วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/35 (3)


พระอาจารย์
8/35 (add550520C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
20 พฤษภาคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/35  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แล้วตรงเย็นน่ะมีความรู้สึกหนึ่งที่ปรากฏการณ์ เรียกว่าสมมุติเอาว่ามันสุข แล้วถ้าอยู่อย่างนี้มันปรากฏการณ์นี้เรียกเอาว่า สมมุติเอาว่าทุกข์

แล้วเราชอบตรงนั้นมากกว่าตรงนี้ ว่าตรงนั้นที่เป็นสุข สมมุติว่าสุขมันดูดีกว่า สบายกว่าตรงนี้ มันเลยเลือกเร็วมากจิตปรุงแต่งนี่ ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อีก พรวดเดียว ปึ้งเลย

จิตสังขารตั้ง กายสังขารเกิด ไปเลย ...กระบวนการเร็วมาก เกิดความต่อเนื่อง สืบเนื่องไป ยังไม่ทันเห็นเลยว่าสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงคืออะไร

อะไรคือขันธ์ อะไรคือร้อน อะไรเป็นเวทนา อะไรเป็นรู้ อะไรเป็นจิต อะไรเป็นความอยาก อะไรเป็นความไม่อยาก เห็นมั้ย ไม่สนใจแล้ว กูจะเข้าร่มอย่างเดียว

นั่นแหละจิต ถ้าเราทำตามจิตแล้วเราจะไม่สืบทราบความเป็นจริงในปรากฏการณ์นี้เลยแต่ถ้าเราอดกลั้นตั้งมั่นด้วยขันติเป็นกลาง มันจะเกิดภาวะแยกแยะ

อะไรเป็นขันธ์ อะไรเป็นผัสสะ อะไรเป็นอายตนะ อะไรเป็นเวทนา อะไรเป็นเวทนาใน อะไรเป็นเวทนานอก อะไรเป็นตัณหา อะไรเป็นเรา อะไรเป็นของเรา

นี่ผู้มีปัญญา เวลาภาวนามันจะเห็นอย่างนี้โดยตลอด แล้วมันจะจำแนกธาตุจำแนกขันธ์แยกแยะอายตนะธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ผัสสะ ๖

พอแยกออกเป็นชิ้นๆๆๆ นี่เหมือนถอดเครื่องรถออก เนี่ย หารถไม่เจอ เมื่อใดที่มันถอดเครื่องรถออก ล้อส่วนล้อ พวงมาลัยส่วนพวงมาลัย ประตูส่วนประตู เอามาต่อกันไม่ติดน่ะ หาเราไม่เจอ

แล้วเมื่อไม่มี “เรา” รถก็เคลื่อนที่ไม่ได้ ...ประตูมันเดินได้มั้ย ขับได้มั้ย มีแต่พวงมาลัยน่ะ ขับไม่ได้ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งๆ ...เนี่ย ความเป็นเรามันไม่มี มันไม่มีอย่างนี้

มันเกิดการที่...ต่อให้กิเลสมันไวได้ขนาดไหนนะ มหาสตินะไวได้ขนาดนั้นเลยน่ะ มันจำแนกปึ้งเดียวนี่ ชิ้นส่วนนี่สลายหมดเลย ไอ้เหตุที่ปรากฏตรงนั้นน่ะ สลายตรงนั้นเลย ...ไวมากนะ

ด้วยการอบรมที่ว่านั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ จนเป็นมหาสติขึ้นมานี่ จำแนกธาตุจำแนกขันธ์นี่ทีเดียวจบ สลายหมด ...อะไรก่อเกิดไม่ได้เลย ไม่ได้พอที่จะให้มีเราเข้าไปสวมทรง มันจำแนกทัน

นั่นแหละเขาเรียกว่าเป็นญาณขั้นวิมุติ เป็นญาณขั้นวิมุติทัสสนะ คือมหาปัญญา แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นปัญญาหมด ไม่ว่าตาหูจมูกลิ้น กระทบอะไร สัมผัสอะไร มันปรากฏเหตุแห่งเราขึ้นที่ไหน ตรงนั้นตาย

"เรา" ตาย ..."เรา" ต้องตายตรงนั้น ไม่ไว้ซาก ไม่เหลือซาก ไม่ทิ้งซากเลย ไม่เก็บไว้ด้วย นี่ ปัญญาขั้นนั้นน่ะ ...อย่างปัญญาของพวกเราขั้นต้นนี่ เป็นปัญญาแบบหนูเจอแมว เข้าใจมั้ย

