วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 8/18 (2)


พระอาจารย์
8/18 (550707C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 กรกฎาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 8/18  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ตอนนี้คิดเห็นปรุงแต่งอะไรขึ้นมา มันมีรสชาติหวานเค็มมันเปรี้ยว มีตัวเรามีของเรา มีเวทนาอยู่ตรงนั้น ...มันติดข้องน่ะ

แต่เมื่อใดที่อดทนอยู่กับมัน ไม่ตามมัน ไม่ตามความคิดนั้น ไม่ตามความเห็นนั้น ไม่ตามความอยาก ไม่ตามความไม่อยากแต่ประการใด ...อยู่ที่กายเดียวจิตเดียวนี้ 

สิ่งต่างๆ ที่จิตมันคิด มันนึก มันปรุง มันแต่ง มันมีความเห็นใดๆ ก็ตาม ...มันเหมือนกาก ซาก ชานอ้อย ที่หมดความหวาน ความเปรี้ยว ความมัน ความเค็มแล้ว 

มันไม่มีสาระ ...มันก็เป็นอะไรดาดๆ ดื่นๆ ธรรมดา...ไม่มีราคาไม่มีค่าควรที่จะไปเป็นอะไรกับมันอีกต่อไป

จนเห็นธาตุแท้ธรรมแท้ของสิ่งต่างๆ สรรพสิ่งในสามโลกนี่  เหมือนชานอ้อยที่ไม่มีน้ำหวาน น้ำตาล อยู่ในนั้นอีกต่อไป ...นั่นแหละคือธาตุแท้ธรรมแท้ 

ก็เข้าสู่ธาตุแท้ธรรมแท้ ซึ่งไม่มีอะไร ไม่มีรสชาติอะไร ...ไอ้ตรงที่ไม่มีรสชาติอะไร...นั่นน่ะคือธรรมบริสุทธิ์ที่แท้จริง 

ซึ่งธรรมยังคงความบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ...ไม่ใช่มาบริสุทธิ์ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้ หรือจำเพาะที่ศาสนาพุทธดำรงอยู่ธรรมนี้จึงบริสุทธิ์...ไม่ใช่ 

ธรรมเป็นธรรมวันยังค่ำ ไม่แปรเปลี่ยน มีความอมตะธาตุอมตธรรม เป็นกลางอยู่เช่นนั้นเสมอมา

เพียงแต่ไม่มีสัตว์บุคคลมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งหยั่งเข้าไปถึงเนื้อแท้ธรรมแท้ เข้าไปลิ้มรสชาติของเนื้อแท้ธรรมแท้ ที่ไม่มีรสชาติ...นั่นน่ะคือรสชาติของพระธรรม  

เคยได้ยินคำว่าดื่มด่ำในธรรมมั้ย ...ไม่เป็นสุขนะ ไม่มีความหวาน ไม่มีความมัน ไม่มีความเปรี้ยว แต่เข้าไปดื่มด่ำกับรสชาตินั้นน่ะ มันเป็นรสชาติซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านั่นน่ะคือบรมสุข

นิพพานัง ปรมัง สุขขัง ... นิพพานัง ปรมัง สุญญัง  มันไม่รู้จะพูดยังไงดี มันเป็นรสชาติที่ไม่มีรสชาติ ...แต่รสชาติที่ไม่มีรสชาตินี่ พระพุทธเจ้าท่านกลับตรัสว่า...นี้คือบรมสุข 

เพราะเป็นรสชาติที่ไม่มีทุกข์ แล้วจะไม่ก่อเกิดทุกข์อีกต่อไปโดยสิ้นเชิง ...นี้ต่างหากคือรสชาติของพระธรรม สำหรับผู้ที่เข้าไปลิ้มรสชาตินี้ ด้วยการไม่หวนคืนมาสู่หวานมันเปรี้ยวเค็มเฝื่อนฝืดขมอีกต่อไป 

ลาขาดแล้ว มันขาดแล้ว...คำว่าลาขาดนี่ มันขาดจากรสชาตินี้แล้ว  มันเหลือรสชาติเดียวคือรสของพระธรรม รสชาติของธรรม...ที่ไม่มีอะไรในนั้น

กายหนึ่งจิตหนึ่ง ธรรมหนึ่งจิตหนึ่ง ...กายก็เป็นธรรมหนึ่ง ถ้าเข้าไปเห็นรสชาติของกายหนึ่งธรรมหนึ่ง มันไม่ต่างจากสรรพสิ่ง ...เป็นธรรมเดียวกันหมด 

