วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/8 (2)



พระอาจารย์

8/8 (550604B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)


4 มิถุนายน 2555



 ช่วง 2 

(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 8/8 ช่วง 1



พระอาจารย์ –   ถ้าเผลอ...ออกจากสติสมาธิปัญญาเมื่อไหร่นะ ก็เป็น "เรา" อีกแล้ว เดี๋ยวก็เป็นเรานั่งอีกแล้ว  พอถามว่าใครนั่ง ...'เราอ่ะ ถ้าไม่ใช่เราแล้วจะเป็นใครล่ะ' ...จิตน่ะ มันไม่ยอมง่ายๆ หรอก 

แต่ถ้าเราคร่ำเคร่ง สม่ำเสมอ ในการสอดส่องด้วยสติสมาธิปัญญา...ให้เห็นกายตามความเป็นจริง บ่อยๆ  มีศีลต่อเนื่องไป รักษาความปกติกาย ดูความเป็นปกติกาย เห็นความเป็นปกติกาย ด้วยจิตด้วยใจที่เป็นกลาง บ่อยๆ ไป 

ไอ้ความคิดความเชื่อแบบเหมาเอา ไม่มีเหตุไม่มีผล อยู่ดีๆ เอะอะอะไรก็เป็นเรา แขนเรา หน้าเรา ผมเรา ...มันก็ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าอย่างนี้เป็นเราของเราแล้ว  ก็เป็นมัน เป็นของมัน เป็นเรื่องของมัน เป็นขันธ์

จริงๆ มันก็ไม่มีภาษาพูดหรอกว่า เป็นขันธ์หรือเป็นมัน ... แต่เป็นความรู้สึกน่ะ มันจะเป็นความรู้สึกว่า เป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องของใคร หรือเป็นอะไรๆ อย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ด้วยความเป็นกลาง ดับไปด้วยความพอดี อย่างนี้ ไม่ใช่ธุระของใคร ไม่ใช่ภาระของใคร 

มันจะถ่ายถอนออกจากความรู้ความเห็นผิดๆ ท่านเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกาย  มันก็เกิดความรู้ที่ถูกที่ต้องที่ตรง ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิในกาย 

เพราะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิไม่ได้เกิดจากคิดๆ นึกๆ จำๆ...ไม่ใช่  ...  ต้องลงมือปฏิบัติ ด้วยสติ ศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา มันจึงจะเกิดญาณทัสสนะที่แจ่มชัด แล้วยอมรับตามความเป็นจริง

แต่เห็นความจริงแล้ว ...ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วมันจะยอมรับง่ายๆ  มันไม่ยอมหรอก ... จิตน่ะ มันดื้อ มันไม่ยอมง่ายๆ หรอก  

เพราะอะไร ...เพราะเราใช้มัน เชื่อมันมานี่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน  อเนกชาติ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์เลยเพราะมันรันนิ่งไม่ทันแล้ว ...มันใช้อย่างนั้นน่ะนามนมเนแล้ว 

การที่จะรู้ครั้งเดียวเห็นความเป็นจริงครั้งเดียวแล้วมันจะออก...ไม่มีทางหรอก  

ตรงนี้สำคัญ ...สำคัญยังไง ...คือความเพียรของพวกเรามันน้อย เห็นป๊อบๆ แป๊บๆ ก็ว่า'ไม่เอาแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย ผลไม่เกิดเลย' ...เหมือนนั่งรอ แบมือขออยู่อย่างนั้นน่ะ 

ก็ไม่ทำงาน เมื่อไหร่มันจะได้เงินล่ะๆ มันจะได้ยังไง ... ไปทำงานเป็นขอทานอยู่ เออ มันก็คงได้รวยสักวันนึงมั้ง ยังเงี้ย  มันไม่ทำ ...ถ้าไม่ทำ ไม่มีทางได้ 

คือว่านิสัยน่ะมันมักง่ายไง จะเอาเร็วๆ ...แต่ความเพียรไม่มีอ่ะ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่มี  แล้วมันจะไปลบล้างความเห็นผิด ความรู้ผิดๆ มิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร ... แล้วจิตนั่นเองแหละมันก็เลยบอกว่า 'ไม่ทำดีกว่า ไปทำงานดีกว่า ปล่อยเล่น ปล่อยเพลินดีกว่า' 

นั่น ถึงบอกแล้วไงว่า...โลกนี้ไม่มีหมดสิ้นไปจากสัตว์มนุษย์หรอก ตราบใดที่มันอยู่ในอำนาจของจิตผู้ไม่รู้นี่ ...ไม่มีการขวนขวายดิ้นรนในองค์มรรค ในสติศีลสมาธิปัญญา


อย่าไปมองว่าเป็นของยาก อย่าไปคิดว่าเป็นของยาก ...ถ้าคิดว่าเป็นของยาก มันจะขี้เกียจ ...คิดว่ารู้ง่ายๆ รู้สบายๆ รู้ไปเรื่อยๆ  ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้  แต่ไม่ทิ้งรู้ ไม่ทิ้งสติ ไม่ทิ้งสมาธิ ไม่ทิ้งที่จะอยู่ที่กายใจนี้  แค่นั้นแหละทำไป ไม่ให้ขาด ไม่ให้หลงลืม ขาดออกจากกาย ขาดออกจากศีล...ปกติกายนี่

ความขยันหมั่นเพียร มันก็จะเก็บเกี่ยวผลไปเป็นระยะๆ ...อันนั้นแหละแด่น้องผู้หิวโหย คือมันได้กินนิดๆ หน่อยๆ  มันก็ อู้หู มีกำลังใจขึ้น มากขึ้นแล้ว ...ในตัวของมันเองมันก็ได้ผลน่ะ คือบางทีก็แว๊บๆ พอเห็นว่ามันเป็นก้อน เป็นแท่งอะไรก็ไม่รู้ ...ดีใจใหญ่นะ ดีใจมากๆ  แล้วก็หายไป ...เราอีกแล้วว่ะ 

นั่น มันยังพอมีให้เห็นใช่มั้ย  เริ่มพอเห็นว่ามันเป็นก้อนๆ แท่งๆ ... บางทีมันไปเห็นอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ได้ ... เออ มันไม่ใช่บังเอิญนะ เป็นผลของการเจริญสติสมาธิปัญญา ...แต่ผลของมันน้อย เป็นแว๊บๆ แว๊บๆ  พอให้เป็นกระสัย ให้เกิดความกระสัน...ในองค์มรรค...มันก็เกิดความขยันขึ้น

แล้วจากนั้นไปมันก็จะเห็นบ่อยขึ้นๆ ...บางทีตื่นนอนขึ้นมาส่องกระจก ตกใจ..ใครวะ จำหน้าตัวเองไม่ได้  คือมันลืมไปเลย ว่าหน้าใคร  เพราะมัวแต่ดูยืนเดินนั่งนอนร้อนอ่อนแข็ง ลืมรูปตัวเองไปเลย ลืมหน้าตัวเองในกระจกน่ะ ...บางครั้งมันก็เป็นอย่างนั้นก็ได้ 

แล้วไอ้อาการเห็นพวกนี้ มันก็จะเป็นกระสัยให้เกิดกระสันในองค์มรรค ...แล้วความชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริงก็ชัดขึ้นตามลำดับลำดา

แล้วเมื่อใดที่มันชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริงมากขึ้นตามลำดับแล้วนี่ มันจะรู้สึกตามหลังมา หรือรู้สึกในขณะนั้นเองว่า ทุกข์จะน้อยลง ภาระก็น้อยลง การขวนขวายในกายก็น้อยลง 

แต่ก่อนเคย...จะออกจากบ้านนี่ต้องโบ๊ะหน้าก่อน ถ้าไม่โบ๊ะแล้วไปไม่เป็นอ่ะ  ถ้าไม่ทาลิป ทาคิ้ว ทาหน้า มันเดินไปแล้วขามันขวิดน่ะ 

จากนั้นไป บางทีมันก็ไปแบบ เออ ไม่ได้คิดไม่ได้นึกอะไร ไม่ได้สนใจใส่ใจกับความสวยความงามในร่างกายสักเท่าไหร่  ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ ใครจะดีใครจะร้าย ใครจะชมใครจะติ ...ก็งั้นๆ น่ะ  มันจะรู้สึกอย่างนี้ แล้วมันก็สบายดีว่ะ 

แต่ก่อนต้องเอาธุระกับมันเหลือเกิน ต้องคอยแต่งเติมเสริมประดับประดาให้มัน ต้องคอยบำรุงบำเรอให้มันดูดี  ไม่งั้นถ้าได้ทำไม่ดีกับคนอื่นแล้วมันเศร้าหมอง อะไรอย่างนี้ ...ก็จะรู้สึกว่าวางๆ มันได้  เพราะไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระหรือธุระอะไรของเรา เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา  อย่างเงี้ย คือผล ...ผลมันก็จะเป็นอย่างนี้  ก็ปล่อย ก็วางไปเรื่อยๆ จนปล่อยให้มันต่างคนต่างอยู่ 

นี่แหละ คือที่พระพุทธเจ้าต้องการให้ผู้ปฏิบัติทุกคนมาเห็นความเป็นจริง คือความเป็นจริงอย่างนี้  มันไม่ใช่เป็นความเป็นจริงที่มันลึกลับซับซ้อนซ่อนอยู่ในแผ่นฟ้าแผ่นดินหรือจักรวาลขอบจักรวาล ที่ต้องไปวิ่งตามค้นหาอะไรกัน ...มันอยู่ตรงนี้แหละ ความเป็นจริงน่ะ

แต่ตลอดวันของพวกเราน่ะ มันไม่เคยอยู่กับความจริงตรงนี้เลย ... มันไปอยู่กับสิ่งที่ไม่จริง คือความคิดมั่ง เรื่องราวในอดีตในอนาคตมั่ง เรื่องที่ยังไม่เกิดบ้าง เรื่องที่คาดเรื่องที่เดาบ้าง เรื่องการแสดงกิริยาอารมณ์ของผู้อื่นบ้าง เรื่องที่เราจะทำยังไง เราจะได้อย่างไร จะมีความสุขอย่างไร จะมีความทุกข์อย่างไร พรุ่งนี้จะทำอะไร วันนี้จะทำอะไร 

มันมีแต่ว่า "เดี๋ยวจะทำอะไรๆๆ"  แต่มันไม่รู้ว่าตอนนี้มันกำลังทำอะไร ... คือมันรู้แต่ว่าเดี๋ยวจะทำอะไรๆ นี่ มันไปข้างหน้าอยู่ตลอด  ... ทำไมมันไม่รู้ว่า...ไอ้ตัวที่ว่า เดี๋ยวจะทำอะไร” มันอยู่ไหนน่ะ  คือตัวที่มันนั่งอยู่ กำลังคิดอยู่ กำลังนึกอยู่ มันอะไรอยู่ตรงนี้น่ะ เนี่ย

