วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 8/18 (3)


พระอาจารย์
8/18 (550707C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 กรกฎาคม 2555
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 8/18  ช่วง 2 

พระอาจารย์ –  มันต้องดูตั้งแต่ตื่นนอนยันหลับ ...ไม่ใช่ลุกขึ้นมาก็ลืมตัว ลืมตาตื่นก็เข้าห้องน้ำ หาของกิน ...จิตมันพุ่งแล้ว กายนั้นไปก่อนแล้ว ...กายนี้ยังอยู่นี่ 

เห็นมั้ย มันไวขนาดไหนล่ะจิตน่ะ ...ถ้าไม่เอาจริงเอาจังเท่าทันมันจริงๆ จะไม่เห็นเลยว่า กายหนึ่งจิตหนึ่งๆ ทั้งวันนี่ ...โอ้โฮ ใครว่าปัญญาวิมุติง่าย 

“อู้ย ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย” ... ลองดูเด่ะ ลองให้มันกายหนึ่งจิตหนึ่งได้ทั้งวัน มันไม่ใช่ของง่ายนะ ไม่ใช่เล่นๆ ด้วย ...อย่างที่เขาบอกนั่งทำสมาธิ โหย ทำความเพียรจริงๆ ไอ้นั่นยังเป็นเวลา 

ถ้าขึ้นชื่อว่าสตินี่ไม่มีเวลาเลย แล้วไม่เลือกสถานะด้วย ไม่เลือกเพศ วรรณะด้วย ไม่เลือกสังคมด้วย ไม่เลือกบรรดาศักดิ์ ไม่ว่าที่ไหนเวลาไหน ไม่ใช่ง่ายนะ 

ใครว่าปัญญาเจริญง่ายๆ มันฟังง่าย เข้าใจง่าย ทำจริงๆ น่ะ ...ยาก ถึงบอกว่าพระอริยะนี่เหมือนเขาวัว ไม่ใช่ขนวัว  ยากเพราะอะไร...ความเพียร ความตั้งใจน้อย  

ถ้าความเพียร ความตั้งใจสูง ทบทวนอยู่เสมอ มีรูจุดบอดตรงไหน ความคิดแบบไหน ความรู้สึกแบบไหน อารมณ์ไหน แล้วมันจะหลงออกไปกับสิ่งเหล่านั้น ...ต้องเอาจริงเอาจังแล้วในการละ

รู้คือรู้ ต้องตั้งให้ได้ ตั้งมั่นอยู่กับกายในขณะนั้นให้ได้ ในอารมณ์ กิเลสตัวนั้น ...ถ้าเห็นแล้วรู้เลยว่าจะต้องออกจากศีล ตั้งใจไว้เลย ...ให้อยู่กับกายให้มาก อย่างนี้ 

ต้องเอาจริงนะ ...ไม่ใช่อย่างว่าโกรธ แล้วก็...เออ  รู้อยู่แล้วว่าจะโกรธ รู้ว่าจะต้องมีอารมณ์แน่ๆ ก็ยังไม่ตั้งมั่นระวังรักษา...ที่จะแนบแน่นอยู่กับกายใจให้มั่นคง

อะไรที่มันเป็นเหตุหรืออยู่ใกล้เหตุที่จะหลง มันรู้อยู่แล้ว อะไรเป็นเหตุใกล้ เหตุที่ให้เกิดความเผลอ ก็รู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่รู้ว่าจุดบอดอยู่ตรงไหน ...แต่มันไม่เอาจริงเอาจังกับจุดตรงนั้น

เพราะนั้นไอ้ตอนไหนที่มันรู้ตัวดีก็ชั่งหัวมันเถอะ มันก็รู้ตัวดีตอนนั้นน่ะแหละ ไม่ต้องกลัวหรอก มันก็รู้ของมันเองน่ะแหละ ...แต่ไอ้ตอนที่ไม่รู้น่ะสิ มันตอนไหนล่ะ ไอ้นั่นน่ะต้องจริงจัง

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย เห็นมั้ย อย่างที่ท่านว่า กิน พูด ตรงนี้ อย่างนึงล่ะ ที่หาเนื้อหาตัวไม่เจอเลย ...เอาให้มันชำนาญๆ มันจะล้มลุก ล้มแล้วลุกๆ ไม่สืบเนื่อง ...ก็เอาใหม่

