วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 8/31


พระอาจารย์
8/31 (550909B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 กันยายน 2555


พระอาจารย์ –  เริ่มต้นที่กายนี่แหละ จนท้ายที่สุดก็ไม่มีกายนั่นแหละ ...เมื่อมันไม่มีกาย หมดกายแล้วนั่นแหละ ...ก็จบ ขันธ์ห้าตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว

แต่ถ้ายังไม่เห็นกายตามจริงเลย ...อย่าฝันหวานนะ จะไม่เห็นความเป็นจริงของขันธ์ได้เลย ...ภาวนาอย่ามักง่าย  อย่าสนุกกับจิต อย่าเพลิดเพลินกับจิต อย่าหาผลประโยชน์กับจิต

จิต..ก็บอกแล้ว จิตสังขาร จิตปรุงแต่ง...อวิชชา ปัจจยา สังขารา...หมายความว่า อวิชชาคือความมืดบอด ความไม่รู้ คือความมืด ...เพราะนั้นเนื้อของจิตนี่คือมืด เพราะโคตรพ่อโคตรแม่มันมืด เข้าใจมั้ย

คือโคตรมันที่ออกมาเป็นจิตนี่ คืออวิชชา..ผู้ไม่รู้ แล้วมันปรุง ...เพราะนั้นตัวเนื้อของจิต ก็พ่อแม่มันดำ...ลูกมันก็ดำ ...มันก็มืด ออกมาด้วยความมืด ตัวมันก็มืด

แต่คราวนี้ เวลามันออกมานี่ มันมาตกแต่งสีสันเสียใหม่ เข้าใจไหม ปรุงแต่ง เติมต่อ คือแต่งเนื้อแต่งตัว ใส่เสื้อผ้าประดับเพชรพลอยกันเข้าไป ...นั่นแหละคือสภาวะจิต สภาวธรรม

มีสีสันขึ้นมาแล้ว มันมีสีสัน มีคุณค่า ดูเหมือนมีราคา ดูเหมือนมีมรรคมีผล ดูเหมือนมีคุณ ดูเหมือนเป็นที่น่าจับต้องถือครอง ...แต่ลืมไปว่าเนื้อธรรมน่ะดำ เพราะมันออกมาจากโคตรเหง้าดำ คือมืดบอด

นี่แหละคือจิต คือไม่มีสาระในตัวของมันเลย แต่สิ่งที่ละได้ยากที่สุดก็คือจิต สิ่งที่ติดข้องที่สุดน่ะไม่ใช่กิเลสนะ แต่คือจิต บอกให้เลย ...ถ้าเล่นกับจิต ถ้าหลงไปกับจิต จะเสียเวลาและเนิ่นช้า

เพราะนั้นถ้าผู้มีปัญญาจริงๆ จะไม่แตะต้องจิตเลย ทิ้งขว้างมันเลย ละอย่างเดียว ...ขึ้นชื่อว่าจิตสังขาร แค่ขยับไปคิด ขยับไปค้น ขยับไปหา ผู้มีปัญญามากละได้ทันทีเลย

ไม่เสียดายอาการคิดเลย ไม่เสียดายอาการขยับเลย...ว่าจะไม่ได้อะไร หรือได้อะไรในนั้น ว่าจะสูญเสียความได้อะไร หรือความมีอะไรในนั้น ...นี่ เขาเรียกว่าไม่เสียดาย ไม่อาวรณ์

หักกันตรงๆ เลย ละกันตรงๆ เลย ไม่อ้อมค้อมเลย ...แล้วมาจดจ้อง เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียว คือกายศีล ไม่ออกนอกศีล ไม่เปิดช่องให้ไหลไปตามกระแสจิต

ทำอยู่อย่างนี้ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันกับเขาหรอก..เห็นแต่กาย  ไม่เห็นอดีตไม่เห็นอนาคตหรอก..เห็นแต่กาย ...เห็นมั้ย มันถูกจำขังเลยน่ะ จิตมันถูกจำขังเลย จองจำไว้อยู่ในกายนี้เลย

แต่จองจำด้วยสติ จองจำด้วยสมาธิ นี่เรียกว่าถูกจองจำโดยมรรค ...คือการเจริญขึ้นอย่างนี้เรียกว่ามรรค จึงจะมีทางและหนทางเล็ดรอดออกจากขันธ์...ทางเดียว ทางเอก

