วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/32 (3)


พระอาจารย์
8/32 (550909C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กันยายน 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  8/32  ช่วง 2


พระอาจารย์ –  เมื่อไม่ออกนอกนี้ อยู่ตรงนี้ มันจะมีอะไรมาทาบทาตรงนี้  เดี๋ยวมันขจัดปัดเป่าไป ด้วยวิจยธรรม ด้วยสติธรรม ด้วยสมาธิธรรม ด้วยปัญญาธรรม ...มันก็จำแนกธรรมออกไป

อันไหนเท็จ อันไหนจริง อันไหนปลอม อันไหนสมมุติ อันไหนบัญญัติ อันไหนเป็นแค่ความคิด อันไหนเป็นแค่ความเห็น อันไหนเป็นแค่ความจำได้ อันไหนเป็นแค่จิตสร้างขึ้นมา

มันก็จะเห็นว่า กายนี่มันมีอยู่  จะแตะต้องหรือไม่แตะต้อง มันก็จะโด่ของมันอยู่อย่างนี้ ...ไอ้นอกนั้นน่ะ เคลื่อนๆ ไปๆ มาๆ เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี อย่างนี้

ตามันก็จะเริ่มชัดเจน ใส ปัญญามันใส มันชัดเจนเลยว่า...นี่ ของจริง (เสียงสัมผัส) ...ของไม่จริงก็เริ่มหมดราคาไป ...มันจะมาเชียร์แขกขนาดไหนก็ไม่เชื่อแล้ว

มันก็จะละเลิกสันดานเดิมไป ที่อาศัยความคิดความจำเป็นไกด์ไลน์ ..ก็ไม่อาศัยความคิดความจำ อดีตอนาคต เป็นไกด์ไลน์ต่อไป มันพาทุกข์ …ออกทัวร์นี่ทุกข์นะ จิตน่ะทัวร์

แรกๆ มันก็เขียนโบรชัวร์ซะสวย จะไปที่นั้นที่นี้ ได้เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ เห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืน แสงสีออร่า เขียวๆ ม่วงๆ ...พอไปเข้าจริงๆ ไม่เห็นเจอเลย อย่างนี้

จิตมันจะฝันหวาน แรกๆ ตอนเริ่มปฏิบัติ ก็ฝันแล้ว ...จะได้ธรรมอย่างนี้ จะเกิดธรรมอย่างโง้น อย่างนั้นจะเร็วกว่าเดิมอีกสามเท่า จะชัดเจนกว่าเก่าอีกนะ

ถ้าได้ปริยัติมาเพิ่มเติมอีกล่ะ ถ้าได้ศึกษาพิจารณาให้มันถี่ถ้วนลงไปในภาษาในบัญญัติก็น่าจะดี ...พอเราออกไปทัวร์กับมัน...เสร็จ มันหลอกกูว่ะ มันหลอกเอาแท้ๆ เลย

นี่ก็จะไม่ยอมรับทุกข์ตรงนี้อีกนะ ตีโพยตีพายอีก...ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นอย่างงั้น ทำไมมันเป็นอย่างโง้น ...คิดต่ออีกว่ะ คิดต่ออีกแล้ว จะสร้างกายใหม่ จะสร้างจิตใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว

ภพใหม่มาแล้ว คอยรองรับอยู่ตลอดๆ ...อีพ่ออีแม่เอ๊ย คอยไปรองรับกับมันอยู่ตลอดเหมือนกัน นี่ คนโง่ เรื่องของคนโง่ ก็คอยรองรับภพอยู่อย่างนั้น ตามเขาต้อยๆ แม่เอ๊ย

กลับ ปิ๊กบ้านปิ๊กช่อง ปิ๊กเฮือนเฮาเต๊อะ ...มีบ้านมีช่อง บ่ล้างบ่ถู บ่ปัดบ่กวาด ขยะปะเลอะปะเต๋อ เต็มไปหมด บ่หันกระทั่งพื้นกระดาน ว่ามันเป็นไม้หรือมันเป็นปูน ยังไม่เห็นเลย 

ก็มัวแต่ร่อนเร่พเนจรไปมาตามทริปน่ะ ออกทัวร์ตลอด ...ถ้านักปฏิบัติก็ทัวร์ธรรมะ หาวิธีการปฏิบัติ สภาพธรรมนั้น สภาวธรรมนี้ คิดกันเข้าไป หากันเข้าไป เทียบเคียงกับอดีตอนาคต

เราเคยทำอย่างนี้ ตอนนี้ดีกว่ารึเปล่า ถ้าอย่างนี้ก้าวหน้า ถ้าอย่างนั้นถอยหลัง แน่ะ มันวางระบบให้เสร็จสรรพ ...ถ้าก้าวหน้าแล้วจะดีใจ ถ้าถอยหลังจิตจะต้องเสียใจ มันบอกให้เสร็จสรรพเลยนะ

กลับบ้าน อี่น้อง กลับบ้าน อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่มีอะไรทำก็ปัดกวาดเช็ดถูบ้านไป เป็นงาน ทั้งงานอดิเรกและงานหลัก ...แรกๆ ก็งานอดิเรก ต่อไปก็เป็นงานหลักเลย

ไอ้งานรองก็คือว่ามีคนมาเคาะประตูบ้านแล้วก็ออกไปคุยเจ๊าะแจ๊ะๆ นั่น ไม่เอาๆ ...รีบกลับบ้านนะ อย่าไปไกล  พอออกไปไกล เขามันงอก เขาควายจะงอก ควายเขาตู้

ออกไปก้าวหนึ่ง..งอกเซ็นหนึ่ง ออกไปสามก้าว..งอกสามเซ็นเลยเขาควายเรา ...ถ้าออกไปไกลนี่ เป็นควายเต็มตัวเลย...คราวนี้กูไม่กลับบ้านแล้ว กูจะหาปลักแช่เลย

แต่ถ้าอยู่ในบ้านนี่ ยังเป็นคนอยู่นะ ใช่ป่าว ...หรือไม่เป็นคน อยู่บ้านนี่ไม่เป็นคนหรือ เป็นหมารึเปล่า..ไม่เป็น เป็นพระอรหันต์รึเปล่า..ไม่ได้เป็น ...เป็นคนๆ

ต้องเป็นคน เพราะความจริงเราเป็นคน มีขันธ์ห้าเป็นคนอยู่แล้ว ...ไม่ได้ขันธ์สี่ ไม่ใช่ขันธ์สาม ไม่ใช่ขันธ์สอง ไม่ใช่ขันธ์หนึ่ง หรือไม่ใช่ไม่มีขันธ์ ...ขันธ์ห้าคือคน

ก็ต้องกลับบ้าน ถ้าเมื่อไหร่กลับบ้านก็เป็นคน ถ้าออกนอกบ้านก็เป็นควาย ...ชอบเป็นควายหรือชอบเป็นคน  ถ้าฟังเราตอนนี้ก็บอกว่าชอบเป็นคน..แต่นิสัยยังเป็นควาย (หัวเราะ)