เวลากินน่ะ ให้มันได้รู้ตัวตลอดในการกินจนจบมื้อ เอางี้ แม้จะหลุดขาดไปบ้าง เอาใหม่ ครั้งหน้าเอาใหม่ ...เอาใหม่อยู่นั่นน่ะ 

อย่าท้อ อย่าเบื่อ ที่จะเรียนรู้ ที่จะเจริญสติให้ได้ต่อเนื่อง ให้เกิดความรู้ตัวในการกิน ในการดื่ม ให้มันได้ ...พอมันได้ครั้งนึงแล้วอย่าเพิ่งดีใจ ให้มันต่อไปอีกทุกครั้งไป ...ต้องอย่างนี้นะ

เวลาคุยเหมือนกัน ก็ตั้งใจคุย ตั้งใจฟัง ตั้งใจพูด ต้องตั้งใจอยู่ในการทำ มันจึงจะไม่ขาดจากสติรู้ตัว ว่ากำลังจะพูด กำลังพูด พูดเสร็จแล้ว ...นี่สติที่มันบริบูรณ์อย่างนี้ 

ก่อนจะพูด...รู้ กำลังพูด...รู้ พูดเสร็จแล้ว...รู้ นี่จึงเรียกว่าครบองค์สติ ไม่ใช่ขาดๆ วิ่นๆ ...ถ้าสติขาด ศีลก็ขาด คือความรู้ตัว ความรู้ที่กาย จะไม่ต่อเนื่อง ไม่เกิดเป็นสัมปชัญญะ 

แล้วถ้าทำอย่างนี้ซ้ำซากๆ แก้จุดบอดจุดบกพร่องอยู่เสมอนี่ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอของสติและสัมปชัญญะจะสืบ...สืบเนื่องยาวนานไป

เพราะนั้นความสืบยาวนานของสติสมาธิปัญญาหรือสติสัมปชัญญะนี่ ถ้าให้พูด..นี่คือการสืบอายุพระศาสนา เหมือนกันเลย 

ถ้าอยากสืบอายุศาสนา ไม่ต้องไปทำบุญทำทานหรอก ไม่ต้องไปสร้างวัดสร้างเจดีย์ ...สืบสติสมาธิของตัวเอง สืบสติสัมปชัญญะของตัวเองให้ต่อเนื่อง คือการสืบอายุพระศาสนา

เห็นมั้ย ทำที่ตัวเองนี่ อายุพระศาสนานี่ยาวไปอีกเป็นโยชน์เลย อีกหลายปี แต่ละคนนี่

เพราะนั้นให้เข้าใจ นะ ว่าการปฏิบัตินี่มันอยู่ที่ไหน หัวใจของการปฏิบัติคืออะไร  เมื่อเข้าใจดีแล้ว ก็ปฏิบัติลงไปในที่เดียวนี้เอง ธรรมก็ไม่หนีไปไหนหรอก อยู่ต่อหน้าพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายนั่นไง

แต่โยคาวจรเจ้าทั้งหลายกลับ "ฮึ...ฮื้อ ไม่สน ไม่เห็นเป็นธรรมเลย กูหาอันอื่นดีกว่า" ...นั่นแหละ พระโยคาวจรเจ้า จึงเทียวเกิดเทียวตายในสามโลกธาตุ ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ใช่มั้ยล่ะ

ไม่รู้หรอกเกิดเท่าไหร่ บอกให้ก็ได้...นับไม่ถ้วน  นั่น เพราะ "ฮึ ฮื้อ"...ต่อธรรมเบื้องหน้า ไม่รู้ไม่ชี้กับธรรมที่ปรากฏ แล้วปรามาสธรรมที่ปรากฏว่าต่ำต้อย ด้อยค่า ไร้ราคา

ก็มันไร้ราคาอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีราคาอยู่แล้ว มันเป็นธรรมดา มันเป็นศูนย์อยู่แล้ว ...แต่จิตเรามันบอกว่า ต้องมีเหมือนเพชรเหมือนทองข้างหน้า มันไม่เอาน่ะศูนย์ ไม่มีอะไร ธรรมดา เรียบง่ายไป 

นี่มันปรามาสธรรมมั้ย หือ ถึงบอกว่าปรามาสธรรม ลบหลู่ธรรม ด้วยความไม่รู้ตัว ...แล้วปรามาสธรรม ลบหลู่ธรรม เหมือนกับปรามาสพระพุทธเจ้า ลบหลู่พระพุทธเจ้า ไม่เคารพพุทธะ