ทางเอก...ไม่มีทางย่อย ไม่มีทางซอย ไม่มีทางลัด ...เพราะนี่มันลัดจนไม่รู้จะลัดยังไงแล้ว ตรงจนไม่ต้องไปหาน่ะ  ลืมตาขึ้นก็เห็นเลย...หมายความว่าจิตตื่นรู้ขึ้นก็เห็นเลยน่ะ

ไม่ต้องหาเลยใช่ไหม ...หรือมันต้องหากาย หือ มีตรงไหนไม่มีกาย มีเวลาไหนไม่มีกาย มีสถานที่ไหนไม่มีกาย...ไม่มีนะ ขนาดหลับยังมีกายเลย...แต่ไม่รู้เท่านั้นเอง 

เห็นมั้ย ไม่ต้องไปสร้างกายขึ้นมาใหม่ด้วย พอระลึกขึ้น ตื่นลืมตาขึ้น อ้อ อยู่ตรงนี้ ...ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ทำที่เดียวนั่นแหละ เจริญอยู่ที่เดียวอย่างนี้ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันหรอก

ไอ้ที่เห็นเดือนเห็นตะวันน่ะคือจิต ...ไม่ใช่เห็นไหนเลย ไม่ได้ไปเห็นฟ้า เห็นพรหม เห็นเทวดา เห็นมรรคเห็นผล เห็นสังขารธรรม เห็นสภาวธรรมที่คนอื่นเขาเห็นกันหรอก

เพราะเมื่อใดที่จิตมันออกไปเห็นอย่างนั้น ออกไปหาอย่างนั้นน่ะ ...คนที่เห็นและคนที่หาก็คือ “เรา”  มันจะเกิดพร้อมกันเลย  แล้วเรื่องที่เห็นเรื่องที่หาก็เป็นเรื่องของเรา

แล้วมันก็เก็บเอา “เรา” กลับเข้ามา กองไว้สุมไว้ ด้วยความภูมิใจ ...ไอ้ภูมิใจของมันน่ะคือมานะ  ถ้าภูมิใจมากก็คือมานะมาก ถ้าภูมิใจน้อยก็คือมานะน้อย ถ้าไม่ภูมิใจก็คือไม่มีมานะ

สุดท้ายนี่ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าไม่มีสูงกว่า ไม่มีต่ำกว่า ไม่มีเสมอกัน …อย่าไปคิดว่า..มันเป็นยังไงวะ ไอ้ไม่มีเสมอกันนี่ ...เออ ไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นอันเดียวกัน

และมันจะเป็นอันเดียวกัน...ต่อเมื่อมันทำลายกรอบรูปนามออก  ถ้ามันทำลายทรวดทรงของรูปนาม หรือทรวดทรงของขันธ์ห้าได้ ...มันจะเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่เสมอกันแล้ว

ถ้าเสมอกันคือหน้าตาเหมือนฝาแฝด แล้วก็ดูเหมือนเท่ากัน แต่มันยังมีทั้งคู่แหละ แต่ถ้าทำลายรูปของฝาแฝดนั้น มันไม่มีรูปของใครของคนแล้ว มันเป็นอันเดียวกัน

เพราะนั้นผู้ที่จะทำลายความเป็นอันเดียวกัน หรือความเสมอกัน นั่นก็คือพระอนาคาเพราะนั้นตัวพระอริยะที่เป็นอริยะจริงๆ นี่ คือพระอนาคานะ ...อย่างต่ำกว่านั้นเป็นอริยะเล็กๆ

แต่จริงๆ เราไม่อยากพูดเรื่องอริยะอริเยอะหรอก ...มีแต่จิตกับกาย..สองอย่าง  เมื่อใดที่มันเหลือกายกับจิตล้วนๆ นี่...เมื่อนั้นน่ะ ดีแล้ว สมควรแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว พอแล้ว

ไม่ต้องไปว่า...พอจิตมันแวบออกไปคิดว่า “นี่ กูเป็นอะไรวะ” ...แน่ะ หลงคิดอีกแล้ว  แค่ “โส..” แน่ะ ยังไม่ทัน “ดา” ...กูก็ทันมึงแล้ว ใช่มั้ย  มีแค่สระโอ ยังไม่ทันใส่ ส.เสือ ...อ๊ะ กูทันแล้ว

เห็นมั้ย “โสดา” ก็เป็นสมมุตินะ ถ้าไม่มีคำพูดว่า “โสดา” ก็ไม่มีโสดาใช่ไหม ...เพราะนั้นโสดาก็คืออะไร ก็คือภาษาใช่มั้ย ...วจีสังขารนะ วจีของจิตนะ...จริงเหรอ ...ไม่รู้