ไอ้อยากจะเป็นคนน่ะ แต่นิสัยมันชอบไปเป็นควาย ไม่รู้เป็นนิสัยอะไรไม่ดี ...ก็บอกแล้วมันเป็นควายมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ตามจิตที่มันล่อหลอกน่ะ

ก็ตามภพที่มันสังเคราะห์บรรเจิดขึ้นมานี่ เจิด..เดี๋ยวก็เจิดขึ้นมาแล้ว เจิดจ้า แสงเรืองรอง แสงสีทองผ่องอำไพอยู่ภายภาคหน้า ...เออ ทำไมมันไม่ผ่องอำไพอยู่ตรงนี้วะ

ทำไมต้องไปทำอะไรเสียก่อนมันถึงจะผ่องอำไพขึ้นมาล่ะ ...เห็นไหม มันต้องมีเจตนา มันต้องมีจงใจ ...ไอ้เจตนา จงใจ นั่นแหละต้นเหตุของมันคือความอยาก

ถ้าไม่อยากได้ความสงบ มันไม่นั่งสมาธิหรอก ...เพราะนั้นน่ะ ทุกอย่างที่มีการทำขึ้นมานี่ มันจงใจหรือเจตนาอยู่แล้ว หวังผลอยู่แล้ว ...ไอ้ผลนั่นแหละคือภพ ไอ้ผลนั่นแหละคืออุปาทานภพ

จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะได้ตามหวัง จะไม่ได้ตามหวัง ...ถ้าได้ตามหวังก็สุข ถ้าไม่ได้ตามหวังก็ทุกข์ ถ้าได้ตามหวังก็พอใจ ถ้าไม่ได้ตามหวังก็เสียใจ ไม่พอใจ ...นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน

แต่ถ้าเราถอยออกมา แล้วก็อยู่ แล้วก็ดูอาการของมัน ...จะเข้าใจมัน จะเข้าใจสภาพขันธ์ สภาพจิต สภาพจิตสังขาร สภาพกิเลส สภาพที่ต่อเนื่องจากจิตสังขาร

มันก็ดีดลูกคิด...เหมือนเถ้าแก่ เข้าใจมั้ย เหมือนเรานั่งดูอยู่อย่างนี้เป็นเถ้าแก่ดีดลูกคิด ลูกน้องทำงาน ไอ้นี่ทำงานดี ไอ้นี่ทำงานไม่ได้เรื่อง ไอ้นี่อู้งาน ไอ้นี่มันออกนอกงานอยู่ ไอ้นี่ทำงานจริง

นี่ ดีดลูกคิด get out ... get rid ไล่ออกลูกเดียว ...นั่น ก็จะเข้าใจเองน่ะ ก็มันเห็นอยู่ ไม่ใช่ว่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ คือปล่อยปละละเลย โรงงานก็เจ๊ง ใช่ไหม

เพราะนั้น ใจที่นั่งอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ คอยดูอยู่ รู้อยู่เสมอนี่ ...นั่นแหละมันจึงจะเข้าใจสภาพขันธ์ตามจริง และสภาพขันธ์ที่ไม่จริง..เกินจริง ...แล้วไอ้ที่ไม่จริงนั่นก็เอาออก

อะไรที่ว่าเกินจริงก็คือ เกินจากปัจจุบัน ...เริ่มตั้งแต่เกินจากปัจจุบัน เริ่มเห็นก่อนเลยว่าไม่จริง แล้วจะเริ่มให้ราคาน้อยลง หรือว่าให้ความสำคัญกับมันน้อยลง 

ที่ว่าให้ความสำคัญน้อยลง หมายความว่า เข้าไปดีใจ-เสียใจ หวาดกลัว วิตกกังวล จะน้อยลง ...เมื่อมันน้อยลง หรือว่าขาดออกจากอดีตอนาคตแล้ว นั่นแหละ เหลือแต่ปัจจุบันล้วน

มันจึงจะมาถี่ถ้วนลงในปัจจุบันธรรม จนถึงที่สุดของปัจจุบันว่าคืออะไร ...ก็จะเข้าใจความหมายว่า ที่สุดของมันก็ไม่มีอะไร นอกจากว่ามีความดับไปเป็นธรรมดา

ที่สุดของไตรลักษณ์คือมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเกินธรรมดาที่ดับไปนี้ ...ใครว่าแน่ ใครว่าเก่ง ใครว่าเลิศ ว่าประเสริฐ ไม่มีอะไรเหนือกว่าธรรมดาที่ดับไป หรือดับไปเป็นธรรมดา

เพราะนั้นธรรมสูงสุดของธรรมทั้งหลายทั้งปวงคือ ดับไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบัน ...มันเริ่มเห็นความดับไปๆๆๆ ของอดีต-อนาคตไม่มีจริงก่อน ...สุดท้ายปัจจุบันก็ดับ ไม่มีอะไร

มันก็เก็บกระเป๋ากลับบ้าน หมดงาน ไม่หางานทำแล้ว ไม่มีงานให้ทำแล้ว ...มันก็คืนสู่ธรรมชาติที่ไร้สภาพ ไร้ร่องรอย ไร้รูปไร้นาม ไร้ตัวและตน ไร้การเกิดการดับ ไร้การตั้งการปรากฏ

นั่นแหละธรรมชาติที่แท้จริง ที่เหนือธรรมชาติเกิดดับ นั่นแหละ รวมอยู่แค่นี้แหละ “กาย-ใจ” ...บอกแล้ว เราบอกให้ท่องเป็นมอตโต้เลย "กาย-ใจๆๆๆ" ... มันจะไปไหน...ไม่ไป

จิตจะชักชวนออกนอกลู่ออกนอกทาง ออกนอกกายออกนอกใจ..ไม่ไป มันจะเอาอะไรมาอ้าง เอาอะไรมาล่อ..ไม่ไป เอามรรคผล เอาพระอรหันต์มาล่อ..ไม่ไป ไม่เอา เหลือกายใจสองอย่าง

สุดท้าย สามโลกธาตุนี่ เหลือแค่กายกับใจ แค่นั้น ...แล้วสุดท้าย กายก็ไม่เหลือ ใจก็ไม่เหลือ จบ ...แต่ถ้ามันยังขยาย สยายปีกกล้าขาแข็งออกไปนี่ มันจะจบยังไง

ถ้ามันจะจบ มันต้องหดๆๆๆ จากล้านหรือครึ่งล้าน จากครึ่งล้านเหลือแสน จากแสนเหลือหมื่น จากหมื่นเหลือพัน จากพันเหลือร้อย จากร้อยเหลือสิบ จากสิบ เก้า แปดเจ็ดหกห้าสี่สามสองหนึ่ง

นี่ เหลือสองก่อน หนึ่ง-สอง..สอง-หนึ่งๆ แล้วเหลือศูนย์เลย นั่น ต้องหดกลับมา อย่าขยายออกไปหาอะไรที่มันเกินนี้ มันก็ยิ่งหดตัวมาเหลืออยู่แค่นี้จำเพาะกายใจนี้

