วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/25 (1)



พระอาจารย์
8/25 (550821A)
21 สิงหาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวนี้พระมันทำกันหลายหน้าที่ หน้าที่หลักมันไม่ค่อยทำกัน ...คือภาวนาแล้วก็สั่งสอนให้คนภาวนา ชี้ทางมรรค เน้นทางมรรค...ให้มรรคมันตรง 

แต่ว่าถ้าพระไม่ภาวนาซะก่อน ...มันก็จะมาเน้นทางมรรคให้ตรงไม่ได้  มันก็คลาดเคลื่อนในองค์มรรคไปหมด 

เมื่อใดที่มันคลาดเคลื่อนในองค์มรรค ผลที่ได้จากการคลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนกับมรรคนี่ ผลมันจึงเกิดหลากหลายขึ้นมา ...มันจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่นักปฏิบัติ...แบ่งกันไปมากมาย

แต่ถ้ามรรคตรง มรรคชัดเจน  คนบอกคนสอนเข้าถึงมรรค เจริญมรรค จนถึงที่สุดของมรรค ...ธรรมนี่เป็นหนึ่ง ผลเป็นหนึ่งเดียวกัน มีที่สุดเป็นนิพพาน 

แล้วมันจึงจะคุยกันรู้เรื่อง...ภาษาคน  ไม่งั้นมันคุยภาษาคนกันไม่รู้เรื่อง ...เพราะมันคนละประเด็นกันหมด 

มันก็แปลความหมายไปตามความเห็นของตัวเอง แปลความหมายพระไตรปิฎก ตำรา คำพูดของครูบาอาจารย์ไปตามความคิดความเห็นของตัวเอง ...ก็เกิดความสับสน

จุดหลักคือต้องทำตัวเองให้แจ้ง ให้มากที่สุด ...เวลาพูด เวลาสอน เวลาบอก ก็ต้องบอกเท่าที่ตัวเองเห็น ไม่เกิน ไม่เพี้ยน ไม่ผิด ไม่คาด ไม่เดา อย่างเนี้ย มันถึงจะดำรงองค์มรรคอยู่ 

จริงๆ น่ะมรรคมันมีอยู่แล้ว  แต่วิธี...วิถีแห่งการเข้าสู่มรรคนี่ มันคลาดเคลื่อน ...แล้วก็เจอมรรคที่ไม่ใช่มรรคซึ่งไปหมายว่าเป็นมรรค ว่านั้นคือวิธี นี้คือวิธี  มรรคตรงบ้าง อ้อมบ้าง ...ก็ว่ากันไปว่ากันมา

ถ้าภาวนาด้วยความตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านพูดท่านบอกนี่ มันก็ไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม ...จะเห็นธรรมเป็นอันเดียวกัน 

อย่างที่เราเคยบอกทุกคนว่ามรรคมีองค์ ๘ ในปริยัติท่านแบ่งไว้อย่างนั้น ...ถ้าในภาคปฏิบัติมันก็ต้องบอกว่าก็คือไตรสิกขา ...ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา 

เพราะฉะนั้นถ้าจะเอามรรคมาดำเนิน ดำรงให้เข้าถึงมรรคด้วยการปฏิบัติ ...ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญา ไม่หนีจากศีลสมาธิปัญญา ไม่ออกนอกศีลสมาธิปัญญา 

ถ้ามันออกนอกศีลสมาธิปัญญาไปเมื่อไหร่นี่ ...มรรคทั้ง ๘ นี่จะคลาดเคลื่อน จะไม่สามัคคี สมังคีเป็นหนึ่งเดียวกัน จะแตกแยกกันกระจาย แล้วก็มีข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง 

ในตัวมรรคก็จะมีความขัดแย้งกันไป อันไหนเป็นมรรค ไหนคือการเลี้ยงชีพชอบ การงานชอบ ...มันก็แบ่งไปเรื่อย เหมือนเบี้ยหัวแตก ไม่เข้าใจกัน

แต่ถ้าได้ลงมือปฏิบัติ ลงภาคปฏิบัติแล้ว...โดยอาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นแม่แบบ ไม่ผิดไม่เพี้ยนออกจากศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่ ...มรรคก็จะชัดเจนขึ้นในผู้ปฏิบัติคนนั้นๆ 

เมื่อมรรคชัดเจน...ผลตามมา ก็ได้ผลบังเกิดขึ้น ...ไม่ต้องรอ  ถ้าตรงต่อมรรคแล้วนี่ ไม่ต้องรอผล ผลก็เกิดขึ้นในขณะที่เดินมรรคนี่ กำลังอยู่ในองค์มรรคนี่ 

ผลอย่างน้อยก็คือ ความชัดเจนในขันธ์ ความชัดเจนในโลก ความชัดเจนในกิเลส ความชัดเจนในการละการวาง...สิ่งใดควรวาง สิ่งใดไม่ควรวาง 

มีความชัดเจนในสิ่งที่จริง ...อันไหนไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร ...มันก็เห็นด้วยตัวของมันเอง ด้วยตัวจิตผู้ไม่รู้...ที่ทำให้มันรู้ขึ้นมาด้วยไตรสิกขา