เพราะนั้นพยายามกลับมาอยู่กับความเป็นจริง คือกายปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน  ดวงจิตให้รู้อยู่ในปัจจุบัน คือการดึงเอาไว้ น้อมเอาไว้ หยั่งเอาไว้ ... หยั่งไว้ๆ หยั่งลงที่กาย หยั่งลงที่ความรู้สึกในกาย หยั่งไว้ในความรู้สึกที่รู้ว่ามีกายอยู่  อยู่แค่นี้ บ่อยๆ เติมลงไปหน่อย ...นี่เรียกว่าเป็นการภาวนาในชีวิตประจำวัน

เราถือว่าถ้าภาวนาในชีวิตปกติประจำวันอย่างนี้...แค่ยืน เดินไปเดินมา ทำอะไรไป หยิบจับฉวยอะไร แล้วมีความรู้เนื้อรู้ตัวในขณะหยิบจับฉวยนั่น  เราบอกว่ายังมีคุณค่าสมกับเป็นผู้ปฏิบัติ มากกว่ามานั่งหลับ..พุทโธๆๆ โธ่โว้ย หลับอีกแล้วกู ...โธ่มาหลายปีแล้ว ไม่ไปไหน  พอได้พุทโธไปไม่เกินสามคำ..หลับ ...มันเหมือนกับอัตโนมัติเลย เป็นยังงี้

ถึงบอกว่า...ถ้าเราไปติดกับรูปแบบของการภาวนา เราจะละเลยรูปแบบที่แท้จริง ... แล้วอะไรคือรูปแบบที่แท้จริง...กาย  นี่ มันเป็นฟอร์ม มันเป็นโมเดลของการปฏิบัติ หรือว่าวิถีการปฏิบัติ ...ก็คือกายนั่นแหละคือรูปแบบการปฏิบัติที่แท้จริง หนีไม่ได้เลยน่ะ 

ทุกคนมีรูปแบบอยู่แล้ว  ยืน เดิน นั่ง นอน...เป็นรูปแบบของการปฏิบัติ  คือกายมันยืน กายมันเดิน นั่นแหละคือวิถีการปฏิบัติ ... ไม่ใช่ว่ามานั่งสมาธิแล้วก็หลับตาเรียกว่าเป็นการปฏิบัติ 

ตัวกายนั่นแหละคือตัวผู้ปฏิบัติ มันเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติในตัวของมันเอง  เพียงแต่ว่าเราเอาสติไปเติม...คือระลึกแล้วก็รู้ลงในปัจจุบันของกายที่ปรากฏ  นั่นแหละคืออยู่ในรูปแบบของการปฏิบัติแล้ว

เพราะนั้นกายมันมีตลอดเวลา การปฏิบัติจึงต้องมีตลอดเวลา หนีจากรูปแบบของกายไม่ได้ หนีจากการปฏิบัติไม่ได้  เพราะยังไงก็ต้องมีกาย...จนตาย  เห็นมั้ย มันเป็นรูปแบบที่มีอยู่แล้ว 

ไม่ต้องไปเอารูปแบบมาสร้างรูปแบบใหม่  เพราะไปๆ มาๆ เลยไปติดรูปแบบใหม่มากกว่ารูปแบบที่แท้จริงคือกาย  อย่างพอออกจากสมาธิ พอออกจากการเดินจงกรมปั๊บ หลงเลย ปล่อยเลย ไม่รู้ไม่ชี้ๆ ...เหมือนเดิมเลยแหละ เป็นคนโง่เหมือนเดิมเลย ไม่ระลึกรู้ต่อเนื่องไป เนี่ย สติไม่ไปตามนะ ...เสียเวลา

ก็พยายามรักษากายใจไว้ สม่ำเสมอ ...จะนั่งสมาธิ จะออกจากสมาธิ ให้เหมือนกัน...ต้องให้เหมือนกัน... ระหว่างนั่ง ก่อนนั่ง หลังนั่ง เหมือนกัน  สติเท่ากัน สมาธิเท่ากัน มีความตั้งใจเท่ากัน  ไม่มีการลาออกขอพักผ่อน ไม่มีการไทมเอาท์ขอเวลานอก...ไม่มี  

ก่อนนั่ง...ระหว่างนั่ง...หลังนั่ง...เหมือนกัน  ก็ยังรู้อยู่...ก็ยังเห็นอยู่ๆ  นี่คือผู้ภาวนาที่แท้จริง  นี่มันจึงพอที่จะไปชำระขัดเกลาความเห็นผิด ความเชื่อผิดๆ ความรู้ผิดๆ ที่เข้าไปให้ค่าให้ราคา...กับกาย กับใจ กับขันธ์ กับโลก 

เหมือนอย่างกับรถ มันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นรถ ... ซึ่งความจริงไม่มี "รถ" นะ มีแต่อะไรตั้งอยู่ ...แต่คนเรามันบอกว่า "รถ...ยี่ห้อนั้นๆ...ของเรา"  เห็นมั้ย มันมีกี่ระนาบเข้าไปแล้ว  ทั้งที่ความเป็นจริงมันมีแค่นี้ มีแค่สิ่งหนึ่งตั้งอยู่ ... อันไหนจริง อันไหนไม่จริง ...แยกไม่ออกเลย 

แล้วไม่เคยจะแยกด้วย นี่ สำคัญ ....คือมันรู้น่ะ รู้น่ะรู้ มันอ่านมา มันจำมา  แต่ในความเป็นจริงมันไม่แยกอ่ะ มันไม่มีภาคปฏิบัติเข้าไปแยกจริงๆ วิเคราะห์ สอดส่องลงไปในสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปนี้ ว่ารูปนี้คือใคร รูปนี้เป็นของใคร รูปนี้มีความหมายอย่างไร หรือไม่มีความหมายแต่ประการใด 

เนี่ย มันต้องเข้าไปวิจัย...วิจัยด้วยธัมมวิจยะ  คือแยกๆๆๆ จนเห็นว่า 'อ๋อ ความเป็นจริงมันมีแค่นี้' อย่างนี้ ...คือตลอดชีวิตประจำวัน เราจะต้องทำความจำแนกแยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ แยกผัสสะ แยกกาย แยกใจ แยกจิต แยกความคิด แยกความเห็น แยกความจริง แยกความไม่จริง 

จนเห็นแต่ความจริงล้วนๆ จนเข้าถึงความจริงล้วนๆ ... ไม่มีอะไรที่ไม่จริงอยู่ได้  มันกระจัดกระจายไปหมดไอ้สิ่งที่มันไม่จริงน่ะ ...แล้วมันจะรู้เลยว่าความไม่จริงอยู่ที่ไหน เกิดจากไหน แล้วจะละอย่างไร จะออกอย่างไร 

นั่นแหละ เขาเรียกว่าผู้ที่ชำนาญการในองค์มรรคหรือผู้มีปัญญาสูง หรือผู้มีญาณทัสสนะที่แจ่มใส ...เรียกยังไงก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นพระอริยะก็ได้  ทั้งหมดเป็นสมมุติภาษา จะเรียกอะไรก็ได้ ...แต่จริงๆ น่ะคือท่านเห็นแล้วแยกออกหมด ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ  และเท็จเมื่อไหร่ไม่เอา ไม่เชื่อด้วย เชื่อแต่ความจริง รับแต่ความจริง

เพราะนั้น ตัวที่จะเข้าไปจำแนกในเบื้องต้นนี่ต้องฝึก และต้องฝึกให้มาก ก็คือตัวนี้...คือกาย เป็นเบื้องต้น เริ่มจากนี้ไป  แล้วถ้าแยกกายออกจากใจ แยกกิเลสออกจากใจ แยกความคิด แยกความเห็น แยกการให้ค่าให้ราคาออกจากกายได้แล้วนี่  มันแยกออกได้หมด มันเป็นวิชาเดียวกัน 

คือไม่ต้องลงหลายคาบเข้าใจมั้ย คาบเดียวครอบจักรวาล วิชาเดียววิชาพระพุทธเจ้านี่ ง่ายจะตาย เห็นมั้ย  อย่างพวกเราเรียนตั้งหลายแขนงจบตั้งหลายสาขา ทำไมมันคุยกันไม่รู้เรื่อง เนี่ย เรียนวิชาเดียวนี่...จบ 

เพราะมีวิชาเดียวคือวิชาธรรมชาติ  มันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมอันเดียวกัน ... ถ้าเรียนรู้เรื่องกายจบนี่ ทุกอย่างเข้าใจ เข้าใจแล้ว ...ก็คือรู้สมมุติว่ากายได้  ทุกอย่างก็เป็นเรื่องเดียวกันกับกายเลย ... แม้แต่รถนี่ ฟ้า ลม ฝน อากาศ สัตว์บุคคลอื่น หรืออารมณ์ นามที่จับต้องไม่ได้ ...มันก็คือสิ่งหนึ่งที่ปรากฏ เป็นเช่นเดียวกัน

นั่นแหละ มีค่าเท่านั้น มีค่าแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ...ก็ไอ้สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ มันปรากฏขึ้นนี่...ไม่ได้ปรากฏพร้อมป้ายราคา ใช่ป่าว ... ไอ้ป้ายราคาที่เข้าไปติดนั่นก็คือ....จิตเข้าไปให้ค่าในสิ่งนั้น แต่ถ้าดูด้วยความเป็นกลางจริงๆ น่ะ มันแยกออก มันจะแยกออก 

เหมือนกาย...ที่เข้าใจแล้ว ว่ากายปกติกายคือแค่เนี้ย มันไม่ได้มีค่ามีราคาในตัวของมันแต่ประการใด มันไม่ได้บ่งบอกอัตตลักษณ์ตัวตนของมันเลยว่ามันคือใคร มันเป็นใคร มันเป็นของใคร มันเกิดมาเพื่ออะไร มันดับไปเพื่ออะไร มันตั้งไปเพื่ออะไร ไม่มีคำพูดอะไร ไม่มีเป้าประสงค์ใดๆ ในตัวของมันเลย

มันตั้งอยู่ด้วยสภาวะเป็นสูญ คือสุญญตา หรือว่าสุญญธาตุ หรือสุญญธรรม หรือสุญญวิมุติ  นี่ถ้ามันจำแนกตรงนี้ออก เห็นถึงความเป็นสุญญวิมุติหรือสุญญตานี่  สามโลกธาตุเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ...เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ หรือธรรมหนึ่งที่ปรากฏ หรือปรากฏการณ์หนึ่ง หรืออาการหนึ่ง หรืออะไรๆ สักอย่างหนึ่ง หรือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

จิตผู้ไม่รู้มันมาเห็นว่าเป็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ...เป็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนี่ย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ... ไอ้จิตผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไอ้จิตผู้ไม่รู้ไม่เห็น มันจะรู้เลยในตัวมันว่า... 'แล้วกูจะไปเอามันทำไม กูจะไปครอบครองอะไร' 

