วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 8/36 (3)


พระอาจารย์
8/36 (add550617)
17 มิถุนายน 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 8/36  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  นี่ต่างหาก ที่ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เกิดปัญญา...ให้ปัญญามันเห็นความจริงอันนี้ ในขันธ์อันนี้ ว่ามันเป็นธรรมอย่างไร ว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างไร 

และเห็นว่าความเป็นจริงของมันคืออะไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะเกิดผลสูงสุด ...เห็นมั้ย พระพุทธเจ้าพูดตั้งแต่ผลเบื้องต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด

เบื้องต้นคืออะไร เอามันไปทำบุญซะ แล้วจะได้บุญ เห็นมั้ย การเข้าไปจัดการโดยเอากายไปใช้ยังไง ถ้าเอามันมาเจริญสติศีลสมาธิปัญญา ขั้นละเอียดขั้นประณีต ก็จะได้บุญสูงขึ้น

ท่านบอกไว้หมดประโยชน์ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด เอ้า ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เอาไปทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ข่มเหงรังแกผู้อื่น ก็จะได้ทุกข์ได้โศก เลือกเอา ท่านให้เลือกเอา

มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะเลือกทำบาป ใช่มั้ย พอฉลาดขึ้นหน่อยมันก็เลือกทำบุญ ถ้าฉลาดที่สุดล่ะก็เอามันมาปฏิบัติธรรมเลย ...พอเอามันมาปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังมาเป็นขอทานอีก

ก็เอามาปฏิบัติธรรมเป็นผู้ปฏิบัติที่แท้จริง ฉลาดซ้อนฉลาดนี่ คือเข้าห้องปฏิบัติการรู้และเห็น สังเกตดู ไม่ทำ ไม่ดัดแปลง ไม่แก้ไข ไม่หนี ไม่เปลี่ยน ไม่ทำให้มันผิดไปจากสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ

มันจึงเกิดปัญญา คือเห็นสภาวะที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่เห็นสภาวะที่ต้องการเห็น ไม่ใช่ไปเห็นสภาวะที่ทำให้เห็น ...แต่ปัญญาญาณคือมันเห็นตามสภาวะที่แท้จริง

ต้องเข้าใจนะ ปัญญาที่นักภาวนาทั่วไปมันต้องการให้เห็น มันก็ทำเพื่อให้เห็น มันต้องการให้รู้มันก็ทำเพื่อให้รู้ แล้วก็เข้าใจว่าปัญญา ...เห็นมั้ย ปัญญายังมีโมหะ ปัญญายังมีมิจฉาปัญญาเลย

แต่ปัญญาญาณที่แท้จริงนี่ คือเห็นเท่าที่มันแสดง เท่าที่มันปรากฏตามจริง เนี่ยคือปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ชัดเจน

และผลของการที่ปัญญาเข้าไปเห็นด้วยความถ่องแท้และชัดเจนคือปล่อย วาง จาง คลาย ไม่เข้าไปหมายมั่น หรือหมายน้อยลง หรือเข้าไปให้ค่าให้ราคากับมันน้อยลง นี่คือผลของปัญญาที่แท้จริง

ไม่เข้าไปถือครองอะไร ไม่เข้าไปครอบครองอะไร ...ไอ้ที่ครอบครองไว้ก็มีแต่จะปล่อยให้น้อยลง ไอ้ที่มันยึดไว้ ถือไว้แนบแน่น ก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง

นี่คือปัญญา ผลจากการรู้จริง รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริง รู้เท่าที่ปรากฏ ด้วยความชัดเจนและถ่องแท้ ว่าไม่เข้าไปกระทำอะไรกับมันเลยด้วยเจตนาใดเจตนาหนึ่ง

สติล้วนๆ กับธรรมล้วนที่ปรากฏด้วยศีลคือความปกติ ปรากฏยังไงก็อย่างงั้น นี่เรียกว่าปกติ เรียกว่าศีล สติก็เข้าไปรับรู้ความเป็นปกติกายปกติศีล ปกติธรรม