เพราะนั้น ด้วยจิตที่มันรู้เองเห็นเอง ที่ท่านเรียกว่า สันทิฏฐิโก นั่นแหละ ...มันจะตอบโจทก์ที่มันค้างคาด้วยความไม่รู้ภายในแล้วคิดเอาเชื่อเอาเอง หมายเอาเอง มีความเห็นขึ้นมาเองลอยๆ ไม่มีเหตุไม่มีผลนั่น 

มันจะจบปัญหาเหล่านั้นลงได้  ไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องไปค้นหาจากตำรับตำราที่ไหนอีกต่อไป ...มันก็เรียนรู้เอง เข้าใจด้วยตัวของมันเองไปโดยมีมรรคเป็นกรอบ...ภาคปฏิบัติก็โดยศีลสมาธิปัญญา

ทีนี้ก่อนที่จะลงถึงศีลสมาธิปัญญา ก็ต้องมาทำความเข้าใจในองค์ศีลสมาธิปัญญา ...ศีลคืออะไร ...ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบอกว่า ศีล..สมาธิ..ปัญญา 

ทำไมพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดว่า สมาธิ..ปัญญา..ศีล  ทำไมท่านไม่พูดว่า ปัญญา..สมาธิ..ศีล  หรือปัญญา..ศีล..สมาธิ  ...แปลว่าท่านเรียงลำดับไว้นี่มันมีนัยยะ มีความหมาย มีความสำคัญ 

เพราะมันเป็นธรรมที่เนื่องกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ..หมายความว่าศีลเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ  สมาธินั้นจึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา 

ถ้าไม่มีศีลก็หมายความว่าไม่มีสมาธิ แล้วก็ไม่มีปัญญา ...ถ้ามีสมาธิโดยที่ไม่มีศีลก็ไม่เรียกว่าสมาธิที่แท้จริง เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

ถ้ามีสมาธิที่ไม่มีศีลกำกับแล้วเกิดความรู้ความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา ความรู้ความเห็นนั้นก็ไม่เรียกว่าปัญญาญาณ ...ก็เป็นแค่จินตาหรือเป็นปัญญาที่ปรุงขึ้นด้วยความไม่รู้...แต่มันเข้าใจว่ามันรู้

สำคัญนะ...จิตที่มันรู้อะไรแล้วมันเข้าใจว่ามันรู้แล้วนี่ ...มันจะเกิดความหลงซ้อนความหลง แล้วมันจะพอกพูนมานะอัตตาตัวตนของเรายิ่งขึ้น 

มันก็ไปหมายความรู้ความเห็นนั้นเป็นเราของเราขึ้นมา...ในความรู้ความเห็นที่ได้จากสมาธิที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

เพราะนั้นการปฏิบัตินี่มันก็ต้องเริ่มต้น ตั้งไข่ ตั้งต้น ตั้งลำ...ที่ "ศีล" เป็นลำดับแรก ...ก็ต้องมาทำความชัดเจนในความหมายของคำว่า "ศีล" ...ซึ่งศีลนี่ มีศีลวิรัติ ศีลบัญญัติ ศีลสมมุติ ศีลปรมัตถ์ 

มีศีลไหนล่ะที่จะเป็นศีลสมาธิปัญญา ศีลซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิเกิดปัญญา...ก็ต้องศีลตัวนั้น ...ในภาคปฏิบัติ ก็ดูความหมายของคำว่าศีล ก็จะได้ความหมายว่า ปกติกายวาจา มันปกติกายวาจา 

คำว่าปกติกายวาจา...ไอ้คำว่าปกติกายนี่ มันต้องไปซื้อไปหาไปทำขึ้นมา ...คำว่าปกติกายก็คือปกติกายที่มันดำรง มันมี มันปรากฏอยู่แล้วเป็นธรรมดา

เป็นธรรมดา ปกติกายที่มีอยู่แล้วนี่แหละ ...ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยการปรุงขึ้นด้วยจิตที่ไม่รู้ หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาด้วยความจงใจหรือเจตนา 

นี่ มันต้องชัดเจนไปตามลำดับว่า...ศีลในความหมายที่จะให้เกิดสมาธิและปัญญาคืออะไร ...มันก็ลงได้ความหมายว่า... ปกติกาย 

คำว่าปกติกายก็คือ กายธรรมดาที่มันปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ...ต้องเป็นปกติกาย ณ ปัจจุบันนี้ 

เพราะนั้นปกติกาย ณ ปัจจุบันนี้ ก็คือความรู้สึกที่ปรากฏอยู่ในกายนี้...เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นิ่ง ไหว ตึง ขยับ เบา หนัก เคลื่อน เหลียว กระพริบ กระเทือน...พวกนี้  

นี่คือความปกติที่มันปรากฏมา ตั้งแต่ปฏิสนธิ เป็นขันธ์ เป็นปัญจสาขาขึ้นมา ...มันก็มีความปกติกายแสดงอาการเย็นร้อนอ่อนแข็งฯ ตามผัสสะที่มากระทบสัมผัสสัมพันธ์กับมัน...เป็นธรรมดา 

เป็นธรรมดาซึ่งไม่ได้ขึ้นกับความอยากหรือไม่อยากแต่ประการใด ...จะรู้ก็ตาม มันก็มีความปกตินี้  จะไม่รู้ก็ตาม ความปกตินี้ก็ยังมีอยู่ 

