วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/36 (3)


พระอาจารย์
8/36 (add550617)
17 มิถุนายน 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/36  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  นี่ต่างหาก ที่ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เกิดปัญญา...ให้ปัญญามันเห็นความจริงอันนี้ ในขันธ์อันนี้ ว่ามันเป็นธรรมอย่างไร ว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างไร 

และเห็นว่าความเป็นจริงของมันคืออะไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะเกิดผลสูงสุด ...เห็นมั้ย พระพุทธเจ้าพูดตั้งแต่ผลเบื้องต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด

เบื้องต้นคืออะไร เอามันไปทำบุญซะ แล้วจะได้บุญ เห็นมั้ย การเข้าไปจัดการโดยเอากายไปใช้ยังไง ถ้าเอามันมาเจริญสติศีลสมาธิปัญญา ขั้นละเอียดขั้นประณีต ก็จะได้บุญสูงขึ้น

ท่านบอกไว้หมดประโยชน์ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด เอ้า ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เอาไปทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข่มเหงรังแกผู้อื่น ก็จะได้ทุกข์ได้โศก เลือกเอา ท่านให้เลือกเอา

มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะเลือกทำบาป ใช่มั้ย พอฉลาดขึ้นหน่อยมันก็เลือกทำบุญ ถ้าฉลาดที่สุดล่ะก็เอามันมาปฏิบัติธรรมเลย ...พอเอามันมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังมาเป็นขอทานอีก

ก็เอามาปฏิบัติธรรมเป็นผู้ปฏิบัติที่แท้จริง ฉลาดซ้อนฉลาดนี่ คือเข้าห้องปฏิบัติการรู้และเห็น สังเกตดู ไม่ทำ ไม่ดัดแปลง ไม่แก้ไข ไม่หนี ไม่เปลี่ยน ไม่ทำให้มันผิดไปจากสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ

มันจึงเกิดปัญญา คือเห็นสภาวะที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่เห็นสภาวะที่ต้องการเห็น ไม่ใช่ไปเห็นสภาวะที่ทำให้เห็น ...แต่ปัญญาญาณคือมันเห็นตามสภาวะที่แท้จริง

ต้องเข้าใจนะ ปัญญาที่นักภาวนาทั่วไปมันต้องการให้เห็น มันก็ทำเพื่อให้เห็น มันต้องการให้รู้มันก็ทำเพื่อให้รู้ แล้วก็เข้าใจว่าปัญญา ...เห็นมั้ย ปัญญายังมีโมหะ ปัญญายังมีมิจฉาปัญญาเลย

แต่ปัญญาญาณที่แท้จริงนี่ คือเห็นเท่าที่มันแสดง เท่าที่มันปรากฏตามจริง เนี่ยคือปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ชัดเจน

และผลของการที่ปัญญาเข้าไปเห็นด้วยความถ่องแท้และชัดเจนคือปล่อย วาง จาง คลาย ไม่เข้าไปหมายมั่น หรือหมายน้อยลง หรือเข้าไปให้ค่าให้ราคากับมันน้อยลง นี่คือผลของปัญญาที่แท้จริง

ไม่เข้าไปถือครองอะไร ไม่เข้าไปครอบครองอะไร ...ไอ้ที่ครอบครองไว้ก็มีแต่จะปล่อยให้น้อยลง ไอ้ที่มันยึดไว้ ถือไว้แนบแน่น ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง

นี่คือปัญญา ผลจากการรู้จริง รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริง รู้เท่าที่ปรากฏ ด้วยความชัดเจนและถ่องแท้ ว่าไม่เข้าไปกระทำอะไรกับมันเลยด้วยเจตนาใดเจตนาหนึ่ง

สติล้วนๆ กับธรรมล้วนที่ปรากฏด้วยศีลคือความปกติ ปรากฏยังไงก็อย่างงั้น นี่เรียกว่าปกติ เรียกว่าศีล สติก็เข้าไปรับรู้ความเป็นปกติกายปกติศีล ปกติธรรม

ล้อมรอบกายขันธ์นี่ ก็เรียกว่าธรรมภายนอก มันปรากฏอย่างไร เสียงอย่างไร รูปอย่างไร จิตอย่างไร ก็รับรู้ด้วยความเป็นปกติ นี่เขาเรียกว่าอยู่ในองค์ศีล

สติมันอยู่ในศีล มันก็จะเห็นชัดเจน ในการดำรง ปรากฏขึ้น ของสภาวะธาตุ สภาวธรรม สภาวะขันธ์ ว่ามันเป็นสภาวะจริงอย่างไร

ในขณะที่มันเห็นสภาวะพวกนี้ มันก็จะเห็นสภาวะหนึ่งที่แทรกซ้อนขึ้นมา ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่จริง ที่เกิดขึ้นจากจิตมันสร้างขึ้นมาต่างๆ นานา ...มันก็จะละไอ้สภาวะที่ไม่จริงออกไป ยังคงไว้แต่สภาวะจริง

เพราะนั้นแรกๆ น่ะ มันยังยอมรับสภาวะจริงนี้ไม่ค่อยได้หรอก ต้องอดทนก่อน ร้อนก็ร้อน หนาวก็หนาว เมื่อยก็เมื่อย ได้ยินได้ฟังเสียงไม่ดี

มันรับไม่ได้หรอก แรกๆ น่ะ อดทนเอา เรียนรู้กับมันไปก่อน จนมันเข้าใจว่า ความเป็นจริงของเสียง ของร้อน อ่อน แข็งนี่คืออะไร

ความเป็นกลาง ความยอมรับ ในสภาวะธาตุ สภาวธรรม สภาวะขันธ์นั้น ก็จะเกิดภาวะที่ยอมรับได้มากขึ้น เป็นกลางมากขึ้น ปกติมากขึ้น ธรรมดามากขึ้น

มีเงื่อนไข มีปัญหากับมันน้อยลง ความคิดความปรุง จิตที่เข้าไปคิด หาเหตุหาผลก็น้อยลง จิตที่โต้ที่แย้ง ที่อ้างนั้นอ้างนี้ก็น้อยลง การอยู่กับมัน การมีชีวิตร่วมอยู่กับมันก็ง่ายขึ้น

ไม่ทุรนทุราย ไม่ค่อยกระสับกระส่าย ไม่ค่อยอึดอัดคับข้อง ไม่ค่อยรู้สึกว่าอะไรเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ ...จนถึงเรียกว่าหมดสิ้นจากทุกข์ในโลก ที่จิตไม่รู้สร้างขึ้นมา

เช่นเวลาเราปวดนี่ เมื่อยนี่ หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปวดความเมื่อย คือทุกข์อันหนึ่งตามความเป็นจริง ...แต่มันไม่มีแค่ทุกข์อันหนึ่งตามความจริง มันยังมีทุกข์อันที่สองตามความไม่จริงทับถมขึ้นมาอีก

เห็นมั้ยว่ามันรับทุกข์สองทุกข์นะ ทุกข์หนึ่งตามจริง อีกทุกข์หนึ่งมันสร้างขึ้นมาเอง จิตที่ไม่รู้สร้างขึ้นมา “ทำไมมันถึงปวด ทำไมมันไม่หายปวดสักที” นี่ เป็นทุกข์แล้วนะ

