วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/2





พระอาจารย์

8/2 (550517B)

(แทร็กต่อ)

17 พฤษภาคม 2555


พระอาจารย์ –  ทิฐิมานะ...ปิดบังความจริง  มันมีไว้เพื่อหวงแหนความเป็นเรา...ตัวเรา ไม่ให้ลบล้างความเป็นเรา...ตัวเรา ออกได้  

เพราะนั้นเวลาฝึก ... ผู้ปฏิบัติตน ผู้ภาวนา มันจะต้องละ...ในสิ่งที่คนอื่นล่วงเกินความเป็นเราของเรามากๆ ... จนหมด จนไม่เหลือว่าอะไรเป็นเรา อะไรเป็นของเรา นั่นแหละ

เพราะโดยปกติของเรานี่อะไรมันล่วงเกินไม่ค่อยได้หรอก ในความเป็นเรา...ของเรา  แม้แต่ของรักของเราที่เราทิ้งแล้ว แล้วคนอื่นที่เราเกลียดมันมาเอาไป เรายังไม่ยอมเลย (หัวเราะ)  

ขนาดของกูทิ้งแล้วนะ แต่ว่าไอ้คนที่กูไม่ชอบนี่มาเอาไป มันก็ยังไม่ยอม  ทั้งที่ของที่ไม่เอาแล้วมันก็ยังเข้าไปถือครองเลย ...ความเป็นเราของเรา

เพราะนั้นทำใจเป็นกลางๆ มันจะทวนกับกระแสสักกาย จิตที่มันสร้างสักกาย อวิชชาที่มันสร้างความเห็นเป็นเราของเรา

เราถึงบอกว่ากายนี่เป็นตัวแรก ตัวใหญ่ ที่จะถอดถอนความเป็นเราออกไป ... ตัวใหญ่ กำลังใหญ่เลย ตัวเราตัวใหญ่เลย ... แต่ยังไม่หมดหรอก มันมีเรื่อยน่ะ จนสิ้นอัสมิมานะนั่นแหละ

เพราะในขั้นละเอียดของการไปสู่ภูมิพระอรหันต์น่ะ ไม่มีตัวเราเป็นกายหรอก แต่มีธรรมเรา มีธรรมของเรา แล้วมันยังมีการหาธรรม หาอดีตของธรรม อนาคตของธรรม นั่นเรียกว่าเป็นอุทธัจจะในธรรม ...ก็นั่นน่ะ ถ้าไม่มีเรา มันจะไปหาทำไม มันยังสงสัยทำไมในธรรมที่ไม่รู้

ศีลสมาธิปัญญา ... เริ่มต้นด้วยศีลคือความปกติกาย  ซึ่งความเป็นปกติกายมันมีอยู่แล้ว  ไม่ใช่ว่าต้องสร้าง ต้องค้น ต้องหา ต้องทำขึ้นมาใหม่  กายนี้เป็นศีลมาโดยเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิด เขาแสดงความเป็นปกติธรรมดามาตั้งแต่เกิดแล้ว

เพียงแต่ว่า เรารู้เห็นความเป็นปกติธรรมดานี้ ไม่ต่อเนื่อง ... ศีลมีแต่ไม่รักษา กลับไปสมาทานศีลนอก แล้วก็รักษาศีลนอก จนลืม ละเลย ศีลใน...คือกาย เป็นศีลที่แท้ เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลในไตรสิกขา เป็นศีลที่จะทำให้เกิดปัญญาญาณ

การรักษากาย รักษาปกติกาย  รักษาด้วยการรู้เห็น ด้วยสติ เจริญอิริยาบถในกาย เจริญอิริยาบถย่อยในกาย นั่นแหละ จริงๆ คือการรักษาศีลไปพร้อมกัน ... เพราะในขณะเบื้องต้นน่ะ มันยังไม่เกิดปัญญาหรอกในการที่ยืนเดินนั่งนอนแล้วรู้เห็นอยู่ ...ก็ต้องทำให้มันเต็มรอบของศีลก่อน

เหมือนถากถางทางให้มันโปร่งโล่ง ให้มองเห็นพอเป็นแนวทาง แล้วค่อยเดิน ... ถ้าศีลมันต่อเนื่องดีแล้วในระดับที่มันไม่แหว่ง ไม่เว้า ไม่วิ่น จนเป็นช่องให้กิเลสไหลไปไหลมา นั้นน่ะมันก็จะมาเห็นกายตามลำดับตามความเป็นจริงชัดเจนขึ้น

ปัญญามันเกิดขึ้นต่อไปเอง...ด้วยการเห็นกายสักแต่ว่ากาย ไม่ได้เห็นกายเรากายเขา  เห็นกายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล  เห็นกายสักแต่ว่ากาย ไม่มีราคาค่างวด ...เป็นกลาง เป็นปกติธรรมดา ไม่มีราคา ครอบครองไม่ได้  นั่นมันก็ชัดเจนในกาย

เพราะนั้นกายมันยังมีให้ชัดเจนขึ้นไปอีกตามลำดับน่ะ ตั้งแต่กายทุกขัง กายอนิจจัง จนถึงที่สุด เห็นกายเป็นอนัตตา ... เพราะนั้นในระหว่างที่เรียนรู้ตอนนี้ มันก็จะเรียนรู้กายเป็นทุกขัง กายอนิจจัง ...เห็นอนัตตานิดๆ หน่อยๆ ในการดับไปบางครั้งบางคราว

พอมันเจนจบ เจนจัดในปัญญาญาณนี่  มันจะเข้าไปเห็นความดับๆๆๆ คือเห็นความเป็นอนัตตาของกาย ต่อเนื่องขึ้น 

ตอนนี้ไม่ต้องเห็นมันดับหรอก แค่เห็นกายก่อน...มันยังไม่เห็นเลย ใช่มั้ย  มันไปตามลำดับน่ะ ... อย่ามาถามว่า จะดูความดับได้มั้ย ...เอาให้เห็นกายก่อน อย่าลืมกายก่อน เห็นมั้ย มันมีตามลำดับ 

เพราะนั้นถ้ายังลืมกาย ยังไม่อยู่กับกาย ยังไม่เป็นมหาสติ ...จะไปเห็นความดับ มันก็ข้ามขั้นตอนไป ...คืออยู่บันไดขั้นที่หนึ่งนี่ จะขึ้นไปชั้นสูงสุดของคอนโดให้ได้ เหมือนหมากับปลากระป๋อง เหมือนลิงกับเครื่องบิน มันก็ได้แต่มองน่ะ มันไม่ได้

เอารู้กายก่อน ให้อยู่กับกายปัจจุบันก่อน ให้เห็นกายปัจจุบันก่อน ให้มันเชื่อว่ากายปัจจุบันคืออะไรก่อน ให้มันเห็นกายปัจจุบันว่ามันเป็นใครของใครรึเปล่าก่อน 

เออ แล้วมันก็จะเห็นอย่างนี้  เห็นกายว่างขึ้นๆ เห็นตัวตนของกายเป็นแค่ขณะนึง ชั่วคราวนึงแล้วก็หายไป ...ชัดเจนขึ้น มันจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นในความหายไปของกาย ในการลุก การเดิน การหยิบ การจับ การเคลื่อน การไหว

เหมือนฟ้าแลบ ...เห็นกายเหมือนฟ้าแลบ วูบๆ..ดับ วูบๆ ดับ วูบ...ดับๆ  เห็นมั้ย กายตัวเดียวนี่แหละ จบ ถึงอนัตตาเลย ...เพราะในระหว่างที่อยู่ในกายอนัตตา เห็นกาย ศึกษากาย เรียนรู้กายนี่ นามธรรมมันก็มี แต่ไม่สนมัน 

ไม่สนแล้วมันเป็นยังไง ...มันก็ดับๆๆๆ  ก็แค่อะไรเกิดๆ ดับๆ ยังไม่รู้เลยอะไรมันเกิดอะไรมันดับ ไม่สนใจ ...ก็เห็นนามเป็นสิ่งนึงที่เกิดๆ ดับๆ เป็นไตรลักษณ์โดยปริยายแล้ว ...แล้วมันยังเหลืออะไรปรากฏอยู่ล่ะ 

ยืนเดินนั่งนอนยังปรากฏอยู่ ...ขนาดไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ มันก็ยังมีไอ้ตัวนี้ ยังตั้งอยู่...มีอยู่จริงในปัจจุบัน  แต่ยังไม่จริงถึงที่สุด ถ้าจริงถึงที่สุดต้องเห็นอนัตตา ... เพราะไอ้ตัวตนที่จริงอยู่ในปัจจุบันก็เป็นแค่ตัวตนชั่วคราว หรือการประชุมแค่ชั่วคราวของกองสังขาร ของกองขันธ์เท่านั้นเอง

เห็นปัจจุบัน แล้วค่อยละปัจจุบัน  เพราะจะละปัจจุบันไม่ได้ ถ้าไม่เห็นปัจจุบัน ...แล้วถามก่อนว่า อยู่กับปัจจุบันมั้ย ทุกวันนี้ ทั้งวันนี้ ...เอางั้นเหอะ  นั่นแหละ ศีลมันแหว่ง 

