วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 8/19 (1)



พระอาจารย์
8/19 (550722A)
22 กรกฎาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ก็รักษาไป กายก็รักษาไป โรคกาย...ก็รักษาโรคกาย 

คราวนี้ว่า โรคที่สำคัญกว่าโรคกายก็คือโรคใจ ...ถ้าใจนี่มันไม่รักษา เดี๋ยวก็เกิดใหม่ เกิดใหม่มาเป็นมะเร็งกันใหม่อีก

ไอ้โรคกายมันก็รักษา เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็ไม่หาย  สุดท้ายมันก็..หายก็ตาย..ไม่หายก็ตาย ตายเหมือนเดิม ...นี่ก็รักษาเยียวยากันไปตามสภาพขันธ์

แต่ถ้าใจนี่ไม่รักษา ถ้าไม่รักษาโรคที่กัดกินอยู่ภายในใจนี่ ...มันก็เกิดมาใหม่ มีรูปธาตุนามขันธ์ รูปขันธ์นามขันธ์ เกิดขึ้น...วนเวียนซ้ำซากๆ

แล้วก็ต้องมาทนทุกข์ในการตั้งอยู่ของขันธ์ ในการดำรงอยู่ของขันธ์ มันถึงทุกข์...มีแต่ความแปรปรวน หาความคงที่แน่นอนไม่ได้ สุดท้ายก็มีความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดา

แต่ไอ้ใจที่มันมาอยู่กับขันธ์นี่ มันไม่เชื่ออย่างนี้ มันไม่ยอมรับอย่างนี้ ...มันก็เลยเกิดอาการต่อต้าน ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของขันธ์ ...มันก็เป็นทุกข์ มันก็จะเป็นทุกข์

เพราะนั้นทุกข์มากทุกข์น้อยนี่ มันอยู่กับใจ...ที่เข้าไปยึดถือหมายมั่นครอบครองขันธ์ว่าเป็นเราของเรา แล้วมันไม่เป็นไปดั่งประสงค์ ไม่เป็นไปดั่งใจมันต้องการ

นั่นน่ะ โรคนี้คือโรคใจนี่ โรคความคิดความเห็น เกิดขึ้นมาจากใจที่มันผิดปกติ มันมีกิเลสห่อหุ้ม มันมีความไม่รู้ปิดบังความเป็นจริงทั้งหมด

เพราะนั้นในขณะที่เยียวยารักษากายไป ก็รักษาใจไปพร้อมกัน...ได้มากก็เอามาก ได้น้อยก็เอาน้อย ...กายนี่ก็รักษาไป ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ก็ชั่งมันเถอะ

แต่ใจนี่ รักษาให้ดี รักษาให้เป็น ...ให้มันเข้าใจสภาพ ให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของขันธ์ ว่ามันเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก

จะให้มันดีขึ้นกว่านี้ กลับไปเหมือนหนุ่มเหมือนสาว มันก็ไม่เป็นแล้ว  เอ้า มันต้องทำใจยอมรับมันให้ได้ ...ไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้

ส่วนมากมันจะคิด...คิดด้วยความอยาก คิดด้วยความไม่อยาก พวกนี้ ...ก็ต้องละความคิดทั้งหลาย คิดให้น้อย อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดนาน อย่าไปคิดไกล อย่าไปคิดอดีต-อนาคต อย่าไปอยาก

เพราะนั้นลักษณะที่เรารู้เท่าทันความคิด รู้เท่าทันอารมณ์ รู้เท่าทันความอยาก ...ในขณะที่เราเรียนรู้เท่าทันความคิด เท่าทันความอยากนี่ ก็เรียกว่าเป็นการรักษาโรคใจไป

ผลของการรักษาเยียวยาใจก็คือ ทุกข์จะน้อยลง ...ไอ้ทุกข์กายก็ให้หมอเขารักษาไป โรคภายในใจก็รักษาด้วยสติ รักษาด้วยสมาธิ...คือตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปในอดีต ไม่ไปในอนาคต

ตัวที่มันจะไปในอดีต ตัวที่มันจะไปในอนาคต ก็คือความคิดมันพาไปในอดีต ความคิดมันจะพาไปในอนาคต ...ก็พยายามฝืน ทวน มาตั้งอยู่กับปัจจุบันที่มันไม่ต้องคิด อย่าให้มันคิดมาก

มันห้ามความคิดไม่ได้หรอก แต่ว่าอย่าไปขยับเขยื้อน หรือว่าไปปรุงต่อคิดต่อกับมัน...รู้แล้วก็ละ รู้แล้วก็วางความคิดไป ...กายจะเป็นยังไงก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามสภาพ ให้เป็นเรื่องของหมอ

คิดก็ไม่หาย คิดก็ไม่ดีขึ้น  คิดให้มันหายมันก็ไม่หาย คิดให้มันดีมันก็ไม่ดี  บางทีไม่ได้คิดเลย มันก็ดีขึ้นของมันเองน่ะ ...กายมันไม่ได้ขึ้นกับความคิดหรือความอยาก