ปวดยังเท่าเก่า แต่ขึ้นๆ ลงๆ ...แล้วไอ้ปวดเมื่อคิดมันมาทับถม ไอ้ตัวทุกข์ตัวนี้มันจะทับถมทุกข์ตามความเป็นจริง จนไม่เข้าใจ แยกไม่ออก จนเกิดภาวะที่จะเข้าไปแก้ ทำลาย แก้ทุกข์

พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า อย่าไปแก้ทุกข์ ...ให้รู้ ให้รู้กับทุกข์ ให้รู้กับเสียง ให้รู้กับกลิ่น ให้รู้กับรส ...แรกๆ มันก็ยังเป็นทุกข์กับเสียงอยู่นะ ก็ให้รู้ไว้

มันยังแยกไม่ออก อันไหนเป็นทุกข์ธรรมชาติ อันไหนเป็นทุกข์อุปาทาน ...เดี๋ยวปัญญาที่มันอดทนอดกลั้น หยั่งลงรับรู้มันด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรม

มันจะเกิดภาวะที่เข้าไปจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ จำแนกกาย จำแนกใจ จำแนกจิต จำแนกธรรม จำแนกผัสสะ จำแนกอารมณ์ จำแนกกิเลส จำแนกความเห็น จำแนกความอยาก จนเป็นส่วนๆๆ 

ขันธ์น่ะ ต่อกันไม่ติดแล้ว ...มันเลยเข้าไปเห็นขันธ์ห้านี่ ขาดๆ เว้าๆ แหว่งๆ ร่องแร่ง มันเชื่อมไม่ต่อเป็นตัวเป็นตน

นั่นแหละปัญญามันเข้าไปจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ออก เป็นส่วนๆ ไปเลย จนหาความเป็นตัวตนไม่ได้ จนแยกออกชัดเจนระหว่างอันไหนทุกขสัจ อันไหนทุกขอุปาทาน

อันไหนทุกข์ตามความเป็นจริง อันไหนทุกข์เกิดจากความไม่รู้ แล้วมันรังสรรค์ขึ้นมาด้วยความซับซ้อนของจิต มันก็เห็นหมดทุกกระบวนการแล้วก็จำแนกออก

อันไหนไม่จริง ก็ไม่ไปสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ไปแตะต้องข้องแวะ ...ก็จะเห็นว่าเมื่อใดที่ไม่เข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมข้องแวะกับสภาวะที่ไม่จริง สภาวะนั้นจะดำรงอยู่ไม่นาน มีความเสื่อมไปสลายไปเอง

แต่สภาวะทุกขสัจตามความเป็นจริง ทุกข์ธรรมชาตินี้ ขึ้นกับเหตุและปัจจัย ...ตราบใดที่เรายังไม่ปิดพัดลม ลมมันก็ยังไม่หยุด มันขึ้นกับเหตุ มันเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย

ตราบใดที่ปิดพัดลม ไม่ต้องไปคิดถึงลม เพราะมันจะมาต่อเมื่อเราไปเปิดพัดลม เนี่ย อย่างเนี้ย ก็จะเข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ได้ขึ้นกับความอยาก-ไม่อยากของเรา

แต่จะเห็นเลยว่าไอ้ทุกขอุปาทานนี่ มันขึ้นลงตามความอยากและไม่อยาก ...ก็ถ้าละความอยากและไม่อยากออกไปซะ ไอ้ขึ้นๆ ลงๆ ของทุกข์นี้ก็ไม่มี

นี่ มันเรียนรู้อย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้ มันแก้กันอย่างนี้ ...แต่ลมพัด-ลมไม่พัดนี่ปล่อยมัน เป็นเรื่องของอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของกู เป็นเรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของใคร

อย่างนี้ เป็นสภาวะที่นอกเหนือการควบคุม เป็นสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ จัดการไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ...ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ ยิ่งแก้ยิ่งมีทุกขอุปาทาน ยิ่งแก้ยิ่งมีอุปาทาน ยิ่งแก้ยิ่งมีเป้าหมาย

ยิ่งแก้ยิ่งคาดยิ่งหมาย ยิ่งคาดยิ่งหวังยิ่งปรุงยิ่งแต่ง...ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ยิ่งทำ...เพราะมันจะได้ผลไม่เหมือนกัน มันเลยกลายเป็นเบี้ยหัวแตก เหมือนกับสางปมด้าย สางไม่ออก ยุ่งไปหมด

เวลามันยุ่งไปหมด มันแก้ไม่ออก มันทำยังไงรู้มั้ย ...มันก็ทิ้ง แต่มันทิ้งด้วยอารมณ์นะ ไม่เอาแระ ยุ่งฉิบหาย ...นั่น มันมันจะทิ้งอย่างนั้น ไม่ได้ทิ้งด้วยปัญญานะนั่นน่ะ

ใจเย็นๆ ดูไป ทีละนิดทีละหน่อย สางไป ได้คืบเอาคืบ ได้ศอกเอาศอก มันก็จะคลี่คลายปม ...ถ้าเผลอ มันขยำใหม่ เดี๋ยวเป็นปมอีก  ถ้าไม่ระวัง ไม่เดินในองค์มรรค เดี๋ยวมันก็ทำเป็นปม

แต่ถ้าตั้งอยู่ในองค์มรรค ยืนเดินนั่งนอนรู้อยู่ มันค่อยๆ คลี่คลายออก ได้คืบหนึ่ง ได้ศอกหนึ่ง ได้เป็นหลายวาหลายเมตร ...ไอ้กลุ่มด้ายที่มันขยำ มันก็ไม่เป็นปม ด้ายก็เป็นเส้นตรงขึ้น

จากนี้ก็เพียรระวังเท่าทัน คือไม่เข้าไปขยำให้มันเป็นกลุ่มเป็นก้อนสานกันให้วุ่นวี่วุ่นวาย ...เนี่ยคือภพชาติ พอด้ายมันคลี่ออกจากปมเป็นเส้นตรงนี่ก็สบายแล้ว 

มันก็เห็นเส้นทาง หัว กลาง ท้าย สั้นหรือยาว ...ก็เดินไปตามเส้นทางนั้น ตามความเป็นจริงที่เห็น

การปฏิบัติมันง่าย...ถ้าไม่คิด  มันยากเพราะคิด ...ถ้าเราไม่คิดเลย นั่งก็นั่งเฉยๆ แล้วก็รู้เฉยๆ ตอนนั่ง ไม่คิดอะไรเลย ไม่เห็นยากเลย 

เพราะมันจะไม่มีอดีต เพราะมันจะไม่มีอนาคต เพราะมันไม่มีผลที่คาดว่าจะได้ ไม่มีผลที่คาดว่าจะไม่ได้ ...เห็นมั้ย ไม่เห็นยุ่งเลย

แต่เมื่อใดน่ะที่ไม่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่รู้อยู่เฉยๆ “จะไปนั่งที่ไหน ไอ้รู้อย่างนี้วิธีนี้รู้ไม่จริง ทำขึ้นมา หรือว่าจำอาจารย์มาแล้วก็นึกว่ารู้” ...เอาแล้วโว้ย หาเรื่อง มันหาเรื่องแล้ว จิตนี่

