วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/6




พระอาจารย์

8/6 (550519D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

19 พฤษภาคม 2555




พระอาจารย์ –  หยั่งลงในที่อันเดียวนี่ ... กายก็คือกาย ใจก็คือใจ นั่งก็คือนั่ง รู้ก็คือรู้ แค่นั้นแหละ นอกนั้นไม่เอา ...พอคิดจะหาเหตุหาผล จะเอาถูกเอาผิด จะให้รู้ลึกซึ้งกว่านี้...ไม่เอา ไม่ลึกไม่ซึ้งน่ะ เอาแค่นี้...ธรรมดา

แล้วมันก็มีธรรมดา...ลมพัดทีรู้ทีๆ ยังดี รู้ว่าเย็น...มีเย็นก็รู้ว่าเย็น พอแล้ว นั่นน่ะกาย เวทนาในกาย ...ไม่ต้องใส่ชื่อด้วย ต่อไปก็ลบชื่อไป  ส่วนใจก็...ใจรู้ก็คอยถือยางลบไว้นะ ไว้ลบๆๆ ... มันบอกว่าเป็นแขนกู ขากู ก็ลบๆๆ ลบซะ

อย่าไปถือแต่ปากกาเมจิกคอยเขียนชื่อห้อยต่อเติม วิตกวิจารณ์ฟุ้งซ่านรำคาญ จนสลัดไม่ออก ... มันเขียนเอง มันติดตัวมันเอง แล้วมันหายางลบไม่ออก แล้วมันจะมาให้คนอื่นลบให้ บ้ารึเปล่า  เพราะไอ้ปากกานี่ยี่ห้อใครยี่ห้อมัน ...มึงสร้างเองมึงลบเองดิ ใช่มั้ย จะมาให้คนอื่นลบให้ไม่ได้

ได้แต่บอกวิธีลบ...คือรู้ตัว แล้วมันก็ค่อยๆ ลบของมันไปเอง ...ไม่ใช่ไปคอยเขียนซ้ำเขียนซากๆ มันจะไม่หนาแน่นยังไง ...คิดแล้วคิดอีก หาแล้วหาอีก ทำแล้วทำอีกอยู่นั่นน่ะ เขาเรียกว่าเป็นโรคจิตประเภทย้ำคิดย้ำทำ ซ้ำซากๆๆ ในอาการเดิมๆ มันก็ยิ่งจดจำ ตราตรึง แนบแน่นลงไป ...ไม่ลบออกได้ง่ายๆ

แต่เมื่อใดที่เรามาอยู่ตรงนี้ ในใจมันคอยถือยางลบ มันจะคลายๆๆ ออก จางออก  เพราะเราไม่ไปเขียนต่อหรือจงใจเขียน หรือจงใจจะให้มันเข้มข้นขึ้น ชัดเจนขึ้น ...แต่มันยากแรกๆ น่ะระหว่างที่รู้กายมันก็มีมือนึงคอยถือปากกาไว้

ก็ต้องเอาชนะ...แล้วก็ทิ้งปากกาไป  พอทิ้งปากกาไป ในมือมันจะมียางลบขึ้นมาแทน เอาไว้ลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากจิตปรุงแต่ง  เพราะไอ้ยางลบนี้มันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมันเข้าใจว่าจิตปรุงแต่งไม่มีอะไร เป็นแค่สักแต่ว่าจิต อารมณ์ กิเลส สักแต่ว่าอารมณ์ สักแต่ว่าธรรมที่ปรากฏ

เห็นมั้ยว่าสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านพูดชัด...ราคะเกิด ก็รู้ว่ามีราคะ ราคะไม่เกิดก็รู้ว่าไม่มีราคะ  โทสะเกิด ก็รู้ว่ามีโทสะ ไม่มีโทสะก็รู้ว่าไม่มีโทสะ เห็นมั้ย ในสติปัฏฐานท่านไม่ได้บอกว่า รู้ว่ามีโทสะแล้วให้ทำอะไรต่อ หรือกระทั่งให้หาเหตุหาผล หาที่มาที่ไป หาที่ถูกที่ผิด ท่านก็ไม่บอก

ท่านบอกแต่...ให้รู้ว่ามีโทสะ โทสะมากก็รู้ว่ามีโทสะมาก โทสะน้อยก็รู้ว่ามีโทสะน้อย ไม่มีโทสะก็รู้ว่าไม่มีโทสะ  นี่คือสติที่แท้จริง  มีราคะ...รู้ว่ามี  ท่านไม่ได้บอกว่าให้แก้ ให้หนี  ท่านไม่ได้บอกว่าให้ทำลาย ท่านไม่ได้บอกว่าให้ไปหาเหตุหาผล หรือพิจารณาในธรรมที่ปรากฏนี้ 

ท่านบอกว่าให้รู้ ด้วยสติที่มั่นคงด้วยสมาธิ...แล้วอยู่ในความปกติ

ปกติยังไง ...ปกติของเรามีกิเลส  เดี๋ยวมันก็มี เดี๋ยวมันก็ไม่มี...มันเป็นปกตินะนั่นน่ะ ... เพราะเราไม่ใช่พระอรหันต์ นั่นปกติท่านไม่มีกิเลส มันคนละปกติกัน ... แต่ถ้าปกติของพวกเรายังมีกิเลส เดี๋ยวมันก็มีอารมณ์ เดี๋ยวมันก็มีความอยาก เดี๋ยวมันก็มีความไม่อยาก ...อันนี้เป็นปกติ ไม่ได้ว่ากัน แค่ให้รู้ด้วยสัมมาสติ คือรู้เฉยๆ

แต่เราบอกให้ว่า...สัมมาสติที่จะไปรู้กับนามทั้งสาม เวทนา จิต ธรรม...ยาก...ถ้าไม่มีรากฐานที่มั่นคงจริงๆ ในปัจจุบันจริงๆ รู้จริงๆ แล้วก็อยู่กับกายจริงๆ ที่เป็นกายจริงๆ 

ถ้ามันคิดว่าจิตเร็วกว่า ธรรมเร็วกว่า งั้นเอาสติปัฏฐานสองไปเลย ท่านไม่ต้องพูดสติปัฏฐานสี่หรอก  ทำไมจะต้องมาบอกสติปัฏฐานสี่ล่ะ ... ถ้าว่ากายเป็นของง่ายๆ ไม่ต้องทำน่ะ ไม่ต้องดู เดี๋ยวมันก็แจ้งเอง  ทำไมท่านต้องพูดถึงสี่ แล้วท่านเอากายเป็นตัวแรกด้วย ...จะมาเก่งกว่าพระพุทธเจ้าได้ยังไง