ถ้าให้เปรียบ ท่านเปรียบว่ากายนี่มันเหมือนเป็นลูกอกตัญญู มันเป็นลูกเนรคุณ ...เราอุตส่าห์ป้อนข้าวป้อนน้ำเลี้ยงดูปูเสื่อให้มัน ดูแลมันมาตลอด

หิวก็หาอะไรให้มันกิน กระหายก็หาอะไรให้มันดื่ม ร้อนก็อุตส่าห์พามันเข้าร่ม หนาวก็อุตส่าห์หาผ้ามาห่มให้มัน เลี้ยงดูมันอย่างดี ...แต่มันไม่เคยตอบแทนเราในทางที่ดีเลย

มีแต่ความเสื่อมไป มีแต่ความทุกข์ความทรมาน มีแต่ให้โทษ แสดงความเป็นทุกข์อยู่เสมอ เหมือนลูกอกตัญญู มันไม่ตอบแทนพระคุณ เลี้ยงดูมันมาตั้งนาน

เพราะกายนี่...มันไม่ได้ขึ้นกับความปรารถนาหรือไม่ปรารถนาของใครคนใดคนหนึ่งหรอก  มันเป็นสภาวะธาตุที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ

คือเกิด...แล้วก็แปรปรวน ก็เรียกว่าแก่ ...ในความแปรปรวนก็มีความเจ็บไข้อยู่ในนั้น ทรมาน เป็นทุกข์ ...แล้วที่สุดของมันก็มีความดับ หรือความสิ้นไป ดับไป

นี่คือความเป็นปกติของธาตุขันธ์ ...ทุกคนน่ะ  ไม่ใช่ว่าคนป่วยเท่านั้น คนไม่ป่วยก็เป็น  ...มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ มันเป็นโดยที่ไม่สนใจใคร มันเป็นโดยที่ไม่ไหว้หน้าใคร ไม่เกรงใจใคร

เพราะว่าเขาเป็นความจริง ที่ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขความจริงนี้ได้  เนี่ย เราจะต้องสอนใจสอนจิตของตัวเอง...ให้เข้าใจความจริงอันนี้มากๆ แล้วอย่าไปทุกข์กับมัน

เพราะเป็นทุกข์ของมัน มันไม่ใช่เรื่องของใคร มันไม่ใช่เรื่องของเรา กายมันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของกาย ...กายไม่ใช่เรา

ก็พยายามบอกมัน เวลามันคิดออกไปว่า “เมื่อไหร่จะหาย เมื่อไหร่มันจะดีขึ้น ทำยังไงให้มันดีขึ้น” ...นี่ ยิ่งคิดยิ่งเศร้าหมอง ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ถ้าไม่คิดตำรวจก็ไม่จับหรอก

ไม่ต้องกลัวว่าถ้าไม่คิดแล้วมันจะไม่หายเร็วขึ้น ...บางที ไอ้ที่ไม่คิดน่ะ...มันจะหายเร็วกว่าคิดมากนั่นแหละ ใครจะไปรู้ เอาแน่เอานอนอะไรกับมัน

แต่รู้อยู่อย่างเดียว คิดมากทุกข์มาก คิดไกลยิ่งทุกข์มาก คิดล่วงหน้าคิดถึงอดีตก็ทุกข์ คิดว่าเมื่อก่อนเรายังดี เมื่อก่อนเราไม่เคยเป็นทำไมถึงเป็น ตำหนิติเตียนตัวเอง โทษนั้นโทษนี้..ก็ไม่เอา

ก็นั่งรอดูมันเฉยๆ ไป ดูความไม่สมประกอบของมัน ดูมันแสดงอาการแปรปรวนไปมา...ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความเป็นปกติ ...มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

พยายามมองให้มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องดีเรื่องร้าย เรื่องถูกเรื่องผิดแต่ประการใด ...เพราะว่าเป็นเรื่องของมัน เขาแสดงความเป็นจริงให้เห็น เขาแสดงความตรงต่อธรรมให้เห็น

อย่าไปบิดเบือนด้วยจิตที่ไม่รู้ อย่าไปบิดเบือนด้วยความคิด อย่าไปบิดเบือนด้วยความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง

ยิ่งไปบิดเบือนกับความเป็นจริงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ...แต่ถ้าเรายอมรับกับความเป็นจริงนี้ด้วยความตรงไปตรงมาและเข้าใจ ...ทุกข์ภายในก็น้อยลง

เวทนาน่ะมันมีสองเวทนา ความรู้สึกทางกายกับความรู้สึกทางใจ ...ความรู้สึกทางกายนี่ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของหมอ เรื่องของยา เยียวยากันไป

แต่ความรู้สึกทางใจนี่ สามารถที่จะรักษาได้ด้วยตัวเอง..ของทุกคนน่ะแหละ ... ถ้ามีปัญญา..เวทนาทางใจนี้ก็ไม่เกิด ทุกข์ใจไม่เกิด..มีแต่ทุกข์กาย