เพราะนั้นถ้าเห็นปัจจุบันกายได้ต่อเนื่อง เมื่อไหร่ที่รู้ปัจจุบันเห็นปัจจุบันแล้ว จึงจะเห็นความดับไปของปัจจุบัน ...ทุกอย่างมันเป็นตามลำดับ

นอกนั้นเป็นในตำรา ...ไอ้ตำรานี่เขามีไว้แอบอ้างกับอวดอ้าง ไม่ได้มีเอาไว้กินไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้เป็นมรรคผลนิพพาน แต่มีไว้แอบอ้างกับอวดอ้าง ถ้าภาษาเราก็บอกมันเกินว่ะ...เกินปัจจุบัน 

ถ้าปัจจุบันจริงแล้ว บอกว่าเหลือแค่นี้...กายกับใจ นั่งกับรู้ เดินกับรู้ ยืนกับรู้ ไหวกับรู้ นิ่งกับรู้ เย็นรู้ อ่อนรู้ แข็งรู้ เนี่ย มันจะเหลือความจริงแค่นี้ ...ให้มันเหลือแค่นี้พอ

ปล่อยให้คนอื่นเขาเอาตำรามาอ้าง ไว้อวด ไว้แอบอิง เอาไว้หนุนหัวแทนหมอน เอาไว้บนหิ้งกราบเช้ากราบเย็น  แล้วใครไม่กราบตามตำรากูนี่โกรธ กูโกรธ กูหงุดหงิด ดูถูกตำรากู  มันก็เลยหมายว่าตัวกูคือตำรา ไปไหนก็แบกตำราไป ...มันผิดทั้งกระบิน่ะ ทั้งตัวกู ทั้งความรู้ของกูในตำรา  ...

ธรรมจริงๆ น่ะไม่ได้ยาก ถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติ ... แล้วให้อยู่ในกรอบอยู่ในหลัก อย่าให้ออกนอกหลัก ให้เกิดความเนิ่นช้า เนิ่นนาน ในการไปเกาะติดอยู่กับความรู้ใดความรู้หนึ่ง สิ่งที่มันรู้อันใดอันหนึ่ง 

เมื่อมันไปเกาะติดอยู่กับสิ่งที่มันรู้ใดสิ่งที่มันรู้หนึ่งด้วยความไม่มีสติหรือด้วยความเผลอเพลินเมื่อไหร่ปุ๊บ มันจะเกิดความยึดมั่น เกาะเกี่ยว หมายมั่นแข็งแกร่ง ยืดยาวผูกพันไปเรื่อย

รู้ให้เร็ว...ละให้เร็ว  สติให้เร็ว...ละให้เร็ว  ออกมา ถอยออกมา แล้วต้องจับหลัก อยู่ที่กายไว้เป็นหลัก...ปัจจุบันกาย ปัจจุบันรู้ไว้ เป็นหลักเลย ...แล้วก็อยู่ที่กายสักแต่ว่ากาย รู้สักแต่ว่ารู้ไป 

ตาหูจมูก รูปเสียงกลิ่นรส  ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้เห็น ได้ยิน...จบ  อย่าไปคิดมาก อย่าเอาจิตไปคิดต่อ กับรูปที่เห็น กับเสียงที่ได้ยิน กับกลิ่นที่กระทบ กับรสที่สัมผัส กับสิ่งแวดล้อมที่มากระทบกายรอบตัว เป็นผัสสะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง

แล้วทุกอย่างมันก็จะสั้นลง สั้นลงไป จะเหลือแค่สองสิ่ง คือรู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ...แล้วจากนั้นไปไอ้สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมด ก็จะกลายเป็นสักแต่ถูกรู้ ไม่มีความเป็นสัตว์ ไม่มีความเป็นบุคคล ไม่มีความเป็นเจ้าของ ไม่มีความเป็นของใคร เป็นแค่สิ่งหนึ่ง แค่นั้นน่ะ ไม่มีค่าเกินนั้น ปัญญามันจะเห็นของมันเอง

เชื่อ...ด้วยสัมมาสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้เชื่อแบบบังคับ...'ต้องเชื่อนะ'  แต่มันเชื่อด้วยสัมมาทิฏฐิ...เห็นแล้ว รู้แล้วด้วยสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเอง จนมันยอม...จิตไม่รู้มันก็ยอม  มันก็เก็บของกลับบ้านเก่ามัน บ้านเก่าของมันคือไม่มีบ้าน คือมันไม่มี บ้านเก่ามันน่ะ ไม่มีอะไร ...มันก็กลับหายไปสู่ความไม่มีอะไร

จริงๆ จิตมันไม่มีอะไร ไม่มีบ้านช่องห้องหอด้วยซ้ำ ไม่มีที่มาที่ไปของมันด้วยซ้ำ  แต่มันลืมตาอ้าปากได้ก็เพราะอะไร ...เพราะโง่ซ้อนโง่ เพราะจริงจังกับความโง่ อันนี้ มันก็เลยเผยอคอของมันอยู่ตลอด เที่ยวฉกเที่ยวกัดเขาไป  ฉกกัดคนอื่นไม่ได้ มันก็หันมาฉกตัวเองซะเฉยๆ อย่างนั้นแหละ 

จิตเจ้าของก็สร้างทุกข์ให้เจ้าของ จิตเจ้าของก็สร้างทุกข์ให้คนอื่นไปเรื่อยน่ะจิต ... ทั้งๆ ที่ตัวจริงๆ มันไม่มีตัวตนอะไร เป็นแก่นสารสาระแต่ประการใดเลย

ถ้าตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ แล้วก็เห็นมันธรรมดานี่ ...ก็เห็นมันแค่อะไรวูบๆ วาบๆ แค่นั้นเอง นั่นแหละลักษณะของจิตตามความเป็นจริง มันเป็นแค่อะไร วูบๆ วาบๆ  อารมณ์ก็เหมือนกัน กิเลสก็เหมือนกัน เป็นนามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น เป็นนามธรรมอันหนึ่ง 

มารียนรู้ที่กายที่เดียวน่ะ จบหมด จบที่ใจหมด ... ดูจิตมันจะมีมาให้ดูไปเรื่อยน่ะ อยากดูอะไรก็เห็น อยากให้เห็นความละเอียดมันก็มีความละเอียดให้เห็น อยากเห็นสภาวธรรม มันก็ให้เห็นเป็นสภาวะนั้นสภาวะนี้ขึ้นมา 

เพราะจิตมันเนื่องกับ “เรา” เมื่อ “เรา” อยากเห็นอะไรนี่ เดี๋ยวเหอะ มันก็บอก 'รอก่อน รอหน่อย เดี๋ยวมา เดี๋ยวกูไปเก็บรวบรวมสะสมไว้' เดี๋ยวปึ้บ เห็นแล้ว...จิตเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนี้  เอาล่ะ ดีใจ รอมาตั้งนาน 

ไอ้ที่รอมาตั้งนานนี่ 'กู' รอเก็บเกี่ยวผลอยู่ เข้าใจรึเปล่า นั่นแหละ เรากำลังสร้างมันโดยไม่รู้ตัว แล้วมันก็ก่อร่างสร้างสภาวะขึ้นมา...มาหลอกต่ออีกทอดนึง


โยม – เหมือนมันปรุงใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – ภายในมันปรุงของมันอยู่แล้ว ด้วยความอยากของเรานั่นแหละ แต่มันปิดบัง ไม่รู้ตัวหรอกว่าไอ้สภาวะที่เกิดขึ้นน่ะ เกิดจากจิตเราเองนั่นแหละปรุง...เพราะเราอยากเห็น ให้มันได้ แล้วเข้าใจว่าได้ เข้าใจสภาวธรรมนั้น 

แต่ถ้าเราไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ สภาวธรรมไม่มีหรอก ...นิพพงนิพพานไม่มีน่ะ โสดาบันโสดาแบะ ไม่มีอ่ะ ...ไม่คอยเทียบเคียงอะไรเลย ไม่มีจิตไปรออะไรเลย ไม่มีเราไปรอตรงไหนเลย  ...มีแต่รู้กับเห็น รู้กับเห็นกายปัจจุบัน รู้กับเห็นรูปปัจจุบัน รู้กับเห็นเสียงปัจจุบัน รู้กับเห็นกลิ่นรสปัจจุบันแค่นั้นเอง

ไม่มีไปรอดูอะไร ไม่มีไปรอสภาวธรรมไหน ไม่รออะไร  เพราะมันมีเรื่องที่จะต้องรู้อยู่ตลอดเวลาในปัจจุบัน ไม่เสียงก็เห็น ไม่ตาก็หู ไม่หูก็กาย เอ้า มันมีนี่ แล้วก็เลยไม่มีเวลาไปรออะไร  ไปรอดูอะไรดีล่ะ


โยม – มันเหมือนไม่มีเวลาปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – อือ นั่นแหละเขาเรียกว่ามันระงับ ระงับจากความปรุงแต่ง ระงับจากกายสังขาร ระงับจากจิตสังขาร


