วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/8 (2)



พระอาจารย์

8/8 (550604B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)


4 มิถุนายน 2555



 ช่วง 2 

(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 8/8 ช่วง 1



พระอาจารย์ –   ถ้าเผลอ...ออกจากสติสมาธิปัญญาเมื่อไหร่นะ ก็เป็น "เรา" อีกแล้ว เดี๋ยวก็เป็นเรานั่งอีกแล้ว  พอถามว่าใครนั่ง ...'เราอ่ะ ถ้าไม่ใช่เราแล้วจะเป็นใครล่ะ' ...จิตน่ะ มันไม่ยอมง่ายๆ หรอก 

แต่ถ้าเราคร่ำเคร่ง สม่ำเสมอ ในการสอดส่องด้วยสติสมาธิปัญญา...ให้เห็นกายตามความเป็นจริง บ่อยๆ  มีศีลต่อเนื่องไป รักษาความปกติกาย ดูความเป็นปกติกาย เห็นความเป็นปกติกาย ด้วยจิตด้วยใจที่เป็นกลาง บ่อยๆ ไป 

ไอ้ความคิดความเชื่อแบบเหมาเอา ไม่มีเหตุไม่มีผล อยู่ดีๆ เอะอะอะไรก็เป็นเรา แขนเรา หน้าเรา ผมเรา ...มันก็ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าอย่างนี้เป็นเราของเราแล้ว  ก็เป็นมัน เป็นของมัน เป็นเรื่องของมัน เป็นขันธ์

จริงๆ มันก็ไม่มีภาษาพูดหรอกว่า เป็นขันธ์หรือเป็นมัน ... แต่เป็นความรู้สึกน่ะ มันจะเป็นความรู้สึกว่า เป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องของใคร หรือเป็นอะไรๆ อย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ด้วยความเป็นกลาง ดับไปด้วยความพอดี อย่างนี้ ไม่ใช่ธุระของใคร ไม่ใช่ภาระของใคร 

มันจะถ่ายถอนออกจากความรู้ความเห็นผิดๆ ท่านเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิในกาย  มันก็เกิดความรู้ที่ถูกที่ต้องที่ตรง ท่านเรียกว่าสัมมาทิฏฐิในกาย 

เพราะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิไม่ได้เกิดจากคิดๆ นึกๆ จำๆ...ไม่ใช่  ...  ต้องลงมือปฏิบัติ ด้วยสติ ศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา มันจึงจะเกิดญาณทัสสนะที่แจ่มชัด แล้วยอมรับตามความเป็นจริง

แต่เห็นความจริงแล้ว ...ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วมันจะยอมรับง่ายๆ  มันไม่ยอมหรอก ... จิตน่ะ มันดื้อ มันไม่ยอมง่ายๆ หรอก  

เพราะอะไร ...เพราะเราใช้มัน เชื่อมันมานี่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน  อเนกชาติ ไม่ต้องรันนิ่งนัมเบอร์เลยเพราะมันรันนิ่งไม่ทันแล้ว ...มันใช้อย่างนั้นน่ะนามนมเนแล้ว 

การที่จะรู้ครั้งเดียวเห็นความเป็นจริงครั้งเดียวแล้วมันจะออก...ไม่มีทางหรอก  

ตรงนี้สำคัญ ...สำคัญยังไง ...คือความเพียรของพวกเรามันน้อย เห็นป๊อบๆ แป๊บๆ ก็ว่า'ไม่เอาแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย ผลไม่เกิดเลย' ...เหมือนนั่งรอ แบมือขออยู่อย่างนั้นน่ะ 

ก็ไม่ทำงาน เมื่อไหร่มันจะได้เงินล่ะๆ มันจะได้ยังไง ... ไปทำงานเป็นขอทานอยู่ เออ มันก็คงได้รวยสักวันนึงมั้ง ยังเงี้ย  มันไม่ทำ ...ถ้าไม่ทำ ไม่มีทางได้ 

คือว่านิสัยน่ะมันมักง่ายไง จะเอาเร็วๆ ...แต่ความเพียรไม่มีอ่ะ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่มี  แล้วมันจะไปลบล้างความเห็นผิด ความรู้ผิดๆ มิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร ... แล้วจิตนั่นเองแหละมันก็เลยบอกว่า 'ไม่ทำดีกว่า ไปทำงานดีกว่า ปล่อยเล่น ปล่อยเพลินดีกว่า' 

นั่น ถึงบอกแล้วไงว่า...โลกนี้ไม่มีหมดสิ้นไปจากสัตว์มนุษย์หรอก ตราบใดที่มันอยู่ในอำนาจของจิตผู้ไม่รู้นี่ ...ไม่มีการขวนขวายดิ้นรนในองค์มรรค ในสติศีลสมาธิปัญญา


อย่าไปมองว่าเป็นของยาก อย่าไปคิดว่าเป็นของยาก ...ถ้าคิดว่าเป็นของยาก มันจะขี้เกียจ ...คิดว่ารู้ง่ายๆ รู้สบายๆ รู้ไปเรื่อยๆ  ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้  แต่ไม่ทิ้งรู้ ไม่ทิ้งสติ ไม่ทิ้งสมาธิ ไม่ทิ้งที่จะอยู่ที่กายใจนี้  แค่นั้นแหละทำไป ไม่ให้ขาด ไม่ให้หลงลืม ขาดออกจากกาย ขาดออกจากศีล...ปกติกายนี่