แต่ปัญญาของพระอริยะขั้นสูง ขั้นมหาสตินี่ ประเภทเสือหาหนูกินน่ะ...มึงอยู่ไหนๆ เลยน่ะ ไม่กลัวแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไร ท่าไหน กระบวนไหน อยู่ไหน ค้นหาเลย อาจหาญมาก

แต่พวกเราอย่างนี้ ...งอมาก กลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวไปไม่ได้ กลัวเสียโอกาส เกรงใจคนอื่น เกรงใจกิเลสมนุษย์ เกรงใจคนรอบข้าง เกรงใจลูกศิษย์ เกรงใจอาจารย์

อู้ย มันจะเกรงใจพระอินทร์พระพรหมไปถึงไหน กิเลสน่ะเกรงใจจัง ทีพระพุทธเจ้าไม่เกรงใจ เอ๊อะ พระพุทธเจ้าคือพุทธะ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ไม่ค่อยเกรงใจผู้รู้เลย ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่เคารพ

แต่เคารพกิเลสจัง เคารพความรู้สึกของผู้อื่นจัง ประเพณีนิยมในโลก เคารพค่านิยมของโลก คำพูดคำชมคำติของโลก เคารพจัง เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นกฎหมายเป็นตราบัญญัติเลย

แต่พุทธะพุทโธ...ฮึ้ย ถึงเวลาก่อนค่อยรู้ ...แน่ะ กลายเป็นซับโฟลเดอร์ไป ไม่ใช่เมน  แล้วยังมาบอกว่าเป็นพุทธศาสนิกชน...ไม่ได้ นี่กล่าวตู่ๆ

ต้องเป็นพุทธะโดยสายเลือด...อะไรก็รู้ นั่น ต้องสร้างสายเลือดของพุทธะ เป็นพุทธทายาท เป็นพุทธธรรม อะไรเกิดขึ้นรู้ นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ นั่น เอาพุทธธรรมไว้ กอดไว้ เกาะไว้ เป็นที่พึ่ง

ผู้รู้นั่นแหละ นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ โกรธรู้ คิดรู้ กังวลรู้ อยากรู้ ไม่อยากก็รู้ พอใจรู้ ไม่พอใจรู้ ดีใจรู้ เสียใจรู้ ...มีพุทธะอยู่กับตัวไม่กลัวตกนรก

นี่พุทธะไม่เอา เอาแต่กิเลส คติที่ไปไม่แน่นอนนะ ลมเพลมพัดนะ วันดีคืนดีตายตูม อ่ะ ไปเป็นเทวดาเพราะบังเอิญอารมณ์ดี 

แต่ถ้าพอดีช่วงนั้นกำลังโกรธกับผัว เลิกกับเมีย ตายซะตอนนั้น เอ้าลงนรก ไปเป็นเดรัจฉาน เพราะอารมณ์ไม่ดี ...เห็นมั้ย คติการตายยังไม่แน่นอน การเกิดยังไม่แน่นอนนะ

แต่ถ้ามีพุทธะเป็นที่พึ่ง เอาพุทธะคือรู้  อะไรก็รู้ ได้เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ กำลังเห็น กำลังได้ยินก็รู้ กำลังโกรธอยู่ก็รู้ โกรธมากก็รู้ โกรธน้อยก็รู้ หงุดหงิดก็รู้ รำคาญก็รู้ เศร้าหมองก็รู้

รู้อย่างเดียว...เอารู้เป็นที่พึ่งนะนั่น แล้วไม่ต้องกลัว ปิดอบาย ...ถึงไม่ได้เป็นอริยะถึงขั้นโสดาบันก็ปิดอบายได้ในระดับหนึ่งแล้ว

แล้วถ้าอยู่อย่างนี้ สร้างนิสัยของอริยบุคคลขึ้นมาด้วยการรู้อยู่อย่างนี้ นี่เป็นการสร้างนิสัยของอริยะเลยนะ ...ทำไมถึงบอกพระโสดาบันไม่ละเมิดศีล มีศีลเท่าชีวิต

ไม่ใช่ศีลห้า ศีลแปดศีลสิบ สองร้อยยี่สิบเจ็ด ...แต่เป็นศีลกาย ท่านอยู่กับกายท่านตลอด ไม่ออกนอกกายเลย เพราะรู้เลยว่าออกนอกนี้ไปเป็นทุกข์ หลงง่าย

ตกนรกได้ ขึ้นสวรรค์ก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ อสุรกายก็ได้ สัตว์นรกก็ได้ พรหมก็ได้ อรูปพรหมก็ได้ ...ท่านบอกไม่เอาแล้ว อยู่ตรงนี้ เผลอไปเพลินไปปุ๊บ กลับมา

