จิตมันก็จะว่างเปล่าขึ้นไปเรื่อยๆ กิเลสมันก็จะค่อยๆ หมดไปสิ้นไป โดยไม่ไปมัวขยันสร้างเหตุปัจจัยของกิเลส คือความเผลอเพลิน ความอยาก ความไม่อยาก 

พวกนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นน้ำเลี้ยงของกิเลส เป็นปุ๋ย เป็นอาหารของมัน ...ถ้ามันได้กินอาหารมาก มันก็เติบใหญ่แข็งแรง เพ่นพ่าน วางอำนาจของมันไป ข่มขู่ เบียดเบียนตัวมันเองและตัวผู้อื่น

เพราะนั้นกลับมาอยู่กับสติ กลับมาอยู่กับรู้ กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ...นั่นน่ะ ทั้งหมดที่พูดนี่เป็นเรื่องของมรรคทั้งนั้น 

อย่าไปอยู่กับความอยาก อย่าไปอยู่กับอดีต อย่าไปอยู่กับอนาคต อย่าไปอยู่กับเรื่องราวของสัตว์บุคคลอื่น รวมถึงสัตว์บุคคลที่เป็นตัวเองในอดีตในอนาคตนี่ 

ให้กลับมาอยู่กับสติสมาธิปัญญา กาย ขันธ์ปัจจุบันนั่นแหละ มันจะเป็นมรรค แล้วมันจะเป็นเครื่องสนับสนุนหล่อเลี้ยงในองค์มรรค ...ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง 

เมื่อเดินอยู่ในองค์มรรคน่ะ มันเป็นเครื่องที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ...คำว่ารู้แจ้งเห็นจริง รู้แจ้งอะไร เห็นจริงอะไร ...รู้แจ้งในขันธ์ เห็นจริงในขันธ์ รู้แจ้งในโลก เห็นจริงในโลก...ว่าเป็นธรรม 

ความหมายของธรรมก็คือปกติหนึ่ง ความหมายของธรรมก็คือธรรมชาติหนึ่ง ความหมายของธรรมก็คือธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง 

นั่นแหละ เพื่อการนี้ ... ปัญญาเพื่อการนี้ เพื่อให้เห็นขันธ์และโลก...เป็นธรรมเดียวกัน ไม่แบ่งแยก ไม่สามารถแบ่งแยกได้


…………………




วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 8/14 (2)


พระอาจารย์
8/14 (550622B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 มิถุนายน 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 8/14 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่กว่าจะเป็นผู้รู้ผู้ดูที่สงบได้ ... ต้องฝึกอย่างมาก 

ฝึกดูจากทุกข์เล็กทุกข์น้อย ...อาการดั่งใจ อาการที่ไม่ดั่งใจ เหตุที่ดั่งใจ เหตุที่ไม่ดั่งใจ เป็นกลางได้มั้ย ราบเรียบมั้ย ยังแก้ยังหนีมั้ย ยังเข้าไปจัดการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมั้ย อย่างนี้

ฝึกไป...ทีละเล็ก ทีละน้อย  สะสมภูมิปัญญา สะสมความรู้ความเข้าใจ...กับธรรมชาติธรรมดาของขันธ์ ของโลก ระหว่างที่ดำเนินดำรงชีวิตอยู่ 

จะได้ภูมิปัญญาระดับปัญญาขั้นไหนไม่สำคัญ...สะสมไป  ถือว่าใช้ชีวิตให้คุ้มค่าแล้ว มีชีวิตด้วยความคุ้มค่า 

เพราะอะไร  เพราะความรอบรู้ความเข้าใจในลักษณะอาการอย่างนี้ มันไม่หายไปไหน ...สมมุติว่าปัญญาไม่ถึงขั้นที่สุดนี่ ...เกิดมาใหม่ มันก็มาเรียนรู้ต่อทำต่อ เหมือนเก็บหน่วยกิตไป 

พอเต็มหน่วยกิตเมื่อไหร่ มันหมดที่เรียนแล้ว ไม่ต้องเรียนแล้ว...เต็ม ไม่ต้องไปซ่อม ไม่ต้องไปสอบ ไม่ต้องไปตกกับอะไรอีก