ความขยันหมั่นเพียร มันก็จะเก็บเกี่ยวผลไปเป็นระยะๆ ...อันนั้นแหละแด่น้องผู้หิวโหย คือมันได้กินนิดๆ หน่อยๆ  มันก็ อู้หู มีกำลังใจขึ้น มากขึ้นแล้ว ...ในตัวของมันเองมันก็ได้ผลน่ะ คือบางทีก็แว๊บๆ พอเห็นว่ามันเป็นก้อน เป็นแท่งอะไรก็ไม่รู้ ...ดีใจใหญ่นะ ดีใจมากๆ  แล้วก็หายไป ...เราอีกแล้วว่ะ 

นั่น มันยังพอมีให้เห็นใช่มั้ย  เริ่มพอเห็นว่ามันเป็นก้อนๆ แท่งๆ ... บางทีมันไปเห็นอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ได้ ... เออ มันไม่ใช่บังเอิญนะ เป็นผลของการเจริญสติสมาธิปัญญา ...แต่ผลของมันน้อย เป็นแว๊บๆ แว๊บๆ  พอให้เป็นกระสัย ให้เกิดความกระสัน...ในองค์มรรค...มันก็เกิดความขยันขึ้น

แล้วจากนั้นไปมันก็จะเห็นบ่อยขึ้นๆ ...บางทีตื่นนอนขึ้นมาส่องกระจก ตกใจ..ใครวะ จำหน้าตัวเองไม่ได้  คือมันลืมไปเลย ว่าหน้าใคร  เพราะมัวแต่ดูยืนเดินนั่งนอนร้อนอ่อนแข็ง ลืมรูปตัวเองไปเลย ลืมหน้าตัวเองในกระจกน่ะ ...บางครั้งมันก็เป็นอย่างนั้นก็ได้ 

แล้วไอ้อาการเห็นพวกนี้ มันก็จะเป็นกระสัยให้เกิดกระสันในองค์มรรค ...แล้วความชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริงก็ชัดขึ้นตามลำดับลำดา

แล้วเมื่อใดที่มันชัดเจนในความเป็นกายที่แท้จริงมากขึ้นตามลำดับแล้วนี่ มันจะรู้สึกตามหลังมา หรือรู้สึกในขณะนั้นเองว่า ทุกข์จะน้อยลง ภาระก็น้อยลง การขวนขวายในกายก็น้อยลง 

แต่ก่อนเคย...จะออกจากบ้านนี่ต้องโบ๊ะหน้าก่อน ถ้าไม่โบ๊ะแล้วไปไม่เป็นอ่ะ  ถ้าไม่ทาลิป ทาคิ้ว ทาหน้า มันเดินไปแล้วขามันขวิดน่ะ 

จากนั้นไป บางทีมันก็ไปแบบ เออ ไม่ได้คิดไม่ได้นึกอะไร ไม่ได้สนใจใส่ใจกับความสวยความงามในร่างกายสักเท่าไหร่  ใครจะวิพากษ์วิจารณ์ ใครจะดีใครจะร้าย ใครจะชมใครจะติ ...ก็งั้นๆ น่ะ  มันจะรู้สึกอย่างนี้ แล้วมันก็สบายดีว่ะ 

แต่ก่อนต้องเอาธุระกับมันเหลือเกิน ต้องคอยแต่งเติมเสริมประดับประดาให้มัน ต้องคอยบำรุงบำเรอให้มันดูดี  ไม่งั้นถ้าได้ทำไม่ดีกับคนอื่นแล้วมันเศร้าหมอง อะไรอย่างนี้ ...ก็จะรู้สึกว่าวางๆ มันได้  เพราะไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระหรือธุระอะไรของเรา เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา  อย่างเงี้ย คือผล ...ผลมันก็จะเป็นอย่างนี้  ก็ปล่อย ก็วางไปเรื่อยๆ จนปล่อยให้มันต่างคนต่างอยู่ 

นี่แหละ คือที่พระพุทธเจ้าต้องการให้ผู้ปฏิบัติทุกคนมาเห็นความเป็นจริง คือความเป็นจริงอย่างนี้  มันไม่ใช่เป็นความเป็นจริงที่มันลึกลับซับซ้อนซ่อนอยู่ในแผ่นฟ้าแผ่นดินหรือจักรวาลขอบจักรวาล ที่ต้องไปวิ่งตามค้นหาอะไรกัน ...มันอยู่ตรงนี้แหละ ความเป็นจริงน่ะ

แต่ตลอดวันของพวกเราน่ะ มันไม่เคยอยู่กับความจริงตรงนี้เลย ... มันไปอยู่กับสิ่งที่ไม่จริง คือความคิดมั่ง เรื่องราวในอดีตในอนาคตมั่ง เรื่องที่ยังไม่เกิดบ้าง เรื่องที่คาดเรื่องที่เดาบ้าง เรื่องการแสดงกิริยาอารมณ์ของผู้อื่นบ้าง เรื่องที่เราจะทำยังไง เราจะได้อย่างไร จะมีความสุขอย่างไร จะมีความทุกข์อย่างไร พรุ่งนี้จะทำอะไร วันนี้จะทำอะไร 

มันมีแต่ว่า "เดี๋ยวจะทำอะไรๆๆ"  แต่มันไม่รู้ว่าตอนนี้มันกำลังทำอะไร ... คือมันรู้แต่ว่าเดี๋ยวจะทำอะไรๆ นี่ มันไปข้างหน้าอยู่ตลอด  ... ทำไมมันไม่รู้ว่า...ไอ้ตัวที่ว่า เดี๋ยวจะทำอะไร” มันอยู่ไหนน่ะ  คือตัวที่มันนั่งอยู่ กำลังคิดอยู่ กำลังนึกอยู่ มันอะไรอยู่ตรงนี้น่ะ เนี่ย