เพราะนั้นในเวลาที่เรามาตั้งมั่นที่กาย ระลึกอยู่กับกาย มันสามารถที่จะปฏิบัติภาวนาได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่เลือก ...เพราะถ้าถามว่าตอนทำงานอยู่มีกายมั้ย ตอนนั่งคนเดียวมีกายมั้ย ตอนขับรถขึ้นรถลงรถ ตอนมีเรื่อง มีกายอยู่มั้ย...มี ไม่ได้หายไปไหนเลย 

แต่ที่ไม่มีคือสติ ที่ไม่มีคือศีล ... เพราะนั้นเมื่อใดสมมุติว่าเราโกรธ หงุดหงิด รำคาญ แล้วมัวแต่ไปดูว่ากำลังหงุดหงิด ดูแต่ว่ากำลังรำคาญ  แล้วละเลยกาย ทิ้งกาย ทิ้งศีลแล้ว...ถือว่าทิ้งศีลแล้วนะ  คือจะไปดูเพื่อให้มันดับ หรือว่าดูเพื่อให้เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งหนึ่ง ...แต่เราว่าไม่ค่อยเข้าใจนะ

แต่ถ้ารู้ว่าโกรธเฉยๆ เห็นอยู่ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น  แต่ในขณะนั้นน่ะรู้กับปกติกาย อยู่กับปกติกาย  มันยืนโกรธรึเปล่า หรือนั่งโกรธ  แล้วในการยืนโกรธนั่งโกรธ มันมีปกติกายอยู่มั้ย  หรือไม่ตึงก็แน่น ไม่แน่นก็สั่น...ถ้าโกรธมากๆ มันสั่น ก็เห็นกายสั่น  หรือว่าเห็นกายเฉยๆ แข็ง อ่อน ร้อน เย็น นี่ กลับมาอยู่กับกายปกติ รักษากายปกติ ทั้งๆ ที่ยังมีอารมณ์ ...นั่นศีล

เมื่อรู้ความเป็นปกติ...อยู่ในองค์ศีลปุ๊บนี่ จิตมันจะไม่เข้าไปกอปรซึ่งเหตุและปัจจัยร่วมด้วยกับอารมณ์หรือกิเลส มันก็แตกสลายหมด  เห็นมั้ย ศีลน่ะจะมารักษาตัวเรา ... แต่ถ้าไปจดจ่อจดจ้องสภาวะนี่ละเมิดศีลนะ เดี๋ยวเสร็จ...ไม่มันเสร็จก็กูเสร็จ

มันเสร็จก็หมายความว่าคือเราไปด่ามัน เราเสร็จมันก็คือเราก็จมอยู่กับอารมณ์ ...ไม่ไปไหนน่ะ คือขังคอกตัวเอง ไปติดคุกน่ะ เข้าไปติดคุกอยู่กับมันนะ จดจ้องดูมันเข้าไปเหอะ ติดคุกแล้ว...ติดพันธนาการ

ถึงบอก...เห็น รู้เฉยๆ พอแล้ว ต้องมาติดคุกกายไว้ กายนี่เป็นคุกใหญ่ อย่าไปติดคุกย่อยสิ  รักษาความปกติกาย มันก็จะออกมาจากคุก...คืออารมณ์ที่มันจะมาจองจำ กิเลสที่จะมาจองจำ  แล้วไม่ต้องไปด่า ไม่ต้องไปโกรธกิเลสตัวเอง ว่า ทำไมถึงเกิดอย่างนี้ ทำไมถึงมีอารมณ์ ...ทำไม

ก็บอกว่ามันเป็นปกติ ... ก็เป็นพระอรหันต์รึเปล่าล่ะ ถามตัวเองดูสิ...ไม่ได้เป็น  ถ้าไม่เป็น...ก็มีกิเลส ไม่ได้แกล้ง ไม่ใช่แสตนด์อิน ...มันจริง ก็ปกติมันเกิดก็เกิดไป เรื่องของมัน เราก็รักษาความปกติกายไว้ รักษาศีลไว้

เดี๋ยวเขาก็แสดงความเป็นจริงของธรรมที่ปรากฏนั้นเอง ว่ามีความแปรปรวน ผันแปร มีความดับไปสิ้นไปเป็นที่สุด...เอง ...เองด้วยนะ ...ถ้าไม่เอง เดี๋ยวมันจะเป็นเราทำ แล้วเราจะทำ และเรากำลังทำ มันจะวนเวียนอยู่ตรงนั้น “เรา” จะเกิดขึ้นมา

เอา “เรา” มาอยู่กับรู้ เอาเรามาอยู่ที่รู้ เอาจิตเรามาอยู่กับจิตรู้ อยู่ตรงนี้ก่อน  เอาจิตเรามาอยู่กับศีล สร้างป้อมปราการไว้ สร้างรั้วกางกั้นไว้ ให้จิตมันแน่วแน่ตั้งมั่นอยู่...ทุกอย่างคลี่คลายเองน่ะ  

เมื่อเรารักษาศีล ศีลก็รักษาเรา  เมื่อเรารักษาศีล ศีลก็รักษาใจ ... ถ้าเราไม่รักษาศีล ทุกอย่างพังทลายหมด  เพราะไม่มีรั้ว ไม่มีเขื่อน ไม่มีกำแพง เดี๋ยวน้ำมันไหลมานี่ท่วมบ้าน ... ถ้ามีรั้ว ถ้ามีเขื่อน ถ้ามีฝายชะลอ มันก็จะค่อยๆ ...ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ 

ศีล...ต้องรักษา นี้คือศีลในองค์มรรค นี้คือศีลในไตรสิกขา ที่สุดของศีลนี้คือ ศีลวิสุทธิ คือกายอันบริสุทธิ์  การเข้าถึงศีลวิสุทธิหมายความว่า เข้าไปชำระกายนี้จนบริสุทธิ์...จากความปรุงแต่ง จากความคิดความเห็น จากความเชื่อ จากสมมุติ จากบัญญัติ ... กายนี้จะเข้าสู่ความบริสุทธิ์ กายนี้จะกลายเป็นศีลวิสุทธิ...ตามความเป็นจริง

ถ้าเราไม่มาเรียนรู้อย่างนี้ ถ้าไม่รักษาศีลแล้วเริ่มต้นจากตรงนี้นะ พวกเรานี่เหมือนทัพพีกับหม้อแกง เหมือนทัพพีที่ไม่รู้จักรสชาติของน้ำแกง ...แล้วยังจะไปตักหม้อคนอื่นอีก  ตักหม้อคนอื่นก็ไม่รู้รสของน้ำแกงหม้อนั้น มีแต่สีสันติดมาอาบทาอยู่แค่ปลายทัพพี แล้วก็หายไป มันไม่เข้าถึงรสชาติน้ำแกงจริงๆ