แต่ไอ้ความรู้อื่นๆ วิชาการต่างๆ ศาสตร์ต่างๆ นี่ ...เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ได้มาเรียนใหม่ เดี๋ยวเขาก็สร้างศาสตร์ใหม่ขึ้นมา แล้วก็มาเรียนรู้ใหม่  แล้วก็ลืม แล้วก็หาย ตามเทรนด์ ตามโลก

ถ้ายุคหินก็แข่งกันฝนมีด (หัวเราะ) ...ก็คือว่าเป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่แล้ว หรือศาสตร์แห่งการจุดไฟ อู้หู มันเป็นวิชาการอันล้ำเลิศ หูย เผ่านั้นมันสามารถจุดไฟได้วุ้ย ขอไปเรียนกัน 

เหมือนกับเราแห่กันไปเรียนหมอสมัยนี้ ...ถ้าเป็นสมัยโบราณนั่นมันก็ยิ่งใหญ่แล้ว เผ่านี้จุดไฟได้ด้วยการเอาไม้สีกัน หรือเอาหินมากระแทกกันแล้วมีสะเก็ดไฟ ...ต่างคนต่างก็มีวิชาการแปลกใหม่

พอถัดมาก็ฝนหินฝนไม้เป็นล้อกลมๆ ได้ หูย แค่นี้ก็มหัศจรรย์มากแล้ว สามารถสร้างอะไรได้ใหญ่โตมโหฬารเพราะล้อหมุน ... เนี่ย ไม่มีล้อนี่ ไม่มีสถาปัตยกรรมขั้นสูง 

ล้อที่หมุนนี่แหละ คือความก้าวหน้าเบื้องต้น ...จนถึงที่สุดทุกวันนี้ ก็ล้อหมุน  แล้วก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆๆๆ  ศาสตร์มันก็ดูเหมือนลึกซึ้งยิ่งใหญ่ มหัศจรรย์ขึ้นไป ...เหล่านี้เป็นวิชาการ

เดี๋ยวพอกลียุค วัฏจักรล่มสลาย ... มนุษย์ที่มีความรอบรู้ๆ ตายกันหมด ...วิชาการหาย 

ก็ไปฝนหินเป็นมีดใหม่ ...อยู่อย่างงั้นน่ะ (หัวเราะ) มันไม่จบ ... พอเจอใหม่ก็ว่า โอ...ความรู้ใหม่ ... มันอันเก่านั่นแหละ ไม่ไปไหนหรอก

แต่ศาสตร์ของพุทธะ ...ดูเหมือนซ้ำซากๆๆๆ รู้ซ้ำรู้ซาก เห็นซ้ำเห็นซากๆ เกิดๆ ดับๆ ก็เท่าเก่าน่ะ เกิดๆ ดับๆ ...แต่มันจบ  ...มีวันจบ มีเดือนจบ มีปีจบ มีชาติที่จบ 

ถึงว่าเป็นความรู้อันประเสริฐ เป็นความรู้ยิ่ง เป็นความรู้จริง  จึงจะเรียกว่าเป็นความรู้จริง รู้แจ้ง ...ถ้ารู้จริงแล้วมันจะแจ้ง  ถ้ารู้จริง รู้แจ้งแล้วมันจะจบ 

มันไม่มีใครมาให้ปริญญา มันให้ปริญญาตัวเอง รู้จริงรู้แจ้งแล้วมันจบโดยตัวของมันเอง ไม่ต้องมีใครพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครบอกว่าจบแล้วนะ ไม่ต้องมาเกิดแล้วนะ...ไม่มี จบเลย 

เรียนเอง รับปริญญาเอง ใครไม่ให้ก็ไม่สน มันรับแล้วน่ะ ...มันจบแล้ว มันจบแล้วก็จบแล้วน่ะ ใครบอกไม่จบก็ช่างหัวมัน จบแล้ว มันไม่มีอะไรให้เรียนแล้ว

มันมีวันอย่างนั้น มันต้องมีวันอย่างนั้น ...ถ้าตราบใดยังบากบั่นอยู่ในองค์มรรค ด้วยศีล สติ สมาธิ และปัญญา ...โดยย่นย่อ “รู้ตัว” แค่นี้ 

ก็แค่นี้ ไม่แค่ไหน แค่นี้ ที่นี้ เท่านี้ ...ปัจจุปปันนัญจะโย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ...เอาวิปัสสติ เอาปัสสติ เอาสติ เอาวิปัสสนา เอาทั้งหมดลงที่นี้ ที่เดียว