ให้สังเกตดูว่า ทุกข์จะน้อยลง ...แรกๆ อาจจะทุกข์ก่อน อย่างที่เราบอก มันเร่าร้อน ...แต่ต่อไปจะเห็นเลยว่า น้อยลง เรื่องราวน้อยลง ความน่าจะเป็น..ไม่น่าจะเป็นอะไรต่างๆ 

มันไม่ค่อยเข้าไปห่วงหาอนาทรเท่าไหร่ ไม่อนาทรในอดีต ไม่อนาทรในอนาคต ช่างหัวมัน  มันจะรู้สึกอย่างนั้น อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ มันค่อนข้างจะอย่างงั้น ...นั่นน่ะผล

ไม่ใช่ว่าได้เห็นสภาวธรรมสภาวะแถะอะไรหรอก ...แต่รู้สึก...อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้  เงื่อนไขน้อยลง คำด่ากับชมเริ่มรู้สึกว่าไม่รู้เขาด่าหรือชม แปลไม่ออก เพราะไม่ได้ตั้งใจแปล ฟังแค่ผ่านๆ

เฮ้ย เขาด่ารึ นี่ต้องให้คนอื่นมาบอก  อ้าว เหรอ บางทีงง มันไม่ได้ตั้งใจฟัง ไม่สนใจ ...ก็ตั้งใจฟังอยู่แต่ไม่ได้สนใจคิดต่อ นี่ มันก็เลยไม่ค่อยแปลความหมายอะไร นั่นแหละเป็นผล

มันจะเป็นอย่างนี้ มันจะไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวกับโลกกับขันธ์  เพราะไม่เห็นความเป็นจริงของขันธ์เกินกว่า...แค่รู้ว่ายืนเดินนั่งนอน มันมีแค่นี้เอง แล้วก็การปรากฏแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเท่านั้นเอง

นั่นแหละคือการปฏิบัติที่ตรงต่อธรรม ตรงต่อพุทธะ ตรงต่อธรรมะ ตรงต่อสังฆะ ตรงต่อมรรคและผล ...ถ้ามีผู้ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ โลกนี้จะไม่ขาดจากอริยบุคคลเลย


โยม –  หลวงพ่อคะ ตอนไม่เสมอกัน มันเห็นเพียงแค่การรับรู้เท่านั้นหรือเจ้าคะ มันก็เห็นว่ามันไม่เสมอ เพราะมันแค่รับรู้

พระอาจารย์ –  เป็นเพราะจิตมันเข้าไปให้ค่า มันจึงมีการเท่ากัน เสมอกัน สูงกว่า ต่ำกว่า ...แต่เมื่อใดที่จิตไม่เข้าไปให้ค่า ทุกอย่างเป็นอันเดียวกัน ไม่แตกต่าง ไม่มีความแตกต่าง

ที่แตกต่างเพราะจิตน่ะเข้าไปแบ่งแยก ...เมื่อใดหมดซึ่งอาการของจิตแบ่งแยก เมื่อนั้นธรรมเป็นเนื้อเดียวกัน ธรรมนั้นเป็นธรรมเดียว ธรรมหนึ่ง


โยม –  ก็จะเห็นว่า มันแค่ไม่มีสิทธิ์เลือก คืออะไรก็ได้ คือไม่เลือก อย่างที่หลวงพ่อเคยพูด มีแต่แค่ตั้งมั่นแค่รับรู้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ และเป็นกลาง


โยม –  ถ้าอย่างนั้น ในลักษณะของการที่เราแผ่เมตตาค่ะหลวงพ่อ มันก็ไม่มีตัวคำว่าเราเข้าไปรองรับว่าเราเป็นคนแผ่

พระอาจารย์ –  ไม่มีแผ่ไม่มีเผ่ออะไรหรอก


โยม –  แต่มันก็มีแค่รู้ รู้ในลักษณะแค่เห็น

พระอาจารย์ –  จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในฐานรู้ฐานเห็นนี่ เป็นภาวะที่จิตไม่มีอาการเบียดเบียนสัตว์อยู่แล้ว เพราะนั้นการที่จิตไม่มีอาการเบียดเบียนสัตว์ ใจที่ไม่มีภาวะเบียดเบียนนี่ 

ภาวะนี้จึงเรียกว่าเป็นภาวะเมตตาโดยปริยาย ...เพราะนั้นจิตจึงมีความเป็นเมตตาโดยตลอดเวลา เพราะมันไม่กอปรอยู่ด้วยความเบียดเบียน เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นไม่ต้องไปจงใจแผ่ ตั้งใจแผ่อะไรหรอก แผ่ให้ตัวเองคือรู้อยู่เฉยๆ นั่นแหละ รู้อยู่ในกายใจนี้แหละ มันมีเมตตาอยู่ในตัวของมันเอง



............................... 




วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/32 (2)


พระอาจารย์
8/32 (550909C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กันยายน 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  8/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  อะไรก็ตาม ที่มันเป็นอันเดียวกันนี่ แล้วเราอยู่ในที่เดียวนี้ ที่เป็นธรรมเดียว ที่เป็นกายเดียวนี้ ...แล้วมันจะไม่ไปทะเลาะกับใคร ใครจะมาทะเลาะก็ไม่ว่า เพราะไม่สน ไม่กลัวผิด ไม่กลัวถูก

กลัวแต่จะไม่รู้จริง มันกลัวอย่างเดียวนะ ไม่กลัวผิดไม่กลัวถูกนะ กลัวแต่จะไม่รู้ว่าอยู่กับความจริงไหม..คือกายนี้ ...มันกลัวอย่างเดียวนี่ กลัวสติขาด กลัวออกนอกกาย กลัวออกนอกรู้

ให้กลัวอย่างนี้ไว้ กลัวแล้วจะดี ...อย่าไปกลัวตาย ไอ้กลัวตายน่ะทิ้งไป อยากให้ตายด้วย...ให้ “เรา” น่ะตายเร็วๆ ไม่ต้องมาอีกเลย..ไอ้ “เรา” น่ะ ...ซึ่งมันจะตายได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นกายตามจริง 

แล้วยังไม่ตายทีเดียวหรอก แค่สลบ ก็ตบโหลกไว้ เวลามันมี “เรา” ก็ช่างหัวมัน อย่าไปสนใจมัน เดี๋ยวมันก็สลบ ...สลบไปก็อยู่กับรู้ว่านั่ง เดินก็รู้ว่าเดิน ยืนก็อยู่กับยืน..รู้ว่ายืน ให้มันคู่กัน ตีคู่กันไปในอิริยาบถ 

จะได้มากบ้าง น้อยบ้าง ต่อเนื่องบ้าง แต่ซ้ำลงไปในงานนี้งานเดียว ...อย่ามักมาก อย่าจับจด อย่าฉลาดเกิน อย่าหลายวิธีการ...เอาธรรมเดียว กายเดียว จิตเดียวเอาเหอะ เอาให้วนอยู่ในนี้