แต่ไม่เอา ...ไม่เอาโสดา ไม่เอาโสดาขวด ไม่เอาโสดาภาษา ไม่เอาอะไรเลย ...มันเป็นบัญญัติ มันเป็นสมมุติแค่นั้นเอง โสดาไม่มี ...ถ้ามีก็เป็นสมมุติ

ถ้ายิ่งกว่าโสดาก็ยิ่งติดสมมุติหนักขึ้นไปอีก เป็นอนาคาเอาเลย...ไม่เอา ... “อ..”..ยังไม่ทัน “คา” เลย ...หายคาแล้ว ออกจากคา ออกจากข้องแล้ว ไม่บัญญัติแล้ว

ตอนเราฝึก...เราฝึกสติในกายนี่ เราฝึกดวงจิตผู้รู้อยู่กับกาย เราต้องมารู้อยู่กับกาย ดวงจิตผู้รู้ก็ให้มารู้อยู่กับกาย รู้กับอิริยาบถในกาย ทั้งอิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อย

นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ก็รู้ว่านั่งนี่ แล้วก็ขึ้นหัวลงตีน ขึ้นตีนลงหัว  เอาสติมาไล่อยู่ในกายนี่ ไล่ดูความรู้สึกในกาย ...คือถ้าไม่ไล่ดูนี่ มันหลง  เดี๋ยวมันก็อยู่ดีๆ มันก็หายไปดื้อๆ ซะอย่างนั้นน่ะ

โน่น โมหะมันบึ้นไปโน่น ตอนแรกก็รู้ว่านั่งอยู่ รู้ไปนั่งมา อ้าว หายไปไหนวะ ก็เลยเอาสติมาวนอยู่ในกาย ดูแขนดูขา ดูความรู้สึกหน้าตาหลังไหล่ ดูความรู้สึกตึงหนักตรงไหน

วนๆๆ อนุโลม-ปฏิโลม ขึ้นบนลงล่าง ขึ้นล่างลงบน ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ให้จิตมันมาทำงานอยู่นี่ แทนที่มันจะออกไปนอกงานนี้ ...คือถ้าปล่อยนี่ มันก็ออกไปคิด ไปสร้างกายใหม่ แล้วก็คิดไป

ทั้งความน่าจะเป็น วิธีการปฏิบัติ อะไรก็ตาม ...ส่วนมากนักปฏิบัติก็จะคิดแต่วิธีการปฏิบัติที่จะลัดและตรง หรือชัดเจนขึ้นกว่านี้ ...ไม่เอาน่ะ พอมันจะออกก็ไม่เอา กลับมาทำงาน เดินสติในกาย

แรกๆ ที่ทำอย่างนั้นนี่ น้ำหูน้ำตานี่ไหลเลย  มันคับ มันข้อง มันเครียด ...เพราะมันอยากไป แต่กูไม่ไป น้ำตานี่มันไหลเล็ดเลยน่ะ เพราะจิตมันอยากไป อยากคิดต่อ อยากหาวิธีการใหม่ๆ ดูเป็นมรรคเป็นผลมากกว่านี้

แต่กูไม่ไป กูเชื่อหลวงปู่ว่ารู้อยู่ในปัจจุบัน ...เพราะนี่เป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว กูไม่เห็นอะไรเป็นปัจจุบันมากกว่ากายนี้ที่กำลังผุดลุกผุดนั่งนี่ ...เนี่ย มันเผาตัวมันเองน่ะ เหมือนเผาตัวเองเลยนะ

เพราะมันอยากไป...กูไม่ไป มันจะเอานั่น มันจะเอานี่ "โหยเราทำเก่งจะตาย เราปฏิบัติเก่งจะตาย จะเอาอะไรล่ะ จะเอาความสงบระดับไหนล่ะ...นี่ ก็ไม่ไป ให้มันวนอยู่ในนี้

ทนไปสักพักนึง มันเริ่มหายกำเริบ ...จากจิตที่มันกำเริบเสิบสาน  มันจะค่อยๆ หมดกำลังกำเริบเสิบสาน มันเริ่มอ่อนตัว ...เห็นอีกรอบๆๆ เห็นอาการของจิตนี่ มันอยู่ในภาวะสงบราบคาบ ไม่ทะเยอทะยาน

