วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/34 (2)


พระอาจารย์
8/34 (add550520B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/34  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  นี่คือจุดบกพร่องของนักปฏิบัติที่ทำให้เกิดความไขว้เขว เนิ่นช้า ...แล้วมีการแบ่งกัน จะมีการแบ่งธรรมกันเรื่อยๆ แม้แต่หมู่ชาวพุทธยังมีการแบ่งวิถีการปฏิบัติเลย

พระพุทธเจ้าไม่เคยแบ่งวิถีการปฏิบัติเลยนะ ...ธรรมท่านบอกว่ามีมรรคอยู่ตัวเดียวเท่านั้นแหละ มรรคมีองค์แปด คือศีลสมาธิปัญญา หรือไตรสิกขา เรียกว่ามรรคมีองค์แปด

ไม่เห็นมีธรรมกายเลย ไม่เห็นมียุบหนอพองหนอเลย ไม่เห็นมีพุทโธ อสุภะอสุภังอะไรเลย ไม่เห็นมีมหาสติปัฏฐานเลย ไม่เห็นมีปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติอะไรเลย

ถ้าพูดโดยหลักตรงๆ เลยนะ ว่ากันแบบปฏิบัติมานี่ ก็ว่ากันโดยมรรค มรรคมีองค์แปด ...แต่เราก็บอก องค์แปดมากไป เดี๋ยวงง  เอาเหลือสาม ไตรสิกขา...ศีลสมาธิปัญญา

นี่มีหลักแล้วนี่ ...แล้วคราวนี้เราก็ต้องถามก่อนว่า มีศีลรึยัง ...ศีลห้ามี สี่ก็มี บางคนก็สาม บางคนก็ข้อนึง เอ้า แล้วแต่ ช่างหัวมึง ไม่ว่ากัน...แต่นั่นคือศีลภายนอก เข้าใจมั้ย

แต่ศีลในความหมายของไตรสิกขา ศีลในองค์มรรคนี่...ศีลคือแปลว่า ปกติ ปกติกาย ...ถามว่าปกติกายนี่มีมั้ย ตอนนี้มีมั้ย มีอยู่แล้วใช่มั้ย

จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันมีอยู่แล้วใช่มั้ย ...มันมีมาตั้งแต่มีกายมาเลย นับตั้งแต่มีกายออกมาจากท้องแม่เลย มันก็มีความแสดงความเป็นปกติกายอยู่แล้ว

เห็นมั้ย เพราะนั้นตัวกายนี่คือตัวองค์ศีลอยู่แล้ว ...แต่เราไม่รักษาศีล เข้าใจมั้ย  ศีลน่ะมี แต่ไม่รักษา  ปกติกายมี แต่ไม่รักษาความเป็นปกติกายไว้

จะรักษาความต่อเนื่องของปกติกายยังไง...สติ ใช่มั้ย  ถ้าไม่มีสติ มันก็ไม่รู้ว่ากายกำลังอยู่ในอาการไหน มีปกติยังไง ในอาการนั่งปกติยังไง

ลมพัดนี่ก็เป็นปกตินะ นั่งอยู่แล้วก็รู้สึกว่าตึง แน่น ข้างล่างที่เข่าที่แข้ง ปกติใช่มั้ย ...แล้วมันจะรู้ความปกตินี้ได้ต่อเนื่องเพราะอะไร...สตินะ ...ถึงบอกว่า ศีลมี..ไม่รักษา 

นี่เรายังไม่ได้พูดถึงศีลห้าศีลแปดเลยนะ ...เราพูดถึงศีลกาย เราพูดถึงมหาศีล เราพูดถึงศีลใหญ่ เราพูดถึงศีลที่เป็นกลาง เราพูดถึงศีลที่มีทุกคนในสัตว์โลก เราพูดถึงศีลที่เป็นธรรมชาติ

แต่ทำยังไงถึงจะรักษาศีลธรรมชาตินี้ ที่มีอยู่แล้วนี่ ให้ต่อเนื่อง ...ต้องมีสติ เอาสติเข้ามาระลึกรู้เห็นความปกติกายนี้ ...นี่เรียกว่าการเจริญศีลสิกขา เบื้องต้นของมรรคเลยนะ

อยู่ดีๆ มาถึงก็หลับหูหลับตาพุทโธๆๆ  อยู่ดีๆ หลับหูหลับตา จะเอาความดับๆๆ ว่างๆๆ  ดับๆ ว่างๆ  เอาปัญญาล้วนๆ เสร็จมะก่องด่อง ...เพราะไม่มีศีลเป็นพื้นฐาน

ปกติกายนี่ คำว่าศีลนี่ มาจากคำว่า ศิลา ศิลาแปลว่าศีล ศิลาแปลว่าแผ่นดิน ...ถ้ามีศีล รักษาความปกติกายได้ต่อเนื่องนี่ จิตจะมีความหนักแน่นและตั้งมั่นของมันขึ้นมาตามลำดับ

เชื่อ-ไม่เชื่อ ...ไม่รู้ ลองดูเอง...อันนี้ต้องลองนะ ...เราไม่โฆษณาชวนเชื่อ ต้องเอากายวาจาใจท้าพิสูจน์ จะมาเชื่อแบบสุ่มๆ เดาๆ ไม่ได้ ...ไปทำดู ต้องลองดูว่า เอาสักตั้งนึงวะ 

ลองดูสักชั่วโมง ดูสิว่าไม่ออกนอกกายนี้ ดูความปกติกายดูสิว่าจิตมันจะตั้งมั่นจริงมั้ย...เดี๋ยวรู้เอง ...แล้วเราลองเทียบดู ทั้งวันเรารู้ตัวกี่ครั้ง เรารู้ตัวกี่นาที เรารู้ตัวได้ต่อเนื่องมั้ย 

นั่นแสดงว่าอะไร ศีลบกพร่องมั้ย ทะลุมั้ย ด่างพร้อยมั้ย แหว่ง เว้า วิ่น ขาด ...ถึงแม้จะมีศีลห้า ศีลแปด ศีลสาม ศีลสอง ก็แค่นั้น ไม่ว่ากัน 