เห็นมั้ย ถ้ามาเห็นความสำคัญของศีลสมาธิปัญญาที่มีอยู่ หมั่นเจริญขึ้น รักษาขึ้น ให้ต่อเนื่อง  เราจะเข้าถึงรสชาติที่แท้จริงของศีล ว่าศีลนี้มีจริง สมาธินี้มีจริง ปัญญานี้มีจริง ...ไม่ใช่แค่จดจำมา ไม่ใช่แค่คิดๆ นึกๆ คาดๆ เดาๆ ว่าศีลคืออะไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาคืออะไร  แต่มันเข้าถึงศีล เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงปัญญาญาณ ...มันไม่เหมือนทัพพีแล้ว

เนี่ย ปัจจัตตัง จึงเรียกว่าเป็นปัจจัตตังถ้ายังไม่เข้าถึงปัจจัตตัง การภาวนาทั้งหมดยังเหมือนทัพพีกับหม้อแกง  แล้วยังหาวิธีใหม่ๆ คือหาหม้อแกงใหม่ๆ

เพียรพยายามอยู่ในที่นี้ แล้วก็ละที่นั้น แล้วก็ละสิ่งที่มันจะไปที่นั้นที่โน้น...คือจิต...ให้ทันแล้วก็ละมันซะ อย่าไปคบมันเป็นญาติสนิทมิตรสหาย อย่าไปคบมันเป็นเพื่อน ...ให้มันเหลืออยู่แค่นี้พอแล้ว

เอ้า พอแล้ว มีอะไรถามมั้ย


โยม –  หลวงพ่อบอกว่า กาย-ใจเป็นมรรค  การเกิดผลระหว่างทางเดินมรรคนี่มันยังไงเจ้าคะ เริ่มจะเห็นตอนไหนจึงเรียกว่าผล

พระอาจารย์ –  เบาไปเรื่อยๆ มันมีความเบา เหมือนทุกอย่างผ่านไป...ไม่มีด่านกั้น เข้าใจมั้ย  เบามั้ยล่ะ  ถ้ามันมีด่านแล้วมันมีรถมาติดขัดอยู่เป็นการจราจรติดขัดน่ะ มันหนักมั้ย  มันมีแต่เรื่อง สุม ติด ข้อง ไม่หายไปไหนสักที มันก็ยังอยู่ตรงนี้ นี่ติด รถติด

แต่ผลมันน่ะ เห็นรึเปล่า มันเบารึเปล่า นั่นล่ะผล  ไม่ต้องไปถามใครเลยว่าได้รึยัง ...ก็มันไม่มีอะไร ก็บอกมันไม่มีอะไร...ก็มีแค่กาย-ใจนั่นแหละคือผลแล้ว  ก็มันไม่ติดกับอะไร ไม่เอาอะไรมาติด ไม่ไปติดกับรูป ไม่ไปติดกับเสียง ไม่ไปติดกับอดีต ไม่ไปติดกับอนาคต ...ไอ้ตัวที่ติดกับอะไรนั่นน่ะคือด่าน

มันก็คอยทำลาย ...ถ้าอยู่ในองค์มรรคแล้วก็ไม่สนใจที่จะไปหมาย ไปข้องกับอะไร  มันก็ทำลายด่านไปในตัวของมันแล้ว ทั้งด่านใหม่ด่านเก่า ...ไอ้ใหม่ก็ไม่เอา ไอ้เก่าก็ขึ้นมาให้เห็นอยู่เรื่อยน่ะ แล้วมันจะบอกว่า เอาดิๆๆ ...ก็ไม่เอา อย่างนี้

เพราะนั้นตอนนี้มันก็ต้องชำระทั้งคู่น่ะ ทั้งอดีตทั้งอนาคต...ไม่เอา  มันก็ค่อยๆ...ถึงแม้จะไม่หักโค่นลงไป มันก็ยังเล็ดรอดไปได้สะดวกขึ้นน่ะ...ง่ายขึ้น เร็วขึ้น  ไม่ติดข้ามวันข้ามคืน ไม่ข้ามเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ ไม่ข้ามเดือนข้ามปีน่ะ

ต่อไปก็นับเป็นชั่วโมง นับเป็นนาที นับเป็นวินาที ...นับเป็นขณะ... นั่นน่ะกำลังของมรรคจิต ปัญญาญาณ...ที่มันแจ่มชัด แจ่มแจ้ง...ปึ้งๆ ขาด ระหว่างกระทบ ...ด่านไม่มีทางได้กั้นเลย ทะลุ โล่ง ...ฟรีเวย์  

เออ ถ้าเป็นฟรีเวย์ ไม่เก็บเงิน ไม่ตั้งด่าน ไม่มีด่าน มันจะเร็วมั้ย ... สะดวกเลย ตั้งแต่พระอริยะเบื้องสูงขึ้นไปนี่ ทางโล่งตลอดเลย


โยม – ถ้านั้นมันมีความเข้าใจก็คือ...ระหว่างที่เดินทางมรรคนี่ ผลมันก็ปรากฏอยู่ ขนาบข้างมันอยู่แล้ว

พระอาจารย์ –  อือ อยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ ไม่ต้องไปหา ไม่ต้องไปรอ ...ไอ้ที่หาไอ้ที่รอ...คือเรา ไอ้ที่หาไอ้ที่รอ...คือจิต  แล้วที่มันกำลังหากำลังรอคือ...นอกถนน ...ไอ้พวกตกขอบ ไอ้พวกเข้าซอย มันชอบแยก จิตน่ะ ชอบแบ่งแยกแตกแขนงออกไป ไม่ลงในเส้นทางหลัก

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า มรรคมีองค์แปด สติปัฏฐานเป็นหลัก ... สติปัฏฐานท่านเปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง หมายความว่า สัตว์ในโลกนี้ไม่มีใครเหยียบได้ใหญ่กว่ารอยเท้าช้าง  นี่ท่านเรียกว่า เอกายนมรรค เป็นหนึ่ง ทุกอย่างเป็นรอง  

สุดท้ายต้องมาลงในหลักนี้ ในเส้นทางนี้หมด ไม่ว่าจะเป็นเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ไม่ว่าจะเดินด้วยเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ ยังไงต้องมาลงหลักมรรคนี้หมด...กาย-ใจ  เพราะกายใจคือขันธ์ห้า ขันธ์ห้าคือกายใจ  ถ้ามันไม่มีขันธ์ห้า ไม่มีกายไม่มีใจของเราแล้ว...ไม่มีการเกิดอีกต่อไป  

ก็ถ้ามันออกจากกาย-ใจแล้วมันจะไปไหน มันจะเกิดปัญญาอะไร ปัญญาแบบยิ่งใหญ่ในซอยน่ะ มันใหญ่ไม่จริง ... ไอ้ความรู้บ้าๆ บอๆ กระโดกกระเดกอะไรขึ้นมานี่ มันโผล่ปูดโปนขึ้นมา อะไรพวกนี้ มันรู้ไม่จริง