นี่เริ่มจ้างไกด์เมามานำทางแล้ว ...จริงๆ ไม่ได้จ้าง มันเริ่มเสนอตัวขึ้นมา  แล้วกูโง่ไง หาใครไม่ได้แล้ว ห่างไกลครูบาอาจารย์ กูก็จ้างคนเมาน่ะเป็นผู้นำไป ...มันจะเป็นอย่างเนี้ย

แล้วก็พาไปตก...จะขึ้นหิมาลัยก็พาไปตกใต้ตีนหิมาลัย เอาแล้ว คลานขึ้นมาด๊อกแด๊กๆๆ “จารย์ๆๆ” ...เอ้า บอกแล้วว่าให้รู้เฉยๆ  ก็กลับไปใหม่ ก็ไปเดินตามผู้รู้ไป

ก็อย่างเนี้ย มันต้องอย่างเนี้ย ไม่มีทางอื่นหรอก ...แต่สักพักหนึ่งถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่ชัดเจน แล้วก็ไม่สม่ำเสมอ มันก็จะเคลื่อนคล้อยออกไป เรียกว่าจิตมันเคลื่อน

เพราะธรรมชาติของจิตไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีอยู่แล้ว มันต้องคิดอยู่แล้ว มันต้องมีความคิด มันต้องมีอารมณ์อยู่แล้ว เป็นธรรมดา

แต่ว่าจิตที่ไม่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ เป็นรากเป็นฐานอยู่ มันจะกระโดดไป ...พอกระโดดไป มันจะสร้างความเป็นเรากับอาการของจิต คือเป็นผู้ตามที่ดีไง คือเรา แล้วก็เป็นเบ๊ของมัน

เจ้านายใหญ่นายโตของมันก็สั่งว่า เฮ้ย เดินไปหยิบไอ้นั่น เฮ้ย ไปทำอย่างนั้น ไปทำอย่างนี้ ...“เรา” ก็จะกลายเป็นเบ๊ของไกด์เลย เป็นข้าทาสบริวาร ไอ้มันก็เมาไปเมามา กูจะไปไหนก็ไป

กูบอกว่าที่นั่นดี กูบอกว่าให้เปลี่ยน กูไปที่อื่นนะ กูก็ไปทำอย่างอื่น กูบอกว่าวิธีการนี้ใช่แล้ว ทำไปทำมากูบอกว่าไม่ใช่อีกแล้ว กูจะเปลี่ยน ...“เรา” ก็ทำตามมัน แน่ะ เป็นข้าทาสบริวารของขี้เมา

เมามากี่ภพกี่ชาติแล้ว ให้มันนำทางมาเท่าไหร่แล้ว ตั้งตัวเองเป็นศาสดาหัวแหลม ...ทั้งที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร...มันก็จะแหก...แหกกฎอยู่นั่น

ก็บอกว่ารู้ก็คือรู้ ก็บอกว่าสติก็สติ ก็บอกว่าศีลคือปกติ ก็คือปกติกาย ศีลก็คือปกติกาย ก็บอกว่าให้รักษาศีล...ก็ไม่รักษา ก็บอกว่าอย่าค้นอย่าหา เพราะมันเป็นตัณหา...ก็ยังหา ก็ยังค้น

บอกว่าอย่าสงสัย มันก็ยังสงสัยอยู่นั่นน่ะ ก็บอกว่าสงสัยมันไม่ได้มรรคได้ผลเพราะสงสัยหรอก ก็จะสงสัย ...ทำไม เป็นขี้เมาอ่ะ เห็นมั้ย เห็นมันเมามั้ย มันไม่ฟังน่ะ มันไม่ฟังอะไรเลย

บอกว่า นั่งรู้ว่านั่ง แล้วก็ดูว่าใครนั่ง มันก็ยังบอกว่า "เรา" นั่ง ...หน้าด้านอย่างนั้นน่ะ เห็นมั้ย มันดื้อด้านขนาดนั้นน่ะ ก็เห็นอยู่คาตาว่ามันนั่งกับรู้ ใช่มั้ย เป็นแค่นั่งกับรู้

เดี๋ยวมันก็สอดขึ้นมา “มีแค่นั่งกับรู้ แล้วใครนั่งอยู่ล่ะ...ก็เราสิ” ...แน่ะ มาอีกแล้วขี้เมา โพล่งขึ้นมาอีกแล้ว

กว่าที่จะให้มันสร่างเมาน่ะ รากเลือด ...ต้องอบรมกัน ต้องเท่าทันกัน ต้องแข็งแกร่ง ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับอาการไหนของจิตผู้ไม่รู้ ...พากเพียร ดำเนินไป

เอ้า พอแล้ว เดี๋ยวมันเข้าฌานกัน จะเข้าฌานแล้ว (หัวเราะกัน) ...เอาแล้ว ไป


..................................




วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/36 (2)


พระอาจารย์
8/36 (add550617)
17 มิถุนายน 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/36  ช่วง 1
http://ngankhamsorn8.blogspot.com/2017/04/836-1.html )

พระอาจารย์ –  แต่พอมารู้อยู่กับปัจจุบัน แล้วจำเพาะเหลือแค่กายกับใจปัจจุบัน มันจะเริ่มเห็นกายนี่ไม่มีสาระ ไม่เป็นอะไรที่เป็นสาระแก่นสาร เป็นอะไรลอยๆ ไป ลอยๆ มา เป็นอะไรไหลๆ ไป ไหลๆ มา

จับต้องไม่ได้ ครอบครองก็ไม่ได้ เหมือนอากาศธาตุ อะไรอย่างนั้น คล้ายๆ อย่างนั้น มันก็เห็น ...เออ แล้วเราจะไปถืออะไรมันได้ จะไปบังคับ จะไปเลือก...ก็ไม่ได้

นี่ ลมเย็นนี่ จะพอใจ-ไม่พอใจ มันก็เย็น  จะพอใจ-ไม่พอใจ มันก็ดับ  มันเลือกไม่ได้ จะเอาไว้หน่วงไว้ยังไง ในปัจจุบัน...เรียนรู้กับปัจจุบันของผัสสะที่กระทบกายนี่

ก็จะเห็นกายนี่มันเกิดแค่ปัจจุบันแล้วก็ดับ ในภาวะที่เขาเป็นไปเองของเขา เป็นอิสระของเขา  เราไม่มีสิทธิ์...มันจะเห็นเลยว่า “เรา” ไม่มีอำนาจแต่ประการใดเลย

มันเป็นอะไรลอยๆ ที่เข้ามาครอบงำ แบบไม่มีเหตุไม่มีผล ...จิตน่ะมันเข้าไปสร้างความเป็นเรา แล้วก็ถือเอาครองเอาด้วยความไม่มีเหตุไม่มีผลน่ะ

ก็ว่าของเราๆ ...ถามว่ามันเพราะเหตุผลอะไรถึงว่าของเรา...ไม่รู้ ก็กูจะเชื่อว่าเป็นของเรา เห็นมั้ย มันหาเหตุผลไม่ได้หรอก เราน่ะจิตน่ะ เขาเรียกว่ามันโง่ แล้วก็บ้า แล้วก็เมา

ไปเจอคนเมานอนอยู่กลางถนน ถามดู ทำไมคุณถึงมานอนตรงนี้ คุณรู้มั้ยว่ามันไม่ถูก ...มันคงให้เหตุผลได้น่าฟังหรอกมั้ง ใช่มั้ย