แต่ว่าศีลในองค์มรรคนี่ ไม่มีเลย แทบจะไม่มีเลย ...แล้วก็จะไปนั่งให้สงบ ให้เกิดสมาธิๆ มันจะเกิดได้ยังไง หือ ...เพราะสมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิแปลว่าตั้งมั่น

คือจิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน นั่นแหละเขาเรียกว่าสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ...สงบคือสมถะ คือฌาน หรือเพ่ง คนละเรื่องกันเลย คนละเรื่องกัน

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญา พระพุทธเจ้าต้องการให้เกิดสมาธิตรงนี้ ...คือตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน ไม่หวั่นไหวไปกับความคิดความปรุงแต่ง ไปกับรูปเสียงกลิ่นรสที่มากระทบ

อันนี้ต่างหาก จึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาญาณนะ นี่ ...รู้ตัว ยืนเดินนั่งนอน รู้อยู่ที่กาย เห็นอยู่ที่กาย อันเดียว ไม่ต้องไปพุทโธแล้ว ไม่ต้องพุทโธกำกับด้วย

รู้ไปดูไป อันไหนเป็นกาย อันไหนเป็นรู้ ดูไป มันจะเห็นอะไรนอกเหนือจากกายที่มันแสดงอยู่ ...เพราะมันรักษาศีลอยู่ตลอดเวลา คือรักษาปกติกายอยู่ แล้วมันจะเห็นอะไรนอกเหนือจากกาย หือ

มันจะเห็นอะไรนอกเหนือจากความเป็นปกติกายที่เขาแสดงอยู่ตามความเป็นจริง  ไม่ต้องคิดเลย ไม่ต้องค้นอะไรเลย มันไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วว่าปกติกายคืออะไร

ไม่ต้องคิดเลยนะ ไม่ต้องวิเคราะห์เลยนะ ไม่ต้องไปเปิดตำราเลย ...นี่มันมาแยงลูกตาต่อหน้าเลย ว่าเขาแสดงความเป็นจริงอยู่เต็มหูเต็มตานี่ ว่าปกติกายคืออย่างนี้

ปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาก็ค่อยซึมซาบเกิดขึ้น เชื่อขึ้น อ๋อๆๆ อย่างนี้เอง ...ไอ้ที่เคยบอกว่าสวย-ไม่สวย ไอ้นั่นไม่จริงแล้ว เริ่ม อ๋อ ความเป็นจริงมันเป็นแค่นี้เอง

เนี่ย เห็นมั้ย ศีลมี...สมาธิเกิด  สมาธิเกิด..ปัญญาเกิดตามมา ตามลำดับของเขา

ไม่ยาก...แต่ทำให้ต่อเนื่องน่ะยาก ...เพราะต้องอาศัยความต่อเนื่อง ถ้าศีลไม่ต่อเนื่อง ศีลยังไม่บริบูรณ์ ถ้าศีลยังบกพร่องอยู่นี่ มันก็เห็นแต่กระพร่องกระแพร่ง ขาดๆ วิ่นๆ

มันก็เลยเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งๆ  เดี๋ยวก็กรรมการแปดสิบ-วัดยี่สิบ  ไอ้กรรมการครึ่งหนึ่งวัดครึ่งหนึ่งไม่ค่อยจะได้เจอเท่าไหร่

แต่ถ้ามันต่อเนื่องไปนี่ วัดเก้าสิบ-กรรมการสิบ ...มันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรจริงกว่านี้แล้ว มันจริงโดยที่ว่าไม่ได้มีอะไรมาอ้างอิงเลย

มันจริงโดยที่ว่าไม่ได้มีตำรามาอ้างอิงด้วย มันจริงโดยที่ไม่ได้มีคำพูดคำสอนแม้กระทั่งพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงด้วย ...มันจริงโดยที่มันเห็นกับตา รู้อยู่กับใจ เห็นอยู่กับใจ

ใครจะมาเถียงมันได้ ใครจะมาลบล้างความจริงนี้ได้  ใครจะมาบอกว่านี้ถูกนี้ผิดไม่ได้แล้ว ...เนี่ย ถึงเรียกว่าสัจธรรม มันเป็นสัจจะ

ถ้ามันเห็นเข้าไปถึงสัจจะ ซ้ำๆๆๆ ในสัจจะที่ไม่มีอะไรมาลบล้างแล้วนี่ เรียกว่าเข้าถึงสัจธรรม ...เมื่อมันเข้าถึงสัจธรรมแล้ว ไอ้จิตที่มันไม่ใช่สัจธรรม มันเป็นสัจจะกู สัจจะเรา

แล้วมันเอาเราเข้าว่า มันเอาความคิดของเราว่า มันเอาความเห็นของคนอื่นว่า ไอ้พวกนี้ไม่จริงหมดเลย ...มันก็ลบไปล้างไปๆ ความเห็นความเชื่อเหล่านี้

แล้วทำไมต้องมาเห็นกายที่เป็นอย่างนี้ล่ะ ...ก็เพราะมันเห็นกายนี้...ทุกข์ เห็นกายนี้เป็นของเรานี่ ยิ่งทุกข์เลย “ทำไมเราถึงเป็นอย่างเนี้ย ทำไมเราถึงเมื่อยล่ะ ทำไมเราถึงต้องแก่ล่ะ ทำไมเราถึงต้องตายล่ะ”

นี่ต่างหากคือตัวทุกข์ ...ถ้าตราบใดยังเห็นว่าก้อนนี้กองนี้เป็นเราของเราเมื่อไหร่ ความทุกข์ในก้อนนี้กองนี้ก็จะบังเกิดขึ้นกับจิตที่ไม่รู้นั้นเอง

ไม่ได้ไปเกิดที่ใครเลยนะ มันเกิดที่จิตไม่รู้ที่มันไปหมายเองนั่นแหละ แล้วมันก็ยึดเองนั่นแหละ แล้วมันก็ทุกข์เอาเองนั่นแหละ แล้วมันก็ออกจากตัวของมันเองไม่ได้

เมื่อมันออกไม่ได้ ทำยังไง ...มันโทษไง มันโทษอันนั้นอันนี้ โทษฟ้าโทษลมโทษฝนโทษโชคชะตาลิขิต โทษอดีตโทษอนาคต โทษคนนั้นทำไม่ดี โทษหมอรักษาไม่ดี ทำให้กูตาย