เพราะนั้นพยายามกลับมาอยู่กับความเป็นจริง คือกายปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน  ดวงจิตให้รู้อยู่ในปัจจุบัน คือการดึงเอาไว้ น้อมเอาไว้ หยั่งเอาไว้ ... หยั่งไว้ๆ หยั่งลงที่กาย หยั่งลงที่ความรู้สึกในกาย หยั่งไว้ในความรู้สึกที่รู้ว่ามีกายอยู่  อยู่แค่นี้ บ่อยๆ เติมลงไปหน่อย ...นี่เรียกว่าเป็นการภาวนาในชีวิตประจำวัน

เราถือว่าถ้าภาวนาในชีวิตปกติประจำวันอย่างนี้...แค่ยืน เดินไปเดินมา ทำอะไรไป หยิบจับฉวยอะไร แล้วมีความรู้เนื้อรู้ตัวในขณะหยิบจับฉวยนั่น  เราบอกว่ายังมีคุณค่าสมกับเป็นผู้ปฏิบัติ มากกว่ามานั่งหลับ..พุทโธๆๆ โธ่โว้ย หลับอีกแล้วกู ...โธ่มาหลายปีแล้ว ไม่ไปไหน  พอได้พุทโธไปไม่เกินสามคำ..หลับ ...มันเหมือนกับอัตโนมัติเลย เป็นยังงี้

ถึงบอกว่า...ถ้าเราไปติดกับรูปแบบของการภาวนา เราจะละเลยรูปแบบที่แท้จริง ... แล้วอะไรคือรูปแบบที่แท้จริง...กาย  นี่ มันเป็นฟอร์ม มันเป็นโมเดลของการปฏิบัติ หรือว่าวิถีการปฏิบัติ ...ก็คือกายนั่นแหละคือรูปแบบการปฏิบัติที่แท้จริง หนีไม่ได้เลยน่ะ 

ทุกคนมีรูปแบบอยู่แล้ว  ยืน เดิน นั่ง นอน...เป็นรูปแบบของการปฏิบัติ  คือกายมันยืน กายมันเดิน นั่นแหละคือวิถีการปฏิบัติ ... ไม่ใช่ว่ามานั่งสมาธิแล้วก็หลับตาเรียกว่าเป็นการปฏิบัติ 

ตัวกายนั่นแหละคือตัวผู้ปฏิบัติ มันเป็นวิถีแห่งการปฏิบัติในตัวของมันเอง  เพียงแต่ว่าเราเอาสติไปเติม...คือระลึกแล้วก็รู้ลงในปัจจุบันของกายที่ปรากฏ  นั่นแหละคืออยู่ในรูปแบบของการปฏิบัติแล้ว

เพราะนั้นกายมันมีตลอดเวลา การปฏิบัติจึงต้องมีตลอดเวลา หนีจากรูปแบบของกายไม่ได้ หนีจากการปฏิบัติไม่ได้  เพราะยังไงก็ต้องมีกาย...จนตาย  เห็นมั้ย มันเป็นรูปแบบที่มีอยู่แล้ว 

ไม่ต้องไปเอารูปแบบมาสร้างรูปแบบใหม่  เพราะไปๆ มาๆ เลยไปติดรูปแบบใหม่มากกว่ารูปแบบที่แท้จริงคือกาย  อย่างพอออกจากสมาธิ พอออกจากการเดินจงกรมปั๊บ หลงเลย ปล่อยเลย ไม่รู้ไม่ชี้ๆ ...เหมือนเดิมเลยแหละ เป็นคนโง่เหมือนเดิมเลย ไม่ระลึกรู้ต่อเนื่องไป เนี่ย สติไม่ไปตามนะ ...เสียเวลา

ก็พยายามรักษากายใจไว้ สม่ำเสมอ ...จะนั่งสมาธิ จะออกจากสมาธิ ให้เหมือนกัน...ต้องให้เหมือนกัน... ระหว่างนั่ง ก่อนนั่ง หลังนั่ง เหมือนกัน  สติเท่ากัน สมาธิเท่ากัน มีความตั้งใจเท่ากัน  ไม่มีการลาออกขอพักผ่อน ไม่มีการไทมเอาท์ขอเวลานอก...ไม่มี  

ก่อนนั่ง...ระหว่างนั่ง...หลังนั่ง...เหมือนกัน  ก็ยังรู้อยู่...ก็ยังเห็นอยู่ๆ  นี่คือผู้ภาวนาที่แท้จริง  นี่มันจึงพอที่จะไปชำระขัดเกลาความเห็นผิด ความเชื่อผิดๆ ความรู้ผิดๆ ที่เข้าไปให้ค่าให้ราคา...กับกาย กับใจ กับขันธ์ กับโลก 

เหมือนอย่างกับรถ มันอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นรถ ... ซึ่งความจริงไม่มี "รถ" นะ มีแต่อะไรตั้งอยู่ ...แต่คนเรามันบอกว่า "รถ...ยี่ห้อนั้นๆ...ของเรา"  เห็นมั้ย มันมีกี่ระนาบเข้าไปแล้ว  ทั้งที่ความเป็นจริงมันมีแค่นี้ มีแค่สิ่งหนึ่งตั้งอยู่ ... อันไหนจริง อันไหนไม่จริง ...แยกไม่ออกเลย 