จิตนี่ มันทำอะไรนี่ มันยึดมั่นถือมั่น  มันให้ค่าให้ความหมายอะไรนี่ มันไม่มีเหตุไม่มีผลหรอก ...เหมือนคนเมา เราจะไปหาเหตุผลกับมันไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีเหตุไม่มีผล

เพราะนั้น เวลาเราเห็นคนเมาจะทำยังไง ...จงเดินจากมาเสีย อย่าไปค้นหาความจริงกับเขา มันคงได้ความจริงหรอก ว่าเออ ทำไมคุณถึงมานอนกลางถนน ทำไมคุณไม่นอนบนเตียง

มันก็จะตอบมา แล้วถ้าเรานั่งฟัง หรือไปค้นคิดตามความเป็นจริงของมัน ...ไม่เมาก็เมาล่ะวะ ไอ้จากที่ไม่เมาก็เมากับมันเลยน่ะ เห็นมั้ย

ลองไปถามคนที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เวลาเราไปในที่ที่ไม่เคยไป ไปธิเบต ไปขึ้นหิมาลัย เราก็ต้องมีไกด์นำทาง ...เคยไหมที่ไกด์นำทางมันเมา เคยไหมที่จ้างคนเมามาเป็นไกด์

คงถึงยอดหิมาลัยอยู่หรอก สมมุติเที่ยวนั้นจะไปหิมาลัย แล้วดันไปจ้างคนเมามานำ มันจะไปไหนล่ะ ถามว่ามันจะไปไหน ...บอกให้เลย ไม่รู้ ใช่มั้ย จะไม่รู้เลยนะ มันจะพาไปไหน

หาความแน่นอนกับมันไม่ได้เพราะมันเมา เจอทางนี้ เออ น่าจะไปทางนี้ กูจะไปน่ะ ถามว่าใช่รึเปล่า แน่นอน ก็มันเมา มันจะว่ายังไงของมัน จริงรึเปล่า ไม่รู้ กูเชื่อของกูอย่างนี้

แล้วเราก็โคตรโง่เลย โง่กว่าคนเมาน่ะ ใช่มั้ย ก็ตามเขาไป ...พอขึ้นไปถึงยอดๆ นึง...เนี่ย หิมาลัย ...ไม่ใช่แล้ว แต่มันว่า เนี่ยหิมาลัย ...นี่ คนเมา

เนี่ย ตราบใดที่ให้จิตนำ มันเมา ยังไงก็ไม่ถึงไหนหรอก มันวน ...อย่าไปคบค้าสมาคมกับมันสิ เนี่ย ก็ละซะ นี่เขาเรียกว่ารู้ละ ...ละจิตออกไป ละความคิดความเห็นออกไป ละความจำความเชื่อแต่เก่าก่อน

แล้วหาผู้นำที่ดี คือผู้รู้ ไม่ใช่ผู้เมา ...ให้ผู้รู้นำ อะไรเกิดขึ้น..รู้ อยู่กับรู้ ตามผู้รู้ไว้ อยู่กับผู้รู้ไว้ ผู้รู้ไม่พาหลงทาง ผู้รู้ไม่พาออกนอกทาง  ถ้าอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้อยู่กับทาง...ไม่หลงทาง

ก็อยู่ในมรรค ผู้รู้ก็เข้าองค์มรรคไป ไปตามทางที่ควรจะไป ผู้รู้ก็จะไปตามทางที่ควรจะไป ไม่มีทางอื่นหรอกนอกจากมรรค ...แล้วที่สุดของมรรคก็ไม่มีอื่นหรอกนอกจากนิพพาน

แต่ถ้าตามจิต ...ไม่รู้นะไปไหน สามโลกธาตุ ๖ ชั้นฟ้า ๑๖ ชั้นพรหม...ก็ได้  เปรต สัตว์นรก อสุรกาย เดรัจฉาน..ได้หมด ...เนี่ยเมา ถ้าตามคนเมาก็ไปตรงนั้น ที่ไหนไม่รู้ แล้วแต่มันจะพาไป

แล้วแต่อารมณ์จะพาไป แล้วแต่กิเลสจะพาไป แล้วแต่ความอยาก-ความไม่อยากจะพาไป แล้วแต่ความเชื่อ แล้วแต่ความเห็นจะพาไป...ไม่แน่

เกิดมาชาตินี้คบค้าสมาคมกับใคร มีการสะสมสร้างความเห็นอย่างไร มันก็ไปตามความเห็นเช่นนั้น เห็นมั้ยว่าคติไม่แน่นอนเพราะจิตคือความมัวเมา จิตคือความไม่มีสาระแก่นสาร

อย่าฟังมัน เท่าทัน แล้วก็กลับมาอาศัยผู้นำที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นที่นำทาง ...เพราะนั้นผู้รู้ผู้เห็นที่นำทางนี่ เขาจะถือไฟสว่างข้างหน้าให้เห็น จะได้ไม่หลงทาง

เพราะนั้นสิ่งที่มันเห็น...ไม่เห็นอะไรหรอกนอกจากปัจจุบัน ...เพราะทางมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีในอดีต ไม่มีอนาคต ทางนี้มีจำเพาะอยู่แค่ในปัจจุบัน

เพราะนั้นถ้าออกนอกปัจจุบันเมื่อไหร่ หรือว่าลืมปัจจุบันเมื่อไหร่ ทางนี้ปิด มรรคก็ปิด ผลก็ปิด ผู้ดำเนินไปในทางก็...ไม่เห็นทางจะเดินยังไง ก็เดินวน ซ้ายขวาบ้าง หน้าหลังบ้าง ไปขึ้นลงบ้าง ไปได้ทั่ว

ตอนนั้นระหว่างนั้นน่ะจิตจะเป็นผู้นำ เดี๋ยวก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวก็หาวิธีการนั้นวิธีการนี้ เดี๋ยวก็ไปเปิดตำราเล่มนั้น เดี๋ยวก็ไปฟังซีดีแผ่นนี้ เดี๋ยวไปฟังอาจารย์องค์นั้น เดี๋ยวก็ไปหาอาจารย์องค์นี้

องค์นั้นก็เป็นหัน องค์นี้ก็เป็นหัน องค์นั้นก็หันซ้าย องค์นี้ก็หันขวา อันนั้นก็หันหน้า อันนั้นก็หันหลัง อันนั้นก็ต่ำกว่าหันต์หน่อย อันนี้ก็ต่ำกว่าหันต์อีกนิด ...เอ้า ไป หาไปเรื่อย

ไปๆ มาๆ ตัวเองเลยเป็นอรหัน อรหมุน...หมุนวนๆ อยู่อย่างนั้น ไม่รู้ไปไหน หันซ้ายหันขวาไปหน้าไปหลัง ไม่รู้ยังไงอีกแล้ว สงสัย

แต่มันจะเริ่มทำลายความสงสัย หยุดความสงสัย ละความสงสัย ด้วยการรู้ อยู่กับรู้ ...มันจะค่อยๆ ไม่หมุนไม่หันกับอะไร ไม่หันไปตามรูป ไม่หันไปตามเสียง