เห็นมั้ย ท่านมีศีล ท่านอยู่กับศีล ท่านรักษาศีล ท่านเติมเต็มในศีล ทำความบริบูรณ์ สมบูรณ์เพียบพร้อมในศีล จนไม่ขาดตกบกพร่อง จนเป็นศีลวิสุทธิ จนบริสุทธิ์ไปตามลำดับภูมิธรรม

แต่พวกเรายังไม่เห็นคุณค่าของศีล ยังล่วงละเมิด ยังล่วงเกินศีล ตามเหตุ ตามข้ออ้าง ตามความหลงความเผลอ ...เพราะมันยังไม่เห็นโทษภัย เหมือนกับผู้เจริญภาวนาจนถึงขั้นโสดาบัน

ท่านมีปัญญาในระดับที่เห็นโทษภัยของการที่ว่า ออกนอก “นี้” ไปเป็นทุกข์  ออกนอกรู้นี้ นอกกายนี้ไป เป็นทุกข์ ...เรายังไม่เชื่อถึงขั้นนั้น เรายังว่าไม่เป็นไร ยังไม่เป็นไร

เผลอไปหน่อย เผลอไปนิดก็ไม่เป็นไร มีอารมณ์กิเลสเกิดขึ้นไปก็ เออ ตามน้ำไป ไม่เป็นไร ...มันยังไม่เข้มงวดระวังตัวเอง คือจะไม่เข้าถึงศีล เข้าถึงหิริโอตตัปปะ

เมื่อเข้าถึงศีลโดยวินัย เป็นสติวินโย เป็นศีลวินโยนะ ...มันจะเกิดหิริและโอตตัปปะ คือมีความละอายตัวเองในการที่ปล่อยให้จิตล่องลอยเผลอเพลิน หรือคิดไปในเรื่องที่ไม่ควรคิด มันละอาย

ไม่ได้ละอายใคร...ละอายตัวเอง ว่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปกับสิ่งที่ไม่มีสาระได้อย่างไร ลมหายใจหมดไปกับอะไรๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ที่เป็นปัจจัยสงเคราะห์เข้าสู่มรรคผลและนิพพานได้อย่างไร

อันนี้ต่างหากที่พระอริยะท่านกลัว กลัวที่จะเนิ่นช้า กลัวจะไม่ทันการณ์ กลัวจะตายเสียก่อน...นี่ ที่ท่านกลัวนะ ...เพราะชีวิตเป็นของสั้น ท่านเห็นว่าสั้นมากๆ

เกิดมากี่ปีแล้ว ลองนึกดู แป๊บเดียวเอง เหมือนกับผ่านมาเมื่อไหร่ไม่รู้เลย แป๊บเดียวเอง มาถึงตรงนี้แล้ว ...แล้วกำลังจะไปข้างหน้าอีก ก็อีกแป๊บเดียวเอง ไม่นานหรอก เห็นมั้ย

แต่ว่าท่านกลัวไง กลัวว่า เออ ปล่อยให้มันคิดไปได้อย่างไร ...ท่านเข้มงวด ท่านเข้มงวดตัวเอง ท่านเข้มงวดต่อสติ ท่านเข้มงวดต่อศีล ...ศีลเหมือนรั้ว

ท่านก็คอยดูว่ารั้วมันผุมั้ย มันทะลุมั้ย มันหลงออกตอนไหน ตอนกินเหรอ ตอนคุยเหรอ นั่น ตอนทำงานเหรอ ตอนนอนเหรอ ตอนกำลังแต่งตัว อาบน้ำ กำลังขี้กำลังเยี่ยว

หรือตอนกำลังเที่ยว กำลังสนุก กำลังนั่งรถ กำลังนั่งเรือ กำลังขึ้นเครื่องบิน กำลังเดินลงบันได ...ท่านดูว่ามันชำรุดตรงไหน มันขาดตกบกพร่องตรงไหน

ท่านก็สานเติมเต็มด้วยสติสัมปชัญญะ ...เพื่ออะไร ...เพื่อให้ศีลกายปกติต่อเนื่อง เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมหาสติ เพื่อให้เกิดเป็นมหาปัญญา เพื่อให้เท่าทันกับอวิชชา

เพราะอะไร ...ความไม่รู้ ที่เราอยู่ ที่เราใช้ความคิด ความเห็น มันเป็นอัตโนมัติใช่มั้ย ไม่ต้องสอนไม่ต้องบอก มันหลงโดยอัตโนมัติเลยใช่มั้ย เจออะไรกระทบมาปุ๊บ ไม่คิดก็มีอารมณ์โดยทันที โดยอัตโนมัติ