มันโทษไปหมด ทั้งๆ ที่ว่าตัวมันเองนั่นแหละเป็นตัวให้เกิดทุกข์ หาเรื่องให้เกิดทุกข์ ...แล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงๆ จังๆ 

แล้วพอเขาไม่ได้แสดงความเป็นจริงอย่างที่มันยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทุกข์ ไม่ยอมรับ ...พราะนั้นถึงบอกว่า ต้องเห็นตามความเป็นจริงของกายว่าคืออะไร ว่ามันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงคืออะไร

ถ้ามันเห็นแล้วก็ยอมรับธรรมชาติที่แท้จริงของกายเมื่อไหร่  การเข้าไปขวนขวายในกายก็น้อยลงจนถึงหมดไป นี่ มันตาย...เออ ดี  มันไม่ตาย...ก็ดี  ตาย..ก็ดี

เพราะอะไร ...ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของมัน เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของเรา ...ถ้าดอยมันแตกลงมานี่ โยมจะรู้สึกยังไง...กระเทือน แต่ไม่รู้สึกดีใจเสียใจสักเท่าไหร่หรอก

เพราะอะไร ...มันไม่ใช่ของกู เรื่องของมึง  อาจจะดีใจเสียใจนิดนึง เดี๋ยวก็ลืมแล้ว เพราะว่าไม่ใช่สมบัติของเราแต่ประการใดนี่

แต่อย่าให้เราเอาตีนไปถีบรถโยมนะ...เดือดเลย รถมันก็ไม่เดือดนะ ข้างในนี่มันเดือดน่ะ ...มันเดือดเพราะอะไรล่ะ หือ มันเดือดได้ยังไง...ก็เอาตีนถีบรถน่ะ ไม่ได้ถีบโยมนี่ ทำไมมันโกรธล่ะ

เห็นมั้ย เมื่อใดที่เป็นเราของเราน่ะ ทุกข์นะ กับข้าวของที่ไม่มีชีวิต เขาตั้งอยู่บ่ดาย ซื่อๆ นี่ภาษาเหนือ บ่ดายนี่ ...ยังเดือดร้อนแทนกันเลย ของกูน่ะ ของผมน่ะ

มันบอกมั้ยนั่นน่ะ ...ก็เราถามมันก่อนถีบด้วยว่าของใคร...มันไม่พูดก็เลยถีบน่ะ  มาเดือดร้อนทำไม เห็นมั้ย เนี่ย ปัญหาไงที่ทำไมถึงต้องมาภาวนา ทำไมถึงต้องให้มาเห็นความเป็นจริงอย่างนี้

ตอนนี้ยังไม่ค่อยรู้สึกกันหรอก ใกล้ตายก่อนเหอะ...เดี๋ยวรู้ “รู้งี้กูภาวนาตั้งแต่อาจารย์บอกแล้ว” ถึงวาระนั้นน่ะ ฮึ เรียกหาพระอรหันต์มาเทศน์ให้ฟัง มันก็บอก...ไปไกลๆ กูหน่อย จะตายห่าอยู่แล้ว หนวกหู

จิตมันไม่รับเลย บอกให้ ...มันจะกระวนกระวาย กระวีกระวาดอยู่แต่ว่า “ทำยังไงดีๆ” ...มันจะหนีก็หนีไม่ออก จะวางจิตตรงไหน มันไม่รู้จะวางตรงไหนเลย

ทุกข์ในขันธ์ ทุกข์ในกาย ทุกข์ในเวทนากายนี่ ไม่ใช่เล็กน้อยนะ ...ถ้าใครเคยใกล้ตาย ใครเคยมีเวทนาป่วย เจ็บป่วย มีเวทนามากๆ นี่ จะรู้ว่า อย่ามาพูดอะไรใกล้ๆ หูกูนะ กูโกรธ (โยมหัวเราะ)

มึงมาเยี่ยมก็นั่งเฉยๆ นะ อย่ามาแหยม อย่าแนะนำ ...มันไม่เอาอะไรเลยนะ มันพร้อมที่จะมีเรื่อง หาเรื่อง  จิตมันพร้อมที่จะเป็นอกุศลตลอดเลยตอนนั้น

ไม่ได้พูดเล่น...ทุกคนต้องเจอ ต้องเจอแน่ๆ อันนี้เป็นไฟท์บังคับ ...แล้วยังไง ถ้าเราไม่เตรียมตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ฝึกอบรมให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วนี่

ถึงวาระนั้นนี่ ใช้การอะไรไม่ได้เลย ...เป็นอาจารย์จบด๊อกเตอร์ จบเมืองนอก มีเงิน มีทรัพย์สิน มีชื่อเสียง มีบริวาร ถึงเวลานั้นช่วยอะไรไม่ได้เลยนะ

ปัญญาความรู้ที่เรียนถึงขึ้นด๊อกเตอร์ดุษฎีบัณฑิตขนาดไหน เอามาใช้ตอนนั้นไม่ได้เลย นั่น ...มีแต่คำพูดเรานี่...ให้จำจนตายเลยว่า “รู้เฉยๆ” ตัวนี้จะสู้ได้ และเอาอยู่...สู้ได้และเอาอยู่


(ต่อแทร็ก 8/35)





วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/34 (1)


พระอาจารย์
8/34 (add550520B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการภาวนานี่เป็นการต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับตัวเรา ...ฝืน ต้องฝืน  ไม่สบายหรอก แต่มันก็ไม่ยากจนเกินไปในการฝืน

เพราะไม่ได้ฝืนให้ไปทำผิดศีลธรรม หรือว่าฝืนให้มันเอาหัวเดินต่างตีน หรือว่าฝืนทำในสิ่งที่มนุษย์ในโลกเขาทำกันไม่ได้แล้วต้องไปทำอย่างนั้น...ไม่ใช่

ฝืนใจเจ้าของ ฝืนจิตเรานั่นแหละ ฝืนที่จะให้กลับมารู้อยู่เห็นอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ด้วยสติ ฝึก อบรมมากๆ ให้เห็นคุณค่า