โยม – อย่างเวลานั่งดูเวทนา ถ้าจิตเกาะอยู่ที่หลักได้สม่ำเสมอ มันจะรู้สึกว่าจิตไม่ไปปรุงแต่งกับเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วมันก็จะนั่งไปได้เรื่อยๆ  แต่ถ้าปล่อยให้จิตไหลมาอยู่ที่ตรงที่มันเกิดทุกขเวทนา มันก็จะมีเอาอันโน้นอันนี้มาปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว  แล้วก็เหมือนกับมันก็จะบีบคั้นตัวเองให้มันทนไม่ได้กับสภาวะที่เรายังนิ่งอยู่ตรงนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ – มันกลัวพิการ ...ถ้าเอาจิตไปอยู่กับเวทนาอย่างนั้นน่ะ มันจะกลัวพิการ มันจะกลัวเดี้ยง มันจะกลัวใช้การไม่ได้ มันจะกลัวว่าจะเป็นโรคข้างหน้า มันจะกลัวว่าเส้นจะขอด ขามันจะเดี้ยง ...จิตทั้งนั้นน่ะ ที่มันปรุง


โยม – ตรงนั้นนี่ ถ้าเรากลับมาที่หลัก มันก็ยังเฉยๆ กายมันยังคงของมันอย่างนั้นได้

พระอาจารย์ – มันก็ต่างคนต่างอยู่


โยม – แต่ถ้ากำลังที่จะสม่ำเสมอที่หลักไม่พอ มันก็จะไปเอาเรื่องเอาราว ปรุงแต่งบีบคั้นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – แน่นอน ...เวทนาเป็นเรื่องของพระอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องของปุถุชน  ไม่ใช่ละกันได้ง่ายๆ ...ถึงละได้ก็ละแค่ชั่วคราว ยังไม่ตลอด ...ด้วยการยอมรับโดยแท้จริง มันยังจะมี


โยม – ก็เห็นแค่แบบนี้ไปใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ – ศึกษามันไป  ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา  คำว่าสิกขานี่ก็คือ ระหว่างเดินในมรรคนี่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาไปเรื่อยๆ  มันก็เก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจไปตามลำดับ ...จะไปละตรงนั้น ณ ตอนที่การศึกษายังไม่เพียงพอ หรือสติสมาธิปัญญายังไม่เต็มรอบเลยนี่...มันได้ชั่วคราว


โยม – อย่างที่พระอาจารย์ว่า คือ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องของจิตที่มันบีบคั้นตัวมันเอง

พระอาจารย์ – ลึกๆ มันยังยึดอยู่


โยม – แต่ก็พอถึงสภาวะนึง มันก็ทนไม่ได้ มันก็ขยับ

พระอาจารย์ – ถูกต้อง ไม่ผิดหรอก  แล้วก็อย่าไปคิดชนะมัน  ศึกษาไป รู้ไป มันก็เก็บเกี่ยวความเข้าใจไปเรื่อยๆ


โยม – ก็คือใช้วิธีอย่างที่ เราก็เกาะอยู่ที่หลักของเรา แล้วเราก็เหลือบดูตรงนี้เวลาที่เกิดขึ้น ก็ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – อือๆ ... ได้


โยม – เพราะเห็นบางที่เขาบอกว่าต้องเข้าไปดูเวทนาจนมันดับอย่างนี้น่ะค่ะ ...มันจำเป็นต้องไปดูถึงขนาดนั้นมั้ยคะ

พระอาจารย์ – ไม่ต้องอ่ะ


โยม – ให้เราอยู่ที่หลัก แล้วก็เหลือบดูอะไรอย่างนี้ไปใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – ทำงานของเราไป


โยม – ค่ะ

พระอาจารย์ – งานของเราคือ อยู่ในของสองสิ่ง...รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ จะจับอะไรเป็นสิ่งที่ถูกรู้ก็ได้ แล้วมันไม่เคลื่อน  จะจับเวทนาเป็นสิ่งที่ถูกรู้ก็ได้ จะจับกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ก็ได้  อะไรก็ได้ ให้มันรู้อยู่กับสิ่งนั้น

สำคัญอย่าไปรู้กับจิต...ตายหยังเขียด บอกให้  ตอนมีเวทนาว่าจะไปดูจิตรู้จิตนะตายหยังเขียด ...ไม่เกินห้านาที ลองดูสิ  ลองปล่อยจิตให้คิด แล้วดูว่าจะรู้ว่าคิด อยู่ไม่นานหรอก ...แต่ถ้าไม่สนใจความคิด ไม่ปรุงความคิดขึ้น รู้ว่านั่ง เป็นก้อนนั่งแค่นี้ จะอยู่ได้นานกว่านั้นอีก


โยม – ก็ยังได้นานกว่านั้นอีกประมาณนึง

พระอาจารย์ – ถึงบอกว่าอย่าริอ่านไปดูจิต เสร็จ มันจะลากออกนอกปัจจุบันเลย แล้วกายสังขารจะตามมา  จิตสังขารเสร็จ กายสังขารจะตามมา เดี๋ยวก็ยกขาออกแล้ว ...นั่นน่ะกายสังขารตามมาจากจิตสังขาร มันก็ส่งทอดออกมาเป็นทอดๆ


โยม – แล้วเหมือนยิ่งไปให้ค่า ตรงที่จิตรู้สึก ก็ยิ่งทวีขึ้นเรื่อยในทุกขเวทนา จากความเป็นจริงที่กายมันเผชิญ

พระอาจารย์ – อือ ถึงบอกให้ตั้งมั่นอยู่ที่กาย รู้ถึงความเป็นก้อนเป็นธาตุของกายไว้ แล้วก็รู้อยู่  นอกนั้นเหลือบดู พอให้เห็นว่ายังมีอันนี้อยู่ จบ ไม่ต้องหาเหตุหาผลกับมัน ไม่ต้องเอาถูกเอาผิดกับมันด้วย ...ต่างคนต่างอยู่

หน้าที่ของเราคือดูกายรู้กายเป็นก้อน นั่ง กำลังนั่ง เอาให้ได้นานที่สุด ไม่นั่งก็เป็นลม ไม่เป็นลมก็เป็นรู้ สลับกันอยู่แค่นี้  ไม่อยู่กับกายก็อยู่กับรู้ ไม่อยู่กับรู้ก็อยู่กับกาย ไม่เอากายก็เอารู้ ...พอรู้ได้ก็สบาย ถ้าอยู่กับรู้ได้ก็ไม่มีกาย เมื่อไม่มีกายก็ไม่มีเวทนา มันก็สลับไปสลับมาอย่างนี้

อย่าอยู่ที่จิตนะ ตาย จิตแรกออกมา 'กูตายแน่เลย' นั่นน่ะตายแล้ว  แล้วก็ตายตามมันเลย ออกจากท่านั่ง จะไปตาย นอนตายดีกว่าที่ที่นอน ที่ห้อง  แค่จิตบอกว่าตายแน่ เสร็จ แล้วยังคิดว่าต่อจากตายแน่ไปนี่ พิการแน่ๆ เลยเรา ... แค่เนี้ย ภาษานี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ตาย...ยกคลอก

คือถ้าเราไม่ใส่ใจเลย ก็รู้ว่าแค่นั้น อย่าไปดูต่อๆ อย่าไปจดจ่อ อย่าไปดูต่อ อย่าไปดูว่ามันคิดอะไรต่อ เดี๋ยวมันปรุงความคิดขึ้นมาอีก


โยม – แค่เราเห็นแล้วเราแค่รู้ แล้วเรากลับมา

พระอาจารย์ – กลับมาอยู่กับรู้ ไม่ต้องไปจ้อง ไม่ต้องไปเอาชนะ ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ไม่ต้องไปพิจารณา

มันจะพิจารณาได้ตอนไหน...ตอนหมาจนตรอก  สมมุติว่าเรากำหนดเวลาไว้ทั้งคืน แล้วนั่งอยู่โดยที่ว่าเอาสัจจะเป็นรั้วกั้นนี่  ถึงตอนนั้นน่ะ ปัญญามันจะออกมาแบบหมาจนตรอก...มันไปไหนไม่ได้แล้ว ยังไงมันก็ต้องคิด

แต่มันจะไม่คิดเรื่องอื่น เพราะว่าคิดยังไงกูก็ไม่ออก มันก็เลยเอาความคิดนั่นย้อนกลับมากายใจนี่เลย ที่เวทนานั่นเลย  แล้วความคิดนั้นจะพาเข้าไปจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ออก จนแยกออกเป็นส่วนๆ ไป ...นั่น ปัญญาแบบหมาจนตรอก จึงใช้การได้ ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากความอยาก

เพราะมึงคิดยังไงกูก็ไม่ออก ไม่สน 'อีกตั้งสามชั่วโมง อีกตั้งห้าชั่วโมง'...ยังไงก็ไม่สน ยังงี้  มันติดสัจจะอธิษฐานไว้ มันก็ต้องทนทุกข์อยู่จนถึงวาระที่มัน...'ทำยังถึงจะไม่ทุกข์' มันต้องคิดๆๆ เลย ห้ามความคิดไม่อยู่แล้ว  แต่มันไม่คิดเรื่องอื่น เพราะคิดเรื่องอื่นกูก็ไม่ออก มันก็เลยต้องคิดเรื่องกายเรื่องเวทนานี้โดยปริยาย ...มันเป็นไฟท์บังคับน่ะ ไม่คิดก็อยู่ไม่ได้แล้ว

