วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/35 (2)


พระอาจารย์
8/35 (add550520C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/35  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ในขณะเดียวกันที่เราเรียนรู้หยั่งลงที่กาย หยั่งลงกับรู้ แล้วเราไม่สนใจไม่ใส่ใจกับอาการของจิต อาการของกิเลส มันก็เป็นการชำระไอ้จอกแหนส่วนที่เป็นนามธรรม

นี่ ที่มันห่อหุ้มใจไว้ด้วยอำนาจของอวิชชา มันก็คลี่คลายจางคลายของมันไปในตัวพร้อมกัน ...เห็นมั้ย กายก็บริสุทธิ์พร้อมกับใจที่เริ่มบริสุทธิ์ขึ้น

ใจก็บริสุทธิ์อยู่แล้วเหมือนกับกาย เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ใครทำให้ใจบริสุทธิ์กว่านี้ไม่ได้ ใครทำให้ใจบริสุทธิ์น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้ เขามีความบริสุทธิ์ที่คงที่ เป็นธรรมชาติที่คงที่ เป็นอมตะธาตุ

แต่ตอนนี้มันไม่ใสไม่บริสุทธิ์ เพราะมีมลทินมาห่อหุ้มคืออวิชชา คือความไม่รู้ มันเลยมาปิดบังใจไว้ ...ความคิดไง อารมณ์ไง กิเลสไง ความอยาก ความไม่อยาก

มันสร้างอดีตสร้างอนาคต ปรุงแต่งนั้นปรุงแต่งนี้ ความเป็นไป ไม่เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้นั่นดีไอ้นี่ร้าย ...พวกนี้คืออำนาจของอวิชชามาสร้าง มาห่อหุ้มใจ

เห็นมั้ย การชำระลงที่กายที่เดียวนี่ ไม่ต้องกลัว มันชำระพร้อมกัน ...ขัดเกลา เหมือนกระดาษทรายขัดไม้ที่เป็นเสี้ยนให้มันใสให้มันเงางามขึ้น พร้อมกับใจนี่ก็สะอาดขึ้น ดูสะอาดขึ้น

เบาขึ้น เป็นอิสระขึ้น ง่ายขึ้นในการที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดอะไร มีความเห็นอะไร ...มันสามารถจะรับรู้โดยที่ว่าผ่านได้เร็ว ไม่ค้าง ไม่ติด ไม่มีอะไรไปเหนี่ยว ไม่มีอะไรไปรั้งมันไว้

เห็นมั้ย มันชำระออก แล้วมันอยู่อย่างนี้ ไปไหนก็ได้ อยู่ไหนก็ได้ เห็นอะไรก็ได้ ได้ยินอะไรก็ได้ ไม่ได้ยินอะไรก็ได้ เพราะมันไม่ได้มีอะไรตกค้างอยู่เลย ...มันจะง่ายขึ้น นั่นน่ะคือผลของการปฏิบัติ

ไม่ใช่ว่าผลคือเห็นแสงสว่าง เห็นเทวดามาคุยด้วยเหมือนคนบ้า หรือว่าเห็นชาติที่แล้วเราเคยเกิดเป็นอะไร หรือเห็นหวย (หัวเราะกัน) ...ไอ้นั่นมันไม่ใช่ผล ไอ้นั่นน่ะยาพิษมาแทรก ไม่มีประโยชน์

แต่ผลคือเป็นอย่างนี้ กายเบา ใจเบา แต่หูหนักไม่ใช่หูเบา ...พวกเราน่ะกายหนัก หูเบา ใจอ่อน เหมือนขี้ผึ้งกลางแสงแดด เหมือนน้ำตาลกลางสายฝน อะไรนิดอะไรหน่อย ไม่เอาแระ ไหล ละลาย

ทนไม่ได้ ฟังไม่ได้ ทำไม่ได้ รับไม่ได้  ทำไมใจมันช่างเหมือนกับปลายเข็มหมุด ไม่เหมือนลูกมะพร้าว ...เอาให้มันใหญ่ เอาให้มันแน่นมันหนักไว้ มันจึงจะทานทนจนเห็นที่สุดของธรรมที่ปรากฏนั้น

ถ้าไม่มีขันตินะ รู้อยู่ด้วยความอดทน แรกๆ มันจะต้องอดทนบังคับให้มันรู้เฉยๆ ...เพื่ออะไร เพื่อให้เห็นธรรมนั้นแสดงไปจนถึงที่สุดของมันเอง

ว่าเขามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตั้งอยู่เป็นธรรมดา แล้วดับไปเป็นธรรมดา ...ไม่ใช่มีใครไปทำให้มันดับ หรืออะไรทำให้มันดับ

