วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/28


พระอาจารย์
8/28 (550821D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 สิงหาคม 2555


พระอาจารย์ –  เป็นไง

โยม –  ก็ดีค่ะ ก็ไปนั่งภาวนาก็มีสภาวะคือแบบเห็นว่า กายก็อันนึงน่ะค่ะ แล้วเวทนามันเข้ามาแทรก แต่ว่าทั้งสองอันก็ไม่ใช่เรานะคะ คือแบบมันก็รู้เฉยๆ ...แต่ก็เกิดความสงสัยว่าเวทนามันมาจากไหน

พระอาจารย์ –  อย่าสงสัย


โยม –  แต่ก็ดูมันไปน่ะค่ะ แต่ว่าคือตอนนั้นไม่รู้ รู้ไม่ทันนะคะว่าสงสัย แต่ว่าเห็นว่ามันแยกออกจากกัน แล้วทั้งสองอันก็ไม่ใช่เรา แล้วเหมือนมีอีกคนที่ดูอยู่เฉยๆ อย่างนี้ค่ะ ก็ดูอยู่เฉยๆ เฉยๆ

พระอาจารย์ –  ถ้าเป็นปัญญาญาณ ที่เป็นปัญญาญาณที่แท้จริงนี่ มันจะจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ในตัวของมันเอง มันจะวิจยธรรม มันจะแยกวิจยธรรม

ที่เรียกว่าอะไรเป็นธรรม ...คือขันธ์ห้านี่เป็นธรรม ...มันจะวิจยธรรมนี่ เป็นส่วนๆ ส่วนๆ ในการปรากฏขึ้น ...มันจะจำแนกออก

ถ้าไม่มีปัญญานี่ ทุกอย่างมันจะเกาะกุม รวมกันเป็นก้อน ...พอมันรวมกันเป็นก้อนเดียวปุ๊บนี่ อวิชชานี่มันจะเข้ามาเหมาเลยว่า...เรา ของเรา

มันจะหมายทันทีเลยว่า ขาเรา แขนเรา ตัวเรา...ปวด แล้วก็เอาปวดมารวมกับตัวเรา กับขา กับแขน กับกายนี่ ...ทั้งหมดจะรวมเป็นก้อนเราหมดเลย

แรกๆ มันก็จะเห็นเป็นก้อนรวมกับขันธ์ห้าก่อน ...พอมันอยู่ได้นานด้วยความเพียรเพ่ง จดจ่อ แล้วก็เป็นกลางอยู่นี่ ...มันจะจำแนก...จำแนกออก 

จำแนกให้เห็นว่าเป็นองคาพยพของขันธ์แต่ละส่วนๆ ...นี้กายบ้าง นี้เวทนา นี่รูปบ้าง นี่นามบ้าง นี่ความคิดบ้าง นี่ความเห็นบ้าง นี่กิเลสบ้าง

มันจะแยกได้เลยว่ากิเลสกี่ส่วนในการปรากฏขึ้นนี้ ความคิดกี่ส่วน ความเห็น อดีต-อนาคตกี่ส่วน ...มันเห็นหมด แล้วมันจะเห็นเป็นจุดๆ ...ต่อไปมันจะกระจายห่าง จะเห็นขันธ์นี่ห่าง ห่าง แยกห่างกัน

เมื่อใดที่มันแยกออกห่างจากกันมากขึ้นเท่าไหร่ สภาวะที่ว่าเรา ของเรา ในการเข้าไปรวมตัวกันไม่มี ...ตรงนั้นมันจะเห็นชัดเจนเลยว่าแต่ละส่วนก็คือแต่ละส่วน...ไม่มีเราในส่วนนั้น

แต่เมื่อใดนะที่มันรวมกัน...“เรา” เกิด ... อวิชชานี่เก่งกล้าสามารถ มันเหมาขยำๆ รวม เสร็จ ปึ้ง...“ตัวเรา” ...รวมเลย มันรวมเลยนะ ทั้งหมดนี่ “เรานั่ง” รวมเลย

นี่ ดูดีๆ สิ ...ถ้าดูดีๆ ด้วยความละเอียด หรือว่าโยนิโสมนสิการนี่ ...มันจะเห็นว่าไอ้ตัว “เรานั่ง” นี่ มันยังมีตั้งหลายส่วนใน “เรานั่ง” ...เห็นมั้ย