คือในหน้าที่การงานของพวกเรา มาทำอย่างนี้ไม่ได้ตลอดอยู่แล้ว บอกให้เลย ...แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันทำงาน ๒๔ ชั่วโมง เวลากลับบ้านก็มี อยู่ในบ้าน ก็อยู่ที่บ้าน...บ้านนอก-บ้านใน

จิตก็ให้เข้าบ้านซะ ปิดประตูลั่นกลอน ปิดหน้าต่าง ปิดๆๆ ดูไป ทำความสะอาด ชำระบ้านซะ มีหยากไย่ใยแมงมุมที่ไหน ก็เก็บกวาดดูแล หยั่งลงไปๆ ให้ทั่ว

หยั่งเข้าไว้ ...อย่ามัวแต่ไปหาความสงบ อย่ามัวแต่ไปหาพิจารณาหาสภาพธรรมสภาวะจิตไหนที่มันเหมือนในตำรา หรือไม่เหมือนในตำรา หรือเหมือนคนอื่น...ไม่เอา

เอากายเดียวๆๆ เอากายเดียวเท่านั้น คือกายศีล รักษาศีล...เอาให้มันได้เป็นช่วง เป็นห้วง เป็นพีเรียดคือการที่เป็นพีเรียดนี่ มันจะสร้างนิสัยที่เรียกว่า สัมปชาโน คือสัมปชัญญะ

เพราะอะไรจึงต้องสร้างสัมปชาโน ...เพราะตัวสัมปชัญญะนี่  เมื่อมีสัมปชัญญะหรือว่ารู้ในกายนี่ได้ต่อเนื่อง มันจะเกิดสภาวะหนึ่งที่เหมือนกับเป็นตาที่สาม

รู้จักตาที่สามมั้ย ...เวลาโยมมองเรานี่ ตาเนื้อนี่มองเห็นเรา ...แล้วมีอีกตาหนึ่งเห็นว่านั่ง เออ มันมีตาข้างในใช่ไหม เห็นว่ากำลังนั่งอยู่ ...นั่นแหละตาที่สาม หรือว่าจักขุญาณ

เวลาพวกเราใช้ชีวิตปกติน่ะ ส่วนมากมันจะมีตาเดียวคือตานอกตาเนื้อ จิตมันก็เลยไปเกลือกกลั้วอยู่กับตาเนื้อ ...แต่เมื่อใดที่ว่าตานอกแค่เอาไว้ดู ให้จิตนี่มาทำหน้าที่อยู่ภายใน กลายเป็นตาในที่มันเห็นรอบอยู่ 

เพราะนั้นไอ้อาการที่จิตจะไปหมายมั่นในรูปนี่ มันจะหมดหน้าที่ที่จะไปเอาถูกเอาผิด เอาดีเอาร้ายกับรูปที่เห็น เข้าใจมั้ย ...เพราะว่ามันมาทำงานอยู่ข้างในนี้ มันมาเห็นกายกำลังทำอะไรอยู่

เนี่ย ให้มันมาเห็นอย่างนี้ เมื่อใดที่มันมีสัมปชัญญะนี่ มันจะมีอาการเห็นนี่ได้ต่อเนื่อง ...แล้วเมื่อมันเห็นอย่างนี้ มันจะเข้าใจกาย..มันจึงจะเข้าใจกายตามจริง ...ไม่ใช่ตามที่คิด

ถ้ามัวแต่คิด มันก็คลาดเคลื่อนไปหมด ...เพราะความคิดมัน...ก็โคตรพ่อโคตรแม่มันคือจิต แล้วก็โคตรพ่อโคตรแม่ของจิตก็คืออวิชชา...แปลว่าไม่รู้จริง (หัวเราะ)

เพราะนั้นตราบใดที่ยังอยู่ในความคิด...คิดจริง คิดจัง คิดเข้าไป คิดกันเข้าไป ...มันจะเจอความจริงได้ยังไง...ไม่เจอ นั่น ถ้ารู้อย่างนี้แล้วอย่าคิดซะดีกว่า ดูอย่างเดียว

ในขณะที่ดูนี่ มันก็จะเรียนรู้ไปด้วย แน่ะ จิตมันก็ไล่ไล้ไปตามกาย เนื้อแท้ธรรมแท้อยู่ที่ไหน กายจริง-กายไม่จริงอยู่ยังไง กายไม่จริงมาอยู่กับกายจริงได้อย่างไร

มันก็เข้าใจปัจยาการในตัวของมันเองเป็นปัจจัตตัง ...นี่ ทำงานในองค์มรรค ทำกันอย่างนี้   ไม่ใช่เดินจงกรม ไม่ใช่นั่งสมาธิเป็นการภาวนาโดยตรง ...อันนั้นโดยอ้อม โดยรูปแบบ

แต่ว่าทำงานภายใน มันหยุดไม่ได้อย่างนี้ ...ตาก็เห็นไป หูก็ได้ยินไป  แต่ว่าข้างในก็มีตาอีกตาหนึ่งคอยส่องดูตัวเอง พฤติกรรมของจิต แล้วก็พฤติของกาย

มันดู...สำรวจดูพฤติกรรมของมันอยู่ มันมีอีกตานึงคอยสำรวจดู ...ถ้ามันอยู่อย่างนี้แล้ว มันจะแชร์กันน่ะ ครึ่งๆ วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ถ้าทำงานนี้อยู่นะ

เพราะนั้นอารมณ์กิเลสมันจะครองไปแค่ครึ่งหนึ่ง ...ที่พอใจมากก็ลดเป็นพอใจเฉยๆ ที่ไม่พอใจก็ลดไปครึ่งหนึ่ง  เนี่ย ถ้ามันอยู่อย่างนี้นะ มันจะไม่กระโดดไปกลืนกินเต็มๆ

แต่คราวนี้ว่าไอ้ตัวที่จะมาทำให้ตัวนี้หายไป ก็คือโมหะ คือความเผลอเพลิน แล้วก็ความจริงจังเกินไปในรูปและเสียงข้างหน้าข้างนอก แค่นั้นเอง ซึ่งมันเป็นนิสัย คือมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังในงานภายนอก 

ก็ดีเหมือนกัน กุศลเหมือนกัน แต่ละคนน่ะคนดีทั้งนั้น ไม่มีใครเป็นคนเลวหรอก ก็ต้องมุ่งทำงานให้ดีทั้งนั้น ...ก็เป็นดี ก็เป็นกุศล แต่ว่าเป็นผลประโยชน์ในโลกนี่ ไอ้ "เรา" ก็ได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งอย่างนี้ 

แต่ว่าผลประโยชน์ที่จะไม่กลับมาอยู่ในโลกนี้ไม่มี ...คือต่อเมื่อใดที่มาอยู่ตรงนี้ ผลประโยชน์มันคือไม่กลับมาในโลก ...แต่ถ้าอยากกลับมาในโลก ทำบุญเยอะๆ ทำดีเข้าไป แล้วมาเสวยบุญข้างหน้า

