วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/29 (1)



พระอาจารย์
8/29 (550902)
2 กันยายน 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การไปยึดมั่น...จะในพระไตรปิฎก ในตำรับตำรา หรืออะไรทั้งนั้น ...แล้วก็ทะเลาะเบาะแว้งกันไป ทำให้เกิดความขุ่นมัวเศร้าหมองเปล่าๆ ปลี้ๆ

ปริยัติถ้ามากเกินไปก็เป็นอย่างนั้น มันปฏิบัติน้อย แล้วก็เอาแต่ข้อความ จิตมันไม่มีทางว่าง่ายหรอก เพราะจิตมันจะต้องลบบัญญัติ ลบสมมุติพวกนี้ออกหมดน่ะ 

มันต้องถอนความเห็นตามบัญญัติตามสมมุติออกหมด มันถึงจะเข้าถึงแก่นแท้ของธรรม เนื้อแท้ เนื้อจริงของธรรมแท้ ...ไม่ใช่เปลือกธรรม เปลือกสมมุติบัญญัติ...พวกนี้เปลือก

เพราะนั้นก็บอกว่า...สติ ให้มันเดินอยู่ในกายนี่ ไม่ให้มันออกนอกกาย ไม่อย่างนั้นก็มากเรื่อง เรื่องมาก ...จิตมันก็จะมีพลังสมาธิ พลังของปัญญา มันก็ไปชำระ

พลังของสมาธิปัญญาก็ไปชำระกาย ลอก กะเทาะเปลือกออก เปลือกที่หุ้ม...ด้วยสมมุติบ้าง บัญญัติบ้าง ความเห็นความเชื่อบ้าง ...มันก็จะเห็นเนื้อแท้ของกายได้ ว่าไม่ใช่อะไรของใคร

ทำมันอยู่แค่นี้ ไม่ออกนอกกาย ...ไม่ต้องไปหาบัญญัติสมมุติอะไรมาอธิบายตีความให้มันวุ่นวี่วุ่นวาย  มันหลงนิมิต ติดนิมิตกัน โลกมันก็เป็นนิมิตอยู่แล้ว

เพราะนั้นการภาวนา หัวใจหลักก็คือการมารู้เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ว่าขันธ์ห้านี่ไม่ใช่ใคร ของใคร เป็นธรรมชาติที่เป็นเพียงแค่การเกิดการดับเท่านั้นเอง

นี่ ภาวนาจึงไม่ใช่ว่าเพื่อความรู้ความเห็นอะไรที่นอกเหนือจากขันธ์  แต่ให้เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง ...มันก็จะค่อยๆ เลิก เพิกถอนความยึดเกาะเกี่ยวในขันธ์

ความรู้มันมีมากมาย แต่เป็นความรู้ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เห็นขันธ์ตามความเป็นจริง จนจิตยอมรับได้ ...ถึงมันเห็นความเป็นจริงตามบัญญัติตามสมมุติ จิตมันก็ไม่ยอมรับ

จิตมันไม่ยอมรับหรอก ...จิตมันจะยอมรับอยู่อย่างเดียวคือ ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนาเท่านั้น มันจึงจะจางคลายออกได้

เพราะนั้นการที่คอยคุม น้อมนำให้จิตมันมาเห็นกายรู้กายตามจริงนั่นแหละ บ่อยๆ ...ไม่ให้มันออก ไม่ให้มันเล็ด มันหลุด ลอดออกไปนอกกาย

ด้วยความรู้ที่ปราศจากความคิดความจำ มันก็จะเห็นกายเป็นเพียงก้อนธาตุก้อนธรรม ไม่ใช่ใครของใคร 

อย่าไปขี้เกียจ อย่าไปหาความรู้อันอื่น ความอยากรู้อันอื่นที่มันอยากรู้ อยากได้ ... มันเสียเวลา..ที่จะให้จิตมันแน่วแน่ เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว ...เพราะมันต้องใช้เวลา

ในการที่จะให้จิตมันเรียนรู้ เข้าใจจนถึงขั้นยอมรับ...มันต้องใช้เวลา ...แต่กลับให้เวลามันหมดไปกับการปล่อยให้จิตมันไปหา ไปทำที่อื่น ที่นอกเหนือจากกายปัจจุบัน 

มันหมดเวลา...เวลามันหมดไปโดยเปล่า ไม่มีสาระ ...มีแต่ความยึด อยู่แต่ความยึดจิต ถือครองความรู้ความเห็น ที่คิดว่าเลิศ ที่คิดว่าดี ที่คิดว่าถูก ที่คิดว่าใช่ ...มันจะเอาไปทำไม