ถ้ามันจดจ่อแล้วก็ตั้งมั่นดูด้วยความเป็นกลาง ก็จะเห็นรายละเอียดของ “เรานั่ง” นี่แยกออกจากกัน ในอาการว่า “เรานั่ง” มีอะไรบ้าง ...อย่างนี้ เรียกว่าปัญญา

เพราะนั้นตัวปัญญานี่ มันจะเข้าไปแยกสลายธาตุขันธ์ หรือขันธ์ห้าอยู่เสมอ จำแนก ตัวนี้ที่เรียกว่าธัมมวิจยะ ...แล้วมันทำของมันเอง

แต่แรกๆ อาจจะต้อง...หมายความว่า มีไกด์ไลน์ให้หน่อย ...หมายความว่า เออ ดูแต่ละตัว บังคับให้มันแยก ให้เห็นว่ามันเป็นอะไรกันแน่อย่างนี้ อย่าเพิ่งไปเชื่อมันทีเดียว ดูดีๆ ก่อนสิ

ก็ต้องคอยบอกคอยสอนมันอยู่เหมือนกันว่า...ดูดีๆ นะ อย่าเพิ่งว่า “เราปวด”  แล้วก็ไปทำตาม “เราปวด” เลย ...เนี่ย ถ้านั่งนานๆ มันก็ “เราปวด” แล้วก็ไปทำตาม “เราปวด”

ที่ว่าทำตาม “เราปวด” เลย ก็คือมันจะเอา "อย่าปวดเลยดีกว่า" นั่น เขาเรียกว่าทำตาม “เราปวด” มันก็เอา “เราไม่ปวด” คือไปทำให้มันขยับเปลี่ยนแปลง ...นี่เขาเรียกทำตาม “เราปวด”

แต่ถ้าอย่าเพิ่งรีบทำตาม “เราปวด” หรือทำตามอำนาจของเราหรือตัวเรานี่ ...ดูดีๆ ด้วยขันติ อดทน ...ถ้าไม่มีขันติ ไม่มีอดทนนี่ ทำความจำแนกธรรมไม่ได้ วิจัย วิจยธรรมไม่ออก

เพราะนั้นอดทนไป เดี๋ยวมันก็เห็นเอง ไอ้นี่ก็เกิดมาวูบ คิด น่ะ เริ่มเห็นแล้ว ความอยากมาอีกแล้ว ...แล้วมันก็เริ่มสังเกต ยิ่งอยากมากเท่าไหร่ยิ่งปวดมากขึ้นเว้ยเฮ้ย

นี่ มันเริ่มเห็นแล้วปัจจัยเนื่องกันยังไง มันก็จะเริ่มเห็นเค้าลางหรือเค้าเงื่อนของสมุทัย หรืออริยสัจ ๔ นี่ก็จะชัดเจนขึ้นในองค์ขันธ์นี่

อู้ย นี่พูดไปก็พูดเกินไปแล้ว เดี๋ยวงง ...เอาแค่ว่ารู้...นั่งเฉยๆ แล้วมันจะแยกของมันเอง มันจะแยกแล้วมันจะเข้าใจไปตามลำดับเอง ว่าอะไรคืออะไร

แล้วมันจะเห็นทุกอย่างนี่ ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างเกิด ต่างอันต่างตั้ง...บางอย่างมาก บางอย่างน้อย บางอย่างดับไป บางอย่างยังตั้งอยู่ 

และในการเกิด-การดับไปของแต่ละอย่าง...ก็ไม่มี “เรา”  ก็ไม่มี “เขา” ในอาการเกิด ในอาการดับนั้นๆ ...แล้วก็ควบคุมไม่ได้ ...อย่างนี้

แล้วก็จะเห็นว่า ทุกข์ที่ปรากฏตามสภาพ คือความปวด ที่สมมุติว่าปวด ...ที่จริงความปวดนี่คือสมมุติว่าปวดนะ มากหรือน้อยนี่ก็ความหมายมั่นนะ คือการเข้าไปให้ค่าว่าอย่างนี้เรียกว่ามาก อย่างนี้เรียกว่าน้อย

ถ้าถามว่าที่ใครนั่งนี่ ปวดมั้ย...ปวด ...ใครมากใครน้อยกว่ากันตอบมาซิ มันก็จะบอกว่า ของหนูน่ะมากกว่า ...แน่ะ เอาอะไรมาวัด กว่าอันนี้จะมากกว่าของคนนี้ เห็นมั้ย