เพราะนั้นตัวที่จะเป็นตัวยึด หรือตัวโยง ให้อยู่ในปัจจุบันได้ง่ายและชัดที่สุดคือกาย ...จะไปอยู่กับแบบว่าเสียงปัจจุบันที่เราพูดอย่างนี้ หรือว่ารูปที่เห็นผ่านไปผ่านมาเป็นปัจจุบันนี่...อยู่ได้ไม่นานหรอก

เสร็จมัน...ไหล หลง เพลิน ลืมไปเลย ...เพราะนั้นมีแต่ตัวเจ้าของเองนี่แหละ ตัวกายตัวนี้แหละ ที่มันเป็นหลัก ที่มันมีอยู่ตลอดเวลา ดูตรงไหนก็เห็น หยั่งลงตรงไหนก็เจอ

ไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปสร้างขึ้นมาใหม่ มีอยู่ตลอดเวลา จนตายน่ะ เพราะนั้น เอากายนี้เป็นหลัก ต้องเอากายนี้เป็นหลัก ต้องมีการรู้ตัวนี้เป็นหลัก รู้อยู่กับตัวนี้เป็นหลักเบื้องต้นก่อน

จับหลักให้มั่น จับหลักให้แน่น ถือว่าเป็นหลักกาย ถือว่าเป็นหลักของปัจจุบัน ...แล้วไม่ต้องถามหาอะไรหรอก ทำตรงนี้ให้ได้...มากๆ สม่ำเสมอ

อย่ามัวแต่หลงคิดหลงเพลิน อย่ามัวแต่คิดหาวิธีการ อย่ามัวแต่คิดว่าอันไหนดีกว่ากัน ...เสียเวลา ไม่มีประโยชน์ กลับมารู้ตัวตรงนี้เลย แล้วก็ละความคิดต่างๆ นานาออกไป

ละไม่ได้ก็ช่างหัวมัน คือไม่ไปอยู่ในความคิด ...มันจะไม่ดับก็ไม่ดับ แต่ไม่ไปสนใจความคิด แล้วก็ไม่ไปคิดต่อกับมัน กลับมารู้เนื้อรู้ตัว

รู้อยู่ที่อาการนั่งนอนยืนเดิน รู้อยู่ที่อาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง รู้อยู่ที่อาการตึง แน่น ไหว ขยับ ธรรมดานี่...ซึ่งมันเป็นอาการธรรมดาของกาย...มีทุกคน

(ถามคนที่มา) เป็นคริสต์ใช่ไหม คริสต์มีกายมั้ย (ตอบ - มี) ...มี นับถือคริสต์ก็มีกายใช่มั้ย มีกายอยู่น่ะโดนลมพัดเย็นมั้ย ต้องเย็นใช่ไหม กายเราล่ะโดนลมเย็นมั้ย

โยม –  เย็น


พระอาจารย์ –  กายอาตมาโดนลมก็เย็น ...ไหนพุทธ ไหนคริสต์

โยม –  ไม่มีค่ะ


พระอาจารย์ –  เออ ก็บอกแล้วว่า ตัวธรรมะนี่ไม่ได้แบ่งแยกเลย ...มีแต่ตัวความเห็นของคนนั้นเองที่เข้าไปแบ่ง มีแต่ความเชื่อแล้วก็จิตนั่นแหละที่เข้าไปขัดขวางการหยั่งลงไปในธรรม

โดยธรรมนี้ โดยธรรมชาตินี้ไม่ได้แบ่งสันปันส่วนเลยว่า นี้เป็นของใคร หรือธรรมนี้เป็นของพระพุทธเจ้า ธรรมนี้เป็นของชาวพุทธนะ ธรรมนี้ต้องเฉพาะพุทธศาสนิกชนนะ

ธรรมะคือธรรมะ ธรรมชาติคือธรรมชาติ ธรรมดาคือธรรมดา ไม่เคยแบ่งว่านี้เป็นของใคร ไม่ใช่ธรรมของเรา ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า

แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำทางให้เห็นว่า ปฏิบัติตัวอย่างไร กายวาจาใจอย่างไร จิตอย่างไร จึงจะเข้าไปเห็นธรรมชาติ แล้วยอมรับธรรมชาติจนถึงที่สุดต่างหาก

เพราะธรรมชาตินี้ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของชาวพุทธ แล้วก็ไม่ใช่ของคริสต์ ไม่ใช่ของใคร ...เป็นกลาง เป็นสาธารณธรรม

อย่าแอบอ้างว่าธรรมนี้เป็นของเรา ว่าธรรมนี้เป็นของเขา จำเพาะพุทธเท่านั้น จำเพาะคริสต์เท่านั้น นี่ ฝรั่งยังมาเลยนี่ (หัวเราะ) นึกว่ากลับไปแล้ว (ถามฝรั่ง) Go home tomorrow (Yes)

จิตน่ะมันดื้อ ...เราไม่ได้โทษใครหรอก เราไม่ได้โทษความผิดของมนุษย์หรอก เราโทษความไม่รู้ของจิต 

แล้วพวกเราก็สนับสนุนความไม่รู้ของจิตมากขึ้น แล้วก็ให้ค่าให้ความสำคัญกับจิตที่ปรุงแต่งมาก จนละเลยความเป็นจริงของธรรมชาติที่เขาแสดง

เอาง่ายๆ นั่ง แค่รู้ว่านั่งนี่...ในความรู้สึกว่านั่งนี่ มันเป็นอะไรนั่ง นั่งนี้เป็นใคร ...มันบอกมั้ย มันบอกมั้ยมันเป็นอะไร


โยม –  ไม่ได้บอก

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละกายตามความเป็นจริง ...เป็นชายมั้ย เป็นหญิงมั้ย


โยม –  ไม่ได้บอก

พระอาจารย์ –  สวยมั้ย ไม่สวยมั้ย


โยม –  ไม่ได้บอก

พระอาจารย์ –  เออ เห็นมั้ย มันยากมั้ยนี่ การที่กลับมารู้กายตามความเป็นจริงนี่ ...มันไม่ใช่ว่าต้องไปอยู่ในถ้ำในป่าในเหวนะ หรือต้องลาออกจากงาน ลาออกจากสังคม