เพราะนั้นการที่เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียวนี่ ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่ง เพียรที่จะไม่ทำไปตามอำนาจของจิต อำนาจของความอยาก ที่จะออกไปค้นหาอะไรที่นอกเหนือไปจากปัจจุบันกาย หรือปัจจุบันธรรม

เพราะนั้นถ้ามันเหลือกายเดียวใจเดียวจริงๆ นี่ ...ความคิดหรือจิตนี่ ไม่มีอำนาจที่จะชักนำให้ออกนอกไปได้เลย ...เพราะอาการที่เรียกว่าจิตส่งออกนี่ มันจะเท่าทัน  

จิตที่จะส่งออกไปหา ไปค้นอะไร ไปรู้อะไรที่นอกเหนือจากกายปัจจุบัน นี่ มันเท่าทัน ...มันก็เกิดภาวะที่พลังของสติ พลังของสมาธิมันแน่วแน่

ปัญญาที่มันเห็นรอบ เห็นโดยรวม เห็นโดยตลอด มันทันจิตทุกดวง...มันก็ละ ...เมื่อมันทันแล้วไม่ต่อ มันก็ดับ มันก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอาการของจิต 

มันก็จะเริ่มคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นตามความคิดตามความเห็นที่เกิดด้วยจิต ...เพราะมันจะเริ่มเห็นจิตไม่เป็นสาระ มีแต่ความเกิดๆ ดับๆ วูบวาบไปมา

มันไม่มีความเป็นสัตว์เป็นบุคคล มันแค่สร้างรูปสัตว์สร้างรูปบุคคลขึ้นมาเท่านั้น ...แต่ความเป็นสัตว์จริง ความเป็นบุคคลจริงในรูปนั้น...มันไม่มี

แต่ถ้าไม่ตั้งมั่นแล้วก็ดูมันด้วยความเป็นกลาง มันก็ไม่เข้าใจสภาพจิตตามจริง ที่มันสร้างรูปสร้างนามขึ้นมา ทั้งรูปของเราเอง ทั้งรูปคนอื่น มันก็กลายเป็นมีชีวิตจิตใจขึ้น มีตัวมีตน มีเรามีเขาในความคิดนั้นๆ

มันก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดเวทนา เกิดอุปาทานต่างๆ นานา  อารมณ์ กิเลสมันก็ไหลออกมาเป็นพรวน ...เพราะความที่เข้าไปให้ค่าสัตว์บุคคลในรูปในความคิด 

เพราะนั้นรูปของสัตว์บุคคลในความคิดมันเป็นแค่รูป รูปของคน รูปของสัตว์ รูปของสถานที่ รูปของเหตุการณ์ ...เป็นแค่รูป มันไม่ได้เป็นอะไรที่มีสาระแก่นสารแต่ประการใด

เมื่อใดที่อยู่ที่กายเดียวจิตเดียวบ่อยๆ มันจะเห็นความเป็นจริงของจิตนี่ มันไม่มีความอะไรซับซ้อนหรอก ...บางคนว่าดูจิตแล้วมันจะรู้ละเอียด รู้ความซับซ้อนอะไร 

มันไม่มีอะไรซับซ้อนหรอก มันไม่มีสาระ ...จะไปหาอะไรซับซ้อน มันไม่มีอะไรซับซ้อนหรอก...พอเกิดแล้วไม่ต่อไม่ตาม มันก็ดับ ...ก็แค่นั้น สัตว์บุคคลก็ไม่ใช่ว่ามันมีชีวิตจริงๆ 

ที่มันไม่ยอมตายในความคิดนั้น ดูเหมือนมันไม่ตาย ความคิดมันไม่ตาย ดูเหมือนเรื่องราวมันไม่ตาย มันไม่จบในความคิด ยังคงค้างเติ่งค้างคา ...ก็เลยไปวุ่นวี่วุ่นวายกับมัน

จริงๆ น่ะถ้าถือหลัก ตั้งหลักอยู่ที่ศีล สมาธิ ด้วยสติรักษาศีล เจริญสมาธิภายในตั้งมั่นอยู่ ...อาการของจิตเหล่านั้น รูปนาม เหตุการณ์ในความคิดในความเห็น  มันก็ดับไปเอง ไม่มีอะไร