ถ้าบนทางวิ่งนี่ ถนนไม่มีรถสวนเลย ไปแบบ ว่าง โล่ง จนถึงที่สุด คืออนันตมหาสุญญตา ไม่มีอะไรเลย มันไปสู่จุดที่ไม่มีอะไรจริงๆ  แต่จิตมันคอยคิดว่ายังมีอะไรอยู่นะ ยังมีอะไรให้มันหา ยังเสียดาย นี่เป็นกิเลสกางกั้น ขัดขวางการเดินไปในองค์มรรค

มันร้อยรัด ...ท่านถึงเรียกว่าเป็นสังโยชน์ ตัวร้อยรัด...ไม่ให้ผ่าน มันคอยดัก มันคอยเก็บ มันคอยดักอารมณ์ มันคอยเก็บสภาวะ มันคอยหมายไว้ รอไว้ ว่าสภาวะไหน อารมณ์ไหน ความรู้อะไร มันจะดักจะรอ พวกนี้เป็นกิเลสร้อยรัด

พอจะละ พอจะบอกให้เลิก พอจะไม่เอา มันก็เสียดาย ...นี่ เขาเรียกว่าไม่อนาลโย มันหวน อดีต หวนคำพูดของคนนั้นคนนี้ที่เคยจำเคยได้ยินมา มันไม่ละ มันไม่ยอมๆ ยึด...ดื้อ จิตมันดื้อ มันดื้อด้วยความโง่ ดื้อด้วยความไม่รู้

ไม่แน่วแน่ด้วยสัจจะ ด้วยเห็นตามความเป็นจริง ...ไอ้นี่ก็ดื้อแบบญาณ ดื้อแบบสัมมาทิฏฐิ คือดื้อแบบตรงต่อธรรม นี่มันก็ดื้ออีกอย่างนึงนะ เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม มันก็ดื้อแบบดื้อเข้าไปถึงที่สุดของมรรคนะ อย่างอื่นไม่สน  ไม่เหมือนกับคนดื้อ แต่ว่านี่มันดื้อด้วยความที่ว่าชัดเจนในตัวของกายใจ...ไม่มีทางอื่น


โยม – หนูเข้าใจในภาพก็คือพอมันมีโทสะ แบบนึงก็คือพุ่งเข้าไปเลย กรากเข้าไปเลยเรา ด่ามันเลย เอาคืน  อีกพวกนึงก็คือ ทำไมไปโกรธล่ะ ไม่ดีเลย ไอ้ความโกรธ เรานี่จิตดีมันตำหนิ  ทีนี้มันก็มองเห็นว่าไอ้นี่มันทางสองแยก แต่อย่างหลวงพ่อว่าเมื่อกี้ แค่กายกับใจ เออ มันเป็นทางสายกลาง มิดเดิลเวย์ที่แค่รู้

พระอาจารย์ –  ก็แค่รู้ ไม่สุดโต่ง ทั้งกุศลและอกุศล ... จะไปตำหนิมัน ด่ามัน หรือว่าเอาชนะมัน ก็คือจิตกุศล  หรือกระโดดตามไปด้วยความหลงเพลินก็เป็นอกุศล เนี่ย คืออัตตกิลมถานุโยค กับกามสุขัลลิกานุโยค ทั้งหมดก็คือจิตนำออกไป

แต่เมื่อใดที่มันปรากฏ รู้...ไม่สนใจ รู้...ไม่สนใจ นี่คือระวัง ระงับ ให้มันอยู่ในกรอบของมรรค ให้มันอยู่ในกรอบกาย-ใจ  ไม่ให้มันออกนอก ไม่ให้จิตออกไปเกลือกกลั้ว ทั้งในแง่กุศลและอกุศล คือในแง่ยินดีและยินร้าย 

ไม่กลางก็ต้องกลางน่ะ ...เป็นปกติยืนเดินนั่งนอน มันไม่กลางยังไง ฮึ ใช่มั้ย  กายตรงนั้นน่ะมันตึงรึเปล่า ขามันกระทบแล้วมันยืนอยู่ มันมีความรู้สึกเป็นกลางที่เขาแสดงความตึง กูไม่รู้ไม่ชี้กับโลก กับธรรมทั้งหลายทั้งปวง กูก็ตึงของกู โดยไม่มีหน้าอินทร์หน้าพรหมมาทำให้กูไม่ตึงไม่ได้ เพราะกูไม่ใช่ของใคร

นี่ เขาแสดงความเป็นกลางโดยแน่วแน่ในธรรม ตรงต่อธรรม ชัดเจนในองค์ธรรม ... มีแต่ “เรา” น่ะไม่ตรง “เรา” น่ะบิด “เรา” น่ะคด “เรา” น่ะงอ ด้วยความหมายมั่น ด้วยความคาดหวัง  จิตมันคาด ...ไอ้ตัวคาดหวังนั่นแหละคือปัญหา...มีจุดหมาย

โกรธ...มันต้องว่าเพื่ออะไร ใช่มั้ย หงุดหงิดเพื่ออะไร มันต้องมีจุดหมาย  คือหมายว่าเขาจะต้องเปลี่ยนไป แล้วเราก็สบายขึ้น เห็นมั้ย กิเลสมันต้องมีจุดหมาย 

ไอ้จุดหมายของมันน่ะคือตัณหา ทั้งบุญทั้งบาปน่ะมันต้องมีจุดหมาย มันต้องมีความหมายมั่น มีจุดเส้นชัยอยู่ แล้วมันจะต้องมุ่งเข้าเส้นชัยนั้น แล้วคนที่จะได้ผลจากการที่เข้าถึงเส้นชัยนั้นก็คือ “เรา”

เห็นมั้ย ทั้งหมดน่ะมันเกิดจาก “เรา” แล้วยังจะวิ่งไปเส้นชัยนั้น แล้วมันก็ได้รางวัล มีความพอใจแล้ว มีความอิ่ม ได้กินแล้ว ได้รางวัลแล้ว “เรา”  

ถึงบอกว่าถ้าแก้ตรงนั้น แก้ตรงโน้น มันแก้แบบสะเปะสะปะ ...  ตีงู...ตีหัวสิ ตีตรงที่ “เรา” ...ตายหมด ตายยกคลอก

เพราะนั้นการที่อยู่ในองค์มรรค ท่ามกลางกาย-ใจนี่ มันจะสำเหนียกในกายและใจ มันจะเกิดความสำเหนียกโดยปริยาย  ...อยากคิดก็ตาม ไม่อยากคิดก็ตาม ไม่อยากเห็นมันก็ตาม ไม่อยากเข้าใจหรืออยากเข้าใจมันก็ตาม ... มันถูกบังคับโดยปริยาย เพราะมันเห็นอยู่แค่อันเดียว ยังไงมันก็ต้องแจ้ง  ไม่อยากแจ้งก็ต้องแจ้ง เพราะมันไม่รู้จะไปไหน