ถึงแม้ทุกข์กายมันจะมากขนาดไหน หรือน้อยขนาดไหน ...ถ้าไม่มีทุกข์ที่ใจหรือเวทนาที่ใจแล้วนี่...มันไม่รู้สึกเลยว่าสิ่งที่อยู่ต่อหน้าที่เป็นก้อนธาตุก้อนขันธ์นี่ มันจะเป็นความทุกข์ทรมานแต่ประการใด

ก็จะเห็นแต่ความเป็นจริงล้วนๆ ที่เขาแสดงความเป็นจริงให้เห็น ปรากฏอยู่ด้วยความเป็นกลาง ไม่ได้มีเจตนาให้ใครสุขใครทุกข์แต่ประการใด เขากำลังดำรงธรรม แสดงธรรมที่ปรากฏด้วยความชัดเจน

แล้วก็มันไม่ใช่เป็นแต่ใครคนใดคนหนึ่งหรอก มันจะต้องเป็นกันทุกคน ...มันจะต้องมีอย่างนี้ มันจะต้องเกิดอาการเหล่านี้ เหมือนกันหมดทุกคนแหละ

ไม่มีเว้นใคร แม้แต่กระทั่งพระพุทธเจ้า แม้แต่พระอรหันต์อัครสาวกอสีติลงมา ยันพระอรหันต์ พระอริยะ ยันปุถุชนคนธรรมดา...นับถือหรือไม่นับถือพุทธก็เป็น ...เหมือนกันหมด

นี่คือกฎตายตัวของธรรมชาติ มันเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่ากฎเกณฑ์นี้ได้ ไม่มีใครบิดเบือนกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ได้

มันก็เป็นคิวไป ตามคิว  เดี๋ยวก็คนนั้น เดี๋ยวก็คนนี้ คนนู้น คนโน้น  แล้วก็สุดท้าย ก็..อ้อ คิวเราแล้ว ...เตรียมใจให้พร้อม รักษาใจไว้ให้ดี ฝึกให้ใจมันมีสติปัญญามากๆ

ให้มันยอมรับกับความเป็นจริงให้ได้ ...แล้วมันจะไม่รู้สึกมีเวทนาเป็นทุกข์ภายในใจของสัตว์บุคคลนั้นๆ ...แม้จะไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่ก็เบาบางลงไป ให้มันเบาบางลงไป

อย่ามัวแต่ไปครุ่นคิดกังวล หาทางแก้แต่ถ่ายเดียว หาทางที่จะหนีเวทนาความเป็นจริง ที่กายมันกำลังสำแดงความวิปริตผิดธาตุของมัน ไม่งั้นจะยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น

ทุกข์กายก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของทุกข์กายไป ...เราก็มาสอดส่องกับทุกข์ใจ ให้เห็นว่าทุกข์ใจนี่มันเกิดมากขึ้นเพราะอะไร เวลาไหนที่ไม่เกิดทุกข์ใจขึ้นเพราะอะไร นี่ปัญญามันคอยสอดส่องตรวจตราทบทวน

เมื่อทบทวนอยู่อย่างนี้ มันก็จะเห็น เมื่อใดที่คิด เมื่อนั้นน่ะจะทุกข์  เมื่อใดที่ล่วงหน้าไปในอนาคต หรือเมื่อลับหลังไปในอดีต เมื่อนั้นก็ทุกข์อีกจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นที่ใจว่าเป็นทุกข์

เมื่อเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้  นี่เขาเรียกว่าเห็นเหตุที่เกิดทุกข์ภายใน ก็ละเหตุที่เกิดทุกข์นั้นซะ ...เพียรที่จะละเหตุให้เกิดทุกข์ มันต้องอาศัยความเพียร ต้องมีความเพียร

เพราะว่าละมันไม่ได้ง่ายๆ หรอก ความคิดไปในอดีต-อนาคตนี่  มันเป็นความติดข้อง อดไม่ได้ ...แล้วพอจะหยุดคิดหรือไม่ตามความคิดออกไป หรือไม่คิดต่อเนื่องกับมันนี่ รู้สึกยากเหลือเกิน

เพราะนั้นการที่จะหยุด...แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน โดยที่ไม่คิดไม่ปรุงนี่ ...มันก็ต้องอาศัยความเพียร ฝึกฝน รั้งไว้ ดึงไว้ คอยดึงกลับมาไว้ 

อย่าให้มันเตลิดไปกับความคิด เผลอเพลินไปกับความคิด ทั้งคิดดี-คิดร้าย คิดถูก-คิดผิด ไม่ว่าจะคิดไปในแง่ใดแง่หนึ่งก็ตาม 

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่าคิดมากก็ยิ่งทุกข์มาก คิดไปไกลก็ยิ่งทุกข์มาก ทุกข์นาน ...ดูเหมือนทุกข์นี่จะไม่จบไม่สิ้นเลย 

นี่ มันจะเกิดความเศร้าหมอง ขุ่นมัว กังวล กลัว ท้อแท้ อ่อนแอ ไม่เข้มแข้ง ไม่กล้าหาญ ไม่กล้าเผชิญความเป็นจริง


(ต่อแทร็ก 8/19  ช่วง 2)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น