นี่ ถ้าเราเข้าใจชัดเจนเบื้องต้นในคำว่าศีล ก็ต้องมาเริ่มตั้งต้นที่..ปกติกาย ...คราวนี้ว่าปกติกายมันมีอยู่แล้ว แต่ว่ารู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ลืมบ้าง ขาดหายไปบ้าง ในความปกติกายนี่ 

อย่างนี้หมายความว่ายังไง ...หมายความว่าปกติกายมันมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีผู้ที่เข้าไปรักษาความปกติกายหรือปกติศีลที่มีอยู่เป็นธรรมดานี้ 

เพราะนั้นตัวที่จะเข้ามารักษาความปกติหรือรู้ความปกตินี้ มันก็ไม่มีตัวอื่น นอกจากสติ...คือความระลึก ระลึกรู้ ...ระลึกแล้วก็รู้ ระลึกแล้วก็รู้ความปกติกายนี่

เพราะนั้นศีลนี่มันจะเกิดไม่ได้ จะไม่ครบองค์ศีล  หรือว่าศีลนี่ไม่ต่อเนื่องหรือว่าไม่สม่ำเสมอ ขาดตกบกพร่อง ด่างพร้อย ทะลุ แหว่งเว้าวิ่น สะบั้นไปนี่ ...เพราะไม่มีสติ 

เมื่อใดที่มีสติและระลึกลงที่ความเป็นปกติกายขณะนั้น ศีลนี่มันเกิดขึ้นในผู้ปฏิบัตินั้น ...นี่คือหลักปฏิบัติข้อแรกเลย ...ที่ส่วนใหญ่นักปฏิบัติโดยการอ่านตำราหรือโดยการฟังที่เขามา ก็จะละเลยตัวศีลตัวนี้ 

มันก็จะไปจริงจังเคร่งเครียดกับศีลวิรัติ หรือศีลบัญญัติ หรือว่าศีลสมมุติขึ้นมา ...แล้วเข้าใจว่านั้นน่ะคือศีลที่จะเป็นปัจจัยให้ก่อเกิดสมาธิและปัญญาต่อไป

แต่ถ้าปรับความเห็นหรือทำความเข้าใจกับ "ศีล" ให้ชัดเจนแล้วนี่ ...ก็รักษาศีล คือรู้กาย เห็นกาย ...รู้กายก่อน รู้ความปกติกาย

ซึ่งกายนี้พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้ว่า กายมีกายเดียว ...มีกายเดียว...แต่ละคน แต่ละสัตว์ แต่ละบุคคล แต่ละขันธ์...มีกายเดียว ไม่มีหลายกาย

กายเดียวคือกายศีล คือปกติกายในปัจจุบันนี่แหละคือกายศีล...มีกายเดียวเท่านั้นนะ ...ต้องระลึกลงที่กายนี้เท่านั้น อยู่ที่กายนี้กายเดียวเท่านั้น ไม่นอกเหนือจากกายนี้ไป 

หมายความว่า...กายข้างหน้า กายข้างหลัง กายไกล กายใกล้ กายที่ดับไปแล้ว กายที่ยังมาไม่ถึง กายที่ดีกว่านี้ กายที่สวยกว่านี้ กายที่ปราณีตกว่านี้ กายที่ละเอียดกว่านี้...ไม่เอา ไม่ใช่ 

เหล่านั้นล้วนแต่เป็นกายปรุงแต่งขึ้นด้วยจิตไม่รู้ ...นั่นเรียกว่ากายสังขาร เป็นกายสังขาร ไม่ใช่กายตามความเป็นจริง ...เพราะนั้นกายตามความเป็นจริงจึงมีอยู่กายเดียว...คือกายศีลนี่แหละ 

เมื่อใดที่มันไปหมกมุ่นมัวเมา หรือว่าเผลอเพลินไปกับกายนอก กายที่ไม่ใช่แต่มันสำคัญว่าใช่ สำคัญว่าจริง ...เมื่อมีสติระลึกแล้วก็กลับมารักษาศีล...กายศีลตัวนี้ซะ

การกระทำเบื้องต้นดั่งนี้ ซ้ำซาก สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง นี่เขาเรียกว่า สติมา อาตาปี  ...คำว่า อาตาปี นี่คือว่าเพียรเพ่ง...เพียรเพ่งในกายเดียว ...ไม่สองกาย ไม่กายสาม สี่ ห้า ไม่กายอื่น ไม่กายนอกกายไหน

เอากายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ...ต้องเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว ที่ว่าสติมา ...รักษาศีลแล้วระลึกขึ้นที่กายแล้วต้องอาตาปี คือเพียรเพ่งอยู่ที่กายเดียวกายหนึ่งนี้ 

ซึ่งกายหนึ่งกายเดียวนี้ ก็ไม่ลึกกว่านี้ ไม่ตื้นกว่านี้  มันพอดีเท่านี้  ไม่ละเอียดกว่านี้ ไม่ซับซ้อนกว่านี้...มันเป็นปกติธรรมดาเท่านี้คือเท่านี้ ...ต้องอาตาปีกับกายนี้ ด้วยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

เมื่ออาตาปีต่อกายหนึ่งกายศีลกายปัจจุบัน สม่ำเสมอต่อเนื่องไป ...ตรงนี้จึงจะเกิดคำว่าสัมปชาโน คือหมายความว่าสัมปชัญญะ 