คือมันเห็นกันนี่...เหมือนผัวเมียน่ะ เป็นผัวเมียกันแล้วนี่ ไปไหนกูตามจิกตลอด มึงห้ามหันหน้าไปจากหน้ากูเลย มึงต้องเห็นหน้ากูหน้าเดียว ไม่มีรักโลภโกรธหลงหน้าอื่นหรอก มันก็เห็นชัดจนไฝฝ้าหน้าหนวดน่ะ กี่เม็ดกี่ซี่ มันก็ชัดเจน...ว่ามึงไม่ใช่คน นั่น เข้าใจป่าว


โยม – (หัวเราะ)

พระอาจารย์ – แต่ถ้ามีกายนู่นกายนี่ไป ไอ้นั่นก็สวย ไอ้นี่ก็ไม่สวย...ไอ้อย่างนี้มันไม่แจ้งอะไรสักอย่างหรอก ...เอาจนเห็นหน้าเมียแบบ มึงเป็นแค่นี้เอง นั่น เหมือนกาย-ใจที่ไม่พรากจากกัน ...ไม่รู้ก็ต้องรู้แล้ว เพราะมันไม่ไปเห็นที่อื่น

นั่นน่ะ ด้วยอำนาจของสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง...หนึ่งกับสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ไม่รู้ก็ต้องรู้แล้ว สัมมาสมาธิ มันเป็นภาคบังคับเลย ปัญญามันก็เกิดเอง โดยที่ว่าไม่ต้องอยากได้หรือไม่อยากได้ ...มันต้องได้ มันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก

และไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วย ...มันจะเคลื่อนได้ยังไง ก็เมียมันเกาะเหมือนกับเชื้อโรคอย่างนี้ มันจะไปมีชู้ได้ยังไง เห็นมั้ย ใจเดียวอย่างนี้ ไม่หลายใจ ไม่รู้มาก ไม่หามาก ไม่โลภมาก

เมื่อมันรวมเป็นหนึ่งเป็นสายตรงเส้นเดียวนี่ มันก็มีพลัง พลังของสติ พลังของสมาธิ พลังของปัญญา มันแก่กล้าขึ้นจนจำแนก แยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ แยกทิฏฐิ แยกความเห็น แยกสัมมา แยกมิจฉา ออกกระจัดกระจายหมดแหละ แตก...จนเหลือแต่เนื้อธรรมล้วนๆ กายล้วนๆ ที่สักแต่ว่าแค่นั้นแหละ 



…………………





วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/5




พระอาจารย์

8/5 (550519C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

19 พฤษภาคม 2555




พระอาจารย์ –  อย่าคิดว่ากายเป็นของหยาบ อย่าคิดว่ากายเป็นของง่ายๆ  ถ้าละของยากแล้วจะละนี่ได้เอง ...ไม่เห็นมันละได้สักคน ... ไม่มีพระอริยะ พระอรหันต์ ที่ไม่พิจารณากายซะก่อน

เพราะนั้นการเจริญสติในกาย รู้อยู่เห็นอยู่กับกาย...ปกติกายนี่ ท่านเรียกว่ากายคตาสติ  กายคตาสติไม่ใช่กายคตาจินตา ด้วยการนึกและคิด แต่เป็นกายคตาสติ  เอาสติเข้าไปพิจารณากาย เข้าใจมั้ย  ไม่ใช่เอาความคิดไปพิจารณากาย อันนั้นอีกแง่มุมหนึ่ง อุบายหนึ่ง

แต่ถ้าโดยหลักของสติ เรียกว่ากายคตาสติ เอาสติเข้าไปพิจารณากาย ด้วยการหยั่งลง ระลึกรู้อยู่กับปกติของมันต่อเนื่องไป  ด้วยสติไม่ใช่ด้วยความคิด  นี่คือหลักของปัญญาวิมุติ ... อยู่กับมันโดยไม่ต้องหาเหตุหาผล อยู่กับมันโดยที่ไม่ต้องเอาผิดเอาถูก อยู่กับมันโดยที่ไม่ต้องแอบอิงตำรา อยู่กับมันโดยที่ไม่ต้องแอบอิงความคิดเห็นผู้อื่น ความเชื่อผู้อื่น

กลัวนะ ...นักภาวนานี่กลัวคนทัก กลัวคนบอกว่าไม่ใช่ กลัวคนบอกว่าไม่ได้ กลัวคนบอกว่าผิด  กลัวนะ  ยิ่งถ้าเป็นคนที่เรานับถือ ครูบาอาจารย์ที่นับถือ ผู้ปฏิบัติที่ดูน่านับถือพูด นี่กลัว ... เสียศูนย์หมดเลย เสียหาย  ไม่กล้าทิ้ง ไม่กล้าที่จะมารู้ตรงๆ โดยที่ไม่ทำอะไร ไม่กล้าที่จะรู้โดยที่ไม่ต้องเทียบเคียง ไม่กล้าที่จะรู้โดยที่ไม่มีตำรามารองรับ

แค่มาเริ่มรู้กายตามปกตินี่ มันก็ละกิเลสเบื้องต้นหยาบๆ เป็นกระบุงแล้ว  ละอดีตละอนาคตได้อย่างแรกเลย ละความเชื่อที่เคยเชื่อ ละการกระทำที่หวังผล...จะได้ในข้างหน้า  ไม่เอาแล้ว ไม่มีแล้ว  มีแต่ผลปัจจุบัน รู้ยังไง เห็นยังไง รู้สึกยังไง อยู่อย่างเนี้ย

รู้ว่าปกติกายนั่ง แล้วก็นั่ง แล้วก็เฉยๆ หรือไม่เฉย หรือว่ามีความอยากอยู่ในความรู้ปกตินี้  มันก็เห็นอยู่ตรงนี้ เห็นผลปัจจุบันว่า เมื่อรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้แล้วมันมีผลอะไรปรากฏขึ้น เสวยผลนั้นทันที

ผลนี่ไม่ได้ว่ามรรคผลนิพพานนะ ... อะไรที่มันปรากฏผลจากกิเลสก็ตาม ก็รู้เฉยๆ กับผลที่ปรากฏ  แล้วก็ละ ไม่ต่อ ไม่ถือไว้ ... ก็สบาย ถ้าอยู่ในหลักนี้สบาย  

สบายคืออะไร ก็จะเห็นแค่กายใจนี้เป็นแค่ทางผ่าน  ไม่ใช่ตู้เซฟ ไม่ใช่ที่เก็บ  เพราะมันไม่มีที่ให้เก็บ มันเก็บไม่ได้ ... ตาเห็นรูป รูปมันดับ  เห็นคนเดินมาแล้วก็ผ่านไปแล้วนี่ รูปดับใช่มั้ย  มันเก็บไว้มั้ยลูกกะตานี่ มันเก็บได้มั้ย ...ไม่ได้