แต่ในลักษณะของปัญญาวิมุติ...ไปแบบเรียบๆ ง่ายๆ ตามกำลัง ...รู้ไป อยู่กับกายไป  พอจะไม่ไหวก็รู้ว่าไม่ไหว เอาออกก็รู้ว่าเอาออก ดูอากัปกริยาปัจจุบันนั้นไป  อย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจ อย่าไปคิดว่าได้หรือไม่ได้อะไร ...ให้มันรู้เท่าทันปัจจุบันต่อเนื่องไป

นี่คือไปแบบเอาน้ำเย็นเข้าลูบ แต่ลูบทั้งวันนะ ...ถ้าน้ำเย็นเข้าลูบนี่ต้องลูบตลอดเวลานะ...ไม่งั้นเดือด เดือดร้อน เดือดเนื้อร้อนใจ แล้วก็เดือดร้อนคนอื่นด้วย  เพราะนั้นเอาน้ำเย็นลูบนี่สบายดี แต่ต้องตลอดนะ ต้องคอยเอาน้ำเย็นเข้าลูบตลอด

รู้ตัวอยู่ตลอด เห็นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะทำดีทำร้าย อาการดี อาการร้าย ผีเข้าหรือผีออก  ผีเข้าก็รู้ ผีออกก็รู้ ไม่มีผีเข้าไม่มีผีออกก็รู้  เนี่ย เขาเรียกว่าเอาน้ำเย็นเข้าลูบตลอดเวลา มันถึงจะไปได้ตามลำดับ

แต่ไม่ใช่มาเล่นเอาน้ำเย็นเข้าลูบตอนที่กูจะเอาขาออกอย่างนี้ แล้วนอกนั้นปล่อยสบาย ไม่ดูไม่แล เนี่ย ไม่ได้เรื่องแล้ว  ไอ้นี่เขาเรียกแอบมีกิเลสแทรกแซง มันออกด้วยการเอาปัญญามาบังหน้า ข้างหลังเป็นกิเลส ความอยากเป็นตัวนำ ...ไม่ใช่อย่างนี้

มันต้องลูบตลอดต่อเนื่องไป ด้วยสติ จุลสติ รักษาศีลต่อเนื่องไป ... ไม่มีการเข้าสมาธิ ไม่มีการออกสมาธิ ไม่มีการว่าไม่ดูเวทนา  เพราะกายปกติมันก็มีเวทนาอยู่แล้วทั้งวัน มันก็ศึกษาเวทนาในกายทั้งวัน

เพราะปกติกายก็คือเวทนาเฉยๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง เมื่อย ปวด คัน อะไรพวกนี้เป็นเวทนา  ยืนกลางแดดร้อน ร้อนนี่ก็เวทนา 'เราร้อนอีกแล้ว เราไม่พอใจ' คิด...ก็เห็น นี่ นิดๆ หน่อยๆ เก็บมันทุกเม็ดน่ะ

ไม่ได้ทำอะไรนะ เก็บมันทุกเม็ดน่ะ...ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นตรงนี้ กับสิ่งนี้ กับร้อนนี้  แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นตรงร้อนนี่ มีเรามากมั้ย กี่ตัว  แล้วมันมีความคิดตามมามั้ย มีลูกติดพันออกไปมั้ย มีความพอใจขนาดไหน ไม่พอใจขนาดไหน หรือเฉยๆ มีอะไรเกิดขึ้นตรงนี้มั้ย ...นี่ เก็บมันทุกเม็ด

ไม่ได้ห้าม ไม่ได้แก้อะไรเลย ...แต่เก็บรายละเอียด เพื่อที่จะชัดเจน แยกแยะออก ในการปรากฏขึ้นของอาการของขันธ์ที่เกิดจากกิเลส อาการของขันธ์ที่เกิดจากความไม่รู้ อาการของขันธ์ที่ไม่ได้เกิดจากรู้หรือไม่รู้ ที่เป็นปกติ ...มันก็จะแยกออกเอง  

เมื่อเก็บรายละเอียดของมันอย่างนี้ด้วยสติ เห็นความเป็นธรรมดาของกายที่มันอยู่ มันแสดง ...มันก็จับพิรุธได้เองน่ะ ว่าพิรุธมันอยู่ตรงนี้...จิต...จิตที่ไปหมาย  ... ก็ดูไป

ดูกี่ครั้ง ดูกี่เรื่อง มันก็ซ้ำซากๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ไม่ว่าหนาว ไม่ว่าร้อน ไม่ว่าแข็ง ไม่ว่าอ่อน ไม่ว่านิ่ม เหล่านี้ ทุกอย่างมีค่าหรือไม่มีค่านี่ อะไรมันไปให้ค่า...มันจะเห็นจับพิรุธได้เลย นี่

พอมันจับพิรุธได้ เรียกว่า ปัจจัตตัง 'อ๋อ เข้าใจแล้ว...ในระดับนึง' มันรู้ของมันเอง เข้าใจของมันเอง ด้วยการเรียนรู้ ศึกษา เรียกว่าศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา มันศึกษาด้วยสติศีลสมาธิปัญญา มันก็ อ๋อ เข้าใจแล้ว

จับประเด็นได้ว่า...อริยสัจสี่ อะไรเป็นอะไร  อันไหนทุกข์ อันไหนสมุทัย อันไหนมรรค อันไหนผล แยกออก  พอมันแยกออกได้ชัดเจน ด้วยตัวของมันเอง มันก็ทำถูกทำตรงแล้ว การปฏิบัตินั้นจะตรง ทุกข์รู้ สมุทัยละ มรรคเจริญ ผล...ช่างหัวมัน

แต่ตอนนี้พวกเรามันบิดเบือนน่ะ...ทุกข์ดันละ สมุทัยดันเจริญ มรรคช่างหัวมัน ผลน่ะกูอยากได้ ...มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่าล่ะ ไปดูเอา 

เพราะนั้นธรรมะที่ปรากฏก็เลยบิดๆ เบี้ยวๆ คดๆ งอๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็สงสัย 'เอ๊ ทำไมมันได้ ทำไมมันไม่เป็นยังงี้ เอ๊ ทำไมแต่ก่อนมันเป็นวะ' ... มันไม่ชัดเจนเลย มันสับสน

เพราะว่าอริยสัจ มันไม่แจ้งในอริยสัจ  กิจที่กระทำในอริยสัจก็ไม่ตรงตามกิจที่พึงกระทำต่ออริยสัจ  ทุกข์ให้รู้ดันละ สมุทัยท่านให้ละดันสร้าง มรรคก็บอกให้รู้มากๆ รู้เฉยๆ ก็ดันไม่รู้อะไรเลย ...มีแต่จะเอา จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ๆๆ 

ไม่ได้อย่างนี้ก็จะเอาอย่างนั้น ไม่ได้อย่างนั้นก็จะเอาอย่างนี้  พอไม่ได้อย่างนี้ก็จะหาวิธีนี้ให้ได้อย่างนั้น  ถ้าวิธีนี้แล้วจะไม่ได้อย่างนี้ ก็ต้องเอาวิธีนั้นมาทำอย่างนี้แล้วมันจะได้อย่างโน้น  นั่น มันจะงงน่ะ ขนาดพูดยังงงน่ะ มันหลากหลายเกินไป ...อันนั้นน่ะมรรคของมัน...มักมาก มักไม่จบไม่สิ้น

ไอ้ที่ว่ามรรค...ในองค์มรรค...คือศีลสมาธิปัญญา คืออะไร...สติ...รักษากายปกติกายไว้  รู้เฉยๆ ในความเป็นกลางของกายที่เขาแสดงความเป็นปกติ  เย็น...รู้  นี่ ลมพัดเย็นๆ ปกติใช่มั้ย  อันนี้ไม่ได้ผิดปกตินะ ถ้าใครบอกว่าร้อนโว้ย ไอ้นี่บ้า หรือไปยืนกลางแดดบอกเย็นสบายจัง ไอ้นี่ก็บ้า ไอ้นี่มันผิดปกติ

แต่ไปยืนกลางแดด รู้สึกร้อน รู้สึกอ้าว นี่ปกติ  ...ไม่ได้เรียกร้องนะ ไม่ได้บอกว่าต้องอ้าวนะ มันเป็นของมันเองโดยปกติ  นี่...นี่คือรักษาดูความปกติกาย นี่เรียกว่าอยู่ในศีล เจริญศีล รักษาศีลอยู่ ... แต่ถ้าเดี๋ยวแป๊บนึง ไปคิดถึงลูกคิดถึงบ้าน ลืมแล้ว ...นี่ศีลขาด จิตไม่ตั้งมั่นในปัจจุบัน สมาธิก็ไม่เกิด

เอ้า พอแล้ว เท่านี้ ... ไปทำเอาเอง ทำไปละความสงสัยไป ... รู้ไปละไป ละจิตไป  จิตเขามีให้ละ เขาไม่ได้มีให้ดู ไม่ได้มีให้ตาม...มีให้ละ ... รู้ว่าคิดอีกแล้วๆๆ หลงคิดอีกแล้ว เนี่ย แค่นี้  ให้ละ รู้จิตเห็นจิตเพื่อละ ไม่ใช่ มีอะไรให้ดูวะ จะดูอะไร หาเหตุหาผลกับมัน จะดูความเกิดความดับของมัน ไม่ต้องไปดูมันแล้ว

รู้ว่าคิดก็พอ พอแล้ว 'คิดอีกแล้ว'...พอ  มันจะคิดอีก มันยังไม่ยอมเลิกคิด ก็เห็นว่ายังไม่เลิกคิด แค่นั้นน่ะพอแล้ว ให้รู้แค่เนี้ย  รู้เพื่อละนะจิต ไม่ใช่จะไปจดจ่อดูมัน เอาเป็นเอาตายกับการดูจิต เครียด แล้วก็ลอย เลื่อนลอย  มันจะยิ่งดูยิ่งเลื่อนลอย เพราะมันจะลืมกายไปตามลำดับ ...มันจะลืมฐานของขันธ์ห้า


……………………….