แล้วไม่เคยจะแยกด้วย นี่ สำคัญ ....คือมันรู้น่ะ รู้น่ะรู้ มันอ่านมา มันจำมา  แต่ในความเป็นจริงมันไม่แยกอ่ะ มันไม่มีภาคปฏิบัติเข้าไปแยกจริงๆ วิเคราะห์ สอดส่องลงไปในสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปนี้ ว่ารูปนี้คือใคร รูปนี้เป็นของใคร รูปนี้มีความหมายอย่างไร หรือไม่มีความหมายแต่ประการใด 

เนี่ย มันต้องเข้าไปวิจัย...วิจัยด้วยธัมมวิจยะ  คือแยกๆๆๆ จนเห็นว่า 'อ๋อ ความเป็นจริงมันมีแค่นี้' อย่างนี้ ...คือตลอดชีวิตประจำวัน เราจะต้องทำความจำแนกแยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ แยกผัสสะ แยกกาย แยกใจ แยกจิต แยกความคิด แยกความเห็น แยกความจริง แยกความไม่จริง 

จนเห็นแต่ความจริงล้วนๆ จนเข้าถึงความจริงล้วนๆ ... ไม่มีอะไรที่ไม่จริงอยู่ได้  มันกระจัดกระจายไปหมดไอ้สิ่งที่มันไม่จริงน่ะ ...แล้วมันจะรู้เลยว่าความไม่จริงอยู่ที่ไหน เกิดจากไหน แล้วจะละอย่างไร จะออกอย่างไร 

นั่นแหละ เขาเรียกว่าผู้ที่ชำนาญการในองค์มรรคหรือผู้มีปัญญาสูง หรือผู้มีญาณทัสสนะที่แจ่มใส ...เรียกยังไงก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นพระอริยะก็ได้  ทั้งหมดเป็นสมมุติภาษา จะเรียกอะไรก็ได้ ...แต่จริงๆ น่ะคือท่านเห็นแล้วแยกออกหมด ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ  และเท็จเมื่อไหร่ไม่เอา ไม่เชื่อด้วย เชื่อแต่ความจริง รับแต่ความจริง

เพราะนั้น ตัวที่จะเข้าไปจำแนกในเบื้องต้นนี่ต้องฝึก และต้องฝึกให้มาก ก็คือตัวนี้...คือกาย เป็นเบื้องต้น เริ่มจากนี้ไป  แล้วถ้าแยกกายออกจากใจ แยกกิเลสออกจากใจ แยกความคิด แยกความเห็น แยกการให้ค่าให้ราคาออกจากกายได้แล้วนี่  มันแยกออกได้หมด มันเป็นวิชาเดียวกัน 

คือไม่ต้องลงหลายคาบเข้าใจมั้ย คาบเดียวครอบจักรวาล วิชาเดียววิชาพระพุทธเจ้านี่ ง่ายจะตาย เห็นมั้ย  อย่างพวกเราเรียนตั้งหลายแขนงจบตั้งหลายสาขา ทำไมมันคุยกันไม่รู้เรื่อง เนี่ย เรียนวิชาเดียวนี่...จบ 

เพราะมีวิชาเดียวคือวิชาธรรมชาติ  มันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมอันเดียวกัน ... ถ้าเรียนรู้เรื่องกายจบนี่ ทุกอย่างเข้าใจ เข้าใจแล้ว ...ก็คือรู้สมมุติว่ากายได้  ทุกอย่างก็เป็นเรื่องเดียวกันกับกายเลย ... แม้แต่รถนี่ ฟ้า ลม ฝน อากาศ สัตว์บุคคลอื่น หรืออารมณ์ นามที่จับต้องไม่ได้ ...มันก็คือสิ่งหนึ่งที่ปรากฏ เป็นเช่นเดียวกัน

นั่นแหละ มีค่าเท่านั้น มีค่าแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ...ก็ไอ้สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ มันปรากฏขึ้นนี่...ไม่ได้ปรากฏพร้อมป้ายราคา ใช่ป่าว ... ไอ้ป้ายราคาที่เข้าไปติดนั่นก็คือ....จิตเข้าไปให้ค่าในสิ่งนั้น แต่ถ้าดูด้วยความเป็นกลางจริงๆ น่ะ มันแยกออก มันจะแยกออก 

เหมือนกาย...ที่เข้าใจแล้ว ว่ากายปกติกายคือแค่เนี้ย มันไม่ได้มีค่ามีราคาในตัวของมันแต่ประการใด มันไม่ได้บ่งบอกอัตตลักษณ์ตัวตนของมันเลยว่ามันคือใคร มันเป็นใคร มันเป็นของใคร มันเกิดมาเพื่ออะไร มันดับไปเพื่ออะไร มันตั้งไปเพื่ออะไร ไม่มีคำพูดอะไร ไม่มีเป้าประสงค์ใดๆ ในตัวของมันเลย

มันตั้งอยู่ด้วยสภาวะเป็นสูญ คือสุญญตา หรือว่าสุญญธาตุ หรือสุญญธรรม หรือสุญญวิมุติ  นี่ถ้ามันจำแนกตรงนี้ออก เห็นถึงความเป็นสุญญวิมุติหรือสุญญตานี่  สามโลกธาตุเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกันเลย ...เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ หรือธรรมหนึ่งที่ปรากฏ หรือปรากฏการณ์หนึ่ง หรืออาการหนึ่ง หรืออะไรๆ สักอย่างหนึ่ง หรือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

จิตผู้ไม่รู้มันมาเห็นว่าเป็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ...เป็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เนี่ย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ... ไอ้จิตผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไอ้จิตผู้ไม่รู้ไม่เห็น มันจะรู้เลยในตัวมันว่า... 'แล้วกูจะไปเอามันทำไม กูจะไปครอบครองอะไร' 