อย่าประมาทกายว่าเป็นของหยาบ ว่าเป็นของง่าย ...มันเป็นรากฐานของศีลของการปฏิบัติ ของขันธ์ ...ขันธ์ก็ตั้งอยู่ในกายนี้ ออกนอกกายมันก็ออกนอกขันธ์ ออกนอกขันธ์ห้า

มันออกนอกขันธ์ที่ปรากฏ ออกนอกภพปัจจุบัน ความเป็นจริงของปัจจุบัน ของความเป็นคน ของความเป็นมนุษย์ ...ที่สมมุติขึ้นมาว่าเป็นคนเป็นมนุษย์ ก็เป็นภพปัจจุบัน

อย่าไปประมาทศีลว่า เป็นของพื้นๆ ...ก็ของพื้นๆ นี่แหละสำคัญที่สุด ยืนเดินนั่งนอนพื้นๆ นี่แหละ เหยียด ไหว คู้ อะไรพวกนี้ อาการทางกาย กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมทางกายนี่

ดูมันไป มันเป็นที่รวมของขันธ์ห้า มันไม่มีอะไรเร็วไปกว่านี้หรอก ให้มันอยู่ในกาย สติให้วนเวียนอยู่ในกายไปเรื่อยๆ ...ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุง ...เดี๋ยวกายมันก็แตก 

มันจะแตกเป็นชิ้นเป็นอัน กระจัดกระจาย เป็นแค่จุดๆๆๆ ต่อกันไม่ติดแล้ว รูปทรงของกายก็ค่อยๆ สลายดับไป เพราะรูปสัญญาในนิมิตในกายมันก็ดับ 

เพราะจิตมันสร้างรูปกายไม่ได้ รูปในสัญญา รูปในอนาคตอะไรไม่มี ...มันก็คงปรากฏแค่ความรู้สึกประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วคราว ตรงนั้นทีตรงนี้ที ลอยอยู่ท่ามกลางความว่าง ...นั่นน่ะกาย อย่างนั้นน่ะ

ความเป็นสัตว์เป็นบุคคลมันก็หายไปเอง เพราะมันเห็นกายเป็นจริงอย่างนั้น ไม่ต้องถามว่าละสักกายยังไง พิจารณายังไง ...แค่มันเห็นกายไม่ใช่กาย อย่างที่เคยคิด อย่างที่เคยจำ มันก็หมดแล้วสักกาย

จริงๆ ก็ไม่สนใจว่ามันละสักกายหรือเปล่า แต่มันก็เห็นความจริงอย่างนั้น ...แล้วก็มีความรู้สึกภายในจิตตรงนั้นว่าไม่เป็นทุกข์กับกาย เหมือนที่เคยเป็น

จากนั้นมันก็มาเพียรเรียนรู้ที่เวทนาในกาย ที่มันปรากฏขึ้นคู่กัน กายกับเวทนาน่ะมันเป็นของคู่กัน สุขทุกข์ในกายที่เป็นเวทนา มันก็เรียนรู้ในรายละเอียดของกายไปจนถึงที่สุด

จนขาดกันไปโดยสิ้นเชิง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เป็นแค่ก้อนธาตุก้อนธรรมหนึ่งเท่านั้น เป็นสภาวะธาตุสภาวธรรมอันหนึ่ง 

รูปธาตุนามธาตุ ท่านก็เรียกว่านามธาตุ  รูปธาตุนามธาตุ ก็เป็นแค่ก้อนธาตุกองธรรม การรวมตัวกัน ซึ่งไม่ใช่ธุระของใคร อย่างนี้ นี่...แจ้งกายมันก็แจ้งหมดในธรรม

รู้ที่เดียวๆ สติมีอยู่ที่เดียว สมาธิก็ตั้งอยู่ที่เดียว ไม่ส่ายแส่ไปหาอะไร ก็ตั้งอยู่ในที่ตั้ง ที่ควรตั้ง คือปัจจุบันภายใน แค่นั้นน่ะ ไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปหา

ไม่ต้องไปควานหาความรู้กับขันธ์กองไหนๆ หรอก มันก็ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอด มันก็มาเอง อย่างที่เราเคยบอก เหมือนหน่อไม้ ไม่ต้องไปขุดไม่ต้องไปค้นหรอก

นั่งอยู่ที่เดียว...ที่กอนั้น  มันผุดมันโผล่อะไรขึ้นมาก็ดูมันไป  หน่อไม้มันผุดมาตรงไหนก็ผัดกินตรงนั้น ไม่ต้องไปเสียเวลาตามหาตามค้นอะไร