  
  

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/1







พระอาจารย์

8/1 (550517A)

17 พฤษภาคม 2555


พระอาจารย์ – จำๆๆ จำมาก จำมากสงสัยมาก ... ธรรม เรียนรู้เอา ให้มันง่ายๆ สั้นๆ แค่นั้น  อย่าให้จิตมันแลบ ยืดออกไป  ...สงสัยลังเล จิตมันก็เคลื่อนออกไป เคลื่อนออกจากฐาน ...ฐานคือปัจจุบัน  อย่าให้มันออกนอกฐานปัจจุบัน ปกติ

ส่วนมากมันจะออกไปหาความไม่ปกติ นั่น จิต มันไม่พอดี มันไม่รู้จักพอ  ให้มันมาอยู่กับความปกติ เงียบๆ อย่างนี้ มันจะได้เรียนรู้ธรรมชาติ...เรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริง ว่าธรรมชาติที่แท้จริงคือความปกติ ธรรมดา ไม่มีความเป็นสัตว์ ไม่มีความเป็นบุคคล

ธรรมชาติที่ใกล้ที่สุดก็คือกาย ...ส่วนธรรมชาติของใจนี่ มันค่อยเรียนรู้ทีหลัง จนถึงที่สุดแล้วมันก็จะเห็นว่าธรรมชาติของใจเป็นอย่างไร ... แต่สำหรับเบื้องต้น สติ สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เห็นธรรมชาติของขันธ์ ให้เห็นธรรมชาติของขันธ์จนมันเข้าใจ

มนุษย์ทั่วไปมันอยู่กับขันธ์ห้านี่ อยู่ด้วยความไม่เข้าใจ อยู่ด้วยความเข้าใจผิดในขันธ์ห้า  มันก็เลยเข้าไปประกอบกระทำในขันธ์ห้าแบบผิดๆ  เมื่อเข้าไปประกอบกระทำในขันธ์ห้าแบบผิดๆ มันก็เกิดทุกข์ เป็นอุปาทานทุกข์

แต่ถ้าให้มันมาเรียนรู้ด้วยสติสมาธิปัญญา มันก็จะเรียนรู้ขันธ์ห้า ว่าธรรมชาติที่แท้จริงของขันธ์ห้ามันเป็นอะไร ... การภาวนามันก็เพื่อจุดหมายนี้แหละ  มันไม่ได้อะไรหรอก แต่มันเข้าใจขันธ์ห้า เข้าใจตัวเราที่เข้ามาสำคัญมั่นหมายในขันธ์ห้า ว่ามันเป็นตัวเราตรงไหน อย่างไร  

จนมันมีปัญญาในตัวของมันเอง ... จิตที่ไม่รู้มันก็จะรู้  จิตที่เกิดจากความไม่รู้ มันก็จะน้อยลง มันก็เหลือแต่จิตที่รู้ตามความเป็นจริง ... เมื่อจิตที่มันรู้ตามความเป็นจริง มันก็จะอยู่ด้วยความสงบ ตั้งมั่น และเป็นกลาง มากขึ้น  

ส่วนไอ้จิตไม่รู้นี่ มันไม่สงบตั้งมั่นและเป็นกลางหรอก  มันคอยจะแส่ส่าย หาเรื่อง มีเรื่อง สร้างเรื่อง แล้วก็เป็นเรื่อง ... เนี่ย จิตที่มันแส่ส่ายด้วยความไม่รู้

เพราะนั้นถ้าไม่ฝึกภาวนา หรืออบรมจิต  เอาจิตสอนจิต เอาจิตเห็นจิตนั่นแหละ  มันไม่ยอม มันไม่ยอมหยุด ไอ้จิตไม่รู้นี่มันจะไม่หยุด  เพราะนั้นยิ่งไปสนับสนุนความคิด สนับสนุนอารมณ์ สนับสนุนความอยากนี่ มันจะยิ่งไปพอกพูนกำลังของความไม่รู้มากขึ้น

แต่เวลาเราทำตามความอยาก ความคิด ตามอารมณ์อะไรก็ตาม...แล้วมันได้ผล  มันก็คิดว่ามันรู้ มันเชื่อว่ามันได้ความรู้ มันเชื่อว่ามันได้อะไร ... ซึ่งไม่จริงหรอก มันไม่ได้อะไร  เพราะอะไรที่มันได้นี่ มันได้แค่ชั่วคราวแล้วก็ดับ แล้วมันก็หาต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

ถึงต้องสอนให้มันมีสมาธิ หยุด ตั้งมั่น อยู่ในปัจจุบัน ... แล้วก็เกิดภาวะที่เรียกว่าทบทวน ทบทวนกายใจ ทบทวนขันธ์ ทบทวนสิ่งที่ปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง ... ทบทวนอยู่ข้างในนี้ มันจะดี มันจะร้าย มันจะอะไร ก็ดูมัน รู้มัน เห็นมันเฉยๆ  ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล

อยู่ในองค์มรรค องค์ภาวนาอยู่ตลอดเวลา ... ส่วนมากมันไม่ตลอดเวลา เพราะมันจะหลง เพลิน เผลอ ลืม แล้วก็กิเลสครอบงำ ...คืออยู่ในอารมณ์กิเลส มันก็ไม่อยู่ในอารมณ์ของมรรคแล้ว

ต้องฝึก มีความเพียร  อย่าอยู่เฉยๆ อย่าอยู่ลอยๆ อย่าอยู่แบบไร้ชีวิตจิตใจ  มันต้องอยู่ด้วยการรู้การเห็น อยู่กับรู้อยู่กับเห็น ทุกปัจจุบันขณะ ... เวลาทำงานนี่ มันหลง ลืม มันส่งออกนอกหมด ไปจดจ่ออยู่ข้างนอก ไม่จดจ่ออยู่ที่กาย มันจดจ่ออยู่ภายนอก นี่ จิตมันมุ่งออกไปภายนอก

มันก็ไม่ผิด มันก็เป็นธรรมดาของความหลง ของการใช้ชีวิตกับการงานประสาคนโลกทั่วไป ... ไม่ผิด แต่ว่ามันมีผลเสีย คือมันไม่รู้ความเป็นจริงของกายใจ เท่านั้นเอง

ถ้าฝึก มันก็จะรู้กายใจพร้อมกับงานภายนอกด้วย ... แต่มันต้องฝึก แล้วมันก็ทำได้คู่กัน ด้วยความตั้งใจ ....มีความตั้งใจ  ถ้าไม่ตั้ง...มันก็นอน ถ้านอนมันก็หลับ เมื่อหลับมันก็ไหล จิตไม่ตั้ง

เพราะนั้นถ้าตั้งใจนั่ง ตั้งใจเดิน ตั้งใจลุก ตั้งใจเคลื่อนไหว ตั้งใจหยิบจับอะไร ตั้งใจทำงาน  ถ้ามีความตั้งใจอยู่นี่ มันจะอยู่ทั้งงานอยู่ทั้งกายพร้อมกัน ด้วยความตั้งใจ  แต่ถ้าไม่ตั้งใจไว้ มันก็หลับ ไหล หลง เผลอ เพลิน ออกไป

เขาเรียกว่า ตักน้ำก็ให้น้ำเต้าไหล เดาไฟก็ให้ไฟมอด เขาเรียกมันทำด้วยความไม่ตั้งใจ มันเลยไม่มีสติระลึกคู่กันกำกับอยู่  มันก็ตกร่องเดิม เผลอ เพลิน  งานมันก็บกพร่อง ภายนอกก็บกพร่อง ภายในก็บกพร่อง ไม่สมบูรณ์

ต้องฝึกในอิริยาบถปกติ...มากๆ  เพราะชีวิตทั้งชีวิตน่ะ มันไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการภาวนาได้หรอก  รูปแบบของการภาวนามันได้แค่ชั่วคราว นั่งสมาธิ เดินจงกรม ที่ต้องอยู่คนเดียวนี่

