วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 8/8 (1)




พระอาจารย์

8/8 (550604B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

4 มิถุนายน 2555



(ช่วง 1)

(หมายเหตุ : แทร็กค่อนข้างยาวค่ะ  ขอแบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความนะคะ)


โยม –  วันนี้คนขึ้นไปที่ถ้ำมากนะครับ

พระอาจารย์ –  พุทธชยันตี 2,600 ปี  รัฐบาลเขาจัดงานใหญ่โต  ...แต่ว่าการจัดงานอะไรพวกนี้ มันก็เหมือนการประกาศศาสนาให้มันกระจายไป  ให้มันรู้ทั่วกันในโลกว่าศาสนาพุทธมีอยู่  

ศาสนาพุทธนี่ท่านเปรียบไว้เหมือนว่ามี ราก แก่น เปลือก กระพี้ กิ่ง ก้าน ใบ ...การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงอริยมรรค อริยผล การที่พระพุทธเจ้าพูดถึงมรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ ศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติบำเพ็ญเพียรนี่ พวกนี้คือแก่น เป็นแก่น ...พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นแก่น เป็นหลัก 

แต่คราวนี้ว่าหลักหรือแก่น  เหมือนแก่นไม้นี่ มันอยู่เองไม่ได้ ถ้าไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ ไม่มีกิ่งก้าน ไม่มีใบ ไม่มีราก แก่นมันก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นการนับถือ ทำบุญ การจัดงาน การสร้างพระหล่อพระ การสร้างเจดีย์ สร้างวัดวาอารามพวกนี้มันเหมือน เปลือก กระพี้ ราก กิ่ง ก้าน ใบ ... แต่ว่าทั้งหมดน่ะมันมาอุ้ม มาประคับประคองหลัก...แก่นของศาสนาไว้ ...มันเกื้อหนุนกัน  ถ้าไม่มี หรือว่าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศาสนาพุทธก็อยู่ไม่ได้

เพราะนั้นว่าถ้าเข้าใจแล้ว ต่างคนต่างก็มองกันด้วยความเป็นสันติ ...ทำไปทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้คงศาสนาไว้

แต่คราวนี้ว่า คนที่ทำ...กำลังทำอะไร ก็ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่  เช่น กำลังทำอยู่ในแก่นก็ต้องรู้ว่าทำอยู่ในแก่น กำลังทำอยู่ในเปลือกกระพี้ ก็ต้องรู้ว่าอยู่ในเปลือกกระพี้ ... ต้องเข้าใจ ให้เข้าใจอย่างนี้ก่อน 

เพื่ออะไร ...เพื่อพัฒนาให้มันเป็นไปเพื่อหลักสูงสุดที่พระพุทธเจ้าวางหลักไว้ ก็คือการชำระจิตให้บริสุทธิ์  ซึ่งเป็นการที่เรียกว่า...เป็นสาระสูงสุดที่พระพุทธเจ้าต้องการ 

สาระเบื้องต้นก็คือ ทำบุญ ไม่ทำบาป ...ไม่ทำบาปแล้วก็ทำบุญ นี่คือสาระเบื้องต้น ...แต่ว่าสาระที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าไม่อยากมาทำบุญ ละบาปอีก...อย่ามาเกิด ... นี่ การชำระจิต อันนี้คือเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุด...นั่นแหละคือหลัก หรือแก่น

และคราวนี้ว่า ถ้าเข้าใจว่าตัวเองยังอยู่ในลักษณะของเปลือก กระพี้ ใบ อยู่  ...ก็อย่างน้อยชะโงกหัวเข้ามาหน่อย ให้ถึงแก่นหน่อย  แม้จะยาก แต่ต้องทำ ต้องฝึก ต้องไม่ให้ละเลยหลงลืมแก่น  ไม่งั้นมันจะไปมัวเมาลุ่มหลงอยู่กับสิ่งที่มันยังเป็นแค่เปลือกหรือกระพี้ ...คือมันละเลยหลงลืมแก่นไปเลย 

ซึ่งต่อไปนี่ แก่นมันจะเหลือนิดเดียว ...เลยพุทธชยันตีนี่ไป แก่นมันจะน้อยลงๆ  แต่เปลือกกระพี้นี่มันจะกว้างใหญ่ขึ้น มากขึ้น จนหาแก่นแทบจะไม่เจอน่ะ ... เนี่ยสำคัญ สำคัญตรงนี้

เพราะนั้นเราถึงต้องมาปากเปียกปากแฉะพูดถึงการภาวนานี่ ... แล้วคนที่จะพูดเรื่องภาวนาตรงๆ น่ะ มีน้อยลงๆ ...จะน้อยลงไป  เพราะพูดถึงการภาวนานี่ มันก็จะมีหลากหลายครูบาอาจารย์ แล้วยังอุตส่าห์มีอุบายเข้ามาในการภาวนาอีก 

กว่าจะรื้อ กว่าจะละ กว่าจะลอก กว่าจะถอนออกจากอุบาย  เพื่อให้เข้าไปถึงเนื้อแท้ของธรรมนี่ มันก็ไม่ใช่ง่าย ...แค่กว่าจะลอก กว่าจะออกจากโลกแล้วให้มาถึงกระพี้ เปลือก ใบ แก่น ...ก็ไม่ใช่ง่ายแล้ว