รสชาติของพระธรรมเป็นรสชาติเดียวกันหมด เป็นรสชาติของอ้อยที่ไม่มีน้ำตาล ...นั่นน่ะรสชาติธรรมดานั่นแหละ

ยังไปหาอะไรกันอีก ยังไปหาที่ไหนกันอีก ยังไปค้นยังไปสร้างอะไรอยู่อีก ...มันยิ่งไกลนะ มันยิ่งนานนะ ที่จะเข้าไปลิ้มรสชาติของธรรมที่มีอยู่นี้ เดี๋ยวนี้ 

ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ แต่กลับสละสิทธิ์นั้น...ได้ไง ...ให้ตำราพาไป ความคิดความเห็นพาไปหา ความเชื่อคนนั้นพูดคนนี้พูด ทำให้เกิดภาวะสละสิทธิ์ในธรรม ...ได้ไง 

มันก็จะได้รสชาติหวาน มัน ขม เปรี้ยว เฝื่อน ฝืด สลับกันไปนั่นแหละ ...ก็ได้รสชาติแปลกๆ ใหม่ๆ ใช่มั้ย ปฏิบัติธรรมนี่ไม่รู้กี่รสชาติแล้วน่ะ  ...แล้วก็มาเลือกเฟ้นคัดเอา อันนี้ดี-อันนี้ไม่ดี 

ใครล่ะเลือก ใครล่ะเฟ้น ใครล่ะเสพ รสชาตินั้น...“เรา” ...หัวยันตีนก็เรา ก่อนโลกเกิดยันโลกดับก็มี "เรา" อยู่นั่น อดีตอนาคตน่ะ ไม่ไปไหนหรอก "เรา" ทั้งแท่ง "เรา" ล้วนๆ

จนเอา "เรา" มาเสพรสชาติเดียวนั่นแหละ...ถึงจะรู้  ...มันจึงจะหมดความเป็นเราที่จะไปแสวงหารสชาติใหม่ ...เพราะมันเห็นแล้วว่ามีรสชาติเดียว เหมือนน้ำทะเล เหมือนน้ำเกลือ น้ำเค็ม 

ไม่ว่าเกลือที่ไหนก็เค็ม สินเธาว์ก็เค็ม เกลือในทะเลก็เค็ม เกลือในประเทศต่างๆ ก็เค็ม มีรสชาติเดียว ...พระธรรมมีรสชาติเดียวกันหมด นั่นแหละ มีรสชาติเดียว

แล้วทำไมการปฏิบัติธรรมมันจึงมีหลายรสชาติได้ยังไง หือ มันเป็นธรรมประสาอะไร 

พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบไว้ว่าธรรมของท่านเหมือนน้ำทะเล แม่น้ำทุกสายไหลมารวมที่ทะเล เป็นหนึ่งเดียวกันหมด เป็นรสชาติเดียวกันหมด

แล้วอะไรอยู่ในทะเลน่ะ ทะเลมันซัดขึ้นฝั่งหมด มันก็คงความเป็นทะเลของมัน 

อันไหนที่ไม่จริงมันอยู่กับธรรมไม่ได้หรอก จะมาบิดเบือนธรรมไม่ได้ จะมาบิดเบือนความเป็นจริงไม่ได้ ไม่ว่าความอยาก-ความไม่อยาก ไม่ว่าความคิดความเห็น ไม่ว่าความเชื่อ

มันก็คือซากเศษวัสดุที่ลอยอยู่ในทะเล แล้วก็ถูกทะเลซัดขึ้นฝั่งวันยังค่ำน่ะแหละ ...มันไม่จริง มันจะมาปนเปื้อนในธรรมนี้ไม่ได้ 

พระสัทธรรมนั่นจึงคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์อยู่เสมอมาและเสมอไป ..นี่ ธรรม ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์ที่จะไปเปลี่ยนธรรมหรือสร้างธรรมขึ้นมา ...ได้ไง

กว่าจะอบรมเรียนรู้ให้เข้าใจนี่ ต้องอยู่ในกรอบศีลสมาธิปัญญาจริงๆ ...ไม่ใช่เล่นๆ ...ต้องจริงๆ  