มันจะต้องฝึกให้ได้ในอิริยาบถปกติ ต้องมีสติกำกับให้ได้ ต้องฝึกๆ  อย่ารีบร้อน อย่าร้อนรน เวลาลุก เวลานั่ง เวลาทำอะไร ให้มันมีสติก่อนลุก ก่อนนั่ง ก่อนหยิบก่อนจับอะไร ก่อนจะพูด กำลังพูด พูดแล้ว พวกนี้ ... มันต้องฝึกกับตัวเอง การภาวนามันก็จะได้ผลขึ้นมา

ผลก็คือเห็นชัดตามความเป็นจริงของกาย เห็นชัดตามความเป็นจริงของใจ ว่าหน้าที่ของใจ...หน้าที่ของกาย...จริงๆ มันคืออะไร  ... มันจะเห็นชัดในอาการของจิต ที่มันเป็นตัวก่อกวน คอยแต่จะหาเรื่องสร้างเรื่องอยู่ตลอด เปรียบเทียบ เทียบเคียง ค้นหา

เมื่อมันเห็นว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรอะไรไม่ควร อะไรจริง อะไรไม่จริง  มันก็ละไอ้สิ่งที่ไม่จริงออก  สิ่งที่ไม่จริงมันจะไปหาของที่ไม่จริง คือจิต มันไปหาของที่ไม่จริง

มันไปหาในอดีตบ้าง หาในอนาคตบ้าง หาในสัตว์บุคคลอื่นบ้าง หาอะไรที่มันจับต้องไม่ได้ คาดเดาไม่ได้บ้าง อย่างนี้  จิตมันชอบไปหาอะไรที่มันไม่มีจริง ตรงนั้นน่ะมันเลยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ถ้ามันสังเกต คอยสังเกตอาการต่างๆ ภายในของตัวเองแล้ว  มันก็เข้าใจ แยกแยะ จำแนกธาตุ จำแนกขันธ์ออกมา จนเหลือแต่กาย ใจ ขันธ์ ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ  กายมันก็เป็นกายเปล่าๆ กายที่เรียกว่าสักแต่ว่ากาย  ทุกอย่างมันก็เป็นอะไรเปล่าๆ ของมัน

เหมือนต้นไม้ เหมือนภูเขา เหมือนก้อนหินก้อนดินนี่ เหมือนอากาศ เหมือนลม  มันมีค่าเท่าไหร่  ดูไปดูมาก็จะเห็นว่า มันมีค่าเท่าศูนย์  ศูนย์บาท ถ้าเทียบเป็นราคานะ ราคามันเท่ากับศูนย์ 

กาย...ถ้าให้ตีราคานี่ ตัวมันน่ะ มันไม่เคยบอกว่ามันมีค่าเท่าไหร่ มันก็มีค่าเท่านั้น เท่ากับศูนย์  ทุกส่วนของกาย ทุกส่วนของขันธ์ มีค่าเสมอกัน เท่ากับศูนย์ นี่ เป็นอะไรที่มันปรากฏอยู่เปล่าๆ ไม่มีค่า ไม่มีราคา

แต่คราวนี้ว่า ความไม่รู้ของจิตนี่มันเข้าไปให้ค่า อันนี้ห้าบาท สิบบาท ร้อยบาท ล้านบาท มันว่าของมันไป ... แล้วก็แต่ละคนมันจะให้ค่าไม่เท่ากัน ไปยืนกลางแดดห้าคนที่เดียวกัน แดดเท่ากัน เวลาเดียวกัน แดด..กาย..รู้ ราคาเดียวกัน ศูนย์บาท  แต่จิตแต่ละคนที่ไม่รู้ มันเข้าไปให้ค่า แดด..กาย..รู้ ไม่เท่ากัน ทุกข์ไม่เท่ากัน  มีความรู้สึกเป็นทุกข์ต่างกัน มากน้อยต่างกัน

ถ้ามีปัญญามาก...ทุกข์น้อย ปัญญาน้อย...ทุกข์มาก  เห็นตามความเป็นจริงมาก...ทุกข์น้อย เห็นความเป็นจริงน้อย...ทุกข์มาก  ถ้าเห็นความเป็นจริงถึงที่สุด...ไม่ทุกข์เลย ... มีแต่แดด ลม สักแต่ร้อน สักแต่รู้ สักแต่ยืน ไม่มีใครให้ราคา  เนี่ย พระอรหันต์ อุปาทานทุกข์ไม่มี

อุปาทานทุกข์เกิดจากจิตเข้าไปหมาย ให้ค่าให้ราคา ... มันก็ให้ว่าร้อนนี่ติดลบ เพราะมันไม่ชอบ ก็ให้ค่าต่ำจนถึงเกินศูนย์ กว่าศูนย์ ก็หมายความว่าติดลบ

ถ้าเรามาเรียนรู้กายใจ มันก็จะเห็นอาการที่มันผิดปกติไป...ที่เกิดจากจิตไม่รู้ มันก็เข้าไปหมาย ให้ค่า ให้ราคา  เมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องละ ... แค่เห็นแล้วยังไม่พอน่ะ เห็นแล้วยังทำตามมันก็เท่านั้นน่ะ  ต้องละด้วย  ละจิตดวงนั้น ละความอยากตรงนั้น ละการให้ค่าตรงนั้น  ด้วยการทวน กลับมาอยู่ที่กาย กลับมาอยู่ที่รู้ จนกว่าจิตผู้ไม่รู้นี่ มันจะยอมรับ...ตามความเป็นจริง

ทุกคนน่ะมันก็รู้ ตามความเป็นจริงคืออะไร ... แต่มันรู้แบบจำ รู้แบบคิด  มันเลยไม่เชื่อ จิตไม่รู้มันเลยไม่ยอมเชื่อ  รู้ในตำรา มันก็ยังแก้ไม่ได้ ....จิตไม่เชื่อ จิตไม่รู้ไม่เชื่อ ไม่ยอม ไม่ยอมรับความเป็นจริง

มันต้องอาศัย สติสมาธิปัญญาเท่านั้น ...คือดำเนินอยู่ในองค์มรรค แล้วก็เอาความจริงน่ะสอน  เอาความเป็นจริงน่ะสอนจิต ด้วยความอดทน พากเพียร  แล้วมันก็จะค่อยๆ ยอมรับความจริงนี้ไปตามลำดับ เพราะความจริงนี้ อะไรมาลบล้างไม่ได้ ไม่มีอะไรมาลบล้างความจริงนี้ได้  

ต่อให้จิตมันจะเก่งกล้าสามารถ มีเหตุมีผล มีข้ออ้าง มีข้อแม้อะไรก็ตาม สุ ดท้ายมันจะมาลบล้างความเป็นจริงนี้ไม่ได้ ความเป็นจริงก็ยืนกระต่ายขาเดียวอยู่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ... ไม่มีค่าก็คือไม่มีค่าตลอด 

ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินมา มันตั้งอยู่ด้วยความไม่มีค่าไม่มีราคามาตลอดชั่วกัลปาวสาน และก็มีสภาวะเป็นอย่างนี้อยู่ชั่วนาตาปี ... จักรวาลนี้เกิด จักรวาลนี้ดับไป มันก็ตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยภาวะที่ไม่รู้ไม่ชี้กับอะไร ... มันเป็นธรรมชาติ  หรือว่าความเป็นไตรลักษณ์นี่ มันไม่มีอะไรมาลบล้างได้  เนี่ย ความจริง

เพราะนั้นว่า คำว่าเนิ่นช้าหรือว่าเสียเวลาของผู้ภาวนา คือมันทำไม่ต่อเนื่อง มันทำความรู้ความเห็นนี้ไม่ต่อเนื่อง  พอไม่ต่อเนื่องปั๊บนี่ ไอ้กำลัง..กำลัง..กำลังจะเชื่อ ก็ไม่เชื่ออีกแล้ว  เกือบๆๆๆๆ เกือบเชื่อ...ไม่เชื่ออีกแล้ว มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่ต่อเนื่อง  

ถ้ามันไม่ต่อเนื่องลงไปแล้ว มันก็จะขาดวรรคขาดตอนของมัน  ไอ้ความที่ให้ค่าให้ราคาหรือว่าจริงจังของจิตหมายมั่น มันทำงานมากกว่า

เพราะนั้นแต่ละวัน ระหว่างวันนี่ มีช่องว่างเยอะ  ถึงบอกว่าศีลมันบกพร่อง ศีลน่ะมันบกพร่อง มันทะลุ มันขาด มันวิ่น มันแหว่ง มันเว้า มันโหว่ มันก็เลยเปิดช่องให้จิตหมายมั่นทำงาน จิตไม่รู้ทำงาน  เมื่อมันทำงาน มันก็ไปหาผล...ผลงานของมัน คือ สุข ทุกข์ โดยรวมเรียกว่าทุกข์

แต่ถ้าไม่ให้จิตไม่รู้ไปทำงาน จิตรู้มันทำงาน มันก็ไปนิพพานเป็นเป้าหมาย  มันทำคนละงานกันจิตสองดวงนี่ จิตรู้กับจิตไม่รู้ ... เพราะนั้นต้องปิดช่อง ไม่ให้จิตไม่รู้มันทำงาน จิตเพลิน จิตหลง จิตอยาก จิตมุ่งไปอดีตสร้างอนาคตอะไรก็ตาม เรื่องราวสัตว์บุคคลคนนั้นคนนี้