นั่นแหละจิตตั้งมั่นที่เป็นสัมมาสมาธิ มันอยู่ที่เดียว เป็นประธานนั่งแท่นอยู่ ใครจะร้องรำทำเพลงอะไรออกมา มันก็เฝ้ารู้เฝ้าเห็นด้วยความเป็นกลาง

ก็จะเห็นขันธ์แสดงความเป็นไตรลักษณ์ เป็นปกติวิสัย ...ไม่ได้แสดงความเป็นเรา ไม่ไปแสดงความเที่ยง ความคงอยู่  ไม่ได้แสดงความเป็นตัวตนที่ถาวรอะไร

เรียนรู้ไป จิตมันก็เก็บเกี่ยวปัญญาญาณทัสสนะไป กายใจก็เบาลงไปจากความยึดมั่นถือมั่น

เพราะนั้นในหนึ่งวัน ต้องตรวจสอบอยู่เสมอ ว่ามันลืมกายช่วงไหนเวลาไหน ตอนไหน ...ก็ต้องกำชับสติตรงนั้นตอนนั้นให้มาก จนมันเชื่อมต่อเป็นเส้นสายเดียวกัน การเห็นด้วยญาณทัสสนะมันก็แจ่มชัด

เพราะนั้นตัวเห็นตัวทัสสนะนี่มันอยู่ที่ใจเห็น คือใจนั่นแหละเป็นผู้เห็น ...เห็นแล้วไม่ต้องหาว่าใจอยู่ไหน แต่ว่าที่มันเห็นได้นั่นแหละคือตัวใจ มันเห็นด้วยใจที่ไม่มีความหมายใดๆ ในใจนั้น

มันก็เห็นด้วยความเป็นกลาง ในความเป็นวิสุทธิ บริสุทธิ์ เป็นความเห็นที่บริสุทธิ์ ไม่เลือกข้าง ไม่หมายไว้ก่อน ไม่มีตำรามาอ้างอิง ไม่มีคำพูดของใครคนใดมาบอกมาอ้าง ...ใจมันเห็น

เพราะนั้นใจที่เห็นน่ะ ก็ใจดวงเดียวกันหมดน่ะ  แล้วอาการที่มันเห็นก็จึงเห็นสิ่งเดียวกัน เหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ...ในเรื่องเดียวกันที่มันเห็นคือไตรลักษณ์ มันเห็นเป็นอันเดียวกัน

เมื่อใดที่มันเห็นบ่อยๆ อยู่กับอาการภายในนั้นบ่อยๆ มันก็จะเริ่มทิ้งตำรา เริ่มทิ้งบัญญัติ เริ่มทิ้งสมมุติ เริ่มทิ้งความเชื่อ ทิ้งกายตามสมมุติกายตามบัญญัติไปเรื่อยๆ

เริ่มเห็นบัญญัติสมมุติเป็นแค่ของกลวงๆ ที่หยิบยืมมาใช้สอยแค่นั้นเอง ไม่ได้มีคุณค่าสาระแต่ประการใด ...ซึ่งถ้าไม่เข้าใจมัน ก็กลับเป็นทุกข์ไปกับมันด้วยซ้ำ

นี่ คนเดี๋ยวนี้มันจะทะเลาะกัน จะฆ่ากัน แค่ธรรมบทเดียว เขียนเป็นประโยค หน้าหนึ่ง วรรคหนึ่ง ช่วงหนึ่ง ...แต่ตีความไม่เหมือนกัน ก็ผูกเจ็บผูกแค้นกันแค่คำเดียว

เพราะความเห็นไม่ตรงกัน ด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน...ซึ่งเป็นความเห็นที่เกิดจากการคิดและค้น หรือเชื่อด้วยจินตนาการ หรือจินตามยปัญญา ...มันยังมีโทษ

แล้วถ้ามันไม่ยอมวางความเชื่อ มันก็ผูกโกรธ ผูกแน่น เป็นปฏิฆะ เป็นเวรเป็นกรรม มาทะเลาะกันต่อไปอีก โดยเอาปริยัติน่ะ มาเป็นข้อต้นเหตุแห่งการสร้างความเห็น


แต่เมื่อใดที่มันมีปัญญา มันก็จะเข้าใจธรรมตามสภาพ ...ไม่ได้เข้าใจธรรมตามความเห็น หรือตามความคิด หรือตามปริยัติโดยตรง


(ต่อแทร็ก 8/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น