เพราะนั้นว่าการที่สอน การที่แนะแนวทางการปฏิบัติ ที่เราพูดอยู่ทุกวี่ทุกวันนี่  เราพูดแต่หลักล้วนๆ เอาแต่เนื้อ ไม่เอาน้ำ ...เหมือนว่าถ้าเป็นอาหาร ก็เมนคอร์ส  ไม่มีออเดิร์ฟ ไม่มีอาหารเรียกน้ำย่อย  อัดให้แบบ...กะให้อิ่มจนอ้วกน่ะ  กินเข้าไป ...ไม่กิน กูยัด จนอิ่ม  แล้วก็อ้วกออก อ้วกออกยัดเข้าไปอีก ...เอาให้มันล้น เอาจนมันเต็มอ่ะ 

เต็ม ...ศีลเต็ม สมาธิเต็ม ปัญญาเต็ม นั่นน่ะ ...แล้วไม่ต้องมากันอีก ไม่ต้องมาหาอีกแล้ว ไปไกลๆ เลย ...มันก็ต่างคนต่างไป

ไปไหน... ไปทำความขจรขจายของหลักธรรมต่อไป เพื่อช่วยกันสืบทอดอายุศาสนาให้ยัง...อย่างน้อยก็ดำรงแก่นไว้  

เพราะทุกวันนี้แก่นมันลีบ กระพี้มันโต ...คนก็เลยเข้าใจว่ากระพี้เป็นแก่นซะเยอะ เข้าใจว่าเปลือก ใบ ราก เป็นแก่นซะเยอะ ...มันเลยเกิดความปิดบังธรรมไปโดยปริยาย

เพราะนั้น ทำไมเมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่ง สัตว์ใด บุคคลใดบุคคลหนึ่งบรรลุ หรือเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริง เข้าถึงเข้าเห็นธรรมชาติที่แท้จริง ที่เขาเรียกว่าบรรลุธรรมน่ะ ตั้งแต่ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง จนถึงที่สุด  ทำไมถึงมีเทวดาอินทร์พรหม สาธุการ มากมายมหาศาล ...เพราะอะไร 

เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ...แล้วเกิดขึ้นมาหนึ่งท่านหนึ่งองค์นี่ หมายความว่านั่นน่ะ จะทำให้อายุศาสนานั้นมั่นคงหนักแน่นขึ้นไปอีก ...เป็นเครื่องยืนยันย้ำว่าศาสนาพุทธมีอยู่จริง ทำได้จริง  มรรคมีจริง ผลมีจริง นิพพานมีจริง  ขนาดเทวดาอินทร์พรหมยังต้องมาอนุโมทนา กึกก้องสามโลกธาตุ ...สำคัญ การภาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าละเลยเปลือก ใบ กระพี้ ...ก็ทำ  แล้วก็ไม่ต้านกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่รังเกียจรังงอนกัน  คือมันเกื้อหนุนกันอยู่แล้ว ... แต่ก็พยายามน้อมให้เปลือกใบกระพี้น่ะชะโงกมาถึงแก่นหน่อย 

ว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า...ปฏิบัติอย่างไรจึงไม่เกิด ปฏิบัติอย่างไรจึงไม่กลับมาตาย  ก็ให้ลองปฏิบัติดู ... นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา  นั่งสมาธิ จะสงบไม่สงบก็นั่งมันไป  จะพุทโธก็พุทโธไป จะลมหายใจก็ลมหายใจไป  จะกำหนดสติก็กำหนดสติไป จะกำหนดดวงจิตผู้รู้ก็กำหนดดวงจิตผู้รู้ไป 

อะไรก็ได้  จะได้ผลไม่ได้ผล ทำมันเข้าไป ...ถือว่าย้ำเตือนลงไปในหลัก ว่าหลักนี้ยังมี  แล้วถ้าทำด้วยความเข้มข้นเข้มแข็ง มั่นคง ไม่ท้อถอย  ก็จะเข้าถึงที่สุดของแก่น คือจิตที่บริสุทธิ์ขาวรอบ ใจเข้าสู่ความบริสุทธิ์หมดจด


จริงๆ น่ะใจเขาบริสุทธิ์มาตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินแล้ว ไม่เคยด่างพร้อยมีมลทินในใจเลย  และใจก็ไม่ได้เป็นดวงด้วย ใจไม่ได้เป็นดอกเป็นดวงเป็นก้อน ... แต่เพราะอำนาจของอวิชชา ตัณหา อำนาจของจิตผู้ไม่รู้ มันมาห่อหุ้มสภาวะใจ มันเลยทำให้สภาวะใจถูกจำกัดเป็นดวงหนึ่ง แล้วก็มาอยู่จำเพาะขันธ์ ๕ นี่ ...เหมือนถูกขังนะ

ธรรมชาติของใจไม่มีที่อยู่ ธรรมชาติของใจไม่มีประมาณ ธรรมชาติของใจคือความผ่องใส คือความบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีมลทิน ...แต่พอมาถูกครอบไว้ แล้วถูกจำกัด ถูกขังคุกนี่ มันก็เลยดูเหมือนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็ไม่ดี  เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็พอใจ เดี๋ยวก็ไม่พอใจ เดี๋ยวก็หงุดหงิดรำคาญ เดี๋ยวก็มีความอยาก เดี๋ยวก็ได้ดั่งความอยาก เดี๋ยวก็ไม่ได้ดั่งความอยาก

ทั้งหมดนี่ ไม่ใช่เรื่องของใจเลยหนา  ใจเขาไม่รู้ไม่ชี้ เขาถูกขังอยู่น่ะ ถูกอะไรก็ไม่รู้มาห่อหุ้มปกคลุมอยู่ 