อุดช่องรอยรั่วรอยโหว่ ด้วยการรักษาศีล...ศีลห้าคือกาย ขาสอง แขนสอง หัวหนึ่ง เรียกว่าศีลห้า ศีลกาย  รักษากายไว้ ให้สืบเนื่องต่อเนื่อง อย่าลืม นั่นแหละ ศีลที่แท้ เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลในไตรสิกขา

แล้วไปดูเอาว่าทั้งวันน่ะ มันรู้ความปกติกายเห็นความปกติกายได้มากน้อยเท่าไหร่ แสดงว่าศีลไม่เต็ม ขาด  เพราะนั้นเมื่อใดที่ศีลมันขาดมาก แหว่งมาก โหว่มาก ทิ้งช่วงห่างมาก  จิตไม่ตั้งมั่น สมาธิไม่เกิด เกิดก็น้อย เพราะศีลเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ คือจิตตั้งมั่น

เพราะนั้น อยากให้จิตตั้งมั่น...รักษาศีล  อย่าทิ้งกาย อย่าลืมกาย อย่าออกนอกกาย  อย่าลืมอิริยาบถปัจจุบันของกาย อย่าลืมอิริยาบถย่อย ... อิริยาบถใหญ่เรียกว่าศีลใหญ่ อิริยาบถย่อยนี่เรียกว่าศีลที่ป้องกันความด่างพร้อยของศีล คือเติมความบริบูรณ์ขึ้น

ท่านเปรียบศีลเหมือนรั้ว ... มีรั้วแล้ว แต่มันมีรู  นิดๆ หน่อยๆ นี่ เขาเรียกว่ามันด่างพร้อย  ถ้ามันด่างพร้อยก็อุดรายละเอียดมัน เพราะว่าในขณะที่นั่งอยู่เฉยๆ นี่ เดี๋ยวก็...โมหะมันคาบเอาไปกินหน้าตาเฉยเลย  หลับก็ได้ หายไปต่อหน้าต่อตา ลืมไปต่อหน้าต่อตาก็ได้  ขนาดว่ารู้ว่านั่งเฉยๆ นะ มันยังเอาไปเลย

เหมือนอีเหยี่ยวมาโฉบลูกไก่น่ะ ... พอดีเราเป็นลูกไก่ หาทางเอาตัวรอดไม่ได้  กิเลสมา หรือว่าโมหะมันมานี่ มันเหมือนอีเหยี่ยวใหญ่หรือนกอินทรี โฉบ ปุ๊บ เอาลูกไก่ไปกิน  

แต่ถ้าเราฟูมฟักรักษาจนเติบโต เติบใหญ่ เติบกล้าแข็งแรง  ศีลมันแข็งแรงขึ้นมา มันกลายเป็นแม่ไก่แล้ว  รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง  ฉลาดในการที่จะอยู่ยังไงไม่ให้โมหะมาคาบไปกิน ...มันก็ต้องเติมเต็มในส่วนที่มันเป็นรายละเอียด

เพราะนั้นว่าเวลานั่ง หรือว่าทำอะไรอยู่ในอิริยาบถเดียว ไม่ได้เคลื่อนไหว  ก็ให้จิตมันแล่นทำงานในกาย  ไปทางหัวมั่ง คอมั่ง หลังมั่ง หยั่งไปตรวจสอบความรู้สึกตรงนั้น ขึ้นๆ ลงๆ  เคลื่อนไปย้ายมาในสรรพางค์กายนี่ ในขอบเขตปริมณฑล ท่านเรียกว่ากายนครนี่  ข้างล่างบ้าง ข้างบนบ้าง  ดูมัน ในขณะที่อิริยาบถใหญ่ไม่เคลื่อนน่ะ

เพราะถึงจะไม่มีความคิด ไม่มีอะไร  เดี๋ยวมันก็...โมหะประเภทถีนมิทธะ มันก็ไปซึม รู้ก็ไม่ค่อยชัด  กายก็ค่อยๆ เลือน เลือนๆๆ ไป  มืด...ไปจบที่ความมืด ตาบอด  พอมืดปุ๊บก็เหมือนกับตาบอดนั่นแหละ

เอากายเป็นเครื่องอยู่ เอากายเป็นเครื่องเล่น  จนมันชำนาญ จนมันไม่ออกนอกกายเลย จนมันไม่พลั้งเผอเรอ ไม่ลืม ในความมีความปรากฏขึ้นแห่งกาย  สมาธิมันก็จะมั่นคง แนบแน่น เป็นหนึ่ง แน่วแน่ในกายปัจจุบัน

ปัญญามันจะเกิดขึ้นต่อมา ตามมา ...ก็เห็นว่าปกติกายคือปกติกาย ร้อนอ่อนเย็นแข็งนี่คือปกติของมัน  ไม่ได้บอกว่าเป็นเราแต่ประการใด ไม่ได้บอกว่าเป็นของเรา ไม่ได้บอกว่ามันสวยหรือไม่สวย ไม่ได้บอกสภาวะอัตลักษณ์ของมันว่าเป็นชายเป็นหญิง 

ก็เป็นแค่ ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง ทึบ ตึง หนา เบา หนัก แน่น ฯลฯ  นั่นน่ะ หาความเป็นเราไม่มี หาความเป็นชายเป็นหญิงก็ไม่มี หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ไม่เจอ  มันก็ไม่ได้บอกว่าเป็นของใคร ครอบครองก็ไม่ได้ นี่ ปัญญามันจะเกิดเมื่อมันเห็นชัดเจน ไม่เคลื่อนออกจากกายนี้

สักกายหรือความเห็นผิดในกาย หรือความเข้าไปหมายมั่นในกายแบบผิดๆ ด้วยจิตที่ไม่รู้ มันก็จะน้อยลงไป ... จนเหมือนมันลืมไปเลยว่าเราเป็นใครวะ นี่ มันลืม ดูเหมือนมันลืม

ถ้าเผื่ออยู่เป็นสมาธิแน่วแน่ จดจ่ออยู่ที่กายที่ใจมากขึ้น นานขึ้น ต่อเนื่องขึ้น  มันลืมวัน ลืมคืน ลืมเดือน ปี  พ.ศ.  มันลืมวันเกิดวันตายเลย ... มันไม่มีเวลาเลย มันหมดยกออกจากเวลาไปเลย

ยิ่งอยู่กับกายต่อเนื่องกับกายเท่าไหร่  จิตยิ่งสงบ เย็น เป็นปกติ ...สงบเย็นเป็นปกติ ไม่ใช่สงบแบบบ้าบอคอแตก สงบแบบที่คิดเอาเอง สงบแบบที่อยากได้ ... มันจะสงบเย็น เป็นกลาง แบบอิ่มเต็ม พอดี 

ถ้าอยากรู้ว่าความสงบนี้มี ก็พยายามรู้กายดูกายด้วยใจเย็นๆ เงียบๆ ใจเย็นๆ  แล้วจะรู้ว่ามันมีความสงบเย็นในความเป็นปกติธรรมดานี้ของกาย เป็นความสงบตามธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติ 

ความสงบนี่ยิ่ง เพราะเป็นความสงบที่แท้จริง เป็นสงบ สันติ ที่ไม่ได้อิงอามิส ไม่ขึ้นกับอามิส  มันมีของมันอยู่แล้วในธรรมชาติของมันเอง เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นได้ หรือเข้าไปเห็น หรือเข้าไปสัมผัสได้ด้วยการระงับจากความปรุงแต่ง

ยิ่งระงับความปรุงแต่งของจิตมากขึ้นเท่าไหร่ มันจะเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติของความสงบที่มีอยู่ในสากลจักรวาลมากขึ้นเท่านั้น ... เพราะนั้นไอ้เราแค่สงบกับกายแล้วมันรู้สึกเป็นธรรมดาเฉยๆ นิ่งๆ เหมือนจืดๆ นี่ มันยังขั้นพื้นฐานของความสงบของธรรมชาติของความสงบนี้

ถ้าระงับความปรุงแต่ง ความดิ้นรนขวนขวาย ความทะยานอยากที่มันจะพุ่งออกไป  ยิ่งจิตมันพุ่ง เหมือนหม้อน้ำเดือด ปุบปับๆๆ  พอน้ำมันหายเดือด คือน้ำมันเย็นลงแล้ว  มันจะเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติของความสงบสันติที่มีในสากล 

ตรงนี้ เรียกว่าเป็นสงบที่เกิดจากสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สงบที่เกิดจากมิจฉาสมาธิด้วยการทำขึ้นมา  เพราะสงบที่ทำขึ้นด้วยมิจฉาหรือด้วยโมหะนี่ มันยังมีทุกข์มันยังมีโทษปนอยู่  คือมันยังมีผลข้างเคียง  ผลข้างเคียงแบบง่ายๆ ไม่ต้องไปสอบถามใครเลย คือแปรปรวน ตั้งอยู่ไม่ได้นาน แล้วก็ดับไป นี่ มีผลข้างเคียง