เพราะนั้นในขณะที่มันเป็นอาตาปีนั่นแหละ ตรงนี้...เรียกว่าเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ...ที่เป็นสัมมาสมาธิ ...ซึ่งความหมายของคำว่าสัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่น 

เพราะสมาธิก็มี โมหะสมาธิก็มี มิจฉาสมาธิก็มี ...คำว่าสัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่นกับสิ่งที่ปรากฏจริงในปัจจุบัน ในที่นี้คือตั้งมั่นอยู่ที่กาย คือปกติกายที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่กายที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้นมาใหม่ 

นอกนั้นถ้ามันไปตั้งมั่นกับสิ่งที่มันทำขึ้นมาใหม่ หรือจงใจ หรือสร้างขึ้นมา ...เรียกว่าเป็นอุบายธรรม เป็นอุบายให้จิตสงบเป็นสมาธิ แต่ยังเจือด้วยโมหะและมิจฉาอยู่ในสมาธิเหล่านั้น

เพราะนั้นผลที่ได้จากสมาธิเหล่านั้น ปัญญาที่ตามมาจากสมาธิเหล่านั้น ล้วนเป็นปัญญาที่เจือด้วยโมหะและมิจฉา ...ยังไม่ใช่ปัญญาญาณ หรือญาณทัสสนะ 

แต่เมื่อใดที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ที่กายหนึ่งกายเดียว...ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่อง นี่ ปัญญาจะเกิดตามมา

ซึ่งปัญญาในที่นี้ ไม่ใช่ความรู้อะไร ไม่ใช่ความคิดอะไร ...แต่มันเป็นลักษณะของสัมปชาโน คือมันเห็น มันจะเกิดอาการเห็นตามมา 

ในขณะที่รู้กาย ว่ายืน เดิน นั่ง นอน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง...ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง  มันจะเกิดอาการเห็นสองสิ่ง ...เห็นในสองสิ่ง คือ...กายคือหนึ่ง...รู้คือหนึ่ง 

นี่ เอโกธรรมโม เอกังจิตตัง หมายความว่ากายหนึ่งจิตหนึ่ง ก็คือความหมายของคำว่าธรรมหนึ่งจิตหนึ่งนั่นแหละ ...มันจะเห็นสองสิ่งนี้


แต่ลักษณะของการเห็นที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ท่านเรียกว่าเป็นการเห็นด้วยปัญญาญาณ ...มันจะเห็นด้วยความเป็นกลาง

กลางอย่างไร ...กลางคือหมายความว่ามันเห็นโดยที่ไม่มีความคิด มันเห็นโดยที่ไม่มีความจำ มันเห็นโดยไม่มีความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา 

มันเห็นเฉยๆ มันเห็นธรรมดา  มันเห็นโดยที่ไม่เข้าไปว่า ไม่เข้าไปวิตกวิจารณ์ ไม่เข้าไปออกความเห็นแต่ประการใด ...ไม่เลือก มันเห็นเฉยๆ เห็นกลางๆ


(ต่อแทร็ก 8/25  ช่วง 2)



วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/24


พระอาจารย์
8/24 (550802C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
2 สิงหาคม 2555


พระอาจารย์ –  เมื่อมันเดินไปในมรรค อยู่ท่ามกลางมรรค ไม่ออกนอกมรรคไปเรื่อยๆ  ไอ้เสียงระงมแซ่ซ้องอยู่รอบข้างนี่ก็ค่อยๆ เงียบไปๆ เงียบไปเรื่อยๆ ...ดูเหมือนไม่มีค่าหมดราคาไป

เมื่อมันไม่มีค่าไม่มีราคา ...ไอ้จิตที่มันจะออกไปให้ค่าให้ราคาผสมกับมัน...ที่อยู่กับผู้เดินคนเดินน่ะ  มันก็หมด หมดไปๆ ...หมดกำลัง

ไม่รู้มันจะพูดคุยกับใคร หรือไปหมายไปว่าอะไร ไปให้ค่ากับอะไร  ...เดินไปเดินมา จิตมันว่าง...ว่างออกจากความหมาย ความปรุง ความแต่ง...หมด

เมื่อใดนะที่จิตมันว่าง ...การเห็น การได้ยิน การสัมผัส...มันลางเลือน มันไม่หนาแน่น

มันสัมผัสทางอายตนะทุกสิ่งนี่ เหมือนเป็นแค่สัญลักษณ์ ไม่หนาแน่นเป็นกอบเป็นกำเป็นก้อนที่จะกระทบอย่างนี้ได้ มันมีความโปร่งใสในตัวของมัน

เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่พอให้เป็นนิมิตหมาย ...กลายเป็นสัตว์ มนุษย์ วัตถุ สรรพสิ่งนี่ เป็นของโปร่งใสไปหมด โปร่งใสโปร่งแสง โปร่งรูปโปร่งนาม โล่งตลอด

เมื่อถึงจุดนั้น ภาวะนี่คล้ายๆ อย่างนั้น หรือเข้าไปใกล้ๆ ตรงนั้น หรือว่าอยู่ตรงนั้นแล้ว เห็นอย่างนั้น อาการลักษณะนั้นแล้ว ...สบายดีว่ะ

มันรู้สึกว่า...เออ อย่างที่เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านบอกพระยสกุลบุตร ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ พระพุทธเจ้าบอกว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ...นี่ที่นี้