นี่แหละ พระพุทธเจ้าถึงต้องมาชี้วิธีการปฏิบัติ หนทางการปฏิบัติ...ท่านเรียกว่ามรรค  เพื่ออะไร ...เพื่อทำการแหวกๆ แหวกไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มใจนี่ ให้เข้าไปถึงใจ  ...ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาชี้แนะว่าวิธีการใดที่จะเข้าถึงความเป็นจริงที่อยู่ตรงนี้ คือใจนี่  ไม่มีทางเลยที่ปัญญาของสัตว์โลกนี่ จะรู้ได้เห็นได้ 

เห็นมั้ย คุณของพุทธะ ...ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวก็ไม่มีทางรู้เลยว่าใจเป็นยังไง จิตเป็นยังไง ขันธ์ ๕ คืออะไร  ยังไงถึงจะออกจากขันธ์ ๕ ได้โดยไม่กลับมามีขันธ์ ๕ อีก...ไม่มีทาง  นั่งคิดๆ นึกๆ จนหัวแตกตายยังคิดไม่ออกเลย

คราวนี้พระพุทธเจ้าพูดแล้ว ไม่ใช่พูดมาลอยๆ นะ ดันมีคนทำตามแล้วได้ผลอีก นั่น มีพระสงฆ์  อันนี้เป็นเครื่องยืนยันอีกแล้ว ว่าทำได้จริง ... แล้วพระสงฆ์คือใคร ลูกชาวบ้าน  แล้วพวกเราเป็นใคร เราก็ลูกชาวบ้าน  แต่พอดีลูกชาวบ้านของพระสงฆ์ท่านโกนหัวแล้วก็ไปบวช แต่ก็เป็นลูกชาวบ้านเหมือนกัน เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน ก็ทำได้ ถึงได้ ไม่แบ่งชั้นวรรณะเลยในการปฏิบัติธรรม

ไอ้ตัวที่แบ่งคือ ขี้เกียจ...ขี้เกียจทำ นั่นแหละ ตัวการใหญ่ ตัวการร้าย ผู้ก่อการร้าย  ไม่ยอมให้ทำ ขวางอยู่นั่นน่ะ เป็นไอ้เข้ขวางคลองว่า ... “ทำไม่ได้หรอก ต้องทำงาน”  นั่น มันบอกมันทำไม่ได้ หรือเราบอกเองแน่  เขาไม่ได้บอก เราน่ะบอกเอง  แล้วเราก็เชื่อเองว่าทำไม่ได้  เออ มันโง่หรือมันฉลาด ...ก็พระพุทธเจ้าบอกว่าทำได้ มันไม่เชื่อ

ธรรมมีอยู่จริง ธรรมนี้ของจริง  ธรรมนี้มีอยู่จริงแล้วก็ปฏิบัติได้จริง...ทุกคนไป ไม่เลือกอายุ เพศพรรณวรรณะ วัย สถานะ ชนชาติ ชนชั้น พระมหากษัตริย์ยันยาจก ... ถ้าเกิดเป็นคน มีแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง มีใจเป็นปกติ รู้อยู่เห็นอยู่ได้นี่ ทำได้ทั้งนั้นแหละ 

อย่าไปเชื่อจิตที่มันคอยขัดขวาง ว่าทำไม่ได้หรอก เข้าไม่ถึงธรรมหรอก ...มันจะไม่ถึงยังไงถ้าทำลงไป โดยที่ไม่ฟังไอ้เสียงนกเสียงการ้องแรกแหกกระเชิงอยู่ข้างในน่ะ แล้วก็ควานลงไปภายในกายใจนี้แหละ หยั่งลงไปๆๆ ไม่กายก็ใจ ใจคือรู้ใจคือเห็น 

เบื้องต้นก็เอารู้เอาเห็นนี้ก่อนว่าเป็นใจ  ถึงมันยังไม่ใช่ใจจริง ช่างหัวมัน  มันจะเป็นยังไงช่างหัวมัน เอารู้เอาเห็นเป็นเครื่องหมายก่อน หยั่งลงไปในรู้...รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดิน รู้ว่ายืน  อะไรเป็นนั่ง อะไรเป็นเดิน อะไรเป็นยืน อะไรเป็นนอน อะไรเป็นนิ่ง อะไรเป็นขยับ อะไรเป็นไหว 

ก็รู้ลงไป หยั่งลงไปในความนิ่ง ความไหว ความขยับ ความแข็ง ความอ่อน ...แล้วใครเป็นคนรู้ว่าแข็ง ใครเป็นคนรู้ว่านิ่ง เนี่ย หยั่งลงสองที่นี่แหละ นี่ป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ในการขุดค้นลงไปที่ดวงจิตผู้รู้ คือใจ

ดวงจิตผู้รู้น่ะมันใกล้ใจที่สุดแล้ว มันติดแน่นอยู่ตรงใจแล้ว  ถึงแม้ไม่ใช่ใจ แต่ก็แทบจะเรียกว่าเป็นเนื้อเดียวกับใจก็ได้ในเบื้องต้นนี้

เมื่อใดที่หยั่งลงไปจนถึงใจ อยู่กับใจ และเพียรรักษาใจดวงนี้ไว้ ด้วยศีลสติสมาธิปัญญา  นี่เพียรอยู่ เพียรระวังรักษา อย่าให้ใจนี้ขาดตกบกพร่อง อย่าให้กายนี้หลงลืมไป ขาดไป หายไป ... ถ้าผู้ใดทำความเพียร พากเพียรอยู่อย่างนี้ แล้วจะรับผลในตัวของมันเอง 