แต่ถ้าอย่างนี้ ไม่กลับมาเสวยบุญ ไม่มาอีกเลย ทิ้งขว้างๆๆ ...การงานภายนอกทิ้งขว้าง...ซึ่งไม่ใช่ว่าละเลยเพิกเฉย ทิ้งขว้างก็คือทำไปงั้นๆ น่ะ ทำดีนะ แต่งั้นๆ น่ะ ไม่ได้ว่าอะไร

ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ดีที่สุดแล้วก็ได้แค่นี้ล่ะวะ เข้าใจรึเปล่า คือมันดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่เจ้านายอยากให้ดีเหลือเกิน จะบ้ารึเปล่า กูก็ได้แค่นี้ เราก็จะไปบ้าตามเจ้านายได้ยังไง

หรือว่าจะไปตามความคิดของตัวเองว่า จะให้โลกนี้เพอร์เฟ็ค คือโลกนี้มันปุๆ ปะๆ ทำยังไงถึงจะให้เอาพลาสเตอร์ปิดแล้วให้มันดูดีขึ้น อย่างนี้ กรีนพีซๆ

โลกร้อน เราจะต้องอนุรักษ์ มันอนุรักษ์กันเข้าไป ...มันก็ร้อนของมันอย่างนั้น บอกให้เลย  เพราะโลกเป็นอย่างนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ มีความเสื่อมเป็นธรรมดา มีความไม่ควบคุมได้เป็นธรรมดา

แต่ถ้าไปจริงจังบ้าบอคอแตกกับมัน ...เวลานี่มันจะหมดไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับตัวเองโดยตรง ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกว่านั่นน่ะไม่ใช่การงานอันประเสริฐ

แต่การทำงานในองค์มรรคนี่ คือการงานอันประเสริฐอย่างแท้จริง เป็นการงานอันเลิศ การงานอันมีค่าที่สุดซึ่งหาได้ยาก นี่ พระพุทธเจ้าว่าหาได้ยาก ยากอย่างไร...เกิดเป็นคนนี่ยาก ยากขนาดไหน

พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่า...เหมือนเต่าตาบอด ดำอยู่กลางมหาสมุทร ร้อยปีโผล่หัวมาหนึ่งครั้ง แล้วโผล่หัวขึ้นมาเจอบ่วงคล้องคอพอดี นี่ ในร้อยปีที่โผล่มาครั้งนึงในมหาสมุทรนะ

แล้วไอ้บ่วงที่คล้องคอลงมาในหนึ่งครั้งนั่นน่ะ คือการเกิดมาเป็นมนุษย์ ...นี่ท่านเปรียบอุปมาอุปไมยถึงความยากง่ายในการเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ของง่ายนะ

เพราะนั้น พวกเรากลับเอาเวลาที่ควรทำให้มันมีคุณค่านี้ ไปทุ่มเทกับอะไรกันอยู่ ...พระพุทธเจ้าท่านถึงเตือนอยู่เสมอว่า อย่าประมาทในชีวิต ชีวิตนี้สั้นนัก

ท่านเปรียบชีวิตนี่สั้นเหมือนกับหยาดน้ำค้างตอนเช้า ไม่ได้ยืดยาวคราวไกลแต่ประการใดเลย ...เหมือนแก้วร้าวๆ ที่รอวันแตกดับ ที่รอวันพลัดตกแตกลงมา ไม่ได้จีรังถาวรเลย

แต่ว่าเมื่อใดที่ตกอยู่ในความประมาทมัวเมา มันจะเหมือนกับชีวิตนี้ มันจะอยู่คู่โลกไปเลยน่ะ ...คงไม่ถึงวันตาย ไม่เห็นวันตายเลย ไม่เคยมีความตายเข้ามาในสมอง

มันก็เลยใช้ชีวิตแบบเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย กับการหลงๆ เพลินๆ ไปปรุงต่อกับการงานภายนอก แต่หารู้ไม่ว่าเพชฌฆาตเงื้อดาบข้างหน้า...แล้วเรากำลังเดินเข้าไปสู่หลักประหาร

ไอ้เวลาที่เรากำลังเดินเข้าไปสู่หลักประหารนี่ สมควรที่จะใคร่ครวญ พิจารณาเพียรเพ่งอยู่ในกายใจนี้ให้มากที่สุดเลย ...เพื่อจะได้ไม่มาเข้าหลักประหารใหม่อีก

แทนที่ว่ากำลังเดินเข้าหลักประหาร แต่ยังสรวลเสเฮฮา “ไปไหนมาเจ๊า ไปแอ่วมา ม่วนก่อ บ่ม่วน เอ้า ที่ไหนม่วน ที่ปู้นๆๆ” นี่คุยกันมาตามทาง แล้วก็เข้าหลักประหารไปทีละศพๆๆ

นี่ ยังไม่ได้ไปเที่ยวที่ปู้นเลย รอมาเกิดชาติใหม่แล้วกัน แล้วจะมาเป็นคนมั้ย เนี่ย เราก็บอกแล้วจะมาเป็นคนยังไง ขนาดมันมีชีวิตอยู่นี่ มันยังไม่เป็นคนเลย ตายแล้วมันจะมาเป็นคนเหรอ

เห็นมั้ย ถามพวกเราตอนนี้จะมาเป็นคนมั้ย...ตอบไม่ได้ ไม่รู้  ต้องตอบว่าไม่รู้ คำพูดแรกของจิตคือไม่รู้ แปลว่าไม่แน่นอนเลย นั่น ...ไม่เหมือนกับผู้ที่มีสันดานเป็นคนจริงๆ 

นี่ กาย-ใจ..คู่กันๆๆ ทุกขณะ จึงตอบได้ด้วยความมั่นใจ...ก็ดำรงชีวิตด้วยความเป็นคน ตายไปกูก็เป็นคน  ลึกๆ มันจะรู้เลย ใครจะมาบังคับให้กูไม่เป็นคน กูก็เป็นคน เพราะตลอดเวลากูเป็นคนนี่หว่า

เห็นมั้ย ไม่เชื่อตามความเชื่อใคร หรือใครมาบอกว่าต้องไปเกิดเป็นหมาแน่ๆ ก็ไม่เชื่อ …นี่ ไม่ใช่ดื้อแพ่ง ไม่ใช่มานะ แต่ว่าเพราะโดยการอยู่ การดำรงอยู่ของกายใจ มันอยู่อย่างนี้นะ

ฝึกกับฝึกๆๆ แข่งกับเวลาที่มันกลืนกินขันธ์อยู่ ...อย่าไปเสียดายเลย ประโยชน์โพดผลภายนอกน่ะ  ให้มันไป อยากได้เอาไป อยากเอาความถูกความดีความชอบ..เอาไป อยากเอาคำชม..เอาไป