ถ้าจริงๆ ก็หมายความว่าตลอดเวลา ...เผลอไป หลงไป ขาดไป หายไป อย่าไปตีอกชกหัว อย่าไปร่ำร้อง อย่าไปตำหนิ อย่าไปโทษนั้นโทษนี้ ..รู้ตัวซะ กลับมารู้ตัวซะ

ก็กลับมาอยู่กับกายเดียวจิตเดียวซะ...ด้วยสติ  แล้วก็ให้มันมากขึ้นไป ระมัดระวังมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น ถี่ถ้วนมากขึ้น มันหลงไปตอนไหน มันขาดไปกับอะไร

ตอนหยิบตอนจับ ตอนขยับตอนเขยื้อน ตอนพูดตอนคุย ตอนขึ้นรถลงเรือ ตอนกินตอนนอน ตอนใส่เสื้อผ้าถอดเสื้อผ้า ตอนไหนน่ะ ...มันต้องดูสิ มันหลุดไปตอนไหน มันขาดไปตอนไหน

หรือตอนนั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ แล้วมันหายไปตอนไหน ...ต้องถี่ถ้วนสิ ต้องแก้ที่ตัวเอง ต้องแก้ที่ตัวมันน่ะ ...มันหลุดตรงไหน มันขาดตรงไหน ก็ต้องแก้ตรงนั้น 

จะไปแก้ที่ไหนล่ะ จะไปหาวิธีแก้ที่ไหน จะไปหาอุบายอะไร ...ในการดำรงชีวิตประจำวัน มันก็มีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง มันมีตอนไหนล่ะ มันหลงตอนไหน มันขาดตอนไหน ...มันไม่ต้องไปถามคนอื่นหรอก 

เพราะในกิจวัตรประจำวัน มันจะมีอาการซ้ำซากอยู่ เข้าใจมั้ย มันวนเวียนๆ อยู่นี่ ...ตรงไหนมันรู้ตัว ตรงไหนมันไม่รู้ตัว...และมันก็จะไม่รู้ตัวซ้ำซากอยู่ตรงนั้นแหละ 

ตอนเจอคน ตอนคุยกับคน...แน่นอน ตอนคุยโทรศัพท์...แน่นอน  ...นี่ ดูเอาสิ  ก็ต้องถี่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้มัน...เป็นยังไงก็เป็นยังงั้น เป็นอยู่อย่างนั้นน่ะ

สติมันจะเต็มได้ยังไง ศีลมันจะเต็มได้ยังไง มันก็โหว่อยู่ช่องเดิมนั่นแหละ ...แล้วมัวแต่ไปหาวิธีแก้ เอ๊ะ ทำไมเราไม่ก้าวหน้าซักทีวะ ...มันจะไปก้าวยังไงล่ะ จุดบกพร่องมันมีอยู่ อู๋ย แผลนี่เต็มตัวเลย

คือเป็นนักมวยก็เรียกว่าไม่มีรูปแบบไม่มีฟอร์ม ...กูโดนชกทุกครั้งที่ก้าวย่างเลยน่ะ ต่อยเข้ามาได้ทุกหมัดเลย แล้วบอก "เอ๊ะทำไมไม่ชนะซะทีวะ" ...ก็มันสมควรแล้ว มันมีแต่จุดบอด เข้าใจมั้ย

มันหาสัญญาณไม่เจอ เหมือนกับมือถือมันขึ้นว่า No service ...ก็มันไปอยู่ในที่อับสัญญาณน่ะ เข้าใจรึยัง คือไปอยู่อย่างนั้น กิจวัตรตรงนั้น ความคุ้นเคยตรงนั้น ...มันก็เผลออยู่ ลืมตัวอยู่ตรงนั้นแหละ

ลืมตัวตอนคำพูดนั้น ลืมตัวตอนเจอคนนี้ ลืมตัวตอนกำลังทำอะไร กำลังกิน กำลังเข้าส้วม กำลังใส่เสื้อผ้า ...มันก็ลืมซ้ำซากอยู่ที่เดิมนั่น 

แล้วกิจวัตรมันก็ซ้ำเก่านั่นแหละ มันจะไปไหนล่ะ ...แล้วยังวิ่งไปหาวิธีแก้ที่อื่นน่ะ ไปแก้ได้ยังไง

เพราะธรรมมันอยู่กับเนื้อกับตัว สติก็อยู่กับเนื้อกับตัวนี่ ...ถ้าไม่แก้ที่เนื้อที่ตัวนี้ จะไปแก้ที่ไหน จะไปเอาอุบายอะไรมา มันหลอกเด็ก ...อุบายน่ะเอาไว้หลอกเด็ก  