เพราะนั้นเป็นชาวพุทธแต่ไม่เข้าถึงพระรัตนตรัย ...สมาทานกันเข้าไปเถอะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ เอากันเข้าไป ...แต่อยู่ด้วยความไม่นอบน้อมต่อธรรมเลย

อหังการเอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ เอาความอยาก-เอาความไม่อยากของตัวเองเป็นใหญ่ เป็นสรณะ เป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้กรุยทาง  

มันก็กรุยไปเรื่อย...สามโลกธาตุ แล้วแต่มันจะหาที่เกิดไปน่ะ ว่ามันจะเป็นสุขตรงนั้น ว่ามันจะเป็นสุขตรงนี้ ...มีแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่บอก "ที่นี้" เท่านั้นที่ไม่เป็นสุขและไม่เป็นทุกข์ 

มันก็ไม่เอา ไม่อยู่ ...เห็นมั้ยว่าจิตมันไม่ยอมง่ายๆ หรอก มันดื้อๆ มันรั้น ...เขาเรียกว่ามันอยู่ใต้มโนสำนึก ใต้จิตใต้สามัญสำนึกอีก อนุสัยนี่ มันถึงละได้ยากไง

เออ ถ้าจิตในสามัญสำนึกนี่ จะหยิบจะจับจะสั่งให้คิด มันยังพอเห็นนะ ...แต่นี่มันอยู่ใต้ระดับของคอมมอนเซนส์น่ะ นั่นน่ะมันอยู่ต่ำกว่านั้นอีกน่ะ 

เรียกว่าอยู่ในมโนสำนึกหรือว่าอยู่ในมโนสัญญเจตนาเลยน่ะ มันจึงเลิกละไม่ได้ในระบบของความคิดความจำ เข้าใจมั้ย เนี่ย ทำไมถึงต้องเป็นมหาสติ 

เพราะมหาสตินี่อยู่ในระบบที่อัตโนมัติ ใต้สามัญสำนึกอีก มันเป็นอัตโนมัติเลยน่ะ 

เหมือนกล้ามเนื้อหัวใจอย่างนี้ มันอยู่เกินจิตสำนึกใช่ไหม สั่งการไม่ได้ใช่มั้ย เขาทำของเขาเองน่ะ เหมือนเป็นอัตโนมัติใช่มั้ย กล้ามเนื้ออัตโนมัติ ...นั่นแหละระดับจิตใต้สำนึกเหมือนกัน

เพราะนั้นตัวสติศีลสมาธิปัญญา จะต้องเข้าไปถึงใต้จิตใต้สำนึกนั้น มันถึงจะเข้าไปชำระอนุสัยอาสวะ ที่มันนอนเนื่อง ...เข้าใจคำว่านอนเนื่องมั้ย มันต่ำ ลึกกว่านั้น ล้ำกว่านั้น 

ความคิดความจำนี่ไม่มีทางไปแตะต้องมันได้เลย ...สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา หมดสิทธิ์ ได้แค่ตบหัวลูบหลังมันแค่นั้นแหละ ไม่ได้ถึงเนื้อถึงตัวมันหรอก 

หาดูยังไม่เห็นเลยว่าอวิชชาอยู่ไหน เห็นไหม ขนาดดูยังไม่เห็นเลย เอ้า ดูสิ นึกดูสิ ไม่เห็นน่ะ อยู่ไหนล่ะ ...กิเลสอยู่ไหน ความไม่รู้อยู่ที่ไหน 

อะไรเป็นเหตุให้เกิดความคิด อะไรเป็นเหตุให้เกิดความจำ ...มันอยู่ที่ไหนล่ะ ยังไม่เห็นตัว ไม่มีเห็นตัวมันเลย ไม่รู้ด้วยว่ามันมากหรือมันน้อย 

ขนาดเห็นยังไม่เห็น ไม่รู้หรอกว่ามันมากหรือมันน้อยขนาดไหนน่ะ ...ถึงบอกว่าไม่ใช่เล่นๆ นะ ภาวนา ความพากความเพียรนี่น่ะ 

แต่ไม่ใช่พูดไปให้กังวล หรือท้อ ...ถ้าอยู่ในหลักของอย่างที่เราบอกนี่ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ...คือจิตปัจจุบัน กายปัจจุบันนี้แหละ จะเป็นการกรุยทางเข้าไปสู่ใต้ระดับสามัญสำนึก