ผลจะเกิดขึ้นในการที่...เมื่อใดที่พากเพียรอยู่ที่กายใจ แล้วก็เหลืออยู่แค่กายใจ แนบแน่นอยู่กับกายใจ ไม่ออกนอกนี้ไป สักระยะหนึ่ง จากวินาทีนึง เป็นนาทีนึงๆๆ เป็นหลายนาที เป็นชั่วโมง หลายชั่วโมง เป็นวัน จนหลายวัน จนหลายเดือน จนหลายปี จนตลอดเวลา ...แล้วมันจะรับผลได้มากขึ้นๆ ตามลำดับเอง

ไม่ต้องไปถามใครเลยว่า ..'ผมปฏิบัติอย่างนี้ถูกมั้ย ผมปฏิบัติอย่างนี้แล้วผมจะเข้ามรรค เข้าถึงที่สุดของแก่นมั้ย' ...ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปหา เสียเวลา ... อยู่ตรงนี้แหละๆ หยั่งลงไปที่กายมั่ง ใจมั่ง...กายมั่ง ใจมั่ง  กายยังไง ใจยังไง  อะไรเป็นกาย อันไหนเป็นใจ  อันไหนเป็นนั่ง...อันไหนเป็นรู้ อันไหนเป็นยืน...อันไหนเป็นรู้ ... หยั่งอยู่สองที่ หาดู สอดส่องอยู่แค่นี้แหละ 

ไม่ใช่ว่าไปค้นหาที่อื่นที่ไกล ในป่าหิมพานต์ หรือธรรมะตายไปกับหลวงปู่แล้วก็เลยปฏิบัติไม่ได้ หรือเรา...อาตมานี่ตายไปแล้วก็ไม่มีใครปฏิบัติได้...ไม่ใช่  

ธรรมมีอยู่กับเนื้อกับตัวทุกคนนี่ คือกายนั่ง ก็รู้อยู่ว่านั่ง ... เป็นธรรมทั้งนั้น เป็นธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ...อยู่ตรงนี้แหละ แล้วไม่ต้องถามว่าผลคืออะไร

ทำเอง ... เหมือนกินข้าว แล้วไปถามคนนั่งข้างว่า 'ผมอิ่มรึยัง' ...กูจะตอบได้รึเปล่าเนี่ย ใช่มั้ย  ก็กินข้าวเองอ่ะ แล้วมาถามว่าผมควรอิ่มรึยัง ผมดูเหมือนอิ่มรึยัง ...กูจะไปรู้มึงเรอะ ใช่มั้ย  ไม่รู้อ่ะ  

แล้วมาถามทำไม ถามไปหาอะไร  ...กินเองน่ะ กินมากก็อิ่มมากเด่ะ ทำไมไม่รู้รึไง  ถ้าไม่กินก็หิว ทำไมต้องถาม นี่ผมกินอย่างนี้แล้วผมหิวรึเปล่า  กูจะไปรู้ได้หยั่งไง ไม่บังอาจรู้ได้ 

ไม่ต้องไปถามใคร ...ต้องถามตัวเองว่า เอาช้อนเข้าปากหรือเอาเข้าจมูก ... เออ ถ้าเข้าจมูกล่ะจะบอกให้ว่ามันไม่เข้าปาก อย่างนี้บอกได้ ...ถ้ามาถาม ก็จะบอกให้ว่า อย่างนี้นะคือปาก ไอ้นี้คือจมูก ไว้หายใจ ไม่ใช่ให้กิน  

ก็บอกให้ได้ว่าอย่างเนี้ยคือมรรค คือจะชี้องค์มรรคให้ว่าการเข้ามรรคน่ะเข้าอย่างไร จะเข้าไปถึงแก่นนี่ จะเข้าตรงไหน ...ไม่ใช่เอาช้อนทิ่มหู แล้วว่าทำไมกูไม่อิ่มๆ (หัวเราะ)...มึงจะไปอิ่มได้ยังไง ก็มึงเอาเข้าหู ไม่ได้เข้าปาก

เนี่ย ครูบาอาจารย์ท่านก็จะสอนอย่างนี้ ...พอสอนว่าให้เข้าปากแล้วยังติดอีกว่า 'นี่อิ่มรึยัง' ...ไอ้นี่ไม่ใช่แล้ว ท่านไม่ตอบหรอก  ...กินเองอิ่มเองดิ  กินน้อยหิว กินมากอิ่ม กินมากอ้วก  เกินแล้ว หรือพอดี ...มันจะรู้ว่าพอดีอยู่ตรงไหน ... เพราะนั้นการปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติแล้วโง่ คอยถามอยู่เรื่อย ...มันก็รู้ เข้าใจด้วยตัวของมันเอง

เพราะนั้นการที่จะอยู่ในองค์มรรค หรือว่าเข้าไปถึงแก่น หรือว่าเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่สุด  ก็ด้วยศีล สติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ ...ไม่มีทางอื่น ไม่มีทางลัด ไม่มีทางไหนลัดกว่านี้แล้ว สติ ศีล สมาธิ ปัญญา  

ศีลก็อย่างที่บอก ปกติกายคือศีล ศีลคือกาย กายคือศีล  ความเป็นปกติกายนี่แหละ เป็นรากฐานของธรรมน้อยใหญ่  เหมือนเป็นลำต้น ที่ทรงความเป็นต้นไม้ได้นี่  ...คือกาย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่ก็ปรากฏขึ้นในกายนี้ เพราะอาศัยกายนี้

เพราะนั้นถ้าทุกคนมาเริ่มต้นที่ศีล รักษาศีล ...ไม่ใช่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบหรอก  อันนั้นน่ะรักษาไว้ ไม่ว่ากัน  แต่ให้รักษาเพิ่มอีกศีลนึงคือ ศีลกาย คือปกติกาย 