นี่ ไอ้จิตที่มันเคยอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเอามา อยากถือไว้นานๆ อยากหาให้มันมากๆ ขึ้น อะไรก็ตาม หรืออยากให้มันหมดไปเร็วๆ ก็ตาม ...มันก็บอกว่ามันจะไปอะไรกับสิ่งหนึ่งที่ปรากฏแล้วดับไปเป็นธรรมดาอย่างไร

ถึงมันโง่ขนาดไหน เมื่อมันเห็นความเป็นจริงตรงนี้แล้วนี่ หายโง่เลยแหละ  หายบ้าด้วย หายเมาด้วย ... มันคลายออกจากจิตผู้ไม่รู้...เป็นผู้รู้ผู้เห็นอย่างเดียวแล้ว  ไม่ได้อยู่ด้วยจิตผู้หลง ผู้ไปผู้มา 

มันอยู่กับรู้กับเห็นแล้วก็เข้าใจซึมซาบความเป็นจริงต่อเนื่องเลยว่า 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้ .. ภาวะโลก ภาวะธรรม หรือธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ  ตถตา...ทุกอย่างมันเป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก'

ไอ้ที่เป็นอย่างอื่นน่ะ จิตว่าเอานะ จิตผู้ไม่รู้น่ะมันคาดเอาเอง ...แต่ถ้ามันเห็นด้วยความเป็นกลางจนถึงที่สุดแล้ว 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย' ...ไม่มีอะไรมาทำให้มันเป็นอย่างอื่นได้เลย 

นี่คือกฎธรรมชาติ ... ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ...อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎธรรมชาติเดียวกัน คือไตรลักษณ์ ...มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เป็นธรรมดา แล้วดับไปเป็นธรรมดา...ก็แค่นั้นน่ะ

ถ้าจิตผู้ไม่รู้มันมาเห็นความเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งแค่นี้  มันก็จะถอดถอนจากความหมายมั่น จากอุปาทาน จากความอยาก จากความไม่อยาก ในอะไรก็ไม่รู้ที่เกิดๆ ดับๆ

ผู้ปฏิบัติ ...ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะเข้าไปเห็น หรือเกิดปัญญาเช่นนี้ ...จนถึงที่สุด คือไม่เหลือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้หมายมั่นอีกต่อไป...แม้แต่อณูเดียว เอาอย่างนั้นเลย  มันจะตั้งขึ้นไม่ได้ หาความเที่ยงไม่ได้เลย มีความดับไปเสมอกัน

เมื่อจิตผู้ไม่รู้มันเห็นว่าในสรรพสิ่งตลอดสามโลกธาตุนี่ ไม่มีที่ใดที่หมายได้เลยแม้แต่จุดหนึ่ง อณูหนึ่ง ...มันจะไปตั้งภพตั้งชาติกับตรงนั้นได้อย่างไร มันจะไปเกิดกับสิ่งนั้นได้อย่างไร ... นั่นแหละ คราวนี้ถึงเรียกว่าหมดที่เกิดแล้ว มันหมดที่ให้เกิดแล้ว 

แต่ถ้ามันยังมีที่...แปลว่าต้องมีการเข้าไปจับจอง  แต่ถ้ามันไม่มีที่แล้ว หมายความว่ามันหมด...ไม่มีที่จะไปเกิดแล้ว  เพราะไม่เห็นว่าตรงไหนเป็นที่ที่มันมีที่ตั้งได้เลยน่ะ ...จิตมันจะไปเกิดกับอะไรดีล่ะ มันมีแต่ว่างๆ อนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

เมื่อมันเห็นอย่างนั้นแล้ว มันเลยตัดสินใจในตัวของมันเอง “กูตายซะดีกว่า”   ...จิตเลยตาย จิตผู้ไม่รู้น่ะตาย  เพราะมันหมดหน้าที่น่ะ เพราะมันหาที่ไม่เจอแล้วไง เพราะมันไม่รู้จะหาที่ไหนๆ ให้มันเกิด  มันจะอยู่ได้อย่างไร ตายลูกเดียว ...นั่นแหละ หมดจด หมดสิ้น ซึ่งการเกิดอีกต่อไป เพราะมันหาที่เกิดอีกไม่เจอ


แต่ถ้าเป็นพวกเรานี่คือ...ที่ในโลกนี่เยอะแยะเลย มันว่างๆ ทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวจับจองแล้วๆ เห็นมั้ย เข้าไปเป็นเจ้าของ "ของเราๆๆๆ"  เข้าไปครอบครอง เข้าไปถือกรรมสิทธิ์แล้ว ... ตราบใดที่ยังมีที่นี่ การเกิด การเข้าไปจับจองนี่ ไม่จบไม่สิ้น

เพราะนั้น ทำไมถึงต้องเห็นไตรลักษณ์ ทำไมถึงต้องเห็นความดับไปเป็นธรรมดา ...เพราะถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าไม่เห็นความดับไปเป็นธรรมดา แปลว่า มันยังมีที่ให้มันหมายมั่นอยู่ ... และถ้ามันมีที่ให้มันหมายมั่น หมายความว่า ไม่ต้องถามเลยว่ากี่ชาติ...นับไม่ถ้วน การเกิดน่ะ 

แต่ถ้าไม่มีที่ หรือที่น้อยลง หรือที่มันคับแคบ...ที่เกิดน้อยลง ภพชาติน้อยลง ต่อไปก็หาที่เกิดไม่ค่อยได้แล้ว ...ฝึกไป ปฏิบัติไป มันจะรู้เลย จิตมันจะไปหาที่เกิดไม่ค่อยได้แล้ว ไม่รู้จะเกิดกับอะไรดี 