ล้อมรอบกายขันธ์นี่ ก็เรียกว่าธรรมภายนอก มันปรากฏอย่างไร เสียงอย่างไร รูปอย่างไร จิตอย่างไร ก็รับรู้ด้วยความเป็นปกติ นี่เขาเรียกว่าอยู่ในองค์ศีล

สติมันอยู่ในศีล มันก็จะเห็นชัดเจน ในการดำรง ปรากฏขึ้น ของสภาวะธาตุ สภาวธรรม สภาวะขันธ์ ว่ามันเป็นสภาวะจริงอย่างไร

ในขณะที่มันเห็นสภาวะพวกนี้ มันก็จะเห็นสภาวะหนึ่งที่แทรกซ้อนขึ้นมา ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่จริง ที่เกิดขึ้นจากจิตมันสร้างขึ้นมาต่างๆ นานา ...มันก็จะละไอ้สภาวะที่ไม่จริงออกไป ยังคงไว้แต่สภาวะจริง

เพราะนั้นแรกๆ น่ะ มันยังยอมรับสภาวะจริงนี้ไม่ค่อยได้หรอก ต้องอดทนก่อน ร้อนก็ร้อน หนาวก็หนาว เมื่อยก็เมื่อย ได้ยินได้ฟังเสียงไม่ดี

มันรับไม่ได้หรอก แรกๆ น่ะ อดทนเอา เรียนรู้กับมันไปก่อน จนมันเข้าใจว่า ความเป็นจริงของเสียง ของร้อน อ่อน แข็งนี่คืออะไร

ความเป็นกลาง ความยอมรับ ในสภาวะธาตุ สภาวธรรม สภาวะขันธ์นั้น ก็จะเกิดภาวะที่ยอมรับได้มากขึ้น เป็นกลางมากขึ้น ปกติมากขึ้น ธรรมดามากขึ้น

มีเงื่อนไข มีปัญหากับมันน้อยลง ความคิดความปรุง จิตที่เข้าไปคิด หาเหตุหาผลก็น้อยลง จิตที่โต้ที่แย้ง ที่อ้างนั้นอ้างนี้ก็น้อยลง การอยู่กับมัน การมีชีวิตร่วมอยู่กับมันก็ง่ายขึ้น

ไม่ทุรนทุราย ไม่ค่อยกระสับกระส่าย ไม่ค่อยอึดอัดคับข้อง ไม่ค่อยรู้สึกว่าอะไรเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ ...จนถึงเรียกว่าหมดสิ้นจากทุกข์ในโลก ที่จิตไม่รู้สร้างขึ้นมา

เช่นเวลาเราปวดนี่ เมื่อยนี่ หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความปวดความเมื่อย คือทุกข์อันหนึ่งตามความเป็นจริง ...แต่มันไม่มีแค่ทุกข์อันหนึ่งตามความจริง มันยังมีทุกข์อันที่สองตามความไม่จริงทับถมขึ้นมาอีก

เห็นมั้ยว่ามันรับทุกข์สองทุกข์นะ ทุกข์หนึ่งตามจริง อีกทุกข์หนึ่งมันสร้างขึ้นมาเอง จิตที่ไม่รู้สร้างขึ้นมา “ทำไมมันถึงปวด ทำไมมันไม่หายปวดสักที” นี่ เป็นทุกข์แล้วนะ

ปวดยังเท่าเก่า แต่ขึ้นๆ ลงๆ ...แล้วไอ้ปวดเมื่อคิดมันมาทับถม ไอ้ตัวทุกข์ตัวนี้มันจะทับถมทุกข์ตามความเป็นจริง จนไม่เข้าใจ แยกไม่ออก จนเกิดภาวะที่จะเข้าไปแก้ ทำลาย แก้ทุกข์

พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า อย่าไปแก้ทุกข์ ...ให้รู้ ให้รู้กับทุกข์ ให้รู้กับเสียง ให้รู้กับกลิ่น ให้รู้กับรส ...แรกๆ มันก็ยังเป็นทุกข์กับเสียงอยู่นะ ก็ให้รู้ไว้

มันยังแยกไม่ออก อันไหนเป็นทุกข์ธรรมชาติ อันไหนเป็นทุกข์อุปาทาน ...เดี๋ยวปัญญาที่มันอดทนอดกลั้น หยั่งลงรับรู้มันด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันธรรม

มันจะเกิดภาวะที่เข้าไปจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ จำแนกกาย จำแนกใจ จำแนกจิต จำแนกธรรม จำแนกผัสสะ จำแนกอารมณ์ จำแนกกิเลส จำแนกความเห็น จำแนกความอยาก จนเป็นส่วนๆๆ 

ขันธ์น่ะ ต่อกันไม่ติดแล้ว ...มันเลยเข้าไปเห็นขันธ์ห้านี่ ขาดๆ เว้าๆ แหว่งๆ ร่องแร่ง มันเชื่อมไม่ต่อเป็นตัวเป็นตน

นั่นแหละปัญญามันเข้าไปจำแนกธาตุจำแนกขันธ์ออก เป็นส่วนๆ ไปเลย จนหาความเป็นตัวตนไม่ได้ จนแยกออกชัดเจนระหว่างอันไหนทุกขสัจ อันไหนทุกขอุปาทาน

อันไหนทุกข์ตามความเป็นจริง อันไหนทุกข์เกิดจากความไม่รู้ แล้วมันรังสรรค์ขึ้นมาด้วยความซับซ้อนของจิต มันก็เห็นหมดทุกกระบวนการแล้วก็จำแนกออก

อันไหนไม่จริง ก็ไม่ไปสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ไปแตะต้องข้องแวะ ...ก็จะเห็นว่าเมื่อใดที่ไม่เข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมข้องแวะกับสภาวะที่ไม่จริง สภาวะนั้นจะดำรงอยู่ไม่นาน มีความเสื่อมไปสลายไปเอง

แต่สภาวะทุกขสัจตามความเป็นจริง ทุกข์ธรรมชาตินี้ ขึ้นกับเหตุและปัจจัย ...ตราบใดที่เรายังไม่ปิดพัดลม ลมมันก็ยังไม่หยุด มันขึ้นกับเหตุ มันเปลี่ยนไปตามเหตุและปัจจัย

ตราบใดที่ปิดพัดลม ไม่ต้องไปคิดถึงลม เพราะมันจะมาต่อเมื่อเราไปเปิดพัดลม เนี่ย อย่างเนี้ย ก็จะเข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ได้ขึ้นกับความอยาก-ไม่อยากของเรา

แต่จะเห็นเลยว่าไอ้ทุกขอุปาทานนี่ มันขึ้นลงตามความอยากและไม่อยาก ...ก็ถ้าละความอยากและไม่อยากออกไปซะ ไอ้ขึ้นๆ ลงๆ ของทุกข์นี้ก็ไม่มี

นี่ มันเรียนรู้อย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้ มันแก้กันอย่างนี้ ...แต่ลมพัด-ลมไม่พัดนี่ปล่อยมัน เป็นเรื่องของอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของกู เป็นเรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของใคร

อย่างนี้ เป็นสภาวะที่นอกเหนือการควบคุม เป็นสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ จัดการไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ...ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ยิ่งแก้ยิ่งทุกข์ ยิ่งแก้ยิ่งมีทุกขอุปาทาน ยิ่งแก้ยิ่งมีอุปาทาน ยิ่งแก้ยิ่งมีเป้าหมาย

ยิ่งแก้ยิ่งคาดยิ่งหมาย ยิ่งคาดยิ่งหวังยิ่งปรุงยิ่งแต่ง...ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ยิ่งทำ...เพราะมันจะได้ผลไม่เหมือนกัน มันเลยกลายเป็นเบี้ยหัวแตก เหมือนกับสางปมด้าย สางไม่ออก ยุ่งไปหมด