นี่ ไอ้จิตที่มันเคยอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเอามา อยากถือไว้นานๆ อยากหาให้มันมากๆ ขึ้น อะไรก็ตาม หรืออยากให้มันหมดไปเร็วๆ ก็ตาม ...มันก็บอกว่ามันจะไปอะไรกับสิ่งหนึ่งที่ปรากฏแล้วดับไปเป็นธรรมดาอย่างไร

ถึงมันโง่ขนาดไหน เมื่อมันเห็นความเป็นจริงตรงนี้แล้วนี่ หายโง่เลยแหละ  หายบ้าด้วย หายเมาด้วย ... มันคลายออกจากจิตผู้ไม่รู้...เป็นผู้รู้ผู้เห็นอย่างเดียวแล้ว  ไม่ได้อยู่ด้วยจิตผู้หลง ผู้ไปผู้มา 

มันอยู่กับรู้กับเห็นแล้วก็เข้าใจซึมซาบความเป็นจริงต่อเนื่องเลยว่า 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ .. ภาวะโลก ภาวะธรรม หรือธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ  ตถตา...ทุกอย่างมันเป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก'

ไอ้ที่เป็นอย่างอื่นน่ะ จิตว่าเอานะ จิตผู้ไม่รู้น่ะมันคาดเอาเอง ...แต่ถ้ามันเห็นด้วยความเป็นกลางจนถึงที่สุดแล้ว 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย' ...ไม่มีอะไรมาทำให้มันเป็นอย่างอื่นได้เลย 

นี่คือกฎธรรมชาติ ... ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ...อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎธรรมชาติเดียวกัน คือไตรลักษณ์ ...มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เป็นธรรมดา แล้วดับไปเป็นธรรมดา...ก็แค่นั้นน่ะ

ถ้าจิตผู้ไม่รู้มันมาเห็นความเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งแค่นี้  มันก็จะถอดถอนจากความหมายมั่น จากอุปาทาน จากความอยาก จากความไม่อยาก ในอะไรก็ไม่รู้ที่เกิดๆ ดับๆ

ผู้ปฏิบัติ ...ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะเข้าไปเห็น หรือเกิดปัญญาเช่นนี้ ...จนถึงที่สุด คือไม่เหลือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้หมายมั่นอีกต่อไป...แม้แต่อณูเดียว เอาอย่างนั้นเลย  มันจะตั้งขึ้นไม่ได้ หาความเที่ยงไม่ได้เลย มีความดับไปเสมอกัน

เมื่อจิตผู้ไม่รู้มันเห็นว่าในสรรพสิ่งตลอดสามโลกธาตุนี่ ไม่มีที่ใดที่หมายได้เลยแม้แต่จุดหนึ่ง อณูหนึ่ง ...มันจะไปตั้งภพตั้งชาติกับตรงนั้นได้อย่างไร มันจะไปเกิดกับสิ่งนั้นได้อย่างไร ... นั่นแหละ คราวนี้ถึงเรียกว่าหมดที่เกิดแล้ว มันหมดที่ให้เกิดแล้ว 

แต่ถ้ามันยังมีที่...แปลว่าต้องมีการเข้าไปจับจอง  แต่ถ้ามันไม่มีที่แล้ว หมายความว่ามันหมด...ไม่มีที่จะไปเกิดแล้ว  เพราะไม่เห็นว่าตรงไหนเป็นที่ที่มันมีที่ตั้งได้เลยน่ะ ...จิตมันจะไปเกิดกับอะไรดีล่ะ มันมีแต่ว่างๆ อนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

เมื่อมันเห็นอย่างนั้นแล้ว มันเลยตัดสินใจในตัวของมันเอง “กูตายซะดีกว่า”   ...จิตเลยตาย จิตผู้ไม่รู้น่ะตาย  เพราะมันหมดหน้าที่น่ะ เพราะมันหาที่ไม่เจอแล้วไง เพราะมันไม่รู้จะหาที่ไหนๆ ให้มันเกิด  มันจะอยู่ได้อย่างไร ตายลูกเดียว ...นั่นแหละ หมดจด หมดสิ้น ซึ่งการเกิดอีกต่อไป เพราะมันหาที่เกิดอีกไม่เจอ


แต่ถ้าเป็นพวกเรานี่คือ...ที่ในโลกนี่เยอะแยะเลย มันว่างๆ ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวจับจองแล้วๆ เห็นมั้ย เข้าไปเป็นเจ้าของ "ของเราๆๆๆ"  เข้าไปครอบครอง เข้าไปถือกรรมสิทธิ์แล้ว ... ตราบใดที่ยังมีที่นี่ การเกิด การเข้าไปจับจองนี่ ไม่จบไม่สิ้น

เพราะนั้น ทำไมถึงต้องเห็นไตรลักษณ์ ทำไมถึงต้องเห็นความดับไปเป็นธรรมดา ...เพราะถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นความดับไปเป็นธรรมดา แปลว่า มันยังมีที่ให้มันหมายมั่นอยู่ ... และถ้ามันมีที่ให้มันหมายมั่น หมายความว่า ไม่ต้องถามเลยว่ากี่ชาติ...นับไม่ถ้วน การเกิดน่ะ 

แต่ถ้าไม่มีที่ หรือที่น้อยลง หรือที่มันคับแคบ...ที่เกิดน้อยลง ภพชาติน้อยลง ต่อไปก็หาที่เกิดไม่ค่อยได้แล้ว ...ฝึกไป ปฏิบัติไป มันจะรู้เลย จิตมันจะไปหาที่เกิดไม่ค่อยได้แล้ว ไม่รู้จะเกิดกับอะไรดี 

มันไม่รู้จะไปเกิดกับอะไรดี ไม่รู้จะไปเอาเรื่องเอาธุระกับอะไรดี ไม่รู้จะไปมีไปเป็นกับอะไรดี มันรู้สึกว่าไม่มีที่ให้มันไปน่ะ ...มันจะรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ที่เดียว ไปเรื่อยๆ  นั่นแหละ จิตมันจะหดตัวลงไปเรื่อยๆ ด้วยปัญญา ด้วยอำนาจของสติ สมาธิ ที่เป็นสัมมา ...จนขาดสิ้นไปจากใจดวงนี้ 

พอมันขาดสิ้นไปจากใจดวงนี้ ไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มปกคลุมใจมันหมด ... คือใจนี่ เราบอกตั้งแต่ต้นแล้วไงว่ามันเหมือนถูกขังไว้ ถูกพันธนาการ ถูกจองจำไว้ด้วยขันธ์ ๕ นี่ ...เมื่อจิตอวิชชาตัณหาที่มันห่อหุ้มครอบคลุมอยู่มันตาย มันหด  ใจที่เคยถูกขังอยู่ในกรงก็เป็นอิสรภาพ อิสรธรรม ตามความเป็นจริงของใจ ที่เรียกว่าอัปปมาโน ไม่มีประมาณ

แต่เมื่อใดที่ยังไม่เข้าไปเปิดกรงขังใจออก ก็จะเหลือเป็นแค่ดวงจิตผู้รู้อยู่  มันถูกห่อไว้อยู่ในคอก อยู่ในขันธ์  แล้วมันก็มีประตูคือตาหูจมูกฯลฯ มันมีข้องดักไว้อยู่  อะไรเข้าทางหู มันไม่ถึงใจหรอก ถึงข้องก่อน  อะไรเข้าทางตา ไม่ทันถึงใจ ถึงข้องก่อน 

เห็นมั้ย มันติดข้องหมดเลยน่ะ  มีข้องดักไว้ ทางตา ทางหู ฯลฯ  มันเลยยิ่งมาจองจำใจนี่ ให้ติดพันธนาการ หมักหมม เป็นกำแพงเลยน่ะ ดูเหมือนเป็นกำแพงเลย ...ทั้งที่อวิชชานี่มันหาที่จับต้องไม่ได้เลยนะ  แต่ความรู้สึกว่ามันปิดมืดมิดเลย ไม่เห็นใจของเจ้าของได้เลย

เห็นมั้ย กว่าจะล้างออกจากใจได้หมด ...ก็จากกำแพงเหลือเพียงแค่ฟองน้ำ จากฟองน้ำเหลือเป็นแค่ทิชชูบางๆ จนเหลือเป็นเยื่อใยห่อไว้ แล้วก็เป็นแค่พลาสติกใสๆ หุ้มไว้ แล้วก็สลายจางคลายหมด ...อิสรภาพ อิสรธรรม อมตธาตุ อมตธรรม ก็แสดงความเป็นจริงล้วนๆ 

ใจพุทธะ ใจพุทโธ ใจพระพุทธเจ้า ใจเดียวกัน ก็เป็นใจนี้แหละ ... แต่ไม่ใช่ใจเป็นดวงแล้ว  แต่เป็นมหาสุญญตา เป็นอนันตมหาสุญญตา คือไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีรูปทรง ไม่มีที่ตั้ง ไม่หวนคืน 

คือถ้าได้หลุดออกไปอย่างนี้นะ อะไรๆ ก็มาห่อหุ้มกลับมาคืนจองจำอีกไม่ได้แล้ว  นี่เรียกว่าหลุดรอดพ้นจากพญามาร ทั้งมัจจุมาร ขันธมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร กิเลสมาร... หมด ไม่มีทางที่จะมาจับคืนตัว รวมขันธ์ใหม่อีกได้แล้ว 

พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่แหละ ประเสริฐสุด นี่คือสาระสูงสุด ...อุตส่าห์บำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนมหากัป เพื่องานนี้ เพื่อมาสอนให้เข้าถึงนี่ 


แล้วพวกเรายังแค่ไปหยอดตู้ทำบุญอยู่นั่นน่ะ ยังมาชำระค่าน้ำค่าไฟอยู่นั่นแหละ หือ ... มันก็ไม่ผิด แต่ก็ยังไม่ถูก นะ ...แล้วก็ทำให้ถูกซะ ให้รู้ว่ายังมีสาระ มีแก่น

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่ทำบุญ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่ เกิดมารูปสวยรวยทรัพย์ เกิดมามีชื่อมีเสียง มีคนรักมีคนชอบ ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีโรค ไม่มีภัย มีแต่ความสุขความเจริญ ...พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่นี้หรอก 

ถ้าพระพุทธเจ้ายังพูดได้ท่านก็คงบอก 'อุตส่าห์บำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนมหากัป เพื่อให้คนมาหยอดตู้นี่เหรอวะ แล้วกูจะบำเพ็ญมาทำไม' อย่างเนี้ย (หัวเราะ) ...คือจุดเป้าหมายสูงสุดท่านมีกว่านั้นเยอะ  แต่ไอ้พวกเราคนทำนี่มันมักง่ายอ่ะ มันจะเอาแต่อะไรง่ายๆ  ยากไม่เอา ช้าไม่เอา จะเอาเร็วๆ  มันเป็นอย่างเงี้ย