ดูเหมือนซ้ำซาก...จำเจ ซ้ำซาก ...แล้วมันเบื่อไง ... เพราะจิตมันไม่ชอบอะไรซ้ำซากจำเจ มันชอบอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ  มันชอบอะไรที่ไม่ธรรมดา มันชอบอะไรที่เหนือธรรมดา มันชอบอะไรที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน 

มันชอบอะไรที่เกินจริง คือเกินปัจจุบัน มันอย่างงั้นน่ะ ...พอมาอยู่อย่างนี้มันจะเบื่อ มันซ้ำซาก กายนั่ง กายยืน กายเดิน กายนอน ... เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็เดิน 

เดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็ไหว เดี๋ยวก็ร้อนอีกแล้ว เดี๋ยวก็แข็งเหมือนเก่าอีกแล้ว ...ก็วนๆ เวียนๆ ซ้ำๆ ซากๆ จำเจ อย่างนี้ ...นี่ ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ภาวิตา พหุลีกตา ซ้ำซากลงไปในที่อันเดียว 

อย่าท้อ อย่าถอย  อย่าเบื่อ อย่าหน่าย  อย่าขี้เกียจ อย่าขี้คร้าน  อย่าไปหาอะไรที่ดีกว่า  อย่าหนีจากนี้ อย่าออกจากนี้ อย่าไปหาอะไร...เกินนี้ อย่าไปทำอะไร...เกินนี้

มันต้องจบสักวันหนึ่ง แล้วมันก็จบอยู่...ตรงนี้  ...ไม่ได้จบตรงโน้น ไม่ได้จบที่นั้น ไม่ได้ไปจบในห้องพระ ไม่ได้ไปจบในป่า ไม่ได้ไปจบในวัด ไม่ได้ไปจบตอนที่ลาออกจากงานมาอยู่คนเดียว

มันจบตรง “นี้” ...ไม่รู้ว่า “นี้” ตรงไหนน่ะ  ตรงไหนก็ได้ ใช่มั้ย มันจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ มันก็ “นี้” อยู่ตรงนั้นน่ะ ...จะที่ไหน จะเวลาไหน...“นี้” ก็อยู่ตรงนั้น  อยู่ที่ “นี้” มันก็จบที่ “นี้” ไม่ได้จบที่ไหน อันอื่นไม่เกี่ยว

ถ้ามันมั่นคงลงไปนี่ ด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ญาณทัสสนะลงที่นี้ที่เดียว  มันไม่ซับซ้อนเลย ทุกอย่างจะไม่ซับซ้อนเลย ...มันไม่ซับซ้อนแต่มันจะลึกซึ้ง จะแจ้ง ชัดเจน ไปจนถึงก้นบึ้งของมัน

เพราะมันหยั่งลงใน “ที่นี้ๆๆ” จนถึงที่สุดคือความดับของสรรพสิ่ง ณ ที่นี้ เกิดตรงนี้แล้วก็ดับอยู่ตรงนี้ เกิดที่นี้แล้วก็ดับอยู่ที่นี้ ...มันเป็นคำตอบสุดท้าย...ที่ไม่ต้องการคำตอบ ที่ไม่มีการค้นหาอีกต่อไป

จบหมดที่นี้ ในที่อันเดียว เกิดเท่าไหร่ดับเท่านั้น ที่นี้ ...มากก็ดับตรงนี้ น้อยก็ดับที่นี้ มโหฬาร ใหญ่โตอลังการ ประณีต ละเอียด สุดปราณีตสุดละเอียด ก็ดับที่นี้ 

ตรงนี้ ที่นี้น่ะมันยิ่งกว่าหลุมดำอีก คือความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรอยู่ได้เลย ...ทุกอย่างมันจบลงที่...ดับไปเป็นธรรมดา

ปัญหาไม่เกิด เกิดไม่ได้แล้ว เกิดเท่าไหนก็ดับเท่านั้น นานก็ดับ น้อยก็ดับ มากก็ดับ ไม่เห็นมีอะไรไม่ดับ ตรงนี้ ...ถ้าอยู่ตรงนี้มันจะเห็นความดับไปอยู่ตลอด นั่นแหละมันเกิดความลึกซึ้งอยู่ในที่นี้