ที่ที่พระพุทธเจ้าท่านอยู่ ที่ที่พระพุทธเจ้าท่านเห็น ที่ที่พระพุทธเจ้าท่านเข้าใจหรือว่าเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้  พระพุทธเจ้าบอก...ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง

แต่พวกเราก็เหมือนพระยสะ...ที่นี่วุ่นวาย ที่นี่ขัดข้อง ...ไม่ใช่ที่นี่ที่เดียว  ที่นั่นก็วุ่นวาย ที่โน่นก็ขัดข้อง ไปที่ไหน กูขัดข้องหมดน่ะ ...ไม่กูขัด...มึงก็ขัด 

เห็นมั้ย ไม่เราขัด มันก็ขัดเรา ..ไม่มีที่ไหนไม่ขัดข้อง ไม่มีที่ไหนไม่วุ่นวาย ...แล้วมันจะเกิดมาทำไม นั่นน่ะสิ ...โง่น่ะ ก็รู้ว่ามันขัดข้อง ก็รู้ว่ามันวุ่นวาย แต่ก็ยังขยันเกิดกันอยู่นั่นน่ะ

อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นวิสัยของผู้ฉลาด ใช่ป่าว ...ก็รู้ว่ามันขัดข้อง ก็รู้นะ...แต่ว่าการประกอบกระทำ หรือเหตุที่ประกอบกระทำในการดำรงอยู่นี่ ไม่ตรงกับที่มันบอกว่ามันวุ่นวายมันขัดข้อง

กลับไปสร้างเหตุให้ต้องกลับมาอยู่ในที่ที่วุ่นวาย ที่ที่ขัดข้องอีก ไม่จบไม่สิ้น ...คือประกอบเหตุไม่ควรแก่ธรรม มันก็ต้องมาอยู่ในที่ที่มันวุ่นวาย ในที่ที่มันขัดข้องน่ะ

ต่อให้มันมาอยู่ในป่าคนเดียว ถ้าไม่เข้าใจว่ามรรคคืออะไร จะอยู่ยังไง ก็ขัดข้องเหมือนกัน ...ไม่ได้อยู่ที่ป่า แต่อยู่ที่นี้ ที่กายนี้ ที่ใจนี้ต่างหาก จึงจะเริ่มไม่วุ่นวายหนอ ไม่ขัดข้องหนอ

แต่เดี๋ยวๆ มันก็แอบขัดข้องหนอ ...แล้วก็...จิตน่ะมันชอบหาเรื่อง ว่าไม่ได้...ก็ไม่ว่ากัน ...แต่ให้ขยันรู้

พระพุทธเจ้าว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ต้องเชื่อท่านไว้ก่อน ...พระอริยะสาวกท่านเห็นตามแล้วก็สอนต่อกันมาว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง...เพราะที่นี้คือมรรค มรรคคือมรรค...ที่นี้

แต่ถ้าสติมันน้อยปัญญามันอ่อน  มันกลับมาอยู่ที่นี้แล้วมันก็ยังอึดอัดฮึดฮัด ...ก็อดทน  เพราะขณะนั้นคือการเผาผลาญ แผดเผา ...ความเร่าร้อนเหล่านั้นน่ะคือความไม่รู้หรือกิเลส

พระอริยะ ผู้ปฏิบัติทุกคน อาศัย ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา  อาศัยขันตินี่เป็นตบะที่แผดเผา ...เพราะนั้นเวลามันแผดเผากิเลส มันจะไม่เร่าร้อนอย่างไร มันก็เดือดอยู่ข้างในนั่นแหละ รุ่มร้อน

แต่มันรุ่มร้อนเพื่อทำลาย ไม่ได้รุ่มร้อนเพื่อก่อเกิด ...ไอ้การก่อเกิดนั่นก็ไฟ แต่มันเป็นไฟเย็น วันนี้ไม่เย็น ขณะนี้ไม่เย็น ทำแล้วไม่เย็น นู่น มันไปร้อนข้างหน้า ชาติหน้า ...ไม่จบ

แต่ตอนนี้มันกลับมาอยู่ที่นี่...ที่นี้ไม่วุ่นวาย ที่นี้ไม่ขัดข้อง ...มาอยู่ตรงนี้ ตอนแรกขณะแรกนี่จะร้อน จะอึดอัด แล้วมันก็จะมีความคิดผุดโผล่ขึ้นหลายแง่หลายมุม หลากหลาย 

เพื่อจะให้ออกจากตรงนี้ไปที่อื่น ที่ที่มันพึงพอใจ...ใช่มั้ยล่ะ ...ตรงไหนที่มันเผลอน่ะ ตรงไหนที่มันเพลิน ตรงนั้นน่ะ...พึงพอใจ

พ่อแม่มันก็บอกอย่างนี้...พ่อแม่ของกิเลสคือจิตคืออวิชชาก็บอกว่า มึงไม่พอใจตรงนี้ มึงต้องไป...ต้องไปอยู่ในความเพลิดเพลินอย่างนั้น ต้องไปอยู่ในความคิด ต้องไปอยู่ในอดีตอนาคต

แล้วรู้สึกว่ามันไม่เร่าร้อน สบาย พอใจ ... พอใจ...แต่ไม่พอดี  มันเกิน มันออก มันหลุด มันหลง มันเลื่อน มันลอย มันไหล มันเคลื่อน มันคลาดออกไปจากมรรค คือกายใจปัจจุบัน