อาศัยความพากความเพียร แล้วก็มีศรัทธาเป็นเครื่องหนุนนำ  ถ้าไม่มีศรัทธาเป็นตัวลากตัวนำนะ มันท้อ มันไปไม่ค่อยรอด ไปไม่ค่อยไหว ...เดินในมรรคนี่ มันเหงาน่ะ หือ เหงานะ อยู่กับกายอยู่กับรู้นี่มันเหงา ไม่มีเพื่อนเลยน่ะ ไม่สนุกด้วย ไม่มีความสุขด้วย มันมีแต่ความเย็น 

แล้วความเย็นนี่ก็...คือพวกเรามันติดความเย็นแบบ...นั่งสมาธิแล้วเพลินนาน มันเกิดปีติ ขนลุกซู่ซ่าๆ ตัวใหญ่ตัวโต ปีติคับฟ้าสว่างไสว มันว่านั้นน่ะเย็นๆ ... แต่พอมาเย็นกายเย็นใจเนี่ย คือ เย็นแบบน้ำธรรมดาไม่ใส่น้ำแข็งน่ะ  แต่เราไปคุ้นเคยกับน้ำใส่น้ำแข็งว่าไอ้เย็นอย่างนั้นมันเย็นสบายยย 'พอใจๆ' ...พอมาเป็นน้ำเย็นธรรมดานี่ มันรู้สึกว่ามันน่าจะมากกว่านี้นะ 

อันไหนจริง อันไหนปลอม  เย็นไหนเย็นจริง อันไหนเย็นปลอม มันแยกไม่ออกเลย  'กูจะเอาอันนั้น จะเอาน้ำแข็งน่ะ' มันชอบไง ...แต่สุดท้ายน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิกระจัดกระจายหายไป น้ำก็เย็นเท่าเดิม นั่นน่ะน้ำเย็นจริงๆ ยั่งยืน 

เอาน้ำไปต้มให้ร้อน เอ้า อุ่น ก็น้ำร้อน ...ทิ้งไว้ ไม่อุ่นต่อ ไม่เติมไฟ สุดท้ายก็เย็น แน่ะ ...แล้วไม่ต้องทำให้เย็นนะ มันเย็นเองน่ะ  เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน ...ความเย็นกายเย็นใจคือน้ำเย็น เป็นธาตุเย็นของมันอย่างนั้น คือความสงบเย็นของมัน เป็นธรรมดา

ดูต้นไม้สิ ดูธรรมชาติสิ มันมีความเย็นของมันอย่างนั้นน่ะ ความเย็นเป็นปกติ ...แต่พวกเราคุ้นเคยกับเย็นแบบโคตรเย็นเลยน่ะ หรือว่าโคตรสงบเลย อย่างนี้ ... เคยไปเห็นตรงนั้นไง เคยได้อย่างนั้น เคยอ่านตรงนั้น แล้วก็จะเอาอย่างนั้นน่ะ เอามาเยอะๆ เยอะๆ คือกะจะหาน้ำแข็งทั้งขั้วโลกเลยน่ะ มายกไว้ในนี้ แล้วบอกว่าได้ผล 

ไม่จริงน่ะ มันไม่จริง เข้าใจว่ามันไม่จริงมั้ย ...สุดท้ายมันก็เย็นเท่านี้  เพราะเป็นความเย็นที่ไม่ได้ปรุงแต่ง เพราะมันเป็นเย็นอย่างนิรามิสสุข คือเป็นเย็นหรือสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่อิงอาศัยอามิสหรือความปรุงแต่ง 

เพราะนั้นความเย็นกายตรงนี้ มันจะลิงก์ไปถึงเย็นที่สุดคือดับสนิท คือนิพพาน  มันก็เย็นอย่างนี้ นิพพานก็เย็นอย่างนี้ ...แต่ว่าของท่านสนิทเลย 

ไม่ใช่แบบพวกเรานี่ ที่เย็นแป๊บๆ เดี๋ยวกูก็เผาแล้ว เดี๋ยวก็หาเรื่องให้มันอุ่นซะหน่อย แน่ะ  พออุ่นสักหน่อย เดี๋ยวสักพักก็ว่า 'ร้อนเว้ย เดี๋ยวต้องไปเที่ยวขั้วโลกเหนือหน่อย'  ก็ไปนั่งเอาเป็นเอาตาย กำหนดลมกำหนดรู้ กำหนดๆๆ มันจะได้ผลมีความสุข ...เห็นมั้ยว่ามันยังเย็นแบบกระดักกระเดิด มันยังไม่หมดสิ้น ไม่หมดสิ้นจริงๆ 

ถ้าดับเย็นแบบนิโรธ พระอรหันต์นิโรธ  คำว่านิโรธของท่านกลายเป็นธาตุเย็นสนิทเลยน่ะ หมายความว่าไม่มีอุ่น ไม่มีร้อน ไม่มีใครทำให้อุ่น ไม่มีใครทำให้ร้อน ไม่มีใครทำให้เย็นกว่านี้ มันหมดผู้เข้าไปประกอบกระทำในธาตุขันธ์นี้ ในธรรมชาตินี้ ...นั่นแหละนิพพาน

เพราะนั้นตรงนี้แหละ มันจะลิงก์กันไป ...แต่พอถึงความเย็นตรงนี้ คือความปกติธรรมดานี่แหละ แล้วพวกเราไม่ค่อยชอบ มันก็เลยจะออกไปหาความผิดปกติที่มันว่ามันชอบ ...จิตมันจะไปหาอะไรที่มันผิดธรรมดา อะไรที่มันผิดจากปกติ อะไรที่มันเกินจากปกติ ...มันชอบ 

มันเหมือนขนม เหมือนขนมอมยิ้มกับเด็ก ...แล้วเราอยู่กับขนมหวานทั้งวัน โดยที่จิตเป็นเด็ก มีหรือที่มันจะไม่เอามาอม ...เนี่ย คือต้องฝึกกันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะรู้ว่ามันเป็นแค่สิ่งแปลกปลอม เป็นของไม่จริง ที่หามา ทำมา เพื่อปิดบังความเป็นจริง...คือปกติและธรรมดา

การปฏิบัติทั้งหมดมันก็ลงที่ปกติธรรมดา เท่าที่มี เท่าที่เป็น โดยเอากายนี่เป็นหลักยึดโยงไว้ ... อย่าออกจากปกติกายคือศีล ไปหาอะไรที่มันเลิศเลอกว่านี้ เกินกว่านี้ เกินกว่าความเป็นธรรมอันนี้ เกินกว่าธรรมดานี้ 

ตัวที่จะออกไปหา ตัวที่จะออกไปมี ตัวที่จะออกไปเป็น คือจิตผู้ไม่รู้ ...มันไหลไปไหลมา ขยับไปขยับมา เคลื่อนไปเคลื่อนมา ล่องไปลอยมา ไม่หยุดไม่อยู่ ... เหมือนเด็กใจแตก เที่ยวตลอดเวลา หาช่องทางไปตลอดเวลา  ไม่มีอะไรๆ มันก็หาเรื่องไป มีอะไรมากระทบมาสัมพันธ์สัมผัสมันก็ยิ่งเหมาะเลย สนับสนุนเลยว่า ไปด้วยกันเลย

แล้วพวกเราอยู่กับจิตลักษณะนี้มากกว่าอยู่กับจิตในลักษณะที่รู้อยู่เห็นอยู่  มันเลยเข้าไม่ถึงธรรม มันเลยเข้าไม่ถึงความเป็นจริงของธรรม  เราเลยเข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของกาย เราเลยเข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของขันธ์ เราเลยไม่เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของโลก ของสามโลกธาตุ 

เพราะมัวแต่ไปอยู่กับดวงจิตที่หลง เพราะไปอยู่กับ อาศัยอยู่กับ หรือว่าไปขึ้นอยู่กับดวงจิตผู้ไหลผู้หลง ผู้เผลอผู้เพลิน ผู้อยากผู้ไม่อยาก ผู้มีผู้เป็น ผู้จะมีผู้จะเป็น ผู้อยากมีผู้อยากเป็น ...แต่ผู้รู้ไม่ค่อยอยู่ ผู้เห็นไม่ค่อยอยู่ หายากยิ่งกว่าหาน้ำมันในอ่าวไทยอีก ...ทำไมมันยาก เพราะขี้เกียจ

จริงๆ ไม่ยาก ...นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้...นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้  อะไรเกิดขึ้นรู้ๆๆ ...มันจะไม่ผุดโผล่ขึ้นมาเป็นดวงจิตผู้รู้ให้มันรู้ไป

ธรรมน่ะกลัวของจริง ...ถ้าคนทำจริง หนีไม่พ้นหรอก ไม่อยากโผล่มันก็โผล่ ไอ้ดวงจิตผู้รู้น่ะ ใจผู้รู้ผู้เห็นน่ะ โด่ขึ้นมาชัดขึ้นมาเองน่ะ  ขอให้อะไรเกิดขึ้นรู้ๆ ยืนเดินนั่งนอน...รู้ เย็นร้อนอ่อนแข็ง...รู้ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว...รู้ รู้เข้าไป 

นิดๆ หน่อยๆ ก็เอา หลงใหม่รู้ใหม่ๆๆ  ดวงจิตดวงใจผู้รู้มันจะโดดเด่นขึ้นมา แยกออกจากกายนี้อย่างชัดเจน  จนชัดถึงขั้นมันมีลูกกะตามาเห็นหรือสำเหนียกในกายในใจได้ชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร 

ผลของการภาวนาก็จะเกิดขึ้นจากปัญญาญาณนั่นแหละ ที่รู้เห็นแล้ววาง รู้เห็นแล้วละ รู้เห็นแล้ว มันละมันวาง ...เพราะไม่เห็นว่ามันมีอะไรในนั้น มันไม่เจออะไรในสิ่งที่ปรากฏนั้น 

มันก็วาง มันก็ปล่อย ให้เขาเป็นไปตามปกติของการเกิด การตั้ง การดับไปของเขา ไม่เข้าไปแทรกแซงอาการเกิด อาการตั้ง หรืออาการดับนั้น อีกต่อไป หรือน้อยลงไป ...แรกๆ มันยังไม่ขาดหรอก มันก็น้อยลง  จนกระทั่งไม่เข้าไปแทรกแซงอีกต่อไปเลย  นั่น ผลมันก็มากขึ้นไป

เอ้า พอแล้ว แค่นี้ ... ธรรมมันมีอยู่แค่นี้แหละ การปฏิบัติก็มีอยู่แค่นี้แหละ ... จะนั่งชั้นเดียว นั่งขัดเพชร นั่งสามชั้น ก็แค่นี้แหละ (หัวเราะกัน) ...แค่รู้ แค่นี้แหละ แค่ดวงจิตผู้รู้นั่นแหละ



.................................... 



วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/8 (1)




พระอาจารย์

8/8 (550604B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

4 มิถุนายน 2555



(ช่วง 1)

(หมายเหตุ : แทร็กค่อนข้างยาวค่ะ  ขอแบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความนะคะ)


โยม –  วันนี้คนขึ้นไปที่ถ้ำมากนะครับ

พระอาจารย์ –  พุทธชยันตี 2,600 ปี  รัฐบาลเขาจัดงานใหญ่โต  ...แต่ว่าการจัดงานอะไรพวกนี้ มันก็เหมือนการประกาศศาสนาให้มันกระจายไป  ให้มันรู้ทั่วกันในโลกว่าศาสนาพุทธมีอยู่  

ศาสนาพุทธนี่ท่านเปรียบไว้เหมือนว่ามี ราก แก่น เปลือก กระพี้ กิ่ง ก้าน ใบ ...การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงอริยมรรค อริยผล การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงมรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรนี่ พวกนี้คือแก่น เป็นแก่น ...พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นแก่น เป็นหลัก 

แต่คราวนี้ว่าหลักหรือแก่น  เหมือนแก่นไม้นี่ มันอยู่เองไม่ได้ ถ้าไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ ไม่มีกิ่งก้าน ไม่มีใบ ไม่มีราก แก่นมันก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นการนับถือ ทำบุญ การจัดงาน การสร้างพระหล่อพระ การสร้างเจดีย์ สร้างวัดวาอารามพวกนี้มันเหมือน เปลือก กระพี้ ราก กิ่ง ก้าน ใบ ... แต่ว่าทั้งหมดน่ะมันมาอุ้ม มาประคับประคองหลัก...แก่นของศาสนาไว้ ...มันเกื้อหนุนกัน  ถ้าไม่มี หรือว่าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นว่าถ้าเข้าใจแล้ว ต่างคนต่างก็มองกันด้วยความเป็นสันติ ...ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คงศาสนาไว้

แต่คราวนี้ว่า คนที่ทำ...กำลังทำอะไร ก็ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  เช่น กำลังทำอยู่ในแก่นก็ต้องรู้ว่าทำอยู่ในแก่น กำลังทำอยู่ในเปลือกกระพี้ ก็ต้องรู้ว่าอยู่ในเปลือกกระพี้ ... ต้องเข้าใจ ให้เข้าใจอย่างนี้ก่อน 

เพื่ออะไร ...เพื่อพัฒนาให้มันเป็นไปเพื่อหลักสูงสุดที่พระพุทธเจ้าวางหลักไว้ ก็คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์  ซึ่งเป็นการที่เรียกว่า...เป็นสาระสูงสุดที่พระพุทธเจ้าต้องการ 

สาระเบื้องต้นก็คือ ทำบุญ ไม่ทำบาป ...ไม่ทำบาปแล้วก็ทำบุญ นี่คือสาระเบื้องต้น ...แต่ว่าสาระที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าไม่อยากมาทำบุญ ละบาปอีก...อย่ามาเกิด ... นี่ การชำระจิต อันนี้คือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุด...นั่นแหละคือหลัก หรือแก่น

และคราวนี้ว่า ถ้าเข้าใจว่าตัวเองยังอยู่ในลักษณะของเปลือก กระพี้ ใบ อยู่  ...ก็อย่างน้อยชะโงกหัวเข้ามาหน่อย ให้ถึงแก่นหน่อย  แม้จะยาก แต่ต้องทำ ต้องฝึก ต้องไม่ให้ละเลยหลงลืมแก่น  ไม่งั้นมันจะไปมัวเมาลุ่มหลงอยู่กับสิ่งที่มันยังเป็นแค่เปลือกหรือกระพี้ ...คือมันละเลยหลงลืมแก่นไปเลย 

ซึ่งต่อไปนี่ แก่นมันจะเหลือนิดเดียว ...เลยพุทธชยันตีนี่ไป แก่นมันจะน้อยลงๆ  แต่เปลือกกระพี้นี่มันจะกว้างใหญ่ขึ้น มากขึ้น จนหาแก่นแทบจะไม่เจอน่ะ ... เนี่ยสำคัญ สำคัญตรงนี้

เพราะนั้นเราถึงต้องมาปากเปียกปากแฉะพูดถึงการภาวนานี่ ... แล้วคนที่จะพูดเรื่องภาวนาตรงๆ น่ะ มีน้อยลงๆ ...จะน้อยลงไป  เพราะพูดถึงการภาวนานี่ มันก็จะมีหลากหลายครูบาอาจารย์ แล้วยังอุตส่าห์มีอุบายเข้ามาในการภาวนาอีก 

กว่าจะรื้อ กว่าจะละ กว่าจะลอก กว่าจะถอนออกจากอุบาย  เพื่อให้เข้าไปถึงเนื้อแท้ของธรรมนี่ มันก็ไม่ใช่ง่าย ...แค่กว่าจะลอก กว่าจะออกจากโลกแล้วให้มาถึงกระพี้ เปลือก ใบ แก่น ...ก็ไม่ใช่ง่ายแล้ว

เพราะนั้นว่าการที่สอน การที่แนะแนวทางการปฏิบัติ ที่เราพูดอยู่ทุกวี่ทุกวันนี่  เราพูดแต่หลักล้วนๆ เอาแต่เนื้อ ไม่เอาน้ำ ...เหมือนว่าถ้าเป็นอาหาร ก็เมนคอร์ส  ไม่มีออเดิร์ฟ ไม่มีอาหารเรียกน้ำย่อย  อัดให้แบบ...กะให้อิ่มจนอ้วกน่ะ  กินเข้าไป ...ไม่กิน กูยัด จนอิ่ม  แล้วก็อ้วกออก อ้วกออกยัดเข้าไปอีก ...เอาให้มันล้น เอาจนมันเต็มอ่ะ 

เต็ม ...ศีลเต็ม สมาธิเต็ม ปัญญาเต็ม นั่นน่ะ ...แล้วไม่ต้องมากันอีก ไม่ต้องมาหาอีกแล้ว ไปไกลๆ เลย ...มันก็ต่างคนต่างไป

ไปไหน... ไปทำความขจรขจายของหลักธรรมต่อไป เพื่อช่วยกันสืบทอดอายุศาสนาให้ยัง...อย่างน้อยก็ดำรงแก่นไว้  

เพราะทุกวันนี้แก่นมันลีบ กระพี้มันโต ...คนก็เลยเข้าใจว่ากระพี้เป็นแก่นซะเยอะ เข้าใจว่าเปลือก ใบ ราก เป็นแก่นซะเยอะ ...มันเลยเกิดความปิดบังธรรมไปโดยปริยาย

เพราะนั้น ทำไมเมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่ง สัตว์ใด บุคคลใดบุคคลหนึ่งบรรลุ หรือเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริง เข้าถึงเข้าเห็นธรรมชาติที่แท้จริง ที่เขาเรียกว่าบรรลุธรรมน่ะ ตั้งแต่ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง จนถึงที่สุด  ทำไมถึงมีเทวดาอินทร์พรหม สาธุการ มากมายมหาศาล ...เพราะอะไร 

เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ...แล้วเกิดขึ้นมาหนึ่งท่านหนึ่งองค์นี่ หมายความว่านั่นน่ะ จะทำให้อายุศาสนานั้นมั่นคงหนักแน่นขึ้นไปอีก ...เป็นเครื่องยืนยันย้ำว่าศาสนาพุทธมีอยู่จริง ทำได้จริง  มรรคมีจริง ผลมีจริง นิพพานมีจริง  ขนาดเทวดาอินทร์พรหมยังต้องมาอนุโมทนา กึกก้องสามโลกธาตุ ...สำคัญ การภาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าละเลยเปลือก ใบ กระพี้ ...ก็ทำ  แล้วก็ไม่ต้านกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่รังเกียจรังงอนกัน  คือมันเกื้อหนุนกันอยู่แล้ว ... แต่ก็พยายามน้อมให้เปลือกใบกระพี้น่ะชะโงกมาถึงแก่นหน่อย 

ว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า...ปฏิบัติอย่างไรจึงไม่เกิด ปฏิบัติอย่างไรจึงไม่กลับมาตาย  ก็ให้ลองปฏิบัติดู ... นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา  นั่งสมาธิ จะสงบไม่สงบก็นั่งมันไป  จะพุทโธก็พุทโธไป จะลมหายใจก็ลมหายใจไป  จะกำหนดสติก็กำหนดสติไป จะกำหนดดวงจิตผู้รู้ก็กำหนดดวงจิตผู้รู้ไป 

อะไรก็ได้  จะได้ผลไม่ได้ผล ทำมันเข้าไป ...ถือว่าย้ำเตือนลงไปในหลัก ว่าหลักนี้ยังมี  แล้วถ้าทำด้วยความเข้มข้นเข้มแข็ง มั่นคง ไม่ท้อถอย  ก็จะเข้าถึงที่สุดของแก่น คือจิตที่บริสุทธิ์ขาวรอบ ใจเข้าสู่ความบริสุทธิ์หมดจด


จริงๆ น่ะใจเขาบริสุทธิ์มาตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินแล้ว ไม่เคยด่างพร้อยมีมลทินในใจเลย  และใจก็ไม่ได้เป็นดวงด้วย ใจไม่ได้เป็นดอกเป็นดวงเป็นก้อน ... แต่เพราะอำนาจของอวิชชา ตัณหา อำนาจของจิตผู้ไม่รู้ มันมาห่อหุ้มสภาวะใจ มันเลยทำให้สภาวะใจถูกจำกัดเป็นดวงหนึ่ง แล้วก็มาอยู่จำเพาะขันธ์ ๕ นี่ ...เหมือนถูกขังนะ

ธรรมชาติของใจไม่มีที่อยู่ ธรรมชาติของใจไม่มีประมาณ ธรรมชาติของใจคือความผ่องใส คือความบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีมลทิน ...แต่พอมาถูกครอบไว้ แล้วถูกจำกัด ถูกขังคุกนี่ มันก็เลยดูเหมือนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็ไม่ดี  เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็พอใจ เดี๋ยวก็ไม่พอใจ เดี๋ยวก็หงุดหงิดรำคาญ เดี๋ยวก็มีความอยาก เดี๋ยวก็ได้ดั่งความอยาก เดี๋ยวก็ไม่ได้ดั่งความอยาก

ทั้งหมดนี่ ไม่ใช่เรื่องของใจเลยหนา  ใจเขาไม่รู้ไม่ชี้ เขาถูกขังอยู่น่ะ ถูกอะไรก็ไม่รู้มาห่อหุ้มปกคลุมอยู่ 

นี่แหละ พระพุทธเจ้าถึงต้องมาชี้วิธีการปฏิบัติ หนทางการปฏิบัติ...ท่านเรียกว่ามรรค  เพื่ออะไร ...เพื่อทำการแหวกๆ แหวกไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มใจนี่ ให้เข้าไปถึงใจ  ...ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาชี้แนะว่าวิธีการใดที่จะเข้าถึงความเป็นจริงที่อยู่ตรงนี้ คือใจนี่  ไม่มีทางเลยที่ปัญญาของสัตว์โลกนี่ จะรู้ได้เห็นได้ 