จนถึงอนัตตา  จนเข้าถึงสุญญตธรรม ถึงตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าเป็นสุญญตาราม ...ไม่ใช่วัด ไม่ใช่สำนัก สุญญตารามอยู่ตรงนี้ เหมือนเป็นอารามที่ไม่มีผู้ครอบครอง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

แต่ทั้งสากลจักรวาลสามารถใส่ตรงลงไปได้ในนี้ ได้หมด ...ห็นมั้ยว่าความไม่มีประมาณ กว้างมหาศาล อนันตาจักรวาลใส่ลงไปในนี้ยังไม่เต็มเลย  นี่ เรียกว่าธรรมไม่มีประมาณ ใจไม่มีประมาณ 

อัปปมาโน พุทโธ อัปปมาโน ธัมโม จิตของสังฆะก็เป็น อัปปมาโน สังโฆ ก็ไม่มีประมาณ อะไรใส่เข้าไปก็รับได้หมดน่ะ ดับหมด ตรงนี้...ดับหมด ตั้งไม่ได้เลย

กลับไปอยู่กับตัวเอง อยู่กับรู้ อยู่กับกาย  อย่าออกนอกรู้ อย่าออกนอกกาย ...อะไรที่นอกกายนอกรู้ ให้รู้ไว้เลยว่าไร้สาระ แล้วต่อไปมันก็จะเห็นกายนี่ไร้สาระด้วย ...ก็ไม่เข้าไปจับจองในความปรากฏขึ้นแห่งกายในปัจจุบัน

เพราะนั้นในขณะปัจจุบันของกายที่ปรากฏในขณะนี้ อาจจะทุกข์บ้างสุขบ้าง เป็นธรรมดา เรียนรู้ไป จนถึงความดับไปของสุขนั้นทุกข์นั้นแห่งกายที่ปรากฏในปัจจุบัน  ร้อน อ่อน แข็ง บางทีก็พอใจ บางทีก็ไม่พอใจ...ชั่งมัน 

มันมีความหมายมั่นเป็นเรา ของเรา ในสิ่งที่ปรากฏ...ชั่งมัน  ยังเป็นทุกข์กับมัน...ชั่งมัน ... เดี๋ยวก็เห็นเองน่ะ ต่อไปกายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ในปัจจุบันก็เป็นแค่ชั่วคราว ไม่เป็นสาระเช่นเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะอยู่กับปัจจุบัน ก็ต้องละอดีต-อนาคต ซึ่งมันไม่มีสาระ นี่ง่ายๆ เลย มันจะเห็นชัดเจนเลยว่าอดีต-อนาคตน่ะ...ไม่มีสาระ ชัดเจนในความไม่มี ไม่มีสาระ

และก็ยึดกับปัจจุบันไว้ ตั้งมั่นกับกายปัจจุบันไว้ก่อน ...แล้วมันจึงจะเห็นกายปัจจุบันก็ไม่มีสาระ มันก็จะทิ้งกาย ...เมื่อมันทิ้งกายมันก็ทิ้งใจได้ ทิ้งผู้รู้ผู้เห็นไปในที่สุด 

ไม่เหลืออะไรให้ทิ้งอีกแล้ว คือมันทิ้งหมดแล้ว มันละหมดแล้ว ...กายก็ละ ใจก็ละ ความเป็นใจดวงเดียวที่เป็นผู้รู้ก็ละ มันละหมดแล้ว ทิ้งหมดแล้ว ...มันก็จบ

เบื้องต้น...ทิ้งอดีตทิ้งอนาคต ทิ้งอะไรที่นอกเหนือปัจจุบันกาย ปัจจุบันจิต ปัจจุบันรู้ซะ ...ทิ้งก่อน หยาบๆ ทิ้งข้าวของหยาบๆ ทิ้งอารมณ์หยาบๆ ทิ้งวัตถุ ทิ้งรูปนามหยาบๆ ภายนอก 

นี่หยาบมาก อย่าไปข้อง อย่าไปเกี่ยว อย่าไปแวะ ...ก็ให้เหลือกายใจปัจจุบัน กับรูปละเอียด อยู่ในขันธ์ของตัวเอง ...อย่าไปเสียดายวัตถุข้าวของ อย่าไปเสียดายกิเลสคนรอบข้าง 