ไม่ต้องไปแข่ง ไปเอาดีเอาเด่อะไรน่ะ เอาพอมีเงินเลี้ยงตัวเอง รับเงินเดือนไป ใช้เงินบำรุงขันธ์ไป พอแล้ว ความสุขที่นอกเหนือจากการบำรุงขันธ์ ด้วยการที่มันดำรงชีวิตอยู่จนถึงวันตายนี่เพียงพอแล้ว

แล้วก็เวลาส่วนมากนั้นมาทุ่มเทอยู่ภายใน...ต้องเรียกว่าจดจ่อคร่ำเคร่งเลยล่ะ ไม่ต้องกลัวติด ไม่ต้องกลัวเพ่ง...จดจ่อ นี่จะไม่เพ่งยังไง ก็ต้องจดจ่อในกายเดียวนั่นแหละ

ถ้าไม่จดจ่อในกายเดียว มันก็จะไปในล้านๆ กายนั่นแหละ แล้วก็จะไปหลงในล้านกายว่าจริงหมด เลยไปๆ มาๆ งง อันไหนกายกูจริงวะ เราจะทำอะไรดี

เห็นมั้ย เคยงงมั้ยเวลาคิดมากๆ น่ะ  เราจะทำแบบไหนวะ หาเราไม่เจอว่าจะเป็นเราตัวไหนดี  นั่นเขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน ...ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ก็คือตัวนี้

นี่ ให้เรามันมาอยู่กับตัวนี้ซะก่อน เราของปลอมกับกายตัวจริงให้มันอยู่คู่กัน ...แล้วก็สำรวจตรวจตราลงไป ถี่ถ้วนลงไป ท่านเรียกว่า...โยนิโสมนสิการ

ตัวโยนิโสมนสิการนี้ ความแยบคายนี่แหละจึงจะเกิดปัญญา ...มันต้องจดจ่อต่อเนื่อง ใคร่ครวญ คร่ำเคร่งอยู่อย่างนี้ มันจึงเกิดวิจยะ...สติ-สมาธิมันเข้ามาวิจยะกาย ไล่ไล้ไปตามทั่วกาย

นี่คือวิจยธรรม กายคือธรรม มันก็วิจยธรรมตัวนี้ว่า อันไหนจริง อันไหนเท็จ อันไหนไม่จริง..ออกไป อันไหนจริง..อยู่  จิตก็เป็นหนึ่ง ...ยิ่งเป็นหนึ่งเท่าไหร่ ไอ้ของไม่จริงยิ่งสลายเร็ว

ความคิดความจำไม่มี  มันก็เหลือแค่นี้..เท่านี้ๆ ...จึงเรียกว่าเป็น “ตถตา” มันเป็นแค่นี้ มันเป็นเช่นนี้ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างโน้น มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นแค่นี้

แล้วมันจะยอมรับความเท่านี้...พอดีแล้ว  มันก็จะเข้าใจว่าพอดีแล้ว ตรงพอดีเท่านี้น่ะ คือตรงนี้ นี่ พระพุทธเจ้าท่านจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา...ไม่เกิน “นี้” ไม่ต่ำกว่า “นี้” ไม่ออกนอก “นี้”

ก็ต้องหา “นี้” ก่อน ...เพราะนั้นพระพุทธเจ้าเลยบอก... “นี้” ก็คือกาย ... “นี้” ก็คือศีล ...“นี้” ก็คือกรอบขันธ์


(ต่อแทร็ก 8/32  ช่วง 3)



วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/32 (1)


พระอาจารย์
8/32 (550909C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กันยายน 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เราถึงบอกว่าอย่าประมาทในกายนะ ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดเรื่องศีลหรอก...ว่าเป็นรากฐานของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ท่านเปรียบว่าศีลนี่เหมือนแผ่นดิน

แผ่นดินนี่เป็นที่อยู่อาศัยของต้นไม้และสรรพสัตว์  ถ้าไม่มีแผ่นดิน จะไม่มีต้นไม้และเหล่าสรรพสัตว์อยู่ได้เลย  ดินน้ำไฟลมก็ตั้งอยู่บนดิน หล่อเลี้ยงสัตว์ ...ท่านเปรียบศีลอย่างนี้เลยนะ

ทีนี้เวลาจะบวชพระ เวลาฆราวาสจะไปบวชเป็นพระ เวลาอุปัชฌาย์สอนพระ จะต้องให้กรรมฐาน ๕ ...เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ  อุปัชฌาย์ทุกองค์ต้องให้กรรมฐาน ๕

นี่คือบัญญัติ พระพุทธเจ้า นี่คือบัญญัติสำหรับอุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ให้กรรมฐาน ๕ กับสัทธิวิหาริก คือคนที่บวช ท่านปรับอาบัติอุปัชฌาย์ พระพุทธเจ้าปรับ

แปลว่าอะไร แปลว่าท่านให้ความสำคัญมากนะในความเป็นคน ...คือเราเห็นคนเป็นคนนี่ เพราะเราเห็นผมขนเล็บฟันหนัง เห็นตัวเรานี่ก็เห็นที่...ผมขนเล็บฟันหนัง

ใน ๕ อย่างนี้ จึงเกิดเป็นรูปทรวดทรงของขันธ์ห้า ...เพราะนั้นท่านบอกว่า ถ้าตั้งใจบวชเป็นภิกษุในศาสนาพุทธแล้ว จะต้องเรียนรู้กรรมฐาน ๕ นี้...เป็นเบื้องต้นเลย

พูดง่ายๆ คือท่านวางรากฐานตั้งแต่สองพันห้าร้อยปีจนถึงหมดสิ้นศาสนาถ้ายังมีพระอยู่นี่ ...ท่านให้เรียนรู้กาย...เป็นหลักเลย

จะมาอวดดีเก่งกว่าพระพุทธเจ้ายังไง มองเห็นกายเป็นเรื่องเล็กน้อย มองเห็นกายเป็นของหยาบ มองเห็นกายเป็นกรรมฐานต่ำ

พอพูดผมขนเล็บฟันหนังนี่ ฮึ เมินหน้า คือมันไปนึกว่าจะต้องมาเพ่งกายเป็นก้อนเป็นแท่ง หรือเป็นกระดูก เป็นหนังเป็นเนื้ออะไรอย่างนี้ ...ไม่ใช่

คือปกติ ปกติของตัวกาย ผมขนเล็บฟันหนังนี้คือให้ดูความเป็นคน...คือศีล คือท่านให้ศีลเป็นรากฐานกับผู้ภาวนาอยู่ อย่าออกนอกผมขนเล็บฟันหนัง...ของตัวเองนะ ของคนอื่น ช่างมัน

ผมคนอื่น ช่างหัวมัน ต้องผมขนเล็บฟันหนัง...ของใครของมัน แล้วก็ทำอยู่แค่นี้ เห็นมั้ยว่าพระพุทธเจ้าสอนแค่นี้ สำหรับที่สอนเผื่อว่า หลังพระพุทธเจ้าท่านตายแล้ว