ซึ่งปกติกายนี่มันไม่ต้องทำ ไม่ต้องไปวิรัติ ไม่ต้องไปสมาทานขอ ...นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ร้อน นั่งอยู่เฉยๆ มันก็แข็ง  มันปรากฏแข็งก็แข็ง มันปรากฏว่าลมพัดทีก็วาบที...ลมพัดทีก็วาบที นี่คือปกติกาย เป็นความรู้สึกที่มันปรากฏขึ้นโดยอาศัยเหตุและปัจจัยโดยรอบ 

ถึงไม่มีเหตุปัจจัยรุนแรงภายนอก มันก็มีเหตุปัจจัยภายในของมัน เป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นตึง เป็นไหว เป็นขยับ นี่คือปกติกายทั้งนั้น ... ไม่ต้องรู้ธรรมเห็นธรรมลึกซึ้งอะไร  ก็มีปกติธรรม ก็มีปกติกายที่เป็นศีลอยู่แล้ว ...ให้มารักษาศีลนี้มากๆ

การรักษาศีลกายหรือปกติกาย ก็ต้องรักษาด้วยสติ ...ถ้าไม่มีสติ มันก็ลืม  ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่รู้ว่าปกติกายเดี๋ยวนี้เป็นยังไง  แล้วเมื่อใดที่มันมีสติ มันก็จะเห็นความเป็นปกติกาย  เมื่อใดที่มีสติมันก็รู้ความปกติกายปัจจุบัน 

เมื่อใดที่มีสติก็หมายความว่ามันมีศีลปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ก็เห็นในกายปัจจุบันนั่นแหละคือศีล  นี่คือรากฐานของหลักปฏิบัติที่จะเข้าถึง ... เพราะนั้นเอาสติไปรักษาศีล คือกายเป็นศีลนี่ ต่อเนื่อง ไม่ขาดระยะ สม่ำเสมอ

นี่ ศีลที่เราไม่เคยรู้จัก ทั้งๆ ที่มีอยู่  ศีลที่เราไม่เคยรักษา ขาดตกบกพร่อง ทะลุ แหว่งเว้า โหว่วิ่น ไม่เต็ม  ทั้งๆ ที่ว่ามันมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนรักษา ... เมื่อมาทำให้มันต่อเนื่องขึ้นด้วยสติ มันก็จะเกิดสัมมาสมาธิ คือความหมายที่ว่าจิตจะตั้งมั่นขึ้น 

ไอ้ที่ว่านั่งสมาธิทีไร หลับตาทีไรก็หลับเลยน่ะ  ไอ้ที่ว่านั่งทีไรก็ฟุ้งซ่านๆ กูไม่รู้จักใครว่าสงบเป็นยังไง เกิดมาไม่รู้จักคำว่าสงบอย่างเงี้ย ... ถ้ามันมารักษาศีลด้วยสติ รักษาศีลกายนี่  แล้วจะรู้จักเองว่า 'เออ เฮ้ย ตั้งมั่นคืออะไร เข้าใจแล้ว...ว่าจิตตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิคืออะไร เฮ้ย ไม่ได้อยากได้เลย มันเกิดเองน่ะ' 

เห็นมั้ย อันนี้คือเราพูดให้นะ ... มันต้องไปทำเอาถึงจะได้ ใช่ป่าว มันต้องไปทำดู  แต่เราพูดให้ว่า ถ้ารักษาสติอย่างนี้ รักษาศีลอย่างนี้ ศีลจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ แน่ๆ เลย ...ไม่ใช่แต่เราพูด พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้มาตั้งแต่สองพันหกร้อยปีแล้ว

แต่คราวนี้พวกเรายังไม่เชื่อ ก็ยังไม่ทำ สำหรับคนที่ไม่เคยทำ ... แต่คนทำแล้วก็จะรับผลไปตามลำดับ ก็เชื่อมากขึ้นตามลำดับ  เพราะนั้นระดับความเชื่อในพวกเรานี่จะไม่เท่ากัน ถ้าทำแล้วได้ผลก็จะเชื่อมากขึ้น ถ้าไม่ทำเลยก็งั้นๆ น่ะ เห็นมั้ย ยังไม่แน่ 

เพราะนั้นถ้าลองเอากายปฏิบัติก็จะเชื่อขึ้นมา และมากขึ้นๆ ศรัทธามากขึ้นๆ  แล้วมันส่งถึงพระพุทธเจ้า มันเชื่อพระพุทธเจ้ามากขึ้นด้วย เคารพท่านมากขึ้นด้วย เคารพในความมีปัญญาของท่าน

เพราะนั้นเราทำไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องทำอะไร...แค่ยืนเดินนั่งนอน...รู้ๆ  นั่ง...รู้ ยืน...รู้ เดิน...รู้ ขยับ...รู้ ไหว...รู้ นิ่ง...รู้ เย็นร้อนอ่อนแข็ง...รู้  เนี่ย รักษาศีลอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน...ด้วยสติ 

ไม่ต้องไปนั่งหลับหูหลับตาพุทโธก็ได้ ไม่ต้องไปเดินจงกรมก็ได้ ...ทำกับข้าวกับปลา ผัดข้าวต้มแกงก็ทำได้ ขยับนิ้วขยับมือหยิบจับอะไร หันซ้ายหันขวา ...ทำไปดูกายไป รู้สึกตามมันไป ดูมันไป  รักษาความปกติกายด้วยสติไว้ จิตจะตั้งมั่นขึ้นตามลำดับ จิตจะแน่วแน่ มั่นคง หนักแน่น อยู่กับเนื้อกับตัวเองมากขึ้น