ไม่หมุนไปตามความคิด ไม่หมุนไปตามความอยาก ไม่หลงไปตามอารมณ์ ไม่ถูกกระแสอารมณ์พัดออกไป ไม่หมุนถูกกระแสความคิดฉุดดึงชักลากออกไป

ไม่ถูกรูปเสียงการกระทำของสัตว์บุคคล คำพูดของสัตว์บุคคล ความเห็นของสัตว์บุคคล ชักลากออกไปจากปัจจุบัน ...มรรคมันก็ตรง ชัดเจน

ทางเดินมันก็มี ...จริงๆ ทางน่ะมันมีอยู่แล้ว คือกายใจมันมีอยู่แล้ว...แต่มันไม่ชัด มันรกๆ

เหมือนลิงนั่งเฝ้าหน้าถ้ำ แต่หน้าถ้ำน่ะมันต้นไม้มีหญ้าคลุมอยู่ มันก็อาศัยที่ต้นไม้หน้าถ้ำน่ะ แต่มันไม่รู้ต้นไม้ที่มันอาศัยน่ะมันมีถ้ำอยู่ข้างใน

แล้วไอ้ลิงตัวนี้ เห็นคนเดินมาก็กระโดดเกาะขาเขาไป ใครร้องเรียกเจี๊ยกๆ จ๊ากๆ ก็วิ่งตาม กระโดดเกาะกิ่งไม้นั้นกิ่งไม้นี้ไป แล้วก็กลับมาอาศัยต้นไม้นี้เป็นที่อยู่หลับนอน

แต่มันไม่รู้เลยว่าที่อยู่หลับนอนนี้มันมีอุโมงค์ มันมีทางที่เดินไปสู่ความไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป ...เห็นมั้ยว่าทุกคนน่ะเป็นลิงที่อยู่หน้าถ้ำ เสมอกัน มีกายเหมือนกัน มีใจเหมือนกัน

ฝรั่งก็มี ไทยก็มี นับถือเยซูก็มี นับถือพุทธก็มี นับถืออิสลาม ก็มีกายใจเหมือนกัน เป็นลิงหน้าถ้ำเหมือนกัน ...แต่มันไม่เหมือนกันตรงไหน ไม่เหมือนกันตรงที่ลิงบางตัวนี่ มันเอะใจขึ้นมา

แล้วก็หันมาแหวกหญ้าหาทาง เพราะได้ยินได้ฟังมาว่าที่ตรงนี้มีอะไร มีถ้ำ แล้วทะลุถ้ำไปแล้วจะเจอโลกใหม่คือภาวะเหนือโลก...ลองดูดิ เนี่ย คนพุทธมันจะมีโอกาสตรงนี้เท่านั้นเอง...มีคนชี้นำ

แต่บางคนชี้นำจนปากเปียกแล้ว ปากนี่มันจะถึงรูหูแล้ว กูไม่สน กูยังหาต่อไป กูจะไปหาผลไม้ในป่าใหญ่ กูจะไปหาส้มสูกลูกไม้ กูจะเกาะติดรูปสวยคนงาม กระโดดไปกระโดดมากับเขา

ไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี่ก็งาม ไอ้นั่นก็วิเศษเลิศเลอ ไอ้นั่นก็เพอร์เฟ็ค มันก็เป็นลิงเกาะๆ แกะๆ เก้ๆ กังๆ กระโดดจับนู่นกระโดดจับนี่ไป ลุกลี้ลุกลนไป

ไอ้นี่ก็ช่วยไม่ได้แล้ว ใช่มั้ย ...ก็บอกว่า กายมีใจมี จะไปหาที่ไหนล่ะ จะไปเดินที่ไหนอีกล่ะ ยังจะไปหามรรคที่ไหนอีก หาผลที่ไหนอีก จะไปหาวิธีการปฏิบัติอีก จะไปหาอุบายไหนอีก

มันไม่มีอะไร มันไม่มีอุบาย มันไม่มีวิธีการปฏิบัติ...ตัวมันเองน่ะคือหลักปฏิบัติ มันเป็นหลักให้มาปฏิบัติ ...ถ้าว่ารูปแบบก็คือกายใจนี่คือรูปแบบของการปฏิบัติ

ไม่ใช่พุทโธเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ ไม่ใช่ยุบหนอพองหนอ ไม่ใช่เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็นรูปแบบปฏิบัติ ...กายใจคือรูปแบบปฏิบัติ

เพราะนั้นรูปแบบปฏิบัติมันจึงมีอยู่ตลอดเวลา ที่มันไม่มี...คือไม่มีผู้ปฏิบัติ ...ทำไมถึงว่าไม่มีผู้ปฏิบัติ เพราะมันเป็นผู้ค้นและผู้หา ใช่มั้ย

นักปฏิบัติมันชื่อเท่านั้นน่ะ สมมุติว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ...แต่การกระทำของมันน่ะ เป็นนักเซอร์เวย์ ค้นหาไอ้ที่มันต้องการ มันจะไปบุกเบิกแผ่นดินใหม่ มันจะไปบุกเบิกจับจอง

คือกะว่ากูจะตั้งหลักปักฐานที่ดินนี้ขอโฉนดน่ะ แต่ทำยังไงล่ะถึงจะได้เอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดให้เที่ยงที่สุด เป็นของกูที่สุด ...เนี่ยนะ แล้วมาบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ

เราไม่เรียกว่านักปฏิบัติ เราไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจริงคือผู้ที่กลับมารู้อยู่เห็นอยู่ ...ไอ้นั่นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ไอ้นั่นเป็นผู้ค้นหา ไอ้นั่นน่ะเป็นเด็กขอทาน เป็นยาจก เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

เป็นผู้ไม่รู้จักเรียนรู้คำว่าพอดี เป็นผู้ที่ขาด เป็นผู้ที่ไม่จริง แต่ว่าคุยกันว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติ  ถามว่าปฏิบัติกี่ปี ผมเหรอยี่สิบปีแล้ว ...เราบอกว่าเป็นขอทานเหรอ ยี่สิบปีนี่ เป็นขอทานมาตั้งยี่สิบปีนะนี่

ถึงว่ามันถึงไม่ได้อะไร ทำไมถึงปฏิบัติมาตั้งสิบยี่สิบปีแล้วมาบอก “อาจารย์ ผมไม่ได้อะไรสักอย่าง” ...เออ สมควรแล้วๆ เพราะไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่เป็นขอทานอยู่

แต่พอเริ่มเป็นผู้ปฏิบัติ มันเต็มไง...พอดี นั่งก็พอดี ยืนก็พอดี รู้พอดีกับนั่ง รู้พอดีกับเดิน กับยืนกับนอน นั่นแหละ กลับมาเป็นผู้ที่พอดี กลับมาเป็นผู้ที่เดินในมัชฌิมาปฏิปทา 

คือความพอดี ไม่ขาด ไม่เกิน มันเท่าไหร่ก็เท่านั้น ...มันก็รู้สึกว่าอิ่ม รู้สึกว่าเต็มขึ้น ไม่ขาดเหลือ ไม่อดอยาก ไม่รู้สึกว่าอดอยากในธรรม ไม่หิวธรรม ไม่หิวเวทนาหรือความสุขในธรรมที่ยังไม่ได้ 