ใจล่ะเก็บได้มั้ย ... ก็แค่รู้แค่เห็น...ใจน่ะ รู้ว่าเห็นรูปดับไป มันก็ไม่ได้เก็บไว้ตรงไหนในรูปที่ดับ ... เห็นมั้ยว่ากายใจนี่เป็นแค่ทางผ่าน  

แล้วมันเก็บไว้ไหน ทุกวันนี้ที่มันเก็บไว้เต็มไปหมด ... จิตไม่รู้มันเก็บ มันไปดัก ดักไว้  ...มันดับแล้วก็ไม่ยอมให้ดับ มันยังไม่เกิดก็ไปตั้งด่านรอ  

กายใจเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ... กายใจที่แท้จริงเป็นแค่ทางผ่านของอารมณ์ เป็นทางผ่านของความคิด  เป็นแค่ทางผ่านของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  

เห็นหรือยังว่ากายใจเป็นมรรค เห็นรึยังว่ากายใจเป็นทางอย่างไร ... เป็นแค่ทาง ไม่ใช่ที่ให้ใครหยุดอยู่ได้เลย นี่แหละมรรค 

เข้าใจรึยัง...ว่ามรรคในความหมายของพระพุทธเจ้าคือกายใจอย่างไร เป็นอย่างไร ... เป็นทางที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปมาโดยอิสระ ไม่มีด่านกั้น  ด่านกุศล ด่านอกุศล ด่านผู้ปฏิบัติ  

จิตไม่รู้มันตั้งด่านของมันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ กุศลบ้าง อกุศลบ้าง  ไม่ยอมให้ผ่าน เก็บมาเป็นเรื่อง เอาไว้ใช้ประโยชน์ในภายภาคหน้า เอาไว้จัดการยังไงต่อไป หรือเอาไว้แก้ปัญหาเมื่อไหร่  นี่คือธรรมชาติของจิต

พอมาเริ่มเป็นนักภาวนา  มันก็จะตั้งด่าน...เอาแต่สภาวะดีๆ ไม่ให้ผ่าน มันต้องอยู่อย่างนั้น  อันไหนไม่ดีก็พยายามผลักดัน ไล่ออกไป  คือกัน ก็คือตั้งด่าน แต่ว่าลักษณะของด่านเปลี่ยนไป

แต่เมื่อใดเราแจ้งในองค์มรรค เข้าใจว่ามรรคคืออะไร  มันจะปล่อย ไม่เลือก  แม้แต่ความคิดของคนอื่น แม้แต่ความคิดของตัวเอง  แม้แต่ความเห็นคนอื่น แม้แต่ความเห็นของตัวเอง  มันปล่อยผ่านหมด เหลือแค่กายใจ เป็นทาง

ทางนี้เป็นสาธารณะ กายใจนี่เป็นสาธารณะ  มันห้ามอะไรไม่ได้ เหมือนตาหูจมูกลิ้น มันห้ามอะไรไม่ได้ มันเลือกไม่ได้  เพราะมันเป็นสาธารณะ  อะไรเกิดขึ้นมันก็ต้องรับรู้ 

ปรากฏขึ้นเป็นเสียง เหตุภายนอกเป็นเสียง มันก็ต้องรับรู้ว่าเป็นเสียงเกิดขึ้น  อะไรเกิดขึ้นเป็นรูปกระทบลูกกะตา มันกระทบลูกกะตาก็ต้องรู้  มันเลือกไม่ได้ว่าอันนี้เอา อันนี้ต้องไม่เอา  เพราะเป็นทางสาธารณะ

เราจะต้องอยู่ในองค์มรรคนี่ เราจะต้องทำลายด่านอยู่ตลอด  เผลอปั๊บ เผลอหน่อย เผลอนิด มันจะตั้งด่านขึ้นมา  เพื่อจะดัก เพื่อจะหา เพื่อจะรอ อะไร...ว่ารถคันนี้ คือกะว่ากูจะเอาเฟอร์รารี่ ตั้งด่านไว้ รถคันอื่นปล่อยไป กูจะเอาเฟอร์รารี่ ยังไม่มาสักที ...เดี๋ยวก็ลดระดับลงแล้ว เอาแค่โตโยต้าอย่างนี้ เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาว่าจะเอาอะไร

เนี่ย เราต้องคอยมาทำลายด่านนะ ... ถ้าอยู่ในมรรคแล้วจะรู้ ไอ้ตัวนี้เป็นตัวขัดขวาง ตัวเหนี่ยว ตัวรั้ง  ที่เกิดขึ้นจากจิตไม่รู้ แล้วไปหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ มาเป็นของเรา เป็นธรรมของเรา เป็นสภาวะของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องได้ เป็นสิ่งที่เราต้องมี เป็นสิ่งที่เราต้องอาศัยมัน เป็นสิ่งที่เราต้องใช้มัน

คนมาภาวนาส่วนมากชอบมาถามเราว่า ต้องมีนั่งให้เกิดความสงบแล้วมันจะได้มีกำลัง แค่คิด...ก็ผิดแล้ว ... เราบอกว่า "แค่คิด...ก็ผิดแล้ว" ... หงุดหงิดเลย  

แต่ถ้ามันไปแยบคาย ...คนฟังแยบคายให้ดี จะรู้เลยว่าการแก้มันควรแก้ตรงไหน “แค่คิด...ก็ผิดแล้ว”

ไม่ต้องไปหาว่าจะต้องสงบหรือไม่สงบ ... ถ้ามันตั้งแต่คิด เริ่มคิด กำลังคิด...แล้วละตรงนั้น  มันไม่เกี่ยวหรอกว่าต้องมีกำลังหรือไม่มีกำลัง ... เห็นมั้ยว่าปัญญานี่มันละแบบตรง ซื่อ ไม่เอาอะไร ไม่มีเงื่อนไข 

คิดดีก็ไม่เอา คิดไม่ดีก็ไม่เอา คิดยืดไปข้างหน้าข้างหลังนิดนึงหน่อยนึงก็ไม่เอา ... นั่นล่ะด่าน มันคอยหาด่านมันอยู่เรื่อย ตั้งเงื่อนไขนั้น ตั้งเงื่อนไขนี้ ...ไปอ่านตำราไหนตำรานึงขึ้นมา ก็มาเพิ่มเป็นกี่เงื่อนกี่ปมแล้ว ไปอ่านประวัติครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ท่านภาวนาอย่างนั้นอย่างนี้ ตั้งเงื่อนขึ้นมา เอามาเป็นเยี่ยงอย่าง แบบอย่าง

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าให้เอาท่านเป็นแบบอย่าง แต่ไม่ให้เลียนแบบ ...ถ้าเลียนแบบก็ต้องไปอดข้าวซะ 49 วัน แล้วก็ไปหาต้นไม้โพธิ์สักต้นแล้วไปนั่งทั้งคืน ... คือท่านให้เอาเป็นแบบอย่าง แต่ไม่ได้ให้เอามาเลียนแบบทุกอย่าง  