เวลามันยุ่งไปหมด มันแก้ไม่ออก มันทำยังไงรู้มั้ย ...มันก็ทิ้ง แต่มันทิ้งด้วยอารมณ์นะ ไม่เอาแระ ยุ่งฉิบหาย ...นั่น มันมันจะทิ้งอย่างนั้น ไม่ได้ทิ้งด้วยปัญญานะนั่นน่ะ

ใจเย็นๆ ดูไป ทีละนิดทีละหน่อย สางไป ได้คืบเอาคืบ ได้ศอกเอาศอก มันก็จะคลี่คลายปม ...ถ้าเผลอ มันขยำใหม่ เดี๋ยวเป็นปมอีก  ถ้าไม่ระวัง ไม่เดินในองค์มรรค เดี๋ยวมันก็ทำเป็นปม

แต่ถ้าตั้งอยู่ในองค์มรรค ยืนเดินนั่งนอนรู้อยู่ มันค่อยๆ คลี่คลายออก ได้คืบหนึ่ง ได้ศอกหนึ่ง ได้เป็นหลายวาหลายเมตร ...ไอ้กลุ่มด้ายที่มันขยำ มันก็ไม่เป็นปม ด้ายก็เป็นเส้นตรงขึ้น

จากนี้ก็เพียรระวังเท่าทัน คือไม่เข้าไปขยำให้มันเป็นกลุ่มเป็นก้อนสานกันให้วุ่นวี่วุ่นวาย ...เนี่ยคือภพชาติ พอด้ายมันคลี่ออกจากปมเป็นเส้นตรงนี่ก็สบายแล้ว 

มันก็เห็นเส้นทาง หัว กลาง ท้าย สั้นหรือยาว ...ก็เดินไปตามเส้นทางนั้น ตามความเป็นจริงที่เห็น

การปฏิบัติมันง่าย...ถ้าไม่คิด  มันยากเพราะคิด ...ถ้าเราไม่คิดเลย นั่งก็นั่งเฉยๆ แล้วก็รู้เฉยๆ ตอนนั่ง ไม่คิดอะไรเลย ไม่เห็นยากเลย 

เพราะมันจะไม่มีอดีต เพราะมันจะไม่มีอนาคต เพราะมันไม่มีผลที่คาดว่าจะได้ ไม่มีผลที่คาดว่าจะไม่ได้ ...เห็นมั้ย ไม่เห็นยุ่งเลย

แต่เมื่อใดน่ะที่ไม่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่รู้อยู่เฉยๆ “จะไปนั่งที่ไหน ไอ้รู้อย่างนี้วิธีนี้รู้ไม่จริง ทำขึ้นมา หรือว่าจำอาจารย์มาแล้วก็นึกว่ารู้” ...เอาแล้วโว้ย หาเรื่อง มันหาเรื่องแล้ว จิตนี่

นี่เริ่มจ้างไกด์เมามานำทางแล้ว ...จริงๆ ไม่ได้จ้าง มันเริ่มเสนอตัวขึ้นมา  แล้วกูโง่ไง หาใครไม่ได้แล้ว ห่างไกลครูบาอาจารย์ กูก็จ้างคนเมาน่ะเป็นผู้นำไป ...มันจะเป็นอย่างเนี้ย

แล้วก็พาไปตก...จะขึ้นหิมาลัยก็พาไปตกใต้ตีนหิมาลัย เอาแล้ว คลานขึ้นมาด๊อกแด๊กๆๆ “จารย์ๆๆ” ...เอ้า บอกแล้วว่าให้รู้เฉยๆ  ก็กลับไปใหม่ ก็ไปเดินตามผู้รู้ไป