หรือลาออกจากความเป็นลูก ลาออกจากการเป็นเป็นผัวเป็นเมีย แล้วมาอยู่คนเดียวแล้วจึงจะเห็น ...ตรงนี้ยังเห็นได้เลย ว่ากายจริงๆ คืออะไร ...แล้วมันบอกมั้ย มันเป็นเรา ...ไม่บอก

แต่มีตัวหนึ่งที่ ฮึดๆ จะบอกอยู่ ...คือจิต ที่มันบอกว่า เนี่ย เรากำลังนั่ง ...เอ้า แต่ถ้าดูกลับไปที่ตัวที่นั่งเฉยๆ นี่  ตัวที่เป็นก้อนนี่ มันพูดมั้ย


โยม –  ไม่ได้พูด

พระอาจารย์ –  แน่ะ อันไหนจริงกว่ากัน ...อันนี้ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้านะก็จะบอกว่าไอ้ตัวที่นั่งเฉยๆ นี่จริงที่สุด ...แต่ไอ้ตัวเราตอนนี้ยังบอก “ครึ่งๆ ว่ะ”  มันจะรู้สึกว่า...เอ๊ มันยังเป็นของเราอยู่

แล้วจะมีเปอร์เซ็นต์เชื่อกับตรงนี้อยู่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ว่ายังเป็นของเราอยู่ นี่ยังคือจิตไม่รู้ที่มันยังครอบงำอยู่ ครอบงำความเป็นจริง หรือครอบงำหรือปิดบังธรรม ที่เขากำลังแสดงอยู่ เป็นปกติวิสัย

เพราะนั้นการปฏิบัติก็คือการมาย้ำๆๆ รู้  ย้ำรู้ย้ำเห็น ในอาการที่เขาแสดงโดยปกติวิสัยนี้ ...จนจิตที่ไม่รู้นี่ จนจิตที่มันเข้าไปให้ค่าให้ความหมายให้ความเห็นนี่ มันยอม

เพราะมันไม่สามารถจะลบล้างความเป็นจริงนี้ได้ ...ดูกี่ทีๆ อยู่ในอาการไหนก็ตาม มันก็เป็นแค่ก้อนหนึ่งกองหนึ่ง ถ้าให้เราบอก เราก็บอกว่า นี่ กูนั่งดูนั่งถามมันมาเป็นสามสิบปีแล้ว

มันไม่ตอบกูสักคำเลย ว่ามันเป็นของกู ...นี่ จิตมันจะเอาอะไรมาเถียง ไอ้จิตไม่รู้มันจะเอาอะไรมาเถียงกับความเป็นจริงที่ไม่สามารถจะมีอะไรไปบิดเบือนธรรมได้ ...มันต้องยอม

แต่ตอนนี้พวกเราน่ะยอมมัน ใช่มั้ย ...ขี้เกียจ ไม่ซ้ำซากในการดูลงไป รู้ลงไป เห็นลงไป ...ทั้งๆ ที่ว่ามันก็มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา มีมาตั้งแต่เกิด...ความปกติธรรมดาของกาย

ภาษาอังกฤษก็เรียกว่ามันเป็น common…common  กาย common ด้วยนะ ...ไม่ต้องไป comment นะ ไม่ต้องไปลึกซึ้งกว่านี้ ไม่ต้องไปเห็นกระดูก ไม่ต้องไปเห็นเป็นซากศพ ไม่ต้องไปเห็นเป็นดินน้ำไฟลม

ไม่ต้องไปนึกว่ามันจะต้องเปื่อยผุพัง เน่า แตก เอาความรู้สึกธรรมดาปกติเดี๋ยวนี้...นี่แหละคือกายตามความเป็นจริง ...ไม่ลึกกว่านี้ ไม่หยาบกว่านี้ ...ถ้าหยาบกว่านี้ก็บอกว่าเรานั่ง อันนี้อย่าไปฟังมัน

มันบอกว่าเรานั่ง ตัวเรานั่ง ...ก็ดูลงไป ดูที่อาการนั่งสิ ให้รู้เฉยๆ ตรงอาการ  ไหวนี่เห็นมั้ย วูบๆ เหมือนไฟแลบ เหมือนฟ้าแลบ เห็นมั้ย แพล็บนึงๆ แค่นั้นแหละ พอแล้ว

นั่นแหละกาย ดูเข้าไป รู้เข้าไป ให้ทันกัน แล้วมันจะไปลบล้างความเห็นผิดในกาย ว่านี้เป็นเรา นี้เป็นของเรา ...ก็มันเห็นซ้ำเห็นซาก เห็นอยู่ทนโท่คาหูคาตาอยู่เลยว่า มันเป็นอะไรๆ อย่างหนึ่งที่ปรากฏ แค่นั้นเอง

ถ้าภาษาฝรั่งอีกก็ว่า Something else เท่านั้น ใช่มั้ย ...มันบ่งบอกอัตลักษณ์ไหมว่าเป็นชายเป็นหญิง มันบ่งบอกไหมว่ามันสวยหรือไม่สวย มันบ่งบอกไหมว่ามีใครเป็นเจ้าของมัน

เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นไหว เป็นนิ่ง เป็นตึง เป็นขยับ ...จริงๆ ไอ้ที่เราพูดนี่มันยังไม่บอกเลยว่าเป็นไหวหรือเป็นนิ่ง ยังต้องใช้สมมุติยังต้องเอาภาษาไปทาบอยู่เลยนะว่าไหว นิ่ง ...นี่ยังมีสมมุติเข้าไปบังเลยนะ

แต่ถ้าดูไปจริงๆ มันเงียบ มันเป็นอะไรที่ตั้งอยู่เงียบๆ ใช่มั้ย ...ตัวที่รู้ก็เงียบ ตัวที่รู้ที่เห็นก็เงียบ ...แต่มันอาจจะมีเสียงกระซิบของจิตอยู่ 

คอยออกความเห็นว่านี่ เรากำลังนั่งนะนี่ แขนเราขยับ ขาเรามันกำลังเย็นอยู่  มันคอยวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ...ตัวนั้นแหละคือจิตที่เข้าไปให้ค่า ตัวจิตนี่คือความไม่รู้