กายใครกายมัน จิตใครจิตมัน ... เพื่อให้เข้าถึงองค์มรรค เพื่อให้ชัดเจนในองค์มรรค  และเมื่อใดที่ชัดเจนในองค์มรรค เข้าถึงมรรคแล้ว เป็นมรรคเดียวกัน ...มรรคมีเส้นเดียว เอกายนมรรค

ให้คนอิสลามมา แล้วบอกว่าให้รู้ปกติกาย แล้วมันเชื่อ แล้วมันรู้ปกติกายได้  หรือให้คนพุทธมาแล้วมันเชื่อว่ารู้ปกติ...กายกับรู้ ... เหมือนกันน่ะ มรรคเป็นอันเดียวกันน่ะ  มีแตกต่าง มีวรรณะ มีสูงมีต่ำกว่ากันมั้ย มีเร็วมีช้ากว่ากันมั้ย มีเหนือกว่าต่ำกว่ามั้ย  

เห็นมั้ย เป็นทางเดียว...ของสัตว์โลกที่มีขันธ์ห้า ... แม้มันจะมีความเชื่อความเห็นบ้าบอคอแตก กล่าวร้ายให้โทษพระพุทธเจ้าขนาดไหน  แต่มรรคก็ยังเป็นอันเดียวกัน เข้าใจมั้ย ...เพราะมีกายเหมือนกัน ปกติกายเดียวกัน รู้อันเดียวกัน ใช่มั้ย แตกต่างกันมั้ย  

ถึงบอกว่า...ศาสนาพุทธของพระพุทธเจ้านี่เป็นสากล ธรรมท่านเป็นสากลจักรวาล ไม่ได้จำเพาะพุทธศาสนิก ... ท่านบอกให้สัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง ไม่ได้จำเพาะเลย 

แต่คนโง่เท่านั้นแหละที่มันจำเพาะ จำกัดตัวมันเอง ด้วยความคิดและความเห็น...แล้วไม่ละ  ผูกมัดตัวเองน่ะ ... ทั้งๆ ที่ว่า...กายนี้เป็นมรรค กายนี้เป็นผล  ใจนี้เป็นมรรค ใจนี้เพื่อผล มาตั้งแต่เกิดแล้ว

กายนี่...เหมือนว่าตั้งแต่อ้อนแต่ออกขึ้นมานี่ เขาธำรงความเป็นศีลมาโดยตลอด ...รอ รอแล้วก็รออีก ไม่เห็นมีใครมารักษาศีลกูเลย...จนกูตาย  ...มัวแต่ไปรักษาศีลห้า แปด สิบ สองร้อยยี่สิบเจ็ด จนคร่ำเคร่ง ... กายศีลนี้ก็รอแล้วรอเล่า ตายก็แล้ว...มึงยังไม่รักษากูอีกหรือนี่

นี่ขนาดคนพุทธนะ ใกล้ชิดพุทธะ ใกล้ชิดพระ  ถือว่าได้เปรียบกว่าสัตว์โลกนอกศาสนา ทั้งที่ว่าเขาก็มีโอกาสเหมือนกัน เข้าใจมั้ย  กายก็เป็นมรรค ใจก็เป็นมรรค เขาก็มีอยู่แล้ว ...แต่ว่าเราได้เปรียบ  

จะมัวไปนั่งเก็บเกศา นั่งเก็บกระดูกท่านมาบูชาอยู่นั่น ... กายใจมีไม่บูชา ไม่เคารพ ไม่รักษา  เอ๊อะ ของดีมีไม่รักษา ...มัวแต่หาธรรมเมา หาธรรมไปเรื่อย หาธรรมไปสุ่มสี่สุ่มห้า เอามาใส่ตัวอยู่ได้  

ของดีมีอยู่แล้ว กายเป็นศีล ใจเป็นมรรค ... กายธรรมดานี่แหละ ไม่ต้องไปขุดค้นดำดินบินบนอะไร หรือนั่งเอาหัวห้อยลงเอาตีนชี้ฟ้า นั่งข้ามวันข้ามคืน เดินจงกรมมันจนตีนแตก  เดี๋ยวนี้มันก็ยังมี ...มีไหม มีรึเปล่า หรือไม่มี ...ถ้าไม่มีก็แสดงว่าไม่มีสติ 

มันมี ...จะรู้หรือไม่รู้แค่นั้นแหละ จะรักษาหรือไม่รักษา ... ไม่ได้ว่าไกลสุดขอบแดนจักรวาลซะเมื่อไหร่ศีลองค์นี้  เริ่มต้นง่ายๆ ...ทำความต่อเนื่อง

อยากรู้อยากได้อะไร...ไม่เอา ละมันให้หมด ไอ้จิตขี้จุ๊นี่  มันเอามรรคเอาผลอันนู้นอันนี้มาต่อรองอยู่เรื่อย เดี๋ยวจะไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่ทัน เดี๋ยวจะช้า เดี๋ยวจะติด เดี๋ยวจะไม่ถึง’ …ไม่เอาน่ะ

นั่ง-รู้ ยืน-รู้ เดิน-รู้ ขยับ-รู้ เย็น-รู้ อ่อนแข็ง-รู้ เหลียวหน้าแลหลัง-รู้ เหยียดคู้-รู้ ... รู้มันธรรมดาตรงนี้  ไม่เอาอะไรกับจิตมันน่ะ  จิตเขามีไว้ให้ละ ไม่ใช่ให้รู้  ไม่ใช่มีมาให้หาเหตุหาผลอะไรกับมัน ไม่ได้มีไว้เอาถูกเอาผิดอะไรกับ  เพราะมันผิดอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาถูกหาผิดหรอก

อะไรๆ ที่ออกไปจาก “เรา” ตัวนี้ เราตอนนี้  มันออกมาจากความไม่รู้ทั้งสิ้น ไม่ต้องหาว่าถูกหรือผิด  ตอบแบบไม่เกรงใจพ่อตาแม่ยาย ฟันธง ผิดหมดแหละ ... ไม่เอา  เหลือแต่รู้ กับกาย กับกายกับรู้  แล้วมันจะไปเอาอะไรอีก ก็เอารู้กับกาย  ถ้ามันจะหาอะไรอีก ก็ไปเอากายกับรู้อีก

อยู่อย่างนี้ มันจะไม่เป็นสัมมาสมาธิได้อย่างไร จิตจะไม่เป็นหนึ่งได้อย่างไร มันจะไม่เกิดปัญญาได้อย่างไร มองไม่เห็นทางเลย