ท่านก็ยังฝากไว้กับคนที่จะมาบวช อย่าลืม ผมขนเล็บฟันหนัง ...คือไม่มีเวลาจะพูดอธิบายมากกว่านี้ ท่านก็ให้ไว้อย่างนี้เป็นยันต์กันผี

ถ้าใครทำจริง มรรคก็บังเกิดขึ้นที่นี้ ไม่ได้บังเกิดที่อื่นเลย บังเกิดที่ผมขนเล็บฟันหนัง ไม่ไปบังเกิดที่อดีต-อนาคต ธรรมก็ไม่บังเกิดที่อดีตและอนาคต เกิดที่ผมขนเล็บฟันหนังนี่ คือปัจจุบัน

เพราะนั้น ในการที่เพียรอยู่ในกายเดียวนี่ มันจะเผา...แผดเผาจิต แผดเผากิเลส ...ร้อนแน่ๆ ต้องร้อน ต้องกระวนกระวาย ต้องกระสับกระส่าย ต้องรู้สึกเป็นทุกข์แน่ๆ

แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา ต้องอยู่ด้วยขันติในขันธ์นี้ ...ถ้าไม่มีขันตินะ แตก กระจัดกระจายเลยแหละ เพราะเวลาจิตมันซ่านออกไป..สบายดี ลอย เพลิน เผลอเพลิน..สบายดี

แล้วมันชอบความสบาย แบบหมูรอเชือดน่ะ มันก็ยังคุ้ยของกินอยู่ในรถเลย กุกๆ กักๆ หารู้ไม่ว่ากำลังไปถูกเชือด สบายดี ไม่รู้เลยว่าทุกข์อยู่ข้างหน้าข้างหลังอะไร แต่มันคิดว่ามันสบาย

แต่พอกลับมาอยู่ในกายเดียว กายปัจจุบัน อยู่ในศีล รักษาศีลด้วยสติ จะรู้สึกเร่าร้อน ...นี่คือการแผดเผา เป็นตบะที่แผดเผากิเลส ยังไงก็ร้อนแน่ๆ บอกให้เลย

ต้องทนให้ได้...เพราะอะไร ...ก็ใครที่ทนไม่ได้ๆ ... “เรา” น่ะ เราทนไม่ได้   “จะตายอยู่แล้ว”  ใครตาย... “เรา” น่ะ จะตาย ...ก็ต้องการให้ “เรา” ตายน่ะสิ 

นี่ ไม่ได้ต้องการให้กายนี้ตายนะ แต่ต้องการให้ “เรา” ตาย ...เพราะ “เรา” จริงๆ น่ะคือจิต  แต่มันไปมั่วเอาว่าเราน่ะคือ “ตัว” นี้ จะตายด้วย

แต่จริงๆ น่ะ “เรา” ตาย...คือมันน่ะตาย ...แต่ตัวนี้ไม่ตาย ยังไม่ถึงวาระก็ยังไม่ตาย  ไม่ใช่มาอยู่อย่างนี้แล้วมันจะชักดิ้นชักงอ...ไม่ใช่นะ 

แต่จิตน่ะมันรู้สึกว่า “เรา” จะตาย  “เรา” กระวนกระวาย เพราะ “เรา” ไม่ได้เป็นอิสระในการที่ไปแสวงหาภพและชาติ  ...เพราะการแสวงหาภพและชาตินั่นแหละคืองานหลักของกู 

หน้าที่กู...คือออกมาจากความไม่รู้นี่ เพื่อค้นและหาในสิ่งที่ไม่มีในปัจจุบัน บอกให้เลย นั่นน่ะหน้าที่ของจิต ...มันจึงไม่พอใจอะไรเลยในปัจจุบัน ไม่ชอบอะไรที่เป็นปัจจุบัน จะดูดื่นๆ ดาดๆ 

ถ้าเป็นกางเกงก็แบบไม่มียี่ห้อติด ...คือมันต้องเอาลีวายส์ แรงเลอร์  กระเป๋าก็ต้องกุชชี่ หลุยวิตตอง อย่างนี้ จะมาเอากระเป๋านักเรียนอย่างนี้เหรอ...ไม่เท่ ไม่เก็ทๆ อย่างนี้ไม่เก็ท

จิตมันบอกไม่เอาๆ มันจะต้องหาอะไรที่มันดูดี วิเศษ เลิศเลอเพอร์เฟ็ค พออะไรมันดื่นๆ ดาดๆ เดินดินกินข้าวแกงนี่ มันเมินหน้าหนี ...นี่คือสันดานของจิต

เพราะมันเกิดมาเพื่อค้นและหา...หาภพใหม่อยู่เสมอ ...เพราะนั้นการภาวนา จึงเป็นการภาวนาเพื่อเพิ่มภพเพิ่มชาติ หรือละภพถอนชาติกันล่ะ ต้องลองสอบทานกันดู 

ถ้าภาวนาละภพถอนชาติ ก็ต้องอย่างที่เราพูดมาตลอด ...ไม่ใช่ภาวนาเพิ่มภพและชาติแบบ “เมื่อไหร่จะได้ล่ะ” ...รอกันเข้าไป พอรอแล้วไม่ได้ ตายแล้วเกิดใหม่ก็แล้วกัน

เห็นมั้ย เพราะมันรอ มันสร้างจิตดวงนึงไว้รอนะ ที่หมายที่มั่นว่าเส้นชัย ธงชัยพระอรหันต์อยู่ตรงนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น จิตต้องเป็นอย่างนั้น การกระทำต้องทำอย่างนั้น

แล้วต้องเห็นอย่างนั้น ต้องมีความรู้สึกอย่างนั้น ...อย่างบางคนเขาก็บอกว่าพระอรหันต์ไม่หลับ มันก็หมายไว้...เมื่อไหร่กูจะไม่หลับ จะได้เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้

เขาว่าพระอรหันต์จะต้องไม่โกรธ พระอรหันต์จะต้องสงบเหมือนกับพระพุทธรูป อย่างนี้ มันก็...ใครจะตั้งพระอรหันต์รูปแบบไหน โมเดลไหนก็ว่ากันไปอย่างนั้นน่ะ

แล้วก็พยายามเพียรเหลือเกินที่จะไปถึงจุดนั้นน่ะ ...ไอ้นี่ไม่เกี่ยวกับความเพียรนะ เขาเรียกว่าความอยาก การกระทำไปตามความอยาก ไม่ได้เรียกว่าความเพียร

ถ้าเพียรนี่คือจดจ่อในปัจจุบัน อยู่ในกายเดียว เพียรอยู่ที่กายเดียว เพียรที่จะไม่ออกไป..เพียรละ เพียรที่จะรักษาไว้..เพียรรักษา เพียรขจัดความคิด ความที่มันจะชักจูงให้ออกนอก..นี่ เพียรถอนความเห็นผิด

นี่ อย่างนี้เรียกว่าความเพียรนะ ...ไม่ใช่ว่าตั้งเป้าหมายที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีอะไร จะจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้เลย คนหนึ่งก็พูดอย่าง อีกคนก็พูดอย่าง อย่างนี้ ...แต่ไปตั้งไว้ แล้วอยากได้อย่างนั้น