เมื่อมันไม่รู้ มันไม่เห็นความเป็นจริงของปรมัตถ์ ไม่ยอมรับความเป็นจริงของปรมัตถ์ ...มันพยายามเอาสมมุติและบัญญัติเข้ามาเติม เข้ามาอธิบาย เข้ามาให้ความหมาย

แล้วพวกเรานี่ มันจะติดสมมุติกับติดบัญญัติ และเอาบัญญัติและสมมุตินี่มาเป็นความจริง ...นี่เขาเรียกว่าหลงบัญญัติ หลงสมมุติ

แล้วมาหลงสมมุติว่านี้เป็นชาย สมมุติว่านี้เป็นหญิง ...รู้รึเปล่า แค่สมมุติว่าเป็นชาย สมมุติว่าเป็นหญิงนี่ ล้านๆ ชาติแล้วที่เกิดตาย บอกให้เลย

แค่สมมุติ เชื่อในสมมุติว่านี้เป็นชาย นี้เป็นหญิง แค่เนี้ย เกิดตายนี่เป็นหลายล้านชาติแล้ว ...เห็นมั้ย นิดเดียวแค่นี้เองนะ แต่ว่าพาให้ยืดยาวไปขนาดไหน

แต่ว่าการแก้ แก้ก็ง่ายมากเลย ก็แก้แค่นี้เอง...ก็ไม่เชื่อมัน แล้วก็หยั่งลงไปตรงๆ รู้ลงไปตรงๆ ที่ความปรากฏขึ้นของกายนั้น ว่านั่งว่านิ่ง ว่าไหว ว่าติง ว่าขยับ ว่าร้อน ว่าอ่อน ว่าแข็ง ว่าเบา ว่าหนัก

ดูมันไป ธรรมดาๆ นี่แหละ เรียกว่าสติธรรมดาที่มาเห็นกายธรรมดา ...เห็นมั้ย การภาวนาเป็นเรื่องธรรมดานะ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย

ไอ้ที่มันลึกลับซับซ้อนนี่ทำเกินไป ทำเกิน ทำตามตำราเกินไป ทำตามคนอื่นเขาพูดมาก ทำตามคนอื่นเขาว่ากันเกินไป ...ไอ้คนพูดมันยังไม่เห็นเลย กายธรรมดานี่

มันไปอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ไปอยู่กับจิตที่วิลิศมาหราอัศจรรย์พันลึกอะไรของมันก็ไม่รู้  มันไม่มีสาระหรอก ...ไอ้ที่มีสาระอยู่ไม่ดู ไอ้ที่ควรจะต้องดู..ไม่ดู

ไอ้ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจกับมันกลับไม่ยอมทำความเข้าใจกับมัน ไอ้ที่ควรจะสำเหนียกแยบคาย กลับไม่สำเหนียกแยบคาย ...กลับไปหาอะไรทำกันอยู่


(ต่อแทร็ก 8/34  ช่วง 2)



วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/33 (2)


พระอาจารย์
8/33 (add550520A)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  พระพุทธเจ้าถึงวางหลักของมรรคขึ้นมา ...มรรคแปลว่าแนวทาง มรรคแปลว่าหนทาง มรรคแปลว่าวิถี ท่านเรียกว่าเป็นมรรควิถี คือวิถีแห่งมรรค 

คือวิถีแห่งการดำเนิน อบรม เพื่อให้เกิดการเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติ ...แล้วถ้าดำรงอยู่ในองค์มรรค หรือดำเนินอยู่ในวิถีแห่งมรรคด้วยความต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ขาดสาย จะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้นพร้อมทั้งยอมรับ

ไอ้จิตที่มันเคยดักดานนี่ ไอ้จิตที่มันเคยคิดเอาเอง มีความเห็นของมันเอง วิเคราะห์ของมันเอง ตัดสินของมันเอง ว่าอันนี้ใช่ อันนั้นถูก อันนี้ผิด ...พวกนี้มันจะเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนความเห็นต่างๆ พวกนี้ไป

เนี่ย เรียกว่าปัญญา มันเกิดปัญญาขึ้น ...เพราะนั้นปัญญาไม่ใช่ว่าไปสร้างขึ้น หรือไปคิดวิเคราะห์ให้เกิดปัญญาเหมือนกับอาจารย์สอนเด็กให้มีปัญญา ด้วยการท่องจำ คิด วิเคราะห์

แต่ว่าปัญญานี่...ในทางพุทธศาสนา ปัญญาที่พระพุทธเจ้าต้องการ คือการที่สอนให้จิตมันเรียนรู้สิ่งที่ปรากฏนี้ ด้วยสภาวะที่เป็นกลาง

ไม่เข้าไปหาเหตุหาผล ไม่เข้าไปอ้างเหตุอ้างผล  ไม่ต้องเข้าไปหาถูกหาผิด ไม่ต้องไปเอาถูกเอาผิด ...ให้จิตมันรับรู้รับทราบสภาวะต่างๆ ที่ปรากฏนี้ด้วยความเป็นกลาง

ถ้าภาษาแบบฟังง่ายๆ ไม่ซับซ้อนก็คือรู้เฉยๆ ให้รู้เฉยๆ กับทุกสิ่งที่ปรากฏ ให้มากที่สุด ให้เฉยมากที่สุดไว้ก่อน ...เพราะแรกๆ มันจะไม่เฉย...ไม่ยอมเฉย

มันมีความถือตัวมัน...จิตนี่ มันมีความถือตัวในความรู้ของมัน มันมีความถือตัว ถือดี อวดดี อยู่ในตัวของมันเอง ...มันไม่ใช่ยอมง่ายๆ หรอก

เพราะนั้นการปฏิบัติ เบื้องต้นนี่เราจะต้อง..ไม่ใช่ไปสู้รบตบมือกับใคร ตบมือสู้รบกับตัวเองนั่นแหละ กับจิตเจ้าของนั่นแหละที่มันไม่ยอม

มันไม่ยอมที่จะหยุดคิด มันไม่ยอมที่จะหยุดให้ความเห็น มันไม่ยอมที่จะหยุดหาเหตุหาผล มันไม่ยอมที่จะหาความถูกต้องที่สุด ...ตรงเนี้ย มันยากตรงนี้