อันนี้ต่างหากที่ว่าจะต้องใจหนักแน่นเป็นกลางจริงๆ ไม่หวั่นไหว ...ไม่งั้นอะไรนิดอะไรหน่อย ก็กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปแก้ เข้าไปทำลาย

เข้าไปเพิ่ม เข้าไปลด เข้าไปสร้างอันอื่นมาปกปิดทดแทน หรือไม่ก็หนีอาการ ตรงนี้มันหวั่นไหวไปกับอาการ ทนไม่ได้ มันก็เกิดอาการเข้าไปแทรกแซงด้วยเจตนา

แต่ถ้าใจมันหนักแน่นเป็นกลาง ทนเอา ...สมมุติว่าทนยังไง ถ้าเขาด่า เขาบ่น ทนมันจนเมื่อยน่ะ จนมันปากเมื่อย แล้วมันหยุดพูดเอง ...เออ ดูซิใครจะแน่กว่ากัน

ไอ้คนพูดกับคนฟังใครจะแน่กว่ากัน ทำไมไอ้คนฟังมันทนไม่ค่อยได้วะ ไอ้คนพูดก็พูดได้เหลือเกิน ใช่มั้ย ทั้งที่นั่งฟังเฉยๆ ไม่ได้เดือดร้อนออกกำลังอะไรเลย

ไอ้คนพูดนี่มันแจ๊ดๆ พูดอยู่นั่น คนนั่งฟังเฉยๆ ทำไมทนไม่ได้ ประหลาด ดูซิใครจะแน่กว่ากัน ...นี่อดทน ต้องอดทนอย่างนี้ก่อน  แล้วก็เห็นว่า เออ สุดท้ายก็ดับไปเอง

มันไม่ด่าข้ามภพข้ามชาติหรอก ใช่มั้ย ...เหมือนกัน ชมเหมือนกัน ไม่มีใครชมข้ามภพข้ามชาติหรอก เดี๋ยวมันก็เบื่อ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน

เออ มันก็จะเห็นความจริง...อะไรๆ มันก็ไม่เที่ยง อะไรๆ มันนอกเหนือการควบคุมของมัน อะไรๆ ก็เป็นไปตามธรรม เหตุนั้นปรากฏชั่วคราวแล้วดับไป ตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วดับไปเป็นธรรมดา

มันจะเหมือนกัน...ถ้าอดทนได้ทุกเงื่อนไขนะ ทุกเหตุ ทุกปรากฏการณ์ ...มันจะสงเคราะห์รวมลงเป็นธรรมหนึ่งธรรมเดียว คือมีความเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา

ถ้ามันเชื่อเข้าไปในกฎธรรมชาติตรงนี้แล้ว  จิตไม่รู้ จิตที่ไม่วาง มันจะเกิดอาการปล่อย จากการที่เข้าไปข้องแวะกับภาวะธรรมนั้นหรือภาวะเหตุการณ์นั้น

มันไม่ได้ปล่อยทีเดียวหรอก มันจะค่อยๆ คลาย ...คือแรกๆ มันเหมือนตีนตุ๊กแกน่ะ เข้าใจมั้ย มันจับแน่นเลยนะ อะไรเข้าหู อะไรเข้าตามา อย่าได้สะดุดหูสะดุดตากูนะ...มึงโดน

มันจะแนบแน่นไปหมดทุกเรื่อง แล้วก็หาเรื่องไปหมดทุกเรื่องแต่ต่อไปมันจะค่อยๆ คลายออก ทีละเล็กทีละน้อย มันจะค่อยๆ คลายออก

พอคลายออกปุ๊บ ทุกอย่างก็จะผ่านไป เป็นอิสระของเขา ใจก็อยู่ในอิสระของใจที่รู้อยู่เห็นอยู่ กายก็ตั้งอยู่ตามปกติธาตุปกติธรรม กายไม่ได้เก็บอะไรได้เลยนะ

กายไม่เก็บเสียงไว้เลยนะ ใช่มั้ย กายไม่ได้เก็บรูปไว้นะ ไม่ได้เก็บไว้ในลูกตานี้นะ เสียงก็ไม่ได้เก็บในรูหูหรือแก้วหูนะ กลิ่นรสอะไรนี่มันก็แค่ผ่านแล้วก็หายไป มันไม่ได้เก็บอยู่ในจมูกไม่ได้เก็บในลิ้น

เห็นมั้ย กายมันไม่ได้เป็นที่เก็บที่กักอารมณ์หรือผัสสะใดๆ ไว้ มันเป็นแค่ที่ผ่านเท่านั้นเอง ส่วนใจก็เป็นที่...รับรู้รับทราบๆๆ ...ใจเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร

ทุกอย่างก็เป็นอิสระในการมาและการไป โดยที่มีกายใจเป็นผู้รับด้วยความเป็นกลาง  นั่นแหละคือมรรค นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ...จะเข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทาได้ต้องอยู่ที่กายและใจ

จนเห็นว่ากายและใจนี่เป็นแค่ทางผ่านของอารมณ์ เป็นแค่ทางผ่านของโลก เป็นแค่ทางผ่านของความคิด เป็นแค่ทางผ่านของกิเลส ไม่ใช่เป็นที่เก็บกัก ไม่ใช่เป็นที่ก่อเกิด ...เป็นแค่ทาง

นั่นแหละคือมรรค ต้องอยู่ในมรรค ไม่ออกนอกนี้ ...ถ้าออกนอกนี้ไป มันจะมีกระบวนการต่อเติมเสริมแต่งขึ้นมา ผูก เกาะ เหนี่ยว รั้ง ผลัก ดึง ดัน อาวรณ์ อาลัย ห่วงหา ขวนขวาย 

ออกนอกกายใจจะมีแต่อาการนี้..จิต ...และถามว่าอาการนี้สบายดีมั้ย ไม่สบายหรอก เป็นอาการทุกข์ทั้งสิ้น ...แต่มันอาศัยอาการนี้ด้วยความเคยชิน มันทำอาการนี้อยู่ด้วยความเคยชิน มันจึงเป็นสิ่งเลิกละได้ยาก

จริงๆ น่ะ กิเลสน่ะ เขาไม่ได้ติดเรา เราน่ะไปติดกิเลส ...กิเลสเขาเกิดแล้วเขาก็ดับ ความอยาก ความไม่อยาก โกรธ ดีใจ เสียใจ พอใจน่ะ ...เขาเกิดตรงไหน เขาก็ดับตรงนั้นน่ะ

เขาไม่ได้ติด เขาไม่ได้ข้องอะไรกับเราเลย  เราน่ะไปติดเขาเอง “ทำไมถึงดับเร็วจัง ทำไมไม่อยู่นานๆ ล่ะ ทำไมไม่วิลิศมาหรายิ่งกว่านี้ล่ะ”

เห็นมั้ย พวกเราน่ะไปติดเขา ไปติดอารมณ์ ไปติดสิ่งที่มันปรากฏเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ...แม้แต่กิเลสก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

เราไม่ได้สอนให้ชนะกิเลส เราไม่ได้สอนให้เข้าไปทำลายล้างกิเลส ...เราสอนให้เข้าใจ ให้เห็นมันตามความเป็นจริงว่ามันก็คือสภาวธรรม หรือเป็นการปรุงแต่งของธรรมชาติหนึ่ง

การปรุงแต่งของธรรมชาติที่ไม่รู้ มันก็ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก ที่เรียกโดยสมมุติว่ากิเลส ที่เรียกว่าโดยภาษาว่าราคะ โทสะ โมหะ ...เรียกยังไงก็ได้

แต่จริงๆ โดยปรมัตถ์แล้ว ก็คือสภาวธรรมหนึ่งที่ปรากฏ ไม่แตกต่างจาก ยืน เดิน นั่ง หรือนอน เข้าใจมั้ย ...คืออาการเดียวกัน มีความเกิดขึ้นเหมือนกัน ตั้งอยู่เหมือนกัน แล้วมีความดับไปเช่นเดียวกัน

การที่เรามาเรียนรู้ขันธ์ตามความเป็นจริงอย่างนี้ มันจึงจะทำลายความหมายมั่นหรือความเห็นผิดในการที่เข้าไปมีเรา เข้าไปเป็นของเรากับมัน

ไม่งั้น “เรา” ตัวนี้ มันจะลบล้างไม่ได้เลย ถ้าไม่สอนให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมนี้ตามจริง...คือเป็นไตรลักษณ์อย่างไร เกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร แล้วดับไปอย่างไร

ตรงเนี้ย ถ้าเห็นตรงนี้บ่อยๆ ด้วยความเป็นกลาง ...สภาวะของจิตไม่รู้ที่มันสร้างฐานรองรับตัวมันเองว่าเป็นเรา ของเรานี่ จะค่อยๆ อ่อนลง น้อยลง จนหมดสิ้นไปจากขันธ์ห้า

จนไม่เห็นว่าขันธ์ห้านี้เป็นเรา ไม่เห็นว่าขันธ์ห้านี้เป็นของเรา แม้แต่อณูธาตุอณูธรรมหนึ่ง จนถึงขั้นปรมาณูของนาม ก็ยังไม่เห็นเลยว่านี้เป็นเรา ...นี่เขาเรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดในกองขันธ์