เพราะนั้นไอ้ตัวคำว่ามากหรือน้อยนี่คือจิตมันเข้าไปให้ค่าเอง ...แต่ถ้าเป็นลักษณะของความปวด คืออาการที่ปรากฏ หรือเวทนา เนื้อแท้ของเวทนาจริงๆ ...เขาไม่ได้ว่าอะไรหรอก 

เขาไม่ได้บอกอะไรหรอก เขาไม่มีความหมายแต่ประการใดเลย ...นั่นแหละ สภาวะอย่างนี้ที่ท่านเรียกว่าทุกขสัจ คืออาการที่ปรากฏขึ้นจริง เฉยๆ เงียบๆ เป็นกลาง ...นั่นแหละของจริง

เพราะนั้นเมื่อใดที่เห็นว่ามันเป็นทุกขสัจแล้วนี่ หรือว่าทุกข์ตามสภาพขันธ์ ...จะรู้เลยว่า ทุกข์นี้แตะต้องไม่ได้ เหมือนเป็น untouchable ...ต้องยอมเขา ต้องยกให้เขา เขาเป็นใหญ่ในขันธ์ นี้คือทุกขสัจ

แล้วจะเห็นไอ้ที่รายล้อมรอบมัน ไอ้ที่ว่าจะเป็นจะตายอยู่นั่นน่ะคือทุกข์อุปาทาน ...อันนี้ไม่จริง อันนี้จะไม่จริงนะ ...อันนี้ละได้ อันนี้ไม่เกิดขึ้นได้

อันนี้ปัญญามันจะเห็นเอง แล้วมันจะแยกว่า ทุกข์ตามความเป็นจริง...กับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากจิตไม่รู้สร้างนี่ ...ไม่เหมือนกัน

แล้วมันจะเอาไอ้ตัวทุกข์...ที่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง...แต่เป็นทุกข์ที่จิตไม่รู้สร้างขึ้นนี่ออก ...นี่คือละสมุทัย ด้วยการจำแนกธาตุขันธ์นี่แหละ

แยกเข้าไป เอาจนไม่มีตัวตนเหลือเลย ...เป็นก้อน เป็นจุดใดจุดหนึ่ง หรือต่างอันต่างเป็นต่างกองกัน  แล้วมันมารวมกันชั่วคราว เป็นปัจจยาการชั่วคราว เป็นผลชั่วคราว ...แล้วเดี๋ยวมันก็แยกวง

แล้วเดี๋ยวพอได้ที่อีก มันก็กลับมารวมตัวประชุมกันใหม่ เดี๋ยวเสร็จธุรกิจ เจรจาต้าอ่วย...สำเร็จก็ตาม ไม่สำเร็จก็ตาม...แยกวง ...เนี่ย ให้เห็นสภาพมันจะเป็นอย่างนี้ ขันธ์น่ะ

“แล้วจะไปบ้าบออะไรกับมันวะนี่” นั่น เริ่มเห็น...แล้วกูจะบ้าบออะไรกับมัน ...ที่คิดว่าเราทำอะไรกับมันได้ คิดว่าเราเหนือกว่ามัน ...ทีนี้มันก็เริ่มเห็นเค้าลางแล้ว

เพราะนั้นทุกข์ที่ละไม่ได้คือ ทุกขสัจ คือทุกข์ประจำขันธ์...เกิดแก่เจ็บตายเนี่ย นั่งแล้วปวด นั่งแล้วเมื่อย โดนแดดร้อน ...พวกนี้ทุกขสัจหมด คือทุกข์ตามสภาพ

ไปยืนกลางแดด ไปสั่งมันดิ “ห้ามร้อน” ไอ้นี่บ้าแล้ว ใช่มั้ย เป็นไปไม่ได้  มีกายโดนร้อนต้องร้อนไม่มีเย็น อย่างนี้ สั่งได้ไหมล่ะ ควบคุมได้ไหม

ควบคุมความร้อนนี่ได้ไหม...ไม่ได้  ตกแต่งมันได้ไหม...ไม่ได้  ทำให้มันมากขึ้น-น้อยลงได้ไหม...ไม่ได้ ...แต่มันคิดว่าได้ ถ้ากูก้าวออกไป ...เนี่ย ไอ้ตัวเนี้ย เห็นไหมล่ะ