เพราะนั้นการที่จะกลับมาอยู่ในกายใจปัจจุบันได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอนี่  มันต้องมีความเพียรประกอบกันกับขันติ...เป็นหลัก ...ผู้ปฏิบัตินี่ ถ้าขาดความเพียรกับขาดขันตินี่ จะเดินในองค์มรรคได้ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง 

ผลที่ได้ ผลที่เกิดก็จะเป็นลักษณะกระพร่องกระแพร่ง มาพร้อมกับความสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ ...ทำไงได้ล่ะ ก็มันเป็นอย่างนั้นน่ะ ประกอบธรรมอย่างไร สมควรกับธรรมอย่างไร มันก็ได้ธรรมอย่างนั้น  

อย่าไปโทษใครนะ อย่าไปโทษวาสนาบารมีนะ อย่าไปโทษว่าปัญญาน้อย ปัญญาไม่มี ...คือประกอบเหตุไม่สมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นก็ไม่บังเกิด

ปัญญาก็ไม่เกิด ความเข้าใจ ความถ่องแท้ ความลึกซึ้งในธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่เกิด ...หรือเกิดมานิดๆ หน่อยๆ แต่มันเกิดมาพร้อมกับความลังเลและสงสัย

ถ้ามันชัดเจนแล้ว...ธรรมเป็นหนึ่ง มีอย่างเดียว...เกิด..ตั้ง..แล้วดับ  นั่นน่ะคือคุณลักษณะของธรรมหนึ่ง ไม่มีอะไรในการเกิด ไม่มีอะไรในการตั้งอยู่ แล้วก็ไม่มีอะไรในความดับไป

ธรรมนี่เป็นหนึ่งจริงๆ แสดงลักษณะอาการนี้ ไม่ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนจากความจริงนี้ได้เลย

เพราะนั้นการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่นี้ อยู่เดี๋ยวนี้ อยู่เวลานี้ อยู่ขณะนี้ ...ถามว่ารู้มั้ย ...ไม่รู้ก็รู้ซะ ให้มันรู้ตรงนี้ซะ ให้มันรู้อยู่กับสิ่งนี้ซะ...คือกาย

เพราะนั้นเมื่อใดที่รู้ว่ากำลังนั่ง การปฏิบัติบังเกิดขึ้นแล้ว มรรคบังเกิดขึ้นแล้ว ...ถ้านั่งแล้วรู้ว่านั่ง ได้สองนั่ง สามนั่งสี่นั่ง เรียกว่าเดินในมรรค

พอหลุดจากรู้ว่านั่ง ...หลงคิด หลงสร้างอดีตอนาคต คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ เรียกว่าหลุดจากมรรค ...พอรู้ว่านั่งปุ๊บ...มรรคเกิด  หลุดปุ๊บ...มรรคดับ

นั่งๆๆๆ จนเปลี่ยน เปลี่ยนๆๆๆ จนนั่งๆๆๆ ...นี่ เดินมรรค เข้าใจมั้ยว่ามรรคมันเดินยังไง ...คือความต่อเนื่องในองค์มรรค นี่คือความต่อเนื่องในองค์มรรค

เพราะนั้นระหว่างที่นั่งนี่ ให้เห็นเลยว่า มันนั่งไม่ตลอด...มันรู้ว่านั่งไม่ตลอด เข้าใจมั้ย ...แปลว่าองค์มรรค การเดินในมรรคนี่ยังกระท่อนกระแท่น มีรอยรั่ว มีช่องโหว่

นั่นแหละ คือหมายความว่าช่องโหว่หรือรอยรั่ว นั่นเรียกว่าขาด...ศีลขาด ...แต่ถ้าสำเร็จในกิจกรรมการนั่งนี้แล้วครั้งหนึ่งนี่ แล้วรู้ต่อนี่ เรียกว่าสำเร็จในองค์มรรคของกิจกรรมของกายในระดับหนึ่ง

เพราะนั้น อย่าหลับ ...พอนั่งเฉยๆ จิตเฉยๆ  โมหะ ถีนมิทธะ สามารถคืบคลานครอบงำ ...เมื่อใดเมื่อหนึ่งที่มันนั่งอยู่ในท่าเดียวหรือว่าอยู่ในอิริยาบถเดียว อิริยาบถเดี่ยว ที่ไม่มีการเคลื่อนและไหว

ภาวะนี้จะเป็นจุดบอดอย่างหนึ่ง ที่โมหะนี่จะแทรก...ผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ผู้ก่อการดีหรอก มันจะแทรกซึมเข้ามาครอบ ให้เกิดความมัวหมอง

เพราะนั้นเมื่อใดที่อยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ ต้องให้จิตทำงาน ...ไม่ใช่ให้คิดนะ ไม่ใช่ให้นึกนะ ไม่ใช่ให้ค้นให้หา ...ให้ไล่ดู ปฏิโลม-อนุโลม ขึ้นบนลงล่าง

ดูลักษณะอาการของแขน ขา หน้า หลัง ไหล่ เอว คอ หัว หู ตา จมูก ...ดูมันเข้าไป ดูลักษณะอาการโดยทั่วของกาย ...นี่ เหมือนให้จิตมันทำงาน ให้มันเดินสติในองค์กายโดยรวม 