เพราะนั้นถ้าไม่เข้าถึงมหาสติ มหาปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาขั้นอัตโนมัติ เป็นสติขั้นอัตโนมัติเหมือนกัน คือมันรู้โดยธรรมชาติของมันเลย เป็นอัตโนมัติ

ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องควบคุม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องระลึก ...มันรู้ๆๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด...ไม่เกิดก็รู้  เนี่ย มันจึงจะไปทันกันกับอำนาจของอวิชชา...ที่เป็นอัตโนมัติ

นี่จึงจะไปหักล้างกันได้ กับความไม่รู้ที่เป็นรากเหง้าฝังลึกอยู่ภายในใจ...จริงๆ ไม่ได้อยู่ในใจหรอก มันอยู่หน้าใจนั่นแหละ ห่อหุ้มใจอยู่

แต่เราดูสิ ดูดิ๊ เห็นมั้ย ...ไม่เห็นหรอก สติปัญญาระดับนี้ ไม่มีทางเห็นได้เลย ว่ามันอยู่ที่ไหนอวิชชา ความไม่รู้อยู่ตรงไหนยังไม่รู้เลย ไม่เห็นด้วยซ้ำ แล้วยังจะบอกว่าไม่มีด้วยเอ้า

เห็นมั้ย มันปิดบังได้ขนาดไหน บอกแล้ว ถ้าไม่ถึงขั้นมหาสตินี่ จะไม่เห็นเลยว่ารากเหง้าของความคิดน่ะคืออะไร เราจะเห็นแต่ความคิดมันลอย...ลอยมาจากไหนไม่รู้

แต่มันมีที่มาน่ะ อยู่ดีๆ มันจะลอยมาสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะ อารมณ์เหมือนกัน กิเลสก็เหมือนกัน มาจากไหน  มันต้องมี มันต้องมีต้นสายปลายเหตุ ...แต่เราไม่เห็นนะ

ถึงเห็นก็บอกมันมาจากไหนก็ไม่รู้ กิเลสอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่มันมาได้ตลอดเวลา เห็นมั้ย ...นั่นแหละคือความไม่รู้มันปิดบังตัวมันเองขนาดหนักเลย

ถ้าไม่ได้เจริญภาวนา สติภาวนา สมาธิภาวนา แล้วสะสมอำนาจบารมีกำลังไต่เต้ามาตามลำดับแล้วนะ จะเข้าไม่ถึงหัวหน้าโจร โคตรพ่อโคตรแม่โจร จะเข้าไม่ถึงเลย

เนี่ย พระอริยะ ถ้าถึงตรงนี้ท่านเสียดาย...เสียดายเวลาตรงนี้ ถ้าจะตายเสียก่อนที่จะเข้าถึงตัวโจร หัวหน้าโจร นั่นแหละ

เพราะนั้น พูดเพื่อให้เข้าใจ ให้มีกำลังใจ ให้ขยัน ขยันหายใจหน่อย ไม่ใช่ปล่อยหายใจทิ้งๆ ขว้างๆ คือขยันรู้ตัวนั่นแหละ มันก็ต้องตั้งใจหายใจ

ไม่ใช่อยู่แบบไม่ตั้งใจหายใจ คืออยู่แบบปล่อยปละละเลย ...ตั้งใจหายใจหน่อย คือตั้งสติมารู้ในลมหายใจบ้าง กายบ้าง เดินบ้างยืนบ้าง ...ถามตัวเองบ้างว่าทำอะไรอยู่รู้มั้ย

ตอนนี้รู้ตัวมั้ย รู้อยู่กับอะไร ดูไป กายอยู่ท่าไหน มันมีอาการอย่างไร กระวนกระวายก็รู้ว่ากระวนกระวาย สบายก็รู้ว่าสบาย เฉยๆ ก็รู้ว่าเฉยๆ

แต่ส่วนมากจะให้รู้กายไว้เป็นหลัก ยืนเดินนั่งนอนๆ มันทำอะไร มันอยู่ในอาการลักษณะมือยังไง ขาอยู่ยังไง พยายามกลับมาตรงนี้ สม่ำเสมอ บ่อยๆ เป็นนิสัย

ถือว่าสร้างนิสัยในธรรม ในการให้เกิดปัญญาในธรรม เห็นธรรมตามความเป็นจริง ทีละเล็กทีละน้อยไป ...แล้วมันจะเห็นละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆ

เอ้า เอาแล้ว พูดมากเดี๋ยวจำมาก คิดมากอีก ...เอ้า ไป


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น