ไอ้นี่คือมีสุข-ทุกข์ตามมา จะเกิดสุข-ทุกข์ตามมา ...เพราะมันเชื่อว่า มันทำได้ แล้วมันทำ ...ทุกข์จะเกิดขึ้นเพราะมันคิดว่าทำได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ 

นี่ ทุกข์ตามมา ...เห็นมั้ย สุข-ทุกข์จะตามหลัง เพราะความไม่รู้ ... แต่ถ้ารู้แล้ว...เออ ช่างมัน นั่น ปัญญา มันต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดเอา

ดูไปเรื่อยๆ มันก็จะแยก จนขันธ์นี่ขาดวิ่นจากกัน เป็นแค่กองหนึ่งๆๆๆ  แล้วก็มาเป็นพันธกิจรวมตัวชั่วคราว เหมือนเข้าห้องประชุม ...เคยประชุมไหม เออ มันประชุมเลิกแล้วไง


โยม –  เลิกเป็นบางครั้งค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ ยังงั้ย ยังไง ก็เลิก ใช่มั้ย  มันไม่ประชุมข้ามชาติหรอก ไม่ถาวรในการประชุม  มีการประชุมไหนถาวรไหม...ไม่มี ... ขันธ์คือการประชุมกัน

เพราะนั้นมันประชุมเฉพาะกิจมาว่า “ปวด” นี่คือการประชุมกัน ...แต่ความโง่ของจิตที่ไม่รู้ก็ว่าการประชุมนี้เป็นเรื่องของเรา เป็นของเรา...ซะอย่างงั้น ...นี่ โง่หรือฉลาด

โง่...แต่มันว่ามันฉลาด แล้วมันจะฉลาดขึ้นด้วยถ้ากูเอาขาออก  ใครไม่เอาขาออก คนนั้นโง่  เออ ว่ากับมันสิ เห็นมั้ย โง่กับฉลาดนี่มันว่าเอาเอง ...จริงๆ น่ะมันโง่ตั้งแต่ต้นเลย

ของเขาตั้งอยู่เฉยๆ บ่ดายน่ะ ก็ว่า “ของกู”   ปวดก็ปวดเฉยๆ ก็ว่า “เราปวด” ซะอย่างงั้น ...มันมีเหตุผลไหม...ไม่มี  มันไม่มีเหตุผลมารองรับเลยนะ 

นี่ไม่เรียกว่าโง่คงว่าฉลาดแล้ว ของมันตั้งอยู่เฉยๆ ก็ว่าของเราน่ะ ...บอกว่าไม่ใช่ ...มันก็บอกว่าเป็นของเราน่ะ แน่ะ โง่มั้ยเนี่ย มันเชื่อแบบโง่ๆ ไง

นี่ คือจิตไม่รู้ ...มันไม่มีเหตุไม่มีผล แต่มันจะเอาน่ะ มันจะถือว่ามันเป็นเราก็ต้องเป็นเราวันยันค่ำน่ะ

เพราะนั้นในระดับแค่ความคิด อ่าน จำ ฟัง ...มันก็ว่า...กูไม่ฟังมึงหรอก ไอ้ความเชื่อตัวนี้ ความเชื่อแบบไม่มีเหตุผล ไม่มีทางจะเลิกความเชื่อนี้ได้เลย

นอกจากภาวนามยปัญญาเท่านั้น มันถึงจะยอม ...ไอ้จิตโง่ตัวนี้ ไอ้จิตไม่มีเหตุไม่มีผล แล้วกูก็หมายเอาดื้อๆ ว่านี่เป็นสวย นี่เป็นไม่สวย ...มันเอาอะไรมารองรับ หา

มันก็เชื่อแบบไม่มีเหตุไม่มีผลเหมือนกันว่า เห็นแล้วชอบ เพราะมันชอบอ่ะ ทำไม ก็มันชอบอ่ะ ...เนี่ย มีเหตุผลมั้ย...ไม่มี เอาอะไรมาเป็นเหตุผลรองรับ ไม่มีอ่ะ ก็ใจมันชอบ

นี่ โง่ เขาเรียกว่าชอบแบบโง่ๆ ไม่มีเหตุผล ...แล้วบอกให้มันไม่ชอบไม่ได้นะ โกรธนะ ...ก็กูจะชอบน่ะ ทำไม มึงไม่ชอบได้ยังไง ทำไมชอบไม่เหมือนกัน ทะเลาะกันอีก ...เนี่ย คือจิตไม่รู้ทั้งสิ้น