เห็นมั้ย คุณของพุทธะ ...ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวก็ไม่มีทางรู้เลยว่าใจเป็นยังไง จิตเป็นยังไง ขันธ์ ๕ คืออะไร  ยังไงถึงจะออกจากขันธ์ ๕ ได้โดยไม่กลับมามีขันธ์ ๕ อีก...ไม่มีทาง  นั่งคิดๆ นึกๆ จนหัวแตกตายยังคิดไม่ออกเลย

คราวนี้พระพุทธเจ้าพูดแล้ว ไม่ใช่พูดมาลอยๆ นะ ดันมีคนทำตามแล้วได้ผลอีก นั่น มีพระสงฆ์  อันนี้เป็นเครื่องยืนยันอีกแล้ว ว่าทำได้จริง ... แล้วพระสงฆ์คือใคร ลูกชาวบ้าน  แล้วพวกเราเป็นใคร เราก็ลูกชาวบ้าน  แต่พอดีลูกชาวบ้านของพระสงฆ์ท่านโกนหัวแล้วก็ไปบวช แต่ก็เป็นลูกชาวบ้านเหมือนกัน เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน ก็ทำได้ ถึงได้ ไม่แบ่งชั้นวรรณะเลยในการปฏิบัติธรรม

ไอ้ตัวที่แบ่งคือ ขี้เกียจ...ขี้เกียจทำ นั่นแหละ ตัวการใหญ่ ตัวการร้าย ผู้ก่อการร้าย  ไม่ยอมให้ทำ ขวางอยู่นั่นน่ะ เป็นไอ้เข้ขวางคลองว่า ... “ทำไม่ได้หรอก ต้องทำงาน”  นั่น มันบอกมันทำไม่ได้ หรือเราบอกเองแน่  เขาไม่ได้บอก เราน่ะบอกเอง  แล้วเราก็เชื่อเองว่าทำไม่ได้  เออ มันโง่หรือมันฉลาด ...ก็พระพุทธเจ้าบอกว่าทำได้ มันไม่เชื่อ

ธรรมมีอยู่จริง ธรรมนี้ของจริง  ธรรมนี้มีอยู่จริงแล้วก็ปฏิบัติได้จริง...ทุกคนไป ไม่เลือกอายุ เพศพรรณวรรณะ วัย สถานะ ชนชาติ ชนชั้น พระมหากษัตริย์ยันยาจก ... ถ้าเกิดเป็นคน มีแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง มีใจเป็นปกติ รู้อยู่เห็นอยู่ได้นี่ ทำได้ทั้งนั้นแหละ 

อย่าไปเชื่อจิตที่มันคอยขัดขวาง ว่าทำไม่ได้หรอก เข้าไม่ถึงธรรมหรอก ...มันจะไม่ถึงยังไงถ้าทำลงไป โดยที่ไม่ฟังไอ้เสียงนกเสียงการ้องแรกแหกกระเชิงอยู่ข้างในน่ะ แล้วก็ควานลงไปภายในกายใจนี้แหละ หยั่งลงไปๆๆ ไม่กายก็ใจ ใจคือรู้ใจคือเห็น 

เบื้องต้นก็เอารู้เอาเห็นนี้ก่อนว่าเป็นใจ  ถึงมันยังไม่ใช่ใจจริง ช่างหัวมัน  มันจะเป็นยังไงช่างหัวมัน เอารู้เอาเห็นเป็นเครื่องหมายก่อน หยั่งลงไปในรู้...รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดิน รู้ว่ายืน  อะไรเป็นนั่ง อะไรเป็นเดิน อะไรเป็นยืน อะไรเป็นนอน อะไรเป็นนิ่ง อะไรเป็นขยับ อะไรเป็นไหว 

ก็รู้ลงไป หยั่งลงไปในความนิ่ง ความไหว ความขยับ ความแข็ง ความอ่อน ...แล้วใครเป็นคนรู้ว่าแข็ง ใครเป็นคนรู้ว่านิ่ง เนี่ย หยั่งลงสองที่นี่แหละ นี่ป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ในการขุดค้นลงไปที่ดวงจิตผู้รู้ คือใจ

ดวงจิตผู้รู้น่ะมันใกล้ใจที่สุดแล้ว มันติดแน่นอยู่ตรงใจแล้ว  ถึงแม้ไม่ใช่ใจ แต่ก็แทบจะเรียกว่าเป็นเนื้อเดียวกับใจก็ได้ในเบื้องต้นนี้

เมื่อใดที่หยั่งลงไปจนถึงใจ อยู่กับใจ และเพียรรักษาใจดวงนี้ไว้ ด้วยศีลสติสมาธิปัญญา  นี่เพียรอยู่ เพียรระวังรักษา อย่าให้ใจนี้ขาดตกบกพร่อง อย่าให้กายนี้หลงลืมไป ขาดไป หายไป ... ถ้าผู้ใดทำความเพียร พากเพียรอยู่อย่างนี้ แล้วจะรับผลในตัวของมันเอง 

ผลจะเกิดขึ้นในการที่...เมื่อใดที่พากเพียรอยู่ที่กายใจ แล้วก็เหลืออยู่แค่กายใจ แนบแน่นอยู่กับกายใจ ไม่ออกนอกนี้ไป สักระยะหนึ่ง จากวินาทีนึง เป็นนาทีนึงๆๆ เป็นหลายนาที เป็นชั่วโมง หลายชั่วโมง เป็นวัน จนหลายวัน จนหลายเดือน จนหลายปี จนตลอดเวลา ...แล้วมันจะรับผลได้มากขึ้นๆ ตามลำดับเอง

ไม่ต้องไปถามใครเลยว่า ..'ผมปฏิบัติอย่างนี้ถูกมั้ย ผมปฏิบัติอย่างนี้แล้วผมจะเข้ามรรค เข้าถึงที่สุดของแก่นมั้ย' ...ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปหา เสียเวลา ... อยู่ตรงนี้แหละๆ หยั่งลงไปที่กายมั่ง ใจมั่ง...กายมั่ง ใจมั่ง  กายยังไง ใจยังไง  อะไรเป็นกาย อันไหนเป็นใจ  อันไหนเป็นนั่ง...อันไหนเป็นรู้ อันไหนเป็นยืน...อันไหนเป็นรู้ ... หยั่งอยู่สองที่ หาดู สอดส่องอยู่แค่นี้แหละ 

ไม่ใช่ว่าไปค้นหาที่อื่นที่ไกล ในป่าหิมพานต์ หรือธรรมะตายไปกับหลวงปู่แล้วก็เลยปฏิบัติไม่ได้ หรือเรา...อาตมานี่ตายไปแล้วก็ไม่มีใครปฏิบัติได้...ไม่ใช่  

ธรรมมีอยู่กับเนื้อกับตัวทุกคนนี่ คือกายนั่ง ก็รู้อยู่ว่านั่ง ... เป็นธรรมทั้งนั้น เป็นธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ...อยู่ตรงนี้แหละ แล้วไม่ต้องถามว่าผลคืออะไร

ทำเอง ... เหมือนกินข้าว แล้วไปถามคนนั่งข้างว่า 'ผมอิ่มรึยัง' ...กูจะตอบได้รึเปล่าเนี่ย ใช่มั้ย  ก็กินข้าวเองอ่ะ แล้วมาถามว่าผมควรอิ่มรึยัง ผมดูเหมือนอิ่มรึยัง ...กูจะไปรู้มึงเรอะ ใช่มั้ย  ไม่รู้อ่ะ  

แล้วมาถามทำไม ถามไปหาอะไร  ...กินเองน่ะ กินมากก็อิ่มมากเด่ะ ทำไมไม่รู้รึไง  ถ้าไม่กินก็หิว ทำไมต้องถาม นี่ผมกินอย่างนี้แล้วผมหิวรึเปล่า  กูจะไปรู้ได้หยั่งไง ไม่บังอาจรู้ได้ 

ไม่ต้องไปถามใคร ...ต้องถามตัวเองว่า เอาช้อนเข้าปากหรือเอาเข้าจมูก ... เออ ถ้าเข้าจมูกล่ะจะบอกให้ว่ามันไม่เข้าปาก อย่างนี้บอกได้ ...ถ้ามาถาม ก็จะบอกให้ว่า อย่างนี้นะคือปาก ไอ้นี้คือจมูก ไว้หายใจ ไม่ใช่ให้กิน  

ก็บอกให้ได้ว่าอย่างเนี้ยคือมรรค คือจะชี้องค์มรรคให้ว่าการเข้ามรรคน่ะเข้าอย่างไร จะเข้าไปถึงแก่นนี่ จะเข้าตรงไหน ...ไม่ใช่เอาช้อนทิ่มหู แล้วว่าทำไมกูไม่อิ่มๆ (หัวเราะ)...มึงจะไปอิ่มได้ยังไง ก็มึงเอาเข้าหู ไม่ได้เข้าปาก

เนี่ย ครูบาอาจารย์ท่านก็จะสอนอย่างนี้ ...พอสอนว่าให้เข้าปากแล้วยังติดอีกว่า 'นี่อิ่มรึยัง' ...ไอ้นี่ไม่ใช่แล้ว ท่านไม่ตอบหรอก  ...กินเองอิ่มเองดิ  กินน้อยหิว กินมากอิ่ม กินมากอ้วก  เกินแล้ว หรือพอดี ...มันจะรู้ว่าพอดีอยู่ตรงไหน ... เพราะนั้นการปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติแล้วโง่ คอยถามอยู่เรื่อย ...มันก็รู้ เข้าใจด้วยตัวของมันเอง

เพราะนั้นการที่จะอยู่ในองค์มรรค หรือว่าเข้าไปถึงแก่น หรือว่าเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่สุด  ก็ด้วยศีล สติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ ...ไม่มีทางอื่น ไม่มีทางลัด ไม่มีทางไหนลัดกว่านี้แล้ว สติ ศีล สมาธิ ปัญญา  

ศีลก็อย่างที่บอก ปกติกายคือศีล ศีลคือกาย กายคือศีล  ความเป็นปกติกายนี่แหละ เป็นรากฐานของธรรมน้อยใหญ่  เหมือนเป็นลำต้น ที่ทรงความเป็นต้นไม้ได้นี่  ...คือกาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ก็ปรากฏขึ้นในกายนี้ เพราะอาศัยกายนี้

เพราะนั้นถ้าทุกคนมาเริ่มต้นที่ศีล รักษาศีล ...ไม่ใช่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบหรอก  อันนั้นน่ะรักษาไว้ ไม่ว่ากัน  แต่ให้รักษาเพิ่มอีกศีลนึงคือ ศีลกาย คือปกติกาย 