มันรู้สึกว่าพอดีแล้ว ทำแค่นี้พอดีแล้ว ...เหมือนน้ำ ชอบกินน้ำเย็น น้ำเย็นของพวกเราทุกคนน่ะ คือน้ำที่ใส่น้ำแข็ง น้ำเย็น ...แต่เป็น “เย็นเกินไป” เราต้องเรียกว่า “เย็นเกินไป” นะ ชอบกินน้ำเย็นเกินไป

ถ้าน้ำเย็นก็คือน้ำเย็นที่ไม่มีน้ำแข็ง มันเย็นธรรมชาติใช่มั้ย  น้ำตามลำห้วยลำธารมันก็คือน้ำเย็นที่ไม่มีน้ำแข็ง มันเย็นไม่ร้อน ...แต่ถ้าหน้าหนาว ไม่ชอบน้ำแข็ง ไม่ชอบน้ำเย็น ก็ไปชอบน้ำอุ่น

เห็นมั้ย น้ำมันเปลี่ยนได้ตั้งหลายแบบ แต่ว่าถามว่าสภาวะที่แท้จริงของน้ำจริงๆ น่ะ มันเย็นยังไง ...มันเย็นเอง มันมีความเย็นของมันเอง เป็นธรรมชาติของมันเอง

คือปกติ เย็นแบบปกติ เย็นแบบธรรมดา เย็นแบบพอดีๆ ไม่ใช่เย็นแบบใส่น้ำแข็งสักก้อน ว่าไม่เย็น สองก้อน สามก้อน ไม่เย็นอีก..แช่ตู้เย็นเลย แล้วต้องให้เย็นแบบเที่ยงด้วยนะ โดยว่าใครยิ่งเที่ยงยิ่งเย็นนาน เก่ง ได้ผลแล้ว

นั่น มันจะปฏิเสธน้ำเย็นปกติ ...ยิ่งรักษาความเย็นได้เท่าไหร่ มันจะยิ่งปฏิเสธปกติเย็น ยิ่งปฏิเสธเย็นธรรมดา...ยิ่งปฏิเสธธรรมชาติ ยิ่งปฏิเสธความเป็นจริง ...นี่ นักปฏิบัติธรรม พอเริ่มต้นก็ผิดแล้ว

บอกให้แก้...ไม่แก้ เถียง บางคนนี่ อ้างโคตรพ่อโคตรแม่ของครูบาอาจารย์มาเลยน่ะ ตั้งแต่รุ่นก่อนหลวงปู่มั่นอีกมั้ง  คือถ้าหลวงปู่มั่นนี่มันยังไม่ฟัง ต้องเอารุ่นก่อนหลวงปู่มั่นยันพระพุทธเจ้าเลย ก็ว่ากันไป

แต่ธรรมคืออะไรล่ะ ถ้าเอาหัวคิดที่มันไม่ต้องคิดลึกซึ้งน่ะ ...ธรรมดานี่แหละ มันก็จะเข้าใจว่าธรรมดาก็คือธรรม ธรรมก็คือธรรมดา ธรรมดาก็คือสิ่งที่มันมีอยู่ดาดๆ ดื่นๆ นี่ ธรรมดาก็คือไม่ไปปรุงแต่งอะไรกับมันนั่นน่ะ

อะไรคือไม่ปรุงแต่งกับมัน ก็ไม่ต้องเติมน้ำแข็งสิ แล้วก็ไม่ต้องไปตั้งเตาให้มันร้อนให้มันอุ่น ...นั่นเขาเรียกว่าไม่ปรุงแต่งน้ำ มันเย็นเท่าไหนก็เย็นเท่านั้น ตามสภาพ เป็นกลาง

ธรรมชาตินี่เป็นกลางนะ  กลางยังไง...เอาไปต้มกูก็ยังไม่ว่าอะไร เอาไปใส่น้ำแข็งกูก็ไม่ได้บ่น กลางถึงขนาดนั้น คือไม่มีความเป็นสัตว์บุคคลในสภาพนั้นเลย

เช่นกายนี้เป็นต้น เห็นมั้ย เหมือนน้ำมั้ย อันเดียวกันน่ะ เปลี่ยนโมเดล โมเดลไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นจริงอันเดียวกัน ธรรมชาติเดียวกัน เป็นธรรมเดียวกัน ดำรงอยู่เหมือนกัน ดับไปเหมือนกัน


(ต่อแทร็ก 8/36  ช่วง 3)



แทร็ก 8/36 (1)



พระอาจารย์
8/36 (add550617)
17 มิถุนายน 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  กลับคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดา ไม่ไปหาอะไรที่มันเกินปกติธรรมดา อย่าไปหาอะไรที่ยังไม่เกิด อย่าไปหาอะไรที่มันดับไปแล้ว ...เหลือแค่รู้เท่านั้น ... ง่าย...แต่ทำยาก

โยม –  พอสงสัยก็รู้ว่าสงสัยก็จบ


พระอาจารย์ –  จบ ...แล้วก็กลับมาอยู่กับกายเปล่าๆ กับรู้เปล่าๆ แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรนอกเหนือนี้หรอก นอกเหนือนี้...เกิน

เคยเห็นพลุมั้ย มันอยู่ในอากาศ แต่ถ้ามันไม่เป็นพลุ พวกเราไม่นึกถึงพลุ เพราะอะไร ...สะเก็ดมันตกไกล ไหม้หญ้าฟาง เพราะมันยังมีพื้น เพราะมันยังมีหญ้าแห้ง

แต่เมื่อใดที่มันเหลือแต่กายใจเปล่าๆ มันไม่ได้มีพื้น ไม่ได้มีอะไรรองรับ ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่หมาย ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีตัวตนอะไรตั้งอยู่

มันจะไปลามยังไง มันก็ดับไปในอากาศ เหมือนพลุ ...นั่นแหละจิตพระอรหันต์ ก็เป็นพลุในอากาศ 

เพราะนั้นเราห้ามสะเก็ดไฟไม่ได้ ห้ามสะเก็ดพลุไม่ได้ ...เราไม่ได้ควบคุม แต่ทำยังไงล่ะจึงจะไม่ลาม

เมื่อใดที่เราเห็นว่า ไอ้นี่ยังมีๆๆ มันก็เป็นภพ...เมื่อมันเป็นภพ มันก็จะไปตั้งจุดกำเนิดอยู่ที่นั้น ...แต่เมื่อใดไม่มีอะไรตั้งอยู่ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันมีแต่ความว่าง

ตัวตนจริงๆ มีแต่อนัตตา คือไม่มีตัวตน มันจะไปไหม้กับอะไรล่ะ ...อนันตมหาสุญญตา พลุที่จุดในอนันตมหาสุญญตา มันจะมอดไหม้กับอะไร มันก็จบลงในปัจจุบัน

ขันธ์ก็อยู่ในปัจจุบัน แล้วก็จบในปัจจุบัน ไม่มีเราอดีต ไม่มีเราปัจจุบัน แล้วก็ไม่มีเราในอนาคต ไม่มีขันธ์ในอดีต ไม่มีขันธ์ในปัจจุบัน แล้วก็ไม่มีขันธ์ในอนาคต ...นั่นแหละพระอรหันต์