แต่ความเพียรที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันนี่จริงนะ อยู่กับความจริง ต้องเพียรอยู่กับความจริงนี้นะ ...เพื่ออะไร เพื่อจะได้เห็นความจริง และเข้าใจความจริงนี้นะ  มรรคจึงจะเกิด ผลจึงจะเกิด

เพราะความจริง การเห็นความจริงนั่นน่ะเรียกว่าปัญญา  การละความเป็นจริงนั่นก็เรียกว่าปัญญา ผลของการมีปัญญาเห็นแล้วก็ละความจริงนั้นๆ

ก็เห็นว่าความจริงนั้นคืออะไร และที่สุดของความจริงคืออะไร ...มันก็จะเห็นว่าที่สุดของความจริงคือไม่มีอะไร แล้วไม่มีอะไรแล้วมันจะถือไว้ทำไม..หนัก ...นี่คือความจริง

ไม่ใช่ไปสร้างโมเดลนั้นโมเดลนี้ ...พออ่านพอฟังมาก็เอาแล้ว สร้างโมเดล แล้วเดี๋ยวอีกวันนึงก็เปลี่ยนโมเดลอีก แล้วเดี๋ยวเข้าสำนักนึงก็เปลี่ยนอีกโมเดลนึงแล้ว 

แล้ววิธีการเข้าถึงโมเดลนั้น ก็ต้องวิธีการนั้น วิธีการนี้ หนอบ้าง ยุบบ้าง พองบ้าง เอ้า สัมมาบ้าง อรหังบ้าง นะมะพะธะบ้าง ขยับมือบ้าง ขยับตีนขยับขา เดินจงกรมสิบเจ็ดจังหวะอย่างนี้

แล้วกูจะเอาโมเดลไหนดีล่ะวะเนี่ย มันมีตั้งหลายทาง...แล้วต่างคนต่างบอกว่าของกูนี่ละแน่ ของกูนี่ละใช่ ...ไอ้คนทำนี่ก็พวกลูกเป็ดลูกไก่ตาดำๆ นี่จะทำยังไงวะ

มันก็เหมือนไก่ที่มันแตกเล้าน่ะ คอยที่จะออกนอกเล้าไปหากิน  เพราะไอ้นั่นก็เจี๊ยบ ไอ้นี่ก็จ๊าบ นี่อาหารการกินเอร็ดอร่อย กินแล้วจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานโดยฉับพลัน อย่างนี้เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุดเลย

ไอ้พวกลูกเจี๊ยบมันก็ไม่รู้ประสีประสาอะไร เห็นแม่ไก่ เห็นไก่ตัวใหญ่ๆ ดูดี ดูอ้วนดูพี  เขากินแล้วเขาร้องกันกระต๊ากๆ เสียงดัง ...กูก็จะไปหาเขา กูจะออกนอกเล้าล่ะ

มันก็เลยเป็นของกินคนละที่ คนละสถานที่ หน้าตามันเลยไม่เหมือนกัน ไก่ไม่เป็นไก่เหมือนกัน หน้าไม่เหมือนกัน ...ธรรมไม่เหมือนกัน ธรรมไม่เป็นธรรมเดียวกัน

ธรรมเลยจิกตีกัน ...จากไก่ธรรมดากลายเป็นไก่ชน ในโลกนี้ก็เลยกลายเป็นเขาชนไก่ สำนักในวัดก็เลยเป็นเขาชนไก่ มีแต่ไก่ชน ...คือจ้องหน้าจะชนกัน แล้วต้องชนะ  ถ้าไม่ชนะ มึงไป อยู่ด้วยกันไม่ได้

นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือนี่ ...มันเป็นธรรมบทไหนวะ เป็นธรรมที่เกิดซึ่งความขัดแย้ง ไม่เห็นนัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง , นิพพานัง ปรมัง สันติ กันเลยนี่

ก็ไม่เห็นมันสันติเลยในแต่ละสำนัก นี่ขนาดสำนักเดียวกันนะ ...ถ้ายี่ห้อต่างกันนะ ฮื่อ คอมันจะแข็งขึ้นมาโดยปริยายเลย ตามันก็จะเชิด คอมันก็จะเชิด ไม่มองต่ำ มองสูงกันล่ะ 

เออ มันเป็นยังไงกันไปแล้ววะนี่ ...พระพุทธเจ้าท่านสอนเพื่อประโยชน์อย่างนี้หรือเปล่า ตรองดู กรองดู ...ทำไมถึงธรรมไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

เพราะนั้น ถ้าเราพูดแบบง่ายๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม เราบอกว่า...กายมีกายเดียว เอาแค่กายเดียว และทุกคนมีกายเดียวกัน เนี่ย เห็นมั้ย ทุกคนมีกายเหมือนกันมั้ย

ต่อให้ไม่นับถือพุทธ เป็นคริสต์ อิสลาม ไม่นับถือศาสนา เราถามว่ารู้สึกไหมว่าเย็น รู้สึกไหมว่าพื้นนี่แข็ง ต่อให้มันไม่นับถือศาสนาเลยนะ ยังเป็นกายเดียวกันเลย ใช่ไหม 

เห็นมั้ย ธรรมเดียวกันนะ ...ถ้าเห็นธรรมเดียวกันนี้แหละ ไม่ผิดเพี้ยนกันแน่ๆ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร ไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีใครร้ายกว่ากัน ...ทุกคนเท่ากัน

เบื้องต้นนี่เท่ากัน มีธรรมเสมอกัน ใช่ไหม ...ขาสอง แขนสอง หัวหนึ่ง ตัวหนึ่ง  แล้วรู้ว่านั่งได้ รู้ว่ายืนอยู่ได้ เพราะนั้นเกิดมานี่ ได้ทุนมาเท่ากัน ไม่มีใครได้มากหรือได้น้อยกว่ากัน

ไอ้ที่ได้น้อยคือมีกรรมบัง คือออทิสติกอย่างนี้ บ้าใบ้เสียจริตอย่างนี้ อันนี้มันกรรมวิบากบังแต่ถ้าโดยทั่วไปมีลักษณะนี้...ถือว่ามีกายเดียวกัน มีธรรมชาติของศีลเดียวกัน 

มีศีลเท่ากัน มีภพเสมอกัน ...แต่โมเดลของภพไม่เหมือนกัน คือรูปลักษณ์ การรวมตัวปรุงแต่งขึ้นของขันธ์ แล้วก่อให้เกิดทรวดทรงที่ไม่เหมือนกัน

แต่โดยเนื้อแท้แล้วเหมือนกันน่ะ ถ้าลงไปที่เนื้อศีลแล้วเหมือนกัน ...คือถ้ามองแค่รูปนี่ไม่เหมือนกัน ตามันจะไปมองเป็นแสงสีต่างกัน ...แต่ศีลเดียวกัน


(ต่อแทร็ก 8/32  ช่วง 2)