ซึ่งปกติกายนี่มันไม่ต้องทำ ไม่ต้องไปวิรัติ ไม่ต้องไปสมาทานขอ ...นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ร้อน นั่งอยู่เฉยๆ มันก็แข็ง  มันปรากฏแข็งก็แข็ง มันปรากฏว่าลมพัดทีก็วาบที...ลมพัดทีก็วาบที นี่คือปกติกาย เป็นความรู้สึกที่มันปรากฏขึ้นโดยอาศัยเหตุและปัจจัยโดยรอบ 

ถึงไม่มีเหตุปัจจัยรุนแรงภายนอก มันก็มีเหตุปัจจัยภายในของมัน เป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นตึง เป็นไหว เป็นขยับ นี่คือปกติกายทั้งนั้น ... ไม่ต้องรู้ธรรมเห็นธรรมลึกซึ้งอะไร  ก็มีปกติธรรม ก็มีปกติกายที่เป็นศีลอยู่แล้ว ...ให้มารักษาศีลนี้มากๆ

การรักษาศีลกายหรือปกติกาย ก็ต้องรักษาด้วยสติ ...ถ้าไม่มีสติ มันก็ลืม  ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่รู้ว่าปกติกายเดี๋ยวนี้เป็นยังไง  แล้วเมื่อใดที่มันมีสติ มันก็จะเห็นความเป็นปกติกาย  เมื่อใดที่มีสติมันก็รู้ความปกติกายปัจจุบัน 

เมื่อใดที่มีสติก็หมายความว่ามันมีศีลปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ก็เห็นในกายปัจจุบันนั่นแหละคือศีล  นี่คือรากฐานของหลักปฏิบัติที่จะเข้าถึง ... เพราะนั้นเอาสติไปรักษาศีล คือกายเป็นศีลนี่ ต่อเนื่อง ไม่ขาดระยะ สม่ำเสมอ

นี่ ศีลที่เราไม่เคยรู้จัก ทั้งๆ ที่มีอยู่  ศีลที่เราไม่เคยรักษา ขาดตกบกพร่อง ทะลุ แหว่งเว้า โหว่วิ่น ไม่เต็ม  ทั้งๆ ที่ว่ามันมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนรักษา ... เมื่อมาทำให้มันต่อเนื่องขึ้นด้วยสติ มันก็จะเกิดสัมมาสมาธิ คือความหมายที่ว่าจิตจะตั้งมั่นขึ้น 

ไอ้ที่ว่านั่งสมาธิทีไร หลับตาทีไรก็หลับเลยน่ะ  ไอ้ที่ว่านั่งทีไรก็ฟุ้งซ่านๆ กูไม่รู้จักใครว่าสงบเป็นยังไง เกิดมาไม่รู้จักคำว่าสงบอย่างเงี้ย ... ถ้ามันมารักษาศีลด้วยสติ รักษาศีลกายนี่  แล้วจะรู้จักเองว่า 'เออ เฮ้ย ตั้งมั่นคืออะไร เข้าใจแล้ว...ว่าจิตตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิคืออะไร เฮ้ย ไม่ได้อยากได้เลย มันเกิดเองน่ะ' 

เห็นมั้ย อันนี้คือเราพูดให้นะ ... มันต้องไปทำเอาถึงจะได้ ใช่ป่าว มันต้องไปทำดู  แต่เราพูดให้ว่า ถ้ารักษาสติอย่างนี้ รักษาศีลอย่างนี้ ศีลจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ แน่ๆ เลย ...ไม่ใช่แต่เราพูด พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้มาตั้งแต่สองพันหกร้อยปีแล้ว

แต่คราวนี้พวกเรายังไม่เชื่อ ก็ยังไม่ทำ สำหรับคนที่ไม่เคยทำ ... แต่คนทำแล้วก็จะรับผลไปตามลำดับ ก็เชื่อมากขึ้นตามลำดับ  เพราะนั้นระดับความเชื่อในพวกเรานี่จะไม่เท่ากัน ถ้าทำแล้วได้ผลก็จะเชื่อมากขึ้น ถ้าไม่ทำเลยก็งั้นๆ น่ะ เห็นมั้ย ยังไม่แน่ 

เพราะนั้นถ้าลองเอากายปฏิบัติก็จะเชื่อขึ้นมา และมากขึ้นๆ ศรัทธามากขึ้นๆ  แล้วมันส่งถึงพระพุทธเจ้า มันเชื่อพระพุทธเจ้ามากขึ้นด้วย เคารพท่านมากขึ้นด้วย เคารพในความมีปัญญาของท่าน

เพราะนั้นเราทำไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องทำอะไร...แค่ยืนเดินนั่งนอน...รู้ๆ  นั่ง...รู้ ยืน...รู้ เดิน...รู้ ขยับ...รู้ ไหว...รู้ นิ่ง...รู้ เย็นร้อนอ่อนแข็ง...รู้  เนี่ย รักษาศีลอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน...ด้วยสติ 

ไม่ต้องไปนั่งหลับหูหลับตาพุทโธก็ได้ ไม่ต้องไปเดินจงกรมก็ได้ ...ทำกับข้าวกับปลา ผัดข้าวต้มแกงก็ทำได้ ขยับนิ้วขยับมือหยิบจับอะไร หันซ้ายหันขวา ...ทำไปดูกายไป รู้สึกตามมันไป ดูมันไป  รักษาความปกติกายด้วยสติไว้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นตามลำดับ จิตจะแน่วแน่ มั่นคง หนักแน่น อยู่กับเนื้อกับตัวเองมากขึ้น

ไอ้ตัวที่หนักแน่นอยู่กับเนื้อกับตัวเองได้มากขึ้นนั่นแหละ ท่านเรียกว่าสมาธิ...จิตตั้งมั่น ไม่ส่ายออกนอก ไปในอดีต-อนาคต ไปในเรื่องราวที่เกิดแล้วหรือยังไม่เกิด  มันก็หนักแน่นอยู่ในที่ตรงนี้ กับเนื้อกับตัวกายใจนี่แหละ 

เมื่อใดที่มันถึงขั้นเข้าไปหนักแน่นมั่นคงที่กายที่ใจเดี๋ยวนี้ขณะนี้แล้ว หรือว่ามีสมาธิหรือสัมมาสมาธิเกิด  ...แล้วมันไม่ได้เกิดตอนหลับตาด้วย มันเกิดตลอด ทั้งวันก็เกิดได้  ยืนด่าคนยังมีสัมมาสมาธิเลย จิตยังตั้งมั่นได้เลย โกรธก็ยังมีจิตตั้งมั่นอยู่ได้ 

สมาธิไม่เลือกอารมณ์นะ สมาธิไม่เลือกว่าจะต้องตั้งมั่นกับความสงบเท่านั้นนะ  ตั้งมั่นได้ทุกกาลเวลาสถานที่ มีจิตตั้งมั่น รู้อยู่เห็นอยู่กับทุกสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน  นั่นท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ

โดนด่า หรือด่าเขา ก็ตั้งมั่นอยู่ (หัวเราะ) ...คือไม่เลือก ไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ บุคคล หรือเหตุการณ์ประการใด ตอนแรกมันจะเป็นอย่างนั้นแหละ 

และเมื่อมันจิตตั้งมั่น เป็นกลาง ต่อสิ่งที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน  ไม่ว่ากายของตัวมันเอง ไม่ว่ากายผู้อื่น ไม่ว่าเสียง รูป กลิ่น รส ภายนอก  มันก็ตั้งมั่นได้กับทุกอาการ ไม่หวั่นไหวไปตามอาการนั้นๆ อะไรจะเกิด อะไรจะตั้ง อะไรจะดับ  มันก็ตั้งมั่นของมันอยู่นั่น 

อาการที่มันตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายไปส่ายมา สักระยะหนึ่ง สักพักหนึ่ง ...มันจะเกิดสภาวะที่มันจะชัดเจนขึ้น ดูเหมือนเป็นอาการที่เรียกว่า..."เห็น"

คือเหมือนมีตาอยู่ข้างใน มีลูกตาซึ่งหาที่อยู่ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน  บางคนก็ว่าอยู่หลัง บางคนก็ว่าอยู่บนหัว บางคนก็ว่าอยู่ที่หน้าอก ไม่รู้ล่ะไม่สนว่ามันจะอยู่ที่ไหน  แต่มันมีลักษณะเป็นอาการเห็น...เห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน 

มันเห็นเหมือนดูเฉยๆ ว่า ..เขากำลังเล่นอะไรวะ  มันจะมีความรู้สึกอย่างนั้น คือเห็นแบบไม่ไปเอาธุระกับเขา เห็นแบบงั้นๆ น่ะ เห็นธรรมดา ... เหมือนเห็นเด็กเล่นน่ะ มันจะเห็นลักษณะนั้น คือเห็นด้วยความเป็นกลาง ไม่เอาดีเอาร้าย เอาถูกเอาผิด ไม่เอาคุณเอาโทษสาระประโยชน์อะไรกับมัน คือเห็นไปงั้นน่ะ เห็นธรรมดา เห็นแบบธรรมดา 

มันก็เห็นธรรมดาในกาย เห็นกายมันทำอะไรอยู่  มันกำลังทำอะไรอยู่ของมัน ...มันจะเห็นอาการทางกายนี่เป็นอย่างนั้น คือเห็นแบบไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคา เห็นแบบงั้นๆ น่ะ เห็นแบบธรรมดา

กายมันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นศีล...กายเป็นศีลอยู่แล้ว  เราไม่ต้องทำให้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรขึ้นมาใหม่เลย ...มันก็เห็นความธรรมดาของกาย เหมือนมันเล่นอะไรกันอยู่วะ 

เนี่ย ไอ้อาการที่เข้าไปเห็น ที่เนื่องจากสัมมาสมาธิ คือจิตตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ในปัจจุบันอย่างนี้  ตัวที่ออกมาเห็นนั่นแหละ คือปัญญา 

เมื่อใดที่เกิดศีล รักษาศีล  ศีลก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ เมื่อรักษาสมาธิ เจริญสมาธิอยู่ให้เกิดความแนบแน่นต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เห็นมั้ย มันเป็นไปตามลำดับขั้นตอน

เมื่อมีอาการเห็น มันก็มาเห็นอะไรมันเล่นกันอยู่ข้างหน้ามัน ก๊อกๆ แก๊กๆ ก็อกๆ แก็กๆ กึกๆ กักๆ อะไรวะเนี่ย  มันก็เกิดความแยบคาย...แยบคายในอะไรที่อยู่ตรงนี้ 

ก็ดูเงียบๆ  มันก็เห็นเงียบๆ แอบสังเกตด้วยความเงียบสงบ นี่มันมีฐานของสมาธิ  ...ไม่ส่ายไปหาเหตุหาผล ไม่ไปคิดไม่ไปเปิดตำรา ไม่ไปค้นไม่ไปคว้า ไม่ไปถามหาว่าอาการนี้เรียกว่าอะไร ความเป็นจริงมันใช่หรือไม่ มันถูกหรือมันผิด หรือจะทำยังไงกับมันต่อไป หรือจะจัดการยังไงกับมันดี 