ไม่ใช่ท่านไม่มีความคิด ท่านไม่มีอารมณ์ ท่านไม่มีความรู้สึก มี...เท่านั้น ...แต่ความคิดความรู้สึกท่าน ไม่มีใครเป็นผู้รับ ไม่มีใครเป็นผู้เสวย เป็นอย่างนั้น


โยม –  ความรู้สึกท่านไม่ถึงใจหรือ

พระอาจารย์ –  มันไม่มีใจให้ถึง ...ที่พวกเราถึงใจเพราะอะไร เพราะใจมันผุดลูกโป่งขึ้นมา มันก็ถึงสิ ...แต่ถ้าไม่มีลูกโป่งก็ไม่มีใจ ถ้าไม่มีลูกโป่งหุ้มใจ หุ้มน้ำไว้ ถามว่าจะหาน้ำเจอมั้ย


โยม –  ไม่เจอ

พระอาจารย์ –  เออ มันมีที่ตั้งไหม มันมีสัณฐานไหม มันมีที่อยู่ที่ประมาณไหม ไม่มีนะ รูปพรรณสัณฐานของน้ำไม่มีนะ นั่นแหละคืออนันตมหาสุญญตา

แต่ถ้าเข้าถึงใจเมื่อไหร่ ก็หมายความว่าใจดวงนั้นยังถูกห่อหุ้มอยู่ ด้วยอาสวะ ยังถูกขัง ...ก็ยังเป็นผู้รู้ ก็แค่ผู้รู้


โยม –  เพราะฉะนั้น ผู้รู้ๆ ที่พูดกันทุกวันนี้ เราคงต้องเห็น ก็ยังไม่เห็นตัวนี้

พระอาจารย์ –  ไม่เห็นหรอก ยัง ...มันก็เข้าไป...บอกแล้วว่า ในวิถีแห่งมรรค ในวิถีแห่งอริยมรรค อริยผลนี่ จะเห็นใจ ๔ ครั้ง อเนกชาตินี่ จะเห็นใจ ๔ ครั้ง

ครั้งที่ ๔ ไม่เห็นอีกแล้ว ไม่เห็นแล้ว เพราะไม่มีใจเหลืออีกแล้ว มันเป็นธรรมชาติที่เป็นอนันตมหาสุญญตาแล้ว เป็นธรรมชาติที่ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิด ไม่มีที่หมาย

เป็นอมตะธาตุ อมตะธรรมที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อยู่ที่ไหน ...เป็นภาวะที่เกินบัญญัติสมมุติ เหนือบัญญัติ เหนือสมมุติ เหนือโลก เหนือธรรม

เพราะนั้นจะอธิบายยังไง...ไม่มีทาง มันเป็นแค่คำพูด มันเป็นแค่สมมุติภาษา แสนคำล้านคำจะเรียบเรียงรายละเอียดขนาดไหนก็ไม่มีทางหาความหมายนี้ได้

เพราะมันเหนือบัญญัติ เหนือสมมุติ ...เพราะนั้นก็ได้แค่เลียบเคียงเท่านั้นเอง ภาวะจริงๆ ไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบ เป็นปัจจัตตังจริงๆ

เพราะนั้นหน้าที่ของพวกเราก็ต้องทำตามหน้าที่ไป คือชำระ...ชำระขัดเกลาสิ่งที่ห่อหุ้มใจคือจิตผู้ไม่รู้

การชำระขัดเกลาจิตผู้ไม่รู้ก็คือไม่ตามมัน ไม่เชื่อมัน ไม่อาศัยมัน ไม่เอามันเป็นที่พึ่ง ไม่เอามันเป็นตัวชี้นำ ...แค่นั้นแหละคือการชำระแล้ว ชำระจิตผู้ไม่รู้

เมื่อชำระจิตผู้ไม่รู้แล้วอยู่ที่ไหน ...อยู่กับผู้รู้ไว้ก่อน ยังไงก็ต้องอยู่ที่ผู้รู้  ยังอยู่ที่ใจไม่ได้ เพราะยังไม่รู้จักใจหรอก แต่ว่าอนุมานประมาณว่าเหมือนกับผู้รู้นั่นแหละใกล้เคียงที่สุดกับใจแล้ว

ไม่มีอะไรใกล้ใจถึงกับใจมากกว่าผู้รู้แล้ว แล้ววันดีคืนดีปึ๊บ ...มันก็แวบเข้าไปถึงสภาวะใจ อ้อ เห็นแล้ว เข้าใจแล้ว ปึ้ง แล้วก็ขึ้นมา กลับมาเป็นผู้รู้ผู้เห็น

กลับมาเป็นใจเป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่ ก็เลยว่าผู้รู้  …ผู้รู้ก็บอกอยู่แล้วว่า “ผู้” คือ person คือบุคคล ยังมีบุคคลผู้รู้อยู่ แต่อยู่ตรงนั้นที่เดียวแหละ ใช้ได้


โยม –  ทีนี้อาการที่เราเห็นว่าผู้รู้ไปรู้ล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ยัง


โยม –  แต่ตอนที่รู้นี่คือรู้แล้วปล่อยๆๆ

พระอาจารย์ –  ก็เห็นไปปล่อยไป ไม่ได้ยึดผู้รู้ ผู้รู้มันก็เกิดขึ้นดับไป


โยม –  แล้วใจที่ว่านี่คือใจที่เป็นนิพพานธาตุ

พระอาจารย์ –  ใช่ คือสภาวะใจที่แท้จริง มันจะเข้าไปเห็นสภาวะใจที่แท้จริง ต่อเมื่อเข้าไปเป็นมรรคสมังคี เห็นแค่ขณะเดียว เป็นนิโรธธาตุนิโรธธรรมครั้งเดียว ขณะเดียว

จะพอ-ไม่พอไม่รู้ล่ะ มันเป็นไปตามกำลัง แล้วมันเป็นไปตามลำดับขั้นของมัน คือมันชำระได้ระนาบหนึ่ง เลเวลหนึ่งของมันนี่ มันก็จะเข้าไปเห็น แล้วมันจะเคลียร์เปลือกนั้นออกไป

มันก็จะไปเห็นทีหนึ่ง เห็นสภาวะใจที่หนึ่ง แวบหนึ่ง ขณะหนึ่ง เห็นความโล่งแจ้ง ความว่างเปล่า เห็นความไม่มีประมาณของสภาวะใจ แล้วก็กลับคืนรวมตัวกันใหม่ เป็นผู้รู้เปล่าๆ เฉยๆ

แต่ไอ้ตัวผู้รู้เปล่าๆ ผู้รู้เฉยๆ นั่นก็ยังคืออาสวะหุ้มเต็มๆ มันยังคืออาสวะหนึ่ง ตัวผู้รู้ ก็เหมือนกับลูกโป่งกับน้ำอย่างที่ว่า มันเป็นความบริสุทธิ์ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่บริสุทธิ์หมดจด


โยม –  เพราะว่ามันก็ยังมีจิตที่มีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น

พระอาจารย์ –  มีความเป็นบุคคลในจิต ถึงไม่รู้สึกว่าเป็น “เรา” ก็มีความรู้สึกเป็นบุคคล ความเป็น “ผู้” ที่รู้ ...แรกๆ มันอาจจะเป็น “เรารู้” ต่อไปก็เป็น “ผู้รู้” แล้วต่อไปก็รู้เฉยๆ