ทำยังไงถึงจะให้มันรู้ความเป็นจริงว่าอะไรคืออะไร ...ว่าอะไรคืออะไร ว่ามีอะไรในอะไร หรือไม่มีอะไรในอะไร ...นั่นแหละ จะภาวนาเพื่ออะไร

ก็จะเห็นว่าไม่ได้ภาวนาเพื่ออะไร ...เพราะไม่มีอะไรในอะไร  มันจะเข้าใจอย่างนั้น ...สุดท้ายภาวนาแทบตายนึกว่าจะเจออะไร ก็ไม่เห็นเจออะไร ...เพราะไม่มีอะไรให้เจอ

อยู่กับขันธ์ห้าทั้งที ยังไงก็อยู่กับมันจนตาย ...ก็เอาเวลาที่ต้องอยู่กับมันจนตายน่ะมาดูมัน เรียนรู้มัน  จะได้เข้าใจมัน ...หนีไม่พ้นอยู่แล้วขันธ์ห้า

ชอบหนี จิตมันชอบหนีออกนอกขันธ์ห้า มันก็เลยไม่เข้าใจขันธ์ห้าสักทีว่ากูคือใคร ...นึกว่ากูเป็นใคร ที่ไหนได้ กูไม่ได้เป็นใครสักอย่าง ...เออ มันจะเข้าใจเอง

แต่ถ้าเมื่อใดหนีออกนอกขันธ์ห้า ไม่เข้าใจหรอกขันธ์ห้า ...มันก็ว่าขันธ์ห้าเป็นเรา ของเรา ตัวเรา เรานั่ง เรานอน เรายืน ...ก็เชื่อมันเข้าไป

เอ้า มีเท่านี้ มีอะไรจะถาม


โยม –  ไปภาวนาต่อ

พระอาจารย์ –  ภาวนารู้ไป รู้กายเป็นจุดๆๆ นี่แหละรู้ไป ขยับ มีน้ำหนักตรงไหน...รู้  การเคลื่อนการไหวคือการปรากฏขึ้นของมวลธาตุ

แล้วมันมีแรงยกของแรงดึงดูด แล้วมันต้านกัน มันก็มีความรู้สึกหนักเบาเกิดขึ้น ...เนี่ยคือมวลของธาตุ คือกายมันกำลังแสดงความเป็นธาตุด้วยความหนักเบา

เพราะนั้นกายมีอยู่สองแง่ ลักษณะของกาย...คือแง่ของธาตุกับแง่ของเวทนา  เย็นร้อนอ่อนแข็ง...อ่อนแข็งนี่เป็นเรื่องของธาตุ ...เย็นร้อนสบาย เบา เมื่อย คัน อะไรพวกนี้เป็นเรื่องของเวทนา

นี่ มีในสองแง่...กายตามความเป็นจริง เป็นแค่นั้นแหละ  มันเนื่องกัน กายกับเวทนานี่เนื่องกัน ...เพราะนั้นจะไม่มีเวทนาถ้าไม่มีกาย

เพราะนั้นกายจะไม่เป็นทุกข์เลย จะไม่มีเป็นทุกข์เลยถ้าไม่มีกาย ...เพราะนั้นเมื่อใดที่มีกายต้องมีเวทนา เพราะนั้นกายจึงเป็นที่ตั้งของทุกข์โดยธรรมชาติอย่างนั้น

ไม่ว่าจะปรากฏอย่างไร สภาวะนั้นคือทุกข์ปรากฏ คือการบังเกิดขึ้นของการปรากฏของเวทนาหรือธาตุ คือสภาพทุกขสัจ ...เพราะนั้นกายนี่เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ เป็นทุกขสัจ

เมื่อใดที่ยอมรับทุกขสัจโดยความเป็นจริงเหล่านี้ โดยที่ไม่เข้าไปต่อกรกับสิ่งเหล่านี้ ...ก็เรียกว่าทุกขอริยสัจ 

ผู้ใดที่เห็นทุกข์เหล่านี้ แล้วไม่ต่อกรกับทุกข์เหล่านี้ โดยความยอมรับ เข้าใจ ...ก็เรียกว่าเห็นทุกขอริยสัจ ไม่ใช่ทุกขสัจอย่างเดียว


.....................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น