เมื่อนั้นแหละไม่ต้องมาทำงานแล้ว งานภายนอกก็ไม่ต้องทำ งานภายในก็ไม่ต้องทำ หรือทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ใครจะมีปัญหาก็ได้ ไม่มีปัญหาก็ได้ ...มันสบาย ถึงตอนนั้นแล้วมันสบาย

ใครจะหาเรื่องก็ไม่มีเรื่องให้หา ใครจะมีเรื่องก็ไม่มีใครไปมีเรื่องกัน เพราะไม่มี “เรา” ให้มันมีเรื่อง ...ที่มันมีเรื่องเพราะมี “เรา”  มันจะมีเรื่องได้ยังไงถ้าไม่มี "เรา"

มันจะด่าโดนมั้ยนี่ โดน...ก็โดนแค่หูไม่โดนเราน่ะ โดน...โดนตัว แต่ไม่มีเราน่ะ ...ไอ้นี่มันโดนทั้งตัวโดนทั้งเรา โดนสองเด้งเลย นี่มันเลยทุกข์ไง

คือทุกข์ของทุกขสัจอันหนึ่ง แล้วก็ยังมีทุกข์อุปาทานพ่วงอีก ...แล้วส่วนมากมันจะเห็นทุกข์อุปาทานเป็นหลัก ไอ้ทุกขสัจนี่ไม่ค่อยเห็นไม่ค่อยเรียนรู้

ทุกขสัจคืออะไร (เสียงสัมผัส) นี่กระทบ เป็นแค่นี้ แล้วก็ดับ ...ตัวมันเองยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษให้ใคร เข้าใจมั้ย

พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงแดดลงมานี่ ร้อน ...เขาไม่มีเจตนาหรอก นี่คือภาวะทุกขสัจ เป็นธรรมชาติ เขาไม่ได้มีว่าให้ใครร้อนให้ใครหนาว หรือจำเพาะให้หัวล้านนี่ร้อน เป็นคนที่ต้องร้อนมาก

เขาไม่มีเจตนา เขาเป็นกลาง เป็นทุกขสัจปรากฏเฉยๆ นี่คือทุกขสัจ แต่ว่าสิบคนไปยืนอยู่กลางแดด มันร้อนไม่เท่ากัน มันรู้สึกว่าร้อนไม่เท่ากัน

บางคนก็ “ทำไมมันร้อนจริงๆ” อีกคนก็บอก “กูไม่เห็นร้อนเท่าไหร่นะ” เอ้า มันยืนในโลกเดียวกันรึเปล่าวะนี่ มันยืนในที่เดียวกันรึเปล่า

แล้วในเมื่อยืนที่เดียวกัน แต่ทำไมคนหนึ่งบอกว่า มันร้อนจนทนไม่ได้ ทำไมอีกคนบอกไม่เห็นร้อนเท่าไหร่ ...เห็นมั้ย อันนี้คืออุปาทาน ไม่ใช่ทุกขสัจ

แต่แดดกับกายที่มันกระทบกระแทกกันอยู่ตรงนั้นน่ะ ความเป็นจริง เท่ากัน  มันเท่ากัน เท่านั้นน่ะๆ ...มันเท่านั้นล่ะไม่รู้เท่าไหน มันเท่านั้นแหละ เท่าที่มันปรากฏ

แต่ไอ้ความรู้สึกที่เข้าไปรับรู้ของจิตนี่ ไม่เท่ากัน ...ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ อือ งั้นๆ น่ะ ต่ำกว่าพระอรหันต์ลงมานี่...กูไม่งั้นแล้ว ทำไมมันร้อนอย่างนี้

ไอ้ “ทำไมมันร้อนอย่างนี้” นี่คือมันวงเล็บไว้แล้ว "ทำไม (เรา) ถึงร้อนอย่างนี้" เห็นมั้ย ร้อนก็เป็นเรา กายนี้ก็เป็นเรา ความรู้สึกก็เป็นของเรา มันร้อนทั้งหมดน่ะ

“ทำไมมันร้อนอย่างนี้” นี่คือพูดแบบภาษาย่อไง โดยสมมุติ มันคิดย่อๆ ...แต่วงเล็บมันปิด มันปกปิดตัวเราไว้ ทำไมเราถึงร้อนอย่างนี้ นี่คือจริงๆ ...“แล้วเราจะทำยังไงดี” นี่หาทางแก้แล้ว

อะไรเป็นตัวที่ผลักดันให้หาทางแก้ความอยากกับความไม่อยาก เห็นมั้ย กระบวนการของการปรุงแต่งมันทบทวนหมดเลยว่า ตรงนี้เรียกว่าร้อน ตรงร่มนั้นเรียกว่าเย็น


(ต่อแทร็ก 8/35  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น