มันไม่รู้จะไปเกิดกับอะไรดี ไม่รู้จะไปเอาเรื่องเอาธุระกับอะไรดี ไม่รู้จะไปมีไปเป็นกับอะไรดี มันรู้สึกว่าไม่มีที่ให้มันไปน่ะ ...มันจะรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ที่เดียว ไปเรื่อยๆ  นั่นแหละ จิตมันจะหดตัวลงไปเรื่อยๆ ด้วยปัญญา ด้วยอำนาจของสติ สมาธิ ที่เป็นสัมมา ...จนขาดสิ้นไปจากใจดวงนี้ 

พอมันขาดสิ้นไปจากใจดวงนี้ ไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มปกคลุมใจมันหมด ... คือใจนี่ เราบอกตั้งแต่ต้นแล้วไงว่ามันเหมือนถูกขังไว้ ถูกพันธนาการ ถูกจองจำไว้ด้วยขันธ์ ๕ นี่ ...เมื่อจิตอวิชชาตัณหาที่มันห่อหุ้มครอบคลุมอยู่มันตาย มันหด  ใจที่เคยถูกขังอยู่ในกรงก็เป็นอิสรภาพ อิสรธรรม ตามความเป็นจริงของใจ ที่เรียกว่าอัปปมาโน ไม่มีประมาณ

แต่เมื่อใดที่ยังไม่เข้าไปเปิดกรงขังใจออก ก็จะเหลือเป็นแค่ดวงจิตผู้รู้อยู่  มันถูกห่อไว้อยู่ในคอก อยู่ในขันธ์  แล้วมันก็มีประตูคือตาหูจมูกฯลฯ มันมีข้องดักไว้อยู่  อะไรเข้าทางหู มันไม่ถึงใจหรอก ถึงข้องก่อน  อะไรเข้าทางตา ไม่ทันถึงใจ ถึงข้องก่อน 

เห็นมั้ย มันติดข้องหมดเลยน่ะ  มีข้องดักไว้ ทางตา ทางหู ฯลฯ  มันเลยยิ่งมาจองจำใจนี่ ให้ติดพันธนาการ หมักหมม เป็นกำแพงเลยน่ะ ดูเหมือนเป็นกำแพงเลย ...ทั้งที่อวิชชานี่มันหาที่จับต้องไม่ได้เลยนะ  แต่ความรู้สึกว่ามันปิดมืดมิดเลย ไม่เห็นใจของเจ้าของได้เลย

เห็นมั้ย กว่าจะล้างออกจากใจได้หมด ...ก็จากกำแพงเหลือเพียงแค่ฟองน้ำ จากฟองน้ำเหลือเป็นแค่ทิชชูบางๆ จนเหลือเป็นเยื่อใยห่อไว้ แล้วก็เป็นแค่พลาสติกใสๆ หุ้มไว้ แล้วก็สลายจางคลายหมด ...อิสรภาพ อิสรธรรม อมตธาตุ อมตธรรม ก็แสดงความเป็นจริงล้วนๆ 

ใจพุทธะ ใจพุทโธ ใจพระพุทธเจ้า ใจเดียวกัน ก็เป็นใจนี้แหละ ... แต่ไม่ใช่ใจเป็นดวงแล้ว  แต่เป็นมหาสุญญตา เป็นอนันตมหาสุญญตา คือไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีรูปทรง ไม่มีที่ตั้ง ไม่หวนคืน 

คือถ้าได้หลุดออกไปอย่างนี้นะ อะไรๆ ก็มาห่อหุ้มกลับมาคืนจองจำอีกไม่ได้แล้ว  นี่เรียกว่าหลุดรอดพ้นจากพญามาร ทั้งมัจจุมาร ขันธมาร อภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร กิเลสมาร... หมด ไม่มีทางที่จะมาจับคืนตัว รวมขันธ์ใหม่อีกได้แล้ว 

พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่แหละ ประเสริฐสุด นี่คือสาระสูงสุด ...อุตส่าห์บำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนมหากัป เพื่องานนี้ เพื่อมาสอนให้เข้าถึงนี่ 


แล้วพวกเรายังแค่ไปหยอดตู้ทำบุญอยู่นั่นน่ะ ยังมาชำระค่าน้ำค่าไฟอยู่นั่นแหละ หือ ... มันก็ไม่ผิด แต่ก็ยังไม่ถูก นะ ...แล้วก็ทำให้ถูกซะ ให้รู้ว่ายังมีสาระ มีแก่น

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่ทำบุญ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่ เกิดมารูปสวยรวยทรัพย์ เกิดมามีชื่อมีเสียง มีคนรักมีคนชอบ ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีโรค ไม่มีภัย มีแต่ความสุขความเจริญ ...พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่นี้หรอก 

ถ้าพระพุทธเจ้ายังพูดได้ท่านก็คงบอก 'อุตส่าห์บำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนมหากัป เพื่อให้คนมาหยอดตู้นี่เหรอวะ แล้วกูจะบำเพ็ญมาทำไม' อย่างเนี้ย (หัวเราะ) ...คือจุดเป้าหมายสูงสุดท่านมีกว่านั้นเยอะ  แต่ไอ้พวกเราคนทำนี่มันมักง่ายอ่ะ มันจะเอาแต่อะไรง่ายๆ  ยากไม่เอา ช้าไม่เอา จะเอาเร็วๆ  มันเป็นอย่างเงี้ย