เคยทำอุบายนั้นอุบายนี้ จิตก็วูบๆ วาบๆ มีอารมณ์นั้นมีอารมณ์นี้เกิดขึ้นบ้าง ดีอกดีใจ ...อู้ย นั่น หลอกเด็ก เหมือนขนม อมยิ้มน่ะ เคยกินอมยิ้มก็พาไปกินซะ พอหมดอมยิ้ม เอ้า หายแล้ว ...ก็ไปหาอมยิ้มใหม่

มันแก้ไม่ถูกที่ มันแก้ไม่ถูกที่น่ะ...ที่แก้มันอยู่ที่นี้  นี่ๆๆ มันหลงตรงไหนตอนไหนในวันนึงนี่ ดูเอา ทบทวนดู ...แล้วก็อุดรอยโหว่ รอยรั่ว 

นั่นน่ะเขาเรียกว่ารักษาศีลไม่ให้ทะลุ ไม่ให้บกพร่อง ไม่ให้มันขาด ไม่ให้มันด่างพร้อย ...สติสมาธิก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวนั่นแล ไม่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสหรอกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

จะเอาแต่สติ จะเอาแต่ดูจิต มันไม่เข้าใจหนา ...ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะมาพูดทำไม ศีล สติ  สมาธิ ปัญญา จะมาพูดทำไม ก็พูดไปเลยว่าดูจิต มีสติแล้วก็รู้จิตดูจิต ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ปัญญาล้วนๆ เอาไปเลย

ไม่ได้น่ะ ...ได้ก็ไม่ใช่ ยังไม่ถึง ยังไม่ถึงขันธ์ ยังไม่ถึงเลือดถึงเนื้อของขันธ์ ยังไม่ถึงเลือดถึงเนื้อของกายแท้กายธรรมเลย ...กายแท้กายธรรมยังไม่เข้าใจเลย มันจะไปเข้าใจอะไร หือ 

กายแท้กายธรรมนี่ยังไม่รู้...มีแต่กายเรา ตัวเรา มันดูอะไรก็ไม่รู้ 

เพราะนั้นศีลน่ะ ถึงบอกว่าเป็นรากฐานจริงๆ หนา ...แล้วเมื่อศีลนี่เป็นรากฐานแล้ว สุดท้ายสมาธิ ปัญญาเกิด กลับมาทำให้ศีลนี่หนักแน่นขึ้น เป็นปกติขึ้น กว้างออกไปอีกๆ 

จนศีลนี่มันครอบสามโลกธาตุ คือเป็นธรรมดา เป็นปกติ ...ที่ไม่ใช่ใคร ที่ไม่ใช่ของใคร เป็นสาธารณะธรรม

ธรรมนี่เป็นสาธารณะนะ ไม่ใช่ของใครนะ ไม่ใช่เป็นสมบัติของใครนะ ไม่ใช่ใครเป็นเจ้าของได้นะ เป็นสาธารณะนะ ยืมมารวมกันไปแค่นั้นเองกับดินน้ำไฟลมน่ะ มหาภูตรูป ๔ 

แล้วนี่...กว่าจะรู้กว่าจะเข้าใจมันนี่ ต้องเพียรเพ่งอยู่ในกายแท้กายจริงนี่ เลือดตาแทบกระเด็น บอกให้เลย  กว่าจะเป็นมหาสติ ไม่ใช่ง่ายๆ หรอก

ไม่ใช่ที่จะมาเหลาะแหละๆ ไหลๆ หลงๆ ซ้ำซากอยู่ที่เก่าเวลาเดิมน่ะ ปล่อยไปแค่นั้นแหละ ไม่ได้ขวนขวายไม่ได้กระวีกระวาดกระวนกระวายด้วยศีลสติสมาธิขึ้นมาปิดรอย

ไม่งั้นก็เป็นพระที่บิณฑบาต แต่ถือบาตรก้นรั่ว ไม่เต็มหรอก ...มันต้องปิด มันมีรอยโหว่รอยรั่วตรงไหน ต้องดู ตรวจสอบ ต้องอุดปะปิดรูโหว่รอยรั่ว ...ตั้งแต่ตื่นนอนยันหลับ


(ต่อแทร็ก 8/18  ช่วง 3)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น