พอหมดสิ้นที่จะรู้แล้วก็ไม่ต้องรู้อะไรแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสติ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้อะไร ...เพราะมันไม่เห็นจะต้องไปรู้อะไร เพราะไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะต้องรู้

เพราะไม่มีอะไรให้รู้ จะไปรู้อะไร จะไปรู้ทำไม เพราะมันไม่มีอะไร ...ไอ้ที่เห็นน่ะมันเห็น แต่มันไม่มีอะไรในสิ่งที่มันเห็น มันจะไปรู้อะไรล่ะ

นั่นแหละ มันก็คือธรรมชาติอย่างนั้น ไม่ต้องมีสติมาคอยระวังว่าจะไปมีอาการไปหมายมั่นกับอะไร จะไปมียินดียินร้ายกับอะไร ก็มันไม่มีอะไร

มันจะไปรู้ทำไม มันไม่ได้สนใจเลยจะรู้อะไรหรือไม่รู้อะไร ...นั่นแหละมันก็หมดหน้าที่ของการที่จะรักษาสติเจริญสติ รักษามรรคเจริญมรรค

ก็มันเห็นแล้วมันไม่มีอะไร ในสามโลกธาตุนี้ สูญเปล่า สูญว่าง สุญญตา สูญจากความเป็นตัวตน สูญจากความเป็นสัตว์บุคคล สูญจากความหมาย สูญจากบัญญัติ สมมุติ ไม่มีอะไรจริงเลย

มันเหมือนอากาศธาตุ ไม่เห็นจะต้องไปเรียนรู้มันอีก ไม่เห็นจะต้องไปกลัวว่าจะไปยินดียินร้ายกับมัน จะไปยินดียินร้ายอะไรกับลม ยินดียินร้ายอะไรกับอากาศ ใช่มั้ย มันไม่มี ...นี่พระอรหันต์

แต่อาการก็มีไปตามปกติของสมมุติ มีไปอย่างนั้นน่ะ แต่ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรเลย ด่าๆๆๆ พูดๆๆๆ เสร็จ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันไม่มีตัวเราตอนนี้ ไม่มีตัวเราข้างหน้า...ไม่มี

คำว่าไม่มี “ตัวเรา” มันไม่ใช่ตัวเราปัจจุบัน ตัวเราในอดีตก็ไม่มี ไอ้ตัวที่เมื่อกี้ทำอะไรอยู่ก็ไม่มีตัวเรา มันดับไปแล้ว เป็นเรื่องของขันธ์ที่ดับไปแล้ว ตัวเราก็ไม่มี ขันธ์ก็ไม่มี มันดับไปแล้ว

เคยพูด เมื่อกี้พูด เคยด่า เมื่อกี้ด่า มันไม่มีตัวเราเชื่อมมาถึงตัวนี้เลย เห็นมั้ย อยู่อย่างนี้ มหัศจรรย์ ประหลาด ไม่เหมือนมนุษย์ ...แต่เป็นมนุษย์ที่แท้จริง เป็นอย่างนั้น

แต่พวกเรานี่มันข้ามภพข้ามชาติ มันจบจากนี่แล้วมันยังเชื่อว่าตัวเราเมื่อกี้เคยทำอะไรมา ยังมีตัวเราในอดีตอยู่นะ ถ้าเราอยู่นี่ เดี๋ยวตัวเราข้างหน้าจะเจออะไร ใช่มั้ย

จิตมันเชื่อมไปหมดเลย มันเชื่อมความน่าจะเป็น สิ่งที่จะเป็น และต้องเป็น ความเที่ยงของตัวเรา ความยืดยาวของขันธ์ถ้าละ “เรา” น่ะ มันละหมดทั้งอดีตอนาคต

เพราะนั้นจะละอดีต ละอนาคตนี่ ต้องมายึดมั่นถือมั่น ตั้งมั่น จริงๆ คือไม่ได้ยึดมั่น คือตั้งมั่นน่ะ ไอ้คำว่าตั้งมั่นหรือสมาธิ ก็คือว่ายึดมั่นถือมั่นในปัจจุบัน แต่พูดภาษาให้ดีหน่อยก็คือสมาธิจิตตั้งมั่น

มันมั่นกับอะไร...ก็มั่นกับปัจจุบัน ...ไอ้มั่นกับปัจจุบันก็คือยึดมั่น ให้มายึดกับปัจจุบันไว้ก่อน  เมื่อยึดกับปัจจุบันก็จะเห็นอดีตไม่มี อนาคตไม่มี แต่มีแค่ปัจจุบัน


โยม –  ต้องปล่อยปัจจุบัน

พระอาจารย์ –  เดี๋ยวมันก็เห็นเองว่าปัจจุบันก็ไม่มี ใช่มั้ย นั่งอยู่นี่ เดี๋ยวขยับ ไอ้เมื่อกี้ไปไหนล่ะ ...อย่างนั่งอยู่บนรถ ตัวในรถไปไหนล่ะ ปัจจุบันมันก็ดับ มันก็เห็นว่าปัจจุบันก็ไม่มี

แต่ถ้าไม่อยู่อย่างปัจจุบันมาก่อนนี่ มันไม่เห็นเลยว่าอะไรมีหรือไม่มี ...มีหมด อนาคต อดีต เป็นเรื่องเรา ตัวเรา ยังคงอยู่ตลอดเวลา เชื่อมโยงกันอยู่ ...มันปิดบังครอบงำ

ความเป็นจริงนี่มันมีแค่ขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ...ขันธ์นี่ เป็นอะไรลอยๆ กายนี่มันเป็นแค่ความรู้สึกลอยๆ ...ดูดีๆ ถ้าดูอยู่กับปัจจุบันนี่ จะให้ว่ากายเป็นอะไรที่รู้สึกขึ้นมาลอยๆ แค่นั้นเอง ในปัจจุบัน

ไม่มีราคาเลย ไม่มีป้ายราคาติด มันไม่มีค่าไม่มีราคาเลย เป็นอะไรลอยๆ อยู่  แล้วก็มีรู้ลอยๆ กับมันอยู่...สองอย่างคู่กันอยู่อย่างนั้น ...ถ้าอยู่ปัจจุบันจริงๆ มันจะเห็นอย่างนั้น

แล้วจากนั้นไป มันก็จะสำเหนียกถึงความว่า...อ๋อ ไอ้ที่เห็นนี่แป๊บนึง ไอ้ที่เห็นนี่เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาใหม่ สุดท้ายก็หายไป ไอ้ปัจจุบันเนี้ย

มันก็เริ่มหาสาระแก่นสารไม่ได้ในขันธ์แล้ว มันเริ่มหาความเป็นสาระแก่นสารไม่ได้

แต่ถ้าพูดถึงสาระตอนนี้นะ เต็มไปหมด จิตที่มันบอกว่าไอ้นั่นก็ยังมี ไอ้นี่ก็เรื่องของเรา ไอ้นั่นก็เรื่องของเขา ไอ้นี่มันก็ยังเกี่ยวกับเรา ไอ้นั่นก็ยังเป็นอยู่ มันมีสาระเป็นแก่นเป็นสารไปหมดเลย


(ต่อแทร็ก 8/36  ช่วง 2)