พอไม่ทะเยอทะยานปุ๊บนี่ มันก็จดจ่อในกาย ...เนี่ย ชัด ใส มันใส ...ไม่ใช่กายใสนะ มันใสตรงกบาลนี่ ใสตรงเหนือกบาลนี่ มันใส มันชัด ...กายก็ชัด รู้ก็ชัด ชัดขึ้นกว่าเดิม

แปลว่าอะไร แปลว่าจิตมันเป็นหนึ่งมากขึ้น มันเลยชัด ...คืออยากชัดมาแทบตาย มันไม่เห็นชัดสักที พอมาอยู่อย่างนี้มันเสือกชัดว่ะ พอจิตหยุดแล้วมันชัด

พอชัดขึ้น...คราวนี้เริ่มเห็นมือเห็นตีนแล้ว เข้าใจว่ามือคืออะไร ตีนคืออะไรแล้ว ว่า อ๋อ กายคืออะไร ...มันเข้าใจของมันเองนะ ไม่ได้ไปเปิดตำราเลยนะ

ไม่ได้ทาบตำรา คอยมานั่งทาบตำรา ว่าเหมือนตำราไหม ...แต่มันเห็นอย่างเนี้ย แล้วมันก็เชื่อของมันว่ากายจริงๆ คืออย่างนี้ ไอ้นอกนั้นไม่จริงเลยน่ะ

ไอ้กายที่จิตมันจะไปสร้าง ไปหา ไปทำ  แล้วให้กายนั้นเป็นมาตรฐานหรือเป็นรูปแบบ หรือเป็นโมเดลของกาย แล้วจะเอากายนี้เป็นลูกกระจ๊อกให้ไปสวมโมเดลนั้น

เห็นมั้ย ภพนี่คือโมเดลนะ มันสร้างโมเดลไว้ ...กว่าจะเรียนจบปริญญานี่ มันสร้างโมเดลไว้แทบตายน่ะ แล้วก็ลากกายนี่แบกหนังสือขึ้นรถลงเรือไปจมปลักตามภูมิภาพอยู่นั่น

แล้วก็ต้องจำไอ้ภูมิภาพนั่นเพื่อให้ได้ตามโมเดลนั้น ...เห็นมั้ยภพสำเร็จ ชาติบังเกิด ก็ได้เป็นอย่างนั้น

แต่พอมาอยู่อย่างนี้ ไม่ให้จิตมันสร้างโมเดลน่ะ มีโมเดลเดียว ...อยากสร้าง..สร้างไปกายเราๆ ...ดูมันเข้าไปอยู่ในกายเราตรงนี้ เอากายเรากับกายนี้ให้มันเป็นอันเดียวกัน ดูซิมันจะอยู่ได้มั้ยไอ้กายเราน่ะ

ไปๆ มาๆ ไอ้กายเราตรงนี้มันอยู่ไม่ได้...มันอยู่ได้กายเดียวจริงๆ น่ะ มันเหลือกายเดียวจริงๆ น่ะ ...มันก็เริ่ม...เข้าใจแล้วเว้ยเฮ้ย กูปฏิบัติมาตั้งหลายปีดีดัก ยังไม่เข้าใจกายเลย

พอเข้าใจกายอย่างนี้แล้วนี่ มันเข้าใจง่ายขึ้นว่ะ ไม่เห็นมันยากเลย ...มันเริ่มเห็นแล้ว การปฏิบัติไม่เห็นยากเลยว่ะ  ทำไมแต่ก่อนมันยากฉิบหายเลย

อดนอนแทบตาย อดข้าวแทบตายจนกระเพาะทะลุ ยังไม่ได้ใกล้เคียงมรรคผลและนิพพานแต่ประการใดเลย ...ได้แต่มรรคดิบๆ กับนิพพานสุกๆ ดิบๆ

ถ้ากินข้าวก็แบบว่าข้าวสามกษัตริย์ ล่างไหม้ กลางพอดี ข้างบนดิบ อย่างนี้สามกษัตริย์ มันไม่พอดี เพราะไม่พอดี หุงไม่เป็น ไม่สมดุล ศีลสมาธิปัญญา...ไม่เป็น ไม่สัมมา ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันก็เลยเป็นสามกษัตริย์

แล้วมันก็คดกินแต่ข้าวกลางหม้อ ทำเป็นมองไม่เห็นข้าวไหม้ ทำเป็นไม่เห็นข้าวดิบ...ว่าดีแล้ว เราดีแล้ว เออ ดีเข้าไปเราน่ะ ดีเข้าไป เอาเราดีกันเข้าไป นั่นน่ะคือมันกินข้าวกลางหม้อ