แต่ถ้าคิดไปน่ะ เห็นทางหลายทางเลย ถ้าปล่อยให้มันคิดมันจะมีอีกหลายทาง  แต่ถ้าอยู่ในที่ตรงนี้ ไม่เห็น ไม่มีทางอื่นเลย  มีทางเดียว คือสิ่งที่มันเห็นอยู่ต่อหน้ามัน ที่มันจะชัด ที่มันจะแจ้ง  อะไรที่อยู่ต่อหน้ามัน อะไรที่อยู่ต่อหน้ารู้ ไม่มีอื่นใด นอกจากปัจจุบันธรรม ปัจจุบันกาย ปัจจุบันจิต

ปัจจุบันจิตน่ะเกิดๆ ดับๆ  ปัจจุบันกายน่ะตั้งอยู่ต่อเนื่อง ดำรงอยู่ตามเหตุและปัจจัย แปรปรวนไปตามเหตุและปัจจัย มีความดับไปเป็นขณะๆ  จะอยากก็ตาม ไม่อยากก็ตาม กายนี้ก็ยังดำรงอยู่ ... ไม่เหมือนจิตนะ จิตเป็นของเกิดๆ ดับๆ บางทีก็มาด้วยความไม่รู้ บางทีก็มาด้วยความอยาก

แต่ยังไงๆ กายนี้ยังดำรงอยู่ด้วยความเป็นปกติจนตาย มันต่างกันอย่างนี้ ...ไม่มีจิต ไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ ...กายยังมีอยู่เลย ไม่หายไปไหน ใช่มั้ย  

เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่มีจิตคิดปรุงแต่งไปด้วยอำนาจของตัณหาอุปาทานแล้ว กายยังมีอยู่เลย ไม่ไปไหน  แล้วก็อยู่กับมันจนกว่ามันจะแตกดับตายไปน่ะ

ถึงบอกว่าพระอรหันต์น่ะท่านตายสองครั้ง มีนิพพานสองครั้ง  ตายครั้งแรกจิตตาย ตัณหาอุปาทานตายพร้อมกัน จิตสังขารที่ออกมาจากความไม่รู้หรืออวิชชา ตายพร้อมกัน...ยกคลอกเลย นี่ตายครั้งแรก 

แต่กายนี่ไม่ตาย  ยังต้องอยู่กับมันตามเหตุปัจจัยแห่งกรรมที่มันหล่อเลี้ยงขันธ์ห้าไว้ ... ก็ไปตายจริงตอนหมดอายุขัย  อันนั้นน่ะตายจบ ตายแบบเบ็ดเสร็จ ตายแบบไม่มีเหลือหรอ ตายแบบตายสิ้น ตายแบบหมดจด ตายแบบไม่เหลือซากธุลี นี่ตายของพระอรหันต์

ของพวกเรานี่มันพวก...อยู่ยงคงกระพัน  หนังเหนียว ฆ่าฟันก็ไม่ยอมตาย ถึงตายกูก็จะมาอยู่ใหม่ เกิดใหม่  นั่น มันฝึกวิชาคงกระพัน ไม่ยอมตาย ไม่อยากตาย ... มันก็ตายแล้วตายอีก ตายแล้วตายอีก อยู่อย่างนั้นแหละ มาเกิดใหม่เฝ้าโลกเฝ้าจักรวาล

เพราะไม่มาเห็นว่านี้เป็นเพียงแค่มหาภูตรูปสี่ ดินน้ำไฟลม อากาศ ความว่าง ธาตุหก  ไม่มีอะไรเป็นสัตว์และบุคคล ไม่มีอะไรเป็นเราของเราแต่ประการใด แม้แต่อณูเดียว  

มันไม่รู้ ... ถึงรู้ก็รู้จำ รู้คิด ... 'ไม่เชื่อ กูไม่เชื่อ'  ไอ้จิตไม่รู้ จิตอวิชชาบอกว่า แค่นี้กูไม่เชื่อ แค่จำกับนึกเอานี่ แค่นั้นน่ะ ไม่ละหรอก มึงอย่าเผลอแล้วกัน เผลอเมื่อไหร่กูก็ยึดเอา

ไม่ใช่มันละกันได้ง่ายๆ นะ ...ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าไม่ต้องมาเปลืองแรงสี่อสงไขยแสนมหากัปบำเพ็ญหรอก ... มันจะต้องอาศัยสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองๆๆ อยู่ต่อเนื่องไป  อบรมกายใจเจ้าของเองด้วยสัมมาทิฏฐิ จิตที่รู้ชอบเห็นชอบ

ไอ้จิตสมาธิ ไอ้จิตปัญญาไอ้จิตที่รู้อยู่ที่เดียว ไอ้จิตที่เป็นหนึ่งในปัจจุบัน ไอ้จิตที่ไม่คิดไม่นึก ก็เป็นจิตหนึ่ง อาการหนึ่งเหมือนกัน  แต่มันเป็นจิตรู้จิตเห็น เพื่อมากำราบจิตไม่รู้จิตไม่เห็น จิตโง่  เขาเรียกว่าจิตสอนจิต จิตเห็นจิต จิตแจ้งจิต ... แล้วก็จิตละจิต

เมื่อใดที่มันแจ้ง เมื่อใดที่มันละ เมื่อใดที่มันจบในจิตไม่รู้ แล้วมันหมดสิ้น ... ตัวจิตรู้มันก็หมด หมดหน้าที่ ไม่ต้องทำงานแล้ว ไม่ต้องมาคอยรู้คอยดู คอยแยบคายกับอะไร เพราะมันไม่มีแล้วที่มันไม่รู้

แต่ตอนนี้จิตไม่รู้มันไม่หมด มันจึงต้องมีจิตรู้ด้วย...ต้องมากด้วย  เพราะตอนนี้มันน้อย ไอ้จิตรู้ตรงนี้มันน้อยจนถึงขั้นที่เรียกว่ากล้องจุลทรรศน์ไปส่องยังหาไม่เจอเลย  

ไอ้ที่เพ่นพ่านนี่สิงสาราสัตว์เต็มไปหมดเลย มีแต่เขี้ยวมีแต่งา คอยขวิดคอยกัดคนอื่นบ้างตัวเองบ้าง คือจิตไม่รู้ทั้งสิ้น ทำงานทั้งวี่ทั้งวัน หลับยังฝันเลย เป็นอัตโนมัติ เป็นสันดาน เป็นนิสัย เป็นความเคยชิน ...เป็นตัวของเราเต็มๆ

มันต้องอาศัยความพากความเพียร ความต่อเนื่อง ความอดทน ความไม่ย่อท้อ ความไม่ขี้เกียจ ความตั้งใจ ความใส่ใจในที่อันเดียว ... อย่าไปตั้งใจหลายที่ อย่าไปจับปลาหลายมือ อย่าไปงมเข็มในมหาสมุทร อย่าไปทอดแหจับปลาเข็มในมหาสมุทร ...ไม่มีประโยชน์

(ต่อแทร็ก 8/6)