จิตมันดู รู้เห็น แอบดู ด้วยความสงบ เนี่ย มันมีฐานของสมาธิอยู่ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น...มันก็เห็น แล้วก็ทำความสำเหนียก ... มันเกิดความเข้าไปสำเหนียก หรือภาษาท่านเรียกว่าโยนิโสมนสิการ  มันเข้าไปแยบคาย รอบคอบ ถี่ถ้วน  นั่นแหละที่เรียกว่าพิจารณาอาการ ...อาการเห็นนี่มันจะเข้าไปพิจารณาอาการของกาย 

แต่การพิจารณาอาการของกายที่มันปรากฏด้วยอำนาจของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และญาณทัสสนะนี่  มันจะพิจารณาในลักษณะเงียบๆ  ไม่ใช่พิจารณาแบบกระโตกกระตากด้วยความคิด ความนึก  แต่มันพิจารณาด้วยความเงียบลึกซึ้ง แยบคาย ลึกซึ้ง เงียบๆ  ดูอาการมันไปตามลำดับลำดา 

นั่นน่ะเป็นการเข้าไปพิจารณา เรียกว่าเข้าไปธัมมวิจยะ เป็นธัมมวิจยะ  คือวิจยะธรรม มันเป็นการวิจยะธรรม  ธรรมนี้สมมุติว่า...กาย  เบื้องต้นต้องเอาธรรมที่สมมุตินี้ว่ากายเป็นเบื้องต้นก่อน ต้องวิจยะตรงนี้ก่อน  มันก็จะวิจยะกาย ด้วยการรู้และเห็นๆ เห็นและรู้ รู้และเห็น อยู่แค่นี้แหละในกาย 

มันแยกมันแยะ มันตรวจสอบ มันสังเกต มันถี่ถ้วน ในอาการที่ปรากฏ หรือเหตุแห่งกายที่ปรากฏ  จนมันลึกซึ้ง เข้าใจ ...มันเข้าใจของมันเองน่ะ ว่าแท้ที่จริงแล้วกายนี้คืออะไร แท้ที่จริงไอ้ที่สมมุติว่ากายนี้ คืออะไร  ที่เรียกว่านั่น ที่เรียกว่าอย่างนี้ แท้ที่จริงมันคืออะไร มันคือสมมุติบ้าง บัญญัติบ้าง ...แล้วมันก็แยกออกว่า กายจริงๆ คืออะไร

เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์ ...เวลาเราเห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์  เราเห็นไม่จริงหรอก  เพราะเราเห็นในลักษณะที่เรามองผ่านบรรยากาศ เรามองผ่านเมฆหมอก กิ่งไม้ใบหญ้า  เรามองผ่านเหลี่ยมเขา เรามองผ่านอากาศ  

เพราะนั้นสิ่งที่เราเห็นเป็นพระอาทิตย์นั้น...ยังไม่ใช่พระอาทิตย์ของจริง  มันเป็นแค่เรามองเห็นหน้าฉากที่มันบังพระอาทิตย์ แล้วเห็นพระอาทิตย์อยู่ข้างหลัง  แล้วเราไปเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นพระอาทิตย์จริงๆ ...แต่ยังไม่ใช่ว่าเรียกว่าเราเห็นพระอาทิตย์จริง 

กายนี่ก็เหมือนกัน ...เวลาเราว่ารู้กายแล้ว เราเห็นกายแล้วนี่...ยังไม่ใช่ มันยังไม่ใช่กาย  เพราะมันยังมีอะไรบัง ...จนกว่ามันจะหยั่งลงไปด้วยญาณทัสสนะที่เรียกว่าเห็นเฉยๆ นี่ ถี่ถ้วนลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง วาระหนึ่ง มันจะเข้าใจในตัวของมันเองว่า...อะไรที่เป็นกายจริงๆ

สุดท้ายมันก็มาสรุปลงที่ว่าปกติกาย นั่นแหละคือกายจริงๆ  อะไรกระทบปึง...แข็ง อะไรกระทบปึง...อ่อน อะไรกระทบปึง...เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ร้อน หนาว ตึง แน่น นั่น  แล้วมันจะเชื่อความเป็นจริงว่า กายนี้คือกายอย่างนี้ คือกายตามความเป็นจริง 

ไอ้ที่เคยเห็นว่าเป็นกายผู้ชาย ผู้หญิง แก่ หนุ่ม สาว สวย ขาว ดำ สูง มีชื่อด้วย ...มันเริ่มเห็นแล้วว่าไอ้กายที่เราเห็นว่าอย่างเนี้ย หรือแม้แต่ที่เห็นว่ากายเรา ของเรา หรือว่าแขน หรือว่าขา เนื้อ หนัง หน้า กระดูก อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่กายที่แท้จริง ...ปัญญามันหยั่งเข้าไปจนเห็นว่าทั้งหมดที่เราเคยเชื่อนี่ ไม่จริง ไม่ใช่กายจริง

แล้วอันไหนกายจริง ...มันเห็นเต็มลูกตามันคือจักขุญาณ ญาณข้างในที่มันเกิดขึ้นจากอำนาจของศีลสติสมาธิ ที่มันจะเกิดอาการเห็นนี่  เพื่อเข้าทำความชำแรกออก ...เหมือนแหวกอากาศ แหวกเมฆแหวกหมอก จนเห็นเนื้อแท้ของพระอาทิตย์น่ะ 

ถ้าอยากเห็นพระอาทิตย์ ...ก็ออกนอกโลกไปดูเลย นั่นน่ะพระอาทิตย์ของจริง  เพราะอะไร ...เพราะไม่มีอะไรบัง ...ตราบใดที่เรามองอยู่อย่างนี้ ถึงแม้ฟ้าจะใสขนาดไหน ก็ยังมีอากาศห่อหุ้ม ... เรามองเห็นพระอาทิตย์ผ่านอากาศ แปลว่ายังไม่เห็นพระอาทิตย์จริงนะ 

แล้วนี่...เราอยู่กับกายทั้งวี่ทั้งวันนี่ เรายังไม่รู้จักกายจริงๆ เลย ไม่เห็นกายจริงๆ เลย  แต่คิดว่านี่ “กายเรา” ซะอย่างงั้นน่ะ ... เห็นมั้ย เห็นจิตมันโง่มั้ย เห็นจิตผู้ไม่รู้มั้ย  แล้วมันยึดเอาแบบดื้อๆ ด้านๆ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล  แล้วจะเรียกว่ามันฉลาดหรือมันโง่ดี

ครูบาอาจารย์ถึงบอก มันโง่ไง จิตมันโง่ไง ... แล้วมันบอกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมๆ  อ่านหนังสือเข้าใจเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ใช่มั้ย  ใครไม่รู้บ้าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้...อ่านมาทั้งนั้นน่ะ ได้ยินมาก็เยอะ  ใครไม่รู้ว่ากายเป็นอสุภะ ใครไม่รู้จักว่ากายนี้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม รู้...ทำไมจะไม่รู้  ...แต่กูไม่เชื่ออ่ะ

เห็นมั้ย จิตมันดื้อน่ะ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หาเหตุผลไม่ได้  กูจะถือว่าเป็นเราอยู่วันยันค่ำอ่ะ ไม่ยอมๆ  ทั้งๆ ที่ว่าก็บอกแล้วว่ามันโง่...ไม่เชื่ออ่ะ  ก็บอกว่ามันไม่ใช่เราเห็นมั้ย...ไม่เชื่ออ่ะ ยังไงก็เป็นเราๆ ...มันหน้าด้านมั้ยนั่น ไม่ต้องอ้างเหตุอ้างผล มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย นี่คือจิตไม่รู้ นี่คือจิตหลง


เพราะนั้นการจะแก้จิตหลง จิตไม่รู้นี่ ต้องมีวิธีการอย่างนี้...ศีล สติ สมาธิ ปัญญา  เพื่อให้เกิดการสอดส่องตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ...ด้วยใจที่เป็นกลาง  ก็จะเห็นว่า เออ เฮ้ย กายจริงๆ มันแค่เนี้ย ...ลมพัดทีก็วาบทีๆ  ในวาบนั่นมีอะไร ฮึ ...ก็มีวาบกับรู้ เท่านั้นจริงๆ  

แต่จิตต้องนิ่งนะ จิตต้องเป็นสมาธินะ  ถ้าจิตไม่นิ่งไม่เป็นสมาธิ มันจะ..'เราว่ามันต้องมีอะไรอยู่มั้ง'  แน่ะ ไอ้เราว่ามีอะไรอยู่มั่งนี่  ไอ้นั่นแหละ คือจิตไม่นิ่ง คือจิตมันส่ายแส่ออกมาจากสมาธิแล้ว ...ถ้าจิตนิ่งมันก็เป็นแค่ อือ แค่นั้น กับรู้ว่าวาบ  วาบก็รู้ว่าวาบ วาบๆๆ แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไรในนั้น มีเราในวาบๆ นี้ไหม 

ไม่ต้องถาม ไม่ต้องหา ... ถ้าถามกับหา จิตมันออกมาทำงานแล้ว จิตผู้ไม่รู้ทำงานแล้ว  มันแส่ส่ายออกมา หาค่าหาความหมาย ค้นคว้า หาสมมุติหาบัญญัติมาเติมให้มันเต็มว่ามันคืออะไร  แน่ะ มันเริ่มเลย 

ถ้าจิตนิ่งๆ หรือเป็นสัมมาสมาธิ มันก็เป็นแค่ วาบ...รู้ๆๆๆ  มันสังเกตความรู้วาบทีๆๆ ในวาบในรู้นี้มีใคร ในรู้ในวาบมีอะไร ในรู้ในวาบมันบอกเป็นใคร ในรู้ในวาบมันบอกเป็นของใคร ในรู้ในวาบมันบอกมั้ยว่ามันเย็นมันร้อนมันอ่อนมันแข็ง...ไม่บอก เงียบๆๆ 

ปัญญานี่มันเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่ปรากฏนี้เท่านั้นแหละ แล้วมันจะเข้าไปถ่ายถอนความเชื่อผิดๆ ความเห็นผิดๆ ความคิดผิดๆ ที่เคยเข้าไปให้ค่าให้ราคากับกายนี้  

ที่ว่าสวยมั่ง เป็นชายมั่ง เป็นหญิงมั่ง เป็นสัตว์มั่ง เป็นบุคคลมั่ง เป็นเรา เป็นของเรามั่ง  เป็นแขน เป็นขา เป็นหน้า เป็นหลัง เป็นตัวเป็นตน ...มันจะถ่ายถอนความเชื่อเหล่านี้ออก ทีละเล็ก ทีละน้อย  ...มันไม่ใช่ทีเดียวหมดหรอก


(ต่อแทร็ก 8/8 ช่วง 2)