ไอ้ตัวที่หนักแน่นอยู่กับเนื้อกับตัวเองได้มากขึ้นนั่นแหละ ท่านเรียกว่าสมาธิ...จิตตั้งมั่น ไม่ส่ายออกนอก ไปในอดีต-อนาคต ไปในเรื่องราวที่เกิดแล้วหรือยังไม่เกิด  มันก็หนักแน่นอยู่ในที่ตรงนี้ กับเนื้อกับตัวกายใจนี่แหละ 

เมื่อใดที่มันถึงขั้นเข้าไปหนักแน่นมั่นคงที่กายที่ใจเดี๋ยวนี้ขณะนี้แล้ว หรือว่ามีสมาธิหรือสัมมาสมาธิเกิด  ...แล้วมันไม่ได้เกิดตอนหลับตาด้วย มันเกิดตลอด ทั้งวันก็เกิดได้  ยืนด่าคนยังมีสัมมาสมาธิเลย จิตยังตั้งมั่นได้เลย โกรธก็ยังมีจิตตั้งมั่นอยู่ได้ 

สมาธิไม่เลือกอารมณ์นะ สมาธิไม่เลือกว่าจะต้องตั้งมั่นกับความสงบเท่านั้นนะ  ตั้งมั่นได้ทุกกาลเวลาสถานที่ มีจิตตั้งมั่น รู้อยู่เห็นอยู่กับทุกสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน  นั่นท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ

โดนด่า หรือด่าเขา ก็ตั้งมั่นอยู่ (หัวเราะ) ...คือไม่เลือก ไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ บุคคล หรือเหตุการณ์ประการใด ตอนแรกมันจะเป็นอย่างนั้นแหละ 

และเมื่อมันจิตตั้งมั่น เป็นกลาง ต่อสิ่งที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน  ไม่ว่ากายของตัวมันเอง ไม่ว่ากายผู้อื่น ไม่ว่าเสียง รูป กลิ่น รส ภายนอก  มันก็ตั้งมั่นได้กับทุกอาการ ไม่หวั่นไหวไปตามอาการนั้นๆ อะไรจะเกิด อะไรจะตั้ง อะไรจะดับ  มันก็ตั้งมั่นของมันอยู่นั่น 

อาการที่มันตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ส่ายไปส่ายมา สักระยะหนึ่ง สักพักหนึ่ง ...มันจะเกิดสภาวะที่มันจะชัดเจนขึ้น ดูเหมือนเป็นอาการที่เรียกว่า..."เห็น"

คือเหมือนมีตาอยู่ข้างใน มีลูกตาซึ่งหาที่อยู่ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน  บางคนก็ว่าอยู่หลัง บางคนก็ว่าอยู่บนหัว บางคนก็ว่าอยู่ที่หน้าอก ไม่รู้ล่ะไม่สนว่ามันจะอยู่ที่ไหน  แต่มันมีลักษณะเป็นอาการเห็น...เห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน 

มันเห็นเหมือนดูเฉยๆ ว่า ..เขากำลังเล่นอะไรวะ  มันจะมีความรู้สึกอย่างนั้น คือเห็นแบบไม่ไปเอาธุระกับเขา เห็นแบบงั้นๆ น่ะ เห็นธรรมดา ... เหมือนเห็นเด็กเล่นน่ะ มันจะเห็นลักษณะนั้น คือเห็นด้วยความเป็นกลาง ไม่เอาดีเอาร้าย เอาถูกเอาผิด ไม่เอาคุณเอาโทษสาระประโยชน์อะไรกับมัน คือเห็นไปงั้นน่ะ เห็นธรรมดา เห็นแบบธรรมดา 

มันก็เห็นธรรมดาในกาย เห็นกายมันทำอะไรอยู่  มันกำลังทำอะไรอยู่ของมัน ...มันจะเห็นอาการทางกายนี่เป็นอย่างนั้น คือเห็นแบบไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคา เห็นแบบงั้นๆ น่ะ เห็นแบบธรรมดา

กายมันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นศีล...กายเป็นศีลอยู่แล้ว  เราไม่ต้องทำให้มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์อะไรขึ้นมาใหม่เลย ...มันก็เห็นความธรรมดาของกาย เหมือนมันเล่นอะไรกันอยู่วะ 

เนี่ย ไอ้อาการที่เข้าไปเห็น ที่เนื่องจากสัมมาสมาธิ คือจิตตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ในปัจจุบันอย่างนี้  ตัวที่ออกมาเห็นนั่นแหละ คือปัญญา 

เมื่อใดที่เกิดศีล รักษาศีล  ศีลก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ เมื่อรักษาสมาธิ เจริญสมาธิอยู่ให้เกิดความแนบแน่นต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เห็นมั้ย มันเป็นไปตามลำดับขั้นตอน

เมื่อมีอาการเห็น มันก็มาเห็นอะไรมันเล่นกันอยู่ข้างหน้ามัน ก๊อกๆ แก๊กๆ ก็อกๆ แก็กๆ กึกๆ กักๆ อะไรวะเนี่ย  มันก็เกิดความแยบคาย...แยบคายในอะไรที่อยู่ตรงนี้ 

ก็ดูเงียบๆ  มันก็เห็นเงียบๆ แอบสังเกตด้วยความเงียบสงบ นี่มันมีฐานของสมาธิ  ...ไม่ส่ายไปหาเหตุหาผล ไม่ไปคิดไม่ไปเปิดตำรา ไม่ไปค้นไม่ไปคว้า ไม่ไปถามหาว่าอาการนี้เรียกว่าอะไร ความเป็นจริงมันใช่หรือไม่ มันถูกหรือมันผิด หรือจะทำยังไงกับมันต่อไป หรือจะจัดการยังไงกับมันดี 