ความพอใจ ความเสียใจ หรือเรื่องราวที่เขาพยายามจะยัดเยียดให้เราเข้าไปมีเข้าไปเป็น หรือเขาไม่ยัดเยียดเราก็พยายามแส่ออกไปมีไปเป็น ...นี่ ก็ต้องละ ภายนอกหยาบๆ ออกไป 

เพราะมันจะเนิ่นช้า เสียเวลา  มันจะเป็นบ่วง มันจะดึง ...เสียเวลาในการทำความรอบรู้ปัจจุบันกาย ปัจจุบันขันธ์ ปัจจุบันใจ ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม

กว่ามันจะรอบรู้ในขันธ์ห้าจนแจ้งนี่ ...คือถ้าพระพุทธเจ้าท่านพูดน่ะ 7 ปี  เลวสุด ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะรอบรู้ทุกอณูธาตุอณูธรรม ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา ...ด้วยเอกายนมรรคนี่ อย่างเลวที่สุด 7 ปี 

ถ้าขยันขันแข็ง 7 เดือน 7 วัน ...ขนาดว่าเร็วสุดก็ยังต้อง 7 วัน  ไม่ใช่ชั่วลัดนิ้วมือนะ  ... 7 วันนี่หมายความว่ามหาสติปัฏฐานเลย ดำรงมหาสติปัฏฐานเลย ไม่เกิน 7 วัน เร็วสุดแล้ว 

ถ้าใครเข้าถึงมหาสติมหาศีล 7 วัน ...ถ้าเผลอๆ เพลินๆ ก็ 7 เดือน ถ้าขาดตกบกพร่อง  พอ 7 เดือนแล้วมันก็จะเติมเต็มจนเป็นมหาสติ แล้วก็ 7 วันสุดท้าย ...มันเป็นอย่างนี้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดนี่ไม่เกินจริงเลย 

มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ...แต่คนทำนี่ไม่ทำตามเอง มันมีข้ออ้าง มันมีความคิดเห็น มันมีความเชื่อ ทำให้ออกนอกมรรค ออกนอกศีล ออกนอกสมาธิ ออกนอกปัญญา ออกนอกสัมมาทิฏฐิ

มันรู้เกินจริง ...มันเลยไปทำเกินจริงหมด มันไปอยากได้อยากมีเกินจริง มันอยากเห็นอยากเป็นสภาวะเกินจริงหมด ...มันก็เลยหลายชาติซะอย่างงั้น

เพราะนั้นน่ะ หลับตาพุทโธๆๆ ก็ 7 ชาติ...อย่างน้อย 7 ชาติ กว่ามันจะหวนคืนมาลงกายใจปัจจุบัน 

เพราะนั้นว่าท่านทั้งหลายที่ทำมานี่ ท่านทำมาอย่างนี้หลายชาติแล้ว มันมาสงเคราะห์รวมกัน ปึ้งเดียว นี่ ...เวลาท่านสอน ท่านก็เลยสอนให้เราตามต่อไป ...แล้วเราก็ตามไป 7 ชาติ หลายชาติ อย่างนี้

แต่ถ้าเอกายนมรรคอย่างที่พูด 7 เดือน 7 ปี ...เอกายนมรรค คือศีลสมาธิปัญญา  

ที่เป็นหัวใจของศีลคือกาย ปกติกาย ...หัวใจของสมาธิคือจิตตั้งมั่น ไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่ปีติ ...ปัญญาญาณคือรู้เห็นด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่ด้วยคิด ไม่ใช่ด้วยจำ ...อย่างนี้ เอกายนมรรค

ไม่ใช่แค่สติรู้เฉยๆ เข้าใจมั้ย ...มันต้องอยู่ในกระบวนการภายใต้ ศีล สมาธิ ปัญญา ...แล้วมีสติเป็นแม่แบบควบคุม

ดูจิตๆ น่ะมันไม่ค่อยรอดหรอก บอกให้ ไม่รอด ...เมื่อกี้ที่มาก็ร้องไห้เพราะดูจิตนี่แหละ ฟังไปฟังมาก็น้ำตาไหล รู้เลยว่าโหด ...ก็กลับมานับหนึ่งใหม่ เริ่มต้น พื้นฐานเลย