มันติดเหตุและผล มันต้องมีอะไรมารองรับ มันต้องมีอะไรที่มันเป็นสมมุติฐานที่สามารถยืนยันได้ จะมาลอยๆ ไม่ได้ มันจะติดตรงนี้...ติดความรู้ 

มันจะติดความรู้ ในสิ่งที่มันรู้ แล้วมันอยากจะรู้ และมันจะให้รู้ยิ่งขึ้นไปอีก ...ถ้าพูดภาษาเราก็ว่า ขี้โลภ โลภมาก โลภมากในความรู้ ...ชื่อก็บอกแล้วว่าอยากรู้ 

ก็มันอยากรู้น่ะ มันอยากรู้โดยไม่มีเหตุผลน่ะ มันอยากรู้อ่ะ ทำไงล่ะ...พระพุทธเจ้าเลยบอก อยากรู้ก็ไม่ต้องรู้ โง่เข้าไว้ ให้รู้โง่ๆ ให้รู้เฉยๆ ให้รู้แบบไม่เอาเหตุเอาผล

เพราะอะไร ...เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าธรรมชาตินี้เป็นสภาวะที่นอกเหตุเหนือผล ไม่สามารถเอาเหตุเอาผลมายืนยันกับมันได้หรอก

อยู่ดีๆ ฝนมันตกลงมานี่ หาเหตุผลมาหน่อย เอาให้ตรงนะ ไม่มีใครตอบได้ ...อยู่ดีๆ แผ่นดินไหว จะเอาเหตุเอาผลไหนมารองรับ จะเอาหลักวิชาการไหนมามันก็แค่สุ่มๆ คะเนเอา

แต่ไม่มีทางหรอกที่จะเอาเหตุผลมารองรับมันได้ในสภาวะธรรมชาติ เพราะมันขึ้นกับเหตุและปัจจัยที่นอกเหนือจากการควบคุม นอกเหนือจากการที่จิตของมนุษย์ปุถุชนจะเข้าไปหยั่งถึง

นี่ ยกเว้นพุทธะ ยกเว้นพระพุทธเจ้าองค์เดียว ...แต่พระพุทธเจ้ารู้แล้วท่านก็ยังบอกว่า ไม่จำเป็นต้องรู้เหมือนท่านรู้ ...เพราะไม่มีประโยชน์...มีแต่ความไม่จบสิ้น

เหมือนเขาถามกันว่าไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน ตอบไม่ได้หรอก หรือถามว่ามนุษย์คนแรกเกิดมาอย่างไร มันก็ตอบไม่ได้ โลกนี้ตั้งมาอย่างไร มันก็ตอบไม่ได้

ถึงตอบได้ ถึงรู้ไป ถามว่าแล้วมันได้อะไร ถ้าความรู้นี้มันเข้าไปสู่มรรคผลนิพพาน หรือเข้าไปสู่ความดับโดยสิ้นเชิงไม่กลับมาเกิดอีก พระพุทธเจ้าบอกว่าก็น่ารู้อยู่หรอก

แต่ถ้ารู้แล้วมันไม่ได้มรรคได้ผล มันมีแต่ความสงสัยและลังเล ไม่แน่ใจ หาความแน่นอนไม่ได้  พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าไปรู้ซะดีกว่า 

ท่านเลยให้ละความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงลงไป ให้กลับมาอยู่กับรู้...ให้มาอยู่แค่รู้ ไม่ออกนอกรู้นี้ไป

พูดง่าย ฟังก็ง่าย...ทำยาก ยากมาก จนถึงที่สุด ...แต่ไม่เกินกำลังของมนุษย์ที่ตั้งใจ  ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่มาตรัสรู้บนโลกมนุษย์หรอก ...เพราะท่านรู้แล้ว ดูแล้ว..ทำได้

ที่ไม่ได้คือจิตมันบอก ที่ไม่ได้คือจิตมันห้าม ...จิตเราเองนั่นแหละเป็นตัวขัดขวางการปฏิบัติธรรม ขัดขวางการเจริญขึ้นในองค์มรรค อย่าไปโทษคนอื่นเลย โทษจิตของเราเองนั่นแหละ

แล้วเราไม่ทันจิตของเราเอง มัวแต่หลงคิดหลงปรุง สร้างเหตุและผล นั่น มันสร้างมาทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ ไม่สู้ ไม่เอา ไม่ได้ ...นี่ มันจะสร้างขึ้นมาอย่างนี้

ให้เชื่อพระพุทธเจ้า ให้เชื่อในมรรค ให้เชื่อว่าเราทำได้ทุกคน ...อยู่ที่ความตั้งใจที่จะอยู่กับสติ ที่จะอยู่กับการรู้ตัวเสมอ  ไม่ไปรู้ที่อื่น ไม่พยายามแส่ส่ายออกไปหาอะไรรู้

เพราะไอ้ที่รู้ ไอ้ที่เคยรู้น่ะ มันมากเกินไปแล้ว มากจนสับสนแล้ว ...ไม่สังเกตเหรอ เริ่มลงมือปฏิบัตินี่ มันยังลงมือปฏิบัติไม่ได้เลย เพราะติดที่ไม่รู้จะเอาอะไรมาปฏิบัติ

เพราะมันรู้มากเกินไป จนงง จนสับสนไปหมดว่า วิธีการไหนดีที่สุดวะ เพราะนั้นการปฏิบัตินี่ ไม่ต้องคิดมากๆ อย่าคิดมาก ให้คิดให้น้อย ทำให้เยอะ

คือรู้ลงไปเลย รู้ตรงนี้เลย ไม่ต้องคิด ...ถ้าคิดล่ะไม่ได้ทำ จนตายนู่น ใกล้ตายแล้วถึงเริ่มคิดจะทำ เพราะมันหมดเวลาจะทำแล้วมันถึงคิดได้ว่า เออ ต้องทำแล้วโว้ย 

ถ้าคิดล่ะไม่ได้ทำแน่ๆ ถ้าคิดแล้วจะยาก ถ้าคิดแล้วก็จะทำไม่ได้ ...แต่ถ้าไม่คิดแล้วก็รู้มันตรงนั้นน่ะ ทำได้เลย เพราะการปฏิบัติมันไม่ได้ขึ้นกับอะไร