จิตมันดู รู้เห็น แอบดู ด้วยความสงบ เนี่ย มันมีฐานของสมาธิอยู่ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น...มันก็เห็น แล้วก็ทำความสำเหนียก ... มันเกิดความเข้าไปสำเหนียก หรือภาษาท่านเรียกว่าโยนิโสมนสิการ  มันเข้าไปแยบคาย รอบคอบ ถี่ถ้วน  นั่นแหละที่เรียกว่าพิจารณาอาการ ...อาการเห็นนี่มันจะเข้าไปพิจารณาอาการของกาย 

แต่การพิจารณาอาการของกายที่มันปรากฏด้วยอำนาจของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และญาณทัสสนะนี่  มันจะพิจารณาในลักษณะเงียบๆ  ไม่ใช่พิจารณาแบบกระโตกกระตากด้วยความคิด ความนึก  แต่มันพิจารณาด้วยความเงียบลึกซึ้ง แยบคาย ลึกซึ้ง เงียบๆ  ดูอาการมันไปตามลำดับลำดา 

นั่นน่ะเป็นการเข้าไปพิจารณา เรียกว่าเข้าไปธัมมวิจยะ เป็นธัมมวิจยะ  คือวิจยะธรรม มันเป็นการวิจยะธรรม  ธรรมนี้สมมุติว่า...กาย  เบื้องต้นต้องเอาธรรมที่สมมุตินี้ว่ากายเป็นเบื้องต้นก่อน ต้องวิจยะตรงนี้ก่อน  มันก็จะวิจยะกาย ด้วยการรู้และเห็นๆ เห็นและรู้ รู้และเห็น อยู่แค่นี้แหละในกาย 

มันแยกมันแยะ มันตรวจสอบ มันสังเกต มันถี่ถ้วน ในอาการที่ปรากฏ หรือเหตุแห่งกายที่ปรากฏ  จนมันลึกซึ้ง เข้าใจ ...มันเข้าใจของมันเองน่ะ ว่าแท้ที่จริงแล้วกายนี้คืออะไร แท้ที่จริงไอ้ที่สมมุติว่ากายนี้ คืออะไร  ที่เรียกว่านั่น ที่เรียกว่าอย่างนี้ แท้ที่จริงมันคืออะไร มันคือสมมุติบ้าง บัญญัติบ้าง ...แล้วมันก็แยกออกว่า กายจริงๆ คืออะไร

เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์ ...เวลาเราเห็นพระอาทิตย์ พระจันทร์  เราเห็นไม่จริงหรอก  เพราะเราเห็นในลักษณะที่เรามองผ่านบรรยากาศ เรามองผ่านเมฆหมอก กิ่งไม้ใบหญ้า  เรามองผ่านเหลี่ยมเขา เรามองผ่านอากาศ  

เพราะนั้นสิ่งที่เราเห็นเป็นพระอาทิตย์นั้น...ยังไม่ใช่พระอาทิตย์ของจริง  มันเป็นแค่เรามองเห็นหน้าฉากที่มันบังพระอาทิตย์ แล้วเห็นพระอาทิตย์อยู่ข้างหลัง  แล้วเราไปเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นพระอาทิตย์จริงๆ ...แต่ยังไม่ใช่ว่าเรียกว่าเราเห็นพระอาทิตย์จริง 

กายนี่ก็เหมือนกัน ...เวลาเราว่ารู้กายแล้ว เราเห็นกายแล้วนี่...ยังไม่ใช่ มันยังไม่ใช่กาย  เพราะมันยังมีอะไรบัง ...จนกว่ามันจะหยั่งลงไปด้วยญาณทัสสนะที่เรียกว่าเห็นเฉยๆ นี่ ถี่ถ้วนลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง วาระหนึ่ง มันจะเข้าใจในตัวของมันเองว่า...อะไรที่เป็นกายจริงๆ

สุดท้ายมันก็มาสรุปลงที่ว่าปกติกาย นั่นแหละคือกายจริงๆ  อะไรกระทบปึง...แข็ง อะไรกระทบปึง...อ่อน อะไรกระทบปึง...เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ร้อน หนาว ตึง แน่น นั่น  แล้วมันจะเชื่อความเป็นจริงว่า กายนี้คือกายอย่างนี้ คือกายตามความเป็นจริง 

ไอ้ที่เคยเห็นว่าเป็นกายผู้ชาย ผู้หญิง แก่ หนุ่ม สาว สวย ขาว ดำ สูง มีชื่อด้วย ...มันเริ่มเห็นแล้วว่าไอ้กายที่เราเห็นว่าอย่างเนี้ย หรือแม้แต่ที่เห็นว่ากายเรา ของเรา หรือว่าแขน หรือว่าขา เนื้อ หนัง หน้า กระดูก อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่กายที่แท้จริง ...ปัญญามันหยั่งเข้าไปจนเห็นว่าทั้งหมดที่เราเคยเชื่อนี่ ไม่จริง ไม่ใช่กายจริง

แล้วอันไหนกายจริง ...มันเห็นเต็มลูกตามันคือจักขุญาณ ญาณข้างในที่มันเกิดขึ้นจากอำนาจของศีลสติสมาธิ ที่มันจะเกิดอาการเห็นนี่  เพื่อเข้าทำความชำแรกออก ...เหมือนแหวกอากาศ แหวกเมฆแหวกหมอก จนเห็นเนื้อแท้ของพระอาทิตย์น่ะ 