อาศัยความพากความเพียร แล้วก็มีศรัทธาเป็นเครื่องหนุนนำ  ถ้าไม่มีศรัทธาเป็นตัวลากตัวนำนะ มันท้อ มันไปไม่ค่อยรอด ไปไม่ค่อยไหว ...เดินในมรรคนี่ มันเหงาน่ะ หือ เหงานะ อยู่กับกายอยู่กับรู้นี่มันเหงา ไม่มีเพื่อนเลยน่ะ ไม่สนุกด้วย ไม่มีความสุขด้วย มันมีแต่ความเย็น 

แล้วความเย็นนี่ก็...คือพวกเรามันติดความเย็นแบบ...นั่งสมาธิแล้วเพลินนาน มันเกิดปีติ ขนลุกซู่ซ่าๆ ตัวใหญ่ตัวโต ปีติคับฟ้าสว่างไสว มันว่านั้นน่ะเย็นๆ ... แต่พอมาเย็นกายเย็นใจเนี่ย คือ เย็นแบบน้ำธรรมดาไม่ใส่น้ำแข็งน่ะ  แต่เราไปคุ้นเคยกับน้ำใส่น้ำแข็งว่าไอ้เย็นอย่างนั้นมันเย็นสบายยย 'พอใจๆ' ...พอมาเป็นน้ำเย็นธรรมดานี่ มันรู้สึกว่ามันน่าจะมากกว่านี้นะ 

อันไหนจริง อันไหนปลอม  เย็นไหนเย็นจริง อันไหนเย็นปลอม มันแยกไม่ออกเลย  'กูจะเอาอันนั้น จะเอาน้ำแข็งน่ะ' มันชอบไง ...แต่สุดท้ายน้ำแข็งละลาย อุณหภูมิกระจัดกระจายหายไป น้ำก็เย็นเท่าเดิม นั่นน่ะน้ำเย็นจริงๆ ยั่งยืน 

เอาน้ำไปต้มให้ร้อน เอ้า อุ่น ก็น้ำร้อน ...ทิ้งไว้ ไม่อุ่นต่อ ไม่เติมไฟ สุดท้ายก็เย็น แน่ะ ...แล้วไม่ต้องทำให้เย็นนะ มันเย็นเองน่ะ  เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน ...ความเย็นกายเย็นใจคือน้ำเย็น เป็นธาตุเย็นของมันอย่างนั้น คือความสงบเย็นของมัน เป็นธรรมดา

ดูต้นไม้สิ ดูธรรมชาติสิ มันมีความเย็นของมันอย่างนั้นน่ะ ความเย็นเป็นปกติ ...แต่พวกเราคุ้นเคยกับเย็นแบบโคตรเย็นเลยน่ะ หรือว่าโคตรสงบเลย อย่างนี้ ... เคยไปเห็นตรงนั้นไง เคยได้อย่างนั้น เคยอ่านตรงนั้น แล้วก็จะเอาอย่างนั้นน่ะ เอามาเยอะๆ เยอะๆ คือกะจะหาน้ำแข็งทั้งขั้วโลกเลยน่ะ มายกไว้ในนี้ แล้วบอกว่าได้ผล 

ไม่จริงน่ะ มันไม่จริง เข้าใจว่ามันไม่จริงมั้ย ...สุดท้ายมันก็เย็นเท่านี้  เพราะเป็นความเย็นที่ไม่ได้ปรุงแต่ง เพราะมันเป็นเย็นอย่างนิรามิสสุข คือเป็นเย็นหรือสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่อิงอาศัยอามิสหรือความปรุงแต่ง 

เพราะนั้นความเย็นกายตรงนี้ มันจะลิงก์ไปถึงเย็นที่สุดคือดับสนิท คือนิพพาน  มันก็เย็นอย่างนี้ นิพพานก็เย็นอย่างนี้ ...แต่ว่าของท่านสนิทเลย 

ไม่ใช่แบบพวกเรานี่ ที่เย็นแป๊บๆ เดี๋ยวกูก็เผาแล้ว เดี๋ยวก็หาเรื่องให้มันอุ่นซะหน่อย แน่ะ  พออุ่นสักหน่อย เดี๋ยวสักพักก็ว่า 'ร้อนเว้ย เดี๋ยวต้องไปเที่ยวขั้วโลกเหนือหน่อย'  ก็ไปนั่งเอาเป็นเอาตาย กำหนดลมกำหนดรู้ กำหนดๆๆ มันจะได้ผลมีความสุข ...เห็นมั้ยว่ามันยังเย็นแบบกระดักกระเดิด มันยังไม่หมดสิ้น ไม่หมดสิ้นจริงๆ 

ถ้าดับเย็นแบบนิโรธ พระอรหันต์นิโรธ  คำว่านิโรธของท่านกลายเป็นธาตุเย็นสนิทเลยน่ะ หมายความว่าไม่มีอุ่น ไม่มีร้อน ไม่มีใครทำให้อุ่น ไม่มีใครทำให้ร้อน ไม่มีใครทำให้เย็นกว่านี้ มันหมดผู้เข้าไปประกอบกระทำในธาตุขันธ์นี้ ในธรรมชาตินี้ ...นั่นแหละนิพพาน

เพราะนั้นตรงนี้แหละ มันจะลิงก์กันไป ...แต่พอถึงความเย็นตรงนี้ คือความปกติธรรมดานี่แหละ แล้วพวกเราไม่ค่อยชอบ มันก็เลยจะออกไปหาความผิดปกติที่มันว่ามันชอบ ...จิตมันจะไปหาอะไรที่มันผิดธรรมดา อะไรที่มันผิดจากปกติ อะไรที่มันเกินจากปกติ ...มันชอบ 