เพื่อไม่ให้โอกาส หรือเปิดโอกาสให้โมหะภายในนี่ครอบงำออกมา ครอบงำบังใจ

แต่ถ้าอยู่ในท่าที่ไม่บังคับ หรือว่าในอิริยาบถที่ไม่ต้องบังคับ หรือไม่ได้บังคับด้วยกิจกรรมการงาน ...ก็เคลื่อนไหว เดินจงกรม เดินไปเดินมา เพื่อให้เกิดการตื่นรู้ตื่นเห็นขึ้นมา ...ไม่ซึม

อาการซึมนี่ คืออาการของโรคเบื้องต้นของโมหะ ...เหมือนก่อนที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่น่ะ ก็ต้องปวดหัวตัวร้อนก่อน เริ่มครั่นเนื้อครั่นตัวอย่างนี้

อาการซึมนี่คือปฏิกริยาอาการของจิตเริ่มต้นของโมหะที่จะเริ่มครอบคลุม  และผู้ที่ปฏิบัติมาด้วยความเคยชินนานๆ ในอารมณ์สงบระงับ มันจะแทรกซึมเข้า...เป็นทางเข้าทางออก

ถ้าไม่ให้สติมันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือว่าให้มันทำงาน ตรวจตรา ...ก็เหมือนถ้าเป็นยามก็ยืน...ยืนจนหลับไปเลย ...แบบยืนเฝ้าเชิงเทิน ยืนตัวตรง ดูว่าตรงต่อหน้าที่มาก คือยืนทื่อถือหอกอยู่

ดูจริงๆ ...อ้าว ที่ไหนได้...หลับ ปรากฏว่ายืนหลับ ไม่ได้เฝ้าบ้านเฝ้าเมืองอะไรหรอก  คือยืนมองไปหน้าตรง...แต่หลับ เริ่มซึมแล้วก็หลับ  พอมีอะไรแล้วก็หน้าตาตื่น นี่ ตื่นมาไม่ได้เคลื่อนได้ไหว 

แต่ถ้าเดินไปเดินมา ...เหมือนยาม เข้าใจรึเปล่า ก็เหมือนเอาสติเป็นยามเดินไปเดินมา ในกำแพงเมืองน่ะ 
...เดินน่ะ เดิน หมายความว่าให้จิตมันเดิน 

คือว่าถ้ากิจกรรมการงานมันบังคับให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ก็ให้จิตมันเดินขึ้นเดินลง ทำงานภายใน ...ถ้าเคลื่อนไหวก็รู้ในการเคลื่อนไหว ...ขอให้ตื่น ระลึกขึ้นมา

หรือไม่ก็การตื่นตัวครั้งแรกแรงๆ นี่ ก็พยายามทำอะไรให้มันเคลื่อน สูดลมหายใจก็ได้ เพื่อให้จิตมันกระชับหรือตื่นตัวขึ้น ...มันก็ตื่นมาได้เหมือนกับวูบหนึ่งอ่ะนะ ตัวรู้ตื่นรู้น่ะ วูบหนึ่ง 

แล้วเดี๋ยวมันก็ลงดิ่ง...ดับ มืด ...เพราะนั้นว่าตื่นขึ้นเบื้องต้นแล้วนี่ ให้จิตมันเดิน สติเดิน ...พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าอนุโลมปฏิโลม เดินขึ้นเดินลง ทบทวนกาย จากหัวจรดเท้า จากเท้าจรดหัว

ไม่ใช่ไปด้วยความคิด ...แต่ให้สติมันแล่นไปในกาย ดูความรู้สึกที่ขา ที่น่อง ที่เข่า  ดูความรู้สึกที่หน้าที่หลัง ที่ไหล่ ที่สะบัก ที่เอว ที่กระดูก ที่มันแข็ง ที่มันแน่น ตรงไหนก็ได้ ไล่ดูขึ้นลงๆ ...ให้มันคล่อง

เมื่อมันเริ่มคล่องขึ้นๆ มันหมุนวนอยู่ในกายนี่  ภาวะตื่นตัวมันจะตื่นรู้ชัด รู้จะชัดขึ้นมา ...พอรู้เห็นมันชัดขึ้นมาแล้ว จับรู้จับเห็นไว้...แล้วก็ดู เมื่อรู้มันชัดมันจะเห็นมาพร้อมกัน

เมื่อมันรู้ชัดขึ้นมาแล้วนี่  อาการเห็น จากที่อาการเห็น มันจะครอบ...ครอบลงมาทั้งหมดโดยอาการที่รวมกันเป็นก้อนมหาภูตรูป ๔

เพราะนั้นถ้ามันครอบหมดในมหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม  ร้อน เย็น อ่อน แข็ง  ขยับ เขยื้อน ...ปุ๊บ มันจะเห็น เกิดตรงไหน...เห็นๆๆ

แล้วมันไม่ได้เห็นแค่กายนะ มันเห็นจิตด้วย ...อาการวอบแวบๆ เมื่อสัมผัสเมื่อกระทบ เมื่อมีความอยาก หรืออะไร มันก็เห็นพร้อมกันกับอาการกาย ...เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าไม่ชำนาญ พอเห็นไปสักพัก เดี๋ยวก็เคลื่อนๆ ไป ...ส่วนมากเคลื่อนไปกับจิต แล้วก็หลง..ลืม..ปล่อย ...ปล่อยเดี๋ยวก็หลุด...หลุดจากมรรคแล้ว ร่องแร่งๆๆ แล้ว