ก็อย่างเนี้ย มันต้องอย่างเนี้ย ไม่มีทางอื่นหรอก ...แต่สักพักหนึ่งถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่ชัดเจน แล้วก็ไม่สม่ำเสมอ มันก็จะเคลื่อนคล้อยออกไป เรียกว่าจิตมันเคลื่อน

เพราะธรรมชาติของจิตไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีอยู่แล้ว มันต้องคิดอยู่แล้ว มันต้องมีความคิด มันต้องมีอารมณ์อยู่แล้ว เป็นธรรมดา

แต่ว่าจิตที่ไม่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ เป็นรากเป็นฐานอยู่ มันจะกระโดดไป ...พอกระโดดไป มันจะสร้างความเป็นเรากับอาการของจิต คือเป็นผู้ตามที่ดีไง คือเรา แล้วก็เป็นเบ๊ของมัน

เจ้านายใหญ่นายโตของมันก็สั่งว่า เฮ้ย เดินไปหยิบไอ้นั่น เฮ้ย ไปทำอย่างนั้น ไปทำอย่างนี้ ...“เรา” ก็จะกลายเป็นเบ๊ของไกด์เลย เป็นข้าทาสบริวาร ไอ้มันก็เมาไปเมามา กูจะไปไหนก็ไป

กูบอกว่าที่นั่นดี กูบอกว่าให้เปลี่ยน กูไปที่อื่นนะ กูก็ไปทำอย่างอื่น กูบอกว่าวิธีการนี้ใช่แล้ว ทำไปทำมากูบอกว่าไม่ใช่อีกแล้ว กูจะเปลี่ยน ...“เรา” ก็ทำตามมัน แน่ะ เป็นข้าทาสบริวารของขี้เมา

เมามากี่ภพกี่ชาติแล้ว ให้มันนำทางมาเท่าไหร่แล้ว ตั้งตัวเองเป็นศาสดาหัวแหลม ...ทั้งที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร...มันก็จะแหก...แหกกฎอยู่นั่น

ก็บอกว่ารู้ก็คือรู้ ก็บอกว่าสติก็สติ ก็บอกว่าศีลคือปกติ ก็คือปกติกาย ศีลก็คือปกติกาย ก็บอกว่าให้รักษาศีล...ก็ไม่รักษา ก็บอกว่าอย่าค้นอย่าหา เพราะมันเป็นตัณหา...ก็ยังหา ก็ยังค้น

บอกว่าอย่าสงสัย มันก็ยังสงสัยอยู่นั่นน่ะ ก็บอกว่าสงสัยมันไม่ได้มรรคได้ผลเพราะสงสัยหรอก ก็จะสงสัย ...ทำไม เป็นขี้เมาอ่ะ เห็นมั้ย เห็นมันเมามั้ย มันไม่ฟังน่ะ มันไม่ฟังอะไรเลย

บอกว่า นั่งรู้ว่านั่ง แล้วก็ดูว่าใครนั่ง มันก็ยังบอกว่า "เรา" นั่ง ...หน้าด้านอย่างนั้นน่ะ เห็นมั้ย มันดื้อด้านขนาดนั้นน่ะ ก็เห็นอยู่คาตาว่ามันนั่งกับรู้ ใช่มั้ย เป็นแค่นั่งกับรู้

เดี๋ยวมันก็สอดขึ้นมา “มีแค่นั่งกับรู้ แล้วใครนั่งอยู่ล่ะ...ก็เราสิ” ...แน่ะ มาอีกแล้วขี้เมา โพล่งขึ้นมาอีกแล้ว

กว่าที่จะให้มันสร่างเมาน่ะ รากเลือด ...ต้องอบรมกัน ต้องเท่าทันกัน ต้องแข็งแกร่ง ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับอาการไหนของจิตผู้ไม่รู้ ...พากเพียร ดำเนินไป

เอ้า พอแล้ว เดี๋ยวมันเข้าฌานกัน จะเข้าฌานแล้ว (หัวเราะกัน) ...เอาแล้ว ไป


..................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น