มันแกล้งทำเป็นไม่เห็นข้าวไหม้ ...คือ “เรา” ยังมีอยู่ทุกขั้นตอน คุยกันก็ว่า “ทำไมเราไม่ค่อยก้าวหน้าเลยวะ” เออ เหรอ “เธอทำไมก้าวหน้าจัง” เหรอ "เออ ชั้นก็ก้าวหน้ากว่าเธอสิ" ...เนี่ย อย่าภาวนาดีกว่า  

ถ้าภาวนาเอา “เรา” ก้าวหน้า...อย่าไปสร้าง “เราที่ดีกว่านี้” ขึ้นมาอีก..ดีกว่ามั้ย ...ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วไม่มี “เรา” น่าจะประเสริฐกว่ารึเปล่า  ถ้าอยู่ว่านั่งแล้วรู้ว่านั่งนี่ มันไม่มี “เรา” ตรงนี้ น่าจะประเสริฐกว่ามั้ง

กับการที่เราไปปฏิบัติแล้วให้ “เรา” ได้อะไร หรือให้เราไปเหมือนใครนี่  ให้เราเหมือนอาจารย์ ให้เราทำได้เหมือนอาจารย์...อย่าภาวนาซะดีกว่า ...เพราะมันเอา “เรา” ภาวนา

มันไม่เอากายภาวนา มันไม่ภาวนาที่กาย มันยังภาวนาไม่ถึงกาย มันยังภาวนาไม่ถึงใจเลย ...มันเอา “เรา” นี่เป็นตัวภาวนา แล้วก็คอยมาถามว่า “เราก้าวหน้ารึยัง ผมก้าวหน้ารึยัง หนูก้าวหน้ารึยัง”

จะไปไหนกันล่ะ ...กลับมาก่อน กลับมาอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่..ได้ยินไหมว่าฝนมันแซ่ๆ ซ่าๆ นี่  รู้สึกไหมว่าหนักที่ตูดที่ก้น หลังมันแข็ง ข้อเข่ามันตึง กายมันกำลังแสดงอะไร

ถ้ารู้อย่างนี้ มรรคผลยังใกล้กว่านะ ยังใกล้มรรคใกล้ผลหน่อยนะ ...ถ้าจะมาถามว่า "เราจะภาวนายังไงดี" ...อย่าถาม อย่าเอา “เรา” มาพูด อย่าเอา “เรา” มาอวด

แล้วไอ้พวกที่ภาวนาเป็น “เราภาวนา” แล้ว "เราภาวนาได้อะไร" นี่ ...มันมักจะขี้อวด โอ้อวด  มันมี “เรา” มันก็มีขี้  มันก็เลยเอาขี้มาอวด เข้าใจรึเปล่า

เพราะนั้น พวกนักภาวนาที่เป็น “เรา” นี่ มันเลยขี้อวด ...เพราะ “เรา” น่ะขี้ไว้ แล้วมันได้ขี้นั้น มันขี้เสร็จแล้ว มันก็เอาขี้มาอวดกัน ไอ้คนฟังก็ "เรา" ฟัง ก็เอาขี้เขามาเก็บ ต่างคนต่างระบายขี้ใส่กัน 

แล้วก็โอ้ย ยกย่องสรรเสริญ จัดการเก็บขี้กันใหญ่ เอามาทากันแล้วเก็บขี้ตามกัน ...เขาถึงบอก เห็นช้างขี้ก็ขี้ตามช้าง เห็นเขาขี้ก็จะไปขี้ตามเขา คือเอาเราภาวนาให้เหมือนเขา

เออ เหมือนกันเข้าไป แล้วก็เอาขี้มาอวดกัน โดยเป็นนักภาวนาขี้อวดขี้โม้ ไอ้ที่เอาขี้แล้วสมมุติว่าขี้นั้นเป็นธรรม ที่เห็นที่ได้ ที่มีที่เป็น ใครขี้กองใหญ่ก็ว่าเก่ง (หัวเราะ)

เห็นมั้ย เมื่อใดที่มี “เรา” น่ะ มันจะเก็บทุกเรื่องเป็นของส่วนตัวเลย ทุกสภาวะที่เกิด ...แล้วมันเห็นอะไร มันก็ว่าเป็นเราเห็น และการเห็นนั่นน่ะเป็นของเรา

มันหลับตาข้างกับหรี่ตาข้างน่ะ ...บอกให้เลย มันยังไม่ตรง ยังเห็นธรรมไม่ตรงเลย


(ต่อแทร็ก 8/32)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น