พื้นฐานคือรากฐานนะ ...กายคือราก กายคือฐาน คือปกติ  คือความปกตินี่แหละ เป็นรากเป็นฐานของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...คือธรรมดา คือธรรมชาติ คือปกติ คือสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน อันเดียวกัน

ไม่เกินจริง ไม่เกินปัจจุบัน ไม่เกินธรรมดานี้ ไม่เกินปกตินี้ ไม่เกินเท่าที่ปรากฏตรงนี้ ... เนี่ย ดูสิ พวกเราพอเริ่มปฏิบัติปุ๊บ ...มันเกินหมดเลย

เพราะนั้นถ้าได้ในสิ่งที่เกิน  สมมุติว่าได้...ดีใจ ใครดีใจ...กูน่ะ เราน่ะ  สมมุติว่าไม่ได้ ใครเสียใจ...ก็กูหรือเราอีกน่ะแหละ  เห็นมั้ย ทั้งขึ้นทั้งล่องนะ

มันก้าวหน้าไปไหนล่ะ ...ไม่ไปไหน อยู่ตรงนี้แหละ และกำลังหาอะไรมาเสพมาข้อง...โดยใส่สมมุติบัญญัติว่าปฏิบัติ นี่ ปฏิบัติอยู่นะ กำลังปฏิบัติ...วงเล็บ...ตามความอยาก

เห็นมั้ย มันแอบจนไม่กล้าที่จะกระชากหน้ากากของตัวมันเอง

เพราะนั้นธรรมมันอยู่ใกล้เนื้อใกล้ตัวจนเกิน เกินจนมองข้าม เกินจนต้องไปหามาเพิ่มน่ะ ...มันใกล้เกินไป จนข้ามไปซะ จนต้องไปหาอะไรมาปิดบังเพิ่มอีก

เหมือนหาหน้ากากมาใส่ ไปหาหน้ากากมา  จะเอาหน้ากากยังไงล่ะ หน้ากากยักษ์ หน้ากากเทวดา หน้ากากพระ หน้ากากมรรคผลนิพพาน มันก็หน้ากากทั้งนั้น 

แล้วไม่ยอมกระชากหน้ากากออก ...กลัว กลัวความจริง กลัวเห็นความเป็นจริง กลัวจะไม่มีหน้ากากไว้อวด ...เพราะนั้นการที่กลับมารู้ปกติ เห็นปกติกาย นี่คือกระชากหน้ากาก ความคิดความเห็น สมมุติบัญญัติ 

เอาออก คลี่ออก คลายออกๆ ...ก็จะเห็นเนื้อแท้ธรรมแท้ เนื้อแท้ของกายก็คือธรรมดา เนื้อแท้ของกายก็คือธรรมชาติที่ปรากฏตามจริง

แต่ถ้าเผลอเพลินปุ๊บมันก็จะไป  จิตน่ะ สันดานมันจะไปหาหน้ากากมาปิด ...หน้ากากใหญ่เลยคือ “เรา” ที่มันทาบทากัน ...พอมีหน้ากากเป็น "เรา" แล้ว มันก็จะมีต่อเติมเสริมแต่งไป

นอกนั้นก็เป็น อายไลเนอร์ ลิปสติก เครื่องปรุงแต่งทั้งหลาย คือสวย งาม ดี ร้าย ถูก ผิด อะไรทั้งหลาย ...ก็แต่งเติมกันต่อไป แต่หน้ากากใหญ่คือ “เรา”

กระชากออก...ด้วยสติสมาธิปัญญา หยั่งดูด้วยความปกติกาย เห็นความเป็นปกติกาย ซ้ำซากลงไป ...นี้เป็นธรรม กายนี้เป็นธรรม ...กายนี้ไม่ใช่เรา ตัวนี้ไม่ใช่เรา ตัวนี้เป็นธรรมดาอันหนึ่ง 

ตัวนี้เป็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปมาอันหนึ่ง...ไม่ใช่ตัวเรา  แต่เป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เสมอ เป็นก้อนอะไรที่มันแปรปรวนไปมา...ไม่ใช่ตัวเรา

การที่รู้ตัวเพื่อให้เห็นว่า “ตัว” นี้เป็นอะไรกันแน่ ...ให้มันเห็นลงไป ให้มันรู้ลงไป ด้วยความเป็นกลาง นั่นแหละ


.............................