ถ้ามันใต้สามัญสำนึกระดับไหนล่ะ ...นอนหลับฝันนะ เสือมาหรือผีมา ดันรู้ตัวขณะวิ่งหนี ในความฝันนะ สติยังตามไประลึกได้ ...ยังงั้นแหละ มันฝึกจนเข้าไปใต้...เป็นอัตโนมัติ

แรกๆ ก็เป็นสติจงใจ เจตนาระลึกๆ แล้วต่อไปมันก็จะรู้ตัวเองๆ อะไรกระทบปึ้งมันรู้ ...ไม่ตั้งใจจะรู้ ดันรู้แล้ว ไม่ได้เจตนาจะรู้ มันก็รู้ตัว โดยที่ว่าไม่คาด หรือว่าตั้งใจจงใจ

นี่ ฝึกจนมันเป็นอาการนั้น ด้วยความชำนาญ สม่ำเสมอ  ภาวิตา พหุลีกตา ซ้ำซากๆ  อย่าท้อ อย่าเบื่อ อย่าไปบอกว่าพอแล้วๆๆ เท่านี้ก็พอแล้ว มาถึงจุดนึงที่มันดี ที่มันสบาย ...ยังไม่ได้ ยังทิ้งสติไม่ได้

เพราะนั้นพอได้เป็นมหาสตินี่ เหมือนขี่หลังเสือน่ะ ไม่มีสิทธิ์ได้ลง ไปลูกเดียว มันไม่หลุดลงเลย จนเลิกสติตัวนั้นไม่ได้เลย ...มันจะเป็นเกลียวที่มันดึงดูดเข้าไปในวิถีมรรคขั้นสูงไปเลย 

คือไม่มีสิทธิ์กระโดดออกจากมรรคได้เลยน่ะ  มันเหมือนลงร่อง ปึ้ง ต้องหลุดพ้นอย่างเดียวจึงจะหยุด นั่น มันเป็นอย่างนั้น นี่คือปัญญาวิมุติ

เพราะนั้นก็เริ่มจากอุดรอยโหว่ของกาย มีศีลให้เต็ม อย่าบกพร่อง ด้วยสติระลึก หมั่นรู้กาย รู้ตัว รู้กายรู้ตัวบ่อยๆ แค่นี้แหละ ทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองของมรรค ของธรรม  

มีศีลก็มีธรรมๆ ไม่ต้องกลัว ศีล-ธรรมเป็นของคู่กัน ...เมื่อใดที่มีศีล รักษาศีล เจริญศีลอยู่ ธรรมก็ปรากฏอยู่ตรงนั้นเอง ศีล-ธรรม เป็นสิ่งที่คู่กัน ...ศีลอยู่ไหนธรรมอยู่นั่น 

เพราะนั้นกายอยู่ไหน ใจก็อยู่ที่นั่นด้วย อยู่ที่เดียวกันหมด ไม่มีหลายที่ ...จิตเล็ก จิตน้อย จิตกังวล จิตคาด จิตหมาย จิตข้างหน้าข้างหลัง เอาให้มันเป็นหมันไปเลย เอาให้มันไม่ได้ผุดได้เกิดไปเลย 

นั่นแหละ จึงจะรู้ว่าอยู่ด้วยกายและใจกับจิตที่ว่างเปล่า ...นั่นแหละเขาเรียกว่าจิตวิเวก คือจิตว่าง ก็จะเกิดภาวะที่เป็นปฏิเวธขึ้น ตามลำดับ

ภาวนายันตายน่ะ ไม่ต้องถามหรอก เมื่อไหร่จะเลิก เมื่อไหร่จะพอ...ตายเมื่อไหร่ก็พอ หมดลมหายใจเมื่อไหร่ก็พอ ...ถ้าเออ ดันเกิดอีก...ก็ภาวนาต่อ 

ถ้าเออไม่เกิด ก็ไม่เกิด...จบ แค่นั้นแหละไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องไปหวังอะไรกับมัน แค่นั้นแหละ ...อยู่กับความรู้ตัวไป รู้ตัวอย่างเดียว นั่นแหละคือคีย์เวิร์ด (Keyword) พาสเวิร์ด(Password)  

มีคีย์เวิร์ดตัวเดียว พาสเวิร์ดตัวเดียว...“รู้ตัว” ...ถามว่ารู้ตัวมั้ย ตอนนี้  รู้ตัวมั้ย ตอนนี้ทำอะไรอยู่ รู้มั้ย ... นั่น คีย์เวิร์ดพาสเวิร์ด ผ่านหมดทุกประตู ...ได้หมด


.............................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น