แต่ความสงบเย็นเป็นธรรมชาตินี่  ไม่หายไปไหน  มันเป็นเหมือนเป็นอมตะธรรม อมตะธาตุ ที่มีอยู่  แล้วยิ่งเข้าไปเห็นความสงบมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเชื่อแน่วแน่ในธรรมชาติที่ล้อมรอบหรือปรากฏอยู่ในท่ามกลางความสงบนั้น มันยิ่งปราศจากตัวตนของเรา ยิ่งปราศจากการเข้าไปครอบครองถือครองมากขึ้นเท่านั้น 

มันยิ่งปราศจากการเข้าไปถือครองครอบครอง  ก็เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงมากขึ้น  ความสงบจะยิ่งหยั่งลงไป จนถึงที่สุดท่านเรียกว่า นัตถิ สันติ ปรํ สุขํ เลย  นั่นแหละคือความหมายว่า สุขสงบใดไม่เท่ากับนิพพาน  มันหยั่งเข้าไปถึงสภาพดับเย็นเป็นธรรมชาติที่มีอยู่  เพราะมันหมดแล้วซึ่งจิตที่หมายมั่นในที่ทั้งปวง

เหมือนน้ำเดือด มันเดือดเพราะอะไร ... เพราะมีคนใส่ไฟ มีเราเติมไฟ มีเราเติมฟืน น้ำมันก็เดือด ... เมื่อไม่มีเราเติมฟืน ไม่มีเราเร่งไฟ  ถึงน้ำมันยังเดือด แต่เป็นเดือดเพราะผลของการเคยเติมฟืนไฟไว้อยู่  แล้วมันก็จะเย็นเอง ไม่ต้องไปบังคับให้มันเย็นด้วย ...บังคับอยู่อย่างเดียว อย่าเอาเราไปเติมฟืน อย่าเอาเราไปเร่งไฟ

เพราะนั้นภาวะของพวกเราตอนนี้ เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน  บางเรื่องกูก็ไม่เติมน่ะ...ไม่มีเรา  แต่เรื่องนี้กูยอมไม่ได้ ต้องเอาให้มันไหม้กันไปข้างนึง เนี่ย คือมันยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แล้วต่างคนต่างต้มน้ำร้อนแล้วก็สาดใส่กันน่ะ มีหรือมันจะไม่ไหม้ ไม่พอง

เขาสาดมาเท่านี้ เราก็ต้องสาดเขาคืนมากกว่านี้  มันเป็นธรรมชาติของมานะ...ของเรา  ตัวเรามันมีพร้อมกับมานะแหละ ไม่ต้องไปถามว่ามานะอยู่ที่ไหน...อยู่ที่เรานั่นแหละ มันมีคู่กัน  แล้วยิ่งสนับสนุนเราเท่าไหร่ ถือตัวเองเท่าไหร่ มานะก็สูงขึ้นมากเท่านั้น

มันถือทุกเม็ด แม้กระทั่งความคิดของกู ความเห็นของกู...ใครอย่ามาแตะต้องนะ ใครอย่ามาขัดแย้ง ใครอย่ามาโต้แย้งการกระทำของเรา คำพูดของเรา นี่ มานะมันจะสูงขึ้นเรื่อย  เพราะเราถือตัวเราเยอะ เราให้ค่ากับเราเยอะ เราให้ความสำคัญกับเราเยอะ มานะมันก็เยอะขึ้น

กว่าจะไปละมานะได้ มันต้องละตัวเราไปเรื่อยๆ  เห็นมั้ยว่า “เรา” นี่มียันพระอรหันต์น่ะ...อัสมิมานะ  ใครว่าละตัวเราได้ที่โสดาบัน ยังละไม่ได้หรอก  แค่มองเห็นว่า...'เออ นี่ที่ว่าเป็นเรา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรา'  เออ มันแค่เห็นนี่แล้วมันเชื่อ  แต่ยังละไม่ได้ เผลอเมื่อไหร่กูก็ต้ม เผลอเมื่อไหร่กูก็ทำให้มันเดือดขึ้นมา

เพราะนั้นท่านถึงบอกว่า เมื่อใดที่เป็นอริยะเบื้องต้น อริยบุคคลเบื้องต้นนี่ ศีลสมบูรณ์ ในระดับที่เรียกว่า ศีลคือชีวิต  เพราะนั้นศีลของพระโสดาบันไม่ใช่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีล ๒๒๗  ศีลของพระโสดาบันที่ท่านนับถือเหมือนชีวิต ก็คือ ศีลกาย ...คือท่านรักษากายท่านมาก มีปัญหาเคลื่อนออกไปเมื่อไหร่ รู้ตัว กลับเลย โดยไม่ลังเลสงสัยเลย

แล้วรู้ด้วยตัวท่านเองว่า...นี่ เพราะออกนอกนี้  แล้วไม่ดันทุรังแก้เมื่อรู้ตัว...กลับมาเลย  นี่ท่านรักษาศีลเท่าชีวิต แล้วก็ศีลท่านก็จะเต็มเปี่ยมๆๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยอาศัยการเจริญสติ เป็นจุลสติ  เพื่อให้เกิดจุลศีล จนเป็นมหาศีล ศีลใหญ่  จนมันเป็นมหาสติ

เมื่อเป็นมหาสติเมื่อไหร่ มหาสมาธิ มหาปัญญา มันไปตามลำดับของภูมิธรรม  แต่ถ้ายังไม่เข้าอริยบุคคลหรือว่าที่สมมุติเป็นภาษาว่าอริยบุคคลนี่ มันไม่เชื่อ  มันไม่เชื่อว่ากายนี้เป็นศีลที่แท้จริง มันไม่เชื่อว่าการรู้อยู่เห็นอยู่ในกายนี้เป็นมรรค มันไม่เชื่อว่าการรู้อยู่เห็นอยู่ในกายนี้ มันจะละกิเลสได้อย่างไร มันไม่เชื่อว่ารู้เห็นกายอยู่แค่นี้ อยู่ที่รู้อยู่ในกายนี้ มันจะเข้าถึงนิพพานได้อย่างไร

มันไม่เชื่อ ไม่ค่อยเชื่อ ยังสงสัยอยู่ ...ก็พยายาม แต่ยังมีจิตที่มันไม่ยอม มันยังหาอยู่  มันยังหากลอุบาย มันยังหาวิธีการ มันยังหาแนวทางการปฏิบัติ มันยังหาทางลัด ทางตรง ทางเร็ว ทางด่วน  คือกูจะขึ้นฟรีเวย์ คือจิตมันจะไปแบบการบินไทย คือบินไปเลยให้เร็วที่สุด มันจะหาอุบายนั้น

มันยังมีอยู่ มันยังสงสัยในกายใจนี้อยู่ มันยังไม่เชื่อในกายใจนี้อยู่ ว่ากายนี้เป็นศีล ใจนี้เป็นศีล  กายนี้เป็นมรรค ใจนี้เป็นมรรค  กายนี้เป็นกลาง ใจนี้เป็นกลาง อยู่ท่ามกลางกายใจนี้แหละเป็นองค์มรรค ...มันยังไม่แจ้งในองค์มรรค เห็นมั้ย เพราะนั้นมันก็ยังแอบหา และก็ตั้งใจหา

พระโสดาบันนี่...รู้อยู่ ไม่เอาอะไรแล้ว ไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากได้อะไรแล้ว ...ไม่อยากอยู่อย่างเดียวคือไม่อยากลืมกาย เนี่ย กิเลสของพระโสดาบัน  ไม่อยากทิ้งกาย ไม่อยากออกนอกกาย ทำยังไงดี  นี่กิเลสยังมีอยู่นะ เพราะมันไม่ยอมอยู่กับกายตลอด  

แต่รู้เลยว่ากายนี่ มันหนีไม่ได้ ทิ้งไม่ได้  ใจนี่ หนีไม่ได้ ทิ้งไม่ได้  ท่านเชื่อถึงเรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ...ใครมาบอกว่าวิธีนั้นวิธีนี้ดีกว่าเร็วกว่าถูกกว่า มันรู้สึกว่า ไม่ค่อยรับน่ะ ฟังที่หูแล้วก็ดับที่เสียงนั่น มันเข้าไม่ถึงข้างใน  

เพราะบอกแล้วไง ศีลน่ะมันเป็นตัวกั้น เป็นตัวกรอง ไม่ให้เข้ามาถึงจิตถึงอวิชชาภายในได้ง่ายๆ แล้วให้เกิดความปรุงแต่งคิดไปในอดีตอนาคตนี่ มันไม่เปิดช่อง  ถ้าเปิดช่องให้เข้ามันก็มีช่องออก 

พอดีว่ามันมีรั้วศีลกั้นไว้ ก่อนเข้าก็กรอง ออกไปก็กรอง ไปไม่ไกลหรอก แล้วก็รู้ว่าไม่มีอะไร  ถึงบอกว่าพระโสดาบันขึ้นไปน่ะ ท่านมีศีลต่อเนื่อง เป็นศีลธรรมชาติด้วย ไม่ใช่แค่ศีลบัญญัติ ศีลสมมุติ 

(ต่อแทร็ก 8/2)