ไม่ได้ขึ้นกับเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม กรรมวิบาก ความน่าจะเป็น ความไม่น่าจะเป็น ไม่มีอ่ะ ...มันขึ้นอยู่กับสติ มีสติเดี๋ยวนี้มั้ย รู้ตัวมั้ย รู้มั้ยเดี๋ยวนี้กำลังมีอะไรปรากฏอยู่ในขณะนี้

ถ้าคิดน่ะมันไม่เห็นหรอกว่าเดี๋ยวนี้มีอะไร มันก็จะมีแต่ในความคิดที่มันคิดไปเรื่อยเปื่อย ...แต่มันจะไม่เห็นเลยว่า เดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริงแล้วมีอะไรปรากฏอยู่นี่

นี่คือหน้าที่ของสตินะ เพื่อให้มันเกิดการระลึกแล้วกลับมารู้ลงในปัจจุบัน ทำไมต้องรู้อยู่ในปัจจุบัน ทำไมต้องรู้ลงกับปัจจุบัน เพราะความเป็นจริงนั้นมีอยู่ในปัจจุบัน

ความเป็นจริงไม่ได้มีในอดีต ความเป็นจริงไม่ได้มีในอนาคต ความเป็นจริงไม่ได้มีในความคิด ความเป็นจริงไม่มีในความเห็น

ทุกอย่างที่เป็นอดีตอนาคต ความคิดและความเห็น นั่นคือการปรุงแต่งขึ้นของจิตที่ไม่รู้ เพราะไม่รู้ มันจึงหา เพราะไม่รู้ มันจึงสร้างอะไรๆ ขึ้นมา

เพราะมันสงสัย มันจึงสร้าง มันจึงค้น มันจึงไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักคำว่าพอดี ...เพราะมันไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะได้อะไร ไม่รู้ว่ามันจะเจออะไร ไม่รู้ว่ามันจะได้อย่างนั้นไหม ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไหม

นั่น จิตมันจึงเกิดขึ้นเพราะมันไม่รู้ มันจึงไม่จริง แล้วอะไรจริง ...ก็บอกว่าอยู่ในปัจจุบัน ได้ยินเสียงเรานี่จริง เสียงนี้จริง ตาเห็นรูปนี่ กระทบอยู่ตอนนี้ นี่จริง

ปัจจุบัน นั่งอยู่นี่ มีกายนั่งอยู่นี่ แล้วรู้สึกว่าลมพัดเย็นนี่ กายนี้จริง เย็นนี้จริง ตึงๆ แข็งๆ อยู่ตรงนี้จริง ...ไอ้กายที่อยู่ที่บ้านนี่ไม่จริงแล้ว มันดับไปแล้ว

มันจะมีขึ้นเมื่อคิดถึง เมื่อคิดแล้วมันจะมีรูปกายที่อยู่ที่บ้านเกิดขึ้น แต่รูปนั้นไม่จริง ดับไปแล้ว...ไม่เอา อะไรที่ไม่จริง..ไม่เอา ...นี่ เบื้องต้นนี่ละไว้ก่อน

พยายามทวน ให้กลับมาอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ให้มารู้ความเป็นจริงในปัจจุบัน ...ยังไม่รู้อะไรหรอก ให้มันมาอยู่กับปัจจุบันก่อน

ยังไม่เกิดปัญญาหรอก แต่มันเป็นการกรุยทางวางรากฐาน เพื่อจะมาสืบค้นความเป็นจริงต่อไป ไม่ใช่ว่ากลับมาอยู่ตรงนี้แล้วจะเกิดปัญญาทันทีเลย ปล่อยวางได้เลย เข้าใจทุกอย่างเลย...ยัง

มันยังอยู่ไม่จริง มันยังตั้งลงไม่จริงในปัจจุบัน มันยังไม่มีกำลังพอที่จะไปสืบค้นความเป็นจริงในปัจจุบัน ...อยู่ได้ปล้อบๆ แปล้บๆ ไปแล้ว  อยู่ได้แป๊บนึง ไปแล้ว

แล้วมันจะเอากำลังที่ไหนล่ะมาสืบหาความเป็นจริงนี่ในปัจจุบัน ...อยู่ได้ขณะนึงแป๊บนึง ไปแล้ว ร่อนเร่พเนจรตามอาการของจิต ที่ใฝ่รู้ ค้นหา

หรือเผลอเพลินไปกับเรื่องราวของสัตว์บุคคลอื่น รวมถึงตัวเองด้วยที่อยู่ในอดีตอนาคต มันไปอยู่กับความไม่จริงทั้งวันเลย ทั้งวันนี่อยู่กับสิ่งที่ไม่จริงเลย ทั้งวันนี่อยู่กับอะไรที่ไม่มีสาระเลย

แต่พอบอกให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน มันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่เป็นยาขมน่ะ เป็นสิ่งที่ฝืดฝืนเหลือเกิน เป็นสิ่งที่ไม่สนุก ไม่น่าเพลิดเพลิน เป็นของยากไปสำหรับจิต...จิตเรานะ

เนี่ย มันถึงไปมรรคผลนิพพานไม่ได้สักคนน่ะ เพราะมันไม่สามารถจะทานอำนาจของความอยาก...ที่มันจะให้ออกนอกปัจจุบันไปได้

พอตั้งอกตั้งใจทำได้สักระยะนึง ห้านาทีสิบนาที เดี๋ยวมันก็มีความคิดขึ้นมาว่า ถ้าอยู่อย่างนี้เดี๋ยวทำงานไม่ได้นะ เดี๋ยวสอนหนังสือไม่รู้เรื่อง

เดี๋ยวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวคนอื่นเขาจะไม่เข้าใจเรา  เดี๋ยวจะอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้ ...ไม่เอาแล้ว กลับไปบ้าเหมือนเดิม กลับไปไร้สาระเหมือนเดิม

เพราะเวลาที่อยู่แบบไร้สาระ ไม่มีสาระ แล้วรู้สึกว่ามันกลมกลืนกับโลกดี เหมือนโลกนี้เป็นที่เกิดที่ตายของมัน...กูไม่ยอมไปอ่ะ คือผูกขาดจองเลย


(ต่อแทร็ก 8/34)