ต้องเริ่มต้นใหม่กับกาย เดินกายใหม่ เดินสติในกายใหม่  ยืนเดินนั่งนอน...รู้  เห็น-ไม่เห็น ช่างหัวมันแล้ว อย่าไปคิด ...รู้ไว้ก่อน รู้ให้ตั้งมั่นขึ้นก่อน

ให้จิตมันตั้งมั่นเป็นหนึ่งเป็นสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา  เดี๋ยวเห็นมันจะเริ่มสว่างขึ้นมา เหมือนมันสว่าง เป็นแสงสว่าง ...เป็นจักขุ เป็นตา ที่มันเห็นครอบโลกครอบขันธ์อยู่

นั่นเขาเรียกว่าทัสสนะ พอมันเป็นทัสสนะ...ปุ๊บ มันจะไม่แยกว่ากาย แยกว่าจิตแล้ว อะไรเกิดก็ได้ มันเห็นหมด ไม่ว่าๆ ...เรียนรู้เป็นสิ่งหนึ่งๆๆๆ

แต่ยืนออกนอกหลักกายไม่ได้ บอกให้เลย เคลื่อนหมด ...อยู่ที่กายเดียวนี่แหละให้ได้นานๆ ...นานที่สุด จนไม่ออกนอกกายเดียวเลย เรียกว่ากายหนึ่งจิตหนึ่ง...ก็จะเห็นธรรมหนึ่ง

ถ้ากายไม่หนึ่งจิตไม่หนึ่ง...ก็ไม่เห็นธรรมหนึ่ง หรือธรรมเดี่ยว ธรรมเอก ...เมื่อไม่เห็นธรรมเอก จิตก็ไม่เป็นหนึ่ง มันก็ยังหลายจิตหลายใจอยู่นั่น ไม่รู้จิตไหนกันแน่ ใจไหนกันแน่

มันต้องเข้าถึงจิตหนึ่งๆ ที่เป็นเลิศ ...คือใจหนึ่ง ใจเดียว ใจแท้

เอ้า เข้าใจรึยัง ...ให้เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ต้องเข้าใจ เพราะพูดจนไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว... ธรรมที่พูดนี่ครอบหมดแล้ว ถ้าไม่เข้าใจนี่ก็ต้องไปล้างสมอง เอาน้ำนี่ล้างๆๆ ให้มันเอาไอ้สิ่งโสโครกปกปิดออกซะเลย

พูดจนไม่รู้จะพูดอะไร ทั้งหมดนี่ธรรม ...คือพูดแล้วนี่หมายความว่า โยมไม่ได้มาฟังเราอีกสามชาติ ก็ยังไปทำต่อได้ บอกให้เลย

ต่อให้มันเกิดมาไม่เจอเราอีกสามชาตินะ ไอ้สิ่งที่จำได้ตรงนี้ นำเอาไปปฏิบัติเองได้อีกห้าหกชาติเลย ...ไม่ใช่ของเล่นๆ นะที่พูดน่ะ

พูดเหมือนพูดเล่น แต่ไอ้สิ่งที่พูดนี่ไม่ใช่ของเล่นนะ ประโยชน์มี อย่างนั้นน่ะ...ธรรมนี่ สาระหรือคุณค่าของธรรมนี่ ไม่มีประมาณเลยนะ เกินกว่าจะตีราคาค่างวดได้เลย 

ของในโลกนี่มันตีราคาเป็นค่าเงินได้ ...แต่ธรรมหรือว่ามรรคผลนิพพานนี่ ไม่สามารถเอาอะไรมาตีราคา  ค่ามากกว่า สูงกว่า จนว่าไม่มีอะไรมาเทียบได้ ไม่มีประมาณ เป็นอเนกอนันต์

เพราะนั้นให้เห็นคุณค่าของกายใจตัวเองไว้ ว่ามีคุณค่าขนาดไหน ...อย่าอยู่กับมันโดยไร้สาระ โดยเข้าใจว่าไปหาของอื่นที่มันเข้าใจว่าดีกว่า มีสาระหรือว่าสำคัญกว่า

อยู่กับของที่สำคัญที่สุดแล้ว ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญา อย่าทำตัวเหมือนไก่กับพลอย ไก่จิกพลอย แล้วว่า...ฮื้อ ไม่เอา เมล็ดข้าวดีกว่า ...นี่ มันไม่เห็นคุณค่าของพลอย

พวกเราอยู่กับกายใจกันนี่ หลวงปู่ท่านบอกว่า...เหมือนกบเฝ้ากอบัว ...ไม่รู้จักคุณค่าของบัวเลย มันได้แต่ว่า...เออ กูอยู่อาศัยแค่นั้น แล้วก็ออกไปหากินแมลงมดปลวกไป 

แล้วกูก็กลับมานอนอยู่ใต้กอบัว เหมือนกบเฝ้ากอบัว ...อะไรคุ้มหัวคุ้มกะลามัน สิ่งที่คุ้มหัวคุ้มกะลาอยู่นี่ มีคุณค่าอนันต์ มหาศาล 

เอ้า...ไป ทำกัน


..............................