มันเหมือนขนม เหมือนขนมอมยิ้มกับเด็ก ...แล้วเราอยู่กับขนมหวานทั้งวัน โดยที่จิตเป็นเด็ก มีหรือที่มันจะไม่เอามาอม ...เนี่ย คือต้องฝึกกันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะรู้ว่ามันเป็นแค่สิ่งแปลกปลอม เป็นของไม่จริง ที่หามา ทำมา เพื่อปิดบังความเป็นจริง...คือปกติและธรรมดา

การปฏิบัติทั้งหมดมันก็ลงที่ปกติธรรมดา เท่าที่มี เท่าที่เป็น โดยเอากายนี่เป็นหลักยึดโยงไว้ ... อย่าออกจากปกติกายคือศีล ไปหาอะไรที่มันเลิศเลอกว่านี้ เกินกว่านี้ เกินกว่าความเป็นธรรมอันนี้ เกินกว่าธรรมดานี้ 

ตัวที่จะออกไปหา ตัวที่จะออกไปมี ตัวที่จะออกไปเป็น คือจิตผู้ไม่รู้ ...มันไหลไปไหลมา ขยับไปขยับมา เคลื่อนไปเคลื่อนมา ล่องไปลอยมา ไม่หยุดไม่อยู่ ... เหมือนเด็กใจแตก เที่ยวตลอดเวลา หาช่องทางไปตลอดเวลา  ไม่มีอะไรๆ มันก็หาเรื่องไป มีอะไรมากระทบมาสัมพันธ์สัมผัสมันก็ยิ่งเหมาะเลย สนับสนุนเลยว่า ไปด้วยกันเลย

แล้วพวกเราอยู่กับจิตลักษณะนี้มากกว่าอยู่กับจิตในลักษณะที่รู้อยู่เห็นอยู่  มันเลยเข้าไม่ถึงธรรม มันเลยเข้าไม่ถึงความเป็นจริงของธรรม  เราเลยเข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของกาย เราเลยเข้าไม่ถึงธรรมชาติที่แท้จริงของขันธ์ เราเลยไม่เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของโลก ของสามโลกธาตุ 

เพราะมัวแต่ไปอยู่กับดวงจิตที่หลง เพราะไปอยู่กับ อาศัยอยู่กับ หรือว่าไปขึ้นอยู่กับดวงจิตผู้ไหลผู้หลง ผู้เผลอผู้เพลิน ผู้อยากผู้ไม่อยาก ผู้มีผู้เป็น ผู้จะมีผู้จะเป็น ผู้อยากมีผู้อยากเป็น ...แต่ผู้รู้ไม่ค่อยอยู่ ผู้เห็นไม่ค่อยอยู่ หายากยิ่งกว่าหาน้ำมันในอ่าวไทยอีก ...ทำไมมันยาก เพราะขี้เกียจ

จริงๆ ไม่ยาก ...นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้...นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้  อะไรเกิดขึ้นรู้ๆๆ ...มันจะไม่ผุดโผล่ขึ้นมาเป็นดวงจิตผู้รู้ให้มันรู้ไป

ธรรมน่ะกลัวของจริง ...ถ้าคนทำจริง หนีไม่พ้นหรอก ไม่อยากโผล่มันก็โผล่ ไอ้ดวงจิตผู้รู้น่ะ ใจผู้รู้ผู้เห็นน่ะ โด่ขึ้นมาชัดขึ้นมาเองน่ะ  ขอให้อะไรเกิดขึ้นรู้ๆ ยืนเดินนั่งนอน...รู้ เย็นร้อนอ่อนแข็ง...รู้ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว...รู้ รู้เข้าไป 

นิดๆ หน่อยๆ ก็เอา หลงใหม่รู้ใหม่ๆๆ  ดวงจิตดวงใจผู้รู้มันจะโดดเด่นขึ้นมา แยกออกจากกายนี้อย่างชัดเจน  จนชัดถึงขั้นมันมีลูกกะตามาเห็นหรือสำเหนียกในกายในใจได้ชัดเจน ว่าอะไรเป็นอะไร 

ผลของการภาวนาก็จะเกิดขึ้นจากปัญญาญาณนั่นแหละ ที่รู้เห็นแล้ววาง รู้เห็นแล้วละ รู้เห็นแล้ว มันละมันวาง ...เพราะไม่เห็นว่ามันมีอะไรในนั้น มันไม่เจออะไรในสิ่งที่ปรากฏนั้น 

มันก็วาง มันก็ปล่อย ให้เขาเป็นไปตามปกติของการเกิด การตั้ง การดับไปของเขา ไม่เข้าไปแทรกแซงอาการเกิด อาการตั้ง หรืออาการดับนั้น อีกต่อไป หรือน้อยลงไป ...แรกๆ มันยังไม่ขาดหรอก มันก็น้อยลง  จนกระทั่งไม่เข้าไปแทรกแซงอีกต่อไปเลย  นั่น ผลมันก็มากขึ้นไป

เอ้า พอแล้ว แค่นี้ ... ธรรมมันมีอยู่แค่นี้แหละ การปฏิบัติก็มีอยู่แค่นี้แหละ ... จะนั่งชั้นเดียว นั่งขัดเพชร นั่งสามชั้น ก็แค่นี้แหละ (หัวเราะกัน) ...แค่รู้ แค่นี้แหละ แค่ดวงจิตผู้รู้นั่นแหละ



.................................... 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น