ถ้าอยากเห็นพระอาทิตย์ ...ก็ออกนอกโลกไปดูเลย นั่นน่ะพระอาทิตย์ของจริง  เพราะอะไร ...เพราะไม่มีอะไรบัง ...ตราบใดที่เรามองอยู่อย่างนี้ ถึงแม้ฟ้าจะใสขนาดไหน ก็ยังมีอากาศห่อหุ้ม ... เรามองเห็นพระอาทิตย์ผ่านอากาศ แปลว่ายังไม่เห็นพระอาทิตย์จริงนะ 

แล้วนี่...เราอยู่กับกายทั้งวี่ทั้งวันนี่ เรายังไม่รู้จักกายจริงๆ เลย ไม่เห็นกายจริงๆ เลย  แต่คิดว่านี่ “กายเรา” ซะอย่างงั้นน่ะ ... เห็นมั้ย เห็นจิตมันโง่มั้ย เห็นจิตผู้ไม่รู้มั้ย  แล้วมันยึดเอาแบบดื้อๆ ด้านๆ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล  แล้วจะเรียกว่ามันฉลาดหรือมันโง่ดี

ครูบาอาจารย์ถึงบอก มันโง่ไง จิตมันโง่ไง ... แล้วมันบอกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมๆ  อ่านหนังสือเข้าใจเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ใช่มั้ย  ใครไม่รู้บ้าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้...อ่านมาทั้งนั้นน่ะ ได้ยินมาก็เยอะ  ใครไม่รู้ว่ากายเป็นอสุภะ ใครไม่รู้จักว่ากายนี้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม รู้...ทำไมจะไม่รู้  ...แต่กูไม่เชื่ออ่ะ

เห็นมั้ย จิตมันดื้อน่ะ มันถือเอาแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หาเหตุผลไม่ได้  กูจะถือว่าเป็นเราอยู่วันยันค่ำอ่ะ ไม่ยอมๆ  ทั้งๆ ที่ว่าก็บอกแล้วว่ามันโง่...ไม่เชื่ออ่ะ  ก็บอกว่ามันไม่ใช่เราเห็นมั้ย...ไม่เชื่ออ่ะ ยังไงก็เป็นเราๆ ...มันหน้าด้านมั้ยนั่น ไม่ต้องอ้างเหตุอ้างผล มันไม่มีเหตุไม่มีผลเลย นี่คือจิตไม่รู้ นี่คือจิตหลง


เพราะนั้นการจะแก้จิตหลง จิตไม่รู้นี่ ต้องมีวิธีการอย่างนี้...ศีล สติ สมาธิ ปัญญา  เพื่อให้เกิดการสอดส่องตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ...ด้วยใจที่เป็นกลาง  ก็จะเห็นว่า เออ เฮ้ย กายจริงๆ มันแค่เนี้ย ...ลมพัดทีก็วาบทีๆ  ในวาบนั่นมีอะไร ฮึ ...ก็มีวาบกับรู้ เท่านั้นจริงๆ  

แต่จิตต้องนิ่งนะ จิตต้องเป็นสมาธินะ  ถ้าจิตไม่นิ่งไม่เป็นสมาธิ มันจะ..'เราว่ามันต้องมีอะไรอยู่มั้ง'  แน่ะ ไอ้เราว่ามีอะไรอยู่มั่งนี่  ไอ้นั่นแหละ คือจิตไม่นิ่ง คือจิตมันส่ายแส่ออกมาจากสมาธิแล้ว ...ถ้าจิตนิ่งมันก็เป็นแค่ อือ แค่นั้น กับรู้ว่าวาบ  วาบก็รู้ว่าวาบ วาบๆๆ แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไรในนั้น มีเราในวาบๆ นี้ไหม 

ไม่ต้องถาม ไม่ต้องหา ... ถ้าถามกับหา จิตมันออกมาทำงานแล้ว จิตผู้ไม่รู้ทำงานแล้ว  มันแส่ส่ายออกมา หาค่าหาความหมาย ค้นคว้า หาสมมุติหาบัญญัติมาเติมให้มันเต็มว่ามันคืออะไร  แน่ะ มันเริ่มเลย 

ถ้าจิตนิ่งๆ หรือเป็นสัมมาสมาธิ มันก็เป็นแค่ วาบ...รู้ๆๆๆ  มันสังเกตความรู้วาบทีๆๆ ในวาบในรู้นี้มีใคร ในรู้ในวาบมีอะไร ในรู้ในวาบมันบอกเป็นใคร ในรู้ในวาบมันบอกเป็นของใคร ในรู้ในวาบมันบอกมั้ยว่ามันเย็นมันร้อนมันอ่อนมันแข็ง...ไม่บอก เงียบๆๆ 

ปัญญานี่มันเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่ปรากฏนี้เท่านั้นแหละ แล้วมันจะเข้าไปถ่ายถอนความเชื่อผิดๆ ความเห็นผิดๆ ความคิดผิดๆ ที่เคยเข้าไปให้ค่าให้ราคากับกายนี้  

ที่ว่าสวยมั่ง เป็นชายมั่ง เป็นหญิงมั่ง เป็นสัตว์มั่ง เป็นบุคคลมั่ง เป็นเรา เป็นของเรามั่ง  เป็นแขน เป็นขา เป็นหน้า เป็นหลัง เป็นตัวเป็นตน ...มันจะถ่ายถอนความเชื่อเหล่านี้ออก ทีละเล็ก ทีละน้อย  ...มันไม่ใช่ทีเดียวหมดหรอก


(ต่อแทร